Group Blog
 
All Blogs
 
มูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ Net Present Value: NPV คืออะไร? (กันแน่)

จริงๆ แล้วสัปดาห์นี้ว่าจะเขียนเรื่องสัญญาฟิวเจอร์สต่อ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม 2549) ผมได้ไปเข้ารับการอบรมหลักสูตร CISA (Certified Investment and Securities Analyst) ซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของทฤษฎีทางด้านการเงิน นั่นก็คือ เรื่องการหามูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ NPV

ในวันนั้น ผู้บรรยายเป็นอาจารย์มาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ทว่าไม่สามารถอธิบายหลักการของเรื่องมูลค่าสุทธิได้อย่างถูกต้อง ผนวกกับข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนวิชา การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ในระดับบัณฑิตศึกษากับอาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งมาจากสถาบันเดียวกัน และอาจารย์ท่านดังกล่าวก็มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคลาดเคลื่อนเหมือนกัน ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมาก โดยในวันนั้นผู้บรรยายได้สรุปว่า

“… ถ้าโครงการใดหาค่า NPV ได้มากกว่าหรือเท่ากับ ศูนย์ ก็สามารถลงทุนได้ (อันนี้ถูกต้อง) แต่ในความเป็นจริงเราจะไม่ลงทุนในโครงการที่มี NPV เท่ากับศูนย์ เพราะเท่าทุนไม่ได้กำไร (อันนี้ผิดอย่างร้ายแรง เพราะแม้ว่าโดยทั่วไปเราจะไม่ลงทุนในโครงการที่มี NPV เท่ากับศูนย์พอดี แต่ก็ไม่ใช่เพราะมันเป็นโครงการที่ไม่มีกำไร แต่ด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามทฤษฎีมากกว่าเหตุผลอื่นที่จะกล่าวต่อไป)...” ดังนั้นผู้เขียนจึงอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องมาแถลงไขเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวในบทความนี้

เนื่องจากหลักการของ NPV มีพื้นฐานมาจาก ทฤษฎีค่าของเงินตามกาลเวลา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Time Value of Money หรือ TVM ดังนั้นก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับ NPV นั้น ขอกล่าวถึงหลักการคร่าวๆของมูลค่าของเงินตามเวลาก่อน

มูลค่าของเงินตามเวลา เป็นหลักการที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินตามกาลเวลา กล่าวคือ เงิน 100 บาทวันนี้ จะไม่ได้มีค่าเท่ากับ 100 บาทในอนาคต หรือในทางกลับกัน พูดถึงตรงนี้อาจจะงง แต่หลักการของมันง่ายมากๆ เช่น ลองคิดดูว่าถ้ามีคนบอกว่าจะให้เงินท่าน 10,000 บาทวันนี้ กับ 10,000 บาทอีก 1 ปีข้างหน้า ท่านจะรับแบบไหน ก็ต้องรับ 10,000 บาทวันนี้ใช่ไหมครับ ดังนั้น เราก็ยอมรับกันเป็นนัยอยู่แล้วว่า 10,000 บาทวันนี้ ย่อมดีกว่า 10,000 ในวันข้างหน้า ทั้งๆที่เป็นจำนวนเงินเดียวกัน นั่นก็เพราะว่าถ้าได้เงินมาวันนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้ในวันนี้ไม่ต้องรอ หรือทางทฤษฎีเรียกว่า ไม่มีค่าเสียโอกาส เช่น หากนำเงินดังกล่าวไปฝากก็จะได้ดอกเบี้ย เช่นถ้าฝากวันนี้ อีก 1 ปีข้างหน้าจะได้เงินคืนมา 10,350 บาท (ดอกเบี้ยเงินฝาก 3.5% ต่อปี) ดังนั้นถ้าจะให้รับเงินในอีก 1 ปีข้างหน้าก็ต้องรับอย่างน้อย 10,350 บาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยที่จะได้รับ

จากตัวอย่างข้างต้นจะเป็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าของเงินตามเวลา คือ อัตราผลตอบแทนที่เราคาดหวัง ทั้งนี้เพื่อชดเชย ค่าเสียโอกาสในการใช้เงิน (Opportunity Costs) เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดความคาดหวังผลตอบแทนเพื่อชดเชยกับระยะเวลายังมีอีกหลายปัจจัย อาทิ โอกาสที่จะไม่ได้รับเงินเลยในอนาคต (Default Risk) และค่าชดเชยอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นต้น

เอาล่ะ หลังจากเกริ่นมาซะนาน เราจะได้เข้าเรื่องกันสักที มูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ Net Present Value (NPV) เป็นหลักการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของโครงการ หรือพูดง่ายๆว่าความคุ้มค่าของการลงทุน โดยหลักการแล้วจะต้องมีการประมาณการกระแสเงินสดตลอดอายุของโครงการ จากจุดนี้จะเห็นว่า เราลงทุนในปีนี้ แต่กระแสเงินสดที่จะได้รับจากโครงการนั้นจะเข้ามาในอนาคต

และด้วยหลักการของมูลค่าของเงินตามเวลานั้นเราก็ทราบว่ากระแสเงินสดในอนาคตจะมีค่าไม่เท่ากับกระแสเงินสดในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถเอามูลค่าที่อยู่กันคนละเวลามาหักกลบกันได้ ดังนั้นต้องมีการแปลงค่ากระแสเงินสดในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อน จากนั้นหาผลรวมของมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคต แล้วค่อยนำมาหักกลบกับเงินลงทุนที่ใช้ไปในปัจจุบัน จุดนี้แหละครับที่มักเป็นต้นตอของความเข้าใจผิดดังกล่าว

สูตรของ NPV (สำหรับผู้ที่ยังไม่มีพื้นฐานทางการเงินเลยก็ขอให้ข้ามส่วนนี้ไปก่อนก็แล้วกันนะครับ เอาแป็นว่าอ่านเอาแนวคิดก่อนก็แล้วกัน เรื่องการคำนวณก็ปล่อยให้ฝ่ายการเงินทำไปก่อน)

NPV = - CF0 + PV(CF1) + PV(CF2) + PV(CF3) + … + PV(CFn)

โดย
CF0 คือ เงินลงทุนที่ใช้ในปีปัจจุบัน
PV(CF1)…PV(CFn) คือ มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในปีที่ 1 – ปีสุดท้ายของโครงการ (ปีที่ n) ทั้งนี้

PV(CFi) = CFi/(1+Cost of Capital)^i

ลองดูกรณีตัวอย่างที่ง่ายที่สุดนะครับ (สำหรับคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการเงินจะได้เข้าใจได้ง่ายๆด้วย)

สมมติว่า โครงการหนึ่งมีการลงทุน 100 บาท และผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทน 30% ต่อปี โครงการมีอายุ 1 ปี และคาดว่าโครงการจะสามารถหากระแสเงินสดได้เป็นจำนวน 130 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า



จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ค่า NPV เท่ากับศูนย์ แต่แสดงว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มทุนพอดี (ไม่มีผลตอบแทนใดๆ) ใช่หรือไม่

คำตอบคือ ไม่ใช่ เนื่องจากจะเห็นได้ว่า โครงการใช้เงินลงทุน 100 บาท และผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทน 30% ต่อปี และเป็นการลงทุนที่มีอายุแค่ 1 ปี ดังนั้นเมื่อสิ้นปีที่ 1 โครงการนี้จะต้องหาผลตอบแทนมาคืนผู้ลงทุนจำนวน 30 บาท และต้องคืนเงินลงทุน 100 บาท รวม 130 บาท ซึ่งเท่ากับกระแสเงินสดที่คาดว่าโครงการหาได้ ตามโจทย์คือ 130 บาทพอดี

ดังนั้น จึงอาจจะสรุปได้ว่าการที่ค่า NPV = 0 มิได้แสดงว่าโครงการลงทุนนั้นๆไม่ได้กำไร หรือแค่คุ้มทุนเท่านั้น แต่หมายความถึงโครงการสามารถหาเงินมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้เท่ากับความคาดหวัง และยังสามารถชำระคืนเงินลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ทั้งหมดพอดี

แม้ว่าการลงทุนในโครงการที่มี NPV = 0 นั้นจะเพียงพอที่ทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนตามที่ได้คาดหวังไปแล้ว ทว่าในความเป็นจริงเรามักจะชอบที่จะลงทุนในโครงการที่ มี NPV มากกว่าศูนย์มากๆ นั่นก็เพราะ ค่า NPV นั้นคำนวณมาจากการประมาณการกระแสเงินสดของโครงการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงเพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น ค่า NPV มากๆ ก็แสดงถึงความสามารถของโครงการที่จะรับมือกับความผันผวน ของกระแสเงินสดในอนาคตได้ (หรือเป็น safeguard) นอกจากนี้ ค่า NPV ที่มากกว่าศูนย์ยังสามารถถือได้ว่าเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการได้ เพราะ แค่ NPV เท่ากับศูนย์ผู้ลงทุนทุกคนก็ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดแล้ว ดังนั้น NPV ในส่วนที่เกินจากศูนย์จึงแสดงนัยว่าเป็นมูลค่าส่วนเกินที่บริษัทจะได้รับเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การที่ NPV มีค่าสูงมากๆ เมื่อเทียบกับเงินลงทุนเริ่มต้น เช่น โครงการลงทุนแค่ 10 ล้านบาท แต่กลับคำนวณ NPV ได้ 100 ล้านบาท ก็มิได้หมายความถึงเป็นการลงทุนที่มีกำไรสูงมากเสมอไป โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.99) กรณีแบบนี้กลับเป็นตัวชี้ว่าอาจจะมีการประมาณการกระแสเงินสดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือประเมินผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวังต่ำเกินไป หรือทั้งสองกรณี

มาถึงตอนท้ายนี้แล้ว ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงมีความเข้าใจที่กระจ่างมากขึ้นเกี่ยวกับ NPV และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้เพื่อการดัดสินใจของท่านไม่มากก็น้อย



Create Date : 08 พฤษภาคม 2549
Last Update : 23 ธันวาคม 2552 15:50:14 น. 57 comments
Counter : 63234 Pageviews.

 
โครงการเอกชนที่มี NPV =0 ที่ไม่ควรลงทุนนั้น ผมมองว่า ควรเอาเงินลงทุนฝากธนาคาร ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในโครงการแน่นอน


โดย: sutee IP: 58.9.31.68 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:18:44:59 น.  

 

อ้าวแล้วที่เรียนมากับอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดังก็ผิดหมดสิครับ

รบกวนอาจารย์ชี้แจงด้วยครับ ถ้าบังเอิญมาเข้าเวบนี้นะ!


โดย: Ryou-kung IP: 204.149.80.6 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:19:18:58 น.  

 
ขอเสริมนิดนึง
NPV=0 หรือน้อยกว่าเล็กน้อย บางทีก็ลงทุนครับ ถ้าสอดคล้องกับ strategy ของเรา เช่น เพื่อกีดกัน ตัดคู่แข่ง ก็ถือว่าคุ้มค่าครับ


โดย: อาทิตย์จรัสแสง IP: 203.113.16.241 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:19:36:41 น.  

 
เค้าก็เขียนบอกอยู่แล้วว่าถ้ามันเท่ากับ 0 อาจจะเป็นเพราะต้องการผลตอบแทนสูงที่30% ต่อปี ทำให้ npv มีค่าน้อย หรือ=0 ไง คุณยังไม่พอใจอีกเหรอ30%ต่อปี แต่แผนเดียวกันนี้คนเขียนเขาเจ้าเล่ห์ คิดผลตอบแทน มาเหลือแค่10% แค่นี้ก็หลอกได้แหละ ว่าnpvเป็นบวก อาจารย์ที่เค้าสอนนะ เขาสอนให้คุณดูละเอียดๆ อะ ว่าแผนนี้เป็นไปได้ไหม กับตัวเลขต่างๆ ตะหาก และมาคำนวณความเสี่ยงอีกทีไม่ใช่เห็นตัวเลข npv บวกมาหน่อยก็ ok ไง ถ้าเข้าใจแล้วก็เขียนขอโทษอาจารย์เขาหน่อยอยู่ดีๆ ก็โดนด่า


โดย: บังเอิญเห็น IP: 124.120.196.236 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:20:12:15 น.  

 
โง่แล้วอวดฉลาดกว่าครู
เรียนมาไม่ถ่องแท้ก็เงี้ยแหละครับ


โดย: เห้อ IP: 58.9.82.75 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:22:27:02 น.  

 
NPV มีจุดสำคัญอยู่ที่ discount rate

1 ควรใช้อัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง (expected rate of return) เป็น discount rate ถ้า NPV >=0 ก็ถือว่าใช้ได้
2 ถ้าใช้ weighted cost of capital เป็น discount rate ถ้า NPV = 0 แสดงว่าเป็นจุดคุ้มทุน
3 ถ้าใช้ risk free rate เป็น discount rate ถ้า NPV = 0 ก็ไม่ควรลงทุน เพราะว่าได้ผลตอบแทนเท่ากับการลงทุนที่ไม่มีความเสี่ยง ไม่คุ้มกับค่าเหนื่อย อยู่เฉยๆดีกว่า

เห็นว่า ควรใช้ IRR จะดีกว่า เห็นชัดเจนกว่า แต่ IRR ก็มีจุดด้อย เมื่อ cash flow ไม่สม่ำเสมอ บวกบ้าง ลบบ้าง ทำให้มี IRR หลายตัว


โดย: niran IP: 58.64.121.83 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:23:04:10 น.  

 
การวัดว่าโรงการไหนน่าลงทุนใช้แค่ตัว NPV ตัวเดียวไม่ได้หรอกครับ
แต่ก็ดีนะครับที่คุณได้ออกมาชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของการประเมินโครงการโดยวิธีนี้ เพราะว่า เราสามารถจะปรับค่า NPV ได้โดยกำหนดอัตราคิดลด ซึ่งแต่คนก็ให้ไม่เท่ากัน
แต่วิธีนี้สามารถแก้ไขได้ด้วย IRR(Internal rate of return) ครับ เพราะวิธีนี้เราจะให้ NPV เป็นศูนย์แล้วหาอัตราที่คิดลดแล้วทำให้ cash flow ทั้งหมดคิดลดกลับมาแล้วบวกกันเป็น ศูนย์พอดี
ซึ่งจะได้เป็นตัวเลขอัตราผลตอบแทนครับ โดยไม่ขึ้นว่าคนนั้นจะคาดหวังผลตอบแทนมากน้อยเท่าไร
ซึ่งเราจะเอาค่า IRR นี่แหละมาเป็นตัวชี้วัดว่าโครงการนี้ให้ผลตอบแทนเท่ากับที่เราอยากได้หรือไม่
แต่ช่องว่างของวิธีนี้ก็คงจะมีแค่การประมาณ cash flow เท่านั้นแหละครับ เพราะมันเป็นตัวเลขสมมุติ เราจะเขียนมันขึ้นมาเท่าไหร่ก็ได้ แล้วก็ไม่แน่ว่าจะเป็นจริงตามที่ประมาณการณ์เสมอไป
ผมว่าจริงๆแล้ววิชาในทางการเงินเนี่ย ก็เป็นการเรียนเพื่อ "เดา" เท่านั้นหละครับ
มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเอาวิชาต่างๆที่เรียนมา "เดา" ยังไง
ขอให้โชคดีครับ


โดย: คนที่ผ่านมา IP: 203.156.72.178 วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:23:14:08 น.  

 
ขอบคุณครับสำหรับทุกความเห็น ผมยินดีรับฟังความเห็นที่หลากหลาย

ตอบคุณ sutee IP: 58.9.31.68

ความเสี่ยงของโครงการได้มีการคำนวณรวม หรือชดเชยไปแล้วในการประมาณอัตราผลตอบแทนคาดหวังของนักลงทุน หรืออีกนัยอยู่ในต้นทุนของเงินทุน หรือ Cost of Capital ครับ

ตอบคุณ บังเอิญเห็น IP: 124.120.196.236

ผมได้แสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าวแล้วในย่อหน้าสุดท้ายของงานเขียน

ตอบคุณ niran IP: 58.64.121.83

ในทางทฤษฎีแล้วการใช้ IRR มีข้อด้อยคือเรื่องการคำนวณการลงทุนซ้ำที่อัตราผลตอบแทน IRR ซึ่งจริงๆแล้วเราลงทุนซ้ำที่อัตรา cost of capital และในทางทฤษฎีเมื่อผลจาก IRR และ NPV ขัดแย้งกันเราจะยึดผลจากค่า NPV เป็นหลัก

ส่วนในเรื่องจุดคุ้มทุน (ในความหมายของผมคือจุดที่ไม่มีผลตอบแทน) นั้นได้แสดงความเห็นเอาไว้แล้วในบทความ แต่ถ้าความหมายของคุณหมายถึงจุดที่คุ้มทุนทางการเงินคือหัก cost of capital ออกเพื่อเติมจากต้นทุนการดำเนินงานแล้วนั้นผมคงไม่โต้แย้ง

ตอบคุณ คนที่ผ่านมา IP: 203.156.72.178

เห็นด้วยกับคุณ คนที่ผ่านมา มากๆ การพิจารณา NPV อย่างเดียวในบางครั้งก็ไม่ได้เป็นคำตอบที่สมบูรณ์แบบการประเมินโครงการนั้นต้องพิจารณาค่าการคำนวณอืนๆอีกหลายค่า เช่น IRR, MIRR, Profitability Index เป็นต้น ซึ่งอยู่นอกเหนือจาก scope ของงานเขียนชิ้นนี้ และอาจจะต้องมีการเขียนในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมต่อไป

-----
ขอบคุณครับ

ป.ล. สำหรับเรื่องที่ว่าใครรู้ถ่องแท้หรือไม่ถ่องแท้นั้น ไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการเขียนงานเขียนชุดนี้ หากแต่ต้องการให้เกิดการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการค้นคว้าเพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากกว่าเดิม

ครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาลแม้แต่พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสว่า "...อย่าเชื่อเพราะตถาคตบอก..."


โดย: lemontree วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:9:06:28 น.  

 
ขอเพิ่มเติมอีกนิดนะครับเพราะเข้าไปเช็คเรตติ้งที่ pantip แล้วปรากฏว่ามีคำถามว่า

"ต้นทุนของเงินทุน กับ ผลตอบแทนคาดหวังของผู้ลงทุนนั้นเป็นตัวเดียวกันรึเปล่า"

คำตอบคือ เป็นตัวเดียวกันครับ เพราะผลตอบแทนคาดหวังของผู้ลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่โครงการบริษัทต้องหามาเพื่อตอบแทนนักลงทุน ดังนั้นถ้ามองในด้านโครงการหรือบริษัทก็นับเป็นภาระของการได้มาของเงินทุนนั้นๆ ซึ่งก็หมายถึง ต้นทุนของเงินทุนนั่นเอง


โดย: lemontree วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:9:27:45 น.  

 
แนะนำหนังสือครับจริงๆแล้วมีเป็น 10 เล่มนะครับที่น่าอ่าน แต่ขอแนะนำแค่ 2 เล่มนี้ก่อนก็แล้วกัน เพราะเขียนเข้าใจง่าย แล้วก็ค่อนข้างละเอียด นอกจากนี้ยังได้ rating 5 ดาวจากคนอ่านใน amazon.com ด้วย ผมอ่านแล้วก็ชอบครับ แล้วก็ขอแนะนำซะเลยสำหรับเด็ก Finance หรือ MBA เป็นประโยชน์มากในการปูพื้นฐานครับ

Financial Management : Theory and Practice
by Eugene F. Brigham, Michael C. Ehrhardt
South-Western College Pub; 11 edition (March 12, 2004)

Financial Valuation : Applications and Models (Wiley Finance)
by James R. Hitchner
Wiley; 2 edition (September 11, 2006)


โดย: lemontree วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:9:51:09 น.  

 
"ต้นทุนของเงินทุน กับ ผลตอบแทนคาดหวังของผู้ลงทุนนั้นเป็นตัวเดียวกันรึเปล่า"

คำตอบคือ เป็นตัวเดียวกันครับ เพราะผลตอบแทนคาดหวังของผู้ลงทุนนั้นเป็นสิ่งที่โครงการบริษัทต้องหามาเพื่อตอบแทนนักลงทุน ดังนั้นถ้ามองในด้านโครงการหรือบริษัทก็นับเป็นภาระของการได้มาของเงินทุนนั้นๆ ซึ่งก็หมายถึง ต้นทุนของเงินทุนนั่นเอง

--------------------------------------------------------

ผมไม่แน่ใจครับว่าเป็นตัวเดียวกัน ช่วยอธิบายด้วยครับ ต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) น่าจะหมายถึง WACC ของบริษัทซึ่งจะขึ้นอยู่กับโครงสร้างทุนของบริษัท (Capital Structure) นะครับ ซึ่งประกอบด้วยหลายส่วน ผลตอบแทนคาดหวังของผู้ลงทุนน่าจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น บริษัทที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนต่างกันในอุตสาหกรรมต่างกัน ทั้งสองค่านี้น่าจะแตกต่างกันไปนะครับ ไม่น่าจะสรุปว่าเป็นตัวเดียวกันได้

1. หากคำนวน NPV ของโครงการลงทุนของบริษัท Discount Rate ควรใช้ WACC หรือ Require Rate of Return ของผู้ถือหุ้น
2. หากคำนวน NPV ของนักลงทุนรายย่อย Discount Rate ควรใช้ Government Bond Interest Rate หรือ Require Rate of Return ของนักลงทุนครับ

ถามไปถามมาผมก็งงเหมือนกันครับ ถือว่าช่วยกันคิดนะครับ


โดย: งง IP: 203.150.206.170 วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:15:26:46 น.  

 
การคำนวน NPV ของโครงการนั้นจะใช้ WACC (ซึ่งในที่นี้ผมเรียกให้ง่ายว่า Cost of Capital) เป็นอัตตราคิดลดครับ

แล้วคำถามต่อไปคือ จะใช้ WACC ของโครงการ หรือของบริษัทโดยรวม คำตอบคือ ต้องใช้ WACC ของบริษัทโดยรวมครับ ไม่ใช่แค่ของโครงการนั้นๆ นั่นไงมาถึงตอนนี้ก็คงจะโดนอีกเพราะขัดกับความเชื่อของหลายคน แต่ก็ขอให้กลับไปอ่านหนังสือกันอีกทีก็แล้วกันครับ เพราะอธิบายในนี้มันจะยืดยาว แล้วก็จะงงกันทวีคูณไปอีก

เอาเป็นว่าเห็นท่าจะต้องเขียนเรื่องการวิเคราะห์โครงการให้ครบทั้ง series ซะแล้วครับ ผู้สนใจก็คอยติดตามก็แล้วกันนะครับ


โดย: lemontree วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:15:43:07 น.  

 
ตกลงแล้ว "ต้นทุนของเงินทุน (WACC) กับ ผลตอบแทนคาดหวังของผู้ลงทุน (Required Rate of Return) นั้นเป็นตัวเดียวกันรึเปล่า" ครับ ยังไม่ได้ตอบเลยครับ


โดย: งง IP: 203.150.206.170 วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:16:41:39 น.  

 
ผมพยายามอย่างมากที่จะหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า WACC เพราะจะต้องพูดถึงหลักการเรื่อง Target Capital Structure และการคำนวณที่มาของต้นทุนของเงินทุนในลักษณะต่างๆ ดังนั้นผมจึงใช้คำว่าผลตอบแทนที่คาดหวัง หรือบางทีก็เรียกแค่ว่า Cost of Capital แทน เพราะฉะนั้นในที่นี้จึงมีความหมายเหมือนกันครับ


โดย: lemontree วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:04:23 น.  

 
ok ok ok


โดย: นักฆ่าเงินเฟ้อ วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:13:37:04 น.  

 
คุณผู้เขียนบรรยายสุดยอดมาก
กรุณา บรรยาย
pvc , pvb
จริงหรือไม่ pvb-pvc=npv


โดย: จากเกรียงไกร IP: 203.172.219.225 วันที่: 31 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:06:47 น.  

 
คุณผู้เขียนบรรยายสุดยอดมาก
กรุณา บรรยาย
pvc , pvb
จริงหรือไม่ pvb-pvc=npv


โดย: จากเกรียงไกร IP: 203.172.219.225 วันที่: 31 กรกฎาคม 2550 เวลา:14:07:08 น.  

 
อ่า...มีความรู้


โดย: งง IP: 58.8.117.172 วันที่: 5 สิงหาคม 2550 เวลา:22:00:12 น.  

 

ดีจังค่ะที่มีที่เขียนและแสดงความคิดเห็น จะได้ช่วยกันตีทฤษฎีให้มีความรู้กันไป อ่ะ ^^


โดย: pm IP: 124.121.94.230 วันที่: 13 สิงหาคม 2550 เวลา:18:25:47 น.  

 
NPV คืนทุน 7ปี จะปันผลได้หรือไม่


โดย: tum IP: 124.157.246.139 วันที่: 24 สิงหาคม 2550 เวลา:14:55:51 น.  

 
การคำนวณ NPV มีอคติหรือไม่ ถ้ามีควรทำอย่างไร


โดย: ปอร์ IP: 203.158.207.31 วันที่: 28 สิงหาคม 2550 เวลา:9:47:19 น.  

 
แปลงค่ากระแสเงินสดในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบันทำยังไงค่ะ


โดย: สงสัยจิงๆ IP: 222.123.211.246 วันที่: 28 สิงหาคม 2550 เวลา:23:38:59 น.  

 
อธิบายดีจัง ขอบคุณมากๆคร้า



โดย: Fat Cat IP: 165.21.154.71 วันที่: 14 กันยายน 2550 เวลา:15:39:44 น.  

 
การหาค่าIRRถ้าไม่ใช้เครื่องคิดเลข จะหาอย่างไรให้ง่ายๆหน่อย ขอเรื่องความแตกต่างของIRRกับNPVอีกครั้งค่ะ งง


โดย: umk IP: 202.57.153.50 วันที่: 20 กันยายน 2550 เวลา:11:06:17 น.  

 
เขา วิเคราะห์ ต้นทุนของเงินทุน อย่างไรค่ะ


โดย: พิม IP: 203.150.49.111 วันที่: 26 ตุลาคม 2550 เวลา:10:33:11 น.  

 
ที่อยากรู้จริงๆ คือ มูลค่าปัจจุบันคืออะไร
ต้องการทราบความหมายอ่ะค่ะ ช่วยตอบด่วนด้วยค่ะ


โดย: พอดีไม่ใช่นักบ/ชไม่เข้าใจ IP: 202.91.18.192 วันที่: 23 มกราคม 2551 เวลา:10:34:32 น.  

 
ขอถามหน่อยค่ะ ใครรู้ช่วยตอบที
1. ถ้าทำการวิเคราะห์โครงการ 3 ปี
แล้วเราสามารถคำนวณ WACC ของแต่ละปีออกมาได้ ซึ่งแต่ละปีก็มีค่า WACC ที่ไม่เท่ากัน เช่น WACC1 = 9.58% WACC2 = 11.81% WACC3 = 15.37% แล้วเราจะนำค่าอะไรมาเป็นตัวแทนในการคิด NPV ของโครงการ เนื่องจากที่เรียนมา discount rate ที่จะนำมาคิดใน NPV คือ ค่า WACC นั่นเองค่ะ
2. และถ้าในปีแรก WACC1 มีค่าติดลบ เช่น -6.32% ปีถัดไปมีค่าเป็นบวก WACC2 = 8.96% WACC3 = 9.54% อย่างนี้ทำอย่างไรค่ะ


โดย: pu IP: 202.91.18.192 วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:2:12:52 น.  

 
สูตรผิด PV(CFi) = PV(CFi)/(1+Cost of Capital)^i

ต้องเป็น PV(CFi) = CFi/(1+Cost of Capital)^i


โดย: wood IP: 58.10.167.89 วันที่: 13 พฤศจิกายน 2551 เวลา:13:14:28 น.  

 
เอิ่มมม....สูตรผิดจริงๆครับ ขอบคุณครับ


โดย: lemontree IP: 116.58.231.242 วันที่: 7 มกราคม 2552 เวลา:23:25:32 น.  

 
ขอเป็นกำลังใจให้ผู้เขียน อ่านแล้วอิ่มใจจริงๆ ชี้ให้เห็นว่าสมองของเราย่อยความรู้ที่ใส่เข้าไปได้จริงๆ ผลที่ออกมาก็เป็นดังความหลากหลายทางความคิดที่ท่านผู้รู้ทั้งหลายกรุณาแนะนำกันมา... และขอบคุณที่มีงานเขียนดีๆแบบนี้ให้ออกกำลังสมองกันด้วย


โดย: WAR IP: 58.10.170.248 วันที่: 13 มีนาคม 2552 เวลา:15:41:38 น.  

 
ใช้ Excel คิดก็ได้ครับ สามารถหาค่าโดยการเปลี่ยนตัวเลขแต่ละปีได้ทันที สะดวกดี


โดย: plara IP: 118.173.156.110 วันที่: 11 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:04:38 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: kook373 IP: 10.22.5.122, 202.28.179.4 วันที่: 18 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:27:18 น.  

 
การคำนวนมูลค่าปัจจุบันของเงินที่คาดว่าจะได้รับในอนาคต

โจทย์มีอยู่ว่า นายสมทรง คาดว่าจะได้รับเงินจำนวน 200000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้ามูลค่าปัจจุบันของเงินในสิ้นปีที่ 5 จะเปงเท่าไร ถ้าใช้อัตราลดที่ 9% ต่อปี

วิธีคิด = 200,000 (PVIF ที่ i = 9%, N = 5 ปี)
= 200,000 * 0.650
= 130,000 บาท

อยากทราบว่า 0.650 มาจากไหนอ่ะค่ะ เขาคิดกันแบบไหน พยายามลองคิดละมันก็ได้ไม่เท่า สอนหน่อยค่ะ
vthanawan@hotmail.com


โดย: สงสัย IP: 125.25.146.105 วันที่: 17 มิถุนายน 2552 เวลา:11:08:51 น.  

 
จริงๆการคำนวณ PV แบบที่ให้มาเค้้าคำนวณโดยใช้ตาราง Discount Factor ครับ

สูตร PV = FV/(1+i)^n ถ้าเปรียบเทียบกับ 200,000 * 0.650 แล้วเนี่ยจะเห็็นว่า FV ของคุณคือ 200,000 ใช่มั๊ยครับ ไอ้เจ้า 0.650 เนี่ยก็คือผลลัพธ์ของ 1/(1+i)^n นั่นเอง

แทนค่านะครับ 1/(1+0.09)^5 ก็จะได้ 0.650 แล้วล่ะครับ

จริงๆแล้ว โดยปรกติแล้วบนหัวตารางน่าจะแสดงสูตรการคำนวณไว้ให้ด้วยแล้วนะครับ ลองสังเกตดูนะครับ


โดย: lemontree วันที่: 27 สิงหาคม 2552 เวลา:15:47:38 น.  

 
ขอตอบเพิ่มเติมอีกซักเรื่องก็แล้วกันครับ

คำถามของคุณ PU นะครับ

"ขอถามหน่อยค่ะ ใครรู้ช่วยตอบที
1. ถ้าทำการวิเคราะห์โครงการ 3 ปี
แล้ว เราสามารถคำนวณ WACC ของแต่ละปีออกมาได้ ซึ่งแต่ละปีก็มีค่า WACC ที่ไม่เท่ากัน เช่น WACC1 = 9.58% WACC2 = 11.81% WACC3 = 15.37% แล้วเราจะนำค่าอะไรมาเป็นตัวแทนในการคิด NPV ของโครงการ เนื่องจากที่เรียนมา discount rate ที่จะนำมาคิดใน NPV คือ ค่า WACC นั่นเองค่ะ
2. และถ้าในปีแรก WACC1 มีค่าติดลบ เช่น -6.32% ปีถัดไปมีค่าเป็นบวก WACC2 = 8.96% WACC3 = 9.54% อย่างนี้ทำอย่างไรค่ะ"

คำตอบ

1) ถ้า WACC มีค่าไม่เท่ากันในแต่ละปี การคำนวณอาจจะยุ่งยากเล็กน้อยครับ แต่โดยหลักการแล้วก็คือ ค่อยๆ Discount ไปทีละปีครับ

ตัวอย่าง

ปี 0 => CF0
ปี 1 => CF1, WACC1
ปี 2 => CF2, WACC2
ปี 3 => CF3, WACC3

PV (CF3) = CF3/[(1+WACC1)*(1+WACC2)*(1+WACC3)]

PV (CF2) = CF2/[(1+WACC1)*(1+WACC2)]

PV (CF1) = CF1/(1+WACC1)

NPV = CF0+ PV (CF1)+PV (CF2)+PV (CF3)

2) WACC = Kd*(1-T)*(D/A) + Ke*[1-(D/A)]

Kd = อัตราดอกเบี้ยเงินกู้
Ke = อัตราผลตอบแทนคาดหวังของผู้ถือหุ้น
D/A = อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินรวมต่อสินทรัพย์รวม
T = อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล

โดยทางทฤษฎีแล้ว WACC ไม่มีสิทธิมีค่าติดลบครับ เนื่องจากเป็นการประมาณการจากความคาดหวังของนักลงทุนทั้ง Kd และ Ke ซึ่งไม่มีทางที่จะมีใครลงทุนแล้วคาดหวังการขาดทุนหรือไม่มีใครที่จะคิดดอกเบี้ยติดลบสำหรับเงินกู้นะครับ

ดังนั้นตัวเดียวที่จะสามารถทำให้ WACC มีค่าเป็นลบได้คือ D/A มีค่ามากกว่า 1 ซึ่งนั่นหมายถึงมีขาดทุนสะสมเกินทุน หรือส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ อย่างไรก็ตาม อัตราส่าน D/A ที่ใช้ในการคำนวณ WACC เป็นอัตราส่วนที่เกิดจากการคาดหวังในอนาคต แม้ในหลายกรณีเราจะใช้อัตราส่วนจากงบการเงินของปีหรือไตรมาสล่าสุดมาใช้ในการคำนวณ แต่หากงบการเงินของบริษัทมีความผิดปกติจนกระทั่งมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นลบเช่นกรณีดังกล่าว ขอแนะนำให้ใช้อัตราส่วน D/A ของบริษัทที่มีธุรกิจใกล้เคียงกัน หรือใช้ค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมแทนนะครับ


โดย: lemontree วันที่: 27 สิงหาคม 2552 เวลา:16:26:17 น.  

 
npvกับirrแตกต่างกันอย่างไร


โดย: poopay IP: 118.172.110.113 วันที่: 18 กันยายน 2552 เวลา:1:18:58 น.  

 
ขอถามเพื่อความกระจ่างหน่อยครับ สมมุติโครงการเป็นดังนี้

ปีแรกลงทุนไป 1,000,000 บาท เป็นเงินลงขันของหุ้นส่วน อ.เงินฝากแบงค์ 1.75 %
ปีที่ 2 ลงทุนไป 2,000,000 บาท เป็นเงินกู้หุ้นส่วน (บางคน) อ.เงินกู้ 2.0 % (ตามกฏหมาย)
ปีที่ 3 ลงทุนไปอีก 2,000,000 บาท อ.เงินกู้แบงค์ 10.735 %

กระแสเงินสดจากการดำเนินการ มีดังนี้
ปีที่ 1 100.000 บาท
ปีที่ 2 150.000 บาท
ปีที่ 3 200.000 บาท
ปีที่ 4 250.000 บาท
ปีที่ 5 300.000 บาท

จะถอยแต่ละตัวเพื่อมาคิด PV กันอย่างไร เพราะมีการลงทุนหลายครั้งแต่ละครั้งก็มี WACC ไม่เหมือนกัน


โดย: JOU IP: 124.122.165.87 วันที่: 21 กันยายน 2552 เวลา:15:35:36 น.  

 
แก้ไขครับ

ขอถามเพื่อความกระจ่างหน่อยครับ สมมุติโครงการเป็นดังนี้

ปีแรกลงทุนไป 1,000,000 บาท เป็นเงินลงขันของหุ้นส่วน อ.เงินฝากแบงค์ 1.75 %
ปีที่ 2 ลงทุนไป 2,000,000 บาท เป็นเงินกู้หุ้นส่วน (บางคน) อ.เงินกู้ 2.0 % (ตามกฏหมาย)
ปีที่ 3 ลงทุนไปอีก 2,000,000 บาท เป็นเงินกู้จากแบงค์ อ.เงินกู้แบงค์ 10.735 %

กระแสเงินสดจากการดำเนินการ มีดังนี้
ปีที่ 1 100,000 บาท
ปีที่ 2 150,000 บาท
ปีที่ 3 200,000 บาท
ปีที่ 4 250,000 บาท
ปีที่ 5 300,000 บาท

จะถอยแต่ละตัวเพื่อมาคิด PV กันอย่างไร เพราะมีการลงทุนหลายครั้งแต่ละครั้งก็มี WACC ไม่เหมือนกัน

(เป็นโครงการ e-commerce จะนำไป Present ครับ)


โดย: JOU IP: 124.122.165.87 วันที่: 21 กันยายน 2552 เวลา:15:42:09 น.  

 
แก้ไขครับ

ขอถามเพื่อความกระจ่างหน่อยครับ สมมุติโครงการเป็นดังนี้

ปีแรกลงทุนไป 1,000,000 บาท เป็นเงินลงขันของหุ้นส่วน อ.เงินฝากแบงค์ 1.75 %
ปีที่ 2 ลงทุนไป 2,000,000 บาท เป็นเงินกู้จากหุ้นส่วน (บางคน) อ.เงินกู้ 2.0 % (ตามกฏหมาย)
ปีที่ 3 ลงทุนไปอีก 2,000,000 บาท เป็นเงินกู้จากแบงค์ อ.เงินกู้แบงค์ 10.735 %

กระแสเงินสดรับสุทธิจากการดำเนินการ มีดังนี้
ปีที่ 1 100,000 บาท
ปีที่ 2 150,000 บาท
ปีที่ 3 200,000 บาท
ปีที่ 4 250,000 บาท
ปีที่ 5 300,000 บาท

จะถอยแต่ละตัวเพื่อมาคิด PV กันอย่างไร เพราะมีการลงทุนหลายครั้งแต่ละครั้งก็มี WACC ไม่เหมือนกัน

(เป็นโครงการ e-commerce จะนำไป Present ครับ)


โดย: JOU IP: 124.122.165.87 วันที่: 21 กันยายน 2552 เวลา:15:47:32 น.  

 
this is useful inf naka, I little confuse what is true when read all comment =_="


โดย: jing IP: 124.122.121.35 วันที่: 22 กันยายน 2552 เวลา:19:45:10 น.  

 
ขอถามหน่อยนะคะ ถ้าผลของnpv ออกมาเปนลบ
จะมีกรณีใดบ้างที่จะสามารถลงทุนได้คะ
ขอบคุณค่ะ


โดย: ying IP: 81.159.184.79 วันที่: 9 ธันวาคม 2552 เวลา:7:59:52 น.  

 
ตอบคุณ JOU นะคับ มาตอบซะป่านนี้ไม่รู้มีประโยชน์กะคุณ JOU รึเปล่านะ แต่อย่างน้อยให้คนอื่นๆได้ดูก็อาจมีประโยชน์อยู่บ้างนะครับ



เช็ค error ให้ด้วยนะครับ พอดี ทำอย่างรวดเร็ว อาจหลงหูหลงตา

อ้ออออ ถือโอกาสตอบคุณ Ying เลยกก็แล้วกันนะครับ
ในบางกรณี NPV ติดลบก็อาจจำเป็นต้องลงทุน เช่น เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด หรือเป็นการลงทุนเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ารายใหญ่ หรือเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นต้น


โดย: lemontree วันที่: 16 ธันวาคม 2552 เวลา:14:12:49 น.  

 
ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะคะ อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้นเยอะเลยค่ะ พอดีใกล้สอบวิชาไฟแน๊นซ์แล้ว เลยเข้ามาเซิสหาข้อมูล ก็มาสะดุดที่บล๊อกนี้แหล่ะค่ะ แล้วจะแวะเข้ามาอ่านบ่อยๆนะคะ คุณเลม่อนทรี ถ้ามีเวลาก็มาเขียนอีกนะคะ อ่านเพลินๆ ไม่เครียดดีค่ะ..แฮปปี้นิวเยียร์ค่า^^


โดย: delzi IP: 58.9.112.186 วันที่: 31 ธันวาคม 2552 เวลา:11:39:40 น.  

 
รบกวนถามผู้รู้ค่ะ ..ไม่รู้จะมีคนเจ้ามาอ่านรึไม่..
คือ อยากทราบว่าการกำหนดอัตราคิดลด เพื่อเอาไปคิด NPV เนี่ยเค้าทำกันยังไง พยายามแกะจากงานหลายๆ งานแล้วก้ไม่เข้าใจเลย..(ไม่มีพื้นฐานทางนี้มาก่อนเลยค่ะ)..รบกวนสอนหน่อยนะคะ..ขอแบบละเอียดยิบๆ เลย ..ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


โดย: พึ่งแวะมา IP: 202.28.24.226 วันที่: 4 สิงหาคม 2553 เวลา:15:29:37 น.  

 
ได้แวะเข้ามาดีมากเลยครับ ได้ฟังอ.มาว่าถ้า npv ไม่เป็น บวก ก็ต้องทำได้หากยังไม่มีโครงการอื่นที่ให้ทำ แต่ต้องไม่ลบมากนะ


โดย: vit IP: 180.180.1.31 วันที่: 18 กันยายน 2553 เวลา:20:48:28 น.  

 
อืมบังเอิญมาเจอคุณ lemon tree ลืม terminal growth??


โดย: lemongrass IP: 124.120.227.26 วันที่: 2 มิถุนายน 2554 เวลา:1:22:21 น.  

 
LIKE


โดย: Ken IP: 110.168.65.80 วันที่: 16 มิถุนายน 2554 เวลา:0:16:09 น.  

 
ชอบคุณสำหรับความรู้ดีๆครับ ^^,,


โดย: jaq IP: 14.207.244.211 วันที่: 23 มกราคม 2555 เวลา:2:53:21 น.  

 
ถ้าทำการติดแก๊สรถยนต์ได้ลงทุนใการติดตั้งไป25000บาทแล้วมีอายุการใช้งาน7ปีในปีแรกมีค่าใช้จ่าย150000บาทในปีทัดๆไปมีความห่างในค่าใช้จ่าย1000บาทแล้วมูลค่าซาก1500บาทแล้วได้ประหยัดเงินทั้งเจ็ดปี ปีล่ะ25000บาทต่อปีค่าI=25%ต่อปีแล้วอยากทราบว่าโครงการนี้คุ้มค่ากับการลงทุนมั้ยครับ


โดย: ิboy IP: 223.205.43.194 วันที่: 25 มีนาคม 2555 เวลา:15:27:01 น.  

 
ตอบคุณ Boy

อ่านโจทย์แล้วมึนๆ แต่ลองมั่วๆมาให้ดูก่อนแล้วกันนะครับ ถ้าเข้าใจผิดยังไงก็อธิบายเพิ่มเติมมาก็แล้วกันนะครับ



โดย: lemontree วันที่: 2 เมษายน 2555 เวลา:13:31:42 น.  

 
ผ่านมา ชอบแนวการเขียนของคุณทำให้เข้าใจง่ายสำหรับคนที่มีความรู้น้อยๆแบบผม ผมชอบครับ มันเป็นการปูทางให้เข้าใจในเรื่องที่ยากขึ้นกว่านี้

หากจะหาหนังสือการเงิน ภาษาไทยอ่าน เล่มไหนดีครับช่วยแนะนำด้วยครับ


โดย: เอส IP: 182.53.4.59 วันที่: 12 พฤษภาคม 2555 เวลา:14:16:47 น.  

 
กำลังอ่านสอบ เข้าใจง่ายมากเลยค่ะ


โดย: ลูฟี่หมวกฟาง IP: 110.168.155.213 วันที่: 2 ตุลาคม 2555 เวลา:15:50:20 น.  

 
กำลังจะสอบครับ ขอถามว่า NPV, IRR, MIRR, Profitability Index แต่ละตัวมีความหมายเป็นแบบไทยๆว่าอย่างไรครับ ขอบคุนครับ


โดย: เด็กนครครับ IP: 223.205.202.124 วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:15:36:55 น.  

 
สวัสดีค่ะไม่เข้าใจทั้งหมดค่ะเพราะไม่ได้เรียนสายนี้ แต่ต้องการเปิดกิจการที่มีขนาดเล็กและมีคนบอกว่าต้องทำnpv=การคำนวณหาความคุ้มค่าของโครงการ cashflow=กระแสเงินสด มันต้องทำยังไงค่ะโดยที่อย่างน้อยก็ไม่ขาดทุน
ขอบคุณที่ตอบมากๆๆค่ะ


โดย: Rub IP: 171.7.114.213 วันที่: 24 เมษายน 2556 เวลา:16:42:02 น.  

 
ขอบคุณนะคะ
ไม่ได้เรียนมา แต่อ่านแล้วเข้าใจด้วย
อธิบายได้เทพแท้คะ ขอบคุณคะ


โดย: K1 IP: 27.55.3.248 วันที่: 14 มิถุนายน 2556 เวลา:16:57:33 น.  

 
กระจ่างขึ้นค่ะ ขอบคุณน่ะค่ะ


โดย: ... IP: 124.121.33.18 วันที่: 27 กันยายน 2556 เวลา:17:22:51 น.  

 
การหาค่า NPV จะใช้อัตตราคิดลดตัวไหนดีค่ะ ระหว่าง WACC MARR หรือว่า IRR แล้วแตกต่างกันอย่างไรค่ะ


โดย: สอบถามค่ะ IP: 115.67.167.203 วันที่: 28 กันยายน 2556 เวลา:14:55:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

lemontree
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




ประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขอสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ และการฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ในแผนกวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง



Friends' blogs
[Add lemontree's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.