Group Blog
 
All Blogs
 

มาทำความรู้จัก SET50 Index Futures กันเถอะ - ตอนที่ 2 ลักษณะโดยทั่วไปของสัญญาฟิวเจอร์ส

สัญญาฟิวเจอร์ส เป็นสัญญาที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเหมือนกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทอื่น คือ เพื่อการป้องกันความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันผวนของราคาสินค้าต่างๆ ในตลาด ทำให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสินค้านั้นๆคาดการณ์ถึงกำไรขาดทุนของตนได้แม่นยำขึ้น โดยการกำหนดราคาซื้อขายในสัญญา ดังนั้นไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นเช่นใด แต่ทั้งสองฝ่ายก็ได้ราคาที่ตกลงกันในสัญญา ซึ่งเป็นระดับราคาที่เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย

ลักษณะทั่วไปของสัญญาฟิวเจอร์ส ประกอบด้วยส่วนสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. สินค้าอ้างอิง (Underlying Assets) หมายถึง สินค้าอะไรตามที่เราระบุในสัญญาฟิวเจอร์สว่าเรามีความประสงค์ที่จะทำการซื้อขายกัน เช่น ข้าว ยางพารา ทองคำ น้ำมันดิบ เหล็ก หรือแม้แต่หลักทรัพย์ หรือ ตราสารทางการเงินอื่นๆ เป็นต้น โดยในปัจจุบัน ตลาดซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สในประเทศไทยมี 2 แห่ง คือ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) ซึ่งเป็นตลาดที่จัดตั้งขึ้นเพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าอ้างอิง เป็นสินค้าเกษตรเท่านั้นและ ตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ซึ่งเป็นตลาดที่มีการจัดตั้งขึ้นใหม่เพื่อซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีสินค้าอ้างอิงอื่นๆที่มิใช่สินค้าเกษตร โดย ณ ปัจจุบันมีสัญญาฟิวเจอร์สประเภทเดียวที่มีการซื้อขายใน TFEX คือ SET50 Index Futures เท่านั้น

2. ราคาเสนอซื้อขาย และตัวคูณ (Price and Multiplier) ในส่วนของราคาเสนอซื้อขายนั้นคงไม่ต้องพูดถึงมาก เนื่องจากเป็นกลไกเดียวกับราคาเสนอซื้อขายของสินค้าอื่นๆ ในทางการค้าปกติอยู่แล้ว แต่ส่วนที่จะต้องอธิบายกันมากหน่อยคือ ตัวคูณ หรือ Multiplier - แล้วตัวคูณคืออะไร?

สมมติว่าสัญญาฟิวเจอร์สที่จะทำการซื้อขายนั้นไม่ได้มีการเสนอซื้อขายกันในหน่วยที่เป็นตัวเงิน เช่น ฟิวเจอร์ส ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นดัชนีราคาหลักทรัพย์ ซึ่งการเสนอซื้อขายกระทำกันโดยการอ้างอิงตัวเลขดัชนี เช่น เสนอซื้อ SET50 Index Futures ที่ 540 จุด หรือเสนอขายที่ 520 จุด เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้จะเห็นได้ว่าเราไม่อาจจะทราบได้ว่าแต่ละสัญญามีมูลค่าเป็นเงินเท่ากับเท่าใด และให้ผลกำไร-ขาดทุนเป็นเงินเท่าใด ดังนั้นเพื่อให้ง่ายในการคำนวณมูลค่าของสัญญา และกำไร-ขาดทุน จึงมีการระบุตัวคูณขึ้นเพื่อแปลงตัวเลขดัชนีดังกล่าวให้เป็นมูลค่าของเงิน เช่น กำหนดตัวคูณเท่ากับ 1000 บาทต่อจุด ดังนั้นในกรณีที่มีการเสนอซื้อ SET50 Index Futures ที่ 540 จุด หรือเสนอขายที่ 520 จุด จะมีมูลค่า 540,000 บาท และ 520,000 บาทต่อสัญญาตามลำดับ เป็นต้น

3. วันทำการส่งมอบสินค้า (Delivery Date) ในสัญญาฟิวเจอร์สจะมีการกำหนดวันที่ที่จะต้องมีการส่งมอบสินค้าอ้างอิงอย่างชัดเจน และเมื่อถึงกำหนดดังกล่าวคู่สัญญาต้องทำตามข้อผูกมัดต่างๆในสัญญา และถือว่าสัญญามีอายุสิ้นสุดลง ณ วันดังกล่าว ดังนั้น วันทำการส่งมอบสินค้าจึงอาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า วันหมดอายุของสัญญา (Expiratory Date)

4. การส่งมอบ (Delivery) และการชำระราคา (Settlement) การส่งมอบและการชำระราคาของสัญญาฟิวเจอร์ส สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ กล่าวคือ

4.1. การส่งมอบสินค้าที่เกิดขึ้นจริง (Physical Delivery) ยกตัวอย่างเช่น หากเราทำสัญญาฟิวเจอร์สที่จะซื้อข้าวจำนวน 1 ตัน ราคาตันละ 12,000 บาท และมีกำหนดส่งมอบในวันที่ 31 มีนาคม 2549 และมีข้อกำหนดว่าเป็นการส่งมอบสินค้าจริงที่ ท่าเรือกรุงเทพ เมื่อถึงกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2549 เราก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปรับข้าวจำนวน 1 ตันจากผู้ขาย ณ ท่าเรือกรุงเทพ และมีการชำระเงินค่าสินค้าให้กับผู้ขายในวันนั้นแล้ว สัญญาถือเป็นสิ้นสุด เป็นต้น

4.2. การชำระราคาเป็นเงินสด (Cash Settlement) ในกรณีนี้จะไม่มีการส่งมอบสินค้ากันจริงๆ แต่จะเป็นการชำระส่วนต่างระหว่างราคาที่ทำสัญญาไว้ กับราคาของสินค้านั้นๆที่ซื้อขายกันจริงในตลาดในวันที่สัญญาหมดอายุ เช่น หากเราทำสัญญาสัญญาฟิวเจอร์สที่จะซื้อข้าวจำนวน 1 ตัน ราคาตันละ 12,000 บาท และมีกำหนดส่งมอบในวันที่ 31 มีนาคม 2549 และมีการกำหนดให้เป็นการชำระราคาเป็นเงินสด โดยใช้ราคาซื้อขายข้าวในวันที่สัญญาหมดอายุเป็นตัวอ้างอิง เมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2549 ซึ่งเป็นวันส่งมอบ ราคาข้าวในตลาด คือ 13,500 บาทต่อตัน เราจะได้รับเงินจากส่วนต่างราคาจำนวน 1,500 บาท จากคู่สัญญาของเราในวันที่สัญญาหมดอายุแทน โดยไม่มีการส่งมอบสินค้าคือ ข้าว ให้แก่กันแต่อย่างใด

มาถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะมีคำถามว่า “อ้าว! แล้วคนที่ต้องการสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้าแบบนี้ ได้รับเฉพาะเงินส่วนต่างราคา แล้วสัญญาฟิวเจอร์ส จะมีประโยชน์อะไร” แต่ในความเป็นจริงคนที่ต้องการสินค้าก็สามารถไปซื้อสินค้าในตลาดสินค้าปกติขณะนั้นได้อยู่แล้ว และใช้ส่วนต่างราคาที่ได้มาจากฟิวเจอร์สมาชำระส่วนเกินราคาในตลาดในปัจจุบัน เช่น จากตัวอย่างข้างต้น เราก็เข้าไปซื้อข้าวที่ขายกันอยู่ในตลาดค้าข้าวในวันที่ 31 มีนาคม 2549 โดยชำระราคาปัจจุบันที่ตันละ 13,500 บาท แต่เราซื้อสัญญาฟิวเจอร์สไว้ก่อนหน้านี้แล้วและได้กำไรจากฟิวเจอร์สในวันเดียวกันจำนวน 1,500 บาท ก็นำมาชดเชยกัน โดยหักกลบกันแล้วเราก็ยังได้ซื้อข้าวในราคา 12,000 ซึ่งเป็นราคาเดียวกับที่ระบุไว้ในสัญญาฟิวเจอร์ส อยู่ดี ในทางกลับกันในส่วนของคนขายซึ่งต้องจ่ายส่วนต่างราคาให้กับเรา 1,500 บาท ก็เอาสินค้าไปขายในตลาดค้าข้าวปกติซึ่งจะได้รับเงินตามราคาปัจจุบันจำนวน 13,500 บาท หักกลบกันแล้วผู้ขายก็ได้รับเงินทั้งสิ้นจำนวน 12,000 บาทตามที่ระบุไว้ในสัญญา จะเห็นได้ว่าทุกฝ่ายก็ยังได้ราคาตามต้องการ

อีกครั้งที่หลายคนอาจจะถามว่า “มันยุ่งยากขนาดนี้ ทำไมไม่ส่งมอบและชำระจริงให้มันเสร็จซะทีเดียวล่ะ” คำตอบก็คือ สัญญาฟิวเจอร์สเป็นสัญญาที่เป็นมาตรฐาน ดังนั้นการกำหนดสถานที่ส่งมอบจะต้องเหมือนกันในทุกสัญญาที่มีสินค้าอ้างอิงเดียวกัน และมีวันส่งมอบในวันเดียวกัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้เป็นที่ท่าเรือ หรือท่าอากาศยาน หรือศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่เป็นสากลอื่นๆ คราวนี้ลองจินตนาการดูว่า หากบริษัทผลิตยางรถยนต์ที่อยู่ทางภาคใต้ต้องการซื้อยางพาราไปทำการผลิตโดยการใช้สัญญาฟิวเจอร์สเพื่อป้องกันความผันผวนของราคา แต่เมื่อสิ้นสุดสัญญาต้องไปรับสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพ ทั้งๆที่แหล่งผลิตยางพาราก็อยู่ที่ภาคใต้ คนขายก็ต้องขนไปท่าเรือ คนซื้อก็ต้องขนกลับมา ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมทั้งสองฝ่าย ดังนั้นการชำระราคาโดยชำระเป็นเงินสดจะช่วยลดความซ้ำซ้อนลงมาได้ โดยชำระเงินกันแค่ส่วนต่างราคา แล้วคนที่ต้องการสินค้าก็ไปหาซื้อสินค้าในท้องถิ่นนั้นๆ และคนขายก็เอาสินค้ามาขายในท้องถิ่นของตน แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงได้ราคาเท่ากับราคาในสัญญาฟิวเจอร์ส

สัญญาฟิวเจอร์สส่วนใหญ่ในปัจจุบันมักจะกำหนดให้ใช้การชำระราคาเป็นเงินสด ด้วยหลักคิดง่ายๆ ว่าเคลื่อนย้ายเงินง่ายกว่าเคลื่อนย้ายสินค้า นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้สามารถซื้อขายฟิวเจอร์สที่มีสินค้าอ้างอิงที่เป็นสินค้าไม่มีตัวตนได้ เช่น SET50 Index Futures ที่จะกล่าวถึงต่อไป โดยมีสินค้าอ้างอิงคือดัชนี SET50 ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนเมื่อหมดสัญญาแล้วก็ไม่มีใครสามารถหา SET50 มาส่งมอบได้การชำระส่วนต่างของราคาก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในฟิวเจอร์สประเภทนี้


ลักษณะทั่วไปของสัญญาฟิวเจอร์สโดยทั่วไปก็มีเท่านี้แหละครับ ในตอนหน้าจะแนะนำให้รู้จักกับ ศัพท์เทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายฟิวเจอร์ส พร้อมกับแนะนำให้รู้จักกับ SET50 Index Futures กันเสียที ต้องขออภัยที่กล่าวนำมาซะยืดยาวแต่มันจำเป็นครับเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่พอเข้าเรื่อง Index Futures คงยังไม่เบื่อกัน และหวังว่าจะยังคงติดตามกันต่อไปนะครับ




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 10 พฤษภาคม 2549 18:11:43 น.
Counter : 1731 Pageviews.  

มูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ Net Present Value: NPV คืออะไร? (กันแน่)

จริงๆ แล้วสัปดาห์นี้ว่าจะเขียนเรื่องสัญญาฟิวเจอร์สต่อ แต่ปรากฏว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม 2549) ผมได้ไปเข้ารับการอบรมหลักสูตร CISA (Certified Investment and Securities Analyst) ซึ่งมีการกล่าวถึงเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของทฤษฎีทางด้านการเงิน นั่นก็คือ เรื่องการหามูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ NPV

ในวันนั้น ผู้บรรยายเป็นอาจารย์มาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ทว่าไม่สามารถอธิบายหลักการของเรื่องมูลค่าสุทธิได้อย่างถูกต้อง ผนวกกับข้าพเจ้าได้มีโอกาสเรียนวิชา การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการ ในระดับบัณฑิตศึกษากับอาจารย์อีกท่านหนึ่งซึ่งมาจากสถาบันเดียวกัน และอาจารย์ท่านดังกล่าวก็มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวคลาดเคลื่อนเหมือนกัน ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับผู้เขียนเป็นอย่างมาก โดยในวันนั้นผู้บรรยายได้สรุปว่า

“… ถ้าโครงการใดหาค่า NPV ได้มากกว่าหรือเท่ากับ ศูนย์ ก็สามารถลงทุนได้ (อันนี้ถูกต้อง) แต่ในความเป็นจริงเราจะไม่ลงทุนในโครงการที่มี NPV เท่ากับศูนย์ เพราะเท่าทุนไม่ได้กำไร (อันนี้ผิดอย่างร้ายแรง เพราะแม้ว่าโดยทั่วไปเราจะไม่ลงทุนในโครงการที่มี NPV เท่ากับศูนย์พอดี แต่ก็ไม่ใช่เพราะมันเป็นโครงการที่ไม่มีกำไร แต่ด้วยเหตุผลที่ถูกต้องตามทฤษฎีมากกว่าเหตุผลอื่นที่จะกล่าวต่อไป)...” ดังนั้นผู้เขียนจึงอดรนทนไม่ได้ที่จะต้องมาแถลงไขเกี่ยวกับความเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวในบทความนี้

เนื่องจากหลักการของ NPV มีพื้นฐานมาจาก ทฤษฎีค่าของเงินตามกาลเวลา หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Time Value of Money หรือ TVM ดังนั้นก่อนที่จะไปทำความเข้าใจกับ NPV นั้น ขอกล่าวถึงหลักการคร่าวๆของมูลค่าของเงินตามเวลาก่อน

มูลค่าของเงินตามเวลา เป็นหลักการที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของเงินตามกาลเวลา กล่าวคือ เงิน 100 บาทวันนี้ จะไม่ได้มีค่าเท่ากับ 100 บาทในอนาคต หรือในทางกลับกัน พูดถึงตรงนี้อาจจะงง แต่หลักการของมันง่ายมากๆ เช่น ลองคิดดูว่าถ้ามีคนบอกว่าจะให้เงินท่าน 10,000 บาทวันนี้ กับ 10,000 บาทอีก 1 ปีข้างหน้า ท่านจะรับแบบไหน ก็ต้องรับ 10,000 บาทวันนี้ใช่ไหมครับ ดังนั้น เราก็ยอมรับกันเป็นนัยอยู่แล้วว่า 10,000 บาทวันนี้ ย่อมดีกว่า 10,000 ในวันข้างหน้า ทั้งๆที่เป็นจำนวนเงินเดียวกัน นั่นก็เพราะว่าถ้าได้เงินมาวันนี้ก็สามารถนำมาใช้ได้ในวันนี้ไม่ต้องรอ หรือทางทฤษฎีเรียกว่า ไม่มีค่าเสียโอกาส เช่น หากนำเงินดังกล่าวไปฝากก็จะได้ดอกเบี้ย เช่นถ้าฝากวันนี้ อีก 1 ปีข้างหน้าจะได้เงินคืนมา 10,350 บาท (ดอกเบี้ยเงินฝาก 3.5% ต่อปี) ดังนั้นถ้าจะให้รับเงินในอีก 1 ปีข้างหน้าก็ต้องรับอย่างน้อย 10,350 บาท เพื่อชดเชยดอกเบี้ยที่จะได้รับ

จากตัวอย่างข้างต้นจะเป็นว่าปัจจัยที่มีผลต่อมูลค่าของเงินตามเวลา คือ อัตราผลตอบแทนที่เราคาดหวัง ทั้งนี้เพื่อชดเชย ค่าเสียโอกาสในการใช้เงิน (Opportunity Costs) เพียงอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดความคาดหวังผลตอบแทนเพื่อชดเชยกับระยะเวลายังมีอีกหลายปัจจัย อาทิ โอกาสที่จะไม่ได้รับเงินเลยในอนาคต (Default Risk) และค่าชดเชยอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เป็นต้น

เอาล่ะ หลังจากเกริ่นมาซะนาน เราจะได้เข้าเรื่องกันสักที มูลค่าปัจจุบันสุทธิ หรือ Net Present Value (NPV) เป็นหลักการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจของโครงการ หรือพูดง่ายๆว่าความคุ้มค่าของการลงทุน โดยหลักการแล้วจะต้องมีการประมาณการกระแสเงินสดตลอดอายุของโครงการ จากจุดนี้จะเห็นว่า เราลงทุนในปีนี้ แต่กระแสเงินสดที่จะได้รับจากโครงการนั้นจะเข้ามาในอนาคต

และด้วยหลักการของมูลค่าของเงินตามเวลานั้นเราก็ทราบว่ากระแสเงินสดในอนาคตจะมีค่าไม่เท่ากับกระแสเงินสดในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถเอามูลค่าที่อยู่กันคนละเวลามาหักกลบกันได้ ดังนั้นต้องมีการแปลงค่ากระแสเงินสดในอนาคตให้เป็นมูลค่าปัจจุบันก่อน จากนั้นหาผลรวมของมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในอนาคต แล้วค่อยนำมาหักกลบกับเงินลงทุนที่ใช้ไปในปัจจุบัน จุดนี้แหละครับที่มักเป็นต้นตอของความเข้าใจผิดดังกล่าว

สูตรของ NPV (สำหรับผู้ที่ยังไม่มีพื้นฐานทางการเงินเลยก็ขอให้ข้ามส่วนนี้ไปก่อนก็แล้วกันนะครับ เอาแป็นว่าอ่านเอาแนวคิดก่อนก็แล้วกัน เรื่องการคำนวณก็ปล่อยให้ฝ่ายการเงินทำไปก่อน)

NPV = - CF0 + PV(CF1) + PV(CF2) + PV(CF3) + … + PV(CFn)

โดย
CF0 คือ เงินลงทุนที่ใช้ในปีปัจจุบัน
PV(CF1)…PV(CFn) คือ มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดในปีที่ 1 – ปีสุดท้ายของโครงการ (ปีที่ n) ทั้งนี้

PV(CFi) = CFi/(1+Cost of Capital)^i

ลองดูกรณีตัวอย่างที่ง่ายที่สุดนะครับ (สำหรับคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องการเงินจะได้เข้าใจได้ง่ายๆด้วย)

สมมติว่า โครงการหนึ่งมีการลงทุน 100 บาท และผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทน 30% ต่อปี โครงการมีอายุ 1 ปี และคาดว่าโครงการจะสามารถหากระแสเงินสดได้เป็นจำนวน 130 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า



จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ค่า NPV เท่ากับศูนย์ แต่แสดงว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มทุนพอดี (ไม่มีผลตอบแทนใดๆ) ใช่หรือไม่

คำตอบคือ ไม่ใช่ เนื่องจากจะเห็นได้ว่า โครงการใช้เงินลงทุน 100 บาท และผู้ลงทุนต้องการผลตอบแทน 30% ต่อปี และเป็นการลงทุนที่มีอายุแค่ 1 ปี ดังนั้นเมื่อสิ้นปีที่ 1 โครงการนี้จะต้องหาผลตอบแทนมาคืนผู้ลงทุนจำนวน 30 บาท และต้องคืนเงินลงทุน 100 บาท รวม 130 บาท ซึ่งเท่ากับกระแสเงินสดที่คาดว่าโครงการหาได้ ตามโจทย์คือ 130 บาทพอดี

ดังนั้น จึงอาจจะสรุปได้ว่าการที่ค่า NPV = 0 มิได้แสดงว่าโครงการลงทุนนั้นๆไม่ได้กำไร หรือแค่คุ้มทุนเท่านั้น แต่หมายความถึงโครงการสามารถหาเงินมาจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้ลงทุนได้เท่ากับความคาดหวัง และยังสามารถชำระคืนเงินลงทุนให้ผู้ลงทุนได้ทั้งหมดพอดี

แม้ว่าการลงทุนในโครงการที่มี NPV = 0 นั้นจะเพียงพอที่ทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนตามที่ได้คาดหวังไปแล้ว ทว่าในความเป็นจริงเรามักจะชอบที่จะลงทุนในโครงการที่ มี NPV มากกว่าศูนย์มากๆ นั่นก็เพราะ ค่า NPV นั้นคำนวณมาจากการประมาณการกระแสเงินสดของโครงการที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูงเพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่าจะมีเหตุการณ์ร้ายแรงใดๆเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ดังนั้น ค่า NPV มากๆ ก็แสดงถึงความสามารถของโครงการที่จะรับมือกับความผันผวน ของกระแสเงินสดในอนาคตได้ (หรือเป็น safeguard) นอกจากนี้ ค่า NPV ที่มากกว่าศูนย์ยังสามารถถือได้ว่าเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับกิจการได้ เพราะ แค่ NPV เท่ากับศูนย์ผู้ลงทุนทุกคนก็ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดแล้ว ดังนั้น NPV ในส่วนที่เกินจากศูนย์จึงแสดงนัยว่าเป็นมูลค่าส่วนเกินที่บริษัทจะได้รับเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การที่ NPV มีค่าสูงมากๆ เมื่อเทียบกับเงินลงทุนเริ่มต้น เช่น โครงการลงทุนแค่ 10 ล้านบาท แต่กลับคำนวณ NPV ได้ 100 ล้านบาท ก็มิได้หมายความถึงเป็นการลงทุนที่มีกำไรสูงมากเสมอไป โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 99.99) กรณีแบบนี้กลับเป็นตัวชี้ว่าอาจจะมีการประมาณการกระแสเงินสดไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือประเมินผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนคาดหวังต่ำเกินไป หรือทั้งสองกรณี

มาถึงตอนท้ายนี้แล้ว ผู้เขียนหวังว่าผู้อ่านทุกท่านคงมีความเข้าใจที่กระจ่างมากขึ้นเกี่ยวกับ NPV และหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการประยุกต์ใช้เพื่อการดัดสินใจของท่านไม่มากก็น้อย




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 23 ธันวาคม 2552 15:50:14 น.
Counter : 63234 Pageviews.  

มาทำความรู้จัก SET50 Index Futures กันเถอะ - ตอนที่ 1 สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสัญญาฟิวเจอร์ส

ตอนที่ 1 สัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสัญญาฟิวเจอร์ส

เนื่องจาก SET50 Index Futures เป็นตราสารทางการเงินที่จัดอยู่ในประเภทสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ดังนั้นก่อนที่เราจะพูดถึง SET50 Index Futures ก็คงต้องขอแนะนำให้รู้จักกับคำว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และสัญญาฟิวเจอร์ส (Futures Contract) กันก่อน

“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า คือ สัญญาที่กระทำขึ้นระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายที่ระบุถึงข้อตกลงที่จะซื้อหรือจะขายสินค้าใดๆ ที่จะมีการส่งมอบกันในอนาคตตามราคาที่ได้มีการตกลงกันไว้ในสัญญา”

ตัวอย่างของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เช่น สัญญาที่โรงสีข้าวทำไว้กับชาวนาว่าจะรับซื้อผลผลิตข้าวของชาวนารายนั้นๆ จำนวน 20 ตัน ที่ราคาตันละ 10,000 บาท โดยจะต้องส่งมอบข้าวให้กับโรงสี และมีการชำระราคากันในอีก 3 เดือนข้างหน้า เป็นต้น

ในกรณีข้างต้น “สินค้าอ้างอิง” หรือสินค้าที่ระบุอยู่ในสัญญาว่าจะซื้อหรือจะขายนั้นคือ ข้าว แต่ในความเป็นจริงนั้นสินค้าอ้างอิงจะเป็นอะไรก็ได้ เช่น ยางแผ่น ทองคำ น้ำมัน หรือแม้แต่เงินตราต่างประเทศ หุ้นสามัญของบริษัท และ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ของตลาดหลักทรัพย์หรือกลุ่มหลักทรัพย์ต่างๆ เป็นต้น

จากตัวอย่างของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ได้กล่าวมานั้น ในทางการเงินเรามักจะเรียกว่า สัญญา forward (Forward Contracts) ซึ่งเป็นสัญญาที่กระทำขึ้นให้ตรงตามความต้องการเฉพาะของผู้ซื้อและผู้ขาย กล่าวคือ สัญญาของโรงสีแต่ละแห่งที่ทำกับชาวนาแต่ละรายอาจไม่เหมือนกันได้ เช่น ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับชาวนาคนหนึ่งจำนวน 10 ตันที่ราคาตันละ 11,000 บาท ส่งมอบอีก 3 เดือนข้างหน้าแต่ทำกับอีกคนหนึ่งจำนวน 20 ตัน ราคา 12,000 บาท ส่งมอบอีก 1 เดือนข้างหน้า เป็นต้น จากการที่สัญญาต่างๆเหล่านี้มีความแตกต่างกันจึงเป็นเหตุให้การซื้อขายเปลี่ยนมือของสัญญาดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เพราะการซื้อขายสัญญานั้นๆ ต้องกระทำกับคนที่มีความต้องการสินค้าที่มีปริมาณ และระยะเวลาส่งมอบที่ตรงกับที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น ดังนั้นเราจึงไม่เคยเห็นตลาดอย่างเป็นทางการที่เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสัญญา forward มาก่อน แต่การซื้อขายเปลี่ยนมือนั้นมักจะเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรงเกือบทั้งหมด

“สัญญาฟิวเจอร์ส เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแบบหนึ่ง แต่เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน โดยมีการระบุถึงคุณสมบัติทั่วไปของสินค้าอ้างอิง ปริมาณที่จะทำการซื้อขายต่อ 1 สัญญา และวีธีการส่งมอบและวันที่ที่จะส่งมอบสินค้านั้นๆไว้อย่างชัดเจนและเหมือนกันทุกสัญญาสำหรับสินค้าอ้างอิงหนึ่งๆ”

นอกจากนี้ การที่สัญญาฟิวเจอร์ส เป็นสัญญาที่มีความเป็นมาตรฐานนี้ ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายมีปัจจัยเดียวเท่านั้นที่ใช้ในการต่อรองกันนั่นก็คือ “ราคา” จึงทำให้เกิดความสะดวกขึ้นในการซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดแลกเปลี่ยน

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีตลาดซื้อขายฟิวเจอร์ส ทั้งหมด 2 แห่ง คือ ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET) และ ตลาดอนุพันธ์ (TFEX)

งงกันมั้ยครับถ้ายังไงก็ post มาถามได้นะครับ ส่วนลักษณะทั่วไปของ SET50 Index Futures จะกล่าวถึงในตอนต่อไปครับ




 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 4 พฤษภาคม 2549 17:20:39 น.
Counter : 3438 Pageviews.  

ความรู้ - การขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ (การกู้เงิน)

การขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ (การกู้เงิน)

นักธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยหลายท่านอาจเคยจะประสบปัญหาในหลายๆด้านเกี่ยวกับการขอกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ หรือแม้แต่กับนักธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถในการประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลายาวนาน กระทั่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอยู่บ้างในวงการ ที่ต้องการขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ให้กับบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีเยี่ยมก็ยังประสบปัญหาดังกล่าวอยู่เนืองๆ ซึ่งปัญหาโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเขียนโครงการเพื่อไปนำเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ นั้นมิได้จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ

ดังนั้น เพื่อให้การขอสนับสนุนวงเงินกู้ของท่านทั้งหลายผ่านไปอย่างราบรื่น ก่อนอื่นเราต้องรู้เขารู้เราก่อน กล่าวคือต้องทำความเข้าใจกับเกณฑ์ในการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆให้ถ่องแท้ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับเกณฑ์ในการพิจารณาทั่วไป 4 ข้อ คือ 1) กระแสเงินสดของโครงการที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้ หรือ “Cash Flow” 2) สินทรัพย์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน หรือ “Collateral” 3) สัดส่วนของการลงทุนร่วมของเจ้าของ หรือ “Capital” และ 4) ประวัติการชำระหนี้ของบริษัทหรือบุคคลที่ขอกู้ หรือ “Character” ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ 4C’s ทั้งนี้ร้อยละ 80 ของการอนุมัติสินเชื่อนั้นทุกโครงการจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อนี้ ส่วนอีกร้อยละ 20 อาจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขพิเศษจากการอนุมัติวงเงินกู้ปกติ

เกณฑ์ที่ 1 กระแสเงินสดของโครงการที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้
รายละเอียดในส่วนแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ กระแสเงินสดของโครงการที่จะนำมาใช้ชำระคืนเงินกู้ ในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้กู้ที่จะต้องแสดงให้ผู้ให้กู้เห็นว่า โครงการลงทุนดังกล่าวผู้ขอกู้นั้นจะสามารถหากระแสเงินสดจากการดำเนินการมาชำระหนี้ให้กับผู้ให้กู้ได้มากน้อยเพียงใด และใช้เวลาในการผ่อนชำระนานเท่าใด ทั้งนี้นอกจากตัวของกระแสเงินสดเองแล้วทางสถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างของรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย ว่ามีแหล่งที่มาจากไหนบ้างและเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และมีที่ไปที่ไหนบ้างเป็นสัดส่วนเท่าใด อีกทั้งโครงสร้างรายได้และค่าใช้จ่ายดังกล่าวสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือไม่ และมีความเสี่ยงที่รายรับและรายจ่ายจะไม่เป็นไปตามประมาณการมากน้อยเพียงใด

โดยทั่วไปโครงการจะผ่านเกณฑ์ข้อนี้ไปได้หากสามารถมีกระแสเงินสดมาชำระหนี้ได้ในช่วง 7-12 ปี แต่ก็มิใช่ว่าโครงการที่ยาวกว่านั้นจะเป็นไปไม่ได้ เช่นหากเป็นโครงการที่เป็นการลงทุนเพื่อหาประโยชน์จากสินทรัพย์ถาวรก็อาจจะเป็นไปได้ว่าโครงการที่มีอายุยาวกกว่านั้นเช่น 15 หรือ 20 ปีหรือนานกว่านั้นจะได้รับการอนุมัติ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโครงการ อย่างไรก็ดีการทำประมาณการกระแสเงินสดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือเป็นเท็จจะถูกตรวจพบอย่างแน่นอน และเป็นการป่วยการและเปล่าประโยชน์

เกณฑ์ที่ 2 สินทรัพย์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน

เกณฑ์ที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับมูลค่าของหลักประกันที่จะนำมาวางเพื่อค้ำประกันเงินกู้ ข้อนี้มีความสำคัญมากในการกำหนดวงเงินกู้สูงสุดที่โครงการๆหนึ่งจะสามารถกู้ได้ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ในการขอกู้เงินไม่ว่าจากสถาบันการเงินใด หากผู้ขอกู้มิได้เป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือและมีผลประกอบการในระดับดีเยี่ยมแล้ว ก็มักจะถูกร้องขอให้วางหลักประกัน ซึ่งหลักประกันก็คือทรัพย์สินประเภทต่างๆของผู้ขอกู้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ อาทิ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง หรือสังหาริมทรัพย์ อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร วัตถุดิบ หรือสินค้าคงคลัง เป็นต้น หรือสินทรัพย์อื่นใด เช่น ตราสารทางการเงินต่างๆ เป็นต้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะหลักเกณฑ์การประเมินวงเงินกู้จากมูลค่าทรัพย์ทั่วไปที่นิยมใช้วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร เท่านั้น ตามรายละเอียดดังตาราง

ประเภทสินทรัพย์
วงเงินสูงสุดที่สามรถกู้ได้
1. ที่ดิน 100% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
2. สิ่งปลูกสร้าง 80-90% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
3. เครื่องจักรใหม่ 70-80% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
4. เครื่องจักเก่า อายุ 1-5 ปี 50-60% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
5. เครื่องจักรเก่า อายุมากกว่า 5 ปี 30% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
6. เครื่องจักรเก่าที่ทำการติดตั้ง และ test run แล้ว ใช้เกณฑ์เดียวกับเครื่องจักรใหม่

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่ามีคำที่ น่าสนใจอยู่คือ “ราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ” ซึ่งหมายถึง ราคาที่ได้มาจากการว่าจ้างบริษัทประเมินมูลค่าสินทรัพย์อิสระให้มาทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นๆ โดยสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้จะมีรายชื่อของบริษัทประเมินฯที่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินนั้นๆอยู่ ซึ่งสามารถขอรับรายชื่อดังกล่าวได้กับสถาบันการเงินนั้นๆได้โดยตรง อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่บริษัทประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ก็จะเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินต่างๆ อยู่แล้ว โดยรายชื่อของบริษัทดังกล่าวสามารถตรวจค้นได้ที่เว็บไซต์ของ กลต. (//www.sec.or.th/)

นอกจากนี้ หากโครงการที่ขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้นั้นๆ เป็นโครงการขนาดใหญ่ผู้ให้กู้ก็อาจร้องขอให้ใช้ผู้ประเมินอิสระมากกว่า 1 บริษัทได้ แต่หากเป็นโครงการขนาดเล็กการว่าจ้างบริษัทประเมินอิสระอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับจากการกู้เงิน ดังนั้นธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีหน่วยงานภายในของตนเองเพื่อรับประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพื่อให้บริการในต้นทุนที่ถูกลงเช่นเดียวกัน แต่ก็อาจต้องรอคิวนาน

เกณฑ์ที่ 3 สัดส่วนของการลงทุนร่วมของเจ้าของ

ส่วนที่สามที่ต้องพิจารณาคือส่วนของการร่วมลงทุนในโครงการของเจ้าของหรือหุ้นส่วนของบริษัท ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาถึง ความเสี่ยงที่ผู้ขอกู้จะเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากการบริหารจัดการเงินทุนด้วยหนี้สินมากจนเกินไป ซึ่งโดยทั่วไปมักจะพิจารณากันที่อัตราส่วนของหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ซึ่งสัดส่วนนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่แน่นอนว่าได้เท่าไหร่แล้วถึงจะได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นในกรณีปกติอัตราส่วน D/E ที่ 3/1 อาจจะสูงเกินไป แต่ถ้าเป็นการลงทุนในส่วนต่อขยายโครงการเดิมซึ่งมีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้วก็อาจได้รับการอนุมัติ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ข้อนี้มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก เอาเป็นว่าหลักง่ายๆที่ต้องพิจารณาคือพยายามทำให้มีการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นก่อนให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนเพื่อรักษาระดับของ D/E ไม่ให้ต่ำไปกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

ทั้งนี้การคำนวณ D/E Ratio นี้ต้องเป็นการคำนวณของทั้งกิจการซึ่งรวมวงเงินกู้ที่จะขอรับการสนับสนุน มิใช่คำนวณเฉพาะการลงทุนส่วนเพิ่ม ตัวอย่างเช่น หากเดิมบริษัทมีหนี้สินรวม เท่ากับ 60 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 30 ล้านบาท ต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการๆหนึ่งที่มีมูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งจะมีการลงทุนจากผู้ถือหุ้นจำนวน 5 ล้านบาท และขอกู้จำนวน 15 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังตาราง

บริษัท (เดิม)
การลงทุนส่วนเพิ่ม
บริษัท (หลังกู้เงิน)
หนี้สิน (D)
60
15
75
ส่วนของผู้ถือหุ้น (E)
30
5
35
D/E
2/1
3/1
2.14/1


จากตาราง ตัวเลข D/E ที่จะใช้ในการพิจารณาคือ 2.14/1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพรวมของบริษัทหลังจากได้รับวงเงินกู้มิใช่ 3/1 ซึ่งสะท้อนภาพเพียงการลงทุนส่วนเพิ่มเท่านั้น

นอกจากนี้ D/E ยังแสดงถึง commitment ของเจ้าของหรือหุ้นส่วนของกิจการที่มีต่อการลงทุนในโครงการดังกล่าว ยิ่งสัดส่วนดังกล่าวลดน้อยลงเท่าไหร่ ก็ทำให้ผู้ให้กู้มีความมั่นใจมากขึ้นว่ากลุ่มผู้ลงทุนและผู้บริหารมี commitment ที่จะบริหารงานเพื่อให้โครงการนั้นๆอยู่รอด เพื่อรักษาเงินลงทุนและผลตอบแทนในอนาคตของตน

เกณฑ์ที่ 4 ประวัติการชำระหนี้ของบริษัทหรือบุคคลที่ขอกู้
เกณฑ์ในข้อนี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นมีการบังคับใช้ระบบ Credit Bureau และ Blacklist อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บุคคลที่ประสบกับวิกฤติจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนั้นมีรายชื่ออยู่ใน Blacklist เป็นจำนวนมาก และบุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถทำธุร กรรมการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินต่างๆได้เลย ดังนั้น การขอกู้เงินในโครงการต่างๆ ก็ควรจัดโครงสร้างของบริษัทก่อนกู้เงินให้ดี โดยต้องตัดความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ใน Blacklist ออกอย่างสิ้นเชิง ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และกรรมการบริษัท และหากหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กู้ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ใน Blacklist มิได้ ก็ต้องร้องขอให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการประนอมหนี้ของตนเองให้แล้วเสร็จเพื่อปลดชื่อออกจาก Blacklist ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ เกณฑ์ในข้อนี้ไม่สามารถประนีประนอมได้ เนื่องจากเป็นระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย




 

Create Date : 28 เมษายน 2549    
Last Update : 18 ตุลาคม 2549 10:57:59 น.
Counter : 1006 Pageviews.  


lemontree
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




ประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขอสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ และการฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ในแผนกวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง



Friends' blogs
[Add lemontree's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.