Group Blog
 
All Blogs
 
ความรู้ - การขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ (การกู้เงิน)

การขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ (การกู้เงิน)

นักธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยหลายท่านอาจเคยจะประสบปัญหาในหลายๆด้านเกี่ยวกับการขอกู้เงินจากธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ หรือแม้แต่กับนักธุรกิจที่มีความรู้ความสามารถในการประกอบธุรกิจมาเป็นระยะเวลายาวนาน กระทั่งเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงอยู่บ้างในวงการ ที่ต้องการขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้ให้กับบริษัทที่มีผลประกอบการที่ดีเยี่ยมก็ยังประสบปัญหาดังกล่าวอยู่เนืองๆ ซึ่งปัญหาโดยส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการเขียนโครงการเพื่อไปนำเสนอต่อธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ นั้นมิได้จัดทำขึ้นให้สอดคล้องกับเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารหรือสถาบันการเงินนั้นๆ

ดังนั้น เพื่อให้การขอสนับสนุนวงเงินกู้ของท่านทั้งหลายผ่านไปอย่างราบรื่น ก่อนอื่นเราต้องรู้เขารู้เราก่อน กล่าวคือต้องทำความเข้าใจกับเกณฑ์ในการพิจารณาการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆให้ถ่องแท้ ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จักกับเกณฑ์ในการพิจารณาทั่วไป 4 ข้อ คือ 1) กระแสเงินสดของโครงการที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้ หรือ “Cash Flow” 2) สินทรัพย์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน หรือ “Collateral” 3) สัดส่วนของการลงทุนร่วมของเจ้าของ หรือ “Capital” และ 4) ประวัติการชำระหนี้ของบริษัทหรือบุคคลที่ขอกู้ หรือ “Character” ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาดังกล่าวเป็นที่รู้จักกันในชื่อ 4C’s ทั้งนี้ร้อยละ 80 ของการอนุมัติสินเชื่อนั้นทุกโครงการจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 4 ข้อนี้ ส่วนอีกร้อยละ 20 อาจต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขพิเศษจากการอนุมัติวงเงินกู้ปกติ

เกณฑ์ที่ 1 กระแสเงินสดของโครงการที่จะนำมาชำระคืนเงินกู้
รายละเอียดในส่วนแรกที่จะกล่าวถึงก็คือ กระแสเงินสดของโครงการที่จะนำมาใช้ชำระคืนเงินกู้ ในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของผู้กู้ที่จะต้องแสดงให้ผู้ให้กู้เห็นว่า โครงการลงทุนดังกล่าวผู้ขอกู้นั้นจะสามารถหากระแสเงินสดจากการดำเนินการมาชำระหนี้ให้กับผู้ให้กู้ได้มากน้อยเพียงใด และใช้เวลาในการผ่อนชำระนานเท่าใด ทั้งนี้นอกจากตัวของกระแสเงินสดเองแล้วทางสถาบันการเงินยังให้ความสำคัญกับโครงสร้างของรายได้ และค่าใช้จ่ายต่างๆด้วย ว่ามีแหล่งที่มาจากไหนบ้างและเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ และมีที่ไปที่ไหนบ้างเป็นสัดส่วนเท่าใด อีกทั้งโครงสร้างรายได้และค่าใช้จ่ายดังกล่าวสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมหรือไม่ และมีความเสี่ยงที่รายรับและรายจ่ายจะไม่เป็นไปตามประมาณการมากน้อยเพียงใด

โดยทั่วไปโครงการจะผ่านเกณฑ์ข้อนี้ไปได้หากสามารถมีกระแสเงินสดมาชำระหนี้ได้ในช่วง 7-12 ปี แต่ก็มิใช่ว่าโครงการที่ยาวกว่านั้นจะเป็นไปไม่ได้ เช่นหากเป็นโครงการที่เป็นการลงทุนเพื่อหาประโยชน์จากสินทรัพย์ถาวรก็อาจจะเป็นไปได้ว่าโครงการที่มีอายุยาวกกว่านั้นเช่น 15 หรือ 20 ปีหรือนานกว่านั้นจะได้รับการอนุมัติ อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละโครงการ อย่างไรก็ดีการทำประมาณการกระแสเงินสดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหรือเป็นเท็จจะถูกตรวจพบอย่างแน่นอน และเป็นการป่วยการและเปล่าประโยชน์

เกณฑ์ที่ 2 สินทรัพย์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักประกัน

เกณฑ์ที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เกณฑ์การพิจารณาเกี่ยวกับมูลค่าของหลักประกันที่จะนำมาวางเพื่อค้ำประกันเงินกู้ ข้อนี้มีความสำคัญมากในการกำหนดวงเงินกู้สูงสุดที่โครงการๆหนึ่งจะสามารถกู้ได้ ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ในการขอกู้เงินไม่ว่าจากสถาบันการเงินใด หากผู้ขอกู้มิได้เป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือและมีผลประกอบการในระดับดีเยี่ยมแล้ว ก็มักจะถูกร้องขอให้วางหลักประกัน ซึ่งหลักประกันก็คือทรัพย์สินประเภทต่างๆของผู้ขอกู้ เช่น อสังหาริมทรัพย์ อาทิ ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง หรือสังหาริมทรัพย์ อาทิ รถยนต์ เครื่องจักร วัตถุดิบ หรือสินค้าคงคลัง เป็นต้น หรือสินทรัพย์อื่นใด เช่น ตราสารทางการเงินต่างๆ เป็นต้น ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะหลักเกณฑ์การประเมินวงเงินกู้จากมูลค่าทรัพย์ทั่วไปที่นิยมใช้วางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร เท่านั้น ตามรายละเอียดดังตาราง

ประเภทสินทรัพย์
วงเงินสูงสุดที่สามรถกู้ได้
1. ที่ดิน 100% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
2. สิ่งปลูกสร้าง 80-90% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
3. เครื่องจักรใหม่ 70-80% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
4. เครื่องจักเก่า อายุ 1-5 ปี 50-60% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
5. เครื่องจักรเก่า อายุมากกว่า 5 ปี 30% ของราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ
6. เครื่องจักรเก่าที่ทำการติดตั้ง และ test run แล้ว ใช้เกณฑ์เดียวกับเครื่องจักรใหม่

จากตารางข้างต้นจะเห็นว่ามีคำที่ น่าสนใจอยู่คือ “ราคาประเมินจากผู้ประเมินอิสระ” ซึ่งหมายถึง ราคาที่ได้มาจากการว่าจ้างบริษัทประเมินมูลค่าสินทรัพย์อิสระให้มาทำการประเมินมูลค่าทรัพย์สินนั้นๆ โดยสถาบันการเงินที่เป็นผู้ให้กู้จะมีรายชื่อของบริษัทประเมินฯที่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินนั้นๆอยู่ ซึ่งสามารถขอรับรายชื่อดังกล่าวได้กับสถาบันการเงินนั้นๆได้โดยตรง อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่บริษัทประเมินมูลค่าสินทรัพย์ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ก็จะเป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงินต่างๆ อยู่แล้ว โดยรายชื่อของบริษัทดังกล่าวสามารถตรวจค้นได้ที่เว็บไซต์ของ กลต. (//www.sec.or.th/)

นอกจากนี้ หากโครงการที่ขอรับการสนับสนุนวงเงินกู้นั้นๆ เป็นโครงการขนาดใหญ่ผู้ให้กู้ก็อาจร้องขอให้ใช้ผู้ประเมินอิสระมากกว่า 1 บริษัทได้ แต่หากเป็นโครงการขนาดเล็กการว่าจ้างบริษัทประเมินอิสระอาจทำให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่ได้รับจากการกู้เงิน ดังนั้นธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งก็มีหน่วยงานภายในของตนเองเพื่อรับประเมินมูลค่าสินทรัพย์เพื่อให้บริการในต้นทุนที่ถูกลงเช่นเดียวกัน แต่ก็อาจต้องรอคิวนาน

เกณฑ์ที่ 3 สัดส่วนของการลงทุนร่วมของเจ้าของ

ส่วนที่สามที่ต้องพิจารณาคือส่วนของการร่วมลงทุนในโครงการของเจ้าของหรือหุ้นส่วนของบริษัท ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาถึง ความเสี่ยงที่ผู้ขอกู้จะเกิดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากการบริหารจัดการเงินทุนด้วยหนี้สินมากจนเกินไป ซึ่งโดยทั่วไปมักจะพิจารณากันที่อัตราส่วนของหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E Ratio) ซึ่งสัดส่วนนี้ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวที่แน่นอนว่าได้เท่าไหร่แล้วถึงจะได้รับการอนุมัติ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นในกรณีปกติอัตราส่วน D/E ที่ 3/1 อาจจะสูงเกินไป แต่ถ้าเป็นการลงทุนในส่วนต่อขยายโครงการเดิมซึ่งมีรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนอยู่แล้วก็อาจได้รับการอนุมัติ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเกณฑ์ข้อนี้มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก เอาเป็นว่าหลักง่ายๆที่ต้องพิจารณาคือพยายามทำให้มีการลงทุนในส่วนของผู้ถือหุ้นก่อนให้มากเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนเพื่อรักษาระดับของ D/E ไม่ให้ต่ำไปกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

ทั้งนี้การคำนวณ D/E Ratio นี้ต้องเป็นการคำนวณของทั้งกิจการซึ่งรวมวงเงินกู้ที่จะขอรับการสนับสนุน มิใช่คำนวณเฉพาะการลงทุนส่วนเพิ่ม ตัวอย่างเช่น หากเดิมบริษัทมีหนี้สินรวม เท่ากับ 60 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 30 ล้านบาท ต้องการจะลงทุนเพิ่มเติมในโครงการๆหนึ่งที่มีมูลค่า 20 ล้านบาท ซึ่งจะมีการลงทุนจากผู้ถือหุ้นจำนวน 5 ล้านบาท และขอกู้จำนวน 15 ล้านบาท ตามรายละเอียดดังตาราง

บริษัท (เดิม)
การลงทุนส่วนเพิ่ม
บริษัท (หลังกู้เงิน)
หนี้สิน (D)
60
15
75
ส่วนของผู้ถือหุ้น (E)
30
5
35
D/E
2/1
3/1
2.14/1


จากตาราง ตัวเลข D/E ที่จะใช้ในการพิจารณาคือ 2.14/1 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สะท้อนภาพรวมของบริษัทหลังจากได้รับวงเงินกู้มิใช่ 3/1 ซึ่งสะท้อนภาพเพียงการลงทุนส่วนเพิ่มเท่านั้น

นอกจากนี้ D/E ยังแสดงถึง commitment ของเจ้าของหรือหุ้นส่วนของกิจการที่มีต่อการลงทุนในโครงการดังกล่าว ยิ่งสัดส่วนดังกล่าวลดน้อยลงเท่าไหร่ ก็ทำให้ผู้ให้กู้มีความมั่นใจมากขึ้นว่ากลุ่มผู้ลงทุนและผู้บริหารมี commitment ที่จะบริหารงานเพื่อให้โครงการนั้นๆอยู่รอด เพื่อรักษาเงินลงทุนและผลตอบแทนในอนาคตของตน

เกณฑ์ที่ 4 ประวัติการชำระหนี้ของบริษัทหรือบุคคลที่ขอกู้
เกณฑ์ในข้อนี้มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ และหลังจากนั้นมีการบังคับใช้ระบบ Credit Bureau และ Blacklist อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้บุคคลที่ประสบกับวิกฤติจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงนั้นมีรายชื่ออยู่ใน Blacklist เป็นจำนวนมาก และบุคคลดังกล่าวจะไม่สามารถทำธุร กรรมการกู้ยืมเงินจากสถาบันทางการเงินต่างๆได้เลย ดังนั้น การขอกู้เงินในโครงการต่างๆ ก็ควรจัดโครงสร้างของบริษัทก่อนกู้เงินให้ดี โดยต้องตัดความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ใน Blacklist ออกอย่างสิ้นเชิง ทั้งในส่วนของผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร และกรรมการบริษัท และหากหลีกเลี่ยงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้กู้ซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ใน Blacklist มิได้ ก็ต้องร้องขอให้บุคคลดังกล่าวดำเนินการประนอมหนี้ของตนเองให้แล้วเสร็จเพื่อปลดชื่อออกจาก Blacklist ก่อน จึงจะสามารถดำเนินการได้ เกณฑ์ในข้อนี้ไม่สามารถประนีประนอมได้ เนื่องจากเป็นระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย



Create Date : 28 เมษายน 2549
Last Update : 18 ตุลาคม 2549 10:57:59 น. 11 comments
Counter : 1005 Pageviews.

 
very details and look professional


โดย: aiauannit IP: 204.149.80.6 วันที่: 28 เมษายน 2549 เวลา:10:18:24 น.  

 
มีประโยชน์มากครับ ขอบคุณมาก จะคอยติดตามเรื่องต่อไป


โดย: Jiang wei IP: 58.64.127.230 วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:11:58:42 น.  

 
อยากรู้ เรื่องเกี่ยวกับ การจดทะเบียนบริษัทต้องทำยังไงบ้างคับ ความรู้ดีมากเลยคับ


โดย: ตาดวงที่3 IP: 58.8.101.39 วันที่: 5 พฤษภาคม 2549 เวลา:21:47:51 น.  

 
ดีใจครับที่อย่างน้อยก็เป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้าง ยังไงก็จะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการเงินต่อไปครับ

แล้วเร็วๆนี้ก็จะเขียนเกี่ยวกับการตลาดอีก 1 Blog คิดว่าช่วงปลายเดือนนี้คงได้อ่านกัน หวังว่าคงจะติดตามกันต่อไปนะครับ


โดย: lemontree วันที่: 8 พฤษภาคม 2549 เวลา:14:07:09 น.  

 
ขอบคุณครับ ขอเป็นกำลังใจให้ครับ


โดย: Ambrocio IP: 203.146.126.2 วันที่: 9 พฤษภาคม 2549 เวลา:14:19:57 น.  

 
Is it possible, if I want to know my credit status in bureau? Thank you.


โดย: งง IP: 203.150.206.170 วันที่: 11 พฤษภาคม 2549 เวลา:17:30:54 น.  

 
บอบคุณครับ เป็น วิทยาทานมาก มาก อยากให้มีเว็บ แบบนี้เยอะ เยอะ เลย


โดย: มือม่ะถึง IP: 61.91.9.171 วันที่: 14 พฤษภาคม 2549 เวลา:14:28:56 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ ชี้ทางสว่างสำหรับคนที่กำลังจะเริ่มก้าวค่ะ


โดย: ต้องสู้ IP: 210.86.185.151 วันที่: 19 ตุลาคม 2549 เวลา:0:30:01 น.  

 
โอ้ว กำลังต้องการพอดีเลยครับ เย้ๆ ขอบคุณมั่กๆๆ


โดย: อัทธ์ (อัทธ์ ) วันที่: 12 ธันวาคม 2549 เวลา:19:03:05 น.  

 
ขอบคุณมากคับ ถ้ามีตัวอย่างให้ดูวิธีการเขียนโครงการบ้างก็ดีนะคับ


โดย: โรเจอร์ IP: 203.113.77.132 วันที่: 26 กันยายน 2550 เวลา:23:11:27 น.  

 
ขอบุณค่ะ..น่าจะมีธุรกิจที่ขาดจริยธรรมบ้างนะค่ะ


โดย: โอปอ IP: 202.29.83.66 วันที่: 17 ธันวาคม 2550 เวลา:14:55:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

lemontree
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




ประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการขอสนับสนุนสินเชื่อจากสถาบันการเงิน การปรับโครงสร้างหนี้ และการฟื้นฟูกิจการ ปัจจุบันเป็น ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ในแผนกวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง



Friends' blogs
[Add lemontree's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.