ฉันรักวิชากฎหมาย
 
 

แพ่ง : เกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย (ตกทอดไปถึงหลังตายได้อีกด้วยแน่ะ) ตอนที่๔

เรื่องของกฎหมายแพ่ง นอกจากเกี่ยวเนื่องกันในเรื่องของ นิติสัมพันธ์ ที่จะนำไปสู่การทำ นิติกรรม ด้วยแล้ว ยังเกี่ยวเนื่องไปถึง นิติเหตุ ซึ่งเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคนสองฝ่ายอย่างไม่สมัครใจ ไม่มีเจตนาอีกด้วย

นิติเหตุ ได้แก่ ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และ ลาภมิควรได้

ละเมิด เป็นข้อกฎหมายที่สำคัญ บางครั้งจะเกี่ยวพันไปถึงเรื่องของการรับผิดทางอาญาด้วย แต่ถ้า คน กับ คน กระทำต่อกันโดยไม่ส่งผลกระทบถึงสังคมโดยรวม หรือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน บุคคลที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะนั้นก็สามารถตกลงกันได้ ยอมความกันได้ ไกล่เกลี่ยกันได้ บางครั้งก็เกิดเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ บางครั้งก็มีการหักกลบลบหนี้จนเป็นที่น่าพอใจ ขึ้นอยู่กับการตกลงกันเป็นสำคัญ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ บัญญัติไว้ว่า
ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

ละเมิด เป็นบทบัญญัติที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแพ่ง ฉะนั้นจึงเกี่ยวพันกับเรื่อง สิทธิ และ ความรับผิด เป็นสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับ ความจงใจ และ ความประมาทเลินเล่อ ด้วย

ความจงใจ ก็มีความหมายคล้ายๆ กับเจตนา ทางอาญา แต่ความจงใจนั้นจะมีความหมายเฉพาะเจาะจงมากกว่าเจตนา เจตนาเป็นเพียงความตั้งใจ แต่จงใจจะประสงค์ต่อผลชัดกว่าเจตนา

ประมาทเลินเล่อ ก็มีความหมายคล้ายกับคำว่า ประมาท ในทางอาญา แต่ประมาณเลินเล่อ จะครอบคลุมถึงความเผอเรอ ความพลั้งเผลอมากกว่าประมาทในทางอาญา เพียงแต่ขาดความละเอียดรอบคอบก็เป็น ประมาทเลินล่อ ได้แล้ว

ละเมิด ในความหมายใน ประมวลกฎหมายแพ่ง มาตรา ๔๒๐ จะหมายเฉพาะการกระทำระหว่างบุคคลสองฝ่าย

แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ แล้วเกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเกิดจากความไม่จงใจหรือไม่ประมาทเลินเล่อ เกิดจากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง เกิดจากสัตว์ในความดูแลของเรา เกิดจากเครื่องมือเครื่องใช้ เกิดจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ฯลฯ ก็จะเป็น ความรับผิดเด็ดขาด ที่ต้องเข้ามาคุ้มครองผู้เสียหายนั้นด้วย มิเช่นนั้นแล้ว อาจจะมีการอ้างได้ว่า ไม่ใช่เป็นการละเมิด มิต้องรับผิดชอบใดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นเลย

เช่นถ้าไม่มีการบัญญัติให้มีการ "รับผิดเด็ดขาด" ขึ้นมา เกิดหมาหลุดออกจากบ้านไปกัดคนอื่น เขาไม่ใช่เป็นคนทำ แต่หมาเป็นคนทำ การอ้างเช่นนี้ทำให้ผู้ที่ถูกหมากัดต้องเจ็บตัวฟรี ไม่มีคนรับผิดชอบเยียวยา แต่กฎหมายก็กำหนดให้ สัตว์เลี้ยงเป็นทรัพย์สินของผู้เป็นเจ้าของ ฉะนั้นผู้เป็นเจ้าของจึงต้องรับผิดในการที่ทรัพย์สินของตนก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้หนึ่งผู้ใด

หน้าที่ ที่ต้องรับผิดหลังจากการเกิดการละเมิดแล้วก็คือ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
เรื่องของค่าสินไหมทดแทน ยังมีเรื่องของ ความเสียหายที่คำนวณค่าได้ กับ ความเสียหายที่คำนวณค่ามิได้ เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

ฉะนั้น เมื่อเกิดการละเมิดขึ้นมา ก็ย่อมเกิดหนี้ขึ้นมาทันทีทันใด ซึ่งผู้ทำละเมิดก็จะตกเป็นลูกหนี้ และผิดนัดทันทีที่ทำละเมิดขึ้น

หนี้ จึงนำมาครอบคลุมถึงเรื่อง ละเมิด ด้วยอีกชั้นหนึ่ง ... เมื่อใดที่มีหนี้เกิดขึ้น ก็ต้องมีการชำระหนี้ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ก็คือการชำระหนี้

กฎหมายเชื่อมโยงถึงกันได้ตลอดเลยเนาะ ... กฎหมายจะทำให้เราเข้าใจบทบาทของชีวิตของเรามากยิ่งขึ้นว่า เราอยู่ในสังคมควรจะปฏิบัติตนอย่างไร

ฉันจึงรักวิชากฎหมาย เพราะกฎหมายทำให้ฉันเข้าใจชีวิตและสังคม


แล้วจะมาเขียนอีกนะ




 

Create Date : 18 ธันวาคม 2551   
Last Update : 18 ธันวาคม 2551 9:46:02 น.   
Counter : 663 Pageviews.  


แพ่ง : เกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย (ตกทอดไปถึงหลังตายได้อีกด้วยแน่ะ) ตอนที่๓

กฎหมายแพ่ง เป็นเรื่องตั้งแต่เกิดจนตาย นับแต่เกิดมา กฎหมายก็มีบทบาทที่จะคุ้มครอง บังคับใช้ ทันที อาจจะเรียกได้ว่า นับแต่อยู่ในครรภ์มารดาเลยก็ว่าได้ เพราะสิทธิต่างๆ ของบุคคลนับย้อนหลังไปถึงขณะที่อยู่ในครรภ์มารดา หากเด็กนั้นมีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยมีสภาพบุคคลต่อมาเมื่อในภายหลังแล้ว

อย่างที่บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอาจจะส่งผลให้เป็น นิติกรรม หรือ นิติเหตุ ก็ได้

นิติกรรม คือ นิติสัมพันธ์โดยใจสมัครระหว่างคนสองคน และบางกรณีก็มีนิติกรรมฝ่ายเดียวเกิดขึ้นก็ได้เช่นกัน ถ้าเป็นนิติกรรมสองฝ่าย มักจะออกมาในรูปของ สัญญา ที่มีคำเสนอ และ คำสนอง ถูกต้องตรงกัน ใช้บังคับให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ระหว่างกัน

นิติเหตุ ได้แก่ ละเมิด จัดการงานนอกสั่ง และ ลาภมิควรได้

ไม่ว่าจะเป็น นิติกรรม หรือ นิติเหตุ ย่อมก่อให้เกิดพันธกรณีต่อกัน คือ เกิดสิทธิเรียกร้อง และ หน้าที่รับผิด ความสัมพันธ์ระหว่างกันนี้ ก่อให้เกิดเป็น หนี้ ขึ้นมา

เมื่อมีหนี้ ก็ย่อมมีบุคคลสองฝ่าย คือ เจ้าหนี้ และ ลูกหนี้

เจ้าหนี้ จะมีสิทธิเรียกร้อง ในการทวงถาม เรียกให้ชำระหนี้
ลูกหนี้ จะมีหน้าที่ความรับผิดในบ่อเกิดแห่งหนี้นั้น

บ่อเกิดแห่งหนี้ ได้แก่ การกระทำการ งดเว้นกระทำการ และการส่งมอบทรัพย์สิน

คำว่า หนี้ ในภาษาชาวบ้านธรรมดา ฟังดูแล้วน่ากลัว เพราะนั่นหมายความถึงภาระมากมาย และ ดอกเบี้ย อันเกิดจากการเป็นหนี้นั้น

แต่ในทางกฎหมาย หนี้ เป็นเรื่องธรรมดามากเลย ถ้าใครสักคนตกลงจะทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง โดยมีข้อตกลงบางอย่าง เป็นสัญญาต่างตอบแทน ขึ้นมา

หน้าที่ในสัญญานั้น ย่อมตกเป็นของฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกร้องที่จะทวงถามหาวัตถุแห่งหนี้นั้น

ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน แทบจะเกี่ยวพันกับ หนี้ ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ขอยืมเสื้อของเพื่อนมาใช้ในงานราตรี ขอยืมรถจักรยานยนต์มาใช้ไปงานศพ เช่าที่พักอาศัย ให้ขนมแลกกับข้าว ฯลฯ หรือหนี้ที่เกิดจากมูลละเมิด ถ้าเราขับรถไปชนใครบาดเจ็บ เราเกิดหนี้ขึ้นมาทันทีโดยไม่ต้องรอให้ถึงกำหนดชำระหนี้ และลูกหนี้ที่ทำละเมิดก็จะเป็นผู้ผิดนัดทันที

หนี้จะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับ กำหนดการชำระหนี้ ซึ่งกำหนดการนี้อาจจะแจ้งชัดตามเวลาในปฏิทิน หรือ อนุมานเอาได้ว่า จะต้องชำระหนี้เมื่อไหร่ หรืออาจจะเป็นที่สงสัยว่า ชำระหนี้เมื่อไหร่ก็ได้ หรือเมื่อทวงถามก็ได้

เมื่อถึงเวลาชำระหนี้ แล้วไม่ได้รับการชำระหนี้ ลูกหนี้ย่อมผิดนัด ก็ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เจ้าหนี้อาจจะมีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์สินในครอบครองเอาไว้ก่อนจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จนครบ หรือถ้าวัตถุแห่งหนี้นั้นเสื่อมสลายไป ก็ต้องมีการตกลงเรื่องค่าเสื่อมสลายนั้นอีก

อาจจะมีการพ้นวิสัยจริงๆ ที่ลูกหนี้ชำระหนี้ไม่ได้ เกิดน้ำท่วมทาง หรือ ลูกหนี้ต้องเป็นอันพิการ ไม่สามารถรับจ้างขนข้าวสารขึ้นรถบรรทุกได้ตามที่ตกลงกันไว้ กฎหมายก็บัญญัติทางแก้ไว้เพื่อคุ้มครองบุคคลผู้ต้องเสียในมูลหนี้ อีกเช่นกัน

ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จะขืนใจบังคับให้ชำระหนี้ไม่ได้ แต่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องโดยการฟ้องศาลก็ได้ แต่ถ้าไม่เห็นทางที่จะเปิดช่องให้ฟ้องได้ เจ้าหนี้อาจจะร้องขอต่อศาลให้ศาลออกคำบังคับชำระหนี้นั้นๆ ได้

เจ้าหนี้ก็มีหน้าที่รับชำระหนี้ ถ้าถึงกำหนดชำระหนี้แล้วไม่ยอมรับชำระหนี้โดยไม่มีเหตุผลใดๆ เจ้าหนี้ก็ผิดนัดได้เหมือนกัน

ลูกหนี้บางคน ถึงคราวที่เขาจะทวงหนี้ ก็มีวิธีการหนีหนี้ ที่ทางกฎหมายเรียกวา การฉ้อฉล นับแต่เจ้าหนี้รู้เรื่องการหนีหนี้ภายใน ๑ ปี หรือนับแต่เมื่อมีการหนีหนี้ โยกย้ายทรัพย์สินไปยังที่อื่นๆ ภายในเวลา ๑๐ ปี เจ้าหนี้มีสิทธิเพิกถอนการกระทำเพื่อหนีหนี้นี่ได้ แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกผู้เสียค่าตอบแทนและกระทำการโดยสุจริต ไม่รู้มูลเหตุแห่งการโยกย้ายทรัพย์สินนั้นๆ

หากไม่สามารถรับชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้อง คือ สิทธิของความเป็นเจ้าหนี้ไปให้บุคคลอื่นได้อีกด้วย แต่ต้องให้ลูกหนี้ยินยอมร่วมด้วย

และหากมีสัญญาพิเศษเกิดขึ้น เช่น สัญญาประกันภัย บุคคลภายนอกคือผู้รับประกันภัยนั้นสามารถรับผิดแทนลูกหนี้ โดยการเข้ารับช่วงสิทธิเท่าที่สัญญานั้นตกลงกันไว้

หนี้ยังตกทอดไปสู่กองมรดกได้เท่าที่ผู้รับมรดกจะได้จากกองมรดกนั้นๆ ด้วยนะ ... คนตายไปแล้วยังสามารถส่งทอดทั้งสิทธิและหน้าที่แห่งหนี้ไปถึงคนรุ่นหลังได้อีกด้วย

หนี้จะระงับไปได้อย่างไร ...
หนี้จะระงับเมื่อ มีการชำระหนี้กันครบถ้วนแล้ว หรือ ถ้าไม่ชำระหนี้ก็มีการหักกลบลบหนี้ บางกรณีก็มีการแปลงหนี้ใหม่ แปลงได้ทั้งวัตถุแห่งหนี้และตัวลูกหนี้ หรืออาจจะระงับลงเมื่อมีการเกลื่อนกลืนกันระหว่างตัวเจ้าหนี้กับลูกหนี้นั้นๆ ด้วย เช่น ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ แล้วต่อมาเจ้าหนี้ตายลง มรดกตกแต่ลูกหนี้ ลูกหนี้ก็ไม่ต้องชำระหนี้แล้ว เป็นต้น

เรื่องหนี้ เป็นหัวใจของกฎหมาย เราอาจจะเขียนอธิบายเพียงคร่าวๆ ให้เห็นภาพรวม ไว้ถ้าเขียนอธิบายกฎหมายชุดนี้จบแล้ว เราจะค่อยๆ เจาะประเด็นทีละเรื่องแล้วกัน


ถ้าเรียนกฎหมายแล้วท่องตัวบทได้แม่นยำอย่างเดียวแต่ไม่เข้าใจอะไรเลย เราก็คิดว่า คงจะไร้ประโยชน์มากมายทีเดียวแหละ เพราะกฎหมายสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้เยอะ กฎหมายคุ้มครองสิทธิและหน้าที่ของคน ตัวบทกฎหมายถ้าท่องปาวๆ แล้วจำได้ทุกถ้อยคำ แต่ไม่เข้าใจถึงเจตนารมณ์และเนื้อหา คุณค่าก็จะสู้กับความเข้าใจกฎหมายโดยภาพรวมและเช้าใจแก่นแท้และหัวใจของกฎหมายไม่ได้เลย

ข้อเสียของเราอีกข้อหนึ่งก็คือว่า เราจำตัวบทกฎหมายไม่ค่อยแม่น เพราะภาษากฎหมายเป็นภาษาโบราณ เรียงประโยคแล้วอ่านเข้าใจยาก เราเลือกที่จะจำหลักๆ โดยกว้างๆ แล้วนั่งคิด นั่งนึกภาพตามมากกว่า แต่ผลเสียตรงนี้ก็จะตามมาก็คือ เมื่อเราจะเข้าสอบสนามไหนก็ตาม เราจำได้แต่เนื้อหา แต่เราจำตัวบททั้งหมดไม่ได้ ทำให้เราอาจจะเขียนข้อสอบไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก

เราคงต้องไปอ่านตัวบทให้มากๆ กว่าเดิมแล้ว อาศัยแต่ความเข้าใจแล้วจำภาพกว้างๆ นี่ก็คงจะลำบากเหมือนกัน


แต่เป็นเรื่องที่ดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือว่า ความเข้าใจจะทำให้เราจำได้ ... แต่ความจำได้ บางทีอาจจะไม่ได้ทำให้เราเข้าใจ


ไว้เราจะมาเขียนในตอนต่อไปอีกนะ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามเข้ามาอ่าน ...




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2551   
Last Update : 15 ธันวาคม 2551 14:04:56 น.   
Counter : 699 Pageviews.  


แพ่ง : เกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย (ตกทอดไปถึงหลังตายได้อีกด้วยแน่ะ) ตอนที่๒

ตอนที่แล้ว ได้เขียนเล่าภาพรวมของกฎหมายแพ่งโดยกว้างๆ แล้ว ... เรื่องของบุคคลมีความสามารถในการทำนิติกรรม ก่อให้เกิดเป็นสัญญา และสัญญาก็ก่อให้เกิดหนี้


หนี้ มักจะมาคู่กับ ทรัพย์ ...


หนี้ เกิดจากนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เรียกว่า บุคคลสิทธิ มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นมาได้สองแบบ คือ นอกจากจะเกิดจากมูลสัญญาที่คนสองคนทำนิติกรรม มีคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันแล้ว ยังเกิดจากมูลละเมิด คือ นิติเหตุ ได้อีกด้วย


นิติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจในการทำนิติสัมพันธ์ร่วมกัน


ทรัพย์ เป็นเรื่องของกรรมสิทธิ์ ถ้ามีการครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ถูกต้อง ก็จะเป็นทรัพยสิทธิ มีสิทธิเหนือทรัพย์นั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องเหนือบุคคล


ทรัพย์ หรือ ทรัพย์สิน หมายรวมกว้างๆ ไปถึง สิทธิต่างๆ ด้วย มิใช่เพียงวัตถุที่มีรูปร่างจับต้องได้เท่านั้น


เมื่อคนเป็นเจ้าของทรัพย์ หรือ มีสิทธิในทรัพย์นั้น ก็ย่อมทำให้เกิดหน้าที่(ความรับผิด)ที่มีต่อทรัพย์และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นด้วย


คนเป็นเจ้าของทรัพย์ เรียกว่า กรรมสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ บัญญัติไว้ว่า


ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิจะติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


แสดงว่า ทรัพย์สินนั้น นอกจากจะเป็นแค่ตัวทรัพย์สินนั้นโดยลำพังแล้ว ยังมีทั้ง ดอกผล ส่วนควบ อุปกรณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์นั้นด้วย


นอกจากความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว ยังมีสิทธิในการยึดถือ หรือ สิทธิครอบครอง ที่ทำให้เกิดสิทธิในทรัพย์นั้นอีกด้วย


ผู้ที่ไม่มีสิทธิในทรัพย์ เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ ข้อยกเว้นของหลักกรรมสิทธิ์กฎหมายก็บัญญัติเอาไว้อยู่เหมือนกัน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งว่า ใครจะมีสิทธิในทรัพย์สินนั้น


๑.การครอบครองปรปักษ์ เป็นอายุความตัดสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ถ้าได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย แสดงความเป็นเจ้าของ เป็นเวลา ๑๐ ปี สังหาริมทรัพย์ เป็นเวลา ๕ ปี พ้นจากนี้แล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถูกตัดสิทธิในการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน


๒.ซื้อทรัพย์สินจากท้องตลาดหรือพ่อค้าที่ขายสินค้าชนิดนั้นๆ ถ้ามีผู้นำทรัพย์ของตนไปขายตามท้องตลาดอันเป็นตลาดสำหรับขายสินค้าประเภทเดียวกับทรัพย์สินของตนนั้น หรือผู้เป็นพ่อค้านำสินค้านั้นไปขาย บุคคลภายนอกไม่รู้ได้ว่าเป็นทรัพย์สินได้มาอย่างไรก็ตาม เจ้าของกรรมสิทธิ์หมดสิทธิ์ติดตามเอาคืน แต่ถ้าผุ้มิใช่พ่อค้า หรือนำสินค้านั้นไปขายในที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ตลาดสำหรับการขายสินค้านั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ยังสามารถใช้สิทธิติดตามเอาคืนได้


๓.ทรัพย์สินนั้นได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้ผู้โอนจะได้รับทรัพย์นั้นมาโดยเป็นโมฆียะกรรม บุคคลภายนอกที่ได้ทรัพย์นั้นมา แม้ภายหลังเจ้าของกรรมสิทธิ์จะบอกล้างโมฆียกรรมนั้น ก็ไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ โมฆียะกรรมเกิดจากความสามารถของบุคคล เช่น ผู้เยาว์ยังไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรมด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมได้ ถ้าผู้เยาว์นำทรัพย์ของผู้แทนโดยชอบธรรมมาขายให้กับเพื่อนของตน แล้วเพื่อนของตนนำมาขายต่อให้กับบุคคลภายนอกโดยบุคคลภายนอกไม่รู้เหตุว่าทรัพย์นั้นเป็นของใคร ผู้ที่มาขายไม่มีสิทธิที่จะนำมาขายได้ และบุคคลภายนอกซื้อทรัพย์นั้นไว้โดยสุจริตเช่นนี้ ภายหลังผู้แทนโดยชอบธรรมรู้เรื่องเข้า แล้วบอกล้างโมฆียะกรรม ติดตามเพื่อจะเอาทรัพย์นั้นคืนมา ย่อมกระทำไม่ได้แล้ว เป็นการตัดสิทธิเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปในตัว และเป็นการคุ้มครองบุคคลภายนอกที่สุจริตและเสียค่าตอบแทน


๔.บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกัน โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงก็คือผู้ที่ได้ครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เป็นกรณีที่มีข้อพิพาทกันสำหรับทรัพย์สิ่งเดียวกัน เช่น รถยนต์ค้นหนึ่ง เจ้าของรถยนต์ต้องการขายในราคา ๕ แสนบาท มีผู้มาติดต่อขอซื้อและขอให้จดทะเบียนโอนให้ แต่ยังไม่ส่งมอบรถยนต์ด้วยเหตุที่ว่ายังไม่สะดวกที่จะมารับ ตกเย็นมีบุคคลอีกคนหนึ่งอยากได้รถยนต์คันนี้มาก จึงเสนอราคาสูงกว่าเป็น ๖ แสนบาท เจ้าของรถยนต์จึงขายให้แล้วส่งมอบรถยนต์นั้นไปให้บุคคลหลังนี้ วันรุ่งขึ้นบุคคลแรกที่ติดต่อซื้อรถยนต์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพราะทรัพย์ได้ส่งมอบให้บุคคลหลังได้การครอบครองทรัพย์นั้นแล้ว


๕.ทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาดไปโดยคำสั่งศาล เจ้าของที่แท้จริงไม่อาจจะติดตามเอาคืนทรัพย์นั้นได้


กฎหมายบัญญัติหลักเหล่านี้ไว้เพื่อป้องกันกรณีพิพาทในเรื่องใครจะเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์ ...


 


วันนี้เขียนเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพียงเท่านี้ก่อน ... จริงๆ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องนำมาเขียนอธิบายอีก ขอเล่าภาพรวมกว้างๆ เกี่ยวกับหลักกฎหมายไว้ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ลงรายละเอียดในภายหลังนะคะ เพราะกฎหมายต้องค้นคว้าและทำความเข้าใจให้ลึก แต่การวาดภาพรวมทำให้เรารู้ว่า เราจะลงรายละเอียดเรื่องอะไรได้บ้างและมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกันของกฎหมายในแต่ละลักษณะ กฎหมายเกี่ยวพันถึงกันหมดทุกเรื่อง การอธิบายแยกส่วนไม่ช่วยทำให้เข้าใจกฎหมายได้อย่างแท้จริง


 


แล้วจะมาเขียนในตอนต่อไปค่ะ ...


 






Free TextEditor




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2551   
Last Update : 11 ธันวาคม 2551 9:49:17 น.   
Counter : 226 Pageviews.  


แพ่ง : เกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย (ตกทอดไปถึงหลังตายได้อีกด้วยแน่ะ) ตอนที่๑

และแล้ว ฉันก็ได้มาเรียนกฎหมาย ... ใกล้จะจบเต็มทีแล้ว



ไหนๆ ก็ใกล้จะจบเต็มที ก็ทบทวนความรู้คร่าวๆ ดีกว่า ...


เริ่มแรกจาก กฎหมายแพ่ง ก่อนเลย ... กฎหมายแพ่งนี่เกี่ยวกับอะไร ถ้าเข้าใจหลักของกฎหมายแพ่งได้ ก็จะเห็นภาพรวมทั้งหมดของกฎหมายแพ่ง


อาจารย์ท่านบอกว่า กฎหมายแพ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดมากฎหมายก็มีบทบาทนำมาบังคับใช้ได้แล้ว


บางทีสิทธิต่างๆ อาจจะมีขึ้นก่อนเกิดมาเป็นตัวเป็นตนด้วยซ้ำ


ตามมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญ้ติไว้ชัดเจนว่า


สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก และสิ้นสุดลงเมื่อตาย


ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่างๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก


นั่นแสดงว่า การคลอดและอยู่รอดเป็นทารก ก็ต้องหมายความว่า มีลมหายใจ ปอดทำงาน หัวใจสูบฉีด ... จึงจะมี "สภาพบุคคล" อย่างสมบูรณ์ ซึ่งรวมถึงคนที่พิการอวัยวะไม่ครบสามสิบสองประการ หรือ ปัญญาอ่อนด้วยนะ ถ้าเขาเกิดมามี "ลมหายใจ ปอดทำงาน หัวใจสูบฉีด" ย่อมมี "สภาพบุคคล" เท่าเทียมกับบุคคลอื่นๆ


เมื่อมีสภาพบุคคลแล้วก็มี สิทธิ ต่างๆ รวมถึงความรับผิด(หน้าที่) ด้วย


สภาพบุคคล มาพร้อมกับ ความสามารถ ... กฏหมายจึงบัญญัติเรื่องความสามารถของบุคคลไว้สามประการคือ


บุคคลหย่อนความสามารถ ได้แก่ ผู้เยาว์ ต้องมี ผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นผู้ทำกิจการต่างๆ แทน


บุคคลเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่ ผู้ที่ไม่สามารถจัดการทรัพย์สินของตนเองได้ (สติฟั่นเฟือน พิการ สุรุ่ยสุร่าย สุราเรื้อรัง เป็นต้น) ต้องมี ผู้พิทักษ์ เป็นผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์ให้


บุคคลไร้ความสามารถ ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีความสามารถจะทำกิจการใดๆ ด้วยตนเองได้ (เนื่องจากวิกลจริต) ต้องมี ผู้อนุบาล คอยดูแล


เมื่อบุคคลต่างๆ มีความสามารถที่มีขีดจำกัดแตกต่างกันแล้ว เมื่อบุคคลสองคนมีความสัมพันธ์กันเพื่อมีเจตนาเพื่อก่อ เปลี่ยนแปลง สงวน หรือระงับ ซึ่งสิทธิต่างๆ ก็จะเกิดเป็น นิติสัมพันธ์ขึ้นมาเป็น นิติกรรม (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๙)


นิติกรรม เกิดจาก เจตนา ถ้าเจตนาสุจริต นิติกรรมก็จะสมบูรณ์ เจตนาไม่สุจริต นิติกรรมก็จะเป็นโมฆะ


นิติกรรม เกิดจาก ความสามารถของบุคคล บุคคลที่หย่อนความสามารถ เสมือนไร้ความสามารถ ไร้ความสามารถ กระทำนิติกรรมลงไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้พิทักษ์ หรือ ผู้อนุบาล หรือบุคคลนั้นบกพร่องในเรื่องของความสามารถในการทำนิติกรรม นิติกรรมนั้นก็จะเป็นโมฆียะ แต่ถ้าบุคคลกระทำนิติกรรมโดยมีความสามารถสมบูรณ์ นิติกรรมนั้นก็จะสมบูรณ์


เมื่อเป็นเช่นนี้ นิติกรรม เกิดจากความสัมพันธ์ที่เป็นการแสดงเจตนา ถ้ามี "คำเสนอ" แสดงเจตนาออกไป แล้วผู้รับเจตนาสนองกลับเป็น "คำสนอง" ถูกต้องตรงกัน ก็จะเกิดเป็นสัญญา ขึ้นมา


สัญญา เกิดขึ้นมาแล้ว ก็ทำให้เกิดสิทธิและความรับผิด(หน้าที่) เกิดเป็น หนี้ ขึ้นมา


วันนี้ สรุปกฎหมายแพ่งเพียงเท่านี้ก่อน แล้วจะมาเขียนต่อค่ะ ...






Free TextEditor




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2551   
Last Update : 14 ธันวาคม 2551 13:05:56 น.   
Counter : 399 Pageviews.  



Law_Magic
 
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Law_Magic's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com