ฉันรักวิชากฎหมาย
 
แพ่ง : เกี่ยวพันกับชีวิต ตั้งแต่เกิดจนตาย (ตกทอดไปถึงหลังตายได้อีกด้วยแน่ะ) ตอนที่๒

ตอนที่แล้ว ได้เขียนเล่าภาพรวมของกฎหมายแพ่งโดยกว้างๆ แล้ว ... เรื่องของบุคคลมีความสามารถในการทำนิติกรรม ก่อให้เกิดเป็นสัญญา และสัญญาก็ก่อให้เกิดหนี้


หนี้ มักจะมาคู่กับ ทรัพย์ ...


หนี้ เกิดจากนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เรียกว่า บุคคลสิทธิ มูลแห่งหนี้เกิดขึ้นมาได้สองแบบ คือ นอกจากจะเกิดจากมูลสัญญาที่คนสองคนทำนิติกรรม มีคำเสนอและคำสนองถูกต้องตรงกันแล้ว ยังเกิดจากมูลละเมิด คือ นิติเหตุ ได้อีกด้วย


นิติเหตุ คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจในการทำนิติสัมพันธ์ร่วมกัน


ทรัพย์ เป็นเรื่องของกรรมสิทธิ์ ถ้ามีการครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ถูกต้อง ก็จะเป็นทรัพยสิทธิ มีสิทธิเหนือทรัพย์นั้น มิใช่สิทธิเรียกร้องเหนือบุคคล


ทรัพย์ หรือ ทรัพย์สิน หมายรวมกว้างๆ ไปถึง สิทธิต่างๆ ด้วย มิใช่เพียงวัตถุที่มีรูปร่างจับต้องได้เท่านั้น


เมื่อคนเป็นเจ้าของทรัพย์ หรือ มีสิทธิในทรัพย์นั้น ก็ย่อมทำให้เกิดหน้าที่(ความรับผิด)ที่มีต่อทรัพย์และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นด้วย


คนเป็นเจ้าของทรัพย์ เรียกว่า กรรมสิทธิ์ ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิต่างๆ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ บัญญัติไว้ว่า


ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิจะติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย


แสดงว่า ทรัพย์สินนั้น นอกจากจะเป็นแค่ตัวทรัพย์สินนั้นโดยลำพังแล้ว ยังมีทั้ง ดอกผล ส่วนควบ อุปกรณ์ อันเกี่ยวเนื่องกับทรัพย์นั้นด้วย


นอกจากความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แล้ว ยังมีสิทธิในการยึดถือ หรือ สิทธิครอบครอง ที่ทำให้เกิดสิทธิในทรัพย์นั้นอีกด้วย


ผู้ที่ไม่มีสิทธิในทรัพย์ เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนได้ ข้อยกเว้นของหลักกรรมสิทธิ์กฎหมายก็บัญญัติเอาไว้อยู่เหมือนกัน เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งว่า ใครจะมีสิทธิในทรัพย์สินนั้น


๑.การครอบครองปรปักษ์ เป็นอายุความตัดสิทธิของเจ้าของกรรมสิทธิ์ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ ถ้าได้ครอบครองโดยสงบ เปิดเผย แสดงความเป็นเจ้าของ เป็นเวลา ๑๐ ปี สังหาริมทรัพย์ เป็นเวลา ๕ ปี พ้นจากนี้แล้วเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถูกตัดสิทธิในการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตน


๒.ซื้อทรัพย์สินจากท้องตลาดหรือพ่อค้าที่ขายสินค้าชนิดนั้นๆ ถ้ามีผู้นำทรัพย์ของตนไปขายตามท้องตลาดอันเป็นตลาดสำหรับขายสินค้าประเภทเดียวกับทรัพย์สินของตนนั้น หรือผู้เป็นพ่อค้านำสินค้านั้นไปขาย บุคคลภายนอกไม่รู้ได้ว่าเป็นทรัพย์สินได้มาอย่างไรก็ตาม เจ้าของกรรมสิทธิ์หมดสิทธิ์ติดตามเอาคืน แต่ถ้าผุ้มิใช่พ่อค้า หรือนำสินค้านั้นไปขายในที่ต่างๆ ที่ไม่ใช่ตลาดสำหรับการขายสินค้านั้น เจ้าของกรรมสิทธิ์ยังสามารถใช้สิทธิติดตามเอาคืนได้


๓.ทรัพย์สินนั้นได้มาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แม้ผู้โอนจะได้รับทรัพย์นั้นมาโดยเป็นโมฆียะกรรม บุคคลภายนอกที่ได้ทรัพย์นั้นมา แม้ภายหลังเจ้าของกรรมสิทธิ์จะบอกล้างโมฆียกรรมนั้น ก็ไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ โมฆียะกรรมเกิดจากความสามารถของบุคคล เช่น ผู้เยาว์ยังไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรมด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมได้ ถ้าผู้เยาว์นำทรัพย์ของผู้แทนโดยชอบธรรมมาขายให้กับเพื่อนของตน แล้วเพื่อนของตนนำมาขายต่อให้กับบุคคลภายนอกโดยบุคคลภายนอกไม่รู้เหตุว่าทรัพย์นั้นเป็นของใคร ผู้ที่มาขายไม่มีสิทธิที่จะนำมาขายได้ และบุคคลภายนอกซื้อทรัพย์นั้นไว้โดยสุจริตเช่นนี้ ภายหลังผู้แทนโดยชอบธรรมรู้เรื่องเข้า แล้วบอกล้างโมฆียะกรรม ติดตามเพื่อจะเอาทรัพย์นั้นคืนมา ย่อมกระทำไม่ได้แล้ว เป็นการตัดสิทธิเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปในตัว และเป็นการคุ้มครองบุคคลภายนอกที่สุจริตและเสียค่าตอบแทน


๔.บุคคลหลายคนเรียกร้องเอาสังหาริมทรัพย์เดียวกัน โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกัน เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงก็คือผู้ที่ได้ครอบครองทรัพย์นั้นไว้ เป็นกรณีที่มีข้อพิพาทกันสำหรับทรัพย์สิ่งเดียวกัน เช่น รถยนต์ค้นหนึ่ง เจ้าของรถยนต์ต้องการขายในราคา ๕ แสนบาท มีผู้มาติดต่อขอซื้อและขอให้จดทะเบียนโอนให้ แต่ยังไม่ส่งมอบรถยนต์ด้วยเหตุที่ว่ายังไม่สะดวกที่จะมารับ ตกเย็นมีบุคคลอีกคนหนึ่งอยากได้รถยนต์คันนี้มาก จึงเสนอราคาสูงกว่าเป็น ๖ แสนบาท เจ้าของรถยนต์จึงขายให้แล้วส่งมอบรถยนต์นั้นไปให้บุคคลหลังนี้ วันรุ่งขึ้นบุคคลแรกที่ติดต่อซื้อรถยนต์ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพราะทรัพย์ได้ส่งมอบให้บุคคลหลังได้การครอบครองทรัพย์นั้นแล้ว


๕.ทรัพย์นั้นได้ขายทอดตลาดไปโดยคำสั่งศาล เจ้าของที่แท้จริงไม่อาจจะติดตามเอาคืนทรัพย์นั้นได้


กฎหมายบัญญัติหลักเหล่านี้ไว้เพื่อป้องกันกรณีพิพาทในเรื่องใครจะเป็นผู้มีสิทธิในทรัพย์ ...


 


วันนี้เขียนเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์เพียงเท่านี้ก่อน ... จริงๆ ยังมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องนำมาเขียนอธิบายอีก ขอเล่าภาพรวมกว้างๆ เกี่ยวกับหลักกฎหมายไว้ก่อน แล้วจึงค่อยๆ ลงรายละเอียดในภายหลังนะคะ เพราะกฎหมายต้องค้นคว้าและทำความเข้าใจให้ลึก แต่การวาดภาพรวมทำให้เรารู้ว่า เราจะลงรายละเอียดเรื่องอะไรได้บ้างและมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างกันของกฎหมายในแต่ละลักษณะ กฎหมายเกี่ยวพันถึงกันหมดทุกเรื่อง การอธิบายแยกส่วนไม่ช่วยทำให้เข้าใจกฎหมายได้อย่างแท้จริง


 


แล้วจะมาเขียนในตอนต่อไปค่ะ ...


 






Free TextEditor


Create Date : 11 ธันวาคม 2551
Last Update : 11 ธันวาคม 2551 9:49:17 น. 2 comments
Counter : 226 Pageviews.  
 
 
 
 
มูลหนี้ที่เกิดจากนิติเหตุ ยังมีจัดการงานนอกสั่งและลาภมิควรได้อีกด้วยครับ
แนวทางการเขียนอย่างนี้ดีเลยครับ ขอชมเชย
 
 

โดย: เจไอ วันที่: 12 ธันวาคม 2551 เวลา:11:27:17 น.  

 
 
 
ได้ความรู้มากค่ะ...
 
 

โดย: ตัวp_box วันที่: 9 มิถุนายน 2552 เวลา:16:53:10 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Law_Magic
 
Location :
พัทลุง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Law_Magic's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com