Group Blog
 
All blogs
 

มรดกธรรมโดย หลวงพ่อปัญญา นันทภิกขุ

ญาติโยม พุทธบริษัททั้งหลาย

ณ บัดนี้ถึงเวลาของการฟังปาฐกถาธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนาแล้ว ขอให้ ทุกท่านอยู่ในอาการอันสงบ ตั้งอกตั้งใจฟังด้วยดี เพื่อให้ได้ประโยชน์ อันเกิดขึ้นจากการฟัง ตามสมควรแก่เวลา

วันอาทิตย์เราว่างจากงานทางฝ่ายกาย ก็ชักชวนกันมาวัด เพื่อหาความสุขทางด้านจิตใจ การมาวัด เราควรจะคิดตั้งปัญหากันสักหน่อย ว่ามาวัดเพื่ออะไร มาทำไม มาแล้วจะได้อะไร ทำอย่างจึงจะได้สิ่งนั้น สมความตั้งใจ ถ้าได้คิดในเรื่องนี้ การมาวัดก็จะมีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ชีวิตมากขึ้น ไม่อย่างนั้นก็มากันเรื่อยๆ ไป ไปวัดนั้นไปวัดนี้ ไปกันตามเรื่องตามราว แต่ไม่รู้จุดหมายว่าเราไปกันทำไม เพื่อเอาอะไร แล้วสิ่งนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ชีวิตจิตใจ ของเราอย่างไรบ้าง เป็นเรื่องที่ควรจะคิด ควรจะทำ เพื่อให้ถึงเป้าหมาย เพื่อจะได้เกิดประโยชน์คุ้มค่า




วัดวาอารามนั้นก็เป็นเสมือนที่รักษาโรค แต่ว่าไม่ใช่โรคทางร่าง กาย เมือก่อนนี้ทางวัดก็รักษาโรคทางกายด้วย เช่นเดียวกับโรงพยาบาลทั่วไป แต่ใช่ยาแผนโบราณ คือ ยาต้มรากไม้ใบไม้เปลือกไม้ อันเป็นยาตำหรับเก่า ก็ให้ประโยชน์อยู่เหมือนกัน คนก็นิยมไปรักษา แล้วไปรักษาตามวัดไม่ต้องเสียอะไร นอกจากว่า หารากไม้ที่พระจะต้องใช้ต้มยาไปฝากบ้าง เพื่อจะได้ต้มให้แก่คนอื่นต่อไป นั่นเป็นเรื่องของการรักษาโรคทางกาย

คนเรา แม้ว่าจะหายโรคทางกายร่างกาย เป็นปกติแล้ว ก็ยังไม่เป็นสุขเสมอไป เพราะว่าโรค อีกอย่างหนึ่ง สำคัญกว่าโรคทางกาย นั่นคือโรคทางจิตใจของเรานั่นเอง เราอย่านึกว่าใจของเราไม่มี โรคไม่มีภัย ความจริงโรคทางด้านจิตใจนั้น ก็เป็นภัยใหญ่หลวงแก่ชีวิตของคนเราทั่วไป ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ก็เนื่องมาจากใจของเราเป็นเรื่องใหญ่ คือเราคิดอะไรเราก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราคิดในทางถูก เราก็มีจิตใจสบาย ถ้าคิดในทางร้าย ก็มีจิตใจเป็นทุกข์ จึงเป็นเรื่องที่จะต้องรู้ไว้ว่า โรคที่เกิดขึ้นทางจิตใจนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องรักษา เยียวยาให้ทันกับเหตุการณ์ ถ้าไม่รักษาให้ทันกับเหตุการณ์แล้ว โรคจะลุกลามขยายออกไป แล้วก็จะกลายเป็นนิสสัยเป็นสันดาน

คนเราที่มีนิสัยไปในรูปต่างๆ กันนั้น ก็เนื่องจากการคิดในเรื่องนั้นบ่อยๆ พูดแบบนั้นบ่อยๆ นานๆ เข้า ก็ชินจนติดเป็นปกตินิสัย แล้วก็ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะนำอะไรมาให้ตน จะนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้อย่างไร ไม่รู้ไม่เข้าใจ ผลที่สุดชิวิตก็ตกต่ำเสียหายด้วยประการต่างๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นบรมครูของชาวเราทั้งหลายนั้น ทรงทราบเรื่องนี้ดีจึงได้ค้นหายาสำหรับแก้โรคทางใจ ก็คือธรรมะนั่นเอง
ธรรมะ เป็นสิ่งสำหรับแก้โรคทางใจ ที่เราเรียกว่าธรรมโอสถ คือยาธรรมะ ยาธรรมะเป็นยาแก้ โรคทางใจของบุคคลทั่วไป พระพุทธเจ้าของเราได้ทรงค้นคว้าแสวงหายานี้ เป็นเวลาถึงหกปี จึงได้ค้นพบ แล้วจึงนำมาใช้เป็นประโยชน์แก่คนทั่วไปๆ เพราะฉะนั้นตำหรับตำราที่มีอยู่ เช่นว่าคัมภีร์พระไตรปิฏกก็เรียกว่า เป็นตำรายาขนานใหญ่ ที่มีไว้สำหรับช่วยแก้ปัญหาชีวิต ให้ผู้ที่มีความทุกข์ความเดือดร้อนได้ ผ่อนคลายหายจากความทุกข์ ความเดือดร้อนไปได้ ยาเหล่านี้มีอยู่มากมาย เป็นประโยชน์ทั้งนั้น แล้วก็อยู่ในวัด พระเป็นผู้รักษาตำหรับตำรา ไม่ใช่รักษาไว้เฉยๆ แต่รักษาไว้ด้วยการศึกษาให้เข้าใจ ด้วยการปฏิบัติให้เป็นตัวอย่าง ในทางชีวิตสงบ มีความสุข ตามสมควรแก่ฐานะ ญาติโยมได้เห็นพระผู้มีจิตใจสงบ ก็เรียกว่าเป็นมงคลแก่ชีวิต ดังคำในมงคลสูตรว่า "สมณานัญจะทัสสะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง" การได้เห็น สมณะเป็นมงคล คือเป็นเหตุให้เกิดความสุขทางใจ และได้เห็นตัวอย่าง

เรื่องตัวอย่างนี่ เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราเห็นตัวอย่างของบุคคลประเภทใด ทำให้เรารู้สึกว่าได้ เห็นสิ่งประเสริฐสำหรับชีวิต เรามาวัด ถ้าได้เห็นพระที่มีอาการสงบ พูดจาเรียบร้อย กริยาสำรวมระวัง หน้าตาสดชื่น เพราะมีธรรมะเป็นพื้นฐานทางจิตใจ เราก็พลอยมีความสุข ความสดชื่นไปด้วย ถ้าเราไปเห็นคนที่หน้าบึ้ง หน้าตึง แสดงอาการมีความทุกข์ทางใจ เราก็จะรู้สึกพลอยมีความทุกข์ไปด้วยเหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราได้เห็นภายนอก เราก็กระทบกระเทือนทางจิตใจ เช่นเราเห็นคนร้องไห้เรารู้สึกอย่างไร เรามีความกระเทือนใจ ยิ่งเห็นคนที่ร้องไห้หนักๆ ตีอกชกหัว มีความทุกข์มีความเดือดร้อน เราก็รู้สีกมีความกระเทือนทางจิตใจ ที่เขาเรียกว่า เกิดสังเวคะขึ้นทางใจ ที่นี้ถ้าเราไปเห็นคนที่มีความสงบความสุขทางจิตใจ ก็มีความกระเทือนทางอารมณ์ แต่ว่าเป็นความกระเทือนที่ไม่เป็นพิษเป็นภัย ทำให้เราพลอยมีความสุขใจดีใจ

เพราะฉะนั้น คนบางคน เวลาไปเห็นบุคคลประเภทอย่างนั้น แล้วก็แสดงความรู้สึกว่าสบายเหลือเกิน ที่ ได้เห็นผู้นั้นผู้นี้ มีความสุขทางด้านจิตใจ พระสงฆ์เราเป็นผู้รักษามรดกคือธรรมะ ของพระพุทธเจ้าไว้ รักษาด้วยการศึกษา ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการชี้ช่องทางให้ญาติโยมทั้งหลาย เกิดความรู้ความเข้าใจกันต่อไป เรามาวัดก็เพื่อเรื่องนี้ คือมารับส่วนแบ่งมรดกของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ได้สร้างไว้ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ชาวโลกทั้งหลาย เรามาขอรับส่วนแบ่ง แบ่งไปในรูปของการศึกษา เรามาเรียน มาฟัง มาอ่าน ในบางครั้งบางคราว อย่างนี้เรียกว่า มารับส่วนแบ่งแบบหนึ่ง

ครั้นเราได้รับส่วนแบ่งนั้นแล้ว เราก็เอาไปคิดให้เข้าใจแนวทางที่ถูกต้องต่อไป จากนั้นเราก็ปฏิบัติ ตามความรู้ความเข้าใจ การปฏิบัตินั้นก็คือ การขจัดปัดเป่าสิ่งที่เป็นพิษเป็นภัยในจิตใจของเราให้หายไป แล้วคอยป้องกัน สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย ไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเราต่อไป วิธีการมันก็เหมือนกับวิธีการทางวัตถุนั่นแหละ คือ มีการป้องกัน แล้วก็มีการแก้ไข การป้องกันนั้นก็ต้องทำอยู่ตลอดเวลา เพราะข้าศึกมันมาโจมตีเราอยู่ตลอดเวลา เราจึงต้องคอยใช้วิธีป้องกันไว้ ไม่ให้เข้าถึงที่สำคัญ คือใจนั่นเอง ไม่ให้มันเข้าไปถึงใจ ไม่ให้เกิดความรู้สึกใดๆ ขึ้นในสิ่งนั้น

รูปมากระทบตา เสียงกระทบหู จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นมากระทบรส กายได้สัมผัสถูกต้องอะไร ก็ให้มันเป็นเพียงแต่กระทบเท่านั้น แต่ไม่ให้ลามปามไปจนเกิดความรู้สึก ยินดียินร้าย อยากได้อยากมีในเรื่องนั้นๆ อันนี่เรียกว่า คิดป้องกันไว้ล่วงหน้า ไม่ให้มันเกิดโจมตีจนเราแตกพ่าย จิตใจพังทะลายเพราะความรู้สึกต่างๆ เพราะจิตของคนเรานั้น ถ้าเราเกิดกระทบกระเทือนในรูปใด เช่น เกิดความรักก็เป็นทุกข์ เกิดความชัง ก็เป็นทุกข์ เกิดความอยากได้ อยากมี อยากเป็น มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ถ้ามันเกิดอาการอย่างนั้นมากๆ รุนแรง ก็จะเกิดความวุ่นวาย ทางด้านจิตใจ สร้างปัญหาขึ้นในตัวเรา ด้วยประการต่างๆ เรารู้อาการเช่นนี้หรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็ถูกโจมตีบ่อยๆ จิตก็ต้องยุบยับไปบ่อยๆ แต่ถ้าเราสังเกตกำหนดอาการของจิตไว้ เวลาสิ่งนั้นมากระทบ เรารู้สึกอย่างไร รูปอย่างนั้น เกิดอะไรขึ้นในจิตใจของเรา สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น มันร้อนหรือว่าเย็น วุ่นวายหรือสงบ เป็นไปในรูปใด เราต้องสังเกตอาการเช่นนั้นไว้ เพื่อให้รู้จักว่ามันเป็นอย่างไร

อาการที่เราคอยกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้น ในจิตใจของเราอย่างนี้ เราเรียกว่า "รู้จักตัวเอง" การรู้จักตัวเอง ที่เราพูดๆ กันอยู่นั้น ก็หมายความว่า รู้จักสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา ในเมื่อกระทบกับสิ่งภายนอก ซึ่งเราเรียกว่า อารมณ์ อันมีประการต่างๆ ต้องคอยกำหนดรู้ไว้ ว่าสิ่งนั้นมากระทบแล้วเกิดอาการอะไร เช่นเกิดความโกรธ ความเกลียด เกิดความรัก เกิดความพอใจ เกิดความอยากได้ เกิดความริษยา เกิดความยินดีด้วยประการต่างๆ มันมีอาการหลายอย่างหลายประการ เกิดขึ้นในใจของเราเสมอๆ เป็นไปในรูปนั้นรูปนี้บ้าง เราจึงควรจะได้ศึกษากันไว้

อันการศึกษาธรรมะนั้น ขอให้ญาติโยมเข้าใจว่า ในชั้นต้น เราก็เรียนจากหนังสือหนังหา จากตำหรับตำราไปก่อน หรือเรียนด้วยการฟัง จากผู้รู้ที่มาพูดมาอธิบายให้เราเข้าใจ แล้วต่อจากนั้น ต้องเรียนจากตัวจริง ในห้องปฏิบัติเลยทีเดียว ห้องปฏิบัติของธรรมะก็คือตัวเราเอง ในร่างกายยาววา หนาคืบ กว้างศอกหนึ่ง นี้แหละ เป็นห้องปฏิบัติด้านธรรมะ เป็นห้องทดลอง ที่เราจะต้องทดสอบ พิจารณา แยกแยะ วิเคราะห์ วิจัย อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้รู้ว่า สภาพชีวิตจิตใจของเรานั้น มันเป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนั้นมากระทบเป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนี้มากระทบเป็นอย่างไร เมื่อสิ่งนี้มากระทบเป็นอย่างไร แล้วมันเกิดอะไรต่อไปจากเรื่องนั้น

เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงเรื่องเดียว แต่มันจะต่อกันเป็นสายโซ่ยาวยืดทีเดียว ดังคำที่พระพุทธองค์ ตรัสว่า เมื่อสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งหนึ่งก็เกิดตามมา ตามกันมาเป็นวงทีเดียว เป็นลูกโซ่เป็นสายสัมพันธ์กัน ไม่รู้จักจบสิ้น สิ่งทั้งหลายมีตัวเหตุ มีตัวการทั้งนั้น มันมีเรื่องเบื้องต้น แล้วก่อเกิดติดต่อกันมาเป็นลำดับ เป็นไปในรูปต่างๆ แต่ถ้าเราไม่สังเกต เราก็ไม่รู้ไม่เห็น ก็ปล่อยไปตามเรื่องตามราว แต่ถ้าหากสังเกตกำหนดจดจำแล้ว ก็จะพบว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร ต้นตอมันคืออะไร สืบต่อมาเป็นเปราะๆ มีอะไรบ้าง มีสายสัมพันธ์ ชักโยงกันเป็นแถว จนกระทั่งไม่รู้ว่า ตัวต้นอยู่ตรงไหน

เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า สังสารวัฏฏ์ คือเกิดจากอารมณ์ต่างๆ ของกิเลสต่างๆ ในจิตใจของคนเรานั้น เบื้องต้นมันไม่ปรากฏ เบื้องปลายมันก็ไม่ปรากฏ คือมันมากเหลือเกิน ติดต่อกันมาไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มันไม่ปรากฏสำหรับคนที่ไม่ได้พิจารณา แต่คนนั้นได้หมั่นพิจารณา ตรวจสอบในเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์อยู่เสมอแล้ว ก็จะพบว่า มันมีเบื้องต้นมาจากเรื่องอะไร แล้วก็ไปจบลงที่ตรงไหน ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประการใด เราก็พอจะรู้และเข้าใจ ในสภาพของสิ่งนั้นได้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องอย่างนี้ เราก็ถูกอารมณ์มันเตะต่อยเราเรื่อยไป ไม่จบไม่สิ้น แล้วก็ต้องเป็นทุกข์ ขึ้นๆ ลงๆ อยู่กับเรื่องนั้นๆ ตลอดเวลา

แต่เมื่อใดเรามาจับมันได้ เข้าใจมันถูกต้อง เราก็สามารถจะแก้ไขปัญหานั้นๆ ได้ทันท่วงที ไม่ว่าอะไรจะมากระทบ เราก็สามารถจะรับได้ ตีโต้กลับไปด้วยสติปัญญาของเรา สิ่งนั้นมันก็ไม่เป็นพิษแก่เรา ไม่ทำร้ายเรา ให้เราต้องลำบาก ต้องเป็นทุกข์ต่อไป อันนี้แหละเป็นเรื่องสำคัญ ที่เราควรจะได้สนใจศึกษา สนใจปฏิบัติกันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการมาสู่สถานที่อย่างนี้ ก็เท่ากับว่าเรามาเรียนรู้วิธีการ เพื่อเอาไปใช้แก้ปัญหาชีวิตของเราต่อไป

เรานับถือพระพุทธศาสนา ก็ต้องให้ได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนา เรานับถือพระพุทธศาสนาก็ ต้องเข้าถึงสี่งที่เรียกว่า เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา ศาสนาทั้งหลายทั้งปวงนั้น ย่อมมีเปลือก มีกะพี้ แล้วก็มีแก่น ด้วยกันทั้งนั้นแหละ ความจริงเมื่อเริ่มแรกทีเดียวนั้น ผู้สอนศาสนาที่เรียกว่าศาสดา นั้นไม่มีเรื่องเกี่ยวกับเปลือกหรอก สอนสิ่งที่เป็นเนื้อแท้กันเลยทีเดียว คล้ายๆ กับเรารับประทานผลไม้ เขาปอกไว้เสร็จแล้ว เหมือนกับลูกเงาะ เอาเมล็ดออกให้ด้วย แล้วก็ใส่จานอย่างสวยงาม เอามาวางไว้บนโต๊ะเรา ก็เอาซ่อมจิ้มใส่เข้าปาก กินได้เลยไม่มีเปลือก ไม่มีเมล็ดใน เรียกว่ามีสิ่งรับประทานได้เพียงอย่างเดียว ฉันใด ในเรื่องเกี่ยวกับการสอนธรรมะนี่ก็เหมือนกัน

ถ้าเราศึกษา ดูประวัติการเป็นมาของศาสนาแล้ว ทุกศาสนาคล้ายกันๆ กัน แต่ว่าพระพุทธศาสนาของเรานั้น มีส่วนเด่นในเรื่องนี้ คือพระผู้มีพระภาคสอนแก่นจริงๆ ให้เราไปดูปฐมเทศนา ที่ตรัสสอนปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ก็สอนเรื่องแก่นแท้ๆ เรื่องความดับทุกข์ เรื่องความทุกข์ให้เข้าใจ คือสอนเรื่องความทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ การดับทุกข์ได้ แล้วก็วิถีทางจะให้ถึงความดับทุกข์ อันนี้เป็นเรื่องเฉพาะหน้า เป็นปัญหาที่ พระผู้มีพระภาค นำมากล่าวมาสอน แก่ศานุศิษย์ของพระองค์ ผู้ที่นั่งรับฟังนั้น เรียกว่าได้สิ่งที่เป็นสาระจริงๆ เป็นแก่นจริงๆ เอามาปฏิบัติก็ได้หลุดพ้นไป จากความทุกข์ความเดือดร้อนได้

ในยุคที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่นั้น พูดได้ว่าไม่มีสิ่งที่เป็นเปลือก มีแต่เนื้อทั้งนั้น พระพุทธเจ้าก็ดี สาวกของพระองค์ก็ดี เมื่อจะไปสอนอะไร ก็สอนสิ่งที่เป็นเนื้อแท้ ให้คนได้เกิดความรู้ความเข้าใจ เพราะฉะนั้นในตำนานจึงปรากฏว่า เมื่อฟังแล้วก็ดับทุกข์ได้ พ้นจากความทุกข์ตามลำดับ เช่นเป็นพระโสดาบันบ้าง อะไรบ้างตามลำดับ นั่นก็เพราะว่าได้รับสิ่งที่เป็นเนื้อแท้จริงๆ เข้าใจสาระของเรื่องนั้นจริงๆ จึงได้ผลประจักษ์แก่ใจ คือสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตได้ทันท่วงที แต่ภายหลังพุทธปรินิพพาน คือเมื่อพระองค์ ผู้เป็นพระบรมศาสดานั้นนิพพานไปแล้ว ศาสนาเริ่มจะเปลี่ยนแปลงไป คำสอนชักจะมีสิ่งที่เป็นเปลือก เป็นฝอย เข้ามามากขึ้นๆ

ที่ได้เป็นไปเช่นนั้นก็เพราะว่า คนที่เป็นผู้นำคำสอนนั้น ต้องการที่จะให้ได้พวกมากๆ ได้สมาชิกมากๆ คือการสอนมีความต้องการอยู่ข้างหลัง มีกิเลสเข้ามาปนเจือปนอยู่กับการสอน เช่นต้องได้พรรคพวก ได้บริวารมากๆ ก็ต้องสอนสิ่งที่คนเขาเข้าใจ เขารับได้ ทีนี้อะไรที่เขาทำกันอยู่ ในเวลานั้น เช่นเรื่องพิธีรีตองต่างๆ ซึ่งปฏิบัติกันอยู่ในสังคมในอินเดียในสมัยนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ส่งเสริม ในเรื่องอย่างนั้น แต่ยุคหลังจากพระองค์นิพพานไปแล้ว สาวกก็เอาสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น มาใส่เข้าในพระโอฐของพระพุทธเจ้าบ้าง ใส่เข้าไปในคัมภีร์ปฏิบัติกัน เป็นพิธีอะไรมากขึ้น เลยทำให้รุงรังไป

ทีนี้คนในสมัยต่อมา แทนที่จะเข้าไปถึงแก่น คือ ธรรมะ ก็มักจะติดอยู่เพียงเปลือกเพียงกะพี้ หรือพิธีรีตองต่างๆ มีคนปฏิบัติอยู่ทั่วๆ ไป ไม่ได้เอาธรรมะเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง แต่ไปเอาพิธีการเป็นที่พึ่ง ทำพิธีกันแพร่หลายมากขึ้นทุกเวลา จนกลายเป็นเรื่องหนึ่งของศาสนาไป เรียกว่า พิธีการ ความจริงนั้นไม่ ใช่ตัวศาสนาแท้ๆ ไม่มีพิธีอะไร ไม่มีเรื่องอะไรเข้ามาเจือปนแม้แต่น้อย มีแต่เรื่องแนวทางอันเป็นข้อปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติหลุดพ้นจากความทุกข์ ความเดือดร้อนเท่านั้น ไม่มีการกระทำอะไรในทางพิธี เพื่อปลอบโยนจิตใจ เพื่อให้คนหลงผิดเข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ ด้วยประการต่างๆ

ถ้าเราสังเกตุดูให้ดีแล้ว บรรดาพิธีการทั้งหลายที่ทำกันอยู่นั้น มันเป็นแต่เพียงปลอบโยนจิตใจ ชั่วครั้งชั่วคราว คล้ายๆ กับเด็กร้องให้ แล้วเราบอกว่าอย่าร้องให้ เดี๋ยวจะพาไปดูหนัง หรือว่าบอกอย่าร้องให้จะซื้อขนมให้กิน แล้วเราก็เอาขนมให้เขากิน เด็กก็ไม่ร้อง หรือว่าพอมันหยุดร้อง พาไปดูหนัง ทีนี้เวลาใด เด็กมันอยากจะกินขนมขึ้นมา มันก็ร้อง เวลาใดมันอยากจะดูหนัง มันก็ร้องใหญ่ ร้องจนผู้ใหญ่รำคาญ ก็ต้องพาไปดูหนัง ต้องซื้อขนมให้กินทุกที เด็กนั้นก็เลยติดอยู่ในการร้อง ไม่มีการเปลี่ยนแปลง อันนี้เราฝึกเด็กให้เสียนิสัย ด้วยการเอาของเข้าล่อมากเกินไป ฉันใด

ในหมู่บริษัทในศาสนานี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราเอาแต่พิธีกรรมต่างๆ เข้ามาใช้มากเกินความต้องการ คนทั้งหลายก็ติดอยู่ในพิธีกรรมอันนั้น ต้องการแต่เรื่องพิธี ไม่ต้องการตัวธรรมะ ตัวข้อปฏิบัติ อันจะช่วยตน ให้พ้นไปจากความทุกข์ ความเดือดร้อนอย่างแท้จริง แต่ต้องการการปลอบโยนปลอบขวัญ หรือว่าต้องการสิ่งที่เรียกว่า ศิริมงคล ศิริมงคลที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น มักเป็นเรื่องวัตถุ เรื่องพิธีรีตอง อะไรๆ ต่างๆ แต่ว่าสิ่งที่เป็นศิริมงคลแท้จริง ตามหลักของพระพุทธเจ้า กลับไม่มีใครต้องการ ไม่สนใจไม่เอาไปใช้

ที่เป็นเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องอะไร เพราะว่าเราเพาะเชื้อแห่งการทำพิธีมากเกินไป จนทำให้คนติดในเรื่องนั้น เรื่องนี้ ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้วก็ไม่สบายใจ มีความทุกข์ทางใจขึ้นมาทันที ความทุกข์นี้เกิดมาจาก อุปทานตัวหนึ่ง ซึ่งเรียกว่า สีลัพพตุปาทาน คือการยึดมั่นในศีลพรต ศีลพรต ในที่นี้หมายถึงพิธีกรรมต่างๆ ที่เราปฏิบัติกันทั่วๆ ไป ถ้าไม่ได้ทำอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่สบายใจ เมื่อจะทำอะไรแล้วก็ต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้กลายเป็นว่า วัตถุภายนอกเป็นเครื่องปลอบใจ ไม่เอาเรื่องข้างในเป็นเครื่องแก้ปัญหา แก้จากวัตถุตลอดเวลา ทำอะไรก็ต้องเอาสิ่งนั้นเป็นเครื่องแก้

ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ เรานิมนต์พระไปเจริญพระพุทธมนต์ที่บ้าน ความจริงแท้นั้นเรานิมนต์พระไป เพื่อเราจะได้เข้าใกล้พระ แล้วจะได้ฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิต แต่ว่าเราไปติดในเรื่องพิธี เลยก็ต้องมีการสวดมนต์ ตั้งหม้อน้ำมนต์ไว้ เวลาสวดมนต์นี้ก็ไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าใดหรอก นั่งฟังอยู่เฉพาะเจ้าของบ้าน แขกเหรื่อก็นั่งคุยกันอยู่ข้างนอก บางทีอาจจะนั่งดื่มอะไรๆ เพลินๆ ไปก่อนก็ได้

แต่ว่าพอพระฉันอาหารเสร็จแล้ว พอบอกว่า จะพรมน้ำมนต์ มากันหมดเลย มานั่งหน้าสะหลอนกันเลยทีเดียว ต้องการจะให้พรมน้ำมนต์ให้ ทีนี้พอพรมน้ำมนต์แล้ว บางคนขยับเข้ามาใกล้ พรมให้แล้วยังไม่พอ บอกว่าให้เอามือลูบหัวให้สักหน่อย เข้าใจว่า ถ้าได้ลูบแล้วคงจะดีขึ้น จะวิเศษขึ้นอย่างนั้นๆ บางคนหนักเข้าไปยิ่งกว่านั้น อยากจะให้เป่าลงไปบนหัวสักหน่อย ให้พ่นน้ำลายใส่กระหม่อมให้หน่อย นี่แหละที่เรียกว่าติดอยู่ในเรื่องอย่างนี้ คือเรื่องพีธีการต่างๆ อันเกิดขึ้น ที่เขาเพาะกันขึ้นไว้ คนก็ติดอยู่ในเรื่องอย่างนั้นไม่ได้ศึกษาธรรมะ ไม่ได้คิดช่วยตัวเอง ไม่ได้คิดพึ่งตัวเอง ตามหลักการของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านสอน ให้เราช่วยตัวเองให้เราพึ่งตัวเอง เราไม่เข้าใจ ไม่เอาอย่างนั้น แต่ว่าเอาเรื่องพิธีกันอยู่ตลอดเวลา ต้องทำอย่างนั้นต้องทำอย่างนี้มากประการ จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ที่ว่าไม่เข้าถึงธรรมะ

นอกจากนั้นแล้ว ในสมัยต่อมา ศาสนายาวมาร้อยปีพันปี ก็เกิดมีอะไรเข้าไปแทรกแซงมากขึ้น ในเรื่องศาสนา ล้วนแต่เป็นเรื่องเกี่ยวพิธี หรือวัตถุอะไรต่างๆ ทั้งนั้น ตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ ในบ้านเมืองของเราในยุคปัจจุบันนี้ คนกำลังสนใจในเรื่องอะไร ไม่ได้สนใจในเรื่องธรรมะกันเท่าใด นี่แหละญาติโยมที่มาวัดชลประทานฯ เรียกว่ามาต้องการธรรมะ ต้องการศึกษา ต้องการสนใจ แต่ว่าเปอร์เซ็นต์มีสักเท่าใด พลเมืองในกรุงเทพฯ มีเท่าไหร่ ในประเทศไทยมีเท่าไหร่ ที่สนใจธรรมะมีจำนวนนับได้ แต่พอมีเรื่องอื่นขึ้นมาแล้ว ก็จะเห็นว่ามีคนมากเหลือเกิน

สมมติว่าสมัยก่อนนี้ ท่านเจ้าคุณพุทธทาสมากรุงเทพฯ คนที่มาหามาสนทนา มาศึกษาธรรมะนั้น จำนวนนับถ้วน จำหน้าได้กันทีเดียว แต่ถ้าหากว่าหลวงพ่ออะไรมาสักองค์หนึ่ง เช่นว่าปักษ์ใต้ในสมัยก่อนมีหลวงพ่อคล้าย อยู่ที่จันดี คนมากันเต็มวัดไปเลยแออัดยัดเยียดกัน ที่จะมาหาหลวงพ่อคล้าย เขามาเอาอะไร มาเอาชานหมากที่ท่านเคี้ยวแล้ว ที่จำเป็นจะต้องคายลงกระโถนแล้ว ต้องเอาร่างกายเป็นกระโถนรับชานหมาก ได้ไปสักคำหนึ่งแอบปลื้มอกปลื้มใจ ห่อผ้าเอาไปไว้ที่บ้าน

บางคนหนักเข้าไปกว่านั้น รับถึงกินเลย ไม่ได้นึกว่าเชื้อโรคหลวงพ่อจะติดลูกศิษย์ กินเข้าไปเลยที เดียว นี่อย่างนี้เป็นตัวอย่าง ที่มีกันอยู่ทั่วไป แปลว่าพอหลวงพ่อขลังๆ มาก็ต้องไปกันกุฏิจะพังให้ได้ เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า วัดต่างๆ เวลานี้ มักจะโฆษณาว่า หลวงพ่อนั้นมาพักอยู่ที่วัดนั้น หลวงพ่อมาพักอยู่ ที่วัดแล้วคนก็ไปกัน ไม่ได้ไปศึกษาธรรมะเลย ไม่ได้ไปหาวิธีการดับทุกข์โดยทางที่ถูกที่ชอบเลย แต่ไป ต้องการวัตถุเครื่องรางของขลัง อะไร ๆ ต่างๆ ขอให้หลวงพ่อรดน้ำมนต์สักหน่อย หรือว่าได้อะไรมา สักชิ้นหนึ่งจากหลวงพ่อ จะเป็นเศษใบไม้ก็ยังดี ให้ได้มาก็แล้วกัน นี่เขาเรียกว่าติดอยู่ในวัตถุตลอดเวลา ไม่พยายามที่จะเข้าถึงสิ่งที่เป็นเนื้อแท้คือธรรมะ แล้วพระศาสนาจะอยู่ได้อย่างไรในรูปอย่างนี้ จิตใจคนไม่เข้าถึงสิ่งที่เป็นเนื้อ เลยก็ไม่รู้จักศาสนา ที่นี้เมื่อไม่รู้จักตัวแท้ จะรักษาไม่ถูกเหมือนกัน คือไม่รู้ว่าอะไรที่เราควรจะรักษา จะรักษาไว้อย่างไร ก็ไปสนใจแต่เรื่องวัตถุที่เสียหาย
สมมติว่าขโมยมาลักตัดเศียรพระพุทธรูปไป ตกอกตกใจกันเหลือเกินแล้ว พวกมารร้ายมันทำลายศาสนา แต่ว่าคนที่พูดนั้น ไม่ได้มีตัวศาสนาอยู่ในตัวเลย ความจริงตัวที่ไม่ได้ตัดคอพระพุทธรูปนั้น ก็ทำลายศาสนาอยู่เหมือนกัน ทำลายอย่างใด คือไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องศาสนา ไม่ปฏิบัติตามศาสนา นั่นแหละคือการทำลาย เหมือนเราปลูกต้นไม้ แล้วเราไม่ใส่ปุ๋ย ไม่พรวนดิน ไม่เอาตัวพยาธิที่มาทำลายต้นไม้ ต้นไม้นั้นมันก็ตายไป ไม่ได้ประโยชน์อะไร ศาสนาก็เป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่รู้จักจะรักษาไว้ได้อย่างไร รักษาไว้ตรงไหนก็ไม่รู้ เหมือนคนที่มีของมีค่า แต่ไม่เอาไปเก็บไว้ในที่เหมาะที่ควร คนอื่นรู้จักว่าเป็นของมีค่า เลยมาเอาของนั้นไปเสีย อย่างนี้จะเกิดเรื่อง

ในเรื่องชาดกเล่าไว้ว่า ยายกับหลานอยู่ด้วยกัน คือว่าเป็นเศรษฐีตกยาก ทรัพย์สมบัติอะไรก็ไม่มี แต่ว่ามีถาดอยู่ใบหนึ่ง แต่ว่าถาดนี้ขี้ฝุ่นจับเกรอะกรัง สกปรกรุงรัง แล้วก็มีพ่อค้าคนหนึ่งมาถึง ก็ถามว่า บ้านยายมีอะไรบ้างที่พอจะขายได้ คล้ายกับเจ็กมาซื้อขวดไปขายอย่างนั้น แกก็บอกว่าไม่มีอะไรมีถาดเก่าๆ อยู่ใบหนึ่ง อยากได้ไหมล่ะ ก็เอามาให้ดู พอเอามาดูก็รู้ว่าเป็นอะไร แล้วอะไรขีดหน่อยหนึ่ง แล้วก็โยนเลย บอกว่าอะไรก็ไม่รู้ ไม่ได้ความเลย จะเอามาขายฉัน ให้เปล่าๆ ฉันก็ไม่เอา ก็ไปไม่ต้องการที่ทำ อย่างนั้นไม่ใช่ว่าไม่อยากได้ อยากได้เปล่าๆ ไม่อยากจะซื้อ เพราะว่ามันมีค่าเหลือเกิน ถาดใบนั้นมันเป็นทองคำ

แล้วก็มีพ่อค้าอีกคนหนึ่งมา พูดดี แล้วยายก็ยกมาให้ บอกว่า ยายเก็บไว้อย่างนี้เองหรือ เปิดเผยอย่างนี้หรือ ยายรู้ไหมของนี้มีค่าเท่าใด นี่มันทองทั้งใบนะ ราคามันเหลือหลายนี่ ยายพอรู้ก็ว่า ฉันไม่เอาไว้ เดี๋ยวโจรจะมาปล้นฆ่าฉันตาย ท่านจะต้องการไหมละ บอกว่า ฉันก็อยากได้เหมือนกันยายจะเอาราคาเท่าไหร่ ยายนั้นก็ไม่รู้ว่าราคาเท่าไหร่ ก็บอกว่า เอาไปเถอะให้เท่าใดก็พอใจ เลยให้ราคาตั้งห้าพันกหาปณะ เป็นเงินไม่ใช่เล็กน้อย พอให้แล้วแกก็ลงเรือรีบไปเลย เจ้าคนโน้นวกมาอีก บอกว่าเมื่อกี้ อ้ายถาดสัปรังเคอยู่หรือเปล่า เจ้าของบอกว่า สับปะรังเคอะไร พ่อค้าคนหนึ่งมาบอกว่า ทองคำเขาซื้อไป แล้วเขาซื้อเท่าไหร่ ซื้อห้าพัน เจ้านี่ว่า ไปไหนแล้ว โน่นเขาข้ามฝั่งไปแล้ว รีบลงเรือพายใหญ่เลย จะตามให้ทันคนนั้น เพื่อจะแย่งถาดใบนั้น

เรื่องนี้เป็นตัวอย่างให้เห็น ว่าของดีมีค่า ถ้าไม่รู้จักราคามันก็ไม่ได้เรื่อง ความมีค่ามันอยู่ที่ราคาของของนั้น แล้วราคามันหมายถึงความต้องการของคน สิ่งใดที่มีค่า ก็หมายความมีคนต้องการมาก กระดาษธรรมดาอย่างนี้ ทิ้งเฉยๆ ไม่มีใครเก็บ แต่ถ้ามันเป็นธนบัตร พอคนเห็นก็แย่งกันเลย ต่างคนต่างก็จะเอา ความจริงมันก็กระดาษด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าเขาสมมติว่า เป็นธนบัตร มีค่าหนึ่งร้อยบาท ยี่สิบบาท ห้าบาท สิบบาท คนก็ต้องการ แต่ถ้าเป็นกระดาษเฉยๆ ไม่มีใครต้องการ ราคามันอยู่ที่ความต้องการของคน ของอันใดคนต้องการมากก็มีราคา ถ้าคนไม่ต้องการก็ไม่มีราคา อันนี้เป็นเรื่องทางวัตถุ

ทีนี้เรื่องถึงธรรมะ หรือเรื่องเกี่ยวกับจิตใจของคนนี้ก็เช่นเดียวกัน เราจะรักษาพระศาสนาไว้ เดี๋ยว นี้เราจะได้ยินวิทยุพูดบ่อยๆ ให้รักชาติ ศาสนา รักพระมหากษัตริย์ รักชาติก็พอจะเข้าใจ องค์พระมหากษัตริย์ ก็รักกันอยู่พอแรงแล้ว เรียกว่าพระองค์เสด็จไปที่ไหนก็ไปต้อนรับ เกิดความปลาบปลื้มปิติดีอกดีใจ แสดงความรักอยู่ แต่รักพระศาสนานี้ เป็นปัญหาอยู่ เราจะรักอะไร รักสิ่งใด แล้วเราจะถนอมสิ่งนั้นในรูปใด ให้สมกับว่าเรารักจริงๆ เรามีเงินมีทอง มีข้าวมีของ เพชรนิลจินดา เรารักเราต้องเก็บใส่ตู้เซฟ แข็งแรง ถ้าที่บ้านตู้เซฟไม่แข็งแรง ก็เอาไปฝากธนาคารไว้ เพื่อความปลอดภัย แต่ตัวธรรมะตัวศาสนานี่ จะเก็บไว้ที่ไหน จะรักษาไว้ที่ตรงไหน นี่เป็นปัญหา ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจ ก็รักษาไม่ถูก อาจจะทำลายศาสนาไปเสียก็ได้

เดี๋ยวนี้รู้หรือไม่ ว่ามีบุคคลไม่ใช่น้อย ที่ทำลายศาสนาโดยไม่รู้ตัว โดยไม่รู้ตัวว่าตัวกำลังทำลายพระศาสนา คือบุคคลที่ทำอะไรนอกลู่นอกทาง ห่างไปจากคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำคนให้มืดให้หลง ให้เข้าใจผิดในเรื่องอะไรต่างๆ ทั้งพระทั้งชาวบ้าน กำลังร่วมแรงร่วมใจกันทำลายพระพุทธศาสนาโดยไม่รู้ตัว ทำไมจึงได้ทำอย่างนั้น ก็เพราะว่าเห็นแก่อามิส รางวัลสิ้นจ้างที่จะได้รับ คือปัจจัยนั่นแหละไม่ใช่เรื่องอะไร ปัจจัยที่จะได้จากสิ่งนั้น เช่นว่าทำของอะไรขึ้นขาย ได้เงินได้ทอง ได้ของได้แก้ว ปลุกเสกพักเดียวก็ได้เงินล้าน ไม่ต้องนั่งเรี่ยไรอยู่นานๆ ไม่ต้องประกาศวิทยุบ่อยๆ คนมากันล้นหลาม แย่งกันซื้อไปเลย เลยก็ได้เงินมาก ต่างสน ต่างทำกันใหญ่ นี่แหละ คือการทำลายสัจจธรรม ของพระพุทธเจ้า

ทำไมจึงได้กล่าวเช่นนั้น ก็เพราะว่าคนไปหลงใหลมัวเมาอยู่ในสิ่งที่เป็นวัตถุ ไม่พยายามที่จะเข้าถึงธรรมะ พยายามที่จะเอาธรรมะ มาปฏิบัติ แต่ว่าไปติดอยู่ในวัตถุนั้นๆ นึกว่าวัตถุนี่จะช่วยตัวได้ เพราะการโฆษณาว่าศักดิ์สิทธิ์ มีลาภมีโชค มหาโชค มหาลาภ มีแล้วจะปราศจากทุกข์โศกโรคภัย นี่วิเศษเหลือเกิน ใครได้แล้วไปไว้ที่บ้านจะร่ำรวยเป็น เศรษฐีมหาเศรษฐี มีเงินแสนมีเงินล้านไปตามๆ กัน อันนี้ทำให้คนไม่รู้จักปฏิบัติธรรม ไม่คิดช่วยตัวเอง แต่ว่าจะไปขอพึ่งสิ่งเหล่านั้น ซึ่งตนนึกว่าจะช่วยตนได้ เลยไม่ปฏิบัติธรรมะ นั่นคือการทำลายธรรมะโดยไม่รู้ตัว ทำลายสัจจธรรม แล้วอะไรมันจะเหลืออยู่บนแผ่นดินได้ เหลือแต่สิ่งที่เป็นวัตถุซึ่งสร้างด้วยปัจจัยอย่างนั้น ใหญ่มโหฬาร แล้วสิ่งนั้นจะช่วยพระศาสนาได้หรือ

สมัยหลังพุทธกาล พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างเจดีย์มาก เขียนไว้ในประวัติศาสตร์ว่าตั้งแปดหมื่นสี่พันองค์ แล้วในประเทศลังกาก็สร้างเจดีย์กันใหญ่ มากมายก่ายกอง สิ่งเหล่านั้นเวลานี้กลายเป็นกองอิฐกองปูนเก่าๆ เป็นโบราณวัตถุสำหรับนักทัศนาจรไปชมเท่านั้นเอง ตัวศาสนามีอยู่ ในประเทศอินเดียหรือเปล่า ไม่มีแล้ว มีแต่แผ่นกองอิฐทั้งหลาย ซึ่งเราไปดูกันเป็นขวัญตา เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เท่านั้นสำหรับคนที่ดูเป็น แต่ถ้าดูไม่เป็นก็ดูอย่างนั้นแหละ เหลือแต่สิ่งเท่านั้น ตัวธรรมะไม่มี เพราะไม่ได้บำรุงในด้านธรรม

ในเวลานี้ก็เช่นเดียวกัน เราไม่ได้ชักจูงส่งเสริมคนให้ประพฤติธรรม ให้เข้าใจธรรมะ ไม่เอาธรรมะมาแก้ไขปัญหาชีวิต แต่เราให้คนแก้ปัญหาด้วยวัตถุ ด้วยการมีพระสมเด็จมีหลวงพ่อมี แหวนสวมนิ้วพระห้อยคอ แล้วที่บ้านก็มียันต์แขวนที่ประตูบ้าง ติดที่เพดานร้อยแปด โจรเข้าบ้านทีไร ยกเกลี้ยงทุกที เหลือแต่ผ้ายันต์เพดานที่มันไม่เอา นอกนั้นเอาหมด นี่มันจะช่วยได้อย่างไร ทำให้คนหลงไหล มัวเมาทั้งนั้น แล้วก็ส่งเสริมกันนักหนา แพร่หลาย นี่แหละ ขอให้ญาติโยมเข้าใจ ว่าเป็นเรื่องของการรักษาเปลือก ไม่เข้าไปรักษาเนื้อแท้พระธรรมของพระพุทธเจ้าเลย

ทีนี้ถ้าเราจะรักษาสัจจธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เราต้องช่วยกันศึกษาธรรมให้เข้าใจ เราต้องช่วย กันศึกษาธรรมะให้เข้าใจ ต้องช่วยกันฉันท์มิตรสหายให้มาศึกษา แล้วเราก็ต้องปฏิบัติตนตามหลักธรรมะใน ชีวิตประจำวัน อย่าเอาวัตถุมาเป็นเครื่องช่วย แต่เอาธรรมะมาเป็นเครื่องช่วย ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ เราถึงพระธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่ถึงรูปวัตถุทั้งหลายเป็นที่พึ่งเป็นสรณะ เอาธรรมะเป็นสรณะ เอาธรรมะเป็นที่พึ่งกันจริงโดยลำดับขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาชีวิตของเรา เช่นเรามีความทุกข์มีความเดือดร้อน พระพุทธเจ้าก็สอนทางให้แล้ว บอกว่า เมื่อมีความทุกข์มีความเดือดร้อน พระพุทธเจ้าก็สอนทางให้แล้ว

บอกว่าเมื่อมีทุกข์มักก็เกิดจากเหตุ เหตุมันมี แล้วเหตุนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหน อยู่ที่การกระทำของเราเอง อยู่ที่การคิด การพูด การกระทำ การพูดกับการกระทำนั้น เริ่มต้นจากการคิด ถ้าคิดผิดมันก็เป็นทุกข์ ถ้าคิดถูกมันก็ไม่เป็นทุกข์ พูดผิดก็เป็นทุกข์ พูดถูกมันก็ไม่มีความทุกข์ พูดผิดก็มีความทุกข์ความเดือดร้อนใจ ทำถูกก็ก็หมดทุกข์ ทำผิดก็เกิดความทุกข์ความเดือดร้อน มันอยู่ที่การกระทำอย่างนั้น เราต้องแก้ที่การกระทำของเราเอง ต้องหมั่นศึกษา หมั่นพิจารณาตัวเองในเรื่องอะไรๆ ต่างๆ ทำอะไรแล้วก็ต้องจำไว้ ว่าเราได้ทำสิ่งนั้น ผลมันมีอะไร เกิดขึ้นในรูปใด

สมมติว่าเราไปดื่มเหล้า เมาแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราไปบ่อนการพนัน เกิดอะไรขึ้นบ้าง เราไปด่าคนนั้นคนนี้ มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราคิดริษยาคนอื่น ใจเรามันเย็นหรือใจเราร้อน มีความสุข หรือว่ามีความทุกข์ในใจ คอยตรวจสอบพิจารณา ศึกษาค้นคว้า จากในจิต จากการคิดของเรา เราก็จะมองเห็นความจริงในเรื่องนี้มากขึ้นๆ รู้เรื่อง เข้าใจเรื่องถูกต้อง เราเอาหลักนี้มาปฏิบัติ ให้จิตใจเรา โปร่งอยู่ด้วยคุณธรรม ความเจริญของพระศาสนา อยู่ที่จิตใจคนผู้นับถือ พระศาสนาเจริญด้วยคุณธรรม เจริญด้วยการละอายบาป เจริญด้วยความกลัวบาป เจริญด้วยความเมตตา เจริญด้วยขันติ ความอดทน เจริญด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่ส่วนรวม ไม่เห็นแก่ตัว ถ้าความเห็นแก่ตัวเจริญ ศาสนาไม่เจริญ หลักการมันเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่า เรามีศาสนาอยู่ในใจของเราหรือเปล่า มีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจของเราหรือเปล่า มีพระธรรมอยู่ในจิตในใจของเราหรือเปล่า มีพระสงฆ์อยู่ในจิตใจของเราหรือเปล่า เราต้องรู้ว่ามีหรือไม่มี เวลาใดที่เรามีพระ ใจสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่เร่าร้อน เวลาใดไม่มีพระ ใจเร่าร้อนวุ่นวาย มืดบอด คือไม่มีพระ ไม่มีธรรมประจำใจ แล้วมันก็ตกอยู่ในสภาพอย่างนั้น ให้รู้ว่าความแตกต่างระหว่างการไม่มีพระ กับการไม่มีพระ มันมีสภาพอย่างไร ให้รู้จิตว่าเวลาเป็นทุกข์ กับจิตที่ไม่เป็นทุกข์แตกต่างกันอย่างไร แล้วให้รู้ว่าอะไรมันเป็นเหตุให้เกิดอาการอย่างนั้น สิ่งที่ทำให้เกิดสุขคืออะไร สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์คืออะไร สิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์มันคืออะไร ต้องศึกษาต้องค้นคว้าอยู่บ่อยเมื่อมีเวลา

เวลาไปทำงานอะไรเราก็ไปทำ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราทิ้งหน้าที่การงาน ทิ้งงานทิ้งการออกมาอยู่ในที่ สงบอยู่ตลอดเวลา เราต้องทำงานตามหน้าที่ที่เรามี มีกิจอะไรที่ต้องจัดต้องทำก็ทำไป แต่ว่าทำไปด้วย ความมีศาสนาประจำใจ มีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ มีพระอยู่ในใจ ก็หมายความว่า ทำงานด้วยปัญญา ทำงานด้วยจิตใจ ที่เต็มไปด้วยความกรุณา ทำงานด้วยจิตใจที่เป็นตัวเอง คือบริสุทธิ์ เรียกว่าเป็นตัวเองแท้ๆ คือใจที่บริสุทธิ์ ถ้าเศร้าหมองแล้ว ก็ไม่ใช่ของเดิม มันมีอะไรปะปนแล้ว จึงเปลี่ยนสีไป
เหมือนกับผ้าธรรมดาที่ขาว ผ้าหม่นก็ไม่ใช่สีขาวแล้ว ผ้าแดงก็ไม่ใช่สีขาวแล้ว ผ้าเขียวก็ไม่ใช่สีขาวแล้ว มันต้องมีอะไรเข้าไปปนแล้ว มันจึงได้เปลี่ยนสีไปอย่างนั้น ฉันใด สภาพจิตของคนเราก็อย่างนั้น มันผ่องใส ไม่มีอะไรเศร้าหมอง ความเศร้าหมองมันเกิดขึ้นมา เพราะมีสิ่งไปกระทบ แล้วเราไม่รู้เท่าทันต่อสิ่งนั้น มันจึงเกิดการปรุงแต่ง เป็นราคะ เป็นโทสะ เป็นโมหะ เป็นริษยา พยาบาทอะไรต่างๆ ขึ้นมา ไม่เป็นตัวเองในขณะนั้น แล้วเราจะรู้สึกว่า ร้อนกระวนกระวาย

เช่นคนมีความโกรธคนอื่น ลุกขึ้นจะไปต่อยเขานั้นไม่ใช่ตัวเองไปแล้ว แต่ความโกรธมันบังคับให้ไป ความพยาบาทกรุ่นอยู่ในใจ ไม่ได้ทำแล้วมันนอนไม่หลับ ต้องทำไป ที่ทำไปนั้นด้วยอำนาจกิเลสมันสั่ง มารสั่งไม่ใช่พระสั่ง ถ้าเป็นคำพระสั่งของพระต้องนั่ง สงบ ไม่มีเรื่องอะไรทำให้ใครเดือดร้อน ไม่ทำตัวให้เดือดร้อน ไม่มีความคิดที่เบียดเบียนใคร เพราะ จิตใจมีปัญญา รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้กาล ทุกสิ่งทุกประการเรียบร้อย เรื่องยุ่งมันก็ไม่มี เวลาเกิดเรื่องยุ่ง ก็บอกตนเองว่า เอาอีกแล้วๆ ไม่เป็นตัวเองอีกแล้ว รีบบอกตัวเอง รีบแก้ไข นั่งลงสงบจิตสงบใจ คอยเตือน ไว้ แต่ต้องทำบ่อยๆ สติมันไม่คล่องถ้าไม่ทำบ่อยๆ ต้องคอยกำหนดไว้ รู้อาการของจิตใจเราบ่อยๆ แล้ว เราจะรู้ว่าเราเป็นคนสงบเยือกเย็น ไม่ใจร้อนไม่ใจเร็ว ไม่หุนหันพลันแล่นต่ออะไรที่เกิดขึ้น แล้วจะได้ รู้ต่อไปว่า มันสุขกายเย็นใจ คนเราวันหนึ่งถ้ามีโกรธใครสักหนหนึ่ง เฉยสักวันหนึ่งใจมันสงบ ไม่มีความคิดริษยาใคร ไม่พยาบาทใคร หรือไม่เกลียดใคร มันสบาย มันสบายทั้งวันเลย คนอย่างนี้อายุมั่นขวัญยืน คือร่างกายมันปกติ จิตใจก็ปกติ

ความปกติทางร่างกายนั้น เกิดจากจิตปกติก่อน ถ้าจิตปกติแล้ว ร่างกายก็พลอยปกติไปด้วย อะไรๆ ในร่างกายมันเรียบร้อย ถ้าร่างกายไม่เรียบร้อย สมองทำงานไม่เรียบร้อย ตับไตใส้พุงก็ไม่เรียบร้อย ล่อแหลมต่อการที่จะเป็นโรคประสาท อันนี้มันไม่ได้เกิดจากอะไร เกิดจากความคิดผิดปกติของจิต ที่ปล่อยให้สิ่ง ภายนอกครอบงำ ไม่เป็นไท ไมีมีอิสรภาพ ไม่เป็นตัวเอง จึงต้องควบคุมไว้ มีสติรู้อยู่ตลอดเวลา เวลาทำงานก็รู้อยู่ที่งาน เวลาหยุดงานก็รู้อยู่ที่จิตที่ความคิดของเรา พออะไรที่เป็นฝ่ายอกุศล เช่นราคะ โทสะ โมหะ ริษยา อารมณ์อะไรที่เรียกว่า กิเลสประเภทต่างๆ ซึ่งเราควรจะรู้จักมันไว้

พอโผล่มีอ้าวโผล่มาอีกแล้ว วันก่อนมาทีหนึ่งแล้ว ทำให้ข้ายุ่งทั้งวัน เอาออกไป ขับไล่มันออกไป ก็เรารู้เท่ารู้ทัน เรารู้เท่ารู้ทัน มันก็หายหน้าไป หายไปไม่เท่าใดก็แอบมาอีก ไม่ค่อยได้อะไร อย่างนี้ มันชอบแอบมา มาสะกิดหลังเราบ่อยๆ เราจึงต้องคอยกำหนดรู้ไว้ ไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไป อันนี้แหละจะทำให้เราสบายใจ เป็นความสุข โดยที่ไม่ต้องมีอะไรเป็นเครื่องประกอบ อยู่ที่ไหนก็มีใจเป็นสุข มีความสงบในทางด้านจิตใจ เพราะไม่มีอะไร ทำให้เราเต้นแร้งเต้นกา ต้องลุกขึ้นทำท่าอย่างนั้น อย่างนี้ มันก็เป็นสุขสบาย ใครอยากจะอยู่อย่างนี้บ้าง ญาติโยมทุกคนก็ย่อมต้องการ ไม่อยากจะอยู่ขึ้นๆ ลงๆ ผุดลุกผุดนั่ง ประเดี๋ยวเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ไหว เราไม่อยากเป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น จึงต้องควบคุมไว้ด้วยสติด้วยปัญญา สติรู้ทัน ปัญญารู้เท่า พออะไรเกิดก็รู้ เช่นจะโกรธแล้ว จะเกลียดอีกแล้ว จะริษยาอีกแล้ว คอยว่ามันไว้ พอมันจะเกิด เกิดขึ้นเราก็รู้มาอีกแล้ว แล้วไม่ใช่ตัวเรา ไม่เอา ไม่ใช่ของเดิม ไล่มันออกไปบ่อยๆ เจ้านั่นก็ถอยไป ประเดี๋ยวมันมาอีก ทำบ่อยๆ ทำนานเข้า จิตมันคล่อง เรียกว่าคล่องตัว พอคล่องตัวแล้วมันไม่เกิดไม่กล้ามาแล้ว มาทีไรถูกน็อคทุกที มาไม่ ไหวแล้ว มันก็ถอยไป ไม่ยุ่งกับเราต่อไป เราก็จะอยู่ได้สงบทุกกาลทุกเวลา ไม่ว่าเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เรามีจิตใจสงบ ใครจะมาด่าเราก็เฉยๆ เขาบอกว่าคนนั้นนินทาคนนี้ ไม่เป็นไร เรื่องธรรมดา ไม่มีอะไร ถ้าเราไม่โกรธไม่เกลียดใคร แล้วใจจะสบายหรือไม่ญาติโยมลองคิดดู จะรู้สึกว่ามันมีความสุข สบายใจเหลือเกินในสภาพอย่างนั้น

ใจขณะที่เรามีใจสงบนั่นแหละ พระมีในใจของเรา ศาสนาอยู่กับเรา การรักษาพระศาสนา ก็คือการรักษาตัวเรา ให้มีจิตใจสงบ รู้เท่ารู้ทันต่อปัญหาของชีวิต อะไรเกิดขึ้นเราก็แก้ได้ ไม่ต้องไปเที่ยวบนบานศาลกล่าวใคร ไม่ต้องไปขอให้ใครสะเดาะความทุกข์ความโศกให้เรา เราเป็นหมอของเราเอง เราแก้ของเราเอง ด้วยปัญญาของพระพุทธเจ้า ไม่ต้องไปใช้ให้คนอื่นทำให้ คนที่ให้คนอื่นทำให้ คือยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นอะไร เลยต้องไปขอร้องให้สะเดาะเคราะห์ สะเดาะโศกให้หน่อย อย่างนี้เป็นตัวอย่าง

ไม่ต้องทำ เราสะเดาะของเราเอง ด้วยปัญญาของเรา ด้วยสติของเรา แล้วสิ่งนั้นมันไม่มารบกวนให้เกิดปัญหาต่อไป นี่แหละคือประโยชน์ของพระศาสนา เรามาวัดก็เพื่อมาศึกษามาปฏิบัติเรื่องนี้ แล้วต้องสังเกตว่า มาวัดฟังธรรมะ อะไรมันเปลี่ยนแปลงบ้าง ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงเลย ก็แสดงว่ายังไม่เข้าถึงวัด ยังไม่เข้าถึงธรรม ยังไม่เข้าถึงพระ จึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในด้านนี้ แต่ถ้าว่าเรารู้สึกว่าจิตใจดีขึ้น สงบขึ้น มีความโกรธน้อย มีความโลภน้อย มีปัญญาขึ้นแล้ว จงพยายามก้าวต่อไป รักษาความดีนั้นต่อไป เพื่อให้เจริญงอกงามไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น เราก็จะได้รับประโยชน์สมความปรารถนา นี่ประโยชน์มันอยู่ตรงนี้ นี่พระศาสนาที่เราควรรักษาอยู่ในรูปอย่างนี้ จึงนำมากล่าวให้ญาติโยมได้เข้าใจ ดังที่ได้แสดงมาก็สมควรแก่เวลา ขอยุติไว้เพียงเท่านี้.

ที่มา //www.panya.iirt.net/read/




 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2551 22:54:19 น.
Counter : 358 Pageviews.  

คำสอนของหลวงตาบัว

หลวงตามหาบัว สอนปฏิบัติธรรม


พระผู้มีพระภาคเจ้าท่านแนะนำสั่งสอนไว้ว่า ดูก่อนอานนท์ พระธรรมและพระวินัยนั้นแลจะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลายแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว นี่สำคัญมาก เป็นพระวาจาของพระองค์

ศีล “เป็นรั้วกั้นสองฟากทางไม่ให้ข้ามออกไปตกเหวตกบ่อเป็นอันตราย” ให้อยู่ในกรอบของศีล เรียกว่า “อยู่ในเขตแห่งความปลอดภัย” จากนั้นก็ก้าวเดินทางธรรมคือจิตภาวนา มีสติเป็นสำคัญมาก ทุกๆ ท่านจำให้ดีคำว่าสตินี้เป็นพื้นฐานแห่งการบำเพ็ญธรรมทุกขั้นทุกภูมิ ตั้งแต่พื้นๆที่ฝึกหัดดัดแปลงล้มลุกคลุกคลานนี้จนกระทั่งถึงวิมุติหลุดพ้น จะนอกเหนือไปจากสตินี้ไปไม่ได้เลย เวลาล้มลุกคลุกคลานก็มีสติควบคุมไว้ตลอด จนได้หลักได้เกณฑ์ จิตเข้าสู่ความสงบร่มเย็นด้วยจิตภาวนา โดยมีสติเป็นเครื่องควบคุมเสมอ แล้วจิตก็จะเย็นเข้าไปๆ

การเคลื่อนไหวไปมาแม้นที่สุดการเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา เรื่องสติเป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องใหญ่โต ในการบำเพ็ญจิตภาวนาของพวกเรา ขอให้มีสติดีๆ เถอะ สมมติว่าเราเริ่มฝึกหัดเบื้องต้น จำต้องอาศัยคำบริกรรมจะเป็นคำใดก็ตามตามแต่จริตนิสัยที่ชอบ เช่นพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นต้นนะ แล้วให้ยึดคำบริกรรมนั้นเอาไว้กับจิต มีสติควบคุมอยู่กับคำบริกรรมนั้นตลอดไปอย่าให้เผลอไผลไปไหน

อย่าเสียดายความคิดปรุงที่เคยคิดปรุงมาแต่อ้อนแต่ออก ความคิดเหล่านี้ส่วนมากเป็นความคิดของกิเลสตัณหา สร้างขึ้นจากความเผลอสติของเรา ต้องไม่เผลอสติตัดความคิดทั้งหลายนั้นออก เพราะไม่เป็นประโยชน์สาระอันใด นอกจากจะมากวนใจให้หาความสงบร่มเย็นไม่ได้เท่านั้น จึงต้องมีสติให้ดีอย่าเสียดายอารมณ์ใด นอกจากคำบริกรรมของเรา

สำหรับผู้เริ่มต้นที่ยังไม่มีหลัก ให้ถือคำบริกรรม (เช่นพุทโธ ฯลฯ) เป็นหลักใจ แล้วมีเครื่องกำกับอยู่กับคำบริกรรมนั้นอย่าให้เผลอ อย่าเสียดายเวล่ำเวลาไปไหนที่กิเลสมันฉุดลากออกไปด้วยความอยากคิดเรื่องนั้นอยากปรุงเรื่องนี้ นี่เป็นจิตที่มีแต่กิเลสฉุดลากออกนอกลู่นอกทางแห่งคำบริกรรมของเรา อย่าให้มันคิดออกไปได้ เราจะตั้งภาวนาเพื่อให้ได้หลักของจิตใจเกี่ยวกับจิตภาวนา

ตั้งสติกำกับบริกรรมนี้ให้ดี อย่าให้เผลอ หากว่าเราจะมีการเคลื่อนไหวไปมาทางใด เคลื่อนออกจากจากนี้ไป ก็ให้มีสัมปชัญญะติดแนบอยู่ด้วย รู้ตัวด้วยความเคลื่อนไหวของตน เพื่อสมบัติของจิตจะได้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ตั้งแต่สมาธิสมบัติหรือสมถะสมบัติจากนั้นก้าวออกทางด้านปัญญา เมื่อจิตของเรามีความสงบร่มเย็นแล้วย่อมอิ่มอารมณ์ อารมณ์ที่อยากคิดสิ่งนั้นอยากคิดสิ่งนี้จะจางไป เพราะนั่นเป็นอารมณ์ของกิเลส กิเลสทำงานสร้างแต่ความมัวหมองมืดตื้อเข้ามาสู่ใจ

ธรรมทำงานคือคำบริกรรม มีสติกำกับรักษานี่เรียกว่างานของธรรมนี้แลจะทำจิตใจของเราให้มีความสงบเป็นลำดับ เมื่อมีสติรักษาอยู่ตลอดแล้วจะไม่มีภัยใดๆ เกิดขึ้นภายในใจเลย จิตของเราจะมีความสงบแน่วแน่ขึ้น

สำหรับผู้ที่เริ่มใหม่ๆ ตั้งรากฐานใหม่ๆ เราตั้งฐานความมีสติไม่ปราศจากคำบริกรรม สำหรับผู้ที่มีรากฐานแล้วเช่นจิตเป็นสมาธิ ความรู้ก็ให้ติดอยู่กับสมาธิ ความสงบแน่นหนามั่นคงของใจ ไม่เสียดายอารมณ์ที่คิดปรุงแต่งต่างๆ เมื่อสมาธิแน่นหนาแล้วความคิดปรุงแต่งจะไม่เข้ามารบกวนจิตใจ มิหนำซ้ำผู้มีสมาธิจิตมั่นคงจริงๆ ความคิดปรุงแต่งเป็นเรื่องรำคาญ

อยู่เอกจิต เอกธรรม เรียกว่า “เอกคตารมณ์”แน่วอยู่ด้วยสมาธิอย่างนี้เรียกว่าจิตอิ่มตัว เช่นนี้แล้วให้แยกออกจากจิตคือแยกออกจากสมาธิ พิจารณาทางด้านปัญญา ด้านปัญญานี้ “เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ” (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง) นี้เป็นได้ทั้งอารมณ์สมถะที่เราบริกรรมเพื่อความสงบใจ เป็นได้ทั้งอารมณ์วิปัสสนาคือเราคลี่คลาย ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อเหล่านี้จนกระทั่งเห็นกระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ไปหมด คลี่คลายออกตามสัดส่วนที่มีอยู่ในร่างกายของเรา

จงใช้ปัญญาพิจารณาเช่นเกศาเอาแยกเข้าไปหาโลมา นขา ทันตา ตโจ เรียงลำดับหรือไม่เรียงลำดับก็ไม่สำคัญ ขอให้มีสติติดแนบกับอารมณ์ที่เราชอบใจ เช่นหนังหรือเนื้อ เอ้า ! พิจารณาเข้าไปแล้วมันจะเหมือนไฟดับเชื้อ จะค่อยๆ ลุกลามเข้าไปหาเอ็น กระดูก ตับไตไส้พุง อาหารเก่า อาหารใหม่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นส้วมซึ่งเป็นฐานของสัตว์ บุคคล ของเขาของเราแต่ละคน มันยึดส้วม (ร่างกาย) ยึดเป็นฐานเป็นสาระ เมื่อมันไม่รู้มันก็ยึด

ทีนี้ให้แยกออกดูสภาพแห่งส้วม (ร่างกาย) แห่งฐานนี้ มันมีสาระอะไรบ้างให้พิจารณา จะพิจารณาผมก็ได้ ขน เล็บ ฟัน หนัง ตามแต่จริตนิสัยชอบ แยกเข้าไปแยกเข้าไป จนถึงเนื้อ เอ็นกระดูก ตับไตไส้พุง จากนั้นให้แยกออกกระจัดกระจายให้เป็นสัดส่วน ให้เป็นของปฏิกูล โสโครกเน่าเฟะไปหมดทั้งร่าง เอาประกอบกันเข้ามาตั้งเป็นหญิงเป็นชาย เอาสวยงามตั้งขึ้นเมื่อไหร่ให้ อสุภะอสุภัง ตีมันแหลกลงไป เมื่อตั้งสวยงามเมื่อไหร่ ตีให้แหลกกระจัดกระจายไปเรื่อยๆ นี่เรียกว่า ปัญญาชำนาญ ให้ใช้ปัญญาเมื่อจิตอิ่มอารมณ์ คือ มีสมาธิแล้วอย่าอยู่กับสมาธิ

สมาธินั้นไม่ใช่ธรรมแก้กิเลส เป็นเพียงว่าธรรมเพื่อทำกิเลสให้สงบด้วยสมาธิ จิตที่ปรุงต่างๆ จึงไม่ค่อยมีสำหรับผู้มีสมาธิ นั้นแหละจิตอิ่มตัว ให้เอาจิตอิ่มตัวนี้ออกพิจารณาเรื่องธาตุ เรื่องขันธ์ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ เข้าไปถึงอาการสามสิบสอง ทุกสัดทุกส่วน เดินกรรมฐานอยู่ในร่างกายของเรานี้ขึ้นๆ ลงๆ หลายครั้งหลายหน จนมีความชำนาญ เมื่อพิจารณาร่างกายนี้จนมีความชำนาญแล้ว มันจะรู้อย่างรวดเร็ว มองดูอะไรนี่ทะลุไปหมด

สมมุติว่าเราอยู่ในขั้นพิจารณาจิตเราถึงเนื้อนี่ มองไปที่คนอื่นจะเห็นเนื้อเขาแดงโล่ พิจารณาเข้าไปก็ยิ่งเห็นชัดเจน หรือพิจารณากระดูกแล้วเมื่อดูคนอื่นๆ ก็จะเห็นแต่กระดูกเต็มตัว มองไปเห็นเด่นชัดภายในปัญญาของเรา (มีเรื่องเล่าว่า มีพระภิกษุรูปหนึ่งท่านพิจารณาเรื่องกระดูกได้ชัดเจนมาก อยู่มาวันหนึ่งมีผู้ชายคนหนึ่งเดินมาถามหาคนรักของตนกับพระภิกษุรูปนี้ซึ่งยืนอยู่ทางเดินว่า “ท่านเห็นผู้หญิงคนหนึ่งผ่านมาทางนี้หรือไม่” พระภิกษุว่า “ไม่เห็น...เห็นแต่กระดูกเดินผ่านไป”)

สัตว์ บุคคลที่กิเลสมันรวบรัดเอาไว้ ประดับประดาตกแต่งเอาผิวบางๆมาหลอกลวงว่าเป็นของสวยของงาม นอกจากนั้นก็เอาสิ่งภายนอกมาตกแต่งประดับประดาด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องประดับ ให้ลืมส้วมภายใน ให้ลืมของสกปรกอยู่ในตัวของเราภายใน เพราะสิ่งภายนอกมาอำพราง กิเลสมาพรางตาให้คนตาฝ้าตาฟางอย่างเราหลงเห็นว่าสวยเห็นว่างาม

ในร่างกายของเขาของเราน่ะต้องทำความสะอาดสะอ้าน เสื้อผ้าใส่แล้วต้องเอาไปซัก เพราะตัวศพดิบ(ร่างกาย)นี้เป็นตัวสกปรกมาแปดเปื้อน ไม่อย่างนั้นเหม็นคุ้งไปหมด กิเลสมาพอกพูนหลอกลวงสัตว์โลกว่าเป็นของสวยของงามคือศพดิบเรานี่แหละ แยกออกให้ดีนี่คือปัญญา

เมื่อพิจารณาจิตใจของเรา พิจารณาทางด้านปัญญามันมักจะเพลิน เพลิดเพลินไปมันจะพิจารณาไม่หยุด ไม่ถอย ให้ยับยั้งเข้าสู่สมาธิ เวลาจิตใจอ่อนเพลียมันเร่งความเพียรของมันโดยทางปัญญา คือมันจะหมุนของมันไปเรื่อยๆๆๆ พอได้เหตุได้ผลในการถอดถอนกิเลส จากสิ่งเหล่านี้แล้วมันจะเพลินตัวของมัน ถ้ามันเพลินตัวมันจะรู้สึกมีความเหนื่อยภายในร่างกายของเรา เฉพาะอย่างยิ่งในหัวอกจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าภายในท่ามกลางหัวใจเรานั่นแล ให้ย้อนจิตที่มันกำลังเพลินในการพิจารณานั้นเข้าสู่สมาธิเสีย

“เข้าสู่สมาธินี่คือการพักนะ” งานของเราคืองานพินิจพิจารณา อสุภะ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตาอยู่ในร่างกายนี้ เมื่อมันเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าแล้วให้ย้อนเข้ามาพักในสมาธิ แต่จิตจะเพลินไม่อยากจะเข้าพักในสมาธิ แต่ก่อนถือสมาธิเป็นสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ให้ความสุข ความสบาย แต่เวลาก้าวออกทางปัญญาแล้วสมาธินี่เหมือนหนึ่งว่าจะหมดคุณค่าไป ความจริงมีคุณค่าอยู่ในนั้นเมื่อเวลาเราพิจารณาเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามากๆ แล้ว จิตจะไม่อยากอยู่ในสมาธิ มันเพลินทางด้านปัญญามันจะพุ่งออกทางด้านปัญญา เวลาเราจะให้พักจะต้องหักจิตเข้ามา ถึงแม้มันจะเพลินในการพิจารณาในด้านปัญญาขนาดไหน เวลานั้นมันเหนื่อยเมื่อยล้า ควรพักให้ย้อนเข้ามาสู่สมาธิ ทำสมาธิให้สงบตามเดิม

เมื่อจิตมันเพลินทางด้านปัญญาแล้วส่วนมากจิตมันยังไม่อยากเข้าสมาธิ เมื่อมันไม่เข้าสมาธิจริงๆ เอาคำบริกรรมติดเข้าไปคือให้มันอยู่ในอารมณ์เดียว ถ้าออกจากนี้ปั๊บมันจะพุ่งออกด้านปัญญา เพราะฉะนั้นจึงให้ยับยั้งเข้ามาสู่สมาธิด้วยคำบริกรรม เช่นพุทโธ หรือคำบริกรรมใด ที่เราเคยสนิทติดกับจริตนิสัยของเรา ให้สติจ่ออยู่กับคำบริกรรมอย่างเดียว แล้วจิตก็จะค่อยสงบแน่วลงสู่สมาธิ เมื่อเข้าสู่สมาธิแล้วหยุด การพินิจพิจารณาสิ่งใดทั้งหมดให้พักทั้งหมด เรื่องทางปัญญาที่แยกขันธ์ แยกเขาแยกเราแยกทุกส่วนนั้นเป็นเรื่องของปัญญาจะพักหมด จิตเข้าสู่สมาธิเพื่อพักเอากำลัง

ตอนที่จิตอยู่ในสมาธิและยังไม่ได้ก้าวออกทางด้านปัญญา สมาธินี่แน่นหนา มั่นคงเหมือนหิน แต่พอจิตได้ก้าวออกทางด้านปัญญาแล้ว ปัญญาจะทำให้เพลินในการพิจารณาแก้ไขถอดถอนกิเลส ดีไม่ดีมันจะตำหนิสมาธิว่านอนตายเฉยๆ ไม่ได้แก้กิเลส ปัญญาต่างหากที่แก้กิเลสโดยที่มันจะเพลินทางแก้กิเลสโดยไม่คำนึงถึงการพักผ่อนหย่อนตัวในทางสมาธิเลย เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหักเข้ามาสู่สมาธิ พอเข้าสู่สมาธิแล้วจิตจะแน่ว นั่นหละตอนนี้เหมือนถอนเสี้ยนถอนหนาม สบาย “เบาหมดเลย” นี่จึงเรียกว่าพักจิตพักแบบมีสติกำกับ

กำลังทางด้านปัญญามันรุนแรง พอพักสมาธิได้กำลังวังชาแล้ว ถ้าเราเบามือทางสติกับสมาธิหน่อยนึงมันจะพุ่งเข้าทางปัญญาเลย เวลาพิจารณาทางด้านปัญญาไม่ให้มาสนใจกับสมาธิให้ทำงานทางด้านปัญญาโดยถ่ายเดียว พิาจรณาให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อเหน็ดเหนื่อยทางด้านปัญญาแล้วให้ถอนจิตเข้ามาสู่สมาธิเพื่อพักเครื่องพักจิต อย่าไปสนใจกับทางปัญญา เวลาเข้าสู่สมาธิให้ทำหน้าที่พักโดยตรง บังคับเอาไว้ให้เข้าพักนี่เรียกว่า อปัณณกปฏิทา

เวลาจิตทำงาน (ออกสู่ปัญญา) ให้ทำจริงๆ แต่เวลาจิตเมื่อยล้าคือปัญญาพิจารณาเต็มสัดเต็มส่วนแล้ว ให้ย้อนเข้ามาพักผ่อนจะเป็นสมาธิก็ได้ จะพักโดยนอนหลับก็ได้ ในเวลาเมื่อจิตสงบแล้วนอนหลับสบาย แต่เวลาได้เพลินทางปัญญามันไม่หลับนะตลอดรุ่งมันก็ไม่หลับ มันจะติดเพลินทางปัญญาจึงต้องหักจิตมาสู่สมาธิ เมื่อจิตเข้าสู่สมาธิหักลงไปเข้าพักใจนอนหลับก็ได้

ปัญญานี้เป็นตัวฟาดฟันกามราคะที่มันมีหนาแน่นในใจ ซึ่งไม่มีอะไรไปแตะต้องมันได้ จึงต้องเอาปัญญาฟาดเข้าไปสู่ ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้ พุง ให้แตกกระจัดกระจายออกไปเป็นชิ้นนั้นชิ้นนี้ มีแต่ความสกปรกโสมมเต็มเนื้อเต็มตัว ความรักความชอบว่าสวยว่างามมันก็จางไป สุดท้ายความสวยงามไม่มีในกายของคนเรา

ป่าช้าผีดิบ (ร่างกาย) อยู่ที่นี่หมด นี่ปัญญาก็สอดเข้าไปรู้ ตัณหาราคะจะเบาลง ทีนี้เวลาพิจารณาอสุภะมากเท่าไหร่ราคะตัณหาเบาแทบไม่ปรากฏ บางทีไม่ปรากฏเลย ต้องได้ทดลองดูหลายแบบหลายฉบับ เช่นเราเดินเข้าไปในกลุ่มหญิงสาวๆ สวยๆ นะ ทางด้านสติปัญญาของเรามันจะพิจารณาผ่านอสุภะ หญิงสวยๆ งามๆ จะไม่มีคำว่าสวยว่างาม อสุภะนี่จะตีแตกกระจัดกระจายผ่านเข้าไปในคนๆ นั้น จะไม่มีกำหนัด นี่คือสติปัญญาพิจารณาทางอสุภะซึ่งแก่กล้าสามารถแล้ว อสุภะมันเตะทีเดียวขาดสะบั้นเลย มันเลยหาความสวยความงามจากผู้หญิงสาวสวยไม่ได้ ราคะตัณหาเกิดไม่ได้




 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2551 22:38:52 น.
Counter : 898 Pageviews.  

คติธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

คติธรรมคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต
คัดจากหนังสือ ขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ


* ผู้สนใจศึกษาปฏิบัติธรรม คือผู้สนใจหาความรู้ความฉลาดเพื่อคุณงามความดีทั้งหลาย ที่โลกเขาปรารถนากันเพราะคนเราจะอยู่และไปโดยไม่มีเครื่องป้องกันตัวย่อมไม่ปลอดภัย ต่ออันตรายทั้งภายนอกภายใน เครื่องป้องกันตัวคือหลักธรรมมีสติปัญญาเป็นอาวุธสำคัญ จะเป็นเครื่องมั่นคงไม่สะทกสะท้านมีสติปัญญาแฝงอยู่กับตัวทุกอิริยาบท
จะคิด-พูด-ทำอะไรไม่มีการยกเว้น มีสติปัญญาสอดแทรกอยู่ด้วยทั้งภายในและภายนอก มีความเข้มแข็งอดทน มีความเพียรที่จะประกอบคุณงามความดี คนอ่อนแอโง่เง่าเต่าตุ่นวุ่นวายอยู่กับอารมณ์เครื่องผูกพันด้วยความนอนใจ และเกียจคร้านในกิจการที่จะยกตัวให้พ้นภัย
* การตำหนิติเตียนผู้อื่น ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์ จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง

* ผู้เห็นคุณค่าของตัว จึงเห็นคุณค่าของผู้อื่น ว่ามีความรู้สึกเช่นเดียวกัน ไม่เบียดเบียนทำลายกัน ผู้มีศีลสัตย์เมื่อทำลายขันธ์ไปในสุคติในโลกสวรรค์ ไม่ตกต่ำเพราะอำนาจศีลคุ้มครองรักษาและสนับสนุน จึงควรอย่างยิ่งที่จะพากันรักษาให้บริบูรณ์ ธรรมก็สั่งสอนแล้วควรจดจำให้ดี ปฏิบัติให้มั่นคง จะเป็นผู้ทรงคุณสมบัติทุกอย่างแน่นอน
* เมื่อเกิดมาอาภัพชาติ แล้วอย่าให้ใจอาภัพอีก
ผู้เกิดมาชาตินี้อาภัพแล้ว อย่าให้ใจอาภัพ คิดแต่ผลิตโทษทำบาปอกุศลเผาผลาญตนให้ได้ทุกข์ เป็นบาปกรรมอีกเลย

* คนชั่ว ทำชั่วได้ง่าย และติดใจไม่ยอมลดละแก้ไขให้ดี
คนดี ทำดีได้ง่าย และติดใจกลายเป็นคนรักธรรมตลอดไป

* เราต้องการของดี คนดี ก็จำต้องฝึก ฝึกจนดี จะพ้นการฝึกไปไม่ได้ งานอะไรก็ต้องฝึกทั้งนั้น ฝึกงาน ฝึกคน ฝึกสัตว์ ฝึกตน ฝึกใจ นอกจากตายแล้วจึงหมดการฝึก คำว่า ดี จะเป็นสมบัติของผู้ฝึกดีแล้วแน่นอน
* ศีล นั้นอยู่ที่ไหนมีตัวตนเป็นอย่างไร ใครเป็นผู้รักษาแล้วก็รู้ว่า ผู้นั้นเป็นตัวศีล ศีลก็อยู่ที่ตนนี้ เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาคือจิตใจ คนเราถ้าจิตใจไม่มีก็ไม่เรียกว่าคน มีแต่กายจะทำอะไรได้ ร่างกายกับจิตต้องอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจิตไม่เป็นศีล กายก็ประพฤติไปต่างๆ มีโทษต่างๆ ผู้มีศีลแล้วไม่มีโทษ จะเป็นปกติแนบเนียนไม่หวั่นไหว ไม่มีเรื่องหลงหา หลงขอ คนที่หา คนที่ขอต้องเป็นทุกข์ ขอเท่าไหร่ยิ่งไม่มี ยิ่งอดอยากยากเข็ญ
กายกับจิตเราได้มาแล้ว มีอยู่แล้ว ได้มาจากบิดามารดาพร้อมบริบูรณ์ จะทำให้เป็นศีลก็รีบทำ ศีลมีอยู่ที่เราแล้ว รักษาได้ไม่มีกาล ได้ผลไม่มีกาล
ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญ ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์ไม่อด ไม่ยาก ไม่จน ก็เพราะรักษาศีลให้สมบูรณ์ จิตดวงเดียวเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา
ผู้มีศีลแท้เป็นผู้หมดเวรหมดภัย
* คุณธรรม ยังมีผู้เข้าถึงให้เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องเลื่องระบือ มีความฉลาด กว้างขวางในอุบายวิธี ไม่มีคับแค้นจนมุม
* การปฏิบัติธรรม เป็นการทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ทรงตรัสสอนเรื่องกาย วาจา จิต มิได้สอนเรื่องอื่น ทรงสอนให้ปฎิบัติฝึกหัดจิตใจ ให้เอาจิตพิจารณากาย เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หัดสติให้มากในการค้นคว้า เรียกว่า ธัมมวิจยะ พิจารณาให้พอทีเดียว เมื่อพิจารณาพอจนเป็นสติสัมโพชฌงค์ จิตจึงจะเป็นสมาธิรวมลงเอง
การประกอบความพากเพียรทำจิตให้ยิ่ง เป็นการปฏิบัติตามคำสอนของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า

ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอน
ความยิ่งใหญ่ คือความไม่ยั่งยืน
ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู
ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยคุณธรรมความดีเท่านั้น


* วาสนา นั้นเป็นไปตามอัธยาศัย
คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล วาสนาก็อาจเป็นคนพาลได้ บางคนวาสนายังอ่อน เมื่อคบบัณฑิต วาสนาก็เลื่อนขึ้นเป็นบัณฑิต
ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น
ผู้มีปัญญา ไม่ควรให้สิ่งที่ล่วงแล้วตามมา ไม่ควรหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง
ผู้มีปัญญา ได้เห็นในธรรมซึ่งเป็นปัจจุบัน ควรเจริญความเห็นนั้นไว้เนืองๆ ควรรีบทำเสีย
ผู้มีปัญญา ซึ่งมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ มีความเพียรแยกกิเลสให้หมดไป จะไม่เกียจคร้าน ขยันหมั่นเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน
* จิต เป็นสมบัติสำคัญมากในตัวเราที่ควรได้รับการเหลียวแล ด้วยวิธีเก็บรักษาให้ดี ควรสนใจรับผิดชอบต่อจิต อันเป็นสมบัติที่มีค่ายิ่งของตน วิธีที่ควรกับจิตโดยเฉพาะก็คือภาวนา ฝึกหัดภาวนาในโอกาสอันควร ตรวจดูจิตว่า มีอะไรบกพร่องและเสียไป จะได้ซ่อมสุขภาพจิต
นั่งพินิจพิจารณาดูสังขารภายใน คือ ความคิดปรุงแต่งของจิตว่า คิดอะไรบ้าง มีสาระประโยชน์ไหม คิดแส่หาเรื่อง หาโทษ ขนทุกข์มาเผาตนอยู่นั้น พอรู้ผิด-ถูกของตัวบ้างไหม
พิจารณาสังขารภายนอกว่า มีความเจริญขึ้นหรือเจริญลง สังขารมีอะไรใหม่หรือมีความเก่าแก่ชราหลุดไป พยายามเตรียมตัวเตรียมใจเสียแต่เวลาที่พอจะทำได้ ตายแล้วจะเสียการให้ท่องในใจอยู่เสมอว่า เรามีความแก่-เจ็บ-ตาย อยู่ประจำตัวทั่วหน้ากัน
* ทาน-ศีล- ภาวนา ธรรมทั้ง 3 นี้ เป็นรากแก้วของความเป็นมนุษย์ และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา ผู้เกิดมาเป็นมนุษย์ ต้องเป็นผู้เคยสั่งสมธรรมเหล่านี้มาอยู่ในนิสัย ของผู้จะมาสวมร่างเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ด้วยมนุษย์อย่างแท้จริง

-------------------------------------------------------------------

คนหิว อยู่เป็นปกติสุขไม่ได้
จึงวิ่งหาโน่นหานี่
เจออะไรก็คว้าติดมือมาโดยไม่สำนึกว่าผิดหรือถูก
ครั้นแล้วสิ่งที่คว้ามาก็เผาตัวเองให้ร้อนยิ่งกว่าไฟ

คนที่หลงจึงต้องแสวงหา
ถ้าไม่หลงก็ไม่ต้องหา
จะหาไปให้ลำบากทำไม
อะไรๆ ก็มีอยู่กับตัวเองอย่างสมบูรณ์อยู่แล้ว
จะตื่นเงา ตะครุบเงาไปทำไม
เพราะรู้แล้วว่า เงาไม่ใช่ตัวจริง
ตัวจริง คือ สัจจะทั้งสี่ที่มีอยู่ในกายในใจอย่างสมบูรณ์แล้ว

-------------------------------------------------------------------

อานิสงส์ของศีล 5 เมื่อรักษาได้
1. ทำให้อายุยืน ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
2. ทรัพย์สมบัติที่อยู่ในความปกครอง มีความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายมาราวี เบียดเบียนทำลาย
3. ระหว่าง ลูก หลาน สามี ภริยา อยู่ด้วยกันเป็นผาสุก ไม่มีผู้คอยล่วงล้ำ กล่ำกราย ต่างครองกันอยู่ด้วยความผาสุข
4. พูดอะไรมีผู้เคารพเชื่อถือ คำพูดมีเสน่ห์เป็นที่จับใจไพเราะ ด้วยสัตย์ ด้วยศีล
5. เป็นผู้มีสติปัญญาดีและเฉลียวฉลาด ไม่หลงหน้าหลงหลัง จับโน่นชนนี่ เหมือนคนบ้าคนบอหาสติไม่ได้ ผู้มีศีล เป็นผู้ปลูกและส่งเสริมสุขบนหัวใจคนและสัตว์ทั่วโลก ให้มีแต่ความอบอุ่นใจ ไม่เป็นที่ระแวงสงสัย ผู้ไม่มีศีลเป็นผู้ทำลายหัวใจคนและสัตว์ ให้ได้รับความทุกข์เดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

-------------------------------------------------------------------

เราเกิดมาเป็นมนุษย์
มีความสูงศักดิ์มาก
อย่านำเรื่องของสัตว์มาประพฤติ
มนุษย์เราจะต่ำลงกว่าสัตว์
และจะเลวกว่าสัตว์อีกมากมาย
อย่าพากันทำ
ให้พากันละบาป บำเพ็ญบุญ
ทำแต่คุณความดี
อย่าให้เสียชีวิตเปล่าที่มีวาสนาเกิดมาเป็นมนุษย์

-------------------------------------------------------------------

กรรม จำแนกสัตว์ให้ทราม และประณีตต่างกัน

ผู้สงสัยกรรม หรือไม่เชื่อกรรมว่ามีผล
คือ ลืมตนจนกลายเป็นผู้มืดบอดอย่างช่วยไม่ได้
แม้เขาจะเกิดและได้รับการเลี้ยงดู
จากพ่อ-แม่มาเป็นอย่างดีเหมือนโลกทั้งหลายก็ตาม
เขาก็มองไม่เห็นคุณของพ่อ-แม่
ว่าได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูตนมาอย่างไรบ้าง
แต่เขาจะมองเห็นเฉพาะร่างกายเขา
ที่เป็นคนหนึ่งกำลังรกโลกอยู่โดยเจ้าตัวไม่รู้เท่านั้น

-------------------------------------------------------------------

คนฉลาดปกครองตนให้มีความสุขและปลอดภัย
ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาทรัพย์มากมาย
หรือเที่ยวกอบโกยเงินเป็นล้านๆ มาเป็นเครื่องบำรุง
จึงมีความสุข
ผู้มีสมบัติพอประมาณในทางที่ชอบ
มีความสุขมากกว่าผู้ได้มาในทางมิชอบเสียอีก
เพราะนั่นไม่ใช่สมบัติของตนอย่างแท้จริง
ทั้งๆ ที่อยู่ในกรรมสิทธิ์
แต่กฏความจริง คือกรรมสาปแช่งไม่เห็นด้วย
และให้ผลเป็นทุกข์ไม่สิ้นสุด
นักปราชญ์ ท่านจึงกลัวกันหนักหนา
แต่คนโง่อย่างพวกเรา
ผู้ชอบสุกเอาเผากิน และชอบเห็นแก่ตัว
ไม่มีวันอิ่มพอ ไม่ประสบผล คือ ความสุขดังใจหมาย

-------------------------------------------------------------------

อะไรๆ ที่เป็นสมบัติของโลก
มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา
ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล

สมบัติในโลกเราแสวงหามา
หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา
เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริงๆ

-------------------------------------------------------------------

หาคนดีมีศีลธรรมในใจ
หายากยิ่งกว่าเพรชนิลจินดา

ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว
ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ
เพราะเงินเป็นล้านๆ
ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจ
เหมือนได้คนดีทำประโยชน์

-------------------------------------------------------------------

ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ
ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว
ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์
ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ
ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว
จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลก
เศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด
ความทุกข์ทรมาน ความอดทน
ทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ
ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ
ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง
ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ
ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลายทันที




 

Create Date : 29 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2551 22:26:00 น.
Counter : 344 Pageviews.  


lui2520
Location :
นครนายก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]










Google




Friends' blogs
[Add lui2520's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.