Group Blog
 
All blogs
 

มันติคอร์

มันติคอร์ (Manticore) เป็นสัตว์ที่เกิดจากจากการผสมพันธุ์ระหว่าง คนกับสัตว์ มีฟันอันแหลมคม นิสัยเจ้าเล่ห์ มีหน้าเป็นคน ตัวเป็นสิงโต ชื่อของมัน มาจากภาษาเปอร์เซีย คือ martikhora แปลว่า ผู้กินคน คนเอเชียยุคโบราณต่างก็รู้จัก มันติคอร์ ในศตวรรษที่สอง มีนักประวัติศาสตร์โรมันบรรยายถึง ความน่ากลัวของมันติคอร์จากเรื่องบอกเล่าที่มีมาราว 700 ปี ก่อนหน้านั้นว่าในอินเดียมีสัตว์ป่าชนิดหนึ่งที่มีอำนาจ น่าเกรงขาม รูปร่างใหญ่ราวกับสิงโตตัวที่ใหญ่ที่สุด มีผิวสีแดง ขนหยาบคล้ายสุนัข ในภาษาอินเดียเรียกมันว่า มาร์ติคอรัส

อย่างไรก็ตาม ใบหน้าของมันไม่ใช่สัตว์ แต่กลับเป็นใบหน้าของมนุษย์ มีฟันบนสามแถว และฟันล่างอีกสามแถว เป็นฟันที่แหลมคมและใหญ่กว่าเขี้ยวของสุนัขล่าเนื้อ ใบหูของมันก็คล้ายกับของมนุษย์ เว้นแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่าและมีขนหยาบ ตาของมันมีสีน้ำเงินเทาคล้ายนัยน์ตามนุษย์ แต่เท้าและกรงเล็บของมันเหมือนของสิงโต ที่ปลายหางของมันคือหางของแมงป่อง ที่อาจจะมีความยาวเกินกว่า 18 นิ้ว ที่ปลายสุดของหาง มีเหล็กไนที่สามารถต่อยคนถึงตายได้ทันที มันสามารถปล่อยเหล็กไนที่มีลักษณะเหมือนกับลูกศร และสามารถยิงไปได้ไกล เมื่อปล่อยเหล็กไนไปแล้วมันก็จะม้วนหางกลับ หากมันจะยิงเหล็กไนไปทิศตรงข้าม มันจะยืดหางออไปจนสุดแทน สัตว์ที่ถูกเหล็กไนของมันติคอร์จะตายทันที ช้างเป็นสัตว์ชนิดเดียว ที่มันติคอร์จะไม่ทำร้าย





 

Create Date : 24 ธันวาคม 2551    
Last Update : 24 ธันวาคม 2551 0:48:41 น.
Counter : 1133 Pageviews.  

เอลฟ์ในตำนานอังกฤษ

คำว่า เอลฟ์ (elf) เป็นคำภาษาอังกฤษใหม่ ซึ่งนำมาจากภาษาอังกฤษโบราณว่า ælf (พหูพจน์ ælfe) คำนี้มาสู่บริเตนได้โดยผ่านชาวแองโกล-แซกซอน[1] ยังมีคำที่หมายถึง นางพรายน้ำ (nymph) ในตำนานกรีกและโรมัน ที่แปลมาโดยปราชญ์ชาวแองโกลแซกซอนว่า ælf และเพี้ยนเสียงไปเป็นคำต่างๆ[1]

มีเหตุผลเพียงพอที่จะสันนิษฐานได้ว่า เอลฟ์ของแองโกลแซกซอน น่าจะคล้ายคลึงกับเอลฟ์ในตำนานนอร์สโบราณ กล่าวคือ มีลักษณะเหมือนมนุษย์ รูปร่างสูงใหญ่เหมือนอย่างมนุษย์ มักมีผู้นำเป็นหญิง สามารถให้ความช่วยเหลือหรือทำอันตรายแก่มนุษย์ที่ประสบกับพวกเขาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง æsir กับ álfar ที่พบในจารึกเอ็ดดา เป็นหลักฐานที่สะท้อนถึงงานเขียนเรื่อง Wið færstice ในตำนานอังกฤษโบราณ รวมถึงเป็นที่มาของคำว่า os และ ælf ในชื่อภาษาแองโกลแซกซอนด้วย (เช่น Oswald หรือ Ælfric) [1]

ในแง่ของความงดงามของเอลฟ์ในตำนานนอร์ส มีคำในภาษาอังกฤษโบราณบางคำ เช่น ælfsciene ("งามดั่งเอลฟ์") สำหรับใช้ในการบรรยายความงามอันยั่วยวนของสตรีบางคนในพระคริสตธรรมคัมภีร์ เช่นในบทกวีอังกฤษโบราณเรื่อง Judith และ Genesis A เป็นต้น[1] ในชุมชนหลายแห่งตลอดทั่วอังกฤษมักมีความเชื่อต่อพวกเอลฟ์ว่าเป็นพวกที่สวยงามและชอบช่วยเหลือคน แต่ในส่วนของแองโกลแซกซอนแล้ว พวกเอลฟ์เป็นเหมือนกับปีศาจ ตัวอย่างดังเช่นที่ปรากฏในบทกวีเรื่อง เบวูล์ฟ บรรทัดที่ 112 ในอีกทางหนึ่ง oaf ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาจาก elf เชื่อว่ามีความหมายเดิมสื่อถึงความลุ่มหลงงมงายอันเกิดจากเวทมนตร์มายาของพวกเอลฟ์

เรื่องของเอลฟ์ปรากฏอยู่มากมายในบทลำนำดั้งเดิมของอังกฤษและสก็อตแลนด์ รวมถึงนิทานพื้นบ้านทั้งหลาย โดยมากเกี่ยวกับเรื่องการเดินทางไปยัง เอลป์เฮม (Elphame หรือ Elfland แดนเอลฟ์ คำเดียวกันกับ อัล์ฟเฮม (Álfheim) ในตำนานนอร์ส) ดินแดนลี้ลับที่น่าหวาดหวั่น บางครั้งภาพวาดของเอลฟ์จะเป็นโครงร่างแสงสว่าง เช่นราชินีแห่งเอลป์เฮมในบทลำนำ Thomas the Rhymer กระนั้นก็มีตัวอย่างมากมายที่เอลฟ์เป็นตัวละครอันแสนชั่วร้าย มักเป็นขโมยหรือฆาตกร เช่นใน Tale of Childe Rowland หรือลำนำ Lady Isabel and the Elf-Knight ซึ่งอัศวินเอลฟ์ลักพาตัวอิซาเบลไปเพื่อสังหารเสีย เอลฟ์ในบทลำนำเหล่านี้มักเป็นเพศชาย มีเอลฟ์หญิงแต่เพียงคนเดียวคือราชินีแห่งแดนเอลฟ์ที่ปรากฏในลำนำ Thomas the Rhymer เท่านั้น แต่ในบรรดาตำนานทั้งหมดนี้ไม่มีเรื่องไหนเลยที่เอลฟ์เป็นภูตพรายร่างเล็กจิ๋ว

นิทานพื้นบ้านของอังกฤษในช่วงต้นยุคใหม่นี้เองที่เริ่มวาดภาพเอลฟ์เป็นผองชนตัวเล็กๆ ผู้ว่องไวและซุกซน แม้จะไม่ใช่ปีศาจแต่ก็มักสร้างความรำคาญแก่มนุษย์หรือขัดขวางกิจธุระให้เสียหาย บางครั้งเล่ากันว่าพวกเอลฟ์สามารถหายตัวได้ ตำนานในลักษณะนี้ เอลฟ์มีความคล้ายคลึงกับพวกภูตมากขึ้น

ในเวลาต่อมา คำว่า เอลฟ์ และ ภูต เริ่มนำมาใช้แทนความหมายของจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติในหลายๆ รูปแบบ ดังเช่น พัค ฮอบกอบลิน โรบิน กู้ดเฟลโลว์ และอื่นๆ คำเหล่านี้และคำใกล้เคียงในหมู่ภาษายูโรเปียนอื่นๆ ก็ไม่ได้สื่อความหมายถึงชนเผ่าในตำนานพื้นบ้านอีกต่อไป




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2551    
Last Update : 24 ธันวาคม 2551 0:39:43 น.
Counter : 697 Pageviews.  

เต่าดำ

เต่าดำ 玄武 (เสวียนอู่ ในภาษาจีน เกนบุ ในภาษาญี่ปุ่น หรือ ฮยุน มู ในภาษาเกาหลี) เทพอสูรแห่งทิศเหนือ ตัวแทนฤดูหนาว เป็นอสูรธาตุน้ำ (ในบางครั้งรวมธาตุดินเข้าไปด้วย) เทพอสูรตัวนี้ถูกสื่อออกมาในรูปของเต่าสีดำที่ถูกพันรอบด้วยงู เป็นสัญลักษณ์แห่งลัทธิเต๋า ความศรัทธา อายุยืนยาว ความสุข มีความเชื่อว่าถ้าเทพอสูรเต่าอายุถึง หนึ่งพันปี จะสามารถพูดภาษาคนและทำนายเหตุการณ์อนาคตได้ กล่าวกันว่ากระดองของเต่าสื่อถึงหลังคาแห่งจักรวาล เทพอสูรตัวนี้มีสัญลักษณ์เป็น เต่า และมีสีดำ รวมถึงประจำทิศเหนือซึ่งถือว่าเป็นทิศที่ไม่ค่อยมงคลสำหรับชาวจีน ก็เพราะ คำว่าเต่าในภาษาจีน มีความหมายในแง่ลบ





 

Create Date : 24 ธันวาคม 2551    
Last Update : 24 ธันวาคม 2551 0:32:33 น.
Counter : 464 Pageviews.  

พยัคฆ์ขาว

พยัคฆ์ขาว 白虎 (ไป๋หู่ ในภาษาจีน เบียคโกะ ในภาษาญี่ปุ่น หรือ แบค โฮ ในภาษาเกาหลี) เทพอสูรแห่งทิศตะวันตก ตัวแทนแห่งฤดูใบไม้ร่วง เป็นอสูรธาตุโลหะ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับหลุมศพตามตำราจีน จากเหตุการณ์พิธีศพ ของจักรพรรดิจีน สัญลักษณ์ของธาตุโลหะถูกเปรียบเทียบให้เป็นตัวแทนของ เทพอสูรพยัคฆ์กำลังก้มเคารพศพของจักรพรรดิ พยัคฆ์ขาวเป็นเทพอสูรแห่งการปกป้อง การคุ้มครอง เป็นราชาแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง รวมถึงเป็นราชันย์แห่งขุนเขาด้วย เครื่องประดับหยกที่ทำเป็นรูปเสือก็ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของการรบและการทหารด้วย นอกจากเสือจะเป็นเทพอสูรที่คอยขับไล่เหล่าศัตรูของจักรพรรดิจีน แล้วยังคอยขับไล่ภูตผีปีศาจไม่ให้เข้ามาทำลายบ้านเมืองอีกด้วย




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2551    
Last Update : 24 ธันวาคม 2551 0:30:30 น.
Counter : 785 Pageviews.  

หงษ์แดง

หงส์แดง 朱雀 (จูเชว่ ใน ภาษาจีน ซูซาคุ ในภาษาญี่ปุ่น หรือ จู จัก ในภาษาเกาหลี) เทพอสูรแห่งทิศใต้ ตัวแทนแห่งฤดูร้อน สีประจำคือสีแดง เป็นอสูรธาตุไฟ ถูกจับคู่กับมังกรฟ้า ในฐานะความสมดุลตามธรรมชาติความสุขในการสมรสเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ แสดงถึงความรู้ หงส์แดงถูกสื่อผ่านขนสีเพลิงที่ส่องสว่าง พร้อมกับเสียงขับขานอันน่าหลงใหล ซึ่งจะปรากฏตัวในยามมงคลเท่านั้น ซึ่งในพระราชวังของญี่ปุ่นมีรั้วที่สร้างสิริมงคลอย่าง ซูซาคุมง หรือ รั้วหงส์แดง ด้วย





 

Create Date : 24 ธันวาคม 2551    
Last Update : 24 ธันวาคม 2551 0:28:19 น.
Counter : 1454 Pageviews.  

1  2  

lui2520
Location :
นครนายก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]










Google




Friends' blogs
[Add lui2520's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.