Group Blog
 
All Blogs
 

คอลีฟะห์ อบูบักร์

คอลีฟะห์ ท่านที่ 1 อบูบักร์ รอฎิยัลลอฮุอันฮู

........ท่านอบูบักร์เป็น คอลีฟะฮ์ (กาหลิบ) ระหว่างปี ฮ.ศ. 11-13 หรือ ค.ศ. 632-634 มีชื่อเต็มว่า อับดุลลอฮ์ บุตร อุสมาน ( อบูกุฮาฟะฮ์ ) บุตร อามิร บุตร อัมร์ บุตร กะอับ บุตร สะอัด บุตร ตัยม์ บุตร มุรเราะฮ์ มารดาของท่านมีชื่อว่า ซัลมา ท่านเป็นที่รู้จักในนาม อบูบักร์ อัศศิดดีก มีอายุอ่อนกว่าท่านนบี ( ศ็อลฯ ) สองปีเศษ

....อบูบักร เกิดที่มักกะฮ์ ปี ค . ศ .573 เป็นชาวอาหรับตระกูล บะนูตัยม์ เผ่ากุร็อยส์ ท่านเกิดในครอบครัวที่มีเกียรติเป็นที่นับหน้าถือตาในมักกะฮ์ ท่านเป็นคนที่มีจิตใจบริสุทธ์และจริงใจ ท่านศาสดามุฮัมมัดได้ให้สมญานามท่านว่า " อัซซิดดีก " ( ผู้ที่มีความเชื่อมั่นอย่างบริสุทธิ์ใจในการศรัทธา ) สาเหตุที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อล) ได้ให้สมญานาม " อัซซิดดีก " เพราะอบูบักรเชื่อในคำพูดของท่านศาสดามุฮัมมัดโดยไม่มีความสงสัยใดๆ

....ท่านอบูบักร์ เป็นคนสุภาพ เป็นคนซื่อสัตย์ และมีสัจจะ อบูบักร์ มีบุคลิกภาพคล้ายกับท่านศาสดามุฮัมมัด เนื่องจากว่าท่านนั้นเป็นสหายคนสนิทของท่านศาสดาตั้งแต่เยาว์วัย อบูบักร์ เป็นคนใจบุญ ท่านชอบช่วยเหลือคนจน ครั้งหนึ่ง ท่านอบูบักร์ได้นำเอาทรัพย์สินทั้งหมดที่มีอยู่มากมายให้กับท่านศาสดาเพื่อใช้ในสงครามตะบูก ท่านศาสดาถามว่า " อบูบักร์ ท่านเหลือสิ่งใดไว้กับครอบครัวของท่านบ้าง " อบูบักร์ กล่าวว่า " ฉันเหลืออัลลอฮ์ และรอซูลของพระองค์ไว้กับพวกเขา "

ท่านอบูบักร์ เป็นชายคนแรกที่เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เมื่อท่านศาสดาเผยแพร่อิสลามแก่อบูบักร์ เขาตอบรับอิสลามทันที เมื่อท่านศรัทธาแล้วท่านก็เชิญชวนบุคคลเป็นจำนวนมากเข้ารับอิสลาม เช่น อุษมาน , สุเบ็ร , ฏ้อลฮะฮ์ , อับดุรเราะห์มาน , สะอัด , บิล้าล และผู้ศรัทธาอีกหลายคน ท่านอบูบักร์ มีความผูกพันกับท่านศาสดาอย่างใกล้ชิดท่านนั้นเป็นสหายคนสนิทของท่านศาสดาตั้งแต่เยาว์วัยและยังเป็นสหายของท่านศาสดาในขณะที่อพยพจากมักกะฮ์ไปมะดีนะฮ์

ท่านศาสดากล่าวว่า " ในบรรดาสหายที่ดีของข้าพเจ้านั้น อบูบักร์ เป็นผู้ประเสริฐสุด " อีกทั้งท่านยังเป็นพ่อตาของท่านศาสดา เนื่องจากลูกสาวของท่าน คือ ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เป็นภรรยาของศาสดา ท่านได้เข้าร่วมทำสงครามกับท่านศาสดาทุกครั้ง ท่านได้ซื้อทาสและปล่อยทาสให้เป็นอิสระเป็นจำนวนมาก ขณะที่ท่านศาสดาป่วย อบูบักร์ได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำละหมาด ( อิหม่าม ) ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นถึงความเหมาะสมในการเป็นผู้นำของท่าน อบูบักร์ เป็นผู้ใกล้ชิดต่อท่านศาสดา ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านศาสดาตั้งแต่เด็กจนกระทั้งท่านศาสดาเสียชีวิต ด้วยเหตุนี้ อบูบักร์จึงเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้ทางด้านซุนนะฮ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) อย่างแท้จริง ชีวิตทั้งชีวิต ของท่านได้อุทิศให้กับการเสียสละและการต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์

ท่านอบูบักร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเคาะลีฟะฮ์ จากการประชุมกันระหว่างชาวอันศอรฺ(ชาวมะดีนะฮ์) กับฝ่ายมุฮาญิร (ชาวมักกะฮฺ) บรรดาเศาะหาบะห์ทั้งชาวอันศอรและมุฮาญิรได้มีการประชุมหารือกันเพื่อคัดเลือกผู้นำคนใหม่ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนหรือเคาะลีฟะฮ์ของท่านนบี ที่ประชุมมีมติคัดเลือกให้อบูบักรเป็นเคาะลีฟะฮ์ของท่านนบี โดยเหตุผลความอาวุโส ความประเสริฐและความใกล้ชิดกับท่านนบี ชาวมุสลิมต่างก็ให้การสัตยาบันต่อท่านอบูบักร์ในฐานะเป็นผู้นำคนใหม่และเป็นเคาะลีฟะฮ์คนแรกของท่านนบี

ท่านอบู บักร์ขึ้นมาทำหน้าที่เคาะลีฟะฮ์ในขณะที่ประวัติศาสตร์อิสลามกำลังอยู่ในระยะหน้าสิ่วหน้าขวาน จะต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง เช่น การเกิดขึ้นของศาสดาเถื่อน การถอนตัวออกจากอิสลาม ตลอดจนการปฏิเสธไม่ยอมจ่ายซะกาตอย่างขันแข็งของชนเผ่าต่างๆ ทั่วภาคพื้นอาราเบีย ซึ่งเป็นการท้าทายรัฐอิสลามแห่งนครมะดีนะฮ์เป็นอย่างมาก เหตุการณ์ดังกล่าวนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่า “ เหตุการณ์อิรติดาด ” ท่านอบู บักร์ใช้มาตรการทางทหารอย่างเด็ดขาดในการแก้ปัญหาเหตุการณ์อิรติดาด บางเผ่าก็ยอมจำนนต่ออิสลามแต่โดยดี แต่บางเผ่าก็ยังดื้อดึงจนต้องทำสงครามกับพวกเขา

....ในช่วงสองปีในการทำหน้าที่เป็นเคาะลีฟะฮ์ ท่านอบู บักรประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการบดขยี้อำนาจของศาสดาปลอม ปราบปรามกบฏในประเทศอย่างสิ้นซากและขับไล่ผู้รุกรานจากต่างประเทศ ท่านเป็นผู้สร้างรากฐานอันมั่นคงให้แก่รัฐอิสลามและผนึกพลังอิสลามเพื่อรองรับการเผชิญหน้ากับมหาอำนาจไบแซนทีนและมหาอำนาจเปอร์เซียต่อไป

ท่านอบูบักร์เสียชีวิตในปีอิจญเราะฮฺที่ 13 ขณะที่ท่านอายุ 63 ปี ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเคาะลีฟะฮ์ ในระยะเวลา 2 ปี กับ 10 คืน ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตท่านได้แต่งตั้งแต่งตั้งท่านอุมัร อิบนุ อัลค็อฏฏอบเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ต่อไป


ผลงานของท่านคอลีฟะห์

อบูบักร์มีคุณสมบัติแห่งความเป็นผู้นำที่แท้จริง ท่านเป็นผู้นำที่ดี มีคุณธรรมและถือสัจธรรมเป็นที่ตั้ง ท่านมีความกระตือรือร้น มีความขยันหมั่นเพียร มีความขันติธรรมเป็นเลิศ และเป็นคนที่มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ท่านยังเป็นผู้มองการณ์ไกลและสามารถเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นช่วงระยะเวลาอันสั้นเพียงสองปีที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์

.....ท่านประสบความสำเร็จในการฟื้นฟูอิสลามให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ท่านได้สร้างอาณาจักรอิสลามให้ยิ่งใหญ่มากขึ้น มะดีนะฮ์กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรอิสลามที่มีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของมุสลิม ท่านผลงานมกมายได้แก่

1. สามารถปราบปรามกบฏผู้ทรยศต่อรัฐอิสลามและปราบปรามศาสดาปลอมที่เกิดขึ้นหลังจากท่านศาสดามุฮัมมัดได้สวรรคต

2. ท่านสามารถสร้างสรรค์ความสงบสันติและความเป็นพี่น้องภายใต้เอกภาพแห่งรัฐอิสลามให้บังเกิดขึ้น

3. ท่านได้สั่งให้มีการรวบรวมและบันทึกโองการต่างๆของอัลกุรอานที่กระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆให้มาอยู่ในที่เดียวกัน โดยทำเป็นมุสฮัฟ ( ทำกุรอานเป็นเล่ม ) ได้อย่างสมบูรณ์

4. ท่านเป็นผู้นำในการประกอบพิธีฮัจญ์ ใน ฮ.ศ ที่ 9 ซึ่งเป็นฮัจญ์ครั้งแรก เรียกฮัจญ์ครั้งนี้ว่า ฮัจญ์ อักบัร

5.ท่านเป็นผู้นำละหมาดที่มัสยิด อันนะบะวีย์ แทนท่านศาสดามุฮัมมัด

6.ท่านได้ส่งกองทหารของอุซามะฮ์ไปรบกับพวกโรมันที่ซีเรีย ภายใน 3 สัปดาห์ กองทหารของอุซามะฮ์ก็กลับมาพร้อมกับชัยชนะที่มีต่อชาวโรมัน

-----------------------------------------------------------
ที่มา - //www.fathoni.com/




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2549 14:18:28 น.
Counter : 4246 Pageviews.  

เศาะลาฮุดดีน (ซาลาดิน)


...เศาะลาฮุดดีนหรือที่ชาวตะวันตกเรียกกันติดปากว่า “ซาลาดิน”มีชื่อภาษาอาหรับเต็มๆว่า เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ อิบนุอัยยูบ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า “อัลมาลิก อัลนาซิร เศาะลาฮุดดีน ยูซุฟ 1”

เขาเกิดเมื่อ ค.ศ.1137 ในตำบลติกริตซึ่งเป็นบ้านเกิดของซัดดัม ฮุสเซน และเสียชีวิตในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ.1193 ที่เมืองดามัสกัส เป็นหนึ่งในบรรดาวีรชนมุสลิมผู้มีชื่อเสียงที่สุดและเป็นสุลต่านมุสลิมผู้ปกครองอียิปต์ ซีเรีย เยเมนและปาเลสไตน์และเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์อัยยูบี ในสงครามต่อต้านการรุกรานของพวกครูเสด เศาะลาฮุดดีนประสบความสำเร็จในขั้นสุดท้ายด้วยการยึดเมืองเยรูซาเล็มกลับคืนมาได้ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1187 ซึ่งทำให้การยึดครองของพวกแฟรงค์เป็นเวลา 88 ปีต้องสิ้นสุดลง

เศาะลาฮุดดีนเกิดในครอบครัวชาวเคิร์ด ในคืนที่เขาเกิด นัจมุดดีน อัยยูบพ่อของเขาได้รวมคนในครอบครัวเดินทางไปยังเมืองอาเล็ปโปเพื่อไปรับใช้อิมาดุดดีน ซางกี ผู้ปกครองชาวเติร์กที่มีอำนาจในซีเรียตอนเหนือ เขาเติบโตในเมืองบัลเบ็กและดามัสกัส แต่ในตอนเริ่มแรกนั้นเศาะลาฮุดดีนให้ความสนใจในเรื่องของศาสนามากกว่าการฝึกฝนทางทหาร เขาเริ่มต้นอาชีพอย่างเป็นทางการเมื่อได้เข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ของอะซัดดุดดีน ชิรกูห์ ลุงของเขาซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญของเจ้าชายนูรุดดีนลูกชายและทายาทผู้สืบอำนาจต่อจากซางกี เศาะลาฮุดดีนได้ประสบการณ์ในการรบระหว่างการเดินทางออกศึกสามครั้งยังอียิปต์ภายใต้การนำของชิรกูห์เพื่อป้องกันการรุกรานของพวกครูเสด


หลังจากที่ชิรกูห์เสียชีวิต ใน ค.ศ.1169 เศาะลาฮุดดีนก็ได้ถูกแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพของกองทหารซีเรียในอียิปต์และเป็นเสนาบดีของราชวงศ์ฟาฏิมียะฮในขณะที่อายุเพียง 31 ปี การที่เขามีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในหน้าที่การงานนั้นก็เนื่องมาจากความสามารถของเขาเอง ในฐานะที่เป็นเสนาบดีปกครองอียิปต์ เขาได้รับฉายาว่ากษัตริย์ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเขาเป็นที่รู้จักกันในฐานะสุลต่าน


ฐานะของเศาะลาฮุดดีนเริ่มสูงขึ้นเมื่อเขาได้ทำลายราชวงศ์ฟาฏิมียะฮ์ของพวกชีอะฮ์ที่อ่อนแอลงใน ค.ศ.1171 และนำอิสลามแบบซุนนีห์กลับมายังอียิปต์อีกครั้งหนึ่งซึ่งทำให้เขาเป็นผู้ปกครองอียิปต์แต่เพียงผู้เดียว ถึงแม้ว่าโดยทางทฤษฎีเขายังเป็นผู้อยู่ใต้อำนาจของนูรุดดีน แต่ความสัมพันธ์นั้นก็สิ้นสุดลงเมื่อเจ้าชายนูรุดดีนสิ้นชีวิตลงใน ค.ศ.1174 หลังจากนั้นไม่นาน เศาะลาฮุดดีนก็ได้ใช้ความเป็นเจ้าของความมั่งคั่งทางด้านการเกษตรในอียิปต์เป็นฐานทางการเงินพร้อมกับกองทัพเล็กๆที่มีระเบียบวินัยเคลื่อนเข้าไปในซีเรียเพื่ออ้างตัวเป็นผู้สำเร็จราชการของนายเก่าของเขา

อย่างไรก็ตาม ไม่นานนัก เขาก็ยกเลิกคำกล่าวอ้างดังกล่าวและตั้งแต่ ค.ศ.1174-1186 เขาก็มุ่งมั่นเดินหน้ารวมดินแดนมุสลิมต่างๆของซีเรีย เมโสโปเตเมียตอนเหนือ ปาเลสไตน์และอียิปต์ไว้ภายใต้ร่มธงของเขาโดยใช้วิธีการทูตและวิธีการทางทหารถ้าหากจำเป็น ...ในที่สุด ชื่อเสียงของเขาก็เป็นที่ร่ำลือว่าเป็นผู้ครองที่มีคุณธรรม ปราศจากความชั่วร้ายและความโหดเหี้ยมทารุณ ดังนั้นมุสลิมที่ถูกพวกครูเสดปกครองอย่างกดขี่ทารุณและหาทางต่อต้านอยู่จึงได้หันมาจับอาวุธร่วมกับเขาอีกครั้งหนึ่ง


การกระทำของเศาะลาฮุดดีนทุกอย่างได้รับการดลใจจากการอุทิศตนให้แก่การญิฮาดต่อต้านพวกครูเสดคริสเตียนอย่างไม่เคยหวั่นไหว ด้วยเหตุนี้เขาจึงมีนโยบายส่งเสริมให้มีการเติบโตและแพร่ขยายสถาบันต่างๆของมุสลิม เขาให้การอุปการะนักวิชาการและนักเผยแผ่คำสอนอิสลาม ก่อตั้งวิทยาลัยและมัสญิดสำหรับคนเหล่านั้นและแนะนำให้บรรดานักวิชาการเขียนงานวิชาการออกมาโดยเฉพาะเรื่องการญิฮาด ฟื้นฟูขวัญกำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน

ความจริงแล้ว การที่เขาทำเช่นนี้ก็เพราะเขาเชื่อว่าความศรัทธาที่มั่นคงเด็ดเดี่ยวและความกระตือรือร้นเป็นสิ่งมีค่าและสิ่งนี้เองที่ทำให้มุสลิมรุ่นแรกๆก่อนหน้านี้ห้าร้อยปีสามารถพิชิตโลกได้ครึ่งหนึ่ง

... ชื่อเสียงของท่านเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะที่เป็นนักรบที่กล้าหาญ เฉลียวฉลาดมีความยุติธรรม โอบอ้อมอารีในการปฏิบัติแก่ผู้แพ้ เป็นที่ยกย่องแม้แต่ศัตรูจนถึงขนาดที่ว่าพวกค็อปติก(คริสเตียนออทอดอกซ์ในอียิปต์)เอารูปวาดของเศาะลาฮุดดีนวางไว้ที่แท่นบูชาในโบสถ์

เศาะลาฮุดดีนปฏิบัติต่อเชลยเป็นอย่างดี ท่านได้ปล่อยเชลยจำนวนมากที่ไม่สามารถหาเงินมาไถ่ตัวได้ และยังใช้เงินส่วนตัวไถ่พวกเชลยเหล่านี้ โดยไม่มีการสังหารเชลยแต่อย่างใด


เศาะลาฮุดดีนประสบผลสำเร็จในการเปลี่ยนดุลอำนาจทางทหารให้เขาเป็นฝ่ายได้เปรียบโดยการที่เขาสามารถรวบรวมและจัดระเบียบกองกำลังที่ไร้ระเบียบวินัยมากกว่าการที่จะใช้เทคนิคใหม่ๆทางทหาร ในที่สุด เมื่อกำลังทหารของเขาพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับอาณาจักรครูเสดได้ ในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1187 เศาะลาฮุดดีนก็สามารถทำลายกองทัพของพวกครูเสดได้ที่สมรภูมิ ฮัตตินใกล้กับไทเบอริอาสในปาเลสไตน์ตอนเหนือ

สงครามครั้งนั้สร้างความเสียหายให้แก่พวกครูเสดอย่างหนักจนมุสลิมสามารถเข้ายึดอาณาจักรแห่งเยรูซาเล็มได้เกือบทั้งหมด เมืองอัคเร, โตรอน, เบรุต, ไซดอน, นาซาเร็ธ, ซีซาเรีย นะบลุส, ญัฟฟาและอัสคาลอนได้ตกเป็นของมุสลิมภายในสามเดือน แต่ความสำเร็จขั้นสูงสุดของเศาะลาฮุดดีนและการสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่พวกครูเสดนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ.1187 เมื่อเมืองเยรูซาเล็มซึ่งเป็นเมืองสำคัญต่อทั้งมุสลิมและคริสเตียนได้ยอมจำนนต่อกองทัพของเขาหลังจากที่ตกอยู่ในมือของพวกแฟรงค์มาเป็นเวลา 88 ปี

ชาวเมืองเยรูซาเล็มได้รับการปฏิบัติจากกองทัพของเศาะลาฮุดดีนอย่างดีและมีอารยธรรม ผิดกับเมื่อตอนที่พวกแฟรงค์เข้ามายึดครองซึ่งทำให้ชาวเมืองต้องถูกสังหารหมู่อย่างเหี้ยมโหดทารุณนับหมื่นๆคน

ภาพที่ท่านและกองทัพมุสลิมแสดงต่อพวกครูเสดตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับที่พวกเขาเหล่านี้ได้เคยสับมุสลิม แหวะหัวใจเด็ก ฟันขาเหวี่ยงไปในอากาศ บังคับให้มุสลิมกระโดดจากที่สูง ในสมัยที่พวกเขายึดเยรูซาเล็มช่วงสงครามครูเสดครั้งที่ 1 เวลานั้นมุสลิมถูกฆ่าจนเลือดไหลนองท่วมหัวเข่าม้าของพวกครูเสด


การยึดเยรูซาเล็มกลับคืนมาของเศาะลาฮุดดีนได้ทำให้พวกครูเสดในยุโรปรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อจะยึดเยรูซาเล็มคืน อันเป็นการประกาศสงครามครูเสดครั้งที่สาม กองทัพครูเสดครั้งนี้มีผู้นำคือกษัตริย์ริชาร์ด(ใจสิงห์)แห่งอังกฤษ กษัตริย์ฟิลิป ออกัสตัสแห่งฝรั่งเศส และกษัตริย์เฟดเดอริค บาร์บาโรซซ่าแห่งเยอรมันเป็นผู้นำ แต่ปรากฏว่ากษัตริย์เฟดเดอริคจมน้ำตายขณะข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง กองทัพเยอรมันจึงไม่มีโอกาสสู้รบกับมุสลิม อย่างไรก็ตามหลังจากที่รบกันมานาน กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ทำสัญญาสงบศึก ณ เมืองร็อมละฮฺ ในวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1192 โดยชายฝั่งใกล้เมืองอักกาและบริเวณโดยรอบตกเป็นของพวกครูเสด และเศาะลาฮุดดีนยินยอมให้คริสเตียนเดินทางไปสู่เยรูซาเล็ม โดยมีเงื่อนไขว่าต้องไม่นำอาวุธเข้าไป สัญญาฉบับนี้เป็นการสิ้นสุดสงครามครูเสดครั้งที่สาม

...กษัตริย์ริชาร์ด นั้น เคยกล่าวยกย่อง เศาะลาฮุดดีน ว่าเป็นแม่ทัพที่มีน้ำใจเป็นสุภาพบุรุษ บ่อยครั้งที่เศาะลาฮุดดีน มีน้ำใจให้กับศัตรู ไม่โจมตีศัตรูในขณะเพลี่ยงพล้ำ แต่รอให้ศัตรูตั้งตัวได้ก่อนจึงค่อยรบกันต่อ...

เมื่อสงครามยุติลง เศาะลาฮุดดีนได้ยกกองทัพไปตรวจเมืองต่างๆและซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย และได้กลับมาพักกับครอบครัวที่นครดามัสกัส

หลังจากที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนหลังม้า ที่กรำศึกมาเป็นเวลานาน ในที่สุด เศาะลาฮุดดีนก็มาถึงจุดสุดท้ายของชีวิต ท่านก็ได้จากโลกนี้ไปในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 1193

... ในขณะที่ญาติพี่น้องของเขากำลังแย่งส่วนต่างๆของอาณาจักรกันอยู่นั้น สหายของท่านพบว่าผู้ปกครองของมุสลิมที่ยิ่งใหญ่และมีใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ได้ทิ้งทรัพย์สินไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ไม่ได้ทิ้งเงินทองไว้มากมาย

...ไม่พอแม้แต่จะใช้เพื่อจัดการกับศพของตัวท่าน...

...หลังจากนั้น ครอบครัวของเศาะลาฮุดดีนก็ยังปกครองอียิปต์และแผ่นดินใกล้เคียงต่อไปอีกไม่นานและในที่สุดก็ถูกพวกมัมลู้กเข้ามายึดอำนาจต่อใน ค.ศ.1250





 

Create Date : 15 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 15 กุมภาพันธ์ 2549 1:35:59 น.
Counter : 1664 Pageviews.  


kheedes
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add kheedes's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.