กระเจี๊ยบเขียว/แดง


กระเจี๊ยบทั้งเขียว/แดง แห่งรสชาติและคุณค่า

ที่มา : https://www.doctor.or.th/article/detail/2421
โพสโดย Anonymous เมื่อ 1 สิงหาคม 2541 00:00

"ไก่เอ๋ยไก่ เลี้ยงลูกจนใหญ่ ไม่มีนมให้ลูกกิน ลูกร้องเจี๊ยบๆ แม่ก็เรียกมาคุ้ยดิน ทำมาหากิน ตามประสาไก่เอย"

บทดอกสร้อยที่ท่องจำมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาบทนี้จำไม่ได้แล้วว่าเป็นบทประพันธ์ของท่านใด แต่เป็นสิ่งประทับใจจากวัยเด็กอีกอย่างหนึ่งซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็คงรู้สึกเช่นเดียวกัน ความประทับใจคงเกิดจากการที่ท่านผู้แต่งนำการเลี้ยงลูกของไก่มาเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกของคน ทำให้รู้สึกสงสารลูกไก่ที่ไม่มีนมกินเหมือนลูกคน หิวขึ้นมาก็ร้องเจี๊ยบๆ แม่ก็พาไปคุ้ยดินหากินตามประสาไก่ ผิดกับลูกคนที่พอหิวก็ร้องไห้ขึ้นมา แม่ก็จะอุ้มไว้แนบอกและให้ดื่มนมพร้อมความอบอุ่น เมื่อโตขึ้นอีกหน่อยแม่ก็ป้อนข้าวป้อนน้ำอีกหลายปีจนกว่าจะโตช่วยตัวเองได้อย่างแท้จริง ที่นำบทดอกสร้อยเกี่ยวกับลูกไก่มาขึ้นต้นบทความตอนนี้ ก็เพราะบังเอิญเสียงร้องของลูกไก่ที่คนไทยได้ยินว่า “เจี๊ยบ” นั้น ไปพ้องกับชื่อผักพื้นบ้านของไทยที่ชื่อ “กระเจี๊ยบ” ดังข้อความในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ บรรยายว่า “กระเจี๊ยบ, ผักอย่างหนึ่ง ต้นไม่สู้โต ใบแฉกๆ ลูกกินเปรี้ยว อนึ่งลูกไก่เล็กๆ มันร้องเจียบๆ ว่าลูกกะเจียบ”

จากข้อความดังกล่าวทำให้ทราบว่า เมื่อ ๑๒๕ ปีก่อน(พ.ศ. ๒๔๑๖) ชาวกรุงเทพฯเรียกลูกไก่ว่าลูกกะเจียบ ซึ่งใกล้เคียงกับชาวชนบทภาคกลางปัจจุบันที่เรียกว่า ลูกเจี๊ยบ นอกจากนั้นคำว่า “เจี๊ยบ” ยังนิยมนำไปเรียกเป็นชื่อเล่นของหญิงไทยอีกด้วย ดังจะเห็นดารา นักแสดงหญิงปัจจุบันหลายคนมีชื่อเล่นดังกล่าว รวมทั้งเพลงลูกทุ่งร่วมสมัยบางเพลงก็กล่าวถึงสาวที่ชื่อ “เจี๊ยบ” ด้วยเช่นเดียวกัน



กระเจี๊ยบ : มีทั้งเขียวและแดง
ในสมัย พ.ศ. ๒๔๑๖ คนไทย คงรู้จักกระเจี๊ยบเพียงชนิดเดียวที่ “ลูกกินเปรี้ยว” ซึ่งคงเป็นกระเจี๊ยบเปรี้ยว หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่ากระเจี๊ยบแดงนั่นเอง แต่ในปัจจุบัน ชาวไทยรู้จักกระเจี๊ยบ ๒ ชนิด ทั้งกระเจี๊ยบแดงและกระเจี๊ยบเขียว ซึ่งต่างก็อยู่ในวงศ์เดียวกัน คือ Malvaceae พืชในวงศ์นี้ที่เรารู้จักกันดี ก็คือ นุ่น ทุเรียน ชบา ฝ้าย ฯลฯ เป็นต้น สันนิษฐานว่า กระเจี๊ยบเขียวคงเข้ามาในประเทศไทย หลัง พ.ศ. ๒๔๑๖ เช่นเดียวกับนุ่น เพราะไม่พบชื่อพืชทั้ง ๒ ชนิดในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ ส่วนกระเจี๊ยบแดง(เปรี้ยว)คงเข้ามาก่อนหน้านั้นนานแล้ว แต่ก็ไม่มีบันทึกเป็น หลักฐานว่าเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่เมื่อใด เราลองมาทำความรู้จักกับกระเจี๊ยบทั้ง ๒ ชนิดกันก่อน


กระเจี๊ยบแดง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus sabdariffa Linn. ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Rozelle หรือ red sorrel เป็นพืชล้มลุกลักษณะเป็นพุ่มแตกกิ่งก้านสาขามาก สูงราว ๑.๒ ถึง ๒.๐ เมตร (ยกเว้นบางสายพันธุ์) ลำต้นและกิ่งก้านสีม่วงแดง ผิวเกลี้ยงไม่มีขนหรือหนาม ใบเดี่ยวสีแดงอมเขียว ก้านใบแดง ขอบใบหยักเว้าลึก เป็น ๓ แฉก ดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ กลีบ-ดอกสีเหลืองอ่อนหรือชมพู กลางดอกสีแดงเข้ม ผลค่อนข้างกลมผิวเรียบ มีกลีบเลี้ยงหนาสีแดง หุ้ม กลีบเลี้ยงมีรสเปรี้ยว กระเจี๊ยบแดง มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมแถบหมู่เกาะอินเดียตะวันตก (West Indies) และแพร่กระจาย ไปปลูกเขตร้อนทั่วโลก ชื่ออื่นๆของกระเจี๊ยบแดงคือ กระเจี๊ยบเปรี้ยว ส้มพอเหมาะ (ภาคกลาง), ผักเก้งเค้ง ส้มเก้งเค้ง (ภาคเหนือ,) แกงแดง (เชียงใหม่), ส้มตะเลงเครง (ตาก)

กระเจี๊ยบเขียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Abelmoschus esculentus (Linn.) Moench. ชื่อ ในภาษาอังกฤษคือ okra หรือ Lady’s Finger เป็นพืชล้มลุกลำต้นตรง สูงราว ๑.๒ ถึง ๒.๔ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านสีเขียว บางครั้งมีจุดประสีม่วง ผิวเปลือกลำต้น มีขนอ่อนปกคลุมเช่นเดียวกับใบและผล ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ มักเว้าเป็น ๓ แฉก ก้านใบยาว ดอกสีเหลืองอ่อน กลางดอกสีแดงเข้ม ดอกเดี่ยวออกตามง่ามใบ ผลยาวเรียว ปลายแหลม ผิวผลเป็นเหลี่ยมตามลำต้น จำนวนพูซึ่งมีราว ๕ ถึง ๘ พู ผลอ่อนสีเขียว เมล็ดอ่อนสีขาว ในผลมีน้ำเมือกข้นเหนียวอยู่มาก

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของกระเจี๊ยบเขียว สันนิษฐานว่าอยู่ในเขตร้อนของทวีปแอฟริกาและเข้ามาในประเทศไทยไม่เกิน ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีหลักฐานว่าเข้ามาเมื่อใด ชื่ออื่นๆของกระเจี๊ยบเขียวคือ กระเจี๊ยบมอญ มะเขือมอญ มะเขือ ทวาย (ภาคกลาง), มะเขือมื่น มะเขือละโว้ มะเขือพม่า (ภาคเหนือ)

กระเจี๊ยบในฐานะผักและอาหาร
กระเจี๊ยบแดง ใช้ใบและผล อ่อนซึ่งมีรสเปรี้ยวเป็นผักสำหรับแกงส้ม บางแห่งนำผลอ่อนมาดองเป็นผักดอง

ใบและผลอ่อนของกระเจี๊ยบแดงมีวิตามินเอ วิตามินซี กรด ซิตริก และธาตุแคลเซียมสูงมาก จึงนับเป็นผักที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง
กลีบเลี้ยงที่หุ้มผลแก่ของกระเจี๊ยบแดงนำมาทำแยม เชื่อม กวน น้ำผลไม้และไวน์ที่รสชาติดี สีแดงสวยสดใส นอกจากนี้ยังใช้แต่งสีและรสชาติของเยลลี่ และไวน์จากผลไม้ชนิดอื่นๆอีกด้วย

เครื่องดื่มจากกลีบเลี้ยงกระเจี๊ยบแดง นอกจากมีรสชาติดี มีสี สดสวยแล้ว ยังแก้อาการกระหายน้ำ และทำให้สดชื่น จึงนับเป็นเครื่องดื่มที่น่าส่งเสริมให้ชาวไทยดื่มกันมากขึ้น แทนที่จะเสียเงินทองออกต่างประเทศปีละมากๆ ในการดื่มน้ำอัดลมซึ่งมีโทษมากกว่าประโยชน์เสียอีก

กระเจี๊ยบเขียว ใช้ผลอ่อนเป็น ผักจิ้มโดยต้มให้สุกหรือย่างไฟเสียก่อน นอกจากนั้นยังใช้แกงได้ด้วย ในต่างประเทศใช้ทำสลัดหรือซุป ฝักอ่อนกระเจี๊ยบเขียวมีเมือกลื่น ซึ่งเป็นสารจำพวก pectin และ mucilage ช่วยให้กระเพาะ ไม่ระคายเคือง และอาหารผ่านลำไส้ได้สะดวกขึ้น ผลอ่อนกระเจี๊ยบเป็นผักที่มีคุ ณค่าทางโภชนาการสูงมากชนิดหนึ่ง

ประโยชน์ด้านอื่นๆของกระเจี๊ยบ
กระเจี๊ยบแดงมีสรรพคุณทางยา หลายอย่าง เช่น เมล็ด แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ ขับปัสสาวะ ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด
ใบและผล ทำยาแก้ไอ กัดเสมหะ ขับเมือก ขับมันในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก เป็นยาระบายอ่อนๆ ขับปัสสาวะ ช่วยให้ปัสสาวะใสและคล่องขึ้น ช่วยลดความดันเลือด แก้อาการกระหายน้ำ
เปลือกกระเจี๊ยบแดงมีเส้นใยเหนียวและแข็งแรงมาก ดีกว่าใยปอแก้ว และปอกระเจาเสียอีก ใช้ทำเชือก ทอกระสอบ ทำเปล ถักแห ถักอวนได้ดี

กระเจี๊ยบเขียวมีสรรพคุณทางยาคือ มีเมือกช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร แก้โรคแผลในกระเพาะอาหาร ใช้ผลแก่บดเป็นผงผสมน้ำดื่ม ในอินเดียใช้เป็นยาแก้บิด ไอ หวัด ขัดเบา หนองใน ในมาเลเซียใช้รากแช่น้ำรักษาโรคซิฟิลิส ดอก ใช้ตำพอกฝี
เมล็ดกระเจี๊ยบเขียวใช้แทนเมล็ดกาแฟได้ เปลือกไม่เหนียวนักใช้ทอกระสอบ เชือก และทำกระดาษได้
กระเจี๊ยบเขียวนับเป็นผัก เศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งสำหรับเกษตรกรไทย เพราะต่างประเทศสั่งซื้อผลกระเจี๊ยบเขียวจากไทยปีละหลายล้านบาท โดยมีบริษัท ทำโครงการปลูกกระเจี๊ยบเขียวครบวงจรร่วมกับเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ ทั้งนี้เพราะประเทศไทยสามารถปลูกกระเจี๊ยบเขียวได้ตลอดปี

ไม่นานมานี้มีความเคลื่อนไหวจากทีมที่ปรึกษากระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้กฎหมายเกี่ยวกับการผลิตเหล้าประเภทหมัก(เช่น ไวน์)ให้ประชาชนทำได้เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งคาดว่าในอนาคตไม่ไกลเกษตรกรไทยจะได้พัฒนาเหล้า หมักและไวน์ชนิดต่างๆ มาเป็นสินค้าทดแทนการนำเข้าและส่งออกไปแข่งขันในต่างประเทศได้อีกด้วย กระเจี๊ยบแดงที่สามารถนำไปผลิต ไวน์อย่างดีได้ก็คงจะเพิ่มบทบาทช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทยได้อีกแรงหนึ่ง รวมทั้งการนำไปทำเครื่องมือชนิดอื่นๆ อีกมากมาย




ต่างชาติก็เล็งเห็นคุณประโยชน์ มีการทำวิดีโอนำเสนอไว้ด้วย




Create Date : 29 พฤศจิกายน 2560
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2560 9:53:46 น.
Counter : 1490 Pageviews.

0 comment
Morning Glory...ผักบุ้งฝรั่ง




ชื่อวิทยาศาสตร์ Ip omoea Rorsfalliae. (L.) Roth.

ตระกูล               CONVOLVULACEAE

ชื่อสามัญ            Deeprose. morning glory.

ลักษณะทั่วไป

ต้น เป็นไม้เถาเลื้อยฤดูเดียว เถามีขนาดเล็ก ตามเถามีขนขึ้นปกคลุมจนทั่วโดยเฉพาะบริเวณปลายยอด

ใบ เป็นไม้ใบเดี่ยว ใบเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลมโคนใบมนเว้าเข้าหาก้านใบทั้ง 2 ข้างหรือใบเป็นรูปหัวใจ

ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรืออาจจะออกเป็นกลุ่ม ๆ หนึ่งๆ จะมีประมาณ 5 ดอก รูปทรงของดอกจะคล้ายกับแตร หรือคล้ายดอกผักบุ้งมีขนาดเล็กและมีความยาวประมาณ 3 นิ้ว ดอกมีสีต่างๆ กัน เช่น สีม่วงอมน้ำเงิน หรือ สีม่วงปนขาว สีขาว สีแดง สีฟ้า สีชมพู

ฤดูกาลออกดอก  : ออกดอกตลอดปี

การปลูก :
มอร์นิ่งกลอรี่เหมาะที่ปลูกริมรั้วหรือปลูกเป็นซุ้มประตู เพื่อให้เถาได้เลื้อยพาดไปตามริมรั้ว หรือตามซุ้มประตูได้การปลูกให้นำกิ่งที่ได้จากการปักชำหรือต้นกล้าที่ได้จากการเพาะเมล็ด มาปลูกลงดินโดยขุดหลุมปลูกให้มีความกว้างลึกประมาณ 1x1 ฟุต รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกประมาณ 1/4 ของหลุม กลบดินเล็กน้อยแล้ววางต้นกล้าลงกลางหลุม กลบดินพอแน่น แล้วรดน้ำให้ชุ่ม

การดูแลรักษา

แสง มอร์นิ่งกลอรี่เป็นไม้กลางแจ้งต้องการแสงมากพอสมควร

น้ำ ควรรดน้ำวันละ 2 ครั้ง ในระยะแรกปลูกแต่เมื่อต้นโตและแข็งแรงดีแล้ว ให้รดน้ำวันละ 1 ครั้งเฉพาะในช่วงเช้าก็พอ

ดิน เจริญงอกงามได้ดีในดินที่ร่วนซุยหรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี

ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักใส่บริเวณโคนต้นปีละ 2-3 ครั้งโดยการพรวนดินรอบ ๆ โคนต้นก่อน หากต้นไม้มีอาการใบร่วงหรือใบซีดเหลืองให้รดด้วยยูเรีย สัปดาห์ละ 2 ครั้งติดต่อกันประมาณ 2 เดือน

โรคและแมลง

ไม่พบโรคและแมลงที่ทำลายถึงขั้นเสียหาย

การขยายพันธุ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การปักชำกิ่ง

ดอกมอร์นิ่งกลอรี่ (Morning Glory) (มีทั้งสีชมพูสีม่วง สีขาว สีฟ้า) เป็นดอกไม้เถาจำพวกดอกผักบุ้ง เป็นสัญลักษณ์แห่งการจากลาความเจ็บป่วย หรือความตาย และหลงรัก


ได้เมล็ดจาก เจ๊ดา แห่งห้องต้นไม้พันทิป เป็นมอร์นิ่ง คละสี ขอบคุณมากค่ะ

เลยลองปลูก ทั้งหมด 5 กระถาง ๆ ละ 2-3 ต้น ออกดอกสีชมพูมา 2 กระถาง

และมีดอกตูมรอเบ่งบานอีก กำลังลุ้นว่าจะได้สีอะไรมั่ง 

แล้วจะเอารูปมาเพิ่ม ถ้ามีสีอื่น ๆ ด้วย




Create Date : 27 มิถุนายน 2555
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2560 9:53:15 น.
Counter : 5243 Pageviews.

2 comment
บัวดิน (Zephyranthes) Rain Lily


ชื่อวิทยาศาสตร์: Zephyranthes spp.
ชื่อวงศ์:  Amarylieaceae
ชื่อสามัญ:  Zephyranthes
ชื่อพื้นเมือง:  Zephyranthes Lily, Rain Lily ,Fairy Lily, Little Witches, บัวสวรรค์, บัวดิน, บัวฝรั่ง
ลักษณะทั่วไป:
ต้น  เป็นไม้หัว ขนาดเล็กเป็นไม้ล้มลุกกิ่งยืนต้น หัวมีลักษณะกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว ต้นเจริญ จากหัว
ใบ  มีใบยาวเรียว บางชนิดใบแบน บางชนิดใบกลม ความยาวของใบ 6-12 นิ้ว
ดอก  ดอกเป็นรูปกรวย มี 6 กลีบ การจัดเรียงของกลีบดอกเป็นแบบสลับ ดอกแบบชั้นเดียว มีก้านดอกยาว 4-12 นิ้ว ดอกมีหลายสี เช่น สีขาว เหลือง และชมพู
ฤดูกาลออกดอก:  ในฤดูฝน
การปลูก:  ปลูกประดับในสวนหิน เนื่องจากพุ่มต้นเตี้ย ดอกเด่น หรือ ปลูกตามขอบสนามหรือ แนวรั้ว
การดูแลรักษา:  ชอบดินโปร่ง ร่วนซุย กักเก็บความชื้นดี แต่น้ำไม่ขังจนแฉะ การบังคับให้บัวดินออกดอก ใช้หลักการ dry & wet เหมือนกับที่ใช้กับไม้หัวโดยทั่ว ๆไป คือ ถ้าเราต้องการให้ออกดอก ก็งดน้ำติดต่อกันชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ไม่ควรต่ำกว่า 15 วัน ในช่วงนี้ อาหารจะถูกเก็บสะสมที่หัว และหลังจากนั้นจึงค่อยรดน้ำ ตาดอกจะเจริญทันที และจะออกดอกหลังจากรดน้ำเพียง 5-7 วัน
การขยายพันธุ์:  เมล็ด แยกหัวไปปลูก
การใช้ประโยชน์:  ไม้ประดับ
ถิ่นกำเนิด:  อเมริกากลาง ,อเมริกาใต้ หรือ เม็กซิโก

ที่มา : ชมรมคนรักบัวดิน เวปเกษตรพอเพียง

รูปนี้เอาหัวมาจากที่ทำงานมาลองปลูก มีสีอ่อนแก่ ให้แปลกใจเล่น สวยดี

ต้นที่ทำงานของเจ้านาย
ถ่ายเดี่ยว ๆ มั่ง
แมลงเริ่มมาตอม แต่ไม่ติดเมล็ดเลย

บัวดินคละสีจาก Nuu_Koy ได้มาหลายเดือน ลืมปลูก พอลงกระถางก็แตกใบอ่อน
มีดอกให้ชมทันที 

ส่วนอันนี้ลองทำเล่น ๆ เห็นเขาปลูกไม้หัวในน้ำเปล่า แล้วได้ดูดอก 
เลยลองมั่ง วันที่ 6 กิ่งดอกสูงแล้ว คิดว่าจะได้ดูดอกภายในอาทิตย์นี้แหละ


มาเพิ่มรูปวันนี้ สูงขึ้นมาก และใบเลี้ยงแตกออกเห็นกลีบดอกสีชมพูเข้ม ๆ แล้ว


มาเพิ่มรูปที่บานแล้วค่ะ



Create Date : 20 มิถุนายน 2555
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2560 9:54:26 น.
Counter : 2433 Pageviews.

2 comment
ทองอุไร



อุไร ก็แปลว่า ทอง งั้นดอกไม้ชนิดนี้ ก็ดับเบิ้ล ทองเลยทีเดียว


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tecoma stans (L.) Kunth

ชื่อวงศ์ : BIGNONIACEAE

ชื่ออื่นๆ : Yellow bell, Yellow elder






Create Date : 27 พฤษภาคม 2555
Last Update : 16 มิถุนายน 2557 9:09:02 น.
Counter : 2141 Pageviews.

4 comment
กุยช่าย


"กุยช่าย" หรือที่เราชอบเรียกกันว่า "ผักไม้กวาด" นั้น แม้จะมีกลิ่นฉุนเล็กน้อย แต่ก็ถือเป็นดอกไม้กินได้อีกอย่างหนึ่งที่คนเรานิยมนำมาประกอบอาหาร โดยส่วนมากที่เห็นก็จะนำมาผัดน้ำมันหอยใส่เนื้อสัตว์เล็กน้อย เป็นเมนูโปรดอีกอย่างหนึ่ง "108 เคล็ดกิน" เลยทีเดียว

นอกจากจะเป็นอาหารจานอร่อยแล้ว ดอกกุยช่ายนี้ก็ยังมีประโยชน์ไม่น้อย เพราะสามารถช่วยให้คนที่อ่อนเปลี้ยเพลียแรงง่าย เหนื่อยง่าย คนป่วย คนอายุมาก หรือคนที่มีอาการกามตายด้าน ให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้ เพราะผักกุยช่ายนี้มีแร่ธาตุและสารปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค แต่ถ้ากินเข้าไปครั้งเดียวในปริมาณมากๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ แต่ก็มีวิธีการแก้โดยนำผักกุยช่ายไปปรุงกับตับ หรือกุ้งหรือหมู



และยังมีสรรพคุณช่วยบำรุงน้ำนมในคุณแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรใหม่ๆ แถมยังมีเบต้าแคโรทีน ที่ร่างการเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ ช่วยป้องกันมะเร็ง มีธาตุเหล็กที่ช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง มีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และมีวิตามินสูง อีกทั้งมีกากใยช่วยในการย่อยอาหาร ลดโอกาส เกิดมะเร็งในลำไส้ใหญ่ได้

ถ้ากินดอกกุยช่ายอย่างสม่ำเสมอ ร่างกายจะแข็งแรง มีกำลังวังชา ร่างกายขับเหงื่อได้ดี ช่วยบำรุงไตได้อีกด้วย และสำหรับคุณผู้ชาย ผักไม้กวาดก็จะช่วยเสริมพลังทางเพศ ลดอาการหลั่งเร็วของผู้ชายได้ด้วย


กุยช่าย (จีน: ??, อังกฤษ: Garlic chives; ชื่อวิทยาศาสตร์: Allium tuberosum Rottl. ex Spreng) อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae วงศ์ย่อย Allioideae เป็นไม้ล้มลุก สูง 30-45 ซม. มีเหง้าเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตันยาว 40-45 ซม. โดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกในระดับเดียวกันที่ปลายก้านช่อดอก ก้านดอกยาวเท่ากัน มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว ยาวประมาณ 5 มม. โคนติดกัน ปลายแยก กลางกลีบดอกด้านนอกมีสันหรือเส้นสีเขียวอ่อนจากโคนกลีบไปหาปลาย ดอกบานกว้างประมาณ 1 ซม. เกสรเพศผู้ 6 อัน อยู่ตรงข้ามกับกลีบดอก เกสรเพศเมีย 1 อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลกลม กว้างยาวประมาณ 4 มม. ภายในมี 3 ช่อง มีผนังกั้นตื้นๆ เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแบน ขรุขระ
เอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ในไต้หวันมีปลูก 2 พันธุ์ คือ พันธุ์สีเขียวที่ปลูกทั่วไป และพันธุ์ใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการบังร่ม

การใช้ประโยชน์

กุยช่ายใช้รับประทานเป็นอาหารได้ ดอก ผักกับตับหมู ใบรับประทานสดกับลาบ หรือผัดไทยก็ได้ และนอกจากนั้นยังใช้ใบทำเป็นไส้ของขนมกุยช่ายอีกด้วย และมีฤทธิ์เป็นยาสมุนไพร ใบ มีฟอสฟอรัสสูง เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก แก้ลมพิษ ทาท้องเด็กแก้ท้องอืด บำรุงไต บำรุงกำหนัด จะกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ ตำผสมเหล้าเล็กน้อยรับประทานจะช่วยกระจายเลือดไม่ให้คั่ง แก้ช้ำในได้
น้ำมันสกัดจากต้นกุยช่ายที่ความเข้มข้น 80 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตรยับยั้งการเจริญของ Flavobacterium columnaris ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ ถ้านำน้ำมันนี้ไปผสมกับอาหารเลี้ยงปลา 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำให้ปลานิลตายจากการติดเชื้อ F. columnaris น้อยลง

คุณค่าทางอาหาร :
กุยช่ายเขียว มีแร่ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งทำงานสัมพันธ์กันในการสร้างกระดูกให้แข็งแรง มีอยู่ในใบกุยช่ายเขียวมากกว่ากุยช่ายขาวหลายเท่าตัว อีกทั้งยังมีธาตุเหล็กและวิตามินบี และวิตามินซีสูงกว่าด้วย
กุยช่ายขาว มีสารให้พลังงานต่ำ เหมาะแล้วที่เอามาผัดรวมกับของมัน ๆ เช่น หมูกรอบ
ดอกกุยช่ายนั้น มีฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 และเบต้า-แคโรทีน สูงกว่าใบกุยช่าย และ็ให้คาร์โบไฮเดรตสูงกว่ากุยช่ายขาวเกือบเท่าตัวด้วย
สมุนไพรกุยช่ายทั้งต้นและดอกให้กากใยอาหาร ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างสมดุมแก่ระบบย่อยอาหาร ช่วยให้ถ่ายคล่องท้องไม่ผูก อีกทั้งยังช่วยดักจับสารพิษ และของที่ร่างกายไม่พึงประสงค์ ซึ่งตกค้างในลำไส้ออกมาทิ้งเสียโดยเร็ว ทำให้สุขภาพแข็งแรง ผิวพรรณผุดผ่อง และลดโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้อย่างมาก
นอกจากนี้ ยังมีวิตามินซีและสารที่ร่างกายจะนำมาสร้างเป็นวิตามิน เอ คือ เบต้า-แคโรทีน และเบต้า-แคโรทีนจะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายเราเต็มที่เมื่อกินพร้อมไขมันในรูปต่าง ๆ



Create Date : 29 เมษายน 2555
Last Update : 29 เมษายน 2555 14:42:02 น.
Counter : 4934 Pageviews.

2 comment
1  2  3  

Jookjik
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



MY VIP Friend