Group Blog
 
All Blogs
 
วิสุทธิมรรค กรรมฐาน 40 กอง ตอน 2

กรรมฐานที่ 30 อุปสมานุสสติกรรมฐาน

คือ กรรมฐาน ที่ให้นักปฏิบัติระลึกนึกถึงพระคุณความดีความประเสริฐความสุขสงบอย่างยิ่ง พ้นจากบ่วงเวรกรรมเวียนว่าย ตาย เกิด นิพพาน แปลว่า ดับ กิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน และอกุศลกรรม ถ้าระลึกถึงพระนิพพานบ่อยๆ ตลอดเวลาได้ยิ่งดี จิตใจเรา ท่านก็จะว่างจากกิเลส ตัณหา อวิชชา อุปาทาน อกุศลกรรมได้ง่ายๆ เพราะจิตมีทั้งศีล สมาธิ ปัญญาอยู่ในจิตใจเมื่อได้นึกคิดพิจารณาคุณประโยชน์สุขยอดเยี่ยมของพระนิพพาน

พระ คุณเจ้าหลวงปู่พระพุทธโฆษาจารย์ ผู้รจนาเขียนพระคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านเป็นพระอรหันต์เยี่ยมยอดขั้นปฏิสัมภิทาญาณชาญฉลาด ท่านอธิบายถึงคุณพระนิพพานโดยท่านยกบาลี 8 ข้อไว้เป็นแนวทางให้เรา ท่านระลึกนึกถึงนิพพาน มีลักษณะ และคุณประโยชน์ ดังนี้

1. มทนิมฺมทโน การระลึกนึกถึงพระนิพพานทำให้จิตใจเราหมดความมัวเมาในชีวิตที่คิดว่าจะไม่ตายเสียได้

2. ปิปาสวินโย การระลึกนึกถึงพระนิพพาน คือจิตสะอาด บริสุทธิ์เป็นจิตนิพพานแล้ว บรรเทาความใคร่ ความกระหาย หลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอ่อนนุ่ม คือ กำหนัดยินดีในกามคุณทั้ง 5 ก็หมดสิ้นจากจิตใจ

3. อาลยสมุคฺฆาโต การระลึกนึกถึงนิพพานทำให้จิตใจสะอาด หมดกิเลส คือ ท่านที่เข้าถึงนิพพานหมดสิ้นกิเลสแล้ว จิตใจท่านย่อมไม่ผูกพันกับกามคุณทั้ง 5 เห็นกามคุณทั้ง 5 ก็เสมือนเห็นซากศพที่เหม็นเน่า

4. วัฏฏปัจเฉโท การระลึกนึกถึงคุณความดีของพระนิพพาน ทำให้จิตสลัดตัดการเวียนว่าย ตาย เกิด ตัดกิเลสได้หมดสิ้น ไม่มัวเมาในกิเลสทุกชนิด ตัดบาปกรรม พระนิพพานทำให้พ้นทุกข์จากบาปกรรมได้หมดโดยสิ้นเชิง

5. ตัณหักขโย พระนิพพานดับสิ้นแห่งความอยากตัณหา

6. วิราโค การระลึกนึกถึงคุณพระนิพพานทำให้ราคะตัณหา ความอยากใน 3 โลกหมด สิ้นไป

7. นิโรโธ การระลึกนึกถึงคุณของพระนิพพาน ทำให้กิเลสราคะ ตัณหา ความอยากไม่กำเริบ คือ ดับหมดสิ้นสนิท มีความสุข สงบยิ่ง หมดความทุกข์ทั้งปวง

8. นิพพานัง ดับสิ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม อำนาจกรรมทั้ง 4 ไม่สามารถจะทำร้ายแก่ท่านที่มีจิตเข้าถึงนิพพานอีกต่อไป

ท่าน สอนให้ระลึกนึกถึงคุณของพระนิพพานทั้ง 8 ข้อ หรือ ข้อใดข้อหนึ่งก็ได้ตามชอบใจ โดยให้ภาวนาตามลมหายใจเข้าออกด้วย บริกรรมภาวนาว่า นิพ พานัง ภาวนาจนจิตเข้าสู่อุปจารฌานได้ถึงที่สุดเป็นอารมณ์พิจารณาเป็นกรรมฐาน ละเอียดสุขุม มีกำลังไม่ถึงฌาน 1 คุณประโยชน์ภาวนาพิจารณาพระนิพพานมีคุณประโยชน์มาก ทำให้หมด อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กิเลส และอกุศลกรรมได้ง่าย เป็นอริยมรรค อริยผล เป็นคุณสมบัติของพระอริยเจ้าตั้งแต่ พระโสดาบันขึ้นไป เป็นปัจจัยให้จิตเข้าถึงพระนิพพานได้ง่ายๆ

พระนิพพานสูญจริงตามที่พระบาลีกล่าวไว้ว่า
นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ใช่หรือไม่ ?

ตาม หนังสือวิสุทธิมรรคที่พระอรหันต์ พระคุณเจ้าหลวงปู่พระพุทธโฆษาจารย์เขียน ดังพระบาลีทั้ง 8 คุณลักษณะพระนิพพานไม่มีคำว่าสูญ เพียงแต่ว่า ว่างดับจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน อวิชชา สูญจากธาตุ 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ สูญจากขันธ์ 5 เป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา สูญจากความทุกข์ยาก ลำบากโดยสิ้นเชิง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่สูญสิ้น คือ จิตฉลาด สะอาด บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส ตัณหา อวิชชา จิตมีปัญญา จิตพระอรหันต์ไม่สูญสิ้น คือ จิตพระนิพพาน จิตพุทธะ จิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ถ้านิพพานสูญตามที่ท่านเข้าใจผิดแล้ว พระพุทธองค์คงไม่ตรัสต่อไปว่า

นิ พพานัง ปรมัง สุขัง แปลว่า จิตสะอาด ปราศจากกิเลส คือ จิตนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งทั้งๆ ที่ยังมีร่างกายขันธ์ 5 สกปรกเป็นทุกข์อยู่อย่างนี้แต่จิตเป็นสุขไม่เป็นทุกข์ตามขันธ์ 5 ร่างกาย

ผู้ ที่สงสัยในพระนิพพานสูญหรือไม่ องค์พระประทีปแก้วศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าโปรดเมตตาประทานวิชามโนมยิทธิ กรรมฐาน มาให้ทุกท่านได้ฝึกพิสูจน์ สัมผัสนรก สวรรค์ พรหม นิพพาน ได้ตามรายการที่ให้ไว้สถานที่ต่างๆ ด้านหลังหนังสือ ตราบใดที่ท่านยังสงสัย หรือเข้าใจผิดพลาด เรื่องพระนิพพานตามที่นักเขียนทั้งหลายคิดเขียนขึ้นมาเองตามที่แปลพระบาลี ได้ผิดๆ ไม่ถูกต้อง เพราะบุญบารมีมีไม่มากพอที่จะเข้าใจในพระนิพพานได้ จะทำให้ท่านต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกนาน เพราะการเข้าใจผิดพลาดเป็นกิเลสสังโยชน์ข้อที่ 2 คือ วิจิกิจฉา คือ ความลังเล สงสัยในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สงสัยเข้าใจผิดพลาดในพระนิพพาน พระธรรมของพระพุทธองค์ทรงค้นพบพระนิพพานแสนยาก แต่ต่อมามีลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้ามากล่าวตู่ว่า พระนิพพานสูญหมดสิ้น ตายแล้ว สูญว่างเปล่าหมด นรก สวรรค์ พรหม นิพพานไม่มี อย่างนี้เป็นการแปรเปลี่ยนพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยรู้เท่าไม่ ถึงการณ์ ทำให้มีอวิชชา เมื่อมีอวิชชา ความไม่รู้จริงสิ่งที่ตามมาคือ กิเลส ตัณหา อุปาทา มีทิฏฐิมานะคิดว่าความคิดของตนเองถูต้องแล้ว ก็อีกนานนักถึงจะมองเห็นแสงธรรมแสงสว่างพระนิพพาน สิ่งที่เป็นบาปกรรมตามมาคือ แปลเปลี่ยนพระธรรมคำสอนขององค์พระศาสดา ก็คือมีทางเดียวที่จิตจะไปเสวยความทุกข์ในนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน คือ อบายภูมิ

หนังสือธรรมประทานพรออกมาสู่สายตาท่านก็เนื่องจากดิฉัน ผู้เขียนได้ฝึกมโนมยิทธิตามแบบที่พระคุณเจ้าหลวงพ่อพระราชพรหมยานได้เดินทาง ไปสั่งสอนลูกหลานถึงอเมริกา ดิฉันเป็นคนหนึ่งที่มีบุญวาสนาได้ฝึกกับลูกศิษย์ของพระคุณเจ้าหลวงพ่อท่าน พอฝึกได้แล้วจิตของดิฉันก็เฝ้าอยู่กับพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดเวลา คอยกราบทูลถามปัญหากับพระพุทธองค์ เพราะเป็นคนชอบสงสัยอยากรู้ ตั้งหน้าตั้งตาอยากเห็นไปหมดทุกอย่าง ทั้งที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระประโยชน์ จนโดนดุมากๆ จึงเลิกสงสัย ก้มหน้าก้มตาละกิเลสตัณหาของตนเองต่อไปจนกว่าจะตาย แล้วองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าก็โปรดเมตตามีพระพุทธบัญชาให้ดิฉัน เขียนหนังสือ โดยได้ทรงประทานชื่อว่า ธรรมประทานพร คำอักษรทุกตัวที่เขียนก็มาจากพระองค์ท่านโปรดเมตตาดลจิต ดลใจให้ดิฉันเขียนออกมาได้ง่ายๆ ท่านผู้อ่านที่สงสัยในเรื่องพระนิพพานก็ให้ตั้งใจปฏิบัติพระกรรมฐานมีศีล สมาธิ วิปัสสนาญาณ หาอาจารย์ฝึกมโนมยิทธิกรรมฐานเพื่อพิสูจน์สภาวะนิพพานด้วยตนเองจะมีปัญญา เข้าใจในพระนิพพานได้ถูกต้องไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ตามความเข้าใจผิดๆ ของตนเอง จะทำให้เป็นบาปเป็นกรรมชั่วโดยที่ท่านไม่รู้ตัวว่ามีความผิด พระนิพพานไม่ได้สูญสลายหายไปไหน พระนิพพานยังอยู่ในจิต ในใจของพระอริยะเจ้า พระอรหันต์ทุกๆ พระองค์ และพระอรหันต์ในเมืองไทยท่านก็ยังมีชีวิตอยู่มากมาย จิตใจท่านไม่ได้หายไปไหน ท่านรอให้ร่างกายสูญสลายตายไป จิตท่านจะเข้าบรมสุขแดนทิพย์นิพพานตลอดกาล

พรหมวิหาร 4
กรรมฐานที่ 31 เมตตา

มีจิตรัก ปรารถนาดีต่อคน สัตว์ที่เป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตาย กันทั่วทั้งโลกไม่ได้รัก เมตตาฉันชู้สาว หรือ เมตตา เพื่อหวังผลตอบแทน

กรรมฐานที่ 32 กรุณา
มีจิตคิดช่วยเหลือ สงเคราะห์ให้พ้นจากความทุกข์ยาก ลำบากกาย ใจ ช่วยตามที่จะ

ช่วยได้

กรรมฐานที่ 33 มุทิตา
มีจิตพลอยยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี มีความสุข ไม่มีจิตอิจฉา ริษยา มีจิตอ่อนโยน



กรรมฐานที่ 34 อุเบกขา
มีอารมณ์เฉย เมื่อช่วยเหลือใครไม่ได้ ไม่ดีใจเมื่อได้ลาภยศสรรเสริญเจริญสุข ไม่เสียใจเมื่อเสื่อมลาภยศสรรเสริญเจริญสุข

เฉย ในความเมตตา ไม่ใช่เฉยด้วยใจจืดใจดำ ไม่สนใจ ถ้าทุกท่านมีคุณธรรมทั้ง 4 อยู่ในใจตลอดเวลา พระท่านถือว่าจิตทรงฌานในพรหมวิหาร ตายแล้วจิตออกจากร่างก็มีหวังเป็นเทพชั้นประเสริฐ คือ ชั้นพรหม

คุณประโยชน์ของผู้มีพรหมวิหาร 4 ข้อ คือ
1. สุขัง สุปฏิ นอนหลับเป็นสุขเหมือนนอนหลับในสมาบัติ หลับในฌาน

2. ตื่นขึ้นจิตมีความสุขไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว มีจิตชื่นบาน

3. นอนฝัน ก็ฝันสิ่งที่ดี

4. เป็นที่รักของคนทั่วไป เทพ เทวดา พรหม ภูตผี ก็มาขอส่วนบุญ ภูติผีก็ไม่ทำอันตรายได้

5. จะไม่มีอันตรายจากไฟไหม้ จากอาวุธ ยาพิษ

6. จิตจะตั้งมั่นในอารมณ์ สมาธิเป็นปกติไม่เสื่อม และจะเจริญก้าวหน้าในสมาธิยิ่งขึ้น

7. มีใบหน้าสดใสชื่นบาน แก่ช้า

8. เมื่อจะตาย ไม่หลงสติฟั่นเฟือน ตายจะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

9. เทวดา พรหมจะคอยติดตามรักษา ให้ความปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ทำให้มีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นสุขไม่ทุกข์ร้อน

10. ถ้ามิได้บรรลุมรรคผลชาตินี้ ผลจากการมีอารมณ์ทรงพรหมวิหาร 4 จะส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลกมีความสุขมาก จากพรหมโลกได้รับคำสอนจากพระอรหันต์เบื้องบนก็สามารถบรรลุมรรคผลเข้าพระ นิพพานได้ง่ายๆ

11. มีอารมณ์สดชื่น แจ่มใส เบิกบาน ปลอดโปร่ง มีศีลบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะเมตตา ทำให้มีปัญญาดีไม่ละเมิดศีล 5 มีฌานในพรหมวิหาร4 มีสมาธิตั้งมั่น จิตใจไม่วอกแวกวุ่นวาย จิตมีความสุข

อรูป ฌาน 4อรูปฌาน 4 คือ การภาวนาอยู่ในอารมณ์ของฌานที่ไม่มีรูปร่าง มองไม่เห็นด้วยตา แต่มีอยู่ อรูปฌานนี้เป็นฌานละเอียด และอยู่ในระดับฌานสูงสุด ท่านที่ปฏิบัติได้อรูปฌานทั้ง 4 แล้วเจริญวิปัสสนาฌาน คือ พิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างในโลก รวมทั้งของที่มองไม่เห็น คือ อากาศ สัญญา ความจำ สังขาร ความคิดดี ชั่วทั้งหลาย เวทนา ความรู้สึกสุขๆ ทุกข์ๆ ทั้งหลาย วิญญาณ ระบบประสาททุกส่วนในร่างกายเป็นความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เป็นของแปรปรวน เป็นทุกข์ เป็นโทษ แล้วก็สูญสิ้นสลายกลายเป็นอนัตตา คือ ความว่างเปล่า แล้วเข้าใจสภาพทุกอย่างตามความจริง ตามกฎธรรมชาติ ท่านก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้รวดเร็วเป็นพิเศษ เพราะเป็นฌานละเอียดสูงสุด ปัญญาเฉียบแหลม อรูปฌานนี้มีลักษณะเป็นฌานปล่อย อารมณ์จิตไม่ยึด ไม่เกาะในรูปลักษณ์ หรือไม่มีรูปลักษณ์ ทำใจให้ว่างเปล่าจากรูป จากนาม จากวิญญาณ ว่างเปล่าจากความจำได้หมายรู้ ท่านที่ได้อรูปฌานทั้ง 4 จิตว่างจากกิเลส อารมณ์เป็นสุขสงบ ในฌาน เมื่อสำเร็จมรรคผลจากการเจริญวิปัสสนาญาณ จะได้เป็นพระอรหันต์สูงสุด มีความสามารถพิเศษเหนือพระอรหันต์ทั้งปวง คือ พระอรหันต์ขั้นปฏิสัมภิทาญาณ มีทั้งอภิญญา 6 มีทั้งเตวิชโช คลุมทั้งพระอรหันต์สุขวิปัสสโก แถมยังมีคุณพิเศษอีก 4 อย่าง คือ

1. อัตถาปฏิสัมภิทา มีปัญญาแตกฉาน ฉลาดในการอธิบายถ้อยคำที่ยากเป็นง่าย ย่อความเรื่องราวพิสดารให้ง่าย สั้นได้ใจความชัดเจน

2. ธัมมปฏิสัมภิทา ฉลาดในการอธิบายหัวข้อธรรมที่พิสดารยากที่จะรู้ ท่านทำให้ง่ายเข้าใจชัดเจนในหัวข้อธรรมนั้นๆ

3. นิรุตติปฏิสัมภิทา มีความเฉลียวฉลาดในภาษาทุกๆ ภาษา รวมทั้งภาษาสัตว์ รู้และเข้าใจภาษาทุกภาษาโดยไม่ต้องเรียนได้อย่างอัศจรรย์

4. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา มีปฏิภาณว่องไว เฉลียวฉลาด สามารถแก้ปัญหาทุกปัญหาได้อย่างอัศจรรย์

พระ คุณเจ้าหลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง อุทัยธานี ท่านเขียนไว้ในคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน ถึงความแตกต่างของพระผู้ทรงอภิญญา 6 กับพระปฏิสัมภิทาญาณ ดังนี้



พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ
1. ท่านได้ฝึกกสิณ 10 และทรงอภิญญามาก่อนจนชำนาญครบทุกกอง

2. แล้วท่านเข้าฌานในกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งจนถึงฌานที่ 4

3. แล้วปล่อยนิมิตในกสิณแล้วภาวนาเจริญอรูปฌาน 4

4. ต้องสำเร็จมรรคผลอย่างต่ำเป็นพระอนาคามี หรือพระอรหัตผลก่อน

5. ผล หรือคุณพิเศษปฏิสัมภิทาญาณจึงจะปรากฏบังเกิดเมื่อท่านบรรลุอรหัตผล

พระอรหันต์อภิญญา
1. ท่านปฏิบัติกสิณ 10 ครบจนชำนาญ

2. อย่างน้อยได้กสิณ 8 อย่างยกเว้น อาโลกกสิณ และอากาศกสิณ

3. เมื่อชำนาญกสิณทั้ง 8 หรือทั้ง 10 ได้ทั้งๆ ที่เป็นฌานโลกีย์ ท่านก็ทรงอภิญญาได้

4. นักปฏิบัติที่ไม่เคยฝึกเรียนกสิณเลย หรือทรงกสิณได้บางส่วนแต่ยังไม่ถึงขั้นอภิญญา แล้วท่านมาเรียนปฏิบัติในอรูปฌานนี้ย่อมปฏิบัติไม่สำเร็จ เพราะการที่ทรงอรูปฌานได้ต้องใช้กสิณ 9 ประการ คือ ปฐวี เตโช วาโย อาโป นิล ปิตะ โลหิต โอทาตะ อาโลกะ เว้นอากาศกสิณอย่างเดียว ทั้ง 9 กสิณนี้เป็นรากฐานของอรูปฌาน ต้องได้กสิณนั้นๆ ถึงฌาน 4 แล้วจึงเข้าอรูปฌานได้

กรรมฐานที่ 35 อากาสานัญจายตนะ หรืออรูปฌานที่ 1

กรรมฐาน กองนี้เรียกอีกอย่างว่า สมาบัติ 5 ในวิสุทธิมรรค ท่านกล่าวว่า ผู้ที่จะเข้ากรรมฐานอรูปฌานอากาสานัญจายตนะ ต้องเข้าฌานในกสิณ 10 กองใดกองหนึ่งให้เป็นฌาน 4 ก่อน แล้วขอให้นิมิตกสิณกองนั้นหายไป เพราะตราบใดที่มีรูปอยู่ก็เป็นปัจจัยให้มีความทุกข์ไม่จบสิ้น รูปกายคน กายสัตว์ กายเทวดาใดๆ ก็ตามที่มีก็ไม่คงทน แตกสลายในที่สุด เราไม่ต้องการในรูป กายใดๆ ทั้งสิ้นแล้วละทิ้งรูปนิมิตกสิณที่จับไว้เสีย ถืออากาศเป็นอารมณ์ จนวงอากาศเกิดเป็นนิมิต ที่มีขอบเขตกว้างใหญ่ แล้วอธิษฐานย่อให้อากาศเล็กใหญ่ตามประสงค์ จนจิตรักษาอากาศไว้เป็นอารมณ์ โดยกำหนดจิตใจว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ คือ อารมณ์เฉยนี้คือ อรูปฌาน 1 หรือ สมาบัติ 5 ต่อจากฌาน 4 เรียกว่าสมาบัติ 5

กรรมฐานที่ 36 วิญญาณัญจายตนะ หรืออรูปฌานที่ 2

หมาย ถึง ภาวนากำหนดวิญญาณ ซึ่งไม่มีรูปลักษณ์เป็นอารมณ์ เริ่มด้วยการจับกสิณ 10 เป็นรูปนิมิต ภาวนาอันใดอันหนึ่งก่อนจนจิตเป็นฌาน 4 เปลี่ยนจากกสิณนิมิตเป็นภาพอากาศกสิณแทน จนจิตนิ่งเฉยดีแล้วเปลี่ยนจากอากาศโดยตั้งใจกำหนดจดจำว่าอากาศที่เป็นนิมิต นี้ถึงแม้จะไม่มีรูปก็ตาม แต่ก็ยังหยาบอยู่มาก เราจะทิ้งอากาศเสีย จับเอาเฉพาะวิญญาณตัวรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ เป็นอารมณ์ แล้วกำหนดทางจิตว่า วิญญาณ ความรู้สึกทางอายตนะ 6 ทั้งหลายเวิ้งว้างกว้างใหญ่หาที่สุดมิได้ จิตรู้ว่าวิญญาณกว้างใหญ่ไม่มีที่สิ้นสุด นามรูป วิญญาณคน สัตว์ ผี เทพ พรหมยังมีความรู้สึกทางวิญญาณ ถ้าจิตติดในรูปวิญญาณของผี เทวดา พรหมก็ยังคงเวียนว่าย ตาย เกิดไม่มีที่สิ้นสุด เราไม่ต้องการมีวิญญาณ เพราะยังไม่หมดทุกข์ ยังมีความรู้สึกทางระบบประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คิดอย่างนี้ตลอดจนจิตตั้งเป็นอุเบกขารมณ์ วางเฉยอย่างเดียว ท่านเรียกว่า สมาบัติที่ 6

กรรมฐานที่ 37 อากิญจัญญายตนะ หรือ อรูปฌานที่ 3

ภาวนา ต่อจากอรูปฌานที่ 2 คือ วิญญาณัญจายตนะ โดยเข้าฌาน 4 ในวิญญาณ กำหนดวิญญาณไม่มีจุดจบสิ้นแล้ว ถ้าจิตยังติดอยู่ในวิญญาณเพียงไร ก็ต้องเวียนว่าย ตายเกิดไม่มีวันสิ้นสุด เหมือนวิญญาณฉันนั้น เปลี่ยนจากวิญญาณออกไป เราไม่ต้องการอากาศไม่ต้องการวิญญาณ เพราะยังไม่จบการเวียนว่าย ตาย เกิด ยังไม่พ้นทุกข์ คิดว่าอากาศไม่มี วิญญาณไม่มี คือ ไม่มีอะไรเลยแม้แต่น้อยนิด ถ้ามีก็พังสลายเปลี่ยนแปลงไม่มีที่สุด จิตจับเอาความว่างเปล่าไม่มีอะไรเหลือจะได้ไม่มีทุกข์ต่อไป การไม่มีอะไรในอากาศ และวิญญาณปลอดภัยจากทุกข์ภัยอันตราย แล้วกำหนดจิตไม่เอาทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่มีอะไรทั้งหมดในจิต จนจิตเป็นหนึ่ง คือ วางเฉยเป็นอุเบกขารมณ์ เรียกว่า สมาบัติที่ 7


กรรมฐานที่ 38 เนวสัญญานาสัญญายตนะ หรืออรูปฌานที่ 4

อรูป ฌาน 4 หรือสมาบัติ 8 เริ่มจากอรูปฌาน 1 เข้าอรูปฌาน 2 แล้วเข้ารูปฌาน 3 คือ อากิญจัญญายนตนะ จนจิตวางเฉยเป็นหนึ่งเดียวจากความไม่มีอะไรเหลือ แม้แต่น้อยนิด ยังมีเหลือแต่จิตที่ยังมีความจำได้หมายรู้ จำชื่อ จำเพศ จำบิดา มารดา จำคนรัก จำทรัพย์สมบัติตนเองตราบใดที่ยังมีความจำได้หมายรู้ ความรู้สึกสุขๆ ทุกข์ๆ จากการจดจำยังมีอยู่ ถ้าการพลัดพรากจากของที่จำได้ ก็ยังมีความอาลัย อาวรณ์ เสียดาย ก็ทิ้งอารมณ์จิตที่จำอะไรน้อยนิดหนึ่งไม่มีเลยนั้นเสีย แล้วกำหนดจิตเอาว่า ต่อแต่นี้ไปเราจะไม่มีสัญญาความจำ คือ ทำความรู้สึกว่าแม้มีความจำอยู่ก็เหมือนไม่มีความจำ ทำความรู้สึกว่าแท้ที่จริงมีความจำอยู่ก็เหมือนไม่มีความจำ จิตเพิกเฉยไม่ยอมรับรู้ความจำ ทำตัวเหมือนหุ่นเคลื่อนที่ที่ไร้วิญญาณ ไม่มีความรู้สึกใดๆ ในร่างกาย ไม่มีความจำใดๆ ในโลก เพราะความจำทำให้จิตยึดติดกับความจำเป็นเหตุของทุกข์ ต้องมีร่างกาย เวียนว่าย ตาย เกิด ไม่ยอมรับรู้อารมณ์ใดๆ หนาว ร้อน หิว กระหาย เจ็บปวดของร่างกาย จิตไม่รับรู้ คือ ไม่จำร่างกายทั้งรูปนามขันธ์ 5 ว่าเป็นของเรา เพราะจริงๆ แล้วไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของใครเขา ขันธ์ 5 ร่างกายเป็นเพียงหุ่นเคลื่อนที่ ที่จิตเรามาอาศัยชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น จิตไม่ดิ้นรนกระวนกระวายกับความทุกข์กาย ทุกข์ทางเวทนาทางอารมณ์ใจ มีความทุกข์ใจหนักใจในสัญญาความจำ ทุกข์ทางสังขารความคิดดีคิดชั่วทั้งหลาย ความคิดเป็นทุกข์ทางวิญญาณระบบประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กายใจ ไม่สนใจอะไรทั้งหมด เพราะไม่ใช่ของจิต มีชีวิตทำเสมือนคนตายด้าน คือ ปล่อยตามเรื่องของร่างกาย ไม่สนใจปล่อยวางร่างกายออกจากจิตทั้งรูป ทั้งนาม จนจิตแน่นิ่งอยู่ในการวางเฉย แบบนี้ท่านเรียกว่าอรูปฌาน 4 หรือสมาบัติ 8


Create Date : 18 มีนาคม 2553
Last Update : 18 มีนาคม 2553 17:45:48 น. 0 comments
Counter : 669 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

jenas79
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add jenas79's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.