Group Blog
 
All blogs
 
The Loyal Royalist

เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ระหว่างที่ผมใช้เวลาเดินสำรวจร้านรวงภายในสนามบินโคเปนเฮเกน สายตาของผมก็ไปสะดุดกับชุดจาน ชาม และถ้วยกาแฟกระเบื้องหลากทรงทั้งสีขาวล้วน และสีขาวลายน้ำเงินเข้า สินค้าต่างๆ ตั้งแต่ถ้วย จาน ชาม ตุ๊กตากระเบื้องรูปต่างได้ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบและลงตัว เหมาะกับบรรยากาศในร้านสีขาวสะอาดตาได้อย่างดูดีมีรสนิยมไม่หยอกเลยทีเดียว ความสวยงามในงานออกแบบของเครื่องกระเบื้องชิ้นต่างดึงดูดให้ผมต้องเดินเข้าไปชมและหยิบจับสัมผัสดู แต่ทันทีที่สายตาเหลือบไปเห็นราคาแล้วก็วางมันลงอย่างเงียบๆ และทำได้แต่เพียงแอบเก็บความงามของมันเอาไว้ในความทรงจำ

แต่ใครจะคิดเหล่าครับว่าอีก 5 ปีต่อมา ผมจะได้ครอบครองจานกระเบื้องพะยี่ห้อ Royal Copenhagen ชิ้นแรกในชีวิต ทั้งๆ ที่เมื่อย้อนเวลาไป 5-6 ปีที่แล้ว ผมมั่นใจได้ว่าจานข้าวใบละ 600 - 700 โครนคงไม่ได้กินเงินจากกระเป๋าสตางค์ผมแน่ๆ แต่ในที่สุดจานกระเบื้องลายสวยชิ้นแรกก็ตกมาอยู่ครอบครองของผมจนได้ เมื่อเพื่อนๆ ที่ทำงานซื้อให้เป็นของขวัญ ผมยิ่งตกหลุมรักเครื่องกระเบื้องของ Royal Copenhagen มากขึ้นอีกเป็นกอง ตั้งแต่ผมได้เข้ามาทำงานที่โคเปนเฮเกน ผมมีธุระที่ต้องเดินผ่านร้าน Royal Copenhagen ตรง Amagertorv เป็นประจำทุกวัน ไม่วายที่ผมจะเถลไถลโฉบเฉี่ยงแวะเข้าไปดูไปชมอยู่บ่อย ถึงแม้ว่ากำลังทรัพย์จะไม่พอที่จะหาซื้อได้ทุกวันเหมือนซื้อผักซื้อปลาก็ตาม แต่แค่ได้เห็นได้ชมก็เป็นสุขใจแล้วครับ ในช่วงนี้ที่หาเรื่องเขียนในบล็อกไม่ได้ ก็เลยถือโอกาสขอเอาเรื่องราวความเป็นมาของเครื่องกระเบื้องของ Royal Copenhagen มาเขียนเลยก็แล้วกันครับ

เรื่องราวของ Royal Copenhagen เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 1770s เมื่อ Frantz Heinrich Müller เภสัชกรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านเคมีและแร่ธาตุ ได้ลองผิดลองถูกทดลองส่วนผสมของดินที่ใช้ทำเครื่องกระเบื้องซึ่งมีที่มาจากเมืองจีน โดยสูตรนี้มีผู้ผลิตสัญชาติยุโรปอย่าง Meissen ได้ค้นพบภูมิปัญญาของชาวจีนและผลิตเครื่องกระเบื้องเนื้อขาวเป็นรายแรกในยุโรป Meissen ได้พยายามเก็บรักษาความลับของส่วนผสมนี้ไว้ได้นานหลายปี แต่แล้วในที่สุดสูตรลับก็ถูกเผยแพร่ออกมา รวมทั้งถูกตีพิมพ์เป็นหลายลักษณ์อักษรออกมาหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับช่วงที่ Müller เริ่มต้นการทดลองของเขา

ในปีค.ศ. 1774 Müller ได้เริ่มชักชวนนักลงทุนเข้ามาร่วมซื้อหุ้นในกิจการเครื่องกระเบื้องเดนนิช แต่มีผู้สนใจน้อยราย แต่ในที่สุดสมเด็จพระราชินี Dowager Juliane Marie พระราชโอรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช Frederik และพระรามาธิบดี Christian ที่ 7 ได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนในกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดภายใต้ชื่อ the Royal Chartered Porcelain Manufactory หรือ ‘Den Kongeligt Privilegerede Porcenlainsfabrik’ จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปีค.ศ. 1775

ในปีค.ศ. 1868 เอกชนได้เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองกิจการ หลังจากที่ Royal Danish Porcelain Manufactory อยู่ใต้พระอุปถัมภ์ของราชวงศ์เป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ ภายหลังจากการถอนทุนของ พระรามาธิบดี Christian ที่ 7 กิจการได้เปลี่ยนชื่อเป็น Royal Danish Porcelain Manufactory หรือ ‘Den Kongelige Danske Porcelains Fabri’ แต่ยังคงดำรงชื่อและตราสัญลักษณ์เดิมซึ่งแสดงถึงพระราชวงศ์ไว้ หลายปีหลังจากราวปีค.ศ. 1882 กิจการของ Royal Copenhagen ได้ถูกซื้อโดย Aluminia และได้้ย้ายโรงงานผลิตไปตั้งที่สถานที่ใหม่ในเขต Frederiksberg และร้านค้าแรกที่ชั้นหนึ่งของโรงผลิตบนถนน St. Kjøbmagergade เลขที่ 50 ที่เปิดในปี 1780 จึงถูกย้ายไปเปิดที่เลขที่ 10 Amagertorv และต่อในเวลาต่อมาที่ Amagertorv เลขที่ 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านในปัจจุบัน

ต่อมา Arnold Krog ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายศิลป์ โดยงานชิ้นแรกที่เขาได้รับมอบหมายคือการให้ชีวิตใหม่กับเครื่องกระเบื้องชุด Blue Fluted ซึ่งเป็นลายที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่การก่อตั้งกิจการในปี 1775 ความสนใจด้านการระบายสีและเขียนลายเครื่องกระเบื้องเคลือบของ Krog ทำให้เขาพัฒนาเทคนิคการลงสีก่อนการเคลือบ ทำให้สามารถเขียนลายที่เป็นทิวทัศน์และลายแบบธรรมชาติได้อย่างงดงามมากขึ้น เครื่องกระเบื้องเคลือบชุดใหม่ของ Royal Copenhagen ถูกนำไปแสดงในงาน World Exhibition ที่กรุงปารีสในปีค.ศ. 1889 ทำให้เครื่องกระเบื้องที่ผลิตโดยเทคนิคที่เกิดจากการพัฒนาของ Krog และกิจการของ ​Royal Copenhagen ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

ชื่อเสียงของเครื่องกระเบื้องเคลือบเดนนิชยิ่งระบือไกล เมื่อผู้ผลิตเครื่องกระเบื้องรายที่สองของเดนมาร์กอย่าง Bing & Grøndahl ได้เริ่มเปิดกิจการในปี 1853 The Royal Danish Porcelain Manufactory ซื้อกิจการเครื่องประดับอย่าง Georg Jensen และรวมกิจการกับ Holmegaard ผู้ผลิตเครื่องแก้วและดำเนินกิจการภายใต้ชื่อบริษัท Royal Copenhagen A/S โดยที่ Bing & Grøndahl ได้เข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มธุริกิจในปี 1987 ตามมาด้วยการรวมกิจการของ Hans Hansen ในปี 1991 และ Orrefors Kosta Boda และ Boda Nova-Höganäs Ceramics of Sweden ในเวลาต่อมา ซึ่งดำเนินกิจการภายใต้ชื่อบริษัท Royal Scandinavian A/S

ในปัจจุบัน Royal Copenhagen มีร้านค้าหลักอยู่บน Strøget ถนนสายช้อปปิงสายหลักของโคเปนเฮเกน ตั้งอยู่บริเวณ Amagertorv และ Factory Outlet ที่โรงงานผลิตเดิมใน Frederiksberg ที่นี่จะมีสินค้าประเภทมีตำหนิขายในราคาย่อมลงมาหน่อยจากสินค้าเกรดหนึ่ง และก็ยังมีร้านย่อมๆ ที่สนามบินโคเปนเฮเกนซึ่งเป็นที่แรกที่ผมได้พบรักกับ Royal Copenhagen นอกจากนั้นยังมีร้านที่กรุงโตเกียว และเมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น และที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย หากมีโอกาสไปเดินเล่นทอดน่องในร้าน Royal Copenhagen ที่ Amagertorv จะร้องอ๋อว่าทำไมจึงมีร้านไปเปิดที่ญี่ปุ่นและเกาหลี เพราะดูจะมีนักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศพาเหรดเข้าออกร้านเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ

ด้านบนของร้าน Royal Copenhagen ที่ Amagertorv มีพิพิธภัณฑ์ให้ได้เดินชมเครื่องกระเบื้องชุดต่างๆ ที่เคยมีการผลิตมา หากเมื่อยล้ากับการเดินข้างร้านยังมี Royal Café ให้นั่งจิบชา กาแฟ และ Smørrebrød หรือแซนวิชหน้าเปิดหลากชนิดให้เลือกชิม อร่อยหรือไม่ผมไม่ทราบเพราะไม่เคยไปชิม แต่ก็อาจจะได้บรรยากาศดีไปอีกแบบนะครับ




Create Date : 27 กรกฎาคม 2551
Last Update : 28 กรกฎาคม 2551 5:58:29 น. 1 comments
Counter : 2795 Pageviews.

 
ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ


โดย: D IP: 49.49.58.242 วันที่: 28 สิงหาคม 2564 เวลา:14:05:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

gulochblaa
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add gulochblaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.