Group Blog
 
All blogs
 

Blue Fluted Mega...เก่าสู่ใหม่



เมื่อวันก่อนเขียนเรื่องประวัติของ Royal Copenhagen แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออกว่าไอ้ที่ฝรั่งเรียกว่า 'porcelain' นั้น ภาษาไทยเราใช้คำเรียกเช่นไร เขียนๆ ไปก็เลยตัดสินใจใช้คำว่า 'เครื่องกระเบื้องเคลือบ' แทนคำภาษาฝรั่ง แต่พอมาเริ่มเขียนเรื่องนี้กลับนึกถึงคำคำหนึ่งออกคือ 'เครื่องกระเบื้องลายคราม' ซึ่งน่าจะเป็นคำไทยที่เหมาะสมกว่า ตอนแรกที่ไม่ได้นึกคำคำนี้เลย อาจจะเป็นเพราะคำว่า 'ลายคราม' นั้นฟังดูเป็นของเก่าโบร่ำโบราณ เพราะที่บ้านผมเองก็มีโถลายครามใบโตที่แม่ได้รับเป็นมรดกชิ้นโตต่อมาจากยาย ค่อนข้างเก่ามาก จะหยิบจะจับเคลื่อนย้ายก็ต้องระวังมือ ถะนุถนอม เพราะว่าเริ่มแตกลายงาทั้งใบแล้ว ลวดลายก็ตามแบบฉบับเครื่องลายครามจีนหรือไทยโบราณไม่ทราบแน่ชัด แต่พินิจพิเคราะห์ดูแล้ว สมองผมทำงานผิดไปถนีดที่นึกเชื่อมโยงเครื่องลายครามกับความเก่าคร่ำครึ เพราะคำว่า 'ลายคราม' ก็บอกความหมายอยู่ในตัวอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องกระเบื้องลายสีคราม ตรงตัว ไม่อ้อมค้อม   กระนั้นถึงแม้ว่าเครื่องกระเบื้องลายครามของ Royal Copenhagen จะเริ่มผลิตมานานกว่าสองร้อยปีแล้ว แต่ลวดลายที่วาดอยู่บนเครื่องกระเบื้องเหล่านั้น ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปตามกาลสมัย แต่ยังคงสามารถดำรงเอกลักษณ์ของความเป็น Royal Copenhagen เอาไว้ได้อย่างดี ผ่านมือนักสร้างสรรค์รุ่นแล้วรุ่นเล่า

หนึ่งในกระบวนการเก่าสู่ใหม่นี้ทำให้เกิดผลงานชุดลายครามชุดหนึ่งขึ้นมา ชื่อชุดว่า  Mussel Mega  หรือ Blue Fluted Mega เกิดจากการสร้างสรรค์ของ Karen Kjædgård-Larsen
นักออกแบบไฟแรงชาวเดนนิชวัยเพียง 26 ปี  โดยที่เธอเดินเข้ามาที่ Royal Copenhagen และนำเสนอความคิดสร้างสรรค์ของเธอให้ Royal Copenhagen การเจรจาจบลงด้วยการที่เธอได้รับหน้าที่ให้เป็นหัวหอกในงานสร้างสรรค์ชุด Blue Fluted Mega ซึ่งถือเป็นการปรับโฉมรับการเข้าสู่ปี 2000 เลยก็ว่าได้ Kjædgård-Larsen ได้บอกว่าเธอนั้นมีความผูกพันธ์และเติบโตมากับเครื่องกระเบื้องลายครามอย่าง 'Blue Fluted' มาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นเธอจึงหลงใหลในความเป็นเอกลักษณ์ในงานแต่ละชิ้น ซึ่งลวดลายที่ปรากฏอยู่บนชิ้นงาน ถูกวาดขึ้นมาด้วยมือของช่างทุกใบ ทำให้แต่ละใบมีเอกลักษณ์ของตัวมันเอง

นอกจากนี้เธอยังกล่าวถึงงานของเธอครั้งนี้ว่า การปรับแค่เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้มันดูเห็นเด่นชัดได้ และผู้คนสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะความเป็นเอกลักษณ์ของ Royal Copenhagen ที่ติดตรึงอยู่ในหัวของคนเหล่านั้นมานานแสนนาน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงงานที่มีความเป็นเดนนิช งานที่มีคุณภาพสูง งานที่มีความเก่าและราคาสูงอย่าง เครื่องกระเบื้องลายครามชุด 'Blue Fluted' ต้องควรที่จะคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ที่ตราตึงอยู่ในใจผู้คนเสมอมาตลอดสองร้อยกว่าปี

ลายของ Blue Fluted Mega  นั้นเกิดจากการที่เธอเอาลายเก่าบนเครื่องลายครามที่ผลิตขึ้นมาตั้งแต่ก่อตั้งกิจการอย่าง Blue Fluted ซึ่งเป็นลายที่มีความละเอียดอ่อนหวาน จำเอาบางส่วนของลายมาขยายใหญ่แล้วปรับลายให้ดูเป็นแบบ graphic มากขึ้นตามสมัย ลายที่เธอขยายแล้วนำมาจับวางลงบนเครื่องกระเบี้องชิ้นต่างๆ ออกมาได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว ดูทันสมัย แต่ยังคงเป็นความเป็น  Blue Fluted ของ Royal Copenhagen ไว้ได้อย่างดีทีเดียว งานชุดนี้น่าจะเอาชนะใจชาวเดนนิชวัยหนุ่มสาวได้ไม่มากก็น้อย (อันนี้ความจริงเป็นอย่างไร ผมไม่รู้นะครับ แต่ผมว่าใครๆ ก็น่าจะอยากได้ไว้ในครอบครองครบชุด ถ้าราคามันไม่บาดใจบาดกระเป๋าสตางค์ขนาดนั้น) เพราะมันไม่ใช่เป็นเพียงแต่จาน ชามที่มีลวดลายโบร่ำโบราณ เคร่งขรึมในแบบฉบับของเครื่องโต๊ะอาหารสไตล์คลาสสิคอีกต่อไป ส่วนตัวผมว่าความใหม่ใน design ทำให้มันดูเข้ากับรูปแบบการตกแต่งบ้านแบบ minimalism หรือแบบ clean & simple ของชาวสแกนดิเนเวียนได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว อีกทั้งราคาที่ถูกลง เมื่อเทียบกับชุด Blue Flutedเพราะลวดลายปั้นของเนื้อกระเบี้องเองไม่ละเอียดเท่า แต่เป็นลักษณะแบบเรียบง่าย อีกทั้งตัวลวดลายเองที่ถูกจับมาขยายใหญ่ก็ทำให้ง่ายต่อการเขียนมากกว่าลายเล็กๆ ของ  Blue Fluted แบบดั้งเดิม ซึ่งคงใช้เวลาทำงานมากกว่าอยู่พอสมควร

         แต่ถึงกระนั้น ราคาต่อชิ้นสำหรับเราคนไทยก็ยังถือว่าแพงอยู่ดีละครับ อย่างจานก้นตื้นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 27 เซนติเมตร ก็ตกที่ราคาประมาณ 600  เดนนิชโครน เป็นเงินไทยก็คงประมาณ 3500 บาท ทานข้าวในจานใบละเท่านั้นนี่ไม่รู้่ว่าอาหารจะอร่อยล้ำขนาดไหนนะครับ แต่เรื่องแบบนี้เป็นความชอบส่วนบุคคลแหละครับ ของแบบนี้มองอีกทางก็เป็นการลงทุนระยะยาวนะครับ ในอีกหลายสิบปีของพวกนี้ก็เพิ่มมูลค่าขึ้น ทั้งทางใจและทางตัวเลข ของพวกนี้อยู่ได้นานวัน ไม่เน่าไม่เสีย (นอกเสียจากใครจะทำตกแตกเสียก่อน)

ผมเองก็ตกหลุมรักกับลายใหม่นี้เข้าให้อย่างจัง ใบแรกมีคนซื้อให้เป็นของขวัญ พอมีใบแรก ก็มีใบที่สอง สามตามมา ครับ ยอมรับว่าแพง ไร้สาระ แต่เห็นทีไรแล้วใจมันสั่น มือมันล้วงกระเป๋าโดยอัตโนมัติ ผมกะว่าจะสะสมไปเรื่อยๆ เริ่มจากจานก่อน แค่จานในขนาดเดียวกันมันก็มีอยู่ 8 ลายในหนึ่งชุดแล้วครับ เป็นการจัดวางลายต่างๆ กันออกไป กว่าจะเก็บได้ครบทั้งชุดคงได้เห็นผมขาวๆ บนหัวตัวเองก่อนเป็นแน่นอน แต่เพื่อความสุขครับ สะสมไปเรื่อยๆ เผื่อเอาออกมาจัดโต๊ะเลี้ยงแขกได้ (ใครทำแตก มีสงคราม) หรืออาจจะยกให้ลูกให้หลานในอนาคตก็เป็นได้ แต่ถึงจะเปลืองก็ต้องเปลืองอย่างฉลาดครับ เพราะ Royal Copenhagen เขามีของเกรดรองขายที่ Outlet ของเขาในเขต Frederiksberg ซึ่งจะเป็นพวกของมีตำหนินิดๆ หน่อยๆ บางทีอยู่ที่ใต้ก้นจาน เรื่องอะไรจะไปซื้อของเกรดหนึ่งเล่าครับ ของเกรดรองราคาถูกกว่าตั้ง 100 กว่าโครน เวลาซื้อจานหรือถ้วยลาย  ​Blue Fluted Mega ถ้าจำลายไม่ได้ว่ามีลายไหนแล้ว ที่ใต้จานจะเขียนเลขลายกำกับเอาไว้ตั้งแต่ลายที่ 1 ถึงลายที่ 8 บอกให้รู้จะได้ไม่ซื้อซ้ำ แต่ถ้าซื้อผิดก็สามารถเอาไปเปลี่ยนได้ครับ



เครื่องครัวชุดนี้เป็นชุดที่เจ้าฟ้าชาย Frederik  และเจ้าฟ้าหญิง Mary ทรงมีไว้ในครอบครองและทรงเครื่องประจำวันด้วยจานชามชุดนี้อีกด้วยนะครับ นอกจากจะมีจาน ชาม ถ้วยขนาดต่างๆ พร้อมถาดอบอาหาร ชุดกา ถ้วยชา กาแฟ เหยือกขนาดต่างๆ แล้ว เขายังนำลายไปทำสินค้าชนิดอื่นตั้งแต่เชิงเทียน ของตกแต่งตามเทศกาลอย่าง ของตกแต่งเทศกาลคริสมาสต์ กระดาษทิชชู่ ผ้ากันเปื้อน ร่ม ผ้าเช็ดมือในครัว และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีลายเดียวกันแต่เป็นสีดำด้วยนะครับ สำหรับเอาใจสาวกขาว-ดำ เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกันแค่เปลี่ยนสี แต่ส่วนตัวแล้วผมชอบสีครามนี้แหละให้ความรู้สึกร่วมสมัยและ classic ในเวลาเดียวกันดีทีเดียว

All photos are from www.royalcopenhagen.com




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 28 กรกฎาคม 2551 5:57:56 น.
Counter : 3066 Pageviews.  

The Loyal Royalist

เมื่อ 5-6 ปีที่แล้ว ระหว่างที่ผมใช้เวลาเดินสำรวจร้านรวงภายในสนามบินโคเปนเฮเกน สายตาของผมก็ไปสะดุดกับชุดจาน ชาม และถ้วยกาแฟกระเบื้องหลากทรงทั้งสีขาวล้วน และสีขาวลายน้ำเงินเข้า สินค้าต่างๆ ตั้งแต่ถ้วย จาน ชาม ตุ๊กตากระเบื้องรูปต่างได้ถูกจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบและลงตัว เหมาะกับบรรยากาศในร้านสีขาวสะอาดตาได้อย่างดูดีมีรสนิยมไม่หยอกเลยทีเดียว ความสวยงามในงานออกแบบของเครื่องกระเบื้องชิ้นต่างดึงดูดให้ผมต้องเดินเข้าไปชมและหยิบจับสัมผัสดู แต่ทันทีที่สายตาเหลือบไปเห็นราคาแล้วก็วางมันลงอย่างเงียบๆ และทำได้แต่เพียงแอบเก็บความงามของมันเอาไว้ในความทรงจำ

แต่ใครจะคิดเหล่าครับว่าอีก 5 ปีต่อมา ผมจะได้ครอบครองจานกระเบื้องพะยี่ห้อ Royal Copenhagen ชิ้นแรกในชีวิต ทั้งๆ ที่เมื่อย้อนเวลาไป 5-6 ปีที่แล้ว ผมมั่นใจได้ว่าจานข้าวใบละ 600 - 700 โครนคงไม่ได้กินเงินจากกระเป๋าสตางค์ผมแน่ๆ แต่ในที่สุดจานกระเบื้องลายสวยชิ้นแรกก็ตกมาอยู่ครอบครองของผมจนได้ เมื่อเพื่อนๆ ที่ทำงานซื้อให้เป็นของขวัญ ผมยิ่งตกหลุมรักเครื่องกระเบื้องของ Royal Copenhagen มากขึ้นอีกเป็นกอง ตั้งแต่ผมได้เข้ามาทำงานที่โคเปนเฮเกน ผมมีธุระที่ต้องเดินผ่านร้าน Royal Copenhagen ตรง Amagertorv เป็นประจำทุกวัน ไม่วายที่ผมจะเถลไถลโฉบเฉี่ยงแวะเข้าไปดูไปชมอยู่บ่อย ถึงแม้ว่ากำลังทรัพย์จะไม่พอที่จะหาซื้อได้ทุกวันเหมือนซื้อผักซื้อปลาก็ตาม แต่แค่ได้เห็นได้ชมก็เป็นสุขใจแล้วครับ ในช่วงนี้ที่หาเรื่องเขียนในบล็อกไม่ได้ ก็เลยถือโอกาสขอเอาเรื่องราวความเป็นมาของเครื่องกระเบื้องของ Royal Copenhagen มาเขียนเลยก็แล้วกันครับ

เรื่องราวของ Royal Copenhagen เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 1770s เมื่อ Frantz Heinrich Müller เภสัชกรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านเคมีและแร่ธาตุ ได้ลองผิดลองถูกทดลองส่วนผสมของดินที่ใช้ทำเครื่องกระเบื้องซึ่งมีที่มาจากเมืองจีน โดยสูตรนี้มีผู้ผลิตสัญชาติยุโรปอย่าง Meissen ได้ค้นพบภูมิปัญญาของชาวจีนและผลิตเครื่องกระเบื้องเนื้อขาวเป็นรายแรกในยุโรป Meissen ได้พยายามเก็บรักษาความลับของส่วนผสมนี้ไว้ได้นานหลายปี แต่แล้วในที่สุดสูตรลับก็ถูกเผยแพร่ออกมา รวมทั้งถูกตีพิมพ์เป็นหลายลักษณ์อักษรออกมาหลายฉบับด้วยกัน ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับช่วงที่ Müller เริ่มต้นการทดลองของเขา

ในปีค.ศ. 1774 Müller ได้เริ่มชักชวนนักลงทุนเข้ามาร่วมซื้อหุ้นในกิจการเครื่องกระเบื้องเดนนิช แต่มีผู้สนใจน้อยราย แต่ในที่สุดสมเด็จพระราชินี Dowager Juliane Marie พระราชโอรส สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช Frederik และพระรามาธิบดี Christian ที่ 7 ได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุนในกิจการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดภายใต้ชื่อ the Royal Chartered Porcelain Manufactory หรือ ‘Den Kongeligt Privilegerede Porcenlainsfabrik’ จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปีค.ศ. 1775

ในปีค.ศ. 1868 เอกชนได้เข้ามาเป็นเจ้าของครอบครองกิจการ หลังจากที่ Royal Danish Porcelain Manufactory อยู่ใต้พระอุปถัมภ์ของราชวงศ์เป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษ ภายหลังจากการถอนทุนของ พระรามาธิบดี Christian ที่ 7 กิจการได้เปลี่ยนชื่อเป็น Royal Danish Porcelain Manufactory หรือ ‘Den Kongelige Danske Porcelains Fabri’ แต่ยังคงดำรงชื่อและตราสัญลักษณ์เดิมซึ่งแสดงถึงพระราชวงศ์ไว้ หลายปีหลังจากราวปีค.ศ. 1882 กิจการของ Royal Copenhagen ได้ถูกซื้อโดย Aluminia และได้้ย้ายโรงงานผลิตไปตั้งที่สถานที่ใหม่ในเขต Frederiksberg และร้านค้าแรกที่ชั้นหนึ่งของโรงผลิตบนถนน St. Kjøbmagergade เลขที่ 50 ที่เปิดในปี 1780 จึงถูกย้ายไปเปิดที่เลขที่ 10 Amagertorv และต่อในเวลาต่อมาที่ Amagertorv เลขที่ 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งร้านในปัจจุบัน

ต่อมา Arnold Krog ได้เข้ามารับหน้าที่เป็นผู้จัดการฝ่ายศิลป์ โดยงานชิ้นแรกที่เขาได้รับมอบหมายคือการให้ชีวิตใหม่กับเครื่องกระเบื้องชุด Blue Fluted ซึ่งเป็นลายที่เริ่มผลิตมาตั้งแต่การก่อตั้งกิจการในปี 1775 ความสนใจด้านการระบายสีและเขียนลายเครื่องกระเบื้องเคลือบของ Krog ทำให้เขาพัฒนาเทคนิคการลงสีก่อนการเคลือบ ทำให้สามารถเขียนลายที่เป็นทิวทัศน์และลายแบบธรรมชาติได้อย่างงดงามมากขึ้น เครื่องกระเบื้องเคลือบชุดใหม่ของ Royal Copenhagen ถูกนำไปแสดงในงาน World Exhibition ที่กรุงปารีสในปีค.ศ. 1889 ทำให้เครื่องกระเบื้องที่ผลิตโดยเทคนิคที่เกิดจากการพัฒนาของ Krog และกิจการของ ​Royal Copenhagen ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง

ชื่อเสียงของเครื่องกระเบื้องเคลือบเดนนิชยิ่งระบือไกล เมื่อผู้ผลิตเครื่องกระเบื้องรายที่สองของเดนมาร์กอย่าง Bing & Grøndahl ได้เริ่มเปิดกิจการในปี 1853 The Royal Danish Porcelain Manufactory ซื้อกิจการเครื่องประดับอย่าง Georg Jensen และรวมกิจการกับ Holmegaard ผู้ผลิตเครื่องแก้วและดำเนินกิจการภายใต้ชื่อบริษัท Royal Copenhagen A/S โดยที่ Bing & Grøndahl ได้เข้ามาร่วมอยู่ในกลุ่มธุริกิจในปี 1987 ตามมาด้วยการรวมกิจการของ Hans Hansen ในปี 1991 และ Orrefors Kosta Boda และ Boda Nova-Höganäs Ceramics of Sweden ในเวลาต่อมา ซึ่งดำเนินกิจการภายใต้ชื่อบริษัท Royal Scandinavian A/S

ในปัจจุบัน Royal Copenhagen มีร้านค้าหลักอยู่บน Strøget ถนนสายช้อปปิงสายหลักของโคเปนเฮเกน ตั้งอยู่บริเวณ Amagertorv และ Factory Outlet ที่โรงงานผลิตเดิมใน Frederiksberg ที่นี่จะมีสินค้าประเภทมีตำหนิขายในราคาย่อมลงมาหน่อยจากสินค้าเกรดหนึ่ง และก็ยังมีร้านย่อมๆ ที่สนามบินโคเปนเฮเกนซึ่งเป็นที่แรกที่ผมได้พบรักกับ Royal Copenhagen นอกจากนั้นยังมีร้านที่กรุงโตเกียว และเมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น และที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย หากมีโอกาสไปเดินเล่นทอดน่องในร้าน Royal Copenhagen ที่ Amagertorv จะร้องอ๋อว่าทำไมจึงมีร้านไปเปิดที่ญี่ปุ่นและเกาหลี เพราะดูจะมีนักท่องเที่ยวจากทั้งสองประเทศพาเหรดเข้าออกร้านเป็นจำนวนมากเป็นพิเศษ

ด้านบนของร้าน Royal Copenhagen ที่ Amagertorv มีพิพิธภัณฑ์ให้ได้เดินชมเครื่องกระเบื้องชุดต่างๆ ที่เคยมีการผลิตมา หากเมื่อยล้ากับการเดินข้างร้านยังมี Royal Café ให้นั่งจิบชา กาแฟ และ Smørrebrød หรือแซนวิชหน้าเปิดหลากชนิดให้เลือกชิม อร่อยหรือไม่ผมไม่ทราบเพราะไม่เคยไปชิม แต่ก็อาจจะได้บรรยากาศดีไปอีกแบบนะครับ




 

Create Date : 27 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 28 กรกฎาคม 2551 5:58:29 น.
Counter : 2794 Pageviews.  


gulochblaa
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add gulochblaa's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.