Group Blog
 
All blogs
 

+ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน STAGFLATION มาถึงแล้ว?

+ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน STAGFLATION มาถึงแล้ว?


ผลพวงจากปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐ ฯกับอิหร่านในกรณีนิวเคลียร์ ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงอย่างไรหรือจะปะทุเป็นสงคราม ได้ส่งผลให้ทั่วโลกหวั่นว่าราคาน้ำมันที่พุ่งแตะ 75-80 ดอลลาร์สหรัฐ ฯต่อบาเรล อาจไม่ใช่จุดสุงสุด สถานการณ์ดังกล่าวยังกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ร่วงต่ำสุดในรอบ 7 ปี การเก็งกำไรของค่าเงิน และเป็น ชนวนที่ทำให้เงินเฟ้อและดอกเบี้ยทะยานสูงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง 3 ประสานที่เกิดพร้อมกันทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยปี 2549 มีแนวโน้มชะลอลง และคาดกันไปว่าอาจนำไปสู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจถดถอย ระดับเงินเฟ้อสูง ) หรือไม่ หากสถานการณ์ยังคงความรุนแรง
เศรษฐกิจ.ไทยเข้าสู่ภาวะ Stagflation?

ร.ศ. ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ภาวะ Stagflation เหมือนอดีตในเหตุการณ์"ออยช๊อค" ในขณะที่แบงก์ชาติยังใช้นโยบาย Cost push inflation (ผลักภาระ) หลังจากที่ภาครัฐใช้นโยบายควบคุมราคาสินค้ามาตลอด แต่สถานการณ์วันนี้ราคาสินค้าและต้นทุนหลายตัวพุ่ง อย่างอั้นไม่อยู่ ซึ่งอาจกระทบต่อกำลังซื้อคน การบริโภค ( Consumption ) หยุดทำงาน ในขณะที่การลงทุนก็อาจชะงัก เพราะต้นทุนสูง ขายไม่ออก จนส่งผลสร้างปัญหาด้านสังคมตามมา ทั้งการปล้นวิ่งราว หรือการเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างแรงงานขึ้น

" เป็นความยากในการบริหารนโยบายการเงินหรือนโยบายการคลัง เช่นการที่แบงก์ชาติใช้นโยบายดอกเบี้ยสูงในการคุมเงินเฟ้อ จนกดดันให้ดอกเบี้ยในตลาดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบต่อภาคการบริโภค ( Consumption ) แต่ไม่มีทางเลือก หรือการตึงค่าเงิน จนเงินบาทแข็งขึ้นกระทบภาคส่งออก แต่ในแง่กลับกันก็เป็นประโยชน์กับกลุ่มนำเข้า ซึ่งต้องไปชั่งกันว่าสถานการณ์นี้ ควรจะให้น้ำหนักใดเพราะทั้ง 2 ส่วนก็มีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทย
ด้าน ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาวะ stagflation เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2523 ( ค.ศ. 1980 ) ซึ่งเป็นช่วงเกิดสถานการณ์ออยช๊อค ระดับเงินเฟ้อของประเทศขณะนั้น สูงขึ้นเกินกว่า 10% เนื่องจากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากฐานราคาเดิมถึง 40% และ เศรษฐกิจปีนั้นหดตัวติดต่อเกิน 2 ไตรมาสแต่เมื่อเทียบกับภาวะปัจจุบันยังไม่น่าจะถึง เนื่องจากปัจจุบันยังมีดีมานด์ด้านการส่งออกที่ยังสูงอยู่ โดยเห็นได้จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลก หรือดัชนีที่จะชี้ให้ดูได้จากเศรษฐกิจคู่ค้า 11 ประเทศของไทยที่ยังเติบโตได้ในเกณฑ์ดี ถือเป็นตัววัดที่สำคัญ เพราะหากเศรษฐกิจคู่ค้าตกเพียง 1% ก็จะทำให้จีดีพีไทยหดหายไป 1% ด้วย เช่นเดียวกับ ดีมานด์การบริโภค ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และที่น่าห่วงคือการลงทุนที่ปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้ด้าน สศช. ก็ได้แสดงความเป็นห่วงภาคการบริโภค (consumption) .ในไตรมาสสอง ที่ส่อสัญญาณน่าเป็นห่วง
**น้ำมันปรับขึ้น1ดอลลาร์จีดีพีหด 0.2%
โดยก่อนหน้านี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค. ) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้น่าจะเติบโตระดับ 4.5-5.5% บนสมมุติฐานว่าราาคาน้ำมัน ดิบดูไบอยู่ที่ 56-60 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ บาเรล และจนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันเฉลี่ยตั้งแต่มกราคม- เมษายน 2549 ก็ยังอยู่ที่ค่าเฉลี่ย 59.28 ดอลลาร์ต่อบาเรล ซึ่งถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ แต่หากราคาน้ำมันดิบสูงเกินเกณฑ์ดังกล่าวในเดือนพฤษภาคมนี้ สศค.จะเริ่มปรับประมาณการใหม่ โดยราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น 1 ดอลลาร์สหรัฐ ฯ คาดว่าจะทำให้จีดีพีติดลบ 0.2% อัตราเงินเฟ้อเพิ่ม 0.3% เช่นเดียวกับค่าเงินที่แข็งค่ามากขึ้น ทุก 1 บาทต่อดอลลาร์จะส่งผลต่อจีดีพีที่ลดลง 0.29% แต่ค่าเฉลี่ยค่าเงิน ตั้งแต่ มกราคม-17 เมษายน ก็ยังอยู่ระดับ 39.09 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่สศค. ประมาณการไว้ 38.80-40.40 บาท ภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบันจึงยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ
*หวั่นเศรษฐกิจถดถอยหากดอกเบี้ยสูงสกัดเงินเฟ้อไม่อยู่
ด้านนางสาวถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าสถานการณ์ของน้ำมัน แม้จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจถึงขั้นนำไปสู่ภาวะ "Stagflation" เพราะอาจจะเร็วไป แต่มีความน่าเป็นห่วงอยู่มาก หากน้ำมันยังคงปรับราคาสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ก็อาจจะทำให้เกิดสภาวะดังกล่าวได้
" คงต้องรอดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง หากราคาน้ำมันยังอยู่ระดับสูงเช่นเดิม 2-3 เดือน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่มากก็น้อยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ถ้ายังคงต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง ปัญหาจะตามมาอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมาดูด้วยเช่นกันว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาจากปัจจัยใด เพราะหากราคาขยับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคมีมากขึ้นด้วย ก็แสดงว่าเศรษฐกิจของโลกอยู่ในสภาวะที่ดี และภาคการส่งออกของไทยยังคงสามารถดำเนินต่อไปได้
ตรงกันข้ามหากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น มาจากปัจจัยการขาดแคลน หรือภาวะสงคราม ก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกชะลอตัวเช่นเดียวกัน ซึ่งหากเกิดจากสภาวะดังกล่าวธุรกิจการส่งออกจองไทยก็จะถูกผลกระทบไปด้วย และก็อาจจะส่งผลกระทบไปสู่เศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ บล.ภัทรคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวระดับ4.5% แต่สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ต้องปรับประมาณการลดลง 0.25-0.5% มาอยู่ในระดับการเติบโตที่ 4-4.3% เท่านั้น โดยกรณีที่ราคาน้ำมันยังอยู่ที่ 70 ดอลลาร์/บาร์เรล จีดีพีมีแนวโน้มจะลดลงอยู่ที่ 4.3% แต่หากสูงเกิณเกณฑ์ดังกล่าว ภาพรวมเศรษฐกิจไทยน่าจะโตในระดับ 4%
"อัตราเงินเฟ้อน่าจะปรับขึ้นประมาณ 4-4.5% ณ ราคาน้ำมันที่ 70 เหรียญ/บาร์เรล และคาดว่าแบงก์ชาติน่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) อีกครั้งโดยยืนอยู่ที่ 5% และหยุด เพราะหากต้องปรับตัวสูงขึ้นไปกว่านั้น เศรษฐกิจของประเทศทั้งทางด้านการเงิน และการคลังจะมีอัตราเสี่ยงจนเกินไป และอาจจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจชะลอตัวในที่สุด"
* จีดีพีปี49ดันเต็มที่โตไม่เกิน 4%
เช่นเดียวกับ นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ กล่าวว่า ภาวะของ Stagflation จะเกิดต่อเมื่อเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวอย่างมาก พร้อม ๆกับเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และปัญหาของการว่างงาน แต่สถานการณ์ ณ ขณะนี้ ยังห่าง แม้ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้จะชะลอ แต่เป็นการชะลอจากเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวค่อนข้างสูงในช่วง 3 ปี (2546-2548 ) ที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 6% เทียบกับปีนี้ที่ขยายเพียง 4.-4.1%
ปัจจัยเสี่ยงทั้งราคาน้ำมันโลก ปัญหาสถานการเมืองในประเทศ และการเลื่อนโครงการเมกกะโปรเจ็ตต์ออกไป ได้ส่งผลให้ภาคการลงทุนชะลอตัว และการชะลอของกำลังซื้ออันเนื่องจากดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้น แต่ภาคส่งออกของไทยก็ยังขับเคลื่อนได้ดี โดยคาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2546-2547 ที่ส่งออกไทยขยายเพิ่มถึง 20% และในปี 2548 ที่อยู่ระดับ 15%
" หลายค่ายคงต้องปรับประมาณเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่ มาอยู่ในระดับ 4% จากเดิมที่คาดกันโดยเฉลี่ยที่ 4.5-5.5% ในขณะที่ธนาคารแสตนดาร์ด ฯ ประมาณไว้ตั้งแต่ต้นว่าเศรษฐกิจปี 2548 จะเติบโตที่ 4.5% และปี 2549 ที่ 4-4.1% บนสมมุติฐานราคาน้ำมันโลก (เบรนท์ ) อยู่ในค่าเฉลี่ยที่ 67 ดอลลาร์สหรัฐ ฯต่อบาเรล โดยที่เงินเฟ้อทั่วไปน่าจะควบคุมได้ในระดับที่ 4.9% และเงินเฟ้อพื้นฐานที่ 3.3% "
เธอยังเห็นว่าการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (อาร์พี ) ที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 4.75% น่าจะเป็นจุดใกล้พีคแล้ว โดยคาดว่าแบงก์ชาติจะปรับขึ้นอีกครั้งในเดือนมิถุนายน 0.25% มาอยู่ระดับ 5% เพราะเมื่อเทียบกับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ระดับ 3% กว่า นั่นแสดงว่าอัตราดอกเบี้ยแท้จริงเริ่มเป็นบวก 1% กว่าแล้ว ประกอบกับการที่ทางการได้เข้าไปแทรกแซงให้เงินบาทแข็งค่า ก็เป็นทางหนึ่งที่บรรเทากับปัญหาเงินเฟ้อไม่ให้สูงกว่าที่จะเป็น
" เศรษฐกิจไทยในช่วง 3 ปีที่ขยายโตค่อนข้งสูง คือปี 2545 โตระดับ 5.3% ,ปี 2546 ที่ระดับ 6.9% และปี 2547 ที่ 6.2% ในขณะที่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อต่ำจนติดดิน ทำให้แบงก์ชาติเริ่มหันมาใช้นโยบายดอกเบี้ยในการกำกับการโตของเศรษฐกิจไม่ให้เกิดการเร่งเกินไป โดยจะเห็นว่าดอกเบี้ยนโยบายอาร์พี 14 วัน เริ่มขยับปรับขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2547 จากที่อยู่ในระดับ 1.25% แต่เมื่อคุมภาวะเงินเฟ้อได้ จนอัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก จึงคาดว่าในครึ่งปีหลัง แบงก์ชาติน่าจะชะลอการใช้นโยบายดอกเบี้ย และหันมาให้ความสำคัญกับการเติบโตเศรษฐกิจขึ้นบ้าง " นางสาวอุสรา กล่าว
*รัฐกัดฟันดันส่งออกเป้าโต17%
สำหรับภาคส่งออก ปัจจัยบวกตัวเดียวที่เหลืออยู่ นางจันทรา บูรณฤกษ์ อธิบดีกรมการส่งเสริมการส่งออก ได้กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่าทั้งปี น่าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 17.5 % เมื่อเทียบกับปี 2548 หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าสูงถึง11,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯสูงสุดในรอบ 5 ปี เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 15.9 %
ขณะที่การส่งออกใน 3 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกเป็นมูลค่ารวม 29,561 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปีที่แล้วถึง 17.3% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรม
ในขณะที่การนำเข้าเดือนมีนาคม มีมูลค่า 10,775 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.32% และเป็นการนำเข้าในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ 29,965 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 6.73% ทำให้ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ไทยขาดดุลการค้า 404.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีทีแล้ว ที่ขาดดุลสูงถึง 2,876.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงถึง 86 % เป็นมูลค่า 2,471.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) ดร.อำพล กิตติอำพน เลาขาธิการ ฯ ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 4.5-5.5% บนสมมุติฐาน % บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยต่อปีที่ 56.4-60.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ราคาน้ำมันเฉลี่ยได้พุ่งไปแตะที่ 59.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล เทียบกับไตรมาสแรของปี 2548 ที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ ฯต่อบาเรล
3 ปัจจัยเสี่ยงที่สศช.ให้น้ำหนักคือ 1. ปัญหาราคาน้ำมัน 2.เงินเฟ้อ โดยไตรมาสแรก ( ณ มีนาคม 2549 )ที่ผ่านมาเงินเฟ้อได้ปรับตัวมายืนอยู่ที่ 5.6% และ 3.ปัญหากำลังซื้อของประชาชน อันเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายทางการเงิน"ดอกเบี้ยสูง" เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่มีจากสาเหตุจากราคาน้ำมัน
เช่นเดียวกับแบงก์ชาติที่ประเมินการณ์ตัวเลขใกล้เคียงกับสศช. และเตรียมจะทบทวนปรับลดในเร็วนี้ ๆ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้ไม่ได้ปีกว่าปี2548 และอาจจะเติบโตในระดับ 4% เท่านั้น ล่าสุด บริษัทจัดอันดับเครดิตประเทศของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจลงไปก่อนเหลือเพียง 4.3% จากเป้าเดิมที่คาดไว้ 5% โดยให้น้ำหนักในเรื่องความไม่ชัดเจนทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญ ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( สศช. ) ดร.อำพล กิตติอำพน เลาขาธิการ ฯ ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ระดับ 4.5-5.5% บนสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยต่อปีที่ 56.4-60.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ราคาน้ำมันเฉลี่ยได้พุ่งไปแตะที่ 59.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล เทียบกับไตรมาสแรของปี 2548 ที่ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ ฯต่อบาเรล เช่นเดียวกับแบงก์ชาติที่ประเมินการณ์บนตัวเลขที่ใกล้เคียงกัน แต่เตรียมจะทบทวนปรับลดในเร็วนี้ ๆ ล่าสุดบริษัทจัดอันดับเครดิตประเทศของบริษัทฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับประมาณการไปก่อนเหลือเพียง 4.3% จากเป้าเดิมที่คาดไว้ 5% โดยให้น้ำหนักในเรื่องความไม่ชัดเจนทางการเมืองเป็นประเด็นสำคัญประมวลจากกูรู –นักเศรษฐศาสตร์มหภาค คงพอสรุปได้ว่า ณ วันนี้การชะงักงันของเศรษฐกิจไทยอาจจะยังไม่เกิด แต่มีความไหวตัวและน่าเป็นห่วงไม่น้อย ขึ้นอยู่กับว่า 3 ประสานปัจจัยเสี่ยงของโลก รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงในประเทศจะลดความรุนแรงลง และนโยบายการเงินที่แบงก์ชาติใช้อยู่ จะสกัดปัญหาเงินเฟ้อได้แค่ไหน คำตอบคือผลลัพธ์ที่รอก่อนอยู่แล้ว.


ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2108 - 543





 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 15:17:16 น.
Counter : 642 Pageviews.  

หอการค้าต่างประเทศฟันธง เม็ดเงินลงทุนสะพัด ท่วมโลกแต่ไทยอาจจั่วลม

หอการค้าต่างประเทศฟันธง เม็ดเงินลงทุนสะพัด ท่วมโลกแต่ไทยอาจจั่วลม


นายปีเตอร์ จอห์น แวน ฮาเรน ประธานหอการค้าต่างประเทศ ประจำประเทศไทย เปิดเผยในการสัมมนาเรื่อง “แนวโน้มเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง” ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ว่า ภาพรวมประเทศไทย 6 เดือนหลังของปีนี้ จะมีความตื่นเต้นทางเศรษฐกิจมากยิ่งกว่า 6 เดือนแรกของปี โดยเฉพาะรัฐบาลประกาศว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้จะอยู่ที่ 4% ถือว่าต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ไทยจะมองเพียงการเติบโตในอัตราดังกล่าวไม่ได้ ต้องเปรียบเทียบกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกไปพร้อมๆกัน หากเศรษฐกิจ โลกขยายตัว ก็ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับจีดีพีของไทย
“จากนี้ไปผู้บริโภคจะเก็บเงินออมให้มากขึ้น เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์หลายๆเรื่อง ทำให้ ใช้จ่ายลดลง ขณะที่การลงทุนของต่างชาติที่จะเข้ามาในไทย สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่และต่อเนื่อง นักลงทุนต้องคำนึงถึงปัญหาการเมือง และดูถึงผลตอบแทนที่จะได้รับกลับคืนคุ้มค่าเพียงใด ส่วนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเป็นไปในลักษณะซื้อมาขายไป ไม่ถือหลักทรัพย์ไว้ในมือให้นานเกินไป”
นายปีเตอร์กล่าวว่า เม็ดเงินลงทุนในตลาดโลกยังมีจำนวนมาก โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป (อียู) จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ดังนั้น รัฐบาลจะทำอย่างไร ให้เม็ดเงินไหลเข้ามาในไทย เพราะนักลงทุนกลุ่มนี้ยังให้น้ำหนักในเรื่องของปัญหาการเมืองเป็นหลัก ก่อนมาลงทุน
“ไม่มีนักลงทุนรายใดต้องการลงทุนภายใต้สถานการณ์ การดูแลของทหาร หรือกฎอัยการศึกที่มีบรรยากาศที่น่ากลัว แต่ต้องการลงทุนภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดมาบริหารหรือนายกรัฐมนตรีจะเป็นใคร ทำให้เม็ดเงินเหล่านี้รอดูท่าทีของไทยว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดหรือไม่ เพราะนักลงทุนต่างชาติหลายคนไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้ง”
นายปีเตอร์กล่าวว่า นักลงทุนที่เป็นสมาชิกของหอการค้าต่างประเทศ เห็นตรงกันว่า แม้ไทยเป็นประเทศที่ได้เปรียบในการดึงนักลงทุน แต่เวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะเวียดนามผ่อนปรนเงื่อนไขลงทุนให้ต่างชาติ อาทิ ลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบจาก 13% เป็น 17% ทำให้มีเงินลงทุนไหลเข้าเวียดนาม 3 เดือนแรกปีนี้ 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯขณะที่ไทยมีเพียง 1,500 ล้านเหรียญฯ โดย 6 เดือนหลังของปีนี้ อียูเข้าไปลงทุนทั่วโลก จึงอยู่ที่ว่าไทยจะดึงการลงทุนได้เพียงใด
“รัฐบาลต้องทำให้การเมืองนิ่ง เงินเฟ้อไม่เพิ่มสูงขึ้น แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เร่งดำเนินการเรื่องกฎหมายค้าปลีกค้าส่งให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อเปิดประเทศรับการลงทุน หากยังไม่ดำเนินการอย่างไรเลย ใช้เวลาที่มีอยู่พูดไปอย่างเดียว นักลงทุนก็จะไม่เชื่อถือ และไม่เข้ามาในไทยในที่สุด”
นางพรศิริ มโนหาญ ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทย คงไม่ถึงตามเป้า 14.8 ล้านคน เพราะ 3 เดือนแรก มีเพียง 3.8 ล้านคน แต่มั่นใจว่ารายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 547,000 ล้านบาท เพราะ ททท.เร่งโรดโชว์ไปดึงนักท่องเที่ยวจากตลาดตะวันออกกลาง, แถบมหาสมุทรแปซิฟิก อินเดีย ให้มากขึ้น ในปีนี้มีกว่า 200 ประเทศที่เร่งประชาสัมพันธ์ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ถือเป็นการแข่งขันที่สูงมาก เพราะต่างมุ่งดึงลูกค้าตะวันออกกลาง
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า เดือน ม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ต่างชาตินำเงินมาลงทุน 95,600 ล้านบาท เนื่องจากนักลงทุนเชื่อมั่นว่าจะมีเลือกตั้ง ขณะที่ราคาหุ้นไทยถูกมาก เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน โดยราคาหุ้นต่อกำไร (พีอี) ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 9-10 เท่า ขณะที่พีอีของตลาดหุ้นมาเลเซียอยู่ที่ 17 เท่า สิงคโปร์อยู่ที่ 15 เท่า อินโดนีเซียอยู่ที่ 22 เท่า ต่างชาติมองว่าตลาดหุ้นจีน อินเดีย เวียดนาม ได้ปรับเพิ่มขึ้นร้อนแรงเกินไป ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสเป็นขาลงเล็กน้อย แต่มีโอกาสเป็นขาขึ้นมากกว่า จึงถือว่าเป็นตลาดดาวรุ่ง
“เมื่อไหร่คนไทยจะเชื่อมั่นตัวเองเสียที ขณะที่ต่างชาติมีความเชื่อมั่นได้ซื้อหุ้นไทยต่อเนื่อง เห็นได้จากเดือน ม.ค. ซื้อสุทธิ 12,000 ล้านบาท เดือน ก.พ.ซื้อ 17,000 ล้านบาท เดือน มี.ค.ซื้อ 1,000 ล้านบาท เดือน เม.ย.ซื้อ 11,000 ล้านบาท เดือน พ.ค. ซื้อ 24,000 ล้านบาท เดือน มิ.ย.ซื้อ 29,000 ล้านบาท เมื่อคนไทยมั่นใจเข้ามาซื้อหุ้นก็ต้องซื้อในราคาที่สูง ดัชนีหุ้นของประเทศต่างๆได้ปรับตัวทำนิวไฮ ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังไม่ถึงครึ่งที่เคยทำนิวไฮ 1,700 จุด ผมไม่ได้หวังขนาดนั้น เพราะดัชนีที่ปรับขึ้นในช่วงนั้น เกิดจากมีเงินไหลเข้ามา มีการกู้เงินมาเล่นหุ้น จนพีอีตลาดสูงถึง 33 เท่า ขณะที่พีอีของตลาดหุ้นไทย 10-11 เท่า ดอกเบี้ยต่างประเทศอยู่ที่ 2-3% ทำให้ต่างชาตินำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้นไทย”.




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 15:04:29 น.
Counter : 272 Pageviews.  

เอแบคโพลล์เผยประชาชนหนุนรัฐบาลสุรยุทธ์เดินหน้าสางปัญหาทุจริต

เอแบคโพลล์เผยประชาชนหนุนรัฐบาลสุรยุทธ์เดินหน้าสางปัญหาทุจริต



Created By......

ประชาชนหนุนรัฐบาลสุรยุทธ์เดินหน้าสางปัญหาทุจริตรัฐบาลทักษิณ ส่งเสริมคุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ระบุการชุมนุมขับไล่รัฐบาล-คมช.ส่งผลความนิยม ทักษิณ เสื่อม ขณะเดียวกัน ก็ไม่เชื่อมั่น กกต.จะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ได้ หวั่นการซื้อสิทธิขายเสียงยังเหมือนเดิม แนะรัฐบาลสร้างทุนทางสังคมให้กลุ่มพลังเงียบมีส่วนร่วมตรวจสอบมากขึ้น
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (The ABAC Social Innovation in Management and Business Analysis :ABAC SIMBA) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ผลงานรัฐบาล ความนิยมต่อนายกรัฐมนตรี และการเลือกตั้งใหม่ ในสายตาประชาชน: กรณีศึกษาประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 15 จังหวัดของประเทศ” จำนวนทั้งสิ้น 3,019 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.6 ติดตามข่าวการเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
เมื่อสอบถามตัวอย่างประชาชนถึงความพึงพอใจต่อการทำงานของรัฐบาล พบว่า อันดับแรก ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.3 พอใจการติดตามตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทักษิณ รองลงมาคือร้อยละ 60.8 พอใจการส่งเสริมคุณธรรมในสังคมไทย ร้อยละ 55.1 พอใจการส่งเสริมให้ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ร้อยละ 52.4 พอใจการส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ร้อยละ 51.6 พอใจการให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดทำร่างรัฐธรรมนูญทุกระดับ ร้อยละ 51.0 พอใจการแก้ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 42.7 พอใจการแก้ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี ร้อยละ 33.8 พอใจการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 32.2 พอใจการสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม การทำงานของรัฐบาลสองอันดับสุดท้ายที่ประชาชนพอใจน้อยที่สุด ได้แก่การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่น มีเพียงร้อยละ 28.5 และการจัดระเบียบสังคม เช่น ปัญหาสถานบันเทิงในย่านสถานศึกษาและที่พักอาศัยของประชาชน การมั่วสุมของเยาวชน เป็นต้น มีเพียงร้อยละ 21.6 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวม ตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 64.9 ยังเห็นควรให้โอกาสรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีทำงานต่อไปจนครบวาระตามที่เคยประกาศไว้ ในขณะที่เพียงร้อยละ 10.7 เห็นว่าไม่ควรให้โอกาส และร้อยละ 24.4 ไม่มีความเห็น





 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 14:48:50 น.
Counter : 272 Pageviews.  

แจงสี่เบี้ยเก็งกำไร “บาท” แค่ทฤษฎี

แจงสี่เบี้ยเก็งกำไร “บาท” แค่ทฤษฎี



created By.....

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สาเหตุที่ค่าเงินบาท ในตลาดซื้อขายเงินบาทต่างประเทศ (ออฟชอร์) ของวันที่ 16 ส.ค. 2550 ปรับตัวอ่อนค่าลงจนแตะที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีส่วนต่างกับตลาดซื้อขายเงินบาทในประเทศ (ออน-ชอร์) เพียง 1.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากมาตรการที่ ธปท.อนุญาตให้นักลงทุนสามารถย้ายการซื้อประกันความเสี่ยง จากตลาดออฟชอร์มาปิดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สวอป) ในตลาดออนชอร์ได้

ขณะที่นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อสายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า หลังจากอนุญาตให้นักลงทุนสามารถย้ายการซื้อประกันความเสี่ยง จากตลาดออฟชอร์มาปิดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าในตลาดออนชอร์ได้ จนถึงวันที่ 16 ส.ค.นี้ ได้อนุญาตไปแล้ว 25,000 ล้านบาท และน่าจะไม่มีการขออนุญาตเพิ่มเติมแล้ว ส่วนการทำประกันความเสี่ยงรายใหม่ๆในตลาดออฟชอร์ เชื่อว่าจะมีไม่มากแล้ว แม้ว่าสภาพคล่องเงินบาทในตลาดออฟชอร์จะไม่มากเหมือนก่อนออกมาตรการ 30% แต่ก็จะไม่ทำให้ค่าเงินบาท 2 ตลาดต่างกัน 3-4 บาทอีกส่วนการเก็งกำไรส่วนต่างระหว่างตลาดออนชอร์กับตลาดออฟชอร์เท่าที่ตรวจสอบเห็นว่าไม่มีช่องที่จะได้กำไร แต่จะได้ผลขาดทุน ดังนั้น ที่ว่ามีการเก็งกำไรได้น่าจะเป็นความคิดทางทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติได้โดยจากการตรวจสอบกรณีแรกการใช้บัตรเครดิต หรือบัตรเอทีเอ็ม กดเงินดอลลาร์ สหรัฐฯหรือซื้อสินค้าในต่างประเทศในช่วงก่อนหน้านี้ยอมรับว่าใช้เรตอัตราคาต่างกันจริงเพราะค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์และออนชอร์ไม่ต่างกัน
แต่ขณะนี้มีส่วนต่างกันมาก จึงได้ขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ได้เปลี่ยนมาใช้อัตราออนชอร์ทุกรายแล้ว กรณีที่ 2 คือ การนำเงินบาทออกไปยังชายแดนลาว กัมพูชา หรือสิงคโปร์ อังกฤษ และสหรัฐฯ หากลงที่สนามบินชางฮี ที่สิงคโปร์ เรตที่จะเอาบาทไปแลก (วันที่ 12-13 ส.ค.2550) อยู่ที่ 34.20บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งๆที่ราคาตลาดออฟชอร์อยู่สูงกว่านั้นและหากเก็บเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่ได้กลับมาแลกที่สนามบินสุวรรณภูมิ จะได้ราคา 33.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯเท่ากับขาดทุน 0.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ การแลกในตลาดลอนดอนและนิวยอร์กก็เช่นกัน จะขาดทุน 0.72 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการแลกเงินที่ด่านลาวและกัมพูชาก็เช่นกันเพราะในกัมพูชาเอาบาทไปแลกเป็นดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ที่ 34.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และในลาวอยู่ที่ 34.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อกลับมาแลกในตลาดออนชอร์ขาดทุนเช่นกันส่วนกรณีสุดท้ายบริษัทลูกไม่สามารถที่จะส่งเงินบาทออกไปเป็นกำไรหรือชำระราคาสินค้าให้บริษัทแม่ได้แต่จะต้องแลกเป็นดอลลาร์สหรัฐฯในเมืองไทยก่อนส่งไปต่างประเทศ.


ที่มา: ไทยรัฐปีที่ 58 ฉบับที่ 18106 วันเสาร์ ที่ 18 สิงหาคม 2550




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 14:44:04 น.
Counter : 551 Pageviews.  

โลกอนาคตของ USA

โลกอนาคตของ USA



created By...Gift

จากการที่เงินดอลล่าร์อ่อนค่าลงทำให้ชาติต่างๆพยายามลดการถือเงินดอลล่าร์น้อยลง และการที่ USA ขาดดุลการค้าอย่างหนักพร้อมกับขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่หาช่องทางอุดช่วงว่างโดยการออกพันธบัตร ในระยะยาวอีก 10-20 ปี การรวมกลุ่มทางการเงินของเอเชีย ทวีปต่างๆจะแข็งแรงขึ้นมาก การออกพันธบัตรเพื่อระดุมทุนของUSA จะลำบากขึ้น(ต้องให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้น) รวมทั้งความสำคัญของเงินสกุลดอลล่าร์จะน้อยลง เพราะมีการใช้เงิน EU มากขึ้น และประเทศต่างๆจะซื้อขายโดยใช้เงินสกุลประเทศคู่ค้ากันมากขึ้น เช่นในเอเชียต่อไปจะซื้อขายโดยการใช้เงินสกุลเอเชียกันมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือการสูญเสียควมได้เปรียบทางการแข่งขันเพราะการผลิตของ USA 49% อยู่ท่ธุรกิจ IT ซึ่งอินเดียกำลังพัฒนาตนเองในด้านนี้อย่างเต็มที่ รวมทั้งจีนที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าภายใน 10 ปีจีนจะก้าวสู่ประเทศที่มีความยิ่งใหญ่ทางด้าน IT เป็นอันดับ 2 ของโลก การย้ายฐานการผลิตจากUSA ออกไปสู่ประเทศที่ที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกจะมากขึ้น โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีฐานการผลิตในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า(โดยส่วนใหญ่คือประเทศกำลังพัฒนา) ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงมีความจำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตไปยังนอกประเทศ เพื่อรักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำและผลประโยชน์อื่นๆ เช่นอยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ ใกล้ตลาดผู้บริโภค ฯซึ่งเมื่อมีการย้ายฐานการผลิตจำนวนมาก จะเป็นผลทำให้การว่างงานในประเทศสูงขึ้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นน้อยลง เพราะต้นทุนที่แพงจะสู้การไล่ตามของชาติต่างๆ เช่น จีน อินเดีย ได้ยาก ยังไม่นับรวมประเทศอื่นๆที่พยายามพัฒนาด้านIT ไล่ตามมา การที่ประเทศต่างๆเบี่ยงเบนการส่งออกที่พุ่งไปยังUSA เป็นหลักเปลี่ยนเป้าหมายไปยังจีน อินเดีย ที่มีประชากรจำนวนมากมากแทน ปัจจุบันธุรกิจมากมายได้เริ่มหันมาสนใจตลาดของประเทศที่มีประชากรเยอะๆอย่างจีนกับอินเดียมากขึ้นเพราะถ้าหากดำเนินธุรกิจได้ดีในประเทศเหล่านี้จะทำให้ชายสินค้าได้ปริมาณมากตามจำนวนของประชากรด้วย (ประเทศเหล่านี้มีการเติบโตของ GDPที่สูงเมื่อประเทศเจริญมากขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศกลายเป็นบริษัทข้ามชาติ พอเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวมาก GDP มีการเติบโตที่สูง ทำให้เกิดเงินเฟ้อ เป็นผลให้ค่าจ้างในประเทศปรับตัวสูงขึ้น) เป็นผลให้อำนาจต่อรองทางการเมืองของอเมริกาน้อยลง เพราะประเทศส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับประเทศคู่ค้าหลักเป็นสำคัญเมื่อส่งออกสินค้าต่างๆไปUSA น้อยลง การให้ความสำคัญก็น้อยลง การที่USA จะใช้วิธีการให้ประเทศต่างๆยอมทำตามนโยบายตนเองโดยอาศัยการบังคับจากการค้าขายระหว่างปรัเทศจะทำได้น้องลง(USAมักให้สิทธิพิเศษทางการค้ากับประเทศที่ยอมทำตามนโยบายตนเอง และใช้มาตรการกีดกันการค้ากับประเทศที่ไม่ยอมทำตามนโยบายตนเอง)ซึ่งทำให้USAมีอำนาจต่อรองต่างๆได้น้อยลงซึ้งเป็นผลดีกะประเทศหลายประเทศที่ถูกสหรัฐเอาเปรียบ
ด้วยสาเหตุหลักๆดังนี้
- การที่ประเทศต่างๆพยายามใช้ดอลล่าร์เป็นสื่อกลางในการค้าขายน้อยลง ใช้เงินสกุลประเทศคู่ค้ามากขึ้น
- การที่มีกองทุนของทวีปต่างๆมากขึ้น เช่น พันธบัตรเอเชีย ฯ ทำให้ต้นทุนในการออกพันธบัตรเพื่อระดมทุน ลดปัญหาการขาดดุลการค้า การค้าดุลบัญชีเดินสะพัด ต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น
- การที่ประเทศต่างพยายามพัฒนาธุรกิจIT ของตนเองให้มากขึ้นโดยเฉพาะ จีน และอินเดีย ฯ เหล่านี้เป็นแรงบีบคั้นต่อ USA เพราะ USA มีการผลิต49% อยู่ที่ธุรกิจ IT
- การที่demand ในประเทศจีน และอินเดียมีขนาดที่ใหญ่และประเทศมีการเติบโตของGDP ที่สูงทำให้ประเทศต่างๆพยายามส่งออกมายัง 2 ประเทศนี้มากขึ้นทำให้อำนาจต่อรองระหว่างประเทศของ 2 ประเทศนี้สูงขึ้นและทำให้อำนาจต่อรองของ USA น้อยลง


ที่มา: สัมฤทธิ์ ศรีสุวรรณรัตน์




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 14:29:59 น.
Counter : 786 Pageviews.  

1  2  3  

IBM_AGood
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add IBM_AGood's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.