Group Blog
 
All blogs
 

ภาวะโลกร้อน... ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ

ภาวะโลกร้อน... ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ




Created..By....คุณชายยิ่ว


ปัญหาโลกร้อนเริ่มส่งผลกระทบต่อมนุษยชาติอย่างชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ทั่วโลกต่างพยายามหาหนทางแก้ไข โดยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ของประเทศไทยในช่วงเวลานี้คือ ผลกระทบที่คนไทยสามารถรับรู้ และสัมผัสได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2443-2543) อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส และคาดว่าในช่วง 100 ปีข้างหน้า ความร้อนบนผิวโลกจะเพิ่มขึ้นอีก 3.0-4.0 องศาเซลเซียส
ขณะที่ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า อุณหภูมิของประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน 2550 มีอุณหภูมิสูงถึง 42 องศาเซลเซียส จากเดิม 38-39 องศาเซลเซียส และคาดว่าในปี 2551 จะเพิ่มเป็น 43 องศาเซลเซียส
ภาวะโลกร้อน (global warmimg) คือ ผลพวงของการพัฒนาอุตสาหกรรม พลังงาน คมนาคม เกษตรกรรม รวมถึงเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและป่าไม้ เมื่อมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มโลกจึงสูงขึ้น เนื่องจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เคยสะท้อนกลับถูกกักเก็บไว้มากขึ้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (GHG effects) มีผลทำให้ภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลง
ประเทศไทยเคยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC : united nations framework convention on climate change) โดยไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 148 ประเทศกำลังพัฒนา (non-annex I) ที่ไม่บังคับให้ลดก๊าซเรือนกระจกเหมือนกับอีก 41 ประเทศพัฒนาและหลายประเทศในยุโรปกลาง
อย่างไรก็ตามรายงานของ world resource institution ใน world resources 2005, the wealth of the pool, managing ecosystems to fight poverty ระบุว่าปี 2543 ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 261 ล้านตัน มีคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็น ร้อยละ 0.78 ของโลก ขณะที่จีนและสหรัฐอเมริกาคิดเป็นร้อยละ 14.7 กับ 20.6 ตามลำดับ
ปัญหาดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เนื่องจากอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และสังคมด้วยความรุนแรงที่พอๆ กับความถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงตอนต้นศตวรรษที่ 20 อาจทำให้โลกต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อลดปัญหา และเตรียมการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น
รายงานผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์พบว่า เมื่อโลกร้อนขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส จะสร้างความสูญเสียต่อผลผลิตโลก 3% รวมถึงทำให้เกิดต้นทุนทางการเงินที่เกิดจากปัญหาสุขภาพของมนุษย์ และต่อสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ยังจะทำให้เกิดภาระที่ไม่เท่าเทียมกัน ระหว่างประเทศร่ำรวยกับประเทศยากจน โดยประเทศยากจนต้องแบกรับภาระ มากกว่าเพราะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า
ขณะที่ผลกระทบซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยตรงของไทยคือ ปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลง ในระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน้ำในแม่น้ำสายต่างๆ จะมีปริมาณลดลง 25% สภาพการณ์ดังกล่าวจะสร้างปัญหาต่อเกษตรกร และชาวประมงของไทย
ปัจจัยการผลิตและความอุดมสมบูรณ์ในธรรมชาติจึงมีทิศทางที่ลดลง โดยความเสื่อมโทรมของสภาวะแวดล้อม จะเป็นตัวเร่งทำลายความสมบูรณ์ของอาหารในธรรมชาติ และความสมบูรณ์ของปัจจัยในการผลิตอาหาร ในที่สุดธรรมชาติจะไม่สามารถผลิตอาหารได้อย่างเพียงพอซึ่งจะสร้างความยากลำบากให้กับประชากรโลก และคนไทยในภายหลัง
ผมจึงเห็นว่าประเทศไทยควรสร้างหลักประกันและเตรียมแผนงานรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น จากสาเหตุปัญหาภาวะโลกร้อนทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยไม่เป็นฝ่ายตั้งรับปัญหา แต่ควรมีมาตรการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาในเชิงรุกที่สอดคล้องกับพลวัตความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาทันสถานการณ์และเกิดความเหมาะสม
อาทิเช่น พัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ผู้มีอำนาจตามพิธีสารเกียวโต (DNA : designated national authority) โดยเร่งรัดการจัดตั้งองค์กรกลางในลักษณะองค์การมหาชนอย่างเป็นทางการ เพิ่มการวิจัยและพัฒนา รวมถึงร่วมมือกับนานาชาติในการจัดการความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มการประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับเอกชน ป้องกันการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ทุกฝ่ายควรร่วมกันเร่งรัดและฟื้นฟูความสูญเสียของทรัพยากรธรรมชาติ แก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมถึงอาจใช้มาตรการทางภาษีกับภาคธุรกิจที่ทำลายสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม สร้างธุรกิจพลังงานสะอาด และกำหนดกฎระเบียบที่เข้มงวด สร้างมาตรฐานการประกอบธุรกิจการผลิตโดยส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจควรมองภาพรวมในระดับชาติ และให้ความสำคัญกับการมองแนวโน้ม ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของสังคมโลกในอนาคต รวมถึงควรทำให้ประเทศไทย สามารถพึ่งตนเองในปัจจัยอยู่รอดได้ตลอดเวลา เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นใจได้ว่าประชาชนในประเทศ จะไม่ต้องพบกับความยากลำบากอย่างมาก ในภาวะที่มีวิกฤตการณ์ขั้นรุนแรงเกิดขึ้น
ปัญหาภาวะโลกร้อนจึงมีความสำคัญ หากผู้นำประเทศไร้วิสัยทัศน์ในการแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น จะทำให้ประชาชนต้องประสบกับความทุกข์ยากลำบาก นอกจากเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจแล้ว ยังทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อมนุษยชาตินั่นคือ ความอยู่รอดของโลกที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน

บทความ : ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ กรุงเทพธุรกิจ วันพุธที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2550



ในความคิดของผม ภาวะโลกร้อน (Global Warming) หรือ ภาวะ ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) เป็นปัญหาใหญ่ของโลกเราในปัจจุบัน ซึ่งหากเราปล่อยให้สถานการณ์เป็น อย่างนี้ต่อไปโดยไม่แก้ไขอะไร เชื่อว่าต่อไปจะเกิดภาวะที่รุนแรงจากผลพวงที่กระทบกันเป็นลูกโซ่จนไม่อาจจะควบคุมได้ สิ่งมีชีวิตอาจเกิดภาวะสูญพันธ์ขนาดใหญ่ หรืออาจรวมถึงการสิ้นสุดของมนุษยชาติด้วย
หากเรามองย้อนกลับไปจะพบว่าสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนั้นมีต้นตอมาจากความโลภอันไม่สิ้นสุดของมนุษย์นี่เอง หลังจากยุคสงความสิ้นสุดลง และมนุษย์เรียนรู้ที่จะหลีกหนีภาวะสงครามโดยการกำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ มาควบคุม เมื่อนานาประเทศต่างๆ ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่ได้ด้วยการสงครามได้อย่างสมัยก่อน จึงแสวงหาอำนาจด้วยวิธีการอื่น การสร้างอำนาจด้วยวิธีการสร้างสมความเจริญทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้น นานาประเทศแข่งขันกันผลิตเพื่อขาย การค้ากลายเป็นข้อต่อรองสำหรับทุกๆ เรื่อง ประชาชนถูกกระตุ้นให้บริโภค จนเกิดสังคมวัตถุนิยมขึ้น ความฟุ้งเฟ้อ การบริโภคเกินพอดี การเผาผลาญทรัพยากรเพื่อสนองตอบสนองระบบเศรษฐกิจเกินพอดีนี้ ทำให้โลกไม่สามารถรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไป โลกเองกำลังตระหนังถึงมหันตภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามานี้ แต่คงยากยิ่งที่จะแก้ไขอะไรได้ ในเมื่อทุกประเทศพูดเหมือนๆ กันอยู่ตลอดเวลาว่า เราต้องกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ เราต้องกระตุ้นการบริโภคของประชาชน เราต้องขยายการส่งออก เราต้องเพิ่มกำลังการผลิต ฯลฯ เมื่อระบบของโลกยังคงเป็นเช่นนี้ ก็คิดได้อย่างเดียวว่า "หมดหนทาง"
วิถีแห่งความพอเพียง การดำเนินการทางเศรษฐกิจอย่างมีเหตุผล จาก พระอัจริยภาพแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นทางออกในการรักษาสมดุลระหว่างมนุษย์และโลก ซึ่งถึงแม้ว่าในปัจจุบันวิถีดังกล่าวยังเป็นที่กังขาของนักเศรษฐศาสตร์ผู้มุ่งเน้นไปที่ตัวเลข จนลืมนึกถึงความยั่งยืนไป แต่วันหนึ่งเมื่อพวกเขาได้เรียนรู้บทเรียนอันเจ็บปวดที่โลกจะมอบให้ วันนั้นเขาเหล่านั้นจะได้ตระหนักว่า โลกนี้มิอาจแบกรับความโลภของมนุษย์ได้อีกต่อไป
ช่วยกับบอกต่อให้ทุกๆ คนได้รับรู้เถอะครับว่า ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด มิฉะนั้นแล้ว ปัญหาที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้จะไม่อาจแก้ไขได้เลย เราเคยถูกบีบให้ต้องลดภาษีบุหรี่จากอเมริกาเพียงเพราะเขาต้องการจะขายของ โดยไม่สนใจเลยว่าเราตั้งภาษีให้สูงเพื่อสุขภาพของประชาชน เราเคยมีนโยบายลดอัตราการเพิ่มของประชากรอย่างเข็มข้น เพื่อให้ประชากรที่มีอยู่น้อยลงสามารถมีส่วนแบ่งในทรัพยากรที่มีอยู่มากขึ้น และได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่มาตรการเหล่านั้นก็หายไปเพียงเพราะเราต้องการแรงงานมากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและขยายตลาดภายในประเทศให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จนประชากรชาวไทยทะลุ 70 ล้านไปแล้ว เมื่อการผลิตมีมากกว่าความต้องการของตลาด เรากระตุ้นให้ประชาชนซื้อสินค้านั้นเพื่อให้ผู้ผลิตสามารถขายสินค้าได้โดยไม่ขาดทุน แทนที่เราจะบอกให้เขาลดการผลิตลง นี่แหละคือวิธีคิดของเราในปัจจุบัน และที่สำคัญที่สุดคุณลองถามตัวเองสิว่า คุณคิดอย่างไรกับภาวะโลกร้อน ถามใจคุณดู คนมากมายจะตอบว่า "อีกนานกว่าจะถึงภาวะที่มนุษย์จนทนอยู่ไม่ได้ กว่าจะถึงวันนั้น เราก็คงตายกันแล้ว" นั่นหมายถึง เรา...เรามากมาย ห่วงแต่ตัวเอง ไม่ห่วงลูกเรา หลานเราในอนาคตเลย ช่วยกันเถอะครับ ช่วยกันเปลี่ยนแปลงโลก คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อโลกของเรา ด้วยความพอเพียงและมีเหตุผล
<




 

Create Date : 07 กันยายน 2550    
Last Update : 7 กันยายน 2550 23:41:19 น.
Counter : 1463 Pageviews.  

ตลาดหุ้นเริงร่า ... รับร่างรัฐธรรมนูญ

ตลาดหุ้นเริงร่า ... รับร่างรัฐธรรมนูญ



Created By...<< BoW>>...

หลังจากที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญกันเรียบร้อย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา น่ายินดีที่มีประชาชนมาลงมติออกเสียงถึงร้อยละ 57.61 และเห็นชอบสูงถึง 57.81 ไม่เห็นชอบ 42.19 ก็นับว่าได้รับคะแนนเสียงรับรองสูงกว่าที่ไม่รับพอสมควรถึง 36.5% (57.81 เทียบกับ 42.19) ประกอบตลาดหุ้นต่างประเทศก็ปรับตัวขึ้นกันถ้วนหน้า ตลาดหุ้นไทยจึงเริงร่าขยับขึ้นกว่า 30 จุด นับว่า เป็นบรรยากาศที่สดใสอีกครั้งหนึ่ง

หลักการสำคัญที่ผมเคยได้เรียนอยู่เสมอคือ ศัตรูตัวฉกาจของตลาดหุ้นคือ “ความไม่แน่นอน” เมื่อใดที่ความไม่แน่นอนสูง ตลาดหุ้นก็ผันผวน ซบเซา เมื่อใดที่ความไม่แน่นอนคลี่คลาย (ไม่ใช่หมดไป เพราะ “ความไม่แน่นอน” ไม่มีทางหมดไปอย่างแน่นอน) ตลาดหุ้นก็จะดีขึ้น

ที่ผ่านมา ไม่ว่าเป็นเรื่อง ซาร์ส ไข้หวัดนก สงคราม การก่อการร้าย ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาตลาดสินเชื่อกลุ่มซับไพรม์ ฯลฯ ก็ถล่มตลาดหุ้นเพราะสร้าง “ความไม่แน่นอน” ทำให้นักลงทุนยังเดาไม่ออกว่าปัญหาจะยังมีอีกเพียงใด จะจบหรือไม่ บางครั้ง ทำให้ตลาดหลักทรัพย์ซบเซาหลายเดือน

กรณีความไม่แน่นอนทางการเมืองในครั้งนี้ ได้ทำให้ตลาดหลักทรัพย์อยู่ในสภาวะที่ซบเซามากว่า 2 ปี ดีที่ประชาชนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวตลาดหุ้น อยากเห็นความสับสน ความไม่แน่นอนต่างๆคลี่คลายมากกว่า ส่วนใหญ่ก็คงหวังว่าจะมีการรับร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อย นำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงปลายปี และหวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะนำไปสู่ความเรียบร้อย

หลายคนยังอาจรู้สึกถึงรอยร้าว จากการสร้างความแตกแยกในสังคมไทย ผมเชื่อมั่นว่า เราคนไทยทุกคน มีส่วนร่วมกันกำหนด อยากให้เมืองไทยเดินหน้าไปได้อย่างดีเพียงใด โดยนำสิ่งที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้น เป็นบทเรียนเพื่อความสร้างสรรค์หลายประการ ดังนี้

1.ยึดมั่นในความรู้รักสามัคคี เช่นเดียวกับที่ ครอบครัวจะมีพลังเมื่อมีความรักกันอบอุ่น องค์กรมีความเข้มแข็งเมื่อมีความรักความสามัคคีเข้าใจกัน ประเทศชาติจะเจริญและเข้มแข็ง เมื่อประชาชนรักและสามัคคีกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

ในความรักความสามัคคี ประชาชนจะต้องไม่ถูกแบ่งแยก ในทุกยุคทุกสมัย ประเทศชาติล่มจม เพราะเริ่มจากการถูกทำให้แตกแยก “พวกนั้นเป็นพวกเขา” “พวกนี้เป็นพวกเรา”

2.สาระ สาระ สาระ “พวกใครมีอำนาจ พวกนั้นก็เป็นฝ่ายถูก” “ตอนขาดอำนาจ ก็กลายเป็นคนผิด” “พวกตัดสินให้คนมีความผิด ก็คือเป็นปรปักษ์” ผมว่าถ้ายึดกันอย่างนั้น ประเทศก็แตกร้าว ขาดความชอบธรรม ถ้ายึดหลัก “พวกมากเป็นฝ่ายถูก” ก็จะมีแต่เพียงการเอาใจกัน ซึ่งหลายครั้ง การเอาใจก็ไม่เป็นผลดี เช่นเดียวกับการเอาใจเด็กมากเกินไป เด็กก็อาจไม่รู้อะไรถูก อะไรผิด เติบโตช้า อาจถูกเอาใจจนไม่สามารถเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งช่วยตัวเองได้

สาระจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจึงต้องมีหลัก “นิติธรรม” ที่ตัดสินความถูกผิดตามหลักฐานและกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ เรื่องต่างๆ ที่ค้างคาใจในอดีต เมื่อองค์กรอิสระเช่น คตส. ดีเอสไอ ได้สืบพบหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่า มีการปกปิดโครงสร้างการถือหุ้น หรือ “ซุกหุ้น” เอสซีแอสเสท และชินคอร์ป ผ่าน วินมาร์ค และแอมเพิลริช จะเป็นการดีต่อผู้ถูกกล่าวหาอย่างยิ่ง หากจะออกมาแสดงหลักฐานต่อสู้กัน อธิบายกัน ประชาชนไม่น้อยที่ยังเห็นส่วนดีของอดีตผู้นำก็คอยเอาใจช่วยอยู่ คอยฟังอยู่มากมาย ไม่ใช่ต้องรอมีอำนาจ จึงชี้แจง เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีอำนาจ ไม่เคยคิดชี้แจงเลย สมาคมนักข่าว ถึงกับเคยใช้คำว่า “หนีตอบวินมาร์คสุดชีวิต” ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร จะทำหน้าที่ตามระบอบประชาธิปไตยในสภาเพื่อซักถามเรื่องเหล่านี้ ก็กลับชิงยุบสภาไป ทำให้ประชาธิปไตยไทย ถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง ด้วยคนที่มาจากการเลือกตั้งเอง

รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็มีสาระที่ไม่ด้อยกว่าเมื่อปี 2540 ผมและชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย เคยสนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 2540 จึงได้จัดกิจกรรม “สีลม สีเขียว สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ 2540” ก็ได้มีมติ เห็นชอบที่จะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เช่นกัน เพราะสาระก็มีดีไม่ด้อยกว่ากัน และมีหลายจุดที่ดีกว่าเดิมด้วย

ไม่มีรัฐธรรมนูญใด ที่สามารถจะมีรายละเอียดถูกใจคนทั้งประเทศได้ (ฉบับปี 2540 ก็เช่นกัน) แต่เมื่อมีการร่างกันจากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย รับฟังประชาชนอย่างกว้างขวาง และได้แก้ไขปรับเปลี่ยนสาระสำคัญหลายเรื่องตามที่ได้รับฟังประชาชนมา ก็ถือได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มีสาระดี เป็นประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิ และผลประโยชน์คนไทยได้ดี ควรที่ชาวไทยจะหวงแหนตามที่ได้ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญไปเรียบร้อย

ผมเห็นผู้คัดค้าน มักจะเน้นเพียงรูปแบบภายนอก ไม่เน้นเรื่องสาระเป็นจุดๆ หลังจากที่ได้มีการเปิดเวทีให้มีการดีเบต ตั้งคำถาม ตอบคำถาม แสดงความเห็นด้วยเห็นแย้งกันไป เสียงการลงประชามติ ก็น่าจะถือได้ว่าเป็นเสียงสวรรค์ของคนไทยอย่างแท้จริง

ผมจึงคิดว่า หากเรายึด “สาระ สาระ สาระ” ทำให้เราไม่ถูกทำให้เชื่อว่า ชาวไทยถูกทำให้แตกแยกเป็นฝั่งฝ่าย ทุกคนรักกัน ปรารถนาดีต่อกัน หวังว่าทุกคนจะดีต่อกัน พิจารณาความถูกผิดการตาม “สาระ” และ “หลักฐาน” ผมเชื่อว่า เราก็จะยังคงเป็นบ้านเมืองที่ดำรงในหลัก “นิติธรรม” และทำให้มั่นคง ไม่แตกแยกอีกต่อไป

3.เดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ในฐานะฝ่ายวิชาการ ชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย ก็ยังมีจุดยืนอยู่เสมอว่า “ประเทศไทยจะก้าวหน้ายาวไกล เมื่อประชาธิปไตยมั่นคง” เราเห็นปัญหาประชาธิปไตยถูกละเลยในช่วงรัฐบาลที่แล้ว สภาไม่สามารถทำงานได้ มีแต่ “เงิน” และ “อำนาจ” เพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนภาระที่ซุกซ่อนไว้กับลูกหลานไทยในภายภาคหน้าน่าเป็นห่วง จึงทำให้เราต้องเผชิญกับการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งอย่างไม่คาดฝัน และกลายเป็นว่า ประชาชนมากมาย ได้ออกไปให้ดอกไม้ให้กำลังใจกับผู้ก่อการรัฐประหาร

ดีที่คณะผู้ก่อการรัฐประหารนั้น กระทำด้วยเจตนาดี ทุกฝ่ายยืนยันจนทุกวันนี้ว่า เป็นเพียงการเข้ามาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านชั่วคราว แล้วจะเดินหน้าไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และการเลือกตั้งในปลายปี หวังว่า เราจะผ่านช่วงเวลา “พักความเป็นประชาธิปไตยชั่วคราว” นี้ไปให้เร็วที่สุด จะได้เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นเสียที และเชื่อว่าจะช่วยส่งผลดีให้ตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องต่อไป

ในขณะนี้ พลังประชาชนได้บ่งชี้ว่า เสียงส่วนใหญ่ต้องการความสงบ ลดความไม่แน่นอน รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติอย่างเป็นธรรม และเตรียมเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง หวังว่า ไม่มีใครคิดจะทำให้เส้นทางนี้เฉไฉไป ไม่ว่าจะเป็นการป่วนการรับร่างมติรัฐธรรมนูญ หรือป่วนการเลือกตั้ง หรือการสืบทอดอำนาจปกครองของคณะทหารออก เพราะที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า พลังประชาชนเข้มแข็ง และผู้ที่ฝืน หวังอำนาจเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวไม่สามารถที่จะดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืนมาสักครั้ง หวังว่า ทุกฝ่ายจะร่วมมือให้เกิดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมในปลายปี จะเป็นคุณูประการต่อประเทศอย่างยิ่งต่อไป

จากการที่ตลาดหุ้นไทยตกตามนานาชาติ อันเนื่องมาจากปัญหาตลาดสินเชื่อซับไพรม์ ทำให้เรามีพีอีกลับมาอยู่ที่ประมาณ 11 เท่าอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทิศทางบ้านเมืองไทยดีขึ้น มีการรับร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อย เตรียมการไปเลือกตั้ง ก็นับว่า ตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับที่น่าสนใจต่อการเข้ามาทยอยลงทุนจริงๆครับ
จากบทความข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นในประเทศไทยน่าสนใจมากยิ่งขึ้นเหมาะแก่คนที่จะลงทุนในตลาดหุ้น เพราะตลาดหุ้นมีความแน่นอนมากขึ้น ดูจากดัชนีที่เพิ่มขึ้นหลายจุด ย่อมจะส่งผลดีต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่กำลังซบเซาก็มีท่าทีที่จะดีขึ้น หรือจะเป็นเรื่องการเมืองที่มีความแน่นอนมากขึ้นในเรื่องของการเลือกตั้ง ก็ย่อมที่จะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติ และทำให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ซึ่งสิ่งเกิดขึ้นก็เกิดจากประชาชนชาวไทยที่ออกไปใช้สิทธิในการเลือกยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ


ที่มา : //www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?newsid=9500000098019




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 15:56:45 น.
Counter : 644 Pageviews.  

ตลาดเหล็กไทยซบเซาสวนทางตลาดโลกคึกคัก...ท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวน

ตลาดเหล็กไทยซบเซาสวนทางตลาดโลกคึกคัก...ท่ามกลางค่าเงินบาทที่ผันผวน


Created By...@NooN@....

ตลาดเหล็กในประเทศซบเซา...แต่ส่งออกพุ่งแม้ค่าบาทแข็ง
ในการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่มีความไม่แน่นอนต่อเนื่องจากปีที่แล้วนั้น ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการก่อสร้าง ตลอดจนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศซบเซาลง และราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศทรงตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับราคาเหล็กประเภทต่างๆในตลาดโลกที่กลับมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบที่สูงขึ้นเป็นลำดับ ภาวะตลาดเหล็กในประเทศที่ซบเซาสวนทางกับภาวะตลาดเหล็กโลกที่ยังคึกคัก และราคาเหล็กขยับตัวสูงขึ้นดังกล่าว จึงเท่ากับเป็นการสร้างความกดดันทั้ง 2 ด้านให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ซึ่งต้องนำเข้าเหล็กกึ่งวัตถุดิบชนิดต่างๆ ที่ล้วนมีราคาสูงขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปต่างๆ
ในขณะที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เหล็กเหล่านี้ให้สอดคล้องกับต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้นได้เพราะความต้องการในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กที่พึ่งพาตลาดในประเทศเป็นหลัก ต้องได้รับผลกระทบจากการที่ราคาเหล็กกึ่งวัตถุดิบนำเข้าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องดังกล่าว แม้จะได้การชดเชยต้นทุนนำเข้าบ้างจากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น แต่เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปจำหน่ายในประเทศกลับทรงตัว เพราะตลาดเหล็กในประเทศซบเซา ทำให้ส่วนต่างระหว่างต้นทุนและราคาขายลดลง ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการธุรกิจ อย่างไรก็ตามในทางตรงข้าม ผู้ประกอบการหลายรายโดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ๆ หรือรายที่มีศักยภาพในการส่งออก กลับได้ใช้ช่องโอกาสที่อุปสงค์เหล็กในตลาดโลกมีความคึกคัก ขยายการส่งออกไปต่างประเทศซึ่งราคาเหล็กสูงกว่า
ดังนั้น เนื่องจากตลาดเหล็กและความต้องการใช้เหล็กในประเทศในช่วงครึ่งแรกปี 2550 ได้ประสบกับภาวะซบเซาตามสภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งใช้เหล็กในกระบวนการผลิต ทำให้การผลิตในอุตสาหกรรมเหล็กโดยรวมชะลอตัวลง ดังเห็นได้จากดัชนีรวมผลผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์ในช่วง 6 เดือนแรกของปี เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ระดับ 143.6 ซึ่งอ่อนตัวลงมาจากระดับเฉลี่ยทั้งปี 2549 ที่ 144.7 ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เหล็กบางรายการที่ดัชนีผลผลิตยังเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาทิ เหล็กลวด และลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง





 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 22:10:17 น.
Counter : 480 Pageviews.  

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กับการเจรจา FTA ในอนาคต

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กับการเจรจา FTA ในอนาคต



กล่าวถึงโจทย์และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ กับการเจรจา FTA ที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เนื้อหารัฐธรรมนูญร่างแรกสู่สาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน บัดนี้เราได้เห็นเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะให้ประชาชนลงประชามติในวันที่ ๑๙ สิงหาคม นี้แล้ว จึงขอนำประเด็นนี้มากล่าวถึง เพื่อวิเคราะห์ว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ได้กำหนดกฎกติกาและกระบวนการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศของไทยไว้อย่างไร การเจรจา FTA ของไทยในอนาคตจะแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ ?
๑. หนังสือสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
ในมาตรา ๑๙๐ วรรคสองกำหนดไว้ว่าหนังสือสัญญาใดที่เข้าเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งใน ๕ ประการต่อไปนี้ จะต้องให้รัฐสภาเห็นชอบก่อน ฝ่ายบริหารจะไปลงนามผูกพันเองไม่ได้ คือ (๑) มีผลเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ (๒) มีผลเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ (๓) จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา (๔) มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือ (๕) มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ
ข้อที่เกิดการเปลี่ยนแปลง
เงื่อนไขข้อที่ (๔) และ (๕) เป็นข้อที่เพิ่มเติมขึ้นจากรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ส่วนเงื่อนไขข้อที่ (๒) เป็นการเปลี่ยนแปลงสาระจากที่เคยกำหนดไว้ว่า มีผลเปลี่ยนแปลง "เขตอำนาจแห่งรัฐ" ซึ่งมีปัญหาโต้แย้งในเรื่องการตีความกันอยู่มาก จึงเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาเสียใหม่
ข้อคิดเห็น
จะเห็นได้ว่า เนื้อหาของ ม.๑๙๐ วรรคสองเป็นการขยายบทบาทของรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติในเรื่องการทำความตกลงระหว่างประเทศให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร สำหรับประเด็นในเงื่อนไขข้อที่ (๔) และ (๕) มีความหมายกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนอย่างไรนั้น จะต้องไปกำหนดไว้ในกฎหมายกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้จัดทำให้เสร็จภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนควรจับตาดูกันต่อไปในรัฐบาลชุดใหม่นี้
๒. กระบวนการเจรจาและการมีส่วนร่วมของประชาชน
ใน ม. ๑๙๐ วรรคสาม ได้กำหนดไว้ว่า ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญาตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
- ในแง่หลักการ ข้อกำหนดในวรรคนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการยอมรับสิทธิและบทบาทของภาคประชาชน นอกจากนี้ การกำหนดให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาก่อนก็จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับคณะเจรจาของไทย สหรัฐอเมริกาก็ใช้แนวปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ผู้แทนการค้าของสหรัฐมีอำนาจต่อรองสูง
- อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดในวรรคสามนี้อาจมีปัญหาในทางปฏิบัติหากรัฐบาลไม่ต้องการปฏิบัติตามโดยการอ้างว่า เนื่องจากเป็นขั้นตอนก่อนเริ่มเจรจา จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าหนังสือสัญญาที่จะไปเจรจานั้น ในท้ายที่สุดจะมีเนื้อหาอย่างไร จะเข้าข่ายเงื่อนไขข้อใดใน ๕ ข้อ ตามที่กำหนดไว้ใน ม.๑๙๐ วรรคสองหรือไม่ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้จำเป็นจะต้องไปกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้นในขั้นการออกกฎหมายประกอบ
ใน ม.๑๙๐ วรรคสี่ได้กำหนดว่า เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และให้คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
เรื่องมาตรการแก้ไขหรือเยียวยานั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ข้อกำหนดให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาได้ภายหลังจากมีการลงนามไปแล้วนั้น ก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างไปจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน (เหมือนกรณี JTEPA) ซึ่งทำให้การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนถูกจำกัดลงไปอย่างมาก ในขั้นการแปรญญัตติได้มีข้อเสนอว่าควรให้ประชาชนเข้าถึงหนังสือสัญญาทั้งหมดได้ก่อนลงนาม แต่ภาครัฐคัดค้านไม่ยินยอม อ้างเหตุผลต่างๆ นานา การที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเจรจาเรื่อง FTA ที่เพิ่งผ่านไปไม่นาน โดยเฉพาะในกรณีความตกลง FTA ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลอย่างมาก จนต้องจัดการประชุมเฉพาะกิจนอกรอบเพื่อหาข้อยุติ
แต่ไม่ว่าอย่างไรนั้นเนื้อหาของ ม.๑๙๐ จะยังมีประเด็นปัญหาอยู่หลายประการดังที่ชี้ให้เห็นข้างต้น แต่โดยภาพรวมแล้วนับว่าเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศได้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมมากเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ผู้เขียนในฐานะนักศึกษาประชาชน เป็นการดีที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเสนอแนะออกความคิดเห็นในการร่างเพราะถือว่าเป็นผู้มีประสบการณ์จริงการหน้าที่การ รัฐบาลก็ได้นำความคิดเห็นของประชาชนนั้นมาเป็นส่วนประกอบการร่างเพื่อให้ได้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนโดยแท้จริงให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดจากประชาชนอย่างที่สุด


ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2243 12 ส.ค. - 15 ส.ค. 2550




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 27 สิงหาคม 2550 15:34:31 น.
Counter : 726 Pageviews.  

เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง



เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการผลิต “แบบพออยู่ พอกิน”ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ซึ่งมีสาระที่สำคัญดังนี้
1 แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่าเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญที่มุ่งเน้น “ความพอเพียง” และ “ความพอมี พอกิน”พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” มีความหมายกว้างกว่าคำว่า Self - sufficiency (การพึ่งตนเอง) โดยทรงดำรัสว่า “เศรษฐกิจพอเพียง หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่นอยู่ได้ด้วยตนเอง”
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวนี้ เป็นพระราชดำรัสตอนหนึ่งที่ทรงพระราชทานแก่บุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต ในวันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม 2541 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยควรมีนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่งให้ประเทศมีเศรษฐกิจแบบพอมีพอใช้ กล่าวคือ ให้ผลิตอะไรก็ตามให้เพียงพอสำหรับใช้ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนไทยต้องประกอบอาชีพแบบพอกินพอใช้ มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย และให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข รู้จักประมาณตนเอง ไม่หรูหรา และไม่เบียดเบียนผู้อื่น
2 เศรษฐกิจพอเพียงกับการดำเนินชีวิตและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
พระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงนั้น สามารถนำมากำหนดเป็นนโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาจนถึงการดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยได้เป็นอย่างดี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ชุมชนหรือประชาชนก็ตาม ต้องอาศัยปัจจัยในการผลิตที่หลากหลายและความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรเพื่อการการผลิตอย่างถ่องแท้ ตลอดจนถึงการใช้ ประโยชน์ของทรัพยากรอย่างสูงสุด ดังแนวคิดและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะได้นำเสนอต่อไปนี้
2.1 การเกษตรเป็นรากฐานเศรษฐกิจ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนถึงสภาพปัญหาหลักของประเทศไทยขณะนี้ก็คือ“เศรษฐกิจไม่ดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน” ซึ่งการจะทำให้เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหาการพัฒนาที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างประหยัดและให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากจะเห็นได้ว่า การจัดสรรทรัพยากรในประเทศได้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้สนับสนุนในการผลิตจำนวนมากเกินไป แม้ว่าจะทำให้สามารถเพิ่มผลผลิต ได้มากแต่ก็ส่งผลให้มูลค่าในการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย คือ ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า ผลผลิตที่ผลิตได้มากขึ้นนั้นเกินความต้องการของตลาด ต่างประเทศ และตลาดภายในประเทศก็ไม่สามารถรองรับได้ ราคาสินค้าที่ขาย ลดลงการส่งออกเป็นการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศ และเต็มไปด้วยความเสี่ยงในที่สุด จึงเกิดปัญหาหนี้สินและการสูญเสียที่ดินอันเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญทางการเกษตร ส่งผลให้มีการบุกรุกทำลายป่า และปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมเกิดปัญหาและการพัฒนาไม่ยั่งยืน
จากปัญหาดังกล่าวนี้ แนวคิดที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วยการจัดสรรทรัพยากรให้ถูกต้องเหมาะสม โดยเริ่มต้นย้อนดูต้นทุนของประเทศไทยที่มีความพร้อมอยู่แล้ว คือ การเกษตร ดังพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่พระราชทานแก่บัณฑิตใหม่ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 9กรกฎาคม 2507 ตอนหนึ่งความว่า
“... เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนิน ก้าวหน้าไปได้ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ... ”
ซึ่งหมายความว่า ประเทศไทยควรจะเริ่มต้นพัฒนาด้านการเกษตรเสียก่อน เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และผลผลิตส่วนใหญ่ก็มาจากเกษตรกรรม ดังนั้น หากการผลิตด้านเกษตรกรรมมีความเจริญก้าวหน้าก็จะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมและช่วยเหลือให้เกษตรกรมีรายได้ อันนำไปสู่เศรษฐกิจในแต่ละครอบครัวให้ดีขึ้นด้วยเช่นกันหรือสามารถสรุปได้ว่า “การเกษตรเป็นรากฐานเศรษฐกิจไทย”
2.2 ความรู้เกี่ยวกับตนเอง นำไปสู่ความพอเพียง
นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงให้แนวคิดว่าเศรษฐกิจของไทยขึ้นอยู่กับการเกษตรแล้ว พระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นว่าปัญหาทุก ๆ อย่างเกิดขึ้นได้และมีทางแก้ไขได้ เพียงแต่ให้รู้จักตัวเอง ก็จะสามารถ “ควบคุมตัวเอง (Self Control) ให้ได้ใน สถานการณ์นั้นอย่าหวั่นไหวตามหรืออีกนัยหนึ่งคือทุกอย่างขึ้นอยู่กับ “ตัวเราเอง” (Self Reliance) และ “เคารพตัวเอง” (SelfRespect) ถ้าหากรู้จักศึกษาฝึกฝนให้ได้จะเป็นสุดยอดของความรู้ คือ “ความรู้เกี่ยวกับตนเอง” (SelfKnowledge) ซึ่งหมายถึงว่า การรู้ว่าตนเองทำอะไรได้ และ ทำอะไรไม่ได้ จึงจะสามารถนำเอาสิ่งที่รับรู้จากผู้อื่นหรือจากประสบการณ์มาฝึกฝนด้วยตนเอง จะทำให้เกิดความรู้แจ้งได้ ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้จะนำไปสู่ความเป็นผู้มีอิสระและพึ่งตนเองได้หรือกล่าวได้ว่า “ความรู้เกี่ยวกับตนเองนำไปสู่ความพอเพียง” โดยวิธีการดังกล่าวนี้ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงได้ค้นคว้าทดลองทำนาภายในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เพื่อนำความรู้ภาคทฤษฎีมาลงมือปฏิบัติด้วยพระองค์เอง และทรงได้พระราชดำรัสแก่กลุ่มชาวนา เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2524 ตอนหนึ่งความว่า
“...ข้าพเจ้ามีโอกาสได้ศึกษาและทดลองทำนามาบ้าง และทราบดีว่าการทำนานั้นมีความยากลำบากเป็นอุปสรรคอยู่มิใช่น้อย จำเป็นต้องอาศัยพันธุ์ข้าวที่ดี และต้องใช้วิชาการต่าง ๆ ด้วยจึงจะได้ผล เป็นล่ำเป็นสัน อีกประการหนึ่งที่นานั้นเมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วควรปลูกพืชอื่น ๆ บ้าง เพราะจะเพิ่มรายได้ให้อีกไม่ใช่น้อย ทั้งจะช่วยให้ดินร่วนช่วยเพิ่มปุ๋ยจากพืช ทำให้ลักษณะเนื้อดินดีขึ้น เหมาะสำหรับจะทำนาในฤดูต่อไป...”
จากวิธีการดังกล่าวนี้ จะช่วยให้เกษตรกรใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่า และพระองค์ได้พระราชทาน “ทฤษฎีใหม่” หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีใหม่ในพระราชดำริ” คือ การพัฒนาทางการเกษตรโดยเพาะปลูกพืชหลายอย่างในที่เดียวกัน หรือผลัดปลูกหมุนเวียนกัน เช่น หลังจากฤดูทำนาข้าวแล้ว ก็ปลูกถั่วเป็นต้น
นอกจากการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าแล้ว ยังเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ทำให้ เกษตรกรมีอาหารการกินทั้งปี และมีรายได้ตลอดปี ซึ่งเป็นวิธีการให้พึ่งตนเองได้ ทางเศรษฐกิจ (Economic Self Reliance)บนพื้นฐาน ภูมิปัญญาชาวบ้านซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งตนเองได้ทางเทคโนโลยี และเกิดความพอเพียงทางเศรษฐกิจ (Self Sufficient Economy) และนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืนในที่สุด เพราะคนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ โดยมีความเอื้ออาทรพึ่งพิงระหว่างกัน และคนกับคนก็อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีผลประโยชน์แบ่งปันกัน โดยทั้งสองฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์
2.3 ความพอเพียงกับครอบครัวเข้มแข็ง
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม2540 ได้กล่าวถึง ความพอเพียงและครอบครัวเข้มแข็งตอนหนึ่ง ความว่า “... อย่างข้าวที่ปลูก เคยสนับสนุนให้ปลูกข้าวให้พอเพียงกับตัวเองแต่ละครอบครัว เก็บเอาไว้ในยุ้งเล็ก ๆ แล้วถ้ามีพอก็ขาย แต่คนอื่นกลับบอกว่าไม่สมควร โดยเฉพาะในภาคอีสาน เขาบอกว่าต้องปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อจะขายอันนี้ถูกต้อง ข้าวหอมมะลิขายได้ดีแต่เมื่อขายแล้ว จะต้องบริโภคเอง ไม่ต้องซื้อจากใคร ทุกคนก็ปลูกข้าวหอมมะลิ ในภาคอีสานส่วนมากเขาชอบบริโภคข้าวเหนียว ซึ่งใครจะเป็นคนปลูกข้าวเหนียว เพราะประเทศไทยโฆษณาว่าคนที่ปลูกข้าวเหนียวเป็นคนโง่ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ เคยได้สนับสนุนบอกว่าให้เขาปลูกข้าวบริโภค เขาจะชอบข้าวเหนียวกับลูกข้าวเหนียว เขาจะชอบปลูกอะไรก็ตามให้เขาปลูกข้าวอย่างนั้น และเก็บไว้เพื่อที่จะบริโภคตลอดปี ถ้ามีที่จะทำนาปรัง หรือมีที่มากพอสำหรับปลูกข้าวก็ปลูกข้าวหอมมะลิ เพื่อที่จะขาย...”
2.4 การผลิตตามทฤษฎีใหม่ เป็นต้นแบบการผลิตแบบพอเพียง
จากที่กล่าวไปแล้วว่า ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เป็นการพัฒนาเกษตรแบบผสมผสาน ที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเอง ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีบนพื้นฐานภูมิปัญญาชาวบ้านดังนั้น การนำทฤษฎีใหม่มาใช้ในการผลิต สามารถเป็นต้นแบบในการผลิตที่ดีที่ประชาชน ชาวไทยควรนำมาปฏิบัติอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อการนำไปสู่การกินอยู่แบบพอเพียง ได้ดังนี้
1) การผลิตต้องมุ่งเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันของครอบครัว โดยให้มีพอเพียงในการบริโภคตลอดปี และเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน รวมทั้งเพื่อจำหน่าย
2) การผลิตต้องอาศัยปัจจัยในการผลิต ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อม เช่น การเกษตรต้องมี แหล่งน้ำ โดยจัดการให้มีน้ำใช้ในการผลิตและประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่นให้เพียงพอ
3) การผลิตจะสามารถดำเนินไปด้วยดีและประสบผลสำเร็จนั้น ต้องอาศัยปัจจัยประกอบ อื่น ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงและเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการผลิตจากหลายฝ่ายทั้งเกษตรกรธุรกิจภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียง เข้ากับเศรษฐกิจการค้า พร้อมทั้งให้ดำเนินกิจการควบคู่กันไปด้วยดี
นอกจากนี้ การผลิตจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ”และต้องยึดมั่นในเรื่องของ “คุณค่า” ให้มากกว่า “มูลค่า” อันจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ“ระบบ” อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ที่กล่าวมาทั้งหมด ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งเป็นพ่อแผ่นดินของประเทศไทย และท่านก็ได้ทรงเล็งเห็นปัญหาต่าง ๆ และทรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ นานา เพื่อคนไทยทุกคน ดังนั้น พวกเราจึงควรทำตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ


ที่มา: //gotoknow.org/blog/ceotalk




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 23 กันยายน 2550 11:33:49 น.
Counter : 7339 Pageviews.  

1  2  3  

IBM_AGood
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add IBM_AGood's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.