อนาคตของกาแฟในประเทศไทย
หลายครั้งที่มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำอาชีพเกษตร ประเด็นคำถามที่ได้ยินบ่อยที่สุดคือ อนาคตราคาของพืชชนิดนั้นชนิดนี้จะเป็นอย่างไร หากตอบให้ตรงประเด็น คงต้องยืนยันชัดๆ ว่า ไม่มีผู้ใดที่สามารถตอบได้แม่นยำเลยว่าราคาสินค้าเกษตรในอนาคตจะอยู่ที่เท่าใด มีเพียงราคาตลาดในการซื้อขายในตลาดล่วงหน้าเท่านั้นที่พอจะเป็นตัวเลขอ้างอิงเพื่อให้เห็นแนวโน้มในอนาคตสั้นๆ ได้อยู่บ้าง

และเป็นที่น่าสังเกตอีกอย่างว่า เกษตรกรที่ลงทุนกับพืชปลูกที่สวนกระแส มักได้รับผลกำไรดีกว่าที่ทำตามๆ กัน ในขณะที่พื้นที่ปลูกกาแฟโรบัสต้าทางภาคใต้ของไทยถูกทดแทนด้วยพืชแฟชั่นหลายชนิด เกษตรกรทางภาคตะวันออกกลับโค่นไม้ผลเพื่อปลูกกาแฟทดแทน ในวันนี้กาแฟที่ปลูกใน จ.จันทบุรี สามารถพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันเป็นพืชที่มีศักยภาพตัวหนึ่งที่น่าสนใจ ราคากาแฟในวันนี้เป็นหลักประกันได้ดีว่าเจ้าของสวนจะได้ผลกำไรอย่างงามในปีนี้ ไม่เพียงแต่จังหวัดในภาคตะวันออกเท่านั้น ยังมีเกษตรกรอีกหลายรายจากภาคตะวันตกและอีสานตอนบนมาถามซื้อต้นกาแฟจากโครงการผลิตต้นกล้ากาแฟพันธุ์โรบัสต้าของเรา

ประเด็นที่เป็นหลักประกันได้ดีข้อหนึ่งคือ อัตราการขยายตัวของตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ดังนั้นโอกาสที่วัตถุดิบจะขาดแคลนจะมีมากกว่าล้นตลาด และไม่ว่าคุณจะขายกาแฟเมื่อไรก็จะมีคนรับซื้อแน่นอน ขอสังเกตอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยในวันนี้มีสินค้าเกษตรแทบจะนับชนิดได้ที่ผลผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ และกาแฟเป็นหนึ่งในพืชที่อยู่ในกลุ่มนี้

จุดแข็งของกาแฟในบ้านเราก็คือความเป็นผู้นำด้านคุณภาพ เกษตรกรได้รับการถ่ายทอดความรู้และลองผิดลองถูกมามากแล้วว่า ทำอย่างไรกาแฟจะมีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาด

บทสรุปของกาแฟในบ้านเราในอนาคตก็คือ ต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ด้วยการวางแผนการผลิตที่เหมาะสม โดยต้องไม่ละเลยการให้ความสำคัญด้านคุณภาพไปพร้อมกันด้วย



Create Date : 25 กันยายน 2553
Last Update : 25 กันยายน 2553 9:08:45 น.
Counter : 2298 Pageviews.

2 comment
เขตการค้าเสรีกับชาวสวนกาแฟไทย
เขตการค้าเสรีคืออะไร
FTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรี เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด โดยที่คู่สัญญาจะเป็น 2 ประเทศหรือมากกว่านั้นก็ได้ เช่นเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งมีสมาชิก 10 ประเทศได้แก่ ไทย มาเลเซีย บรูไน อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ซึ่งถือเป็นรูปแบบขั้นพื้นฐานของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ FTA ยังถือเป็นเครื่องมือทางการค้าสำคัญที่ประเทศต่างๆ ใช้เพื่อขยายโอกาสในการค้า สร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ พร้อมๆกับเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้แก่สินค้าของตน เนื่องจากสินค้าที่ผลิตภายใต้ FTA จะถูกเก็บภาษีขาเข้าในอัตราที่ต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นๆที่ไม่ใช่สมาชิก FTA ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ.2553 ที่จะถึงนี้ในกลุ่มของเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ไทยได้ทำข้อตกลงไว้มีข้อตกลงให้ลดภาษีนำเข้าสินค้าเหลือร้อยละ 0-5 จึงทำให้สินค้าที่ผลิตภายในกลุ่มฯได้เปรียบในด้านราคามากกว่าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม ทั้งนี้ ประเทศคู่สัญญา FTA สามารถเจรจากันได้ว่าแต่ละประเทศจะลดภาษีให้แก่กันในสินค้าใดบ้าง จะลดอย่างไร และจะใช้ระยะเวลายาวนานเท่าไรในการลดภาษี
ทำไมไทยต้องทำ FTA
เพราะโลกปัจจุบันมีการแข่งขันกันเปิดการค้าเสรี และมองว่า WTO เป็นเวทีใหญ่ แต่ปัจจุบัน WTO มีปัญหาชะงักงันเนื่องจากมีสมาชิกมากขึ้นถึง 147 ประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศ มีระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก การใช้กฎกติกาเดียวกันจึงต้องใช้เวลานาน การเจรจาของ WTO เคลื่อนไหวได้ช้า ประเทศต่าง ๆ หันมาทำ FTA กันมากเพราะทำให้มีความคล่องตัวมากกว่า ดังนั้นไทยจึงต้องหันมาสนใจในเรื่องของการทำ FTA เพื่อที่จะสามารถรักษาตลาดการส่งออกของเราไว้
FTA กับชาวสวนกาแฟไทย
ในปี 2553 อัตราภาษีนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบจะลดลงเหลือร้อยละ 0 จากพันธกรณีการเปิดตลาดตามข้อตกลง AFTA หลังใช้โควตาภาษีปกป้องตลาดกาแฟภายในประเทศมานาน ในปัจจุบันประเทศไทยกำหนดให้มีโควตา นำเข้าเมล็ดกาแฟในปริมาณ 5 ตัน/ปี อัตราภาษีร้อยละ 30 ส่วนเมล็ดกาแฟนอกโควตาอัตราภาษีร้อยละ 90 ซึ่งมีความแตกต่างกันมาก หวั่นเกรงกันว่าถ้าปี 2553 มาถึง เมล็ดกาแฟไทย อาจหายไปจากตลาดภายในประเทศเพราะ ต้นทุนสู้เมล็ดกาแฟดิบจากเวียดนามและอินโดนีเซียไม่ได้ โดยที่ ผลผลิตต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 130-160 กิโลกรัม/ไร่ น้อยกว่า เวียดนาม ซึ่งมีผลผลิตต่อไร่สูง 200-500 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งเมื่อเฉลี่ยออกมาแล้วมีผลทำให้ต้นทุนการปลูกกาแฟของไทยอยู่ที่ 32 บาท/กิโลกรัมและมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นไปอีกจากต้นทุนการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นเช่น ค่าปุ๋ยเคมี ค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่วนต้นทุนการผลิตของเวียดนามอยู่ที่ 27 บาท/กิโลกรัม ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศไทย

เกษตรกรไทยควรทำอย่างไรก่อนการเปิดเขตการค้าเสรี

ในเวลานี้ เกษตรกรไทยจะต้องมีการพัฒนาตัวเองเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดที่ใหญ่ขึ้นไม่เฉพาะแต่เกษตรผู้ปลูกกาแฟเท่านั้น ยังรวมถึงเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรอื่นๆอีกด้วยเพราะผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆก็มีการเปิดเขตทางการค้าเสรีเช่นเดียวกัน
กล่าวถึงชาวสวนกาแฟไทย จุดแข็งของชาวสวนกาแฟไทย อยู่ที่คุณภาพของกาแฟสารที่มีคุณภาพดีเยี่ยมกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเราควรรักษาจุดแข็งในเรื่องของการจัดการด้านคุณภาพไว้ ทั้งนี้ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการผลิตซึ่งยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น การใช้ต้นกล้ากาแฟพันธุ์ดีที่ให้ผลผลิตสูง การปรับปรุงบำรุงดิน การใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักแกลบกาแฟผสมกับปุ๋ยเคมีเพื่อลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย การทำบัญชีฟาร์มเพื่อควบคุมรายรับรายจ่ายในการผลิตกาแฟ เป็นต้น
ถ้าในตอนนี้เรายังไม่เริ่มทำการพัฒนาขีดความสามารถของเราให้สูงยิ่งขึ้นไป ในอนาคตอันใกล้ เราอาจต้องสูญเสียตลาดเมล็ดกาแฟภายในประเทศให้กับประเทศเพื่อนบ้านไปก็เป็นได้



Create Date : 25 กันยายน 2553
Last Update : 25 กันยายน 2553 9:07:37 น.
Counter : 789 Pageviews.

1 comment
การปรับตัวภายหลังการเปิดตลาดเสรี AFTA
ผลของการเปิดตลาดสินค้าส่งออกและนำเข้าภายใต้ข้อตกลง AFTA จะทำให้เกษตรกรและผู้ส่งออกมีโอกาสขายในตลาดที่ใหญ่ขึ้นในราคาที่สูงขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งในรูปของวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป สำหรับผู้บริโภคจะมีโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพดีอย่างหลากหลายมากขึ้น ทุกวันนี้เราต้องยอมรับว่าไม่สามารถหลีกหลบระบบการค้าแบบตลาดเสรีได้อีกต่อไป

ภายหลังจากไทยเปิดตลาดเสรีกับประเทศสมาชิกในกลุ่ม AFTA ทำให้ภาษีการนำเข้าเม็ดกาแฟดิบคงเหลือเพียง 5% ชาวสวนกาแฟไทยต้องทบทวนอย่างหนักในการปรับปรุงแผนการผลิตในสวนของตัวเอง เพื่อให้ผลผลิตมีขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ เป้าหมายหลักคือการรักษาระดับมาตรฐานคุณภาพ เพราะทุกวันนี้ กาแฟที่ผลิตในประเทศไทยเรียกได้ว่ามีคุณภาพระดับต้นๆ ของโลก ในขณะเดียวกัน ควรคำนึงถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ซึ่งทำได้โดยการใช้ต้นพันธุ์ดีและมีการดูแลรักษาให้เหมาะสม เมื่อได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยก็ลดต่ำลง

สำหรับนโยบายของภาครัฐในการดำเนินการปรับโครงสร้างตามยุทธศาสตร์กาแฟปี 2552-2556 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว เนื้อหาที่สำคัญมีดังนี้
1. กรมส่งเสริมการเกษตร จะจัดทำแปลงสาธิตการปลูกกาแฟด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้แก่สวนกาแฟเพื่อนบ้าน
2. กรมพัฒนาที่ดิน จะศึกษาการวิเคราะห์สภาพพื้นที่ปลูกกาแฟในประเทศไทย โดยได้นำเข้าบรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การใช้ที่ดินของกรมเรียบร้อยแล้ว
3. กรมการค้าภายใน มีแผนส่งเสริมการทำตลาดแบบพันธสัญญา โดยมุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถขายผลผลิตให้กับผู้ประกอบการได้โดยตรง
4. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะศึกษาเชิงลึกเรื่องต้นทุนการผลิตในระบบการปลูกกาแฟแบบเชิงเดี่ยวและเชิงผสม
5. กรมการค้าต่างประเทศ จะเผยแพร่ความรู้ด้านการค้า โดยจะจัดพิมพ์ข้อมูลและความรู้ด้านนำเข้าและส่งออก
6. สถาบันเกษตรกร ได้รับงบประมาณอุดหนุนการปรับโครงสร้างสินค้ากาแฟแบบครบวงจร โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนในรูปเงินกองทุนในรูปเงินยืมปลอดดอกเบี้ยและเงินจ่ายขาด

ไม่เพียงเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟที่ต้องปรับตัวเท่านั้น ผู้ประกอบการเองยังจำเป็นต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน เพราะภายใต้การเปิดตลาดในครั้งนี้ การนำเข้าสินค้ากาแฟสำเร็จรูปจากต่างประเทศสมาชิกในกลุ่ม AFTA จะงดเว้นภาษี สิ่งที่น่ากังวลคือต้นทุนการผลิตสินค้าของประเทศอื่นนั้นถูกกว่าเรามาก เพราะราคาวัตถุดิบซึ่งก็คือเม็ดกาแฟดิบของประเทศคู่ค้าเหล่านี้ถูกกว่าในบ้านเรามาก ผู้ประกอบการเองจึงต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมแข่งขันกับสินค้ากาแฟที่จะหลั่งไหลเข้ามาเป็นอย่างมากในปีต่อจากนี้อย่างแน่นอน



Create Date : 25 กันยายน 2553
Last Update : 25 กันยายน 2553 9:06:40 น.
Counter : 595 Pageviews.

0 comment

somata
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



สอบถามเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกาแฟ สนใจสั่งซื้อต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้า หรือข้อมูลอื่นๆหากไม่เกินความสามารถจะหามาตอบให้อย่างเต็มที่ครับ
ติดต่อ e-mai ส่วนตัวผมครับที่ omojama@gmail.com อาจจะตอบกลับไม่เร็วมากนักถ้าติดงานในบางวันนะครับ
หรือสอบถามทางโทรศัพท์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่
1. ศูนย์รับซื้อเมล็ดกาแฟสวี (077)556001
2. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร (077)556190-1