โรคของกาแฟโรบัสต้าในประเทศไทย
โดยทั่วไป กาแฟโรบัสต้ามีลักษณะของความต้านทานต่อโรคมากกว่ากาแฟอราบิก้า เราจึงพบโรคที่เกิดขึ้นกับกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกอยู่ในแถบบ้านเราได้น้อยมาก และโดยส่วนใหญ่แล้วอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น หากเกษตรกรละเลยในการดูแลสวนกาแฟของตัวเอง และประกอบกับสภาพแวดล้อมในช่วงเวลานั้นเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการแพร่ระบาดของโรคแล้วนั้น โรคในกาแฟก็อาจจะทำความเสียหายในทางเศรษฐกิจให้กับเกษตรกร และของประเทศได้ ซึ่งโรคที่สำคัญของกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้ของประเทศไทย มีดังนี้

1. โรคราสนิม เกิดจากเชื้อ Hemileia vastatrix Berk. &Br. ลักษณะอาการด้านหลังใบมีจุดวงกลมสีเหลือง และด้านใต้ใบมีลักษณะเป็นฝุ่นผงของสปอร์สีเหลืองส้ม บางส่วนของใบจะถูกปกคลุมด้วยเชื้อราสีส้ม และถ้าอาการรุนแรงจะทำให้ใบอ่อนที่ยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ร่วงและกิ่งแห้งตายได้ การแพร่ระบาดของเชื้อราจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในพื้นที่ที่มีฝนตกชุก นอกจากนี้ลม แมลง สัตว์และมนุษย์ก็มีส่วนช่วยแพร่กระจายโรคด้วย ส่วนใหญ่กาแฟโรบัสต้าจะต้านทานโรคราสนิมนี้ ยกเว้นเพียงบางสายพันธุ์เท่านั้นที่อ่อนแอต่อโรคนี้ วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคนี้ คือ การเปลี่ยนสายพันธุ์กาแฟที่อ่อนแอมาเป็นพันธุ์ต้านทาน ซึ่งสามารถทำได้โดยการปลูกใหม่ด้วยสายพันธุ์ต้านทาน หรือการติดตาหรือเสียบยอดด้วยสายพันธุ์ต้านทาน

2. โรครากขาว เกิดจากเชื้อ Rigidoporus lignosus (Klotz.) Imazeki ลักษณะอาการของต้นกาแฟจะมีใบเหลืองและเหี่ยว ถ้าอาการลุกลามมากจะทำให้ตายได้เมื่อขุดรากดูจะพบว่ารากเน่า และสามารถมองเห็นเส้นใยสีขาวของเชื้อราในบริเวณที่เน่านั้นด้วยตาเปล่า โรคของรากกาแฟนี้ พบได้ทั่วไปแม้ในสภาพป่าที่ไม่มีการเพาะปลูกพืชมาก่อน ในระยะเริ่มแรกเชื้อสาเหตุสะสมอยู่ที่ตอไม้หรือรากไม้ที่ผุพัง เมื่อมีการขุดถางพื้นที่สำหรับปลูกกาแฟ เชื้อโรคจะแพร่กระจายโดยการสัมผัสของระบบราก วิธีการป้องกันทำได้โดยการขุดตอพืชเดิมออกให้มากที่สุด และขุดแยกพืช ที่เป็นโรคออก หลุมปลูกพืชควรตากแดดไว้ 2-3 เดือน นอกจากนี้ควรมีการขุดร่องระหว่างแถว เพื่อป้องกันมิให้ระบบรากมาสัมผัสกัน

3. โรคแอนแทรคโนสในกาแฟ ซึ่งเป็นโรคที่พบมากที่สุดในกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกอยู่ในเขตบ้านเรา เกิดจากเชื้อรา Colletotrichum coffeanum Noack ลักษณะการทำลายของโรค สามารถทำอันตรายกับกาแฟได้ทั้งในส่วนของใบ กิ่ง และผล อาการของโรคถ้าเข้าทำลายผลกาแฟจะทำให้ผลกาแฟมี จุดลึกสีน้ำตาลเข้ม จากนั้นจะแห้งและเปลี่ยนเป็นสีดำ หากโรคนี้เกิดที่ใบ จะทำให้ใบเหลือง และมีแผลแห้งที่ใบ โดยเฉพาะใบ

กาแฟของกิ่งที่อ่อน จากนั้นข้อและปล้องจะแห้งตายจากยอดเข้ามา และลุกลามจนกิ่งแห้งและใบร่วง หากอาการรุนแรงต้นกาแฟจะแห้งจากยอดและยืนต้นตาย การป้องกัน เกษตรกรควรมีการตัดแต่งกิ่งให้แสงส่องถึงพื้นดินได้บ้าง ควรเก็บเอาผลหรือกิ่งที่แห้งตายไปเผาทำลาย ใส่ปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อให้กาแฟได้รับธาตุอาหารครบถ้วน ต้นกาแฟก็จะได้แข็งแรงและสามารถต้านทานการเข้าทำลายของโรคได้

จะเห็นได้ว่าโรคในกาแฟโรบัสต้า เกษตรกรสามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นและควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดได้ด้วยวิธีการเขตกรรม โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีที่เป็นอันตรายเลย เพียงแต่เกษตรกรดูแลและบำรุงต้นกาแฟให้สมบูรณ์แข็งแรง ไม่อ่อนแอ และหมั่นตรวจแปลง สังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสวนกาแฟของตนเอง หากมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นจะได้มีการแก้ไขได้ทันเวลา



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:58:11 น.
Counter : 2945 Pageviews.

0 comment
พืชสมุนไพรทางเลือกในการใช้ป้องกันแมลงศัตรูพืช
ปัจจุบันมีการรณรงค์การทำการเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ หรือการผลิตสินค้าทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเป็นอย่างมาก ดังนั้นเกษตรกรซึ่งจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นผู้ผลิต หรือเป็นต้นทางของการผลิตสินค้าเกษตรเหล่านั้น ซึ่งเมื่อต้นทางมีการใช้สารเคมีมาก ปลายทางก็คือผู้บริโภคก็จะได้รับพิษจากสารเคมีด้วย แนวทางในการลดการใช้สารเคมีก็คือ โดยการใช้พืชผักสมุนไพรที่อยู่ใกล้ๆ ตัวเรา พบมากในท้องถิ่น หาง่าย และเราก็ใช้บริโภค และอุปโภคกันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยสรรพคุณของพืชสมุนไพรเหล่านั้น ได้แก่ มีฤทธิ์ในการป้องกันและขับไล่แมลงศัตรูพืชได้ อีกทั้งยังมีความเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิต และสภาพแวดล้อมน้อย มีการสลายตัวได้เร็ว สามารถที่จะนำมาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น

พืชสมุนไพร ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ สรรพคุณ
กะหล่ำปลี ใบ เป็นพิษต่อหนอนกระทู้ หนอนชอนใบ
กระเทียม หัว เป็นพิษต่อมด แมลงวัน
กระเพรา ใบ และยอด เป็นพิษต่อมด แมลงวัน
ขิง หัว หรือเหง้า เป็นพิษต่อแมลงวันทอง มด และแมลงวัน
ขมิ้น หัว หรือเหง้า เป็นพิษต่อแมลงวันทอง
ข่า หัว หรือเหง้า เป็นพิษต่อมด แมลงวัน
ตะไคร้หอม ใบ และลำต้น เป็นพิษต่อเพลี้ย ไร มอด และแมลงศัตรูพืชอื่นๆ
บอระเพ็ด ลำต้นหรือเถา เป็นพิษต่อเพลี้ยอ่อน ไร และใช้ไล่แมลงศัตรูพืชอื่นๆ
ใบบัวบก ทุกส่วน ใช้เป็นสารกำจัดแมลง
ยาสูบ ใบ ใช้เป็นสารกำจัดแมลง
พริก ผล และราก เป็นพิษต่อด้วงปีกแข็ง บุ้ง และมอดเจาะไม้
สะเดา เมล็ด และใบ ใช้เป็นสารขับไล่แมลง
หางไหล โล่ติ๊น ราก ใช้เป็นสารกำจัดแมลง

เพื่อเป็นการลดการใช้สารเคมีในชีวิตในชีวิตประจำวัน เราอาจจะต้องหันมาดูพืชผัก สมุนไพรที่มีคุณสมบัติที่ดีเหล่านี้ เพื่อลดการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตอาหารของทุกๆ คน



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:56:53 น.
Counter : 547 Pageviews.

0 comment
การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน
สารกำจัดศัตรูพืชหรือสารเคมีที่เกษตรกรใช้เพื่อกำจัดโรคพืช แมลงศัตรูพืช วัชพืช และสัตว์พาหะนำโรคต่างๆ เกษตรกรส่วนใหญ่เข้าใจว่า ถ้าต้องการให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ต้องฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชปริมาณมากและบ่อยครั้ง เพื่อให้ผลผลิตสวยได้ราคาดี ซึ่งการปฏิบัติดังกล่าวทำให้ตัวเกษตรกรเองเป็นผู้ที่ได้รับความเสี่ยงสูงสุดเพราะต้องสัมผัสสารพิษโดยตรง ส่วนผู้บริโภคถึงแม้ไม่ได้สัมผัสโดยตรงแต่ก็ได้รับผลกระทบจากสารพิษที่ตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งอาการและผลกระทบจะขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของสารเคมี สารเคมีบางชนิดมีพิษเฉียบพลันแม้ได้รับในปริมาณน้อย บางชนิดมีผลกระทบต่ออวัยวะสืบพันธุ์และผิวหนัง หรือบางชนิดเป็นสารก่อมะเร็งมีผลกระทบต่อสุขภาพเรื้อรังเมื่อได้รับติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากมนุษย์แล้วการใช้สารกำจัดศัตรูพืชยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทั้งอากาศ ดิน และน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของนก ผีเสื้อ แมลงศัตรูธรรมชาติ และสัตว์ต่างๆ ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง

การจัดการศัตรูพืชด้วยแบบผสมผสาน จึงเป็นการรวมเอาวิธีการต่างๆที่เหมาะสมมาใช้ร่วมกันทำให้การควบคุมศัตรูพืชมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติของพืชและศัตรูพืช เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้พืชแข็งแรงมีความต้านทาน ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ

1. การควบคุมด้วยการเขตกรรม พืชที่แข็งแรงสมบูรณ์จะมีความสามารถทนทานต่อการทำลายของแมลงและโรคพืช ซึ่งปัจจัยที่จะช่วยสร้างความแข็งแรงสมบูรณ์ให้แก่พืชมีดังนี้
-การเลือกต้นกล้าสายพันธุ์ดี มีความแข็งแรงสมบูรณ์
-การเตรียมพื้นที่เพาะปลูก และการเว้นระยะปลูกที่เหมาะสม
-การปรับปรุงดิน เช่น การไถพรวน การตากดิน เป็นการกำจัดวัชพืชและทำลายเชื้อโรค
-การจัดการปุ๋ย และน้ำ เพื่อช่วยให้มีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ลดการระบาดและการทำลายของศัตรูพืช
-การปลูกพืชแบบผสมผสาน เพื่อลดความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรูพืช และความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาผลผลิต
การควบคุมศัตรูพืชด้วยการเขตกรรมเป็นแนวปฏิบัติที่เกษตรกรปฏิบัติกันมาเป็นเวลานานแล้ว เป็นวิธีที่ประหยัด แต่ต้องมีการดำเนินการล่วงหน้าและต้องให้ความเอาใจใส่ดูแลแปลงปลูกเป็นอย่างดีโดยสม่ำเสมอ

2. การควบคุมด้วยชีววิธี โดยการอาศัยศัตรูธรรมชาติต่างๆทั้งตัวห้ำและตัวเบียน เช่น ด้วงเต่าทอง แมงมุม ต่อ แตน นก และสัตว์เลื้อยคลานต่างๆ นำมาเพาะเลี้ยงแล้วนำไปปล่อยให้คอยควบคุมประชากรศัตรูพืชให้มีจำนวนลดลงระดับหนึ่ง เกษตรกรควรสำรวจแปลงปลูก ดิน น้ำ ต้นพืช ศัตรูพืช และศัตรูธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งจะทำให้ศัตรูธรรมชาติถูกฆ่าไปด้วย
การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นวิธีการที่ไม่มีผลเสียต่อสภาพแวดล้อม และมีความปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี นอกจากนี้ถ้านำมาปฏิบัติได้เป็นผลสำเร็จแล้วจะให้ผลการควบคุมที่ถาวร แต่จะต้องอาศัยเวลา ไม่รวดเร็วเหมือนการใช้สารเคมี

3. การควบคุมด้วยสารเคมี เป็นวิธีสุดท้าย หากว่าวิธีการอื่นๆ ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของศัตรูพืชได้ การเลือกใช้สารเคมีในการจัดการศัตรูพืชเกษตรกรควรอาศัยข้อมูลจากการสำรวจพบศัตรูพืชในแปลงปลูก ไม่ใช่การเลือกใช้สารเคมีตามปฏิทินหรือตารางที่กำหนดเพียงอย่างเดียว การใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่เฉพาะเจาะจง และใช้ในบริเวณที่มีการแพร่ระบาดเท่านั้น ที่สำคัญไม่ควรใช้สารกำจัดศัตรูพืชก่อนระยะการเก็บเกี่ยว เพื่อป้องกันสารพิษที่ตกค้างในผลผลิต
การควบคุมศัตรูพืชโดยใช้สารเคมีเป็นวิธีการควบคุมแบบชั่วคราว ต้องทำซ้ำติดต่อกันอยู่เสมอ เลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษน้อยในอัตราใช้ที่ถูกต้อง และต้องหยุดฉีดพ่นก่อนระยะการเก็บเกี่ยว เพื่อให้แน่ใจได้ว่าไม่มีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างอยู่ในผลผลิต

การจัดการศัตรูพืชด้วยวิธีผสมผสาน เป็นการรวมเอาวิธีการต่างๆ ที่เหมาะสมมาใช้ร่วมกันทำให้การควบคุมศัตรูพืชมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จึงต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติของพืชและศัตรูพืช เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้พืชแข็งแรงมีความต้านทาน ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:53:19 น.
Counter : 994 Pageviews.

0 comment
หลักปฏิบัติในการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช
วิถีการทำเกษตรของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่สามารถปฏิเสธการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้เลย แม้จะมีการรณรงค์ส่งเสริมให้ใช้สารสกัดจากธรรมชาติมาใช้ทดแทนกันก็ตาม ความนิยมใช้สารเคมีทางการเกษตรเนื่องจากสามารถหาซื้อได้ง่าย ใช้แล้วสามารถเห็นผลได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลา ประหยัดค่าจ้างแรงงาน และไม่ต้องฉีดบ่อยครั้งเหมือนกับสารสกัดที่ได้จากธรรมชาติ
สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่พบเห็นและใช้ในการทำสวนกาแฟส่วนใหญ่ ได้แก่ สารเคมีกำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลง ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนกาแฟทำการฉีดพ่นสารเคมีเหล่านั้น มีน้อยคนมากที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สารเคมี อุปกรณ์ป้องกันต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งมีหลักปฏิบัติในการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืช ดังนี้

- เลือกใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเป็นพิษต่ำ และอ่านฉลากกำกับที่ข้างภาชนะให้เข้าใจถึง วิธีการใช้ ปริมาณ และช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยละเอียดก่อนการใช้ทุกครั้ง และต้องปฏิบัติตามคำเตือนและข้อระวังอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบเครื่องพ่นสารเคมีให้อยู่ในสภาพใช้งานอยู่เสมอ หากพบร่องรอยชำรุดเสียหาย ควรรีบปรับปรุง ซ่อมแซม
- ผสมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชให้อัตราส่วนได้ตามฉลากที่ระบุ ไม่ควรผสมเกินปริมาณที่แนะนำ
- ขณะที่ผสมสารฯควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือ ที่ปิดจมูก และใช้ไม้กวนสาร ห้ามใช้มือกวนโดยตรง
- ในขณะที่พ่นสารฯควรสวมรองเท้าบู๊ท เสื้อผ้า หมวก ถุงมือยาง ที่ปิดจมูก ให้มิดชิด เพื่อป้องกันละอองของสารเคมีสัมผัสร่างกายโดยตรง
- ก่อนการฉีดพ่น ควรดูทิศทางลมเสียก่อน โดยเริ่มฉีดพ่นจากขอบแปลงด้านใต้ลมและขยายแนวฉีดพ่นขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ
- ขณะทำการฉีดพ่น ผู้พ่นสารเคมีต้องอยู่เหนือลมเสมอ และหันหัวฉีดไปด้านใต้ลม ห้ามพ่นสารฯไปข้างหน้า เพราะจะทำให้ผู้พ่นสัมผัสกับสารเคมีที่พ่นเอาไว้ หากลมแรงหรือเปลี่ยนทิศทางเข้าหาตัวผู้ฉีดพ่น ต้องหยุดพ่นทันที และรอจนกว่าลมจะสงบเป็นปกติ
- ไม่ควรฉีดพ่นในขณะที่อากาศร้อนจัด เพราะจะมีผลต่อประสิทธิภาพของสารเคมี ต้นพืช และสมรรถภาพของตัวผู้ฉีดพ่น
- งดการสูบบุหรี่ รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ ขณะฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- ภายหลังจากการฉีดพ่นควรรีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และซักชุดที่สวมใส่ในการปฏิบัติงาน
- ไม่ล้างภาชนะบรรจุและอุปกรณ์การฉีดพ่นลงในแม่น้ำ ลำคลองหรือบ่อน้ำ เพราะจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่ต้องอาศัยแหล่งน้ำ
- เก็บสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชไว้ในภาชนะเดิม ไม่เปลี่ยนถ่ายภาชนะโดยเด็ดขาด เช่นใส่ไว้ในขวดน้ำดื่ม เป็นต้น
- เก็บสารเคมีไว้ในที่มิดชิด ปลอดภัยจากเด็ก สัตว์เลี้ยง อาหารและเปลวไฟ
- หากรู้สึกไม่สบายในขณะฉีดพ่นหรือหลังการฉีดพ่น ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมภาชนะบรรจุและฉลากของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- ภาชนะบรรจุเมื่อใช้หมดแล้ว ควรล้างน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง ก่อนทำลายโดยวิธีการฝังดิน

หลักปฏิบัติดังกล่าวข้างต้นไม่เป็นการยากเลยที่เกษตรกรชาวสวนกาแฟจะได้นำไปปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวเกษตรกรเอง ครอบครัว เพื่อนบ้าน และสิ่งแวดล้อม



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:46:08 น.
Counter : 1180 Pageviews.

0 comment

somata
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



สอบถามเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกาแฟ สนใจสั่งซื้อต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้า หรือข้อมูลอื่นๆหากไม่เกินความสามารถจะหามาตอบให้อย่างเต็มที่ครับ
ติดต่อ e-mai ส่วนตัวผมครับที่ omojama@gmail.com อาจจะตอบกลับไม่เร็วมากนักถ้าติดงานในบางวันนะครับ
หรือสอบถามทางโทรศัพท์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่
1. ศูนย์รับซื้อเมล็ดกาแฟสวี (077)556001
2. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร (077)556190-1