การใช้ปุ๋ยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การใช้ปุ๋ยในการเกษตร ทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมี ล้วนมีข้อดี ข้อด้อย และข้อควรระวังในแง่การผลิตและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปตามประเภทของปุ๋ย ช่วงเวลา และลักษณะการใช้ ข้อดีของปุ๋ยประเภทหนึ่งอาจจะชดเชยได้ด้วยปุ๋ยอีกประเภท แนวทางการเลือกใช้ปุ๋ยมีข้อควรพิจารณาถึง ข้อดี ข้อด้อย ประกอบการตัดสินใจที่สำคัญดังนี้

ข้อดีของปุ๋ยอินทรีย์
1. ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ รวมถึงความโปร่ง ความร่วนซุย การอุ้มน้ำ และการถ่ายเทอากาศของดินได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี
2. ปรับปรุงคุณสมบัติทางชีวภาพของดินได้ดีกว่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก เป็นธาตุที่จุลินทรีย์ต้องการมากที่สุด การใส่ปุ๋ยอินทรีย์ช่วยให้จุลินทรีย์ในดินเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืช
3. มีธาตุอาหารเสริมมากกว่าปุ๋ยเคมี เนื่องจากปุ๋ยอินทรีย์เป็นปุ๋ยที่ได้มาจากซากพืชหรือสัตว์ซึ่งมีธาตุอาหารเสริมอยู่ด้วยเสมอ
ข้อดีของปุ๋ยเคมี
1. มีความสะดวกในการใช้ เนื่องจากมีธาตุอาหารอยู่ในปริมาณสูง กล่าวคือ มีธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก ซึ่งสูงกว่าปุ๋ยอินทรีย์หลายเท่าตัว ทำให้สามารถใช้ได้ในปริมาณน้อย
2. สามารถใช้ปรับปรุงดินให้มีธาตุอาหารเหมาะสมกับพืชได้ มีความหลากหลายทั้งในด้านชนิดและปริมาณธาตุอาหาร สามารถนำปุ๋ยต่างชนิดมาผสมกันให้เหมาะสมกับกับดินและพืชได้ง่าย
3. สามารถใช้เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตามที่พืชต้องการได้

ข้อด้อยของปุ๋ยอินทรีย์
1. ต้องใช้ในปริมาณมากเนื่องจากมีธาตุอาหารหลักผสมอยู่น้อย มีความไม่สะดวกในการใช้ และอาจส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายสูง
2. มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับชนิดของปุ๋ยทำให้มีความยุ่งยากในการกำหนดปริมาณการใช้
ข้อด้อยของปุ๋ยเคมี
1. ปุ๋ยเคมีบางชนิดทำให้ความเป็นกรดเป็นด่างของดินเปลี่ยนไป เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมชนิดต่างๆ ทำให้ดินเป็นกรดได้ในเวลาอันสั้น ปุ๋ยแคลเซียมไนเตรททำให้ดินเป็นด่าง
2. การใช้ปุ๋ยเคมีที่เข้มข้นและละลายน้ำง่ายต่อเนื่องกันทำให้เกิดการสะสมและชะล้างลงสู่แหล่งน้ำ เช่น ปุ๋ยไนโตรเจนเมื่อใส่ลงไปในดินจะถูกเปลี่ยนเป็นไนเตรท ซึ่งอาจจะทำให้มีการชะล้างไนเตรทจากดินลงสู่น้ำมากขึ้น
3. อาจมีธาตุโลหะหนักและสารพิษติดมาสะสมในดิน ปุ๋ยฟอสเฟตอาจมีโลหะหนักเช่น ปรอท แคดเมียม ติดมาจากหินฟอสเฟตที่ใช้ผลิตปุ๋ย อาจเกิดการสะสมในดินและพืชดูดเข้าไปมากจนเกินจุดที่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค
การเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อพืชทั้งในส่วนของ ราก ต้น กิ่ง ใบ ดอก และผล ใช้ธาตุอาหารสำคัญ 16 ชนิด คาร์บอน ไฮโดรเจน และ ออกซิเจน พืชได้รับจาก อากาศและน้ำ ส่วนธาตุอาหาร อีก 13 ชนิด พืชได้รับจากดินโดยผ่านระบบรากเป็นหลัก การให้ปุ๋ยแก่พืชควรจะให้ได้รับธาตุอาหารครบถ้วนตามความต้องการ นานแค่ไหนแล้วที่ผืนดินในสวนของท่านได้รับเพียงธาตุอาหารจากปุ๋ยเคมี โดยปราศจากการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:29:54 น.
Counter : 1451 Pageviews.

3 comment
ผลกระทบจากการใช้ปุ๋ยเคมี
การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรทางด้านพืช เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่ให้มากขึ้นในปัจจุบัน มีการพัฒนาในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพันธุ์ การใช้สารกำจัดศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนเทคนิคอื่นๆ เช่น ระยะปลูก การตัดแต่ง เป็นต้น
การใช้ปุ๋ยเคมีถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ จะเป็นการช่วยเพิ่มผลผลิต เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยเคมีกันมาก เนื่องจากใช้สะดวกมีสูตรต่างๆ ให้เลือกมากมาย และเห็นผลเร็ว แต่การใช้ปุ๋ยเคมีก็มีข้อจำกัดและอาจสร้างผลกระทบได้เช่นกัน

ประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อใช้ในพื้นที่การเกษตรที่มีอากาศร้อน-แห้งแล้ง ธาตุไนโตรเจนอาจสูญหายไปเกือบ 40-50 เปอร์เซ็นต์ และถ้าภูมิอากาศไม่อำนวย เช่น ฝนตกหนัก มีภัยแล้งติดต่อกัน ดินเสื่อมโทรมหรือถูกกัดเซาะและมีอินทรียวัตถุไม่มาก ประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีก็ยิ่งจะลดต่ำลงไปอีก

ปุ๋ยเคมีทำลายสมดุลของระบบนิเวศดิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในดิน ปุ๋ยเคมีจะเร่งอัตราการสลายตัวของอินทรียวัตถุ ทำให้โครงสร้างของดินเสื่อมลง ดินจึงกระด้าง ไม่อุ้มน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืช อีกทั้งการใส่ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุไนโตรเจนมากๆจะทำให้ดินเป็นกรด จนธาตุฟอสฟอรัสที่มีอยู่ในดินแปรสภาพไปจากเดิม ซึ่งพืชนำมาใช้ไม่ได้

การใช้ปุ๋ยเคมีธาตุหลัก N P K ติดต่อกันจะทำให้เกิดปัญหาการขาดธาตุรอง เช่น สังกะสี เหล็ก ทองแดง แมงกานีส แมกนีเซียม ซึ่งถ้าเกิดปัญหานี้ขึ้นจะส่งผลกระทบต่อพืช และกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ผู้บริโภค และมีผลให้ผลผลิตลดลง อีกทั้งโรค และแมลงศัตรูพืชเข้าทำลายบ่อยครั้งขึ้น

นอกเหนือจากปัญหาผลกระทบทางด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม การใช้ปุ๋ยเคมียังมีผลทางเศรษฐกิจ เพราะแหล่งวัตถุดิบของปุ๋ยมีอยู่จำกัด (โดยเฉพาะปุ๋ยฟอสเฟต) การใช้ปุ๋ยเคมีมากๆ ย่อมทำให้เกิดปัญหาปุ๋ยขาดแคลน และมีราคาแพงขึ้น และถ้าต้องนำเข้าปุ๋ยเคมีหรือวัตถุดิบจากต่างประเทศ ก็อาจจะเป็นการเพิ่มปัญหาการขาดดุลการค้าระหว่างประเทศ

การใช้ปุ๋ยเคมีส่งผลกระทบต่อระบบภูมิอากาศโลกด้วย โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (N2O) สู่บรรยากาศในชั้นสตราโตสเฟียร์ ก๊าซนี้จะทำลายชั้นโอโซน ซึ่งช่วยทำหน้าที่ดูดซับและกรองคลื่นแสงอินฟาเรดเอาไว้ เมื่อชั้นโอโซนลดลง รังสีจากดวงอาทิตย์ที่แผ่มายังโลกก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เกิดภาวะเรือนกระจก และความผันผวนของภูมิอากาศ ปัจจัยเหล่านี้มีผลกระทบต่อแบบแผนการผลิตทางการเกษตรค่อนข้างมาก เมื่อเกิดวิกฤตการณ์โลกร้อน และระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ก็ย่อมส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง
รูปแบบการผลิตเพื่อการค้าในปัจจุบัน การงดใช้ปุ๋ยเคมีคงทำได้ยากในระยะเวลาอันใกล้ แต่หากเกษตรกรช่วยกันปรับรูปแบบการใช้ปุ๋ยเคมี โดยหันมาใช้ควบคู่กับปุ๋ยอินทรีย์ให้มากขึ้น เช่น การใช้ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด หรือการใช้พืชตระกูลถั่วเพื่อตรึงไนโตรเจน หรืออาจพัฒนาไปสู่การเลิกใช้ปุ๋ยเคมี ก็จะเป็นการช่วยลดปัญหาที่เริ่มได้จากตัวเกษตรกรเอง

ข้อมูลจาก; วิฑูรย์ ปัญญากุล. เกษตรยั่งยืน วิถีการเกษตรเพื่ออนาคต. กรุงเทพ. มูลนิธิสายใยแผ่นดิน, 2547



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:27:40 น.
Counter : 37679 Pageviews.

9 comment
การเลือกซื้อปุ๋ยเคมี
การใช้ปุ๋ยเคมีให้มีประสิทธิภาพต้องพิจารณาเลือกสูตรปุ๋ย ปริมาณที่ใช้ ช่วงเวลาที่ใช้ และวิธีการใช้แล้ว เกษตรกรต้องรู้จักวิธีเลือกซื้อปุ๋ยเคมี เพื่อให้ได้ปุ๋ยที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และไม่โดนหลอก
บนฉลากปุ๋ยเคมีทุกชนิดจะระบุปริมาณธาตุอาหารหลักเป็นตัวเลข 3 ตัว ที่เรียกว่า “สูตรปุ๋ย” โดยตัวเลขทั้ง 3 ตัวหมายถึง เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักของธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม เรียงตามลำดับ ตัวอย่างเช่น ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หมายความว่า มีไนโตรเจน 13% ฟอสฟอรัส13% และโพแทสเซียม 21% ของน้ำหนักปุ๋ย
เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถตรวจสอบจากกลิ่น สี รูปร่างลักษณะเม็ดปุ๋ย หรือความรู้สึกเย็นเมื่อสัมผัส ได้ว่าปุ๋ยเคมีนั้นมีธาตุอาหารครบตามที่ระบุอยู่บนกระสอบหรือไม่ นอกจากการตรวจสอบโดยวิธีการทางเคมีซึ่งเป็นการวิเคราะห์โดยละเอียดในห้องปฺฎิบัติการ ผลวิเคราะห์ที่ได้ละเอียดถูกต้องเป็นการตรวจสอบเพื่อรับรองธาตุอาหารในปุ๋ยตามกฎหมาย แต่ก็เป็นวิธีที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และค่าใช้จ่ายสูง จึงมีผู้ผลิตปุ๋ยปลอมที่ไม่มีธาตุอาหารอยู่เลย หรือปุ๋ยที่ผิดจากมาตรฐาน ซึ่งเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารไม่ตรงตามสูตร เมื่อเกษตรกรซื้อไปใช้ก็จะไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย และขาดทุน

การสังเกตปุ๋ยปลอม มีจุดที่ควรสังเกตและวิธีการเลือกซื้อปุ๋ยดังนี้
ชนิดของปุ๋ยปลอมที่หลอกขายเกษตรกร
1. ปุ๋ยที่มีคุณภาพต่ำ โดย
- ปลอมแปลงถุงปุ๋ยใช้อัตราที่อยู่ในความนิยมของเกษตรกร
- ปลอมสูตร โดยพิมพ์ที่กระสอบเป็นปุ๋ยสูตรสูง แต่ที่บรรจุเป็นปุ๋ยสูตรต่ำ
- เลียนแบบสีปุ๋ย โดยเลียนแบบสีปุ๋ยสูตรสูงที่เกษตรนิยมใช้ แต่เป็นปุ๋ยสูตรต่ำ แล้วขายราคาแพงเท่ากับราคาปุ๋ยสูตรสูง
2. น้ำหนักปุ๋ยไม่ครบ ทำการขโมยปุ๋ย โดยเจาะปุ๋ยออกจากกระสอบ ทำให้น้ำหนักปุ๋ยไม่ถึง 50 กิโลกรัมต่อกระสอบ
3. ขายปุ๋ยปลอมรวมมากับปุ๋ยจริง เช่น มีปุ๋ยจริง 7 กระสอบ และมีปุยปลอมคละอยู่ 3 กระสอบ
4. ทำปุ๋ยเทียมโดยใช้วัสดุคล้ายปุ๋ย เช่น ดินเหนียว หรือ โดโลไมท์ ปั้นเม็ดบรรจุกระสอบขายเป็นปุ๋ย

การเลือกซื้อปุ๋ยเพื่อหลีกเลี่ยงปุ๋ยปลอม
1. ซื้อจากแหล่งขายปุ๋ยที่ไว้ใจได้ เช่น จากหน่วยงานของรัฐ และจากร้านที่เชื่อถือได้ หรือที่คุ้นเคยเป็นเวลานาน
2. อย่าเห็นแก่ราคาปุ๋ย ราคาที่ถูกหรือแพงกว่าราคาสูตรที่เคยใช้ หรือราคาตลาด
3. ตรวจดูสภาพกระสอบต้องใหม่และเรียบร้อย ไม่มีรอยฉีกขาดหรือรอยเย็บกระสอบใหม่
4. ตรวจดูข้อความที่กระสอบมีการระบุสูตร ตรา น้ำหนัก ปริมาณธาตุอาหารรับรอง ชื่อผู้ผลิต และที่อยู่อย่างชัดเจน เม็ดปุ๋ยในกระสอบ ต้องมีคุณภาพดี ไม่ละเอียด ไม่ยุ่ยง่าย
5. กรณีมีผู้เสนอขายตามบ้าน ให้ขอตัวอย่างปุ๋ยและรายละเอียดจากผู้ขาย เพื่อตรวจสอบกับทางราชการก่อน เช่น ศูนย์วิจัยและสถานีทดลองของกรมวิชาการเกษตรในท้องถิ่น หรือเกษตรจังหวัด ให้ช่วยพิจารณาการเลือกซื้อ
6. การรวมกลุ่มเกษตรกรซื้อโดยตรงจากผู้ผลิต
7. ซื้อแม่ปุ๋ยที่หาได้ตามท้องตลาดมาผสมใช้เอง ซึ่งราคาถูกกว่าซื้อปุ๋ยสูตรและจะตัดปัญหาเรื่องปุ๋ยปลอมได้



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:17:37 น.
Counter : 2437 Pageviews.

0 comment
ความสำคัญของการวิเคราะห์ดิน
ดินเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะเป็นแหล่งผลิตปัจจัยทั้ง 4 การทำการเกษตรในช่วงที่ผ่านมาการเพาะปลูกโดยมีการใช้ดินอย่างเข้มข้น แต่กลับละเลยการดูแลรักษาสภาพของดินอย่างถูกต้อง ทำให้ดินเกิดการเสื่อมโทรมทั้งด้านโครงสร้างของดินและคุณสมบัติของดินอย่างมาก จากการสำรวจพื้นที่สำหรับใช้ทำการเกษตรในประเทศไทยจำนวน 130 ล้านไร่ พบว่า พื้นที่กว่า 77% หรือประมาณ100 ล้านไร่เป็นพื้นที่ดินเสื่อมโทรม เนื่องจากการใช้การเคมีในการทำการเกษตรกรเป็นระยะเวลานาน การทำเกษตรในที่สูง ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวเกษตรกรในด้านการลงทุนทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มปัจจัยการผลิตมากขึ้นส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของตัวเกษตรกร
ปัญหาสภาพดินเสื่อมโทรมนั้นมีลักษณะความผิดปกติของดินที่เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ สำหรับวิธีการที่ทำให้เราทราบถึงสาเหตุได้ถูกต้องและใกล้เคียงที่มากที่สุดคือ การวิเคราะห์ดิน ซึ่งเกษตรกรบางท่านอาจไม่ทราบถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ดิน สำหรับความสำคัญของการวิเคราะห์ดินมีหลายประการ เช่น
- ทราบถึงระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดิน เนื่องจากพืชโดยทั่วไปมีความต้องการระดับความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ในระดับกลางประมาณ 5.5-7.5 พื้นที่ทำการเกษตรกส่วนใหญ่ดินมักประสบปัญหาดินเป็นกรดแม้จะใส่ปุ๋ยเคมีลงไปมากเท่าใดก็ตาม พืชก็ไม่สามารถนำธาตุอาหารมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ เพราะธาตุอาหารส่วนใหญ่ต้องการระดับความเป็นกรดเป็นด่างในช่วงกลาง
- ทราบถึงปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดิน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับตัวเกษตรกรเองสามารถช่วยให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยในปริมาณที่เหมาะสมแก่พืช เนื่องจากเมื่อทราบปริมาณธาตุอาหารในดินแล้วเกษตรกรก็จะสามารถกำหนดปริมาณของธาตุอาหารตามความต้องการธาตุอาหารของพืช เพราะหลายครั้งเกษตรกรต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ทั้งที่ในดินปริมาณธาตุอาหารชนิดนั้นเพียงพออยู่แล้ว แต่กลับใส่เข้าไปอีกทำให้สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
- ทราบถึงปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารให้แก่พืชเพราะอินทรียวัตถุจะค่อยๆ ถูกปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างต่อเนื่องและช่วยปรับโครงสร้างของดินดีเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนั้นยังช่วยรักษาระดับความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
- ทราบถึงเนื้อดิน ทำให้เกษตรกรสามารถทราบความเหมาะสมของเนื้อดินกับพืชที่ปลูกได้และสามารถจัดการกับพื้นที่ได้ตามลักษณะดิน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเนื้อดินเป็นดินเหนียวจะต้องเพิ่มอินทรียวัตถุเพื่อปรับโครงสร้างให้โปร่ง ระบายอากาศได้ดี
การวิเคราะห์ดินเป็นแนวทางให้เกษตรกรปรับประยุกต์แก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นให้ตรงจุด ปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพของดินให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช ย่อมจะช่วยให้พืชที่ปลูกในพื้นที่ดินของตนเจริญงอกงาม เป็นผลให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น สำหรับเกษตรกรที่สนใจมีความต้องการที่จะนำดินวิเคราะห์สามารถส่งดินมาวิเคราะห์ได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดิน หรือหน่วยงานของกรมพัฒนาที่ดิน ทุกจังหวัด



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:16:10 น.
Counter : 3911 Pageviews.

0 comment
ปุ๋ยหมัก “ใส่ 1 ได้ถึง 3”
เป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่าปุ๋ยหมักเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุงดินและช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้กับพืชที่ปลูกได้เป็นอย่างดี การใส่ปุ๋ยหมักให้กับพืชที่ปลูกสามารถปรับปรุงคุณสมบัติต่างๆของดินได้ ถึง 3ประการดังนี้

คุณสมบัติทางกายภาพของดิน

1. ส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน ปุ๋ยหมักที่ใส่ลงในดินมีปริมาณอินทรียวัตถุสูง ช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้น ฮิวมัสในปุ๋ยหมักเป็นสารอินทรีย์ซึ่งมีประจุลบซึ่งจะช่วยดูดยึดธาตุอาหารพืชที่มีประจุบวก และมีผลให้อนุภาคของดินเกาะตัวกัน
2. ปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น ลดความหนาแน่นของดินและช่วยเพิ่มการระบายอากาศของดินให้มากขึ้น ทำให้ระบบรากพืชสามารถแผ่กระจายได้ดีและสามารถดูดธาตุอาหารได้เพิ่มขึ้น ลดการเกิดชั้นดินดาน
3. ส่งเสริมให้เกิดความพรุนของหน้าดิน ทำให้การซึมผ่านของน้ำและการอุ้มน้ำของดินดีขึ้น ดินเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้ยาวนานกว่า และมีผลทางอ้อมคือช่วยลดการเกิดการชะล้างหน้าดินได้

คุณสมบัติทางเคมี

1. เพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน ถึงแม้ว่าจะไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยเคมี แต่ก็ค่อยๆปลดปล่อยให้เป็นประโยชน์ต่อพืชในระยะยาว ปุ๋ยหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำมาจากวัสดุเศษพืชต่างๆ ดังนั้นจึงมีธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรองค่อนข้างครบถ้วน
2. เพิ่มความจุในการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้ารวมถึงต้านทานการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดเป็นด่างของดิน ปุ๋ยหมักเป็นวัสดุที่มีความสามารถในการแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าค่อนข้างสูง มีส่วนช่วยให้ปุ๋ยเคมีบางชนิดถูกดูดยึดไว้ได้นานและปลดปล่อยให้พืชนำไปใช้ประโยชน์ได้ จึงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของปุ๋ยเคมีได้อีกทางหนึ่ง
3. ลดความเป็นพิษจากการได้รับธาตุอาหารสูงเกินไป เช่น การใส่ปุ๋ยหมักในดินที่เป็นกรด จะสามารถลดความเป็นพิษของอลูมินัมและแมงกานีส โดยช่วยดูดยึดธาตุทั้งสองไว้ ทำให้ปริมาณสารละลายในดินลดลง

คุณสมบัติทางชีวภาพของดิน

1. เพิ่มธาตุอาหารให้แก่จุลินทรีย์ เพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดินและกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อพืช
2. ทำให้ปริมาณแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อความอุดมสมบูรณ์ของดินเพิ่มขึ้น และช่วยยับยั้งการเจริญและความสามารถในการก่อให้เกิดโรคของเชื้อโรคบางชนิดรวมถึงไส้เดือนฝอยได้
3. การเจริญของจุลินทรีย์ทำให้เกิดกรดอินทรีย์หลายชนิด กรดอินทรีย์บางชนิดจะถูกพืชนำไปใช้โดยตรง บางชนิดมีผลต่อการปลดปล่อยและการเปลี่ยนแปลงธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์

เมื่อทราบข้อดีทั้งสามข้อจากการใส่ปุ๋ยหมักแล้ว การปรับปรุงบำรุงดินหรือใส่ปุ๋ยในครั้งต่อไปอย่าลืมใส่ปุ๋ยหมักควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ยเคมี เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและยังรักษาผืนดินไว้ให้ลูกหลานของเราสืบต่อไป

ที่มา : ดร.ธงชัย มาลา.ปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพ.กรุงเทพฯ : ม.เกษตรศาสตร์,2546.หน้า 247-250



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2553 14:09:16 น.
Counter : 688 Pageviews.

0 comment

somata
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 14 คน [?]



สอบถามเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกกาแฟ สนใจสั่งซื้อต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้า หรือข้อมูลอื่นๆหากไม่เกินความสามารถจะหามาตอบให้อย่างเต็มที่ครับ
ติดต่อ e-mai ส่วนตัวผมครับที่ omojama@gmail.com อาจจะตอบกลับไม่เร็วมากนักถ้าติดงานในบางวันนะครับ
หรือสอบถามทางโทรศัพท์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่
1. ศูนย์รับซื้อเมล็ดกาแฟสวี (077)556001
2. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร (077)556190-1