Group Blog
 
All Blogs
 
ค่าบริการและค่าอาหาร เงินจ่ายทดแทนรถประจำตำปหน่ง เงินค่าค้างคืนนอกฝั่ง เงินจูงใจ เงินโบนัส ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าภาษี ประ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8794/2550

มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายตามข้อ2.2 ถึงข้อ 2.4 ว่าค่าบริการและค่าอาหารที่จำเลยให้โจทก์เป็นค่าจ้างหรือไม่และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าค่าบริการเป็นเงินที่จำเลยเก็บรวบรวมจากลูกค้าที่มาใช้บริการโรงแรมในแต่ละเดือนก่อนที่จะแบ่งเฉลี่ยจ่ายแก่พนักงานทุกคนจำเลยได้หักค่าบริการไว้ร้อยละสิบเป็นต้นทุนสิ่งของที่แตกหักชำรุดจึงเป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายเงินแก่พนักงานหลังหักต้นทุนแล้วส่วนค่าอาหารเป็นเงินที่จำเลยตกลงจ่ายแก่โจทก์ทุกเดือนจำนวนเท่ากันและจำเลยนำค่าอาหารเป็นฐานคำนวณรายได้ประจำปีเพื่อเสียภาษีจึงเป็นค่าจ้างที่ต้องคำนวณเป็นค่าชดเชยกับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มแก่โจทก์นั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวันรายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้” ค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญ 3 ประการคือ ประการแรก ค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้างประการที่สองเงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานประการที่สามเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541เมื่อปรากฏว่าในส่วนของค่าอาหารนั้นจำเลยไม่ได้จ่ายเป็นเงินให้แก่พนักงานเพียงแต่จัดเป็นอาหารให้คำนวณต่อคนเป็นค่าอาหารละ832 บาท เท่านั้น จึงไม่ใช่ “เงิน”ที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างและปรากฏตามเอกสารเรื่องการปรับราคาค่าอาหารและหอพักเพื่อคำนวณภาษีว่าจำเลยได้จัดอาหารและหอพักให้พนักงานอาศัยเป็นสวัสดิการโดยคำนวณเป็นค่าอาหารและค่าหอพักเพื่อถือเป็นรายได้เพื่อคำนวณภาษีค่าอาหารดังกล่าวจึงเป็นเพียงสวัสดีการที่จำเลยจัดให้แก่ลูกจ้างเท่านั้นมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5ส่วนค่าบริการนั้นตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.2 ระบุว่าเป็นเงินที่นายจ้างเรียกเก็บเงินจากแขกผู้มาใช้บริการร้อยละสิบแล้วนำมาจ่ายให้แก่ลูกจ้างทุกคนจำนวนตั้งแต่ร้อยละเจ็ดสิบของค่าบริการทั้งหมดในปี2540 จนถึงร้อยละเก้าสิบของค่าบริการทั้งหมดตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมาและปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าส่วนที่เหลืออีกร้อยละสิบนั้นจำเลยหักไว้เพื่อเป็นต้นทุนของสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ที่แตกหักชำรุดเสียหายในแต่ละเดือนเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างแต่ละคราวจำเลยก็จะนำเงินค่าบริการมาแบ่งเฉลี่ยแก่ลูกจ้างคนละเท่าๆกัน ดังนั้น การที่ลูกจ้างโจทก์จะได้รับค่าบริการมากน้อยเพียงใดจึงขึ้นอยู่กับจำนวนค่าใช้จ่ายของลูกค้าเป็นสำคัญทั้งไม่ปรากฏว่าหากเป็นกรณีที่จำเลยไม่ได้รับเงินค่าบริการไว้หรือเงินค่าบริการที่รับไว้มีจำนวนน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยที่จ่ายประจำเดือนแล้วจำเลยจะต้องจ่ายเงินของจำเลยเพิ่มให้ลูกจ้างแต่อย่างใดการหักค่าบริการไว้ร้อยละสิบในแต่ละเดือนก็เป็นไปตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเพื่อชดเชยความชำรุดของทรัพย์สินที่อาจเสียหายจากการทำงานของลูกจ้างตามปกติของการทำงานจำเลยจึงไม่ได้มีส่วนได้เสียกับค่าบริการการที่จำเลยเป็นผู้เรียกเก็บจากลูกค้าและเป็นผู้จัดแบ่งให้แก่ลูกจ้างเป็นกรณีที่จำเลยทำแทนลูกจ้างเพื่อความสะดวกและเพื่อให้กิจการของจำเลยดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดังนั้นค่าบริการจึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานและมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541ค่าบริการจึงมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 เช่นกันจำเลยจึงไม่ต้องนำค่าอาหารและค่าบริการเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินค้าแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเพิ่มที่ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8211/2550

เงินที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เดือนละ 20,000 บาท เป็นค่าจ้างที่จะต้องนำไปรวมคำนวณเป็นค่าชดเชยที่จำเลยจะต้องจ่ายพร้อมเงินเพิ่มและดอกเบี้ยตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเคยจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้แก่โจทก์ซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้จัดการภาคใต้ต่อมาจำเลยยกเลิกรถยนต์ประจำตำแหน่งของโจทก์เนื่องจากมีอายุการใช้งานเกิน 5 ปีแล้วจำเลยได้จ่ายเงินให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 20,000 บาทตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2545อันเป็นวันหลังจากที่เรียกรถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์เป็นต้นไปการจ่ายเงินให้แทนรถยนต์ประจำตำแหน่งเพื่อให้โจทก์นำเงินดังกล่าวไปซื้อหรือเช่ารถยนต์สำหรับใช้งานแทนรถยนต์ประจำตำแหน่งที่เรียกคืนและข้อเท็จจริงที่ยุติในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางปรากฏว่าจำเลยจะจัดรถยนต์ประจำตำแหน่งให้พนักงานตำแหน่งระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปเท่านั้นดังนั้นรถยนต์ประจำตำแหน่งจึงเป็นสวัสดิการที่จำเลยจัดให้แก่พนักงานที่ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวเมื่อจำเลยเรียกรถยนต์ประจำตำแหน่งคืนแล้วจ่ายเงินเดือนละ 20,000 บาทให้แก่โจทก์เพื่อซื้อหรือเช่ารถยนต์สำหรับใช้งานแทนรถยนต์ประจำตำแหน่งจึงเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการเช่นเดียวกันมิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายเดือนแม้จะจ่ายเงินดังกล่าวเป็นจำนวนแน่นอนเท่าๆกันทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5ที่จะต้องนำไปรวมคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541มาตรา 118 และเมื่อจำเลยไม่ต้องนำเงินดังกล่าวไปรวมคำนวณจ่ายเป็นค่าชดเชยแล้วจึงมิใช่กรณีที่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยที่จะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละ15 ต่อปีหรือเป็นกรณีนายจ้างจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งและวรรคสองแต่อย่างใดที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9016 - 9043/2549

ส่วนที่โจทก์ทั้งยี่สิบแปดอุทธรณ์ในข้อ2.1 ว่า เงินค่าค้างคืนนอกฝั่งและค่าพาหนะเป็นค่าจ้างนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานฯดังนั้นค่าจ้างจึงต้องเป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายโดยการจ่ายนั้นเป็นค่าตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างและเป็นการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติหรือตามผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าเงินค่าค้างคืนนอกฝั่งเป็นเงินที่คำนวณจากการทำงานล่วงเวลาซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยามคำว่า “การทำงานล่วงเวลา” หมายความว่าการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติหรือเกินชั่วโมงทำงานในแต่ละวันที่นายจ้างลูกจ้างตกลงกันตามมาตรา23 ในวันทำงานหรือวันหยุดแล้วแต่กรณี ดังนั้นเงินค่าค้างคืนนอกฝั่งจึงเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติที่โจทก์ทั้งยี่สิบแปดอุทธรณ์ว่าการทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดในชั่วโมงที่เก้าถึงชั่วโมงที่สิบสองในช่วงที่ค้างคืนนอกฝั่งเป็นระยะเวลาการทำงานตามปกติของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดจึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนเงินค่าพาหนะนั้นศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าการทำงานบนเรือมีรอบการทำงานยี่สิบแปดวันและหยุดพักไม่ต้องทำงานยี่สิบแปดวันเงินค่าพาหนะเป็นเงินที่จำเลยที่ 1เหมาจ่ายให้เป็นค่าเดินทางจากภูมิลำเนาที่พักเดินทางมายังท่าเรือจังหวัดระยองเพื่อไปขึ้นทำงานบนเรือทานตะวันเอ็กซ์พลอเรอร์ จะให้ต่อเมื่อต้องเดินทางมาเพื่อขึ้นไปทำงานบนเรือเท่านั้นหากมิใช่รอบที่จะไปทำงานบนเรือก็จะไม่ได้รับเงินค่าพาหนะและโจทก์แต่ละคนได้รับไม่เท่ากัน เห็นว่า การจ่ายค่าพาหนะดังกล่าวแม้จะจ่ายโดยเหมาจ่ายให้ แต่เมื่อโจทก์ทั้งยี่สิบแปดมีกำหนดเวลาทำงานติดต่อกันเป็นช่วงช่วงละยี่สิบแปดวันที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและช่วงที่ไม่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งอีกยี่สิบแปดวันสลับกันไปเงินค่าพาหนะจะจ่ายให้เฉพาะช่วงที่ต้องปฏิบัติงานนอกฝั่งและได้รับจำนวนไม่เท่ากันดังนั้น จึงเป็นการจ่ายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างสำหรับค่าเดินทางจากภูมิลำเนาไปยังท่าเรือจังหวัดระยองมิได้จ่ายเพื่อตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติในวันทำงานของโจทก์ทั้งยี่สิบแปดและมิได้ประสงค์จะจ่ายเป็นค่าจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าพาหนะนี้เป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่านั้นมิใช่ค่าจ้างจึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ทั้งยี่สิบแปดในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2548

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าเงินจูงใจที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์นั้นเป็นค่าจ้างหรือไม่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา5 บัญญัติคำว่า ค่าจ้างว่า “ค่าจ้างหมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้” ค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวคือเงินที่นายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานสำหรับการทำงานหรือผลงานที่ทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหากนายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างด้วยวัตถุประสงค์อื่นที่มิใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงเช่น นายจ้างจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในด้านต่างๆ อันเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างหรือจ่ายเงินพื่อจูงใจในการทำงานอันเป็นการสร้างขวัญและกำสังใจในการทำงานมิใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรงก็มิใช่ค่าจ้างศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่าเงินจูงใจเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานขายโดยคำนวณให้ตามผลงานที่พนักงานสามารถทำยอดขายได้ในผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดตามเป้าหมายที่โจทก์กำหนดเป็นรายเดือนรายไตรมาส(3 เดือน) และรายปีซึ่งเป็นจำนวนเงินที่จ่ายไม่แน่นอนไม่เท่ากันทุกเดือนโดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายตามเอกสารหมายจ.11 ซึ่งโจทก์จะกำหนดเป็นปีๆ ไปหากพนักงานทำงานขายได้ต่ำกว่าเป้าที่กำหนด ก็จะไม่ได้รับเงินจูงใจ เห็นว่าโจทก์ได้จ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือนประจำให้แก่พนักงานขายเพื่อตอบแทนการทำงานขายในเวลาทำงานปกติของวันทำงานซึ่งรวมทั้งเงินค่าจ้างในวันหยุดและวันเวลาที่พนักงานขายไม่ได้ทำงานด้วยส่วนเงินจูงใจนั้นโจทก์ตกลงจ่ายให้เฉพาะพนักงานที่ทำยอดขายได้ตามเป้าที่โจทก์กำหนดอันเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานขายทำยอดขายเพิ่มขึ้นไม่ใช่เพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง อีกทั้งโจทก์ตกลงจ่ายเงินจูงใจเป็นรายเดือนรายไตรมาส หรือรายปี อันมิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานเงินจูงใจจึงมิใช่ค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โจทก์ไม่ต้องนำเงินจูงใจมาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยการที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยเพิ่มขึ้นให้แก่ พนักงานที่โจทก์เลิกจ้างโดยนำเงินจูงใจมารวมเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยด้วยนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 มาตรา 118 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งของจำเลยที่ 8/2546 ลงวันที่ 21 มีนาคม2546 นั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนและพิพากษาฟ้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2548

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินโบนัส เงินค่าน้ำและเงินค่าไฟฟ้าที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นเงินค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชยหรือไม่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเงินโบนัสโจทก์ได้รับเป็นประจำทุกปีโดยจำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ปีละ1 ครั้ง พร้อมกับเงินเดือน งวดที่ 12 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคมของแต่ละปีมิใช่แบ่งจ่ายเป็นงวดดังเช่นการจ่ายเงินเดือน และระบุการจ่ายว่าเป็นเงินโบนัสสำหรับค่าน้ำและค่าไฟฟ้าแต่เดิมจำเลยจะจ่ายให้แก่โจทก์ต่อเมื่อต้องมีใบเสร็จรับเงินมาแสดงประกอบการเบิกจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริงตามเอกสารหมายล. 5 ข้อ 3 แสดงให้เห็นว่าค่าน้ำและค่าไฟฟ้าเป็นการจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการโดยแท้ ไม่มีเจตนาที่จะจ่ายให้เป็นเงินค่าจ้างแม้ต่อมาโจทก์จะไม่ต้องนำใบเสร็จมาแสดงก็เนื่องจากโจทก์เป็นผู้บริหารระดับสูงเป็นการอำนวยความสะดวกและให้เกียรติโจทก์ และเป็นจำนวนเงินไม่มากจึงเหมาจ่ายให้แก่โจทก์เป็นประจำทุกเดือนเงินดังกล่าวนี้ก็ยังคงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เป็นสวัสดิการเช่นเดิมดังนั้น ทั้งเงินโบนัส เงินค่าน้ำและเงินค่าไฟฟ้าจึงไม่ใช่เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานจึงมิใช่ค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นค่าชดเชย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9096/2546

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่าค่าเช่าบ้านที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทุกเดือน เดือนละ 1,500 บาท เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 นิยามศัพท์คำว่าค่าจ้าง หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติฯลฯ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หมวด 9สวัสดิการ ระบุว่า

1. วัตถุประสงค์ บริษัท ฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ต่าง ๆในหมวดนี้ขึ้นเพื่อให้พนักงานทุกคนของบริษัท ฯเป็นผู้มีสุขภาพพลานัยสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจมีความสามัคคีในหมู่คณะตลอดจนเพื่อช่วยให้พนักงานและครอบครัว มีมาตรฐานการดำรงชีพสูงขึ้นจากที่ควรจะเป็นตามอัตราเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนอันจะเป็นผลให้พนักงานทำงานได้โดยปราศจากข้อบกพร่องหรือมีข้อบกพร่องน้อยที่สุดและผลที่บริษัทฯได้รับในที่สุดก็คือการดำเนินการอย่างราบรื่นมีสมานฉันท์และประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ

2. นโยบาย บริษัท ฯ จะให้สวัสดิการต่าง ๆแก่พนักงานตามที่บริษัท ฯ เห็นสมควรโดยจะพิจารณาจากประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายในการจัดสวัสดิการ ตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมและสภาพการณ์ประกอบกับความสามารถของบริษัท ฯ ในการจัดสวัสดิการนั้น ๆ

ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยจ่ายค่าเช่าบ้านแก่ลูกจ้างเพื่อเป็นการช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัยค่าเช่าบ้านจึงเป็นเพียงสวัสดิการที่นายจ้างจัดให้แก่ลูกจ้างมิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาทำงานปกติแม้จะมีการจ่ายเงินจำนวนนี้แน่นอนทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าเช่าบ้านเป็นค่าตอบแทนการทำงานปกติของวันทำงานและนำมารวมกับเงินเดือนเป็นค่าจ้างนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับคือเงินเดือน เดือนละ 9,490บาท เท่านั้น อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5028/2545

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า"มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่าเงินค่าภาษีและเงินประกันสังคมที่จำเลยจ่ายในคดีนี้เป็นค่าจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541หรือไม่ เห็นว่า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า"ค่าจ้าง หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวันรายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้"เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าภาษีเงินได้ที่จำเลยนำส่งกรมสรรพากรและเงินประกันสังคมที่จำเลยนำส่งสำนักงานประกันสังคมจำเลยออกให้ลูกจ้างของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วยซึ่งภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้นโจทก์ในฐานะผู้มีเงินได้และลูกจ้างผู้ประกันตนมีหน้าที่จักต้องชำระโดยจำเลยจะหักเงินจำนวนดังกล่าวไว้จากค่าจ้างและนำส่งให้แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเมื่อจำเลยมิได้หักเงินจำนวนดังกล่าวจากค่าจ้างของโจทก์แต่ออกเงินนั้นแทนโจทก์และส่งไปส่วนราชการดังกล่าวภาษีเงินได้และเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่จำเลยออกให้แก่โจทก์จึงเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ส่วนราชการเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายและเป็นการจ่ายแทนโจทก์มิได้จ่ายให้แก่โจทก์ เป็นเงินประเภทอื่นมิใช่เงินที่จำเลยและโจทก์ตกลงจ่ายให้แก่กันเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างจึงมิใช่ค่าจ้างตามบทกฎหมายข้างต้นส่วนที่โจทก์อ้างว่าเงินทั้งสองประเภทจะต้องนำไปรวมเป็นเงินได้ของโจทก์และคำนวณหักภาษีณ ที่จ่าย และจำเลยมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินภาษีที่จำเลยตกลงจ่ายให้แก่โจทก์ด้วยนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประมวลรัษฎากรไม่เกี่ยวกับปัญหาว่าเงินทั้งสองประเภทดังกล่าวเป็นค่าจ้างหรือไม่อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8690/2544

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า"มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ค่าเช่ารถยนต์หรือค่าชดเชยรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 จ่ายให้โจทก์ทุกเดือนเดือนละ22,000บาท นั้น เป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541มาตรา 5 บัญญัติว่า"ค่าจ้าง" หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์แต่ถ้าหากยังหารถไม่ได้ก็จะให้ค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000 บาทข้อตกลงของโจทก์และจำเลยที่ 1 ดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่ามีการกำหนดให้จำเลยที่1 หารถประจำตำแหน่งให้โจทก์เป็นหลักมีข้อยกเว้นว่าหากยังหารถให้ไม่ได้ก็ให้จ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์เดือนละ 22,000บาท ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะยังหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ไม่ได้จึงต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ให้โจทก์เดือนละ22,000 บาท ไปแล้วกี่เดือนก็ตาม หากต่อมาจำเลยที่ 1 สามารถหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ได้ตามข้อตกลงเมื่อใด จำเลยที่ 1 ก็ไม่จำต้องจ่ายค่าเช่ารถยนต์ดังกล่าวให้โจทก์อีกต่อไป ดังนั้น ค่าเช่ารถยนต์ที่จำเลยที่1 จ่ายให้โจทก์เดือนละ22,000 บาทตามข้อตกลงในระหว่างที่ยังจัดหารถประจำตำแหน่งให้โจทก์ไม่ได้ถือว่าเป็นสวัสดิการมิใช่เงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานแม้จะจ่ายเงินจำนวนแน่นอนเท่าๆ กันทุกเดือน ก็มิใช่ค่าจ้าง การที่ศาลแรงงานกลางนำเอาค่าเช่ารถยนต์เดือนละ 22,000บาท ไปคิดรวมเป็นค่าจ้างของโจทก์เป็นเงินเดือนละ97,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง ที่ถูกเป็นค่าจ้างเพียงเดือนละ 75,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยที่ 1จำนวน 1 เดือน จึงเป็นเงินเพียง75,000 บาท และค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายเก้าสิบวัน เป็นเงิน 225,000บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาทเท่ากับจำนวนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยที่โจทก์ได้รับไปจากจำเลยที่1 แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเงินดังกล่าวได้อีก อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นและเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระหนี้ดังกล่าวซึ่งมีมูลหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1)ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445 - 5565/2544

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดประการแรกว่าเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ทุกคนเป็นค่าจ้างหรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา5 ให้คำจำกัดความว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่าเงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่น หรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานส่วนเงินโบนัสจำเลยจ่ายให้โดยพิจารณาว่าโจทก์ทุกคนยังเป็นลูกจ้างอยู่จนถึงวันสิ้นงวดบัญชีและผลการปฏิบัติงานที่ผู้บังคับบัญชาประเมินเท่านั้นถึงแม้จำเลยจะกำหนดอัตราการจ่ายโบนัสไว้ชัดเจนโดยคำนวณจากฐานเงินเดือนของโจทก์แต่ละคนเป็นจำนวนแน่นอนก็ตามแต่ก็มิใช่เงินที่จำเลยจ่ายตอบแทนการทำงานสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติของวันทำงานทั้งข้อตกลงระหว่างจำเลยกับสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพที่ทำขึ้น (ในคดีหมายเลขดำที่ 11671- 16703/2542 ของศาลแรงงานกลาง) ข้อ 4 วรรคสองระบุว่า เพื่อเป็นกำลังใจในการปฏิบัติภาระหน้าที่ของพนักงานจำเลยตกลงให้โบนัสพิเศษแก่พนักงาน ดังนี้จะเห็นได้ว่าเงินโบนัสที่จำเลยจ่ายเป็นการจ่ายเพื่อจูงใจให้พนักงานทำงานให้มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงาน จึงไม่ใช่ค่าจ้างอุทธรณ์โจทก์ทั้งหมดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2544

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ให้ความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" หมายถึง"เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน"อาหารวันละ ๓ มื้อที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างให้แก่ลูกจ้างที่ไปทำงานปกติรับประทานแสดงให้เห็นว่าลูกจ้างซึ่งมิได้ไปทำงานหรือเป็นวันหยุดไม่ได้รับประทานอาหารทั้ง๓ มื้อ เช่นนี้กรณีเห็นได้ว่าอาหารวันละ ๓ มื้อที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างนั้นมีวัตถุประสงค์เป็นการช่วยการครองชีพของลูกจ้างซึ่งมาทำงานในแต่ละวันให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงอันมีลักษณะเป็นการให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างอย่างหนึ่งเท่านั้นมิใช่ค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวต่อมาพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๓ ได้บัญญัติให้ยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ดังนั้นประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อ ๒ และข้อ๑๔ แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕จึงถูกยกเลิกไปด้วย ภายหลังที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑มีผลใช้บังคับแล้วความหมายของคำว่า "ค่าจ้าง" ต้องใช้ตามมาตรา ๕เท่านั้น ซึ่งตามมาตรา ๕ คำว่า "ค่าจ้าง" หมายความว่า"เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ?" ดังนั้นอาหารวันละ ๓ มื้อ คิดเป็นเงินมื้อละ ๔๐ บาท รวมเป็นเงินวันละ ๑๒๐ บาทที่จำเลยจัดให้แก่โจทก์จึงมิใช่เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานจึงไม่ถือว่าเป็นค่าจ้างเช่นกัน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าอาหารวันละ ๓ มื้อที่จำเลยให้แก่โจทก์มิใช่ค่าจ้างนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694/2544

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า"ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่จำเลยร่วมได้รับจากโจทก์เป็นค่าจ้างซึ่งต้องนำไปเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วมหรือไม่และคำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 5 บัญญัติว่า "ค่าจ้าง"หมายความว่า เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมงรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือนหรือระยะเวลาอื่นหรือจ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานและให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุด และวันลาที่ลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัตินี้"ค่าจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงมีสาระสำคัญ3 ประการคือ ประการแรกค่าจ้างต้องเป็นเงินที่นายจ้างกับลูกจ้างตกลงจ่ายกันตามสัญญาจ้าง ประการที่สองเงินที่จ่ายดังกล่าวนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานประการที่สามเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ที่แพทย์ของโรงพยาบาลโจทก์รวมทั้งจำเลยร่วมได้รับเป็นเงินจากการที่แพทย์แต่ละคนใช้ดุลพินิจกำหนดขึ้นในการตรวจรักษาคนไข้แต่ละรายได้แก่ ค่าตรวจวินิจฉัยโรค ค่าผ่าตัดและค่าเยี่ยมไข้ เป็นต้นทั้งนี้โจทก์ได้กำหนดอัตราค่าตรวจรักษาคนไข้ไว้เพื่อให้แพทย์ถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเมื่อแพทย์กำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้ไว้แล้วเจ้าหน้าที่การเงินของโจทก์จะเป็นผู้เก็บเงินค่าตรวจรักษาคนไข้พร้อมกับค่ายาค่าเวชภัณฑ์และอื่น ๆ จากคนไข้ในคราวเดียวกันโดยออกใบเสร็จรับเงินในนามของโจทก์ให้แก่คนไข้ แล้วโจทก์จ่ายเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ดังกล่าวให้แก่แพทย์ในภายหลังทุกวันที่ 10 และวันที่ 25ของแต่ละเดือนโดยโจทก์หักเงินไว้ส่วนหนึ่งคิดเป็นร้อยละจากจำนวนเงินค่าตรวจรักษาคนไข้ตามที่ตกลงกันเห็นว่าแม้เงินค่าตรวจรักษาคนไข้จะเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยร่วมตามข้อตกลงในสัญญาจ้างตามหลักเกณฑ์ประการแรกแต่เงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นเงินที่คนไข้จ่ายให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาคนไข้โดยให้โจทก์รับไว้แทนแล้วจ่ายคืนให้แก่แพทย์ที่ตรวจรักษาคนไข้ในภายหลังโดยหักเงินไว้ส่วนหนึ่งจึงมิใช่เงินของนายจ้างที่จ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานหรือผลงานที่ลูกจ้างทำได้สำหรับระยะเวลาทำงานปกติของวันทำงานตามหลักเกณฑ์ประการที่สองและมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานแต่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541ตามหลักเกณฑ์ประการที่สาม จึงมิใช่ค่าจ้าง ไม่ต้องนำไปเป็นฐานเพื่อคำนวณค่าชดเชยให้แก่จำเลยร่วมที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง คำสั่งของจำเลยชอบด้วยกฎหมายไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนและพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น"




Create Date : 16 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2555 13:16:09 น. 0 comments
Counter : 2516 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

boxxcatt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add boxxcatt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.