Group Blog
 
All Blogs
 
หลักเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นเป็นค่าจ้างที่ต้องนำมารวมคำนวนค่าชดเชยหรือไม่

ค่าจ้าง นั้นมีบทนิยามศัพท์ไว้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 2ว่า"ค่าจ้าง หมายความว่าเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานหรือ จ่ายให้โดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และหมายความรวมถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่จ่ายให้ในวันหยุดซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานและในวันลาด้วยทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณหรือจ่ายเป็นการตอบแทนในวิธีอย่างไรและไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร"ซึ่งมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. เงิน หรือ เงิน และ สิ่งของ ที่นายจ้าง จ่าย

2. ให้ แก่ ลูกจ้าง (เป็น กรรมสิทธิ์แก่ ลูกจ้าง )

3. เพื่อ ตอบแทน การ ทำงาน

4. ใน เวลาทำงาน ปกติ ของ วันทำงาน

1.เงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่าย คือนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินหรือเงินและสิ่งของให้แก่ลูกจ้าง เช่นจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง เงินเดือนนั้นเป็นค่าจ้าง

หากคนอื่นจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง เช่นผู้ใช้บริการให้เงินค่าทิปแก่บ๋อยในห้องอาหารผู้เล่นกอล์ฟให้เงินรางวัลแก่แคดดี้เงินค่าทิปและเงินรางวัลดังกล่าวไม่ใช่ค่าจ้างเพราะคนจ่ายไม่ใช่นายจ้าง

2. ให้แก่ลูกจ้าง หมายถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายนั้นต้องได้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ลูกจ้างหากลูกจ้างได้รับมาแล้วต้องจ่ายต่อให้ผู้อื่นไม่ถือเป็นค่าจ้างเมื่อลูกจ้างต้องจ่ายต่อให้คนอื่นโดยมีหลักฐานการจ่ายต่อ เช่น ใบเสร็จรับเงินใบกำกับภาษีหรือหลักฐานแสดงว่ามีการจ่าย ไม่ถือเป็นค่าจ้าง

ถ้าลูกจ้างรับมาโดยไม่มีหลักฐานการจ่ายต่อถือว่าลูกจ้างได้มาเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกจ้าง จึงเป็นค่าจ้าง

ตัวอย่างเช่นนายจ้างจ่ายเงินค่าน้ำมันรถให้ลูกจ้างเดือนละ3,000 บาทหรือจ่ายเงินรับรองให้เดือนละ 10,000 บาท โดยต้องนำใบเสร็จค่าน้ำมันใบเสร็จค่าโรงแรม ค่าอาหาร หรือค่าเล่นกีฬามาแสดงกรณีนี้ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะลูกจ้างไม่ได้เป็นกรรมสิทธิ์หากจ่ายโดยไม่ต้องมีใบเสร็จมาแสดงถือเป็นค่าจ้าง

3. เพื่อตอบแทนการทำงาน หมายถึงนายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างซึ่งแยกเป็น3 กรณี

3.1 ตอบแทนโดยตรง คือลูกจ้างต้องทำงานจึงจ่ายตอบแทนเช่นลูกจ้างรายวันได้เงินเฉพาะวันที่มาทำงานลูกจ้างรายชั่วโมงได้เงินเฉพาะชั่วโมงที่ทำงาน หรือลูกจ้างตามผลงานได้เงินตามผลงานที่ทำได้

เงินที่ลูกจ้างได้มาดังกล่าวถือว่าเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรง

3.2 ตอบแทนโดยอ้อม คือกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างแม้ไม่ต้องมาทำงาน เช่น

ลูกจ้างรายเดือนได้รับค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์

ลูกจ้างทุกประเภทได้ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปี

ลูกจ้างทุกประเภทได้ค่าจ้างในวันลาเช่น วันลาป่วย วันลาคลอดลาเพื่อรับราชการทหาร เป็นต้น

3.3 ตอบแทนพิเศษ หมายถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์ที่นายจ้างกำหนดเช่น จ่ายเบี้ยกันดารให้เมื่อไปทำงานในท้องที่ทุรกันดาร จ่ายค่ากะกลางคืนเมื่อลูกจ้างมาทำงานกะกลางคืน จ่ายเงินประจำตำแหน่งเมื่อลูกจ้างได้ดำรงตำแหน่งที่กำหนด เป็นต้น

กรณีที่จ่ายให้เป็นสวัสดิการโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างในกรณีต่างๆ มิใช่จ่ายเพื่อตอบแทนการทำงานโดยตรง เช่นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าพาหนะค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาลเงินฌาปนกิจสงเคราะห์

หรือจ่ายให้เพื่อความประสงค์อื่น เช่น

เบี้ยขยันเพื่อจูงใจให้ทำงานขยันขันแข็ง

โบนัส เพื่อจูงใจให้ทำงานดี

เงินบำเหน็จเงินสะสมเพื่อให้ลูกจ้างอยู่ทำงานนาน ๆ

ค่าชดเชย เพื่อทดแทนการออกจากงาน

เงินทดแทนจ่ายเมื่อลูกจ้างได้รับบาดเจ็บในงาน เป็นต้น

ข้อสังเกต

สวัสดิการที่ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยเป็นค่าจ้าง เมื่อเข้าหลักเกณฑ์3 ประการ คือ

1. จ่ายช่วยเหลือทั่วไปโดยไม่ได้เจาะจงช่วยเหลือเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ

2. จ่ายเป็นประจำ เช่น จ่ายทุกเดือนทุกงวด 15 วัน เป็นต้น

3. จ่ายจำนวนแน่นอน เช่นจ่ายเดือนละ 300 บาท หรือเดือนละ500 บาท เป็นต้น

เหตุผลที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นค่าจ้างเพราะการจ่ายในลักษณะดังกล่าวเป็นการจ่ายทำนองเดียวกันกับค่าจ้าง

4. ในเวลาทำงานปกติของวันทำงาน หมายถึงเงินหรือเงินและสิ่งของที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานในเวลาทำงานปกติของวันทำงานกล่าวคือจ่ายเพื่อตอบแทนสอบปกติ คือ ตอบแทนในเวลาทำงานปกติกับในวันทำงานปกติ

กรณีที่ไม่ถือเป็นค่าจ้าง คือการจ่ายในกรณีใดกรณีหนึ่งใน3 กรณี ดังนี้

4.1 จ่ายตอบแทนในวันไม่ปกติคือตอบแทนการทำงานในวันหยุดเช่น ค่าทำงานในวันหยุด ไม่ใช่ค่าจ้างเพราะเป็นการจ่ายตอบแทนการทำงานในวันหยุด

4.2 จ่ายตอบแทนในเวลาทำงานไม่ปกติ คือตอบแทนการทำงานนอกเวลาหรือเกินเวลา เช่น ค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดเป็นต้น

4.3 จ่ายตอบแทนในการทำงานที่ไม่มีวันหรือเวลาทำงานปกติเช่นค่าเปอร์เซ็นการขาย (ค่าคอมมิชชั้น)ของพนักงานขายที่ต้องออกเร่ขายของนอกสถานที่โดยไม่มีวันเวลาทำงานที่แน่นอน เป็นต้น

เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ 4 ประการแล้วถือเป็นค่าจ้าง หากไม่ครบทั้งสี่ประการย่อมไม่เป็นค่าจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095-5099/2539ที่เขียนหมายเหตุนี้ได้วินิจฉัยเงินหลายประเภทว่าเป็นค่าจ้าง คือ

เงินค่าตำแหน่ง นั้นเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานตามหลักเกณฑ์พิเศษที่นายจ้างกำหนดสำหรับการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติจึงเป็นค่าจ้าง

เงินค่าครองชีพเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้าง เพื่อตอบแทนการทำงานทำนองเดียวกับเงินเดือนสำหรับการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงเป็นค่าจ้าง

ค่าที่พักเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างมิใช่จ่ายตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ จึงไม่ใช่ค่าจ้าง

คำว่า ค่าแรงนั้นไม่มีบทนิยามไว้ในกฎหมายแรงงานจึงมีความหมายตามประเพณีของการจ้างงานว่า ค่าแรงคือค่าจ้างที่เอามาเฉลี่ยคิดให้เป็นวัน

รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์




Create Date : 16 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2555 22:29:19 น. 1 comments
Counter : 3186 Pageviews.

 
เงินค่าตำแหน่ง นั้นเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานตามหลักเกณฑ์พิเศษที่นายจ้างกำหนดสำหรับการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติจึงเป็นค่าจ้าง
ผมขอถามคำถามนะครับ เมื่อเป็นค่าจ้าง ก็จะต้องถูกนำไปรวมเป็นฐานในการคำนวณค่าล่วงเวลา, ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด ด้วยหรือไม่ครับ? (รวมถึงค่าชดเชยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตข้างหน้า)


โดย: นายชัยวัฒน์ รอบรู้ IP: 101.109.109.229 วันที่: 1 กันยายน 2557 เวลา:16:02:21 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

boxxcatt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add boxxcatt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.