Group Blog
 
All Blogs
 
พื้นฐานการเล่น Step 8-15

Step8 ขอบเขตเมืองกับค่าวัฒนธรรม
ถ้าเราดูจากแผนที่แล้วเราจะเห็นว่าในแต่ละเมืองจะมีพื้นที่ที่เป็นสีแผ่กระจายออกไปรอบๆ ตรงส่วนนี้คือเขตแดนหรือเขตอิทธิพลของแต่ละเมือง ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับค่าวัฒนธรรม ค่าวัฒนธรรมคือแถบสีม่วงในเมืองที่ใช้สัญลักษณ์เสียงเพลง



(รูป24) โดยในแถบนั้นจะบอกค่าวัฒนธรรมที่เมืองๆนั้นได้รับในแต่ละ Turn เมื่อได้รับถึงเกณฑ์เมืองนั้นก็จะมีเขตแดนแผ่ขยายออกไป

ซึ่งข้อดีของเขตแดนที่ขยายตัวออกไปมีดังนี้ อย่างแรกเลยเขตแดนของเมืองจะเป็นเขตอิทธิพลของเราที่จะไม่มียูนิตของชาติไหนเข้ามาได้เว้นเสียแต่ว่าชาตินั้นจะประกาศสงครามกับเราหรือว่าจะมีการทำสัญญาเปิดพรมแดนกัน(แต่เป็นข้อยกเว้นสำหรับยูนิต Spy ที่ไปได้ทุกที่)

ดังนั้นยิ่งเขตแดนของเมืองเราขยายไปมากเท่าไหร่เมืองเราก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้นเพราะถ้าชาติไหนจะเปิดศึกกับเราเราก็จะรู้ตัวก่อนและจะมีเวลาเตรียมตัวตั้งรับได้มากขึ้น

นอกจากนั้นเขตแดนของเมืองจะส่งผลกับผลผลิตและทรัพยากรที่เราจะสามารถเก็บได้ ทรัพยากรธรรมชาติพวกน้ำมัน ปลา เหล็กและอื่นๆเราจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ก็ต่อเมื่อช่องที่มีทรัพยากรธรรมชาตินั้นอยู่ภายในเขตแดนของเมืองเราจะเมืองไหนก็ได้ ดังนั้นยิ่งเรามีเขตแดนที่ครอบคลุมพื้นที่โลกมากเท่าใดก็จะทำให้สามารถเก็บเกี่ยวทรัพยากรเหล่านั้นได้มากขึ้นและยังเป็นการกีดกันชาติอื่นๆในการเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นด้วย และค่าวัฒนธรรมยังเป็นหนึ่งในเงื่อนไขหนึ่งของการจบเกมด้วย

ดังนั้นการบริหารค่าวัฒนธรรมให้เติบโตไปพร้อมๆกับเมืองถือเป็นกุญแจสำคัญอันนึงในการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรเรา(แต่เราจะเล่นเกมนี้โดยไม่สนใจเกี่ยวกับค่าวัฒนธรรมเลยก็ได้)

Step9 การวิจัยเทคโนโลยี
ถ้าเราเริ่มต้นเกมในโหมด Playnow เราจะต้องเริ่มเล่นเกมในระดับยุคแรกสุดของหมุษย์โลก ซึ่งเป็นช่วงที่ยังเริ่มต้นสร้างอารยธรรม และพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หลังจากทีเราเริ่มตั้งเมืองๆแรกแล้วจะมีเทคโนโลยีอยู่กลุ่มนึงที่เราจะสามารถพัฒนาได้



(รูป25) ถ้าเราเอาเมาส์ชี้ไปที่เทคโนโลยี จะขึ้นหน้าจอแสดงรายละเอียดของเทคโนโลยี โดยส่วนแรกจะบอกถึงผลที่จะได้รับจากการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นๆ ส่วนที่ 2 ที่เขียนว่า Leads To คือเทคโนโลยีต่อเนื่องที่เราจะสามารถพัฒนาได้ต่อจากเทคโนโลยีนี้ ถ้าหากเราต้องการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นเราก็จำเป็นจะต้องพัฒนาเทคโนโลยีนี้ให้ได้ก่อน และส่วนสุดท้ายจะบอกถึงจำนวน Turn ที่เราต้องใช้ในการค้นคว้าเทคโนโลยีนั้นๆ 0/58 ในรูปก็คือค่าของเทคโนโลยีที่เราต้องใช้ในการพัฒนา

สมมุติว่าเราพัฒนาเทคโนโลยีได้ครั้งละ 10 ต่อ Turn เราก็จะต้องใช้เวลาทั้งหมด 6 Turn 10*6 = 60 และในส่วนของ Sid’s Tips จะเป็นการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนั้นๆ การที่เราจะเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีใดก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบการเล่นและความจำเป็นในการพัฒนา ก่อนที่เราจะพัฒนาเทคโนโลยีใดถ้าหากเราไม่แน่ใจถึงผลต่อเนื่องว่าจะไปในทางใดให้เข้าไปที่แผนผังการค้นคว้าเทคโนโลยี

โดยเข้าได้ที่ไอคอนรูปขวดน้ำยาที่อยู่ทางฝั่งขวาบนของหน้าจอหลัก (Technology Advisor)



(รูป26) จากรูปเราจะเห็นภาพรวมทั้งหมดของเทคโนโลยี ถ้าเราเอาเมาส์ชี้ไปที่เทคโนโลยีจะขึ้นหน้าจอว่าเราจะพัฒนาเทคโนโลยีนั้นๆได้อย่างเร็วที่สุดกี่ Turn ถ้าหากเราต้องการจะพัฒนาก็ให้คลิ๊กซ้ายเพื่อเริ่มต้นการวิจัยได้เลย

ซึ่งในรูปได้เลือกการวิจัยเทคโนโลยี Metal Casting โดยจะขึ้นจำนวน Turn ทีเร็วที่สุดที่จะมาถึงเทคโนโลยีนี้คือ 25 Turn ถ้าเราคลิ๊กซ้ายที่ เทคโนโลยี Metal Casting จะเป็นการเริ่มค้นค้นคว้าเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจนถึงการค้นคว้า Metal Casting แล้วเสร็จ หน้าจอแผนผังตรงนี้จึงเป็นประโยชน์มากในการดูภาครวมของเทคโนโลยีทั้งหมดว่าเราควรจะพัฒนาอะไรบ้างและมีเทคโนโลยีไหนที่ยังไม่ได้พัฒนาเพื่อที่จะได้ไม่เสียเวลาพัฒนาเทคโนโลยีที่เรายังไม่จำเป็นหรือไม่ต้องการจะใช้

และในส่วนของหลอดสีเขียวการวิจัยที่ขึ้นจำนวน Turn ที่เทคโนโลยีจะแล้วเสร็จถ้าหากในระหว่างนั้นเราต้องการจะเปลี่ยนไปค้นคว้าเรื่องอื่นให้เราคลิ๊กซ้ายที่หลอดสีเขียวจะขึ้นหน้าจอของเทคโนโลยีที่เราสามารถค้นคว้าได้ในขณะนั้นทั้งหมดแล้วก็สามารถเลือกได้ตามที่ต้องการเลย หรือว่าจะเข้าไปที่หน้าจอแผนผังเทคโนโลยีที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อกำหนดเองโดยตรงก็ได้

ดังนั้นเทคโนโลยีต่างๆภายในเกมจึงมีความสำคัญมากเพราะทำให้เราพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ซึ่งมีผลทั้งกับการสร้างยูนิตใหม่ สิ่งก่อสร้างใหม่ ระบบการปกครอง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, ศาสนา, แรงงานระบบใหม่ๆล้วนแต่ต้องการการพัฒนาเทคโนโลยีทั้งสิ้น

ดังนั้นควรรักษาระดับของเทคโนโลยีไว้ให้ดีไม่ควรจะให้ล้าหลังคู่แข่งมากนักเพราะถึงตอนนั้นเราอาจต้องช้ำใจกับการเอาพลหอก เข้าต่อกรกับรถถังหุ้มเกราะก็ได้ (เราสามารถเลือกระดับการวิจัยได้จากที่ได้กล่าวมาแล้ว ถ้าหากเลือกการวิจัยเป็น 100% เลยก็จะยิ่งพัฒนาได้เร็วแต่ว่าเราจะไม่มีเงินในคลังไว้ใช้จ่ายซึ่งเงินก็มีส่วนสำคัญที่ใช้ในการค้าขายและสร้างสิ่งก่อสร้างและยูนิตแบบ Hury product รวมไปถึงสามารถใช้ซื้อเทคโนโลยีจากชาติอื่นได้ด้วย )

Step10 การจัดรูปแบบการปกครอง
CIV4 อนุญาติให้ผู้เล่นสามารถจัดรูปแบบการปกครองได้ตามที่ต้องการเอง โดยแบ่งรูปแบบย่อยออกเป็น 5 ด้านคือ Government (การบริหาร) , Legal (กฎหมาย) , Labor (แรงงาน) , Economy (เศรษฐกิจ) และ Religion (ศาสนา) เราสามารถเข้าจัดการรูปแบบด้านต่างๆได้ที่ไอคอน Change Civics ในหน้าจอหลักด้านขวา เมื่อเข้าไปแล้ว



(รูป 27) จะแสดงถึงรูปแบบด้านต่างๆ 5 แขนงและรูปแบบที่มีรูปภาพอยู่ข้างหน้าคือรูปแบบที่เราได้ทำการค้นคว้ามาแล้วสามารถเลือกที่จะใช้งานได้เลย หากต้องการจะเปลี่ยนไปที่ระบบไหน



(รูป28) ก็แค่ เลือกที่ระบบนั้นและจะขึ้นคำสั่งการปฎิวัติ (Revolution) ทางด้านขวาล่างพร้อมทั้งบอกรายละเอียดว่าต้องใช้เวลากี่ Turn ในการปฎิวัติและจำนวนทองที่ต้องใช้ต่อ Turn โดยในแต่ละระบบจะให้ค่าโบนัสที่แตกต่างกันเราจะเลือกใช้ระบบไหนก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของเราเอง

ยกตัวอย่างจากรูปที่ผ่านมา Nationhood ซึ่งเป็นรูปแบบของกฎหมายแบบชาตินิยมซึ่งจะส่งผลให้ + ค่าความสุข 2 จากค่ายทหาร และสามารถใช้คำสั่ง Draft ได้(คำสั่งนี้อยู่ในหน้าจอรายละเอียดในเมืองส่วนล่างใกล้กับหน้าจอแผนที่) ซึ่งคำสั่ง Draft คือการเกณฑ์พลแบบเร่งด่วนเมื่อใช้แล้วยูนิตจะออกมาในทันทีไม่ต้องรอ (ยูนิตที่ออกมาจะขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีของเราตอนนั้น) แต่ว่าต้องแลกกับค่าประชากรและค่าความไม่พอใจของประชากร แต่ก็คุ้มถ้าหากว่าอยู่ในภาวะที่จำเป็นจริงๆ * รูปแบบของการปกครองทั้งหมดจะสรุปในช่วงท้าย

Step11 การเจรจาทางการทูต
เมื่อเกมดำเนินมาได้ในขณะหนึ่งเราจะได้เจอและติดต่อกับชนชาติอื่นๆ โดยการติดต่อกับชาติอื่นนั้นส่งผลดีหลายๆด้านให้กับเมืองเราเช่นสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่แตกต่างกันได้ สามารถแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี สามารถเจรจาเปิดพรมแดนเพื่อให้เข้าออกกันได้อย่างเสรี สามารถแลกแผนที่ และอื่นๆส่วนสำคัญที่เกี่ยวกับการเจรจาหลักๆมีดังนี้



(รูป29) จากรูปบทสทนาในบรรทัดแรกคือการเจรจาทางการแลกเปลียนกันในด้านต่างๆ บรรทัดที่ 2 คือการคุยกันในเรื่องอื่นๆ บรรทัดที่ 3 คือจบการสนทนา เมื่อเราเลือกบทสนทนาอันแรกจะขึ้นหน้าจอรายละเอียดการแลกเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ

(รูป30)

-Gold ทองคำที่มีอยู่ในคลัง
-Gold Per Turn ทองคำที่จ่ายให้ต่อ Turn
-World Map แลกเปลี่ยนแผนที่(ทำให้เปิดพื้นที่บนโลกได้กว้างขึ้น)
-Open Border การเปิดพรมแดนทำให้ทั้ง 2 ชาติเข้าออกกันได้อิสระ
-Technology แลกเปลี่ยนเทคโนโลยี
-Resource แลกเปลี่ยนทรัพยากร
-Cities แลกเปลี่ยนเมือง
-Make Peace With ทำสนธิสัญญาสันติกับชาติ….
-Declar War On ประกาศสงครามกับชาติ….
-Stop Trading With หยุดค้าขายกับชาติ….
-Adop ลงมติยอมรับ
-Convert เปลี่ยน

เมื่อเราเลือกการแลกเปลี่ยนของเราและของชาติอื่นที่เราต้องการแล้วถ้าเลือกบทสนทนา Would you accept this deal? ถ้าหากชาติที่ติดต่อยอมรับเงื่อนไขก็จะเกิดการแลกเปลี่ยนกันเครื่อง หรือเราจะเลือกเฉพาะของที่เรามีจากนั้นให้เลือกบทสนทนา What will you give me for this? จะเป็นการถามชาตินั้นว่าจะให้อะไรเรากับสิ่งที่เราเสนอจะให้ไปนี้ ซึ่งถ้าคอมไม่ต้องการจะแลกเปลี่ยนกับสิ่งทีเราเสนอก็จะจบการสนทนา

แต่ถ้าหากคอมยื่นข้อเสนอที่จะเอามาแลกเปลี่ยนกับเรา แล้วถ้าหากเรายอมรับเงื่อนไขก็เลือก We accept your offer. และในส่วนของบรรทัดที่ 2 บทสนทนา Let discuss somethong else. จะเป็นการคุยกันในเรื่องอื่นๆเมื่อเราเลือกข้อนี้จะขึ้นบทสนาในส่วนต่อมา



(รูป31) บรรทัดแรกที่มี (War) อยู่ในวงเล็บคือการประกาศสงคราม ในบรรทัดที่ 2 เป็นการถามความรู้สึกที่มีต่อชาติอื่นๆ บรรทัด 3 กลับไปบทสนาก่อนหน้า และ บรรทัด 4 สิ้นสุดบทสทนา

ในส่วนการเจรจาทางการทูตนี้จะส่งผลต่อพฤติกรรมและการปฎิบัติที่ชนชาตินั้นๆมีต่อเรา ถ้าหากเกิดภาวะสงครามต่อกันแล้วเราต้องการที่จะสงบศึก แต่บางทีฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ยอมสงบศึกกับเราด้วย(ยิ่งระดับความยากมากขึ้นก็จะส่งผลตรงนี้) แต่ในหน้าจอนี้ก็จะช่วยให้เราเจรจาสงบศึกกับฝ่ายตรงข้ามได้ง่ายขึ้น

โดยเราต้องยอมเสียของที่เรามีให้กับฝ่ายตรงข้ามไปฟรีๆของยิ่งของดูมีค่าก็ยิ่งทำให้ฝ่ายนั้นใจอ่อนยอมสงบศึกกับเราได้และในทางตรงกันข้ามเมื่อเราทรงอำนาจมากๆ จนฝ่ายตรงข้ามสู้ไม่ได้ชาตินั้นก็จะมาเจรจาของสงบศึกกับเราเช่นกัน เราก็สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดศึกต่อไป หรือจะขอรับของแลกเปลี่ยนเพื่อให้เราสงบศึกให้

ดังนั้นการควบคุมความสัมพันธ์กับชนชาติต่างๆจึงมีส่วนสำคัญทั้งกับด้านการค้าและสงคราม ควรจะประเมินสถานการณ์ในตอนนั้นแล้วเลือกการติดต่อสัมพันธ์กับชาติต่างๆให้เหมาะสมกับสภาวะของเราในขณะนั้น (เช่นในภาวะที่เรายังไม่มีความเข้มแข็งทางการทหารมากพอก็ไม่ควรจะเปิดศึกกับชาติอื่นๆทีเดียวหลายๆชาติ)

Step12 ความสำคัญของศาสนา
ระบบศาสนาของ Civ4 ได้ถูกแยกออกมาอย่างชัดเจนโดยมีศาสนาทั้งหมด 7 ศาสนาให้เราได้เลือกกันคือ ยิว , คริสต์ , อิสลาม , ฮินดู ,พุทธ ,ขงจื้อ, เต๋า เราสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและเปลี่ยนศาสนาประจำชาติได้ที่ไอคอน Convert Religion ที่เป็นรูปมืออยู่ในหน้าจอหลักทางขวาบน



(รูป32)ศาสนาแต่ละศาสนาจำเป็นต้องอาศัยการค้นคว้าในสายที่เกี่ยวข้อง ประโยชน์ของศาสนานอกจากที่เราจะได้รับโบนัสพิเศษแล้ว ถ้าหากเราได้ค้นคว้าศาสนาใดได้ก่อนเป็นชาติแรกเมืองที่เราควบคุมอยู่เมืองใดเมืองหนึ่งจะได้เป็น Holy City หรือเมืองศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนานั้นๆ

ซึ่งจะเป็นผลดีกับเราเมื่อเราได้ Great Prophet (บุคคลสำคัญทางศาสนา) มาเพราะ Great Prophet จะสามารถสร้างสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนานั้นๆได้



(รูป33) ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้าง World Wonder ที่มีได้แค่อันเดียวในโลก ข้อดีของสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนาคือจะบวกทอง 1 หน่วยต่อจำนวนเมืองที่มีคนนับถือศาสนานั้นๆจะเป็นเมืองของชาติไหนก็ได้

คราวนี้เราก็สร้าง Missionary ของศาสนานั้นออกไปเผยแพร่ศาสนาไปทั่วโลก (ก่อนที่จะไปเผยแพร่ควรจะสงบศึกกับทุกฝ่ายซะก่อนและเจรจาขอเปิดพรมแดนซะ) การเผยแพร่ศาสนาไม่มีขั้นตอนอะไรยุ่งยากแค่เราเอา Missionary ของเราไปอยู่ที่เมืองที่เราต้องการและจะมีคำสั่งให้เราสอนศาสนาให้คนในเมืองสอนเสร็จ Missionary ก็จะหายไป

ถ้าอยากจะเผยแพร่ไปหลายๆเมืองก็ต้องสร้างไว้หลายๆคน และเราสามารถมีเมืองศักดิ์สิทธิ์ของกี่ศาสนาก็ได้ขอแค่ให้เราค้นพบศาสนานั้นให้ได้ก่อนชาติอื่นๆ ยิ่งเรามีเมืองศักดิ์สิทธิ์ของหลายๆศาสนามากเท่าไหร่ เมื่อเราส่ง Missionary ออกไปเผยแพร่ศาสนานั้นเราจะได้โบนัสจากทองมากขึ้นเท่านั้น

สมมุติว่าเมืองทั่วโลกมีทั้งหมด 30 เมือง ถ้าเราเป็น Holy City ของศาสนาซัก 3 ศาสนา เมื่อส่ง Missionary ไปครบทุกเมืองแล้วเราจะได้ทองมากถึง +90 หน่วยต่อ Turn แบบฟรีๆทุก Turn เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเพิ่มความมั่งคั่งและทองในคลัง และชาติที่นับถือศาสนาเดียวกับเราจะมีแนวโน้มที่จะเป็นพันธมิตรกันมากกว่าชาติที่นับถือคนละศาสนากันด้วย

การที่เราจะเปลี่ยนไปนับถือศาสนาใดๆทั้ง 7 ศาสนาได้นั้นมีอยู่ 2 เงื่อนไขคือ 1.ถ้าหากเราค้นพบศาสนานั้นได้ก่อนได้เป็น Holy City ประจำศาสนาจะสามารถเปลี่ยนเป็นศาสนานั้นๆได้ทันที 2.ศาสนาที่เราไม่ได้เป็นคนค้นพบเราจะเปลี่ยนได้ก็ต่อเมื่อมี Missionary ของชาตินั้นมาเผยแพร่ศาสนาที่เมืองเรา หรือไม่ก็เป็นเงื่อนไขของการเจรจาทางการทูต

Step13 SPY สายลับสุดแสบ
SPY เป็นยูนิตพิเศษที่เราจะได้มาในช่วงท้ายๆของเกมโดยจะต้องค้นคว้าเทคโนโลยี Communism กับสร้าง Scotland Yard ซึ่งเป็น Nation Wonder ซะก่อนถึงจะสามารถสร้าง SPY ได้ ความสามารถของ SPY คือสามารถเดินเข้าออกได้ทุกพรมแดนไม่ว่าพรมแดนนั้นจะเป็นเป็นพรมแดนของชาติที่เราทำสงคราม หรือชาติที่ยังไม่ได้เจรจาเปิดพรมแดนก็ตาม

และ SPY จะมีความสามารถ Invisible ติดตัวทำให้ยูนิตฝ่ายอื่นๆไม่สามารถมองเห็นได้ นอกจากนี้ถ้าเราสามารถเอา SPY เข้าไปในเมืองของฝ่ายตรงข้ามได้เราจะสามารถเข้าไปดูรายละเอียดทุกอย่างของเมืองๆนั้นได้ทั้งหมดเหมือนกับว่าเป็นเมืองของเราเอง

แถมยังสามารถดู Product ล่าสุดที่เมืองๆนั้นกำลังผลิตอยู่ได้ด้วยว่าจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ นอกจากนี้เมื่อเราเข้าไปในเมืองของฝ่ายตรงข้ามแล้ว



(รูป34) SPY จะมี Menu คำสั่งพิเศษขึ้นมา 2 คำสั่ง คือ Destroy Production กับ Steal Plans โดย Destroy Production เป็นคำสั่งที่ใช้ในการก่อกวน Production ที่เมืองนั้นๆกำลังผลิตอยู่ให้เสร็จช้าลง ส่วน Steal Plans เป็นการดูกองกำลังทหารส่วนต่างๆของศัตรูว่าอยู่ที่ไหนบ้าง (ถึงแม้ว่าศัตรูจะเอาไปแอบๆไว้รอบๆ Map ก็ยังเห็นครับ)

นอกจากนี้ SPY สามารถทำลายแหล่งผลผลิต (Improvement) ของศัตรูได้ด้วยโดยเมื่อ SPY เราไปอยู่ในช่องที่มี Improvement ของศัตรูอยู่จะมีเมนูคำสั่ง Sabotage ขึ้นมา



(รูป35) ซึ่งเป็นการทำลาย Improvement ที่ศัตรูสร้างไว้ในช่องนั้นๆ เป็นการตัดกำลังศัตรูทางอ้อมไปในตัวด้วย แต่ว่าทั้งคำสั่ง Destroy Production , Steal Plans และ Sabotage ไม่ได้จะสำเร็จทุกครั้งนะครับแต่จะมี % โอกาศในการทำสำเร็จอยู่ ซึ่งถ้าหากทำไม่สำเร็จ SPY เราก็จะโดนจับและโดนเชือดต้องสร้างใหม่ขึ้นมาอีก

Step14 เงื่อนไขการชนะแบบ Diplomatic Victory
ในบรรดาเงื่อนไขการชนะทั้งหมดของเกมนี้มีอยู่เงื่อนไขหนึ่งที่ค่อนข้างจะซับซ้อนนิดนึงก็คือเงื่อนไขทางการทูตหรือ Diplomatic Victory โดยเงื่อนไขนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการสร้าง The United Nations หรือองค์การสหประชาชาติขึ้นมา

โดย The United Nations เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่มีได้แค่อันเดียว ซึ่งจะเป็นเราหรือคอมสร้างขึ้นมาก็ได้ แต่ถ้าเราเป็นคนสร้างได้เองเราจะได้สิทธิ์ลงสมัครคัดเลือกเป็นเลขาของสหประชาชาติเสมอ โดย The United Nations ต้องการเทคโนโลยี Mass Media ก่อนดังนั้นถ้าอยากจะตั้งสหประชาชาติให้รีบวิจัยไปให้ถึงเทคโนโลยีนี้ให้ได้เร็วๆ

เมื่อตั้ง The United Nations แล้วจะมีการเลือกเลขาก่อนเป็นอย่างแรกและถ้าหากเราเป็นคนสร้าง UN เองเราจะได้สิทธิ์ลงสมัครเสมอ แต่ถ้าหากไม่ได้สร้างก็ต้องดูที่ศักยภาพของเราว่าเพียงพอที่จะได้รับคัดเลือกมั้ย (เข้าใจว่าน่าจะคิดจากคะแนนรวม) ในส่วนของการเลือกเลขาเราจะได้สิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงให้กับใครก็ได้ (อ้าวอย่างงี้เป็นใครก็ต้องเลือกตัวเองซิ)



(รูป36) โดยคะแนนเสียงจะมากอยู่น้อยก็ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรรวมของเรายิ่งมากก็ยิ่งมีคะแนนมาก โดยถ้าหากเราได้รับเสียงถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะได้เป็นเลขา UN และสามารถที่จะส่งญัตติในเรื่องต่างๆให้แต่ละประเทศได้ทำการโหวตกันถ้าหากญัตติไหนได้คะแนนถึงเกณฑ์ญัตตินั้นก็จะผ่านและทุกประเทศจะต้องถือเป็นกฎร่วมกัน และหนึ่งในญัตตินั้นก็คือการโหวตผู้นำ UN นั่นเอง



(รูป37) โดยถ้าหากใครได้รับคะแนนเสียงข้างมากถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็จะชนะเลิศในเงื่อนไข Diplomatic Victory ทันที ส่วนญัตติอื่นๆก็จะเกี่ยวกับด้านการจัดการเกี่ยวกับประเทศเรื่องต่างๆ อย่างเช่นเรื่องภาษา , การนับถือศาสนา การห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์

Step 15 Great People
Great People คือยูนิตประชากรที่มีความพิเศษในด้านต่างๆ แบ่งออกเป็น Great Engineer (วิศวะ) , Great Merchant (การค้า) , Great Scientist (วิทยาศาสตร์) , Great Artist (ศิลปะ) , Great Prophet (ศาสนา) โดยการจะได้ Great People เราจะต้องเข้าไปเปลี่ยนอาชีพประชากรในเมืองซะก่อน



(รูป38) การเปลี่ยนอาชีพคนในเมืองเป็นอาชีพพิเศษต่างๆเหล่านี้เราจะต้องเสียค่าในการเก็บเกี่ยวผลผลิตไป 1 ช่อง (วงกลมสีขาว) แลกกับการเปลี่ยนประชากรเป็นอาชีพนั้นๆ 1 หน่วย (เพราะเป็นการเอาคนที่ทำงานอยู่มาทำอาชีพอื่นนั่นเอง)

เมื่อเราเปลี่ยนแล้วจะมีหลอดสีเหลืองทางด้านล่างขึ้นมาโดยที่หลอดสีเหลืองนี้จะบอกจำนวน Birth Rate ที่เมืองๆนั้นทำได้ต่อ Turn การเพิ่ม Birth Rate ก็เช่นสร้างสิ่งก่อสร้าง Wonder หรือเพิ่มจำนวนของอาชีพพิเศษ ถ้าเราอยากได้ Great People สาขาไหนก็พยายามสร้างสิ่งก่อสร้างของสาขานั้นๆแล้วก็เพิ่มอาชีพนั้นๆให้มากเท่าที่จะทำได้ ความสามารถต่างๆของ Great People มีดังนี้

1. ความสามารถหลักเป็นความสามารถที่ Great People มีเหมือนกันคือ
1.1 ความสามารถที่ช่วยเพิ่มค่าผลผลิต,การวิจัย,วัฒนธรรม โดยจะเพิ่มค่าไหนมากน้อยต่างกันยังไงก็ขึ้นอยู่กับชนิดของ Great People เช่นถ้าเป็นพ่อค้าก็จะเพิ่มทองมากกว่าอาชีพอื่นๆ ถ้าเป็น ศิลปินก็จะเพิ่มค่าวัฒนธรรมเป็นหลัก
1.2 ความสามารถในการเพิ่มค่าวิจัยเทคโนโลยี
1.3 ความสามารถในการสร้างยุคทอง โดยจำเป็นจะต้องใช้ Great People มากกว่า 1 ตัวขึ้นไปในการสร้างยุคทอง ในช่วงระยะเวลาของยุคทองเราจะได้รับเงิน และProduct เพิ่มขึ้น รวมถึงค่าความสุขของประชากรด้วย แต่ในการสร้างยุคทองครั้งต่อไปจะต้องใช้ Great People ในจำนวนที่มากกว่าเดิม

2. ความสามารถพิเศษเฉพาะของอาชีพ
- Great Engineer สามารถใช้ Hurry Product ได้โดยจะบวกค่า Product ให้เราในทันที
- Great Artist สามารถสร้างงานศิลปะที่ช่วย + ค่าวัฒนธรรมให้เราทันทีจำนวนหนึ่ง
- Great Scientist สร้าง Acadamy ที่ช่วยเพิ่มค่าการวิจัย 50% ค่าวัฒนธรรม+4 แต่ค่า Product -1 ต่อ Turn
- Great Prophet สร้างสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ประจำศาสนาที่ช่วย +1ทองต่อจำนวนเมืองที่นับถือศาสนานั้น
- Great Merchant เพิ่มทองจากการค้าทีเดียวเพียบ (แต่ Merchant จะแตกต่างกับยูนิตอื่นตรงที่ว่าจะต้องใช้ความสามารถพิเศษนี้ที่เมืองของชาติอื่นเท่านั้นนะครับจะเมืองไหนก็ได้ที่ Merchant เข้าไปได้)

สรุปปิดท้าย
แนวทางการเล่นในเบื้องต้นได้รวบรวมประเด็นต่างๆที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมแต่คงยังไม่ครบถ้วนกับเกมที่มีรายละเอียดมากอย่างนี้ถ้าหากมีโอกาศจะนำข้อมูลใหม่ๆมาเสนอเพิ่มเติม แต่แนวทางข้างต้นนี้คงจะพอทำให้ผู้ที่อยากจะเล่นเกมนี้ได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเกมได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งจริงๆแล้ว CIV เป็นเกมที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวในการเล่นเพราะขึ้นอยู่กับแนวทางของแต่ละคนรวมถึงสถานการณ์ในขณะนั้นๆ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย และสุดท้ายนี้หากมีข้อผิดพลาดปราการใดผู้เขียนต้องกราบขออภัยมา ณ. ที่นี้ด้วย



Create Date : 24 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 6 ธันวาคม 2548 21:33:08 น. 0 comments
Counter : 1319 Pageviews.

beehaha
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add beehaha's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.