|
PREGNANCY PANIC เรื่องที่สาวท้องแรกกลัวกันชิมิ.. เออกลัว..
เมื่อเช้าคุย M กับตูนนี่แล้วสะกิดโรคที่ตูนน์ถามว่าเป็น "PREGNANCY PANIC" ป่ะ
ฮืม... ไรอ่ะ เออไปศึกษาสะหน่อย หนังสือที่ซื้อมาก็อ่านไม่ครบ วางแหมะอยู่ข้างหมอน

ค้นหาใน Google ได้ความดังนี้............................
บทสำรวจความคิดเห็นของคุณแม่ตั้งครรภ์ของนิตยสาร Modern Mom ในงานรักลูกเฟสติวัล 2006 และใน //www.raklukefamilygroup.com จำนวนกว่า 1,000 คน พบว่า คุณแม่ยุคใหม่เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลหลายเรื่อง และสามารถนำมาสรุปเป็น 7 อันดับความกังวล ที่ Special ฉบับนี้พร้อมปฏิบัติการก้าวข้ามผ่านวิกฤติความกลัว เพื่อผลลัพธ์ที่รอคอย คือลูกน้อยนั่นเองค่ะ
7. กลัวไม่สวย แต่งตัวไม่ได้เหมือนเก่า หน้าก็มัน ผิวก็ลาย อ้วนก็อ้วน ชั้นจะสวยเหมือนเก่าได้ไหมเนี่ย
Don't Panic ผู้หญิงร้อยละ 80 เมื่อท้องแล้วจะยิ่งสวยขึ้นนะคะเพราะฮอร์โมนจะทำให้ผิวพรรณผุดผาด เปล่งปลั่ง น้ำหนักตัว หน้าอกก็ดูเต่งตึงกระชับมากขึ้น ดังนั้นถ้าคุณแม่ดูแลตัวเองดีๆ คำว่าไม่สวยไม่เกิดขึ้นแน่ๆ อันดับแรกคือการดูแลเรื่องอาหาร กินให้ครบมื้อครบหมู่แต่ปริมาณไม่มากเกินไป แต่งกายสวยสดใสโดยโยนชุดคลุมท้องแบบเก่าๆ ทิ้งซะ เลือกชุดทันสมัยแต่เลือกไซส์ใหญ่ขึ้นก็เปรี้ยว ซ่าส์ได้แล้ว ส่วนการดูแลผิวพรรณก็อย่าลืมขยันหมั่นทาครีมทุกวันโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ต้นขา รับรองผิวไม่ลายแน่นอนคุณแม่ควรอย่าลืมว่า ถ้าคุณแม่ดูแลสุขภาพให้ดีทั้งภายนอก ภายใน ก็ส่งผลให้ลูกในครรภ์สุขภาพดีไปด้วยค่ะ
6. กลัวสามีนอกใจ ฉันท้องโตแบบนี้สามีจะแอบไปมีกิ๊กใหม่นี่
Don't Panic ภาวะการตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่มีร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป คุณแม่บางคนจึงอาจจะคิดว่าตนเองไม่สวย รูปร่างไม่ดีแล้วสามีจะไม่รักเหมือนเดิม ยิ่งบางคนมีเซ็กซ์ไม่ได้ตามปกติ ก็ยิ่งกลัวสามีเบื่อ แอบออกนอกลู่นอกทางไปมีกิ๊กหรือมีเมียน้อย คุณแม่บางคนมีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็ยิ่งคิดมาก น้อยอกน้อยใจสามี แค่ไม่กลับบ้านตรงเวลาก็พานคิดว่าสามีนอกใจไปเลยก็มี หลังคลอดก็ต้องรีบไปรีแพร์ให้ช่องคลอดกระชับเหมือนเดิม
แต่ในความจริงแล้ว ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่และสามีก็ยังมีวิธีนะคะ การสัมผัสคำพูด หรือการมีเซ็กซ์ซึ่งก็ไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใดเสน่ห์ของผู้หญิงไม่ว่าจะอยู่ในสถานะไหนก็มัดใจสามีได้แล้ว ฝ่ายคุณสามีก็ควรเอาอกเอาใจภรรยามากขึ้นตระหนักไว้หน่อยก็ว่าได้ เพราะฮอร์โมนเปลี่ยนคุณแม่จึงอารมณ์เปลี่ยนแปลงบ่อย การเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นการประนีประนอมที่ดีที่สุดค่ะ
5. กลัวแท้ง ฉันเคยแท้งมาแล้วครั้งหนึ่งท้องนี้กลัวแท้งอีกจังเลย
Don't Panic การแท้งคืออาการที่แม่มีเลือดออกทางช่องคลอดในระยะการตั้งครรภ์ สาเหตุส่วนใหญ่ 3 ใน 4 รายเกิดจากความผิดปกติในตัวเด็กที่ไม่ยอมเจริญเติบโตเลย ธรรมชาติจึงช่วยขับออกไปจากร่างกาย ส่วนสาเหตุที่เกิดจากแม่ก็คือมดลูกผิดปกติ อุบัติเหตุ การใช้ยาบางชนิด อีกกรณีหนึ่งคือตกเลือดหลังจากทั้งท้อง 6 เดือน อาจเกิดจากรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งอาจไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด
ถ้าคุณแม่พบว่าตนเองมีเลือดออกมาจากช่องคลอดให้รีบติดต่อคุณหมอที่ทำการฝากครรภ์ทันที และคุณหมอจะตรวจหาและให้คุณแม่พักผ่อนมากๆ งดการทำงานหนัก การมีเพศสัมพันธ์ ก็อาจจะไม่แท้ง
การป้องกันการแท้ง แม้ยังไม่มียาหรือวิธีที่ได้ผลแน่นอน แต่การปรึกษาและฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดโอกาสเกิดการแท้งได้ คุณแม่เคยแท้งมาแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะมีการแท้งซ้ำ แต่ควรรอประมาณ 3-6 เดือนให้อวัยวะภายในแข็งแรงดีก่อนจึงค่อยตั้งท้องอีกครั้ง
ส่วนคุณแม่ที่ภาวะรกเกาะต่ำหรือรกลอกตัวก่อนกำหนดนั้น คุณแม่ต้องพักผ่อนให้มากๆ ระวังไม่ให้มีอาการกระทบกระเทือน และอาจมีการผ่าตัดคลอดก่อนครบกำหนดเพื่อป้องกันแม่ตกเลือดมาก ซึ่งปัจจุบันเด็กคลอดก่อนกำหนดถ้าได้รับการดูแลดีๆ น้ำหนักก็จะขึ้นตามปกติและแข็งแรงได้ในระยะเวลาไม่นานค่ะ
4. กลัวค่าใช้จ่ายในการคลอดและการเลี้ยงลูก แค่ฝากครรภ์ก็เสียเงินเยอะแล้ว อัลตราซาวนด์ก็ตั้งหลายพัน คลอดแล้วยังต้องซื้อของใช้ให้ลูกอีก
Don't Panic เห็นบิลค่าใช้จ่ายแต่ละที คุณแม่รู้สึกปวดใจ ถ้าไม่มีเงินเก็บดีๆ มีหวังเงินไม่พอกับการใช้จ่ายแน่ๆ ปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการตั้งครรภ์และการคลอดของคุณแม่มีหลายอัตราให้คุณแม่เลือก ตั้งแต่การฝากครรภ์ว่าจะฝากที่โรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน ซึ่งถ้าคุณแม่เลือกโรงพยาบาลของรัฐค่าใช้จ่ายก็จะถูกกว่าแต่ถ้าโรงพยาบาลเอกชน แน่นอนว่าย่อมมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ก็สะดวกสบายและมีรูปแบบการคลอดที่หลากหลายมากกว่ามาให้คุณแม่เลือก ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับคุณแม่นะคะว่าจะเลือกแบบไหน
ส่วนการทำอัลตราซาวนด์ ทำในช่วง 5-6 เดือนครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะบอกอะไรมากแล้ว แต่ถ้ามีความจำเป็นหรือผิดปกติ คุณหมอจะตรวจดูเพิ่มให้
การซื้อของใช้ให้ลูก มีทั้งแบบผลิตใน-นอกประเทศให้เลือก อย่างเช่นเสื้อผ้าของลูก คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะหรอกค่ะ เพราะลูกโตแล้ว ต้องเปลี่ยนไซส์บ่อยแน่ๆ และของบางอย่างก็สามารถซื้อของมือสองมาใช้ได้ เช่น เปล หรือคาร์ซีต วางแผนค่าใช้จ่ายดีๆ มีเงินเหลือเก็บให้ลูกตั้งแต่เด็กยันโตได้นะคะ
3. กลัวการเลี้ยงลูก ไม่เคยเลี้ยงเด็กมาก่อนเลยถ้าลูกหิว ลูกร้อง จะทำยังไงดีนี่
Don't Panic คุณแม่ทุกคนย่อมเผชิญหน้ากับการเลี้ยงลูกวันแรกด้วยกันทั้งนั้น และก็สามารถผ่านไปได้ การอุ้มลูก อาบน้ำ หรือป้อนนมให้ลูกเป็นครั้งแรกในชีวิต คุณแม่ย่อมมีความตื่นเต้น จึงควรหาข้อมูลและฝึกปฏิบัติเกี่ยวกับการอาบน้ำป้อนนมลูกให้พร้อมและเตรียมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้ให้ดีเมื่อถึงเวลาลูกร้องหรือหิว คุณแม่จะได้ทำให้ทันที
นอกจากนี้ การมีผู้ช่วย ไม่ว่าจะเป็น คุณยายคุณย่าหรือพี่เลี้ยง ก็ทำให้คุณแม่รู้สึกเบาใจมากขึ้นว่ามีที่ปรึกษาอยู่ใกล้ตัว ส่วนคุรแม่ที่ไม่มีผู้ช่วยก็อย่าเพิ่งกังวลไปเลยปัจจุบันมีตำรับตำรามากมายสำนักพิมพ์ตลอดจนเว็บไซต์ต่างๆ ให้เลือกอ่าน
2. กลัวการคลอด เค้าว่ากันว่า การคลอดเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเจ็บมากที่สุดในชีวิต
Don't Panic การคลอดเป็นสุดยอดแห่งความกังวลของคุณแม่ ความเจ็บปวดระหว่างคลอดนั้น ปัจจุบันมีวิทยาการมากมายที่เอื้อให้คุณแม่ผ่อนคลายความเจ็บปวด เช่น แพทย์จะฉีดยาบรรเทาปวดให้ในปริมาณที่ไม่อันตรายกับคุณแม่และลูกในครรภ์ บางโรคพยาบาลจะฉีดยาชาเข้าที่ไขสันหลัง จะช่วยให้คุณแม่ไม่ปวด อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้มาก คือการฝึกการหายใจ ฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งเตรียมกับการเผชิญความเจ็บปวด ฝึกสมาธิ และผ่อนคลาย นอกจากนี้คุณแม่ยุคใหม่หลายคนก็ยังไปออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายและอุ้งเชิงกรานแข็งแรงจะได้คลอดง่าย เช่น โยคะ ออกกำลังกายในน้ำ เป็นต้น หรือการที่คุณแม่มีความรู้ในเรื่องการคลอดก็จะช่วยลดความกลัว ความวิตกกังวลในสิ่งที่ไม่รู้ได้
1. กลัวลูกไม่ครบ 32 ฉันกลัวว่าคลอดลูกมาแล้วจะไม่ครบ 32 กลัวลูกพิการ หรือเกิดมาแล้วป่วยไข้ไม่สบายถ้าลูกเป็นอย่างนั้นจริงๆ ฉันต้องแย่แน่ๆ
Don't Panic ความพิการที่เกิดขึ้นกับลูกในครรภ์นั้น เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ คุณแม่อายุมากเกินไป คุณแม่ถูกสารเคมีระหว่างการตั้งครรภ์ในปริมาณมาก เช่น สารไดออกซิน สารปรอท มีสาเหตุจากกรรมพันธุ์ เช่น กล้ามเนื้อลีบ ปัญญาอ่อน ตาบอด หูหนวก หรือจากโรคภัยไข้เจ็บ เช่น แม่ติดเชื้อหัดเยอรมันในระยะตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก กินยาแก้สิว ยาแก้อักเสบ ยากันชัก แอลกอฮอล์ รวมทั้งสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติต่างๆ ในระหว่างคลอด วิธีป้องกันคือคุณแม่ต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงสารเคมีอันตรายให้ดี ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ ส่วนคุณแม่ที่เคยมีกรรมพันธุ์พิการควรวางแผนครอบครัวให้ดีก่อนการตั้งครรภ์ การตรวจอัลตราซาวนด์และตรวจวินิจฉัยก่อนการคลอด แม้จะบอกความสมบูรณ์ไม่ได้ 100% แต่ก็ช่วยได้มาก
--------------------------------------------------------------------------------
ความกลัวหรือความหวาดวิตกขณะตั้งครรภ์ถือว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตมาก่อน ซึ่งความกลัวก็แบ่งไปตามระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ เช่น ท้องใหม่ๆ ก็กลัวแพ้ท้อง พอท้องแก่ก็กลัวการคลอด ส่วนแม่ยุคใหม่ก็วิตกเรื่องเงิน
สวัสดิการ คลอดกลับมาแล้วจะมีงานทำหรือไม่ ส่วนหนึ่งมาจากข้อมูลในสังคมเป็นข้อมูลด้านเดียวเยอะ อะไรตื่นเต้นหวาดเสียวก็ถูกนำมาเสนอ ซึ่งคุณแม่ต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ พยายามเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ ที่สำคัญคนรอบข้าง สามี ญาติ หมอ พยาบาล ต้องช่วยในเรื่องการคิดเชิงบวกให้มากๆ
มีนะ สพสมัย กรรมการมูลนิธิส่งเสริมการคลอดและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แห่งประเทศไทย
--------------------------------------------------------------------------------
Begin the Journey (Don't Panic on the Way !)
Week 1 ตื่นเต้นกับการรูว่าตนเองต้องมีลูก วางแผนเรื่องการดูแลสุขภาพ กินวิตามิน ระวังอย่าถูกสารเคมีในช่วงนี้ เช่น แอลกอฮอล์ บุหรี่ เอกซเรย์ ยาฉีดยุง ฯลฯ
Week 2 ปัสสาวะเริ่มขึ้น ถ้ากินยาอะไรอยู่ตอนนี้ก็ควรบอกว่าเราท้อง
Week 3 อาจมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อย เนื่องจากไข่ที่ผสมแล้วเข้าฝังตัวที่โพรงมดลูกและร่างกายกำลังสร้างสารโปรตีน EPF เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายคิดว่าลูกคือสิ่งแปลกปลอม
Week 4 แม่อาจปัสสาวะบ่อยขึ้น รู้สึกเหนื่อย อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายเพราะฮอร์โมนกำลังเปลี่ยนนั่นเอง
Week 5 อาจรู้สึกเสียวแปลบบริเวณหน้าอก ปวดหัวบ่อยๆ เพราะฮอร์โมนเพิ่ม แต่บางคนก็ไม่มีอาการนี้ บางคนมีอาการแพ้ท้อง แต่แม่บางคนก็อาจไม่แพ้ท้องกัน
Week 6 คลื่นเหียนอาเจียนรุนแรง แพ้ท้อง หน้าอกเริ่มขยายลานนมสีเข้มขึ้น
Week 7 ผิวหน้าของคุณแม่เริ่มมีสิวหรือฝ้าเพราะการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน คุณแม่รู้สึกเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะต้องมองหาคลาสเรียนเพิ่ม เช่น เรียนออกกำลังกาย การเตรียมคลอดตามโรงพยาบาลต่างๆ เป็นต้น
Week 8 คุณแม่ควรไปพบคุณหมอเป็นครั้งที่ 1 หรือ 2 ได้แล้ว โดยสิ่งที่หมอจะตรวจ ได้แก่ ปัสสาวะ ความดันเลือด น้ำหนัก ขนาดของเชิงกราน เลือด ภูมิคุ้มกัน ประวัติ สุขภาพของครอบครัวระยะการไปตรวจครรภ์ของคุณแม่จะมีความยาวไม่เท่ากัน และเมื่อไปพบแพทย์จึงเป็นเวลาที่คุณแม่จะถามทุกคำถาม
Week 9 อาจมีเลือดออกตามไรฟันได้ง่ายควรรักษาความสะอาดในช่องปากและแปรงฟันเบาๆ
Week 10 หน้าท้องของคุณแม่เริ่มห้อยลงมาแล้ว อย่าลืมวัดส่วนขยายนี้ไว้ด้วยล่ะ
Week 11 น้ำหนักเริ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่มากนักในไตรมาสแรกประมาณ 1-2 Ibl ควรดูแลเรื่องอาหารและโภชนาการ เพราะคุณกิน 2 คน คุณแม่ต้องการสารอาหาร 300-500 แคลอรีต่อวันหลีกเลี่ยงจังก์ฟู้ดทั้งหลาย ควรกินผักผลไม้และโปรตีนให้มาก
Week 12 คุณแม่เริ่มสดชื่นกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น การเสี่ยงต่อการแท้งก็ลดลงแล้ว
Week 13 เริ่มไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่เริ่มรู้สึกดีที่สุด ผ่อนคลายคนรอบข้างจะเริ่มเข้ามาดูแลคุณมากขึ้น
Week 14 ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนแปลง เช่น เส้นสีดำบริเวณกลางท้องเห็นชัดขึ้น ลานนมสีเข้มและใหญ่ขึ้น
Week 15 หัวใจของคุณแม่ทำงานหนักขึ้นเพื่อใช้ในการสร้างออกซิเจนให้ลูกเตรียมซื้อเสื่อผ้าชุดใหม่ที่ตัวเก่าเริ่มคับได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อชุดคลุมท้องเชยๆ แต่สามารถใส่ชุดสวยเปลี่ยนไซส์ให้ใหญ่ขึ้นได้
Week 16 เริ่มรู้สึกถึงว่าลูกดิ้น แต่ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแรกอาจจะรู้สึกช้ากว่านี้ก็ได้ เป็นเรื่องที่ผิดปกติถ้าคุณแม่ยังไม่รู้สึกว่าลูกดิ้นจนถึงสัปดาห์ที่ 22-24 แล้ว
Week 17 เนื่องจากการเพิ่มของความดันเลือด คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่าย คัดจมูก ไม่ต้องกังวล
Week 18 คุณแม่เริ่มรู้สึกว่านอนไม่ค่อยหลับ เพราะร่างกายเปลี่ยนจึงควรจัดท่านอนให้ถูกต้องหาหมอนมารองพุงปัสสาวะก่อนนอน Week 19 เริ่มมองหาวิธีการคลอดหรือเข้าชั้นเรียนการคลอดได้แล้ว เพื่อช่วยให้คลอดง่าย และลดความเครียดระหว่างคลอด ลองหาคลาสที่เหมาะกับเวลาของคุณแม่
Week 20 คุณแม่มาถึงครึ่งทางของการตั้งครรภ์แล้วเพราะท้องที่ใหญ่ขึ้นทำให้คุณแม่หายใจได้ลำบากมากขึ้น เพราะอวัยวะภายในถูกมดลูกขยายตัวไปกดทับอาการนี้จะสิ้นสุดเมื่อลูกเคลื่อนที่มาสู่อุ้งเชิงกราน หรือประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนคลอดคุณแม่ยังฉี่บ่อยขึ้น
Week 21 คุณเริ่มสนุกกับการทายเพศแล้วล่ะ มีเทคนิคตลกๆ เช่น ท้องแหลมหรือกลม แต่วิธีที่แน่นอนที่สุดก็คือการไปอัลตราซาวนด์ดูนั่นเอง
Week 22 เซ็กซ์ของคุณแม่บางคนเปลี่ยนไป ลองมองหาวิธีทางเลือกอื่นในการมีเพศสัมพันธ์ดู ไม่ต้องห่วงว่าจะอันตรายถึงลูกเพราะเด็กจะมีถุงน้ำคร่ำอยู่ และสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้จนคลอดแต่ต้องเลือกท่าทางที่เหมาะสม
Week 23 คุณแม่เริ่มเสียวแปลบบริเวณท้องน้อย อาการนี้บอกท่าทางของลูกในท้องแม่บางคนกังวลเรื่อง ท้องใหญ่ หรือ ท้องเล็ก ซึ่งขนาดของท้องจะขึ้นอยู่กับน้ำหนักและกรรมพันธุ์ของคุณแม่ด้วย
Week 24 คุณแม่เริ่มสังเกตการขยับตัวหรือการดิ้นของลูกได้ เป็นการบอกด้วยว่าลูกตื่นหรือหลับตอนไหน
Week 25 คุณแม่ควรสังเกตสัญญาณการคลอดก่อนกำหนดไว้ให้ดี จะมีอาการท้องตึงเจ็บเป็นพักๆ อาจมีมุกเลือดออกจากช่องคลอด ถ้ามีอาการควรปรึกษาแพทย์และงดงานที่ต้องเดินหรือยืนเป็นเวลานานๆ
Week 26 ลองหาท่าทางที่เหมาะในการนอน เดิน นั่ง
Week 27 ย่างเข้าไตรมาสที่ 3 แล้วค่ะ น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นทีเดียว น้ำหนักจะลดลงหลังคลอดเอง คุณแม่ควรกินเพื่อสุขภาพของแม่และลูกให้มากๆ หน้าอกขยายและมีน้ำหนักมากขึ้น คือ ก่อนตั้งท้อง 7 ออนซ์ ถึงตอนนี้ 28 ออนซ์เลยทีเดียว
Week 28 คุณแม่ต้องไปพบคุณหมอบ่อยขึ้นถึง 2 อาทิตย์ต่อครั้งแล้วค่ะ เริ่มมองหาวิธีการคลอดที่เหมาะสมได้แล้ว ซึ่งควรเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณสามี และคุณหมอ คุณแม่บางคนเริ่มมีน้ำนมไหลซึม แต่คนที่น้ำนมไม่ไหลก็ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด
Week 29 คุณแม่ควรอยู่ในอิริยาบถท่าทางที่เหมาะสมกินอาหารที่มีประโยชน์พักผ่อนมากๆ ระวังอาการปวดหลัง สูดลมหายใจลึกๆ เพื่อให้ลมหายใจฟอกปอด
Week 30 การออกกำลังกายช่วยให้คุณแม่แข็งแรงและสุขภาพดี และทำให้คลอดง่าย ถ้าคุณแม่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย ก็ควรเดินหรือว่ายน้ำสั้นๆ
Week 31 คุณแม่อาจรู้สึกปวดหรือแสบท้อง กระดูกเชิงกราน และซี่โครง ระยะนี้ลูกตัวใหญ่เต็มช่องท้องของคุณแม่แล้ว คุณแม่บางคนกินอาหารลดลงและมีอาการปวดหลังคุณแม่จึงควรมีท่าเดินที่เหมาะสม ออกกำลังกายและยึดกล้ามเนื้อเป็นกระจำ
Week 32 การคลอดทำให้คุณแม่กังวลมากขึ้น ทั้งเรื่องความเจ็บปวด การเรียนรู้เรื่องเทคนิคการหายใจช่วยให้คุณแม่บรรเทาความเจ็บปวด
Week 33 คุณแม่อาจสังเกตเห็นศอกหรือเข่าของลูกกระทุ้งออกมาแล้ว หาข้อมูลเรื่องการคลอด ชีวิตหลังคลอดและการเตรียมเลี้ยงลูกได้แล้ว
Week 34 ร่างกายของคุณแม่พร้อมสำหรับการคลอดแล้ว
Week 35 ยิ่งใกล้คลอด คุณแม่ยิ่งจะนอนหลับยากขึ้นกว่าเดิม บางคนบอกว่านี่เป็นการเตรียมตัวสำหรับการเลี้ยงลูกแรกเกิดคุณแม่อาจจะลุกขึ้นฉี่ทุก 45 นาที และกลับไปนอนลำบาก
Week 36 คุณแม่อาจต้องไปหาคุณหมอทุกอาทิตย์จนกว่าจะคลอด เด็กเริ่มกลับหัวแล้ว มีเพียง 4% เท่านั้นที่ไม่กลับหัว การออกกำลังกายช่วยได้บ้างแต่ถ้าเด็กไม่กลับหัวอาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด
Week 37 ลองไปทัวร์หรือสำรวจห้องคลอดที่คุณแม่เตรียมไว้บ้างเพื่อสร้างความคุ้นเคย รู้จักความแตกต่างของอาการเจ็บจริงหรือเจ็บเตือน
Week 38 คุณแม่รู้สึกกระตุกหรือตุงบริเวณช่องคลอด วางแผนว่าจะพาใครเข้าไปในห้องคลอดด้วยเตรียมของที่จะนำไปใช้ในโรงพยาบาลให้พร้อม
Week 39 ลูกกลับหัวมาเตรียมรอคลอดที่อุ้งเชิงกรานแล้วปากมดลูกนิ่มและขยายคุณหมอจะตรวจการขยายตัวของปากมดลูก เรากำหนดเวลาตายตัวของการคลอดไม่ได้แต่ก็ควรมีข้อสังเกตง่ายๆ เช่น มีน้ำเดิน
Week 40 แม่ท้องที่สุขภาพดีก็พร้อมที่จะคลอด แต่มีเพียงคุณแม่ 4% เท่านั้นที่จะคลอดในวันที่กำหนด มักจะคลอด 2 สัปดาห์ก่อนและหลังการกำหนดคลอดเพราะเป็นการคาดวันคลอดที่เป็นช่วงเวลาเท่านั้นเพราะฉะนั้นการเตรียมพร้อมไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งสำคัญ.
(update 26 ตุลาคม 2006) [ ที่มา.. นิตยสารดวงใจพ่อแม่ Vol.11 No.128 June 2006]
ทั้งหมดนี่มันจะเกิดขึ้นกับเรา และเกิดไปบ้างแล้วด้วย 
Create Date : 06 มีนาคม 2553 | | |
Last Update : 6 มีนาคม 2553 13:14:05 น. |
Counter : 3952 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
ตีไม่แรง ไม้แพง แต่งตัวเท่ห์
|
|
|
|
|
|