ใฃ้หนีราชกานต์เท่านั้น
 

วัดบรมพุทธาราม

วัดบรมพุทธาราม
สร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา
อันเป็นต้นเค้าให้กับศิลปะรัตนโกสินทร์

โดยอาจารย์กานต์ทิตา
จากกาลเวลาที่ผ่านมา จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีอดีตที่ผ่านร้อนผ่านหนาว ดังประวัติศาสตร์ชาติไทยได้มีการบันทึกความเปลี่ยนแปลงในเรื่องราวต่างๆ ที่เป็นไปทั้งจากพงศาวดาร รวมถึงคำให้การของชาวกรุงเก่าและบันทึกจากจดหมายเหตุ ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งหมดนั้นเป็นเสมือนกุณแจดอกสำคัญที่จะไขให้ได้ทราบถึงเรื่องราวทางด้านประวัติศาสตร์ อันเป็นสิ่งซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาศิลปกรรม
บางครั้งหลักฐานที่เกี่ยวกับการบันทึกทางด้านประวัติศาสตร์อาจไม่สัมพันธ์กับรูปแบบทางด้านศิลปกรรม ซึ่งนั้นก็มีการตรวจสอบ หาเหตุผลและเงื่อนไขแล้วแต่กรณีไป แต่สิ่งที่สามารถให้ รายละเอียดได้ดีอย่างหนึ่ง คือ ลวดลายประดับ ดังที่ สันติ เล็กสุขุม ได้กล่าวอ้าง หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ถึงการศึกษาวิธีการอันเป็นระเบียบในการลำดับวิวัฒนาการทางศิลปะ1 ซึ่งวิธีการดังกล่าว เมื่อทำการตรวจสอบแล้วมีความสัมพันธ์กันกับหน้าประวัติศาสตร์ ก็สามารถนำไปเป็นตัวกำหนดอายุได้ และค่อนข้างจะมีความแม่นยำใกล้เคียงที่สุด แม้บางครั้งสิ่งที่ไม่เคยทราบ อาจเผยออกมาให้ปรากฎ จากการที่ได้ใช้ลวดลายเป็นเครื่องมือในการกำหนดอายุ และหาหลักฐานทางด้านศิลปกรรม และถึงแม้ว่าจะมีบันทึกและหลักฐานที่เชื่อถือได้อยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องมีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อความแม่นยำอีกประการหนึ่ง โดยในที่นี้จะกล่าวถึงวัดบรมพุทธาราม สร้างในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ปราสาททอง ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มาเป็นรางวงศ์บ้านพูลหลวงสมเด็จพระเพทราชา2 ซึ่งในสมัยอยุธยาตอนปลายนั้น ผลงานด้านศิลปกรรมได้มีนักวิชาการให้การกล่าวถึงว่า คือ ศิลปะที่เลยคลาสสิคออกไปแล้ว เป็นศิลปแบบรุ่งเรืองเบ่งบานจนสุดขีด ซึ่งคำว่ารุ่งเรืองจนสุดขีด น. ณ ปากน้ำ

1 สันติ เล็กสุขุม. การศึกษาวิซัมนาการลวดลายปูนปั้นประดับโบราณสถานสมัยอยุธยาตอนต้น (พ.ศ.1893 – 1967) วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชา โบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ภาควิชาโบราณคดี บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ.2521. หน้า
2 ดูใน ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 81 จดหมายเหตุ เรื่อง การจลาจลเมื่อปลายแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (หลวงจินดาสหกิจ (ละม้าย ธนะศิริ แปล) ธนาคารแห่งประเทศไทยพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ ม.ร.ว.ทองเถา ทองแถม ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2510
น่าจะหมายถึง ช่วงปลายของสมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว แต่สมัยสมเด็จพระเพทราชา ศิลปกรรมน่าจะยังไม่สามารถใช้คำว่ารุ่งเรืองจนสุดขีด3 ได้ แต่ก็เบ่งบานใกล้ถึงสุดขีดแล้ว
ในสมัยสมเด็จพระเพทราชา เป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านเมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ได้ส่งผลไปถึงรูปแบบทางด้านศิลปกรรมด้วย เนื่องจากสมัยของสมเด็จของพระนารายณ์ เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าพระองค์ทรงชื่นชอบชาวยุโรป ดังนั้นจะเห็นได้จากที่พระองค์ทรงส่งเครื่องราชไปเจริญพระราชไมตรีหลายครั้ง และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็ทรงมีพระราชไมตรีตอบมา4 ต่างชาติที่เข้ามาในรัชสมัยของ พระองค์มีทั้ง ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา และพวกแขกมัว ซึ่งการเข้ามาของชาวต่างชาตินั้น ได้นำความเจริญและศิลปวัฒนธรรมเข้ามาเผยแพร่ให้กับสยามประเทศ เริ่มต้นที่กรุงศรีอยุธยา

ศิลปกรรมสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ในช่วงระยะต้นราชกาล รูปแบบศิลปกรรมน่าจะยังมีลักษณะลวดลายคล้ายกับสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ก็มีความแตกต่างแล้ว เนื่องจากสมัยอยุธยาตอนกลางได้เริ่มประดิษฐ์กนกสามตัวขึ้นมาใช้แล้ว และโครงสร้างของลายยังคงมีเครือเถาแบบธรรมชาติปะปนอยู่5 ผิดกับลายสมัยอยุธยาตอนปลาย รูปแบบเป็นลายประดิษฐ์ล้วนๆ สำหรับข้อสังเกตอีกอย่างของความแตกต่าง มูลเหตุเกิดจากในสมัยของพระเจ้าปราสาททองได้ตีประเทศเขมรกลับคืนมาได้แล้วก็เกิอความนิยมศิลปะเขมรขึ้นอีก ดังนั้นงานศิลปกรรมจึงเป็นไปในแบบขอมปนไทย6อิทธิพลเขมรแสดงอยู่มากในศิลปอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง อย่างไรก็ตามลายไทยในสมัยอยุธยาตอนกลางนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นลักษณะพิเศษของศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย7 ซึ่งต่างกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ศิลปกรรมเป็นไปในลักษณะที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะไทยที่มีการรับอิทธิพลจากชาวยุโรปเข้ามามีบทบาทอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการขาดตอนไปจากลายไทยสมัยอยุธยาตอนกลาง ดังเช่น ตู้พระไตรปิฎก เขียนลายทองวัดอนงคาราม (ภาพที่1) ในภาพมีทหารต่างชาติกำลังส่องกล้องและยิงปืนใหญ่ แสดงว่ายุโรปมีการเข้ามารับราชการแล้วในสมัยนี้ และการสร้างป้อมวิไชเยนทร์ ฝรั่งเศส ได้ส่งนายช่าง ศิลปิน วิศวกร สถาปนิคมาเมืองไทย พร้อมกับสร้างพระราชวังลพบุรีและสร้างตึกรับแขกเมืองจำนวนหลายหลัง ตามแบบเรเนสซอง

3น. ณ ปากน้ำ. (นามแฝง) วิวัฒนาการลายไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 3). ด่านสุทธาการพิมพ์ : กรุงเทพฯ, 2534 : 22-23
4ประชุมพงศาวดารภาคที่ 81. หน้า 2-11
5 น. ณ ปากน้ำ. เรื่องเดิม. หน้า 22
6ศิลปากร,กรม.ศิลปกรรมสมัยอยุธยา, เนื่องในงานวันเด็กแห่งชาติ 9 ม.ค.-28 ก.พ. 2514 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร. โรงพิมพ์การศาสนา : กรุงเทพฯ, 2514
7น.ณ ปากน้ำ. เรื่องเดิม. หน้า 26
ของยุโรป8
ลวดลายในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อันเป็นลักษณะเด่นในสมัยนี้ มีตัวอย่างที่เหลืออยู่ คือ อาคารอุโบสถ หรือวิหารวัดตะเว็ด (ภาพที่ 2) เป็นลายเครือเถา ประดิษฐ์ด้วยใบอะแคนตัส มีนกคาบแบบลายไทยผสมอยู่
สมัยปลายของอยุธยาตอนกลางนี้มักจะเชี่ยวชาญในการปูนปั้น9 แน่นอนว่า เมื่อมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ช่างย่อมมีฝีมือในระดับชั้นครูแล้วทั้งนั้น จึงไม่แปลกที่จะมีนักวิชาการกล่าวว่าสมัยอยุธยาตอนปลายจัดว่าเป็นยุคอันเฟื่องฟูของมัณฑนศิลป์10 มีการตกแต่งลวดลายประดับเป็นอันมากตามพระอุโบสถ วิหาร และเจดีย์
ล่วงมาถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงขับไล่ชาวยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศสออกไปจากราชอาณาจักร11 และได้ทรงสร้างวัดบรมพุทธารามขึ้น

วัดบรมพุทธาราม
เป็นวัดสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระเพทราชา12 (พ.ศ.2231-2245) ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์บ้านพูลหลวง โปรดให้สร้างขึ้นที่นิวาสสถานเดิม (สร้าง พ.ศ. 223313) ความว่า “ฝ่ายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดำริว่า บ้านป่าตองเป็นที่ศิริมหามงคลสถานควรอาตมจักรสถาปนาเป็นพระอารามจึงดำรัสสั่งให้สร้างกำแพงแก้ว พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เสนากุฏิ ดำรัสสั่งให้จมื่นจันทราชช่างเคลือบ เคลือบกระเบื้องสีเหลืองมุงหลังคาพระอุโบสถ วิหารการเปรียญ จึงถวายนามพระอารามชื่อ วัดพุทธาราม ครั้นเสร็จตั้งสมโภชฉลอง 3 วัน 3 คืน14”




8น. ณ ปากน้ำ เรื่องเดิม. หน้า 2
9น. ณ ปากน้ำ. ลายปูนปั้น มัณฑนศิลป์อันเลิศแห่งสยาม. (พิมพ์ครั้งที่ 3). เมืองโบราณ : กรุงเทพฯ, 2543. หน้า 65
10น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. หน้า 29
11 ประชุมพงศาวดารภาคที่ 81. หน้า 19
12ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39. จดหมายเหตุของพวกคณะบาทหลวงฝรั่งเศส ตอนแผ่นดินพระเจ้าเสือและพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ. คุรุสภา : พระนคร, 2511. หน้า 25
13ประชุมพงศาวดารภาคที่ 64. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ. คุรุสภา : พระนคร, 2512. หน้า 74
14ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 64. หน้า 74-80
เทพมนตรี ลิมปพยอม ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการสร้างวัดบรมพุทธาราม ของสมเด็จพระเพทราชาว่าน่าจะเป็นการสร้างเพื่อเหตุผลทางการเมือง โดยนำพระพุทธศาสนาและการรื้อฟื้นขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นลักษณะธรรมราชาขึ้นมาอ้าง ในการกุมอำนาจทางการเมือง ลบล้างอำนาจของฝรั่งเศส และเป็นอนุสรณ์ในการปราบดาภิเษกขึ้นครองเศวตฉัตรกรุงศรีอยุธยา15

ข้อคิดเห็นของเทพมนตรี ลิมปพยอม ถ้าเป็นจริงว่าวัดนี้เป็นอนุสรณ์ในการปราบดาภิเษก ก็ดูจะมีมูลความจริงอยู่บ้าง วัดนี้มุงหลังคาด้วยกระเบื้องเคลือบ อันเป็นของแปลก เนื่องด้วยวัดในสมัยก่อนหน้านี้จะมุงหลังคาด้วยกระเบื้องงดินเผาธรรมดา กระเบื้องเคลือบมีใช้แพร่หลายในสมัยของสมเด็จพระเพทราชา เริ่มที่วัดพุทธาราม ดังชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดกระเบื้องเคลือบ16
การที่ชาวบ้านพากันเรียกว่าวัดกระเบื้องเคลือบ อาจเนื่องจากกระเบื้องเคลือบเป็นของแปลก ชาวบ้านจึงพากันเรียกลักษณะเด่นที่เป็นของแปลก เป็นชื่อวัดไป และการที่สมเด็จพระเพทราชาทรงใช้กระเบื้องเคลือบนั้นอาจเนื่องมาจาก ต้องการให้วัดนี้มีความพิเศษกว่าวัดอื่นๆ อีกทั้งยังปรากฎจากพงศาวดารระบุว่าวัดนี้สร้างที่นิวาสสถานเดิมของพระองค์ เมื่อวัดนี้สร้างที่นิวาสสถานเดิมของพระองค์เช่นนี้ย่อมบ่งชัดได้ว่า ต้องมีความสำคัญมาก อาจเรียกได้ว่า เป็นวัดประจำพระองค์ก็ได้
สำหรับอีกข้อคิดเห็นที่กล่าวว่าถึงมูลเหตุของการสร้างวัดนี้เพื่อเหตุผลทางการเมือง ในการลบล้างฝรั่งเศสนั้น ถึงแม้เราจะพบว่าสมเด็จพระเพทราชา จะทำการขับไล่ฝรั่งเศสออกไปจากราชอาณาจักร และทำการต่อต้านฝรั่งเศสทุกประการ แต่สถาปัตยกรรมของพระอุโบสถยังคงเป็นไป โดยใช้ระบบผนังอาคารรับน้ำหนักเครื่องบนหลังคา และมีการเจาะหน้าต่างเพื่อให้แสงสว่างเข้ามากขึ้น ซึ่งระบบแบบนี้เป็นระบบเทคนิคการก่อสร้างแบบใหม่ที่นิยมในสมัยพระนารายณ์ ตามแบบตึกยุโรป อาคารในแบบตึกยุโรปอีกแห่งที่สร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา คือตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์ (ภาพที่3-4) ชั้นล่างเป็นหน้าต่างรูปโค้ง ชั้นบนเป็นหน้าต่างสี่เหลี่ยมผืนผ้าตัดตรงแม้จะเป็นตึกแบบยุโรป แต่ก็ได้ดัดแปลงให้เป็นแบบไทย17
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าสมเด็จพระเพทราชาไม่ได้ทรงต่อต้านชาวยุโรปในทุกๆ ด้าน หากแต่สิ่งที่ทำให้บ้านเมืองมีการพัฒนาขึ้นสิ่งนั้นก็ยังคงปรากฎอยู่ แม้ว่าในสมัยนี้จะไม่มีชาวยุโรปรับราชการในราชสำนักแล้วก็ตาม




แต่ก็ยังมีข้อสงสัยอีกประการหนึ่งว่าวัดนี้ ไม่น่าจะเป็นวัดประจำราชวงศ์บ้านพูลหลวง เนื่องจากได้มีหลักฐานการปฏิสังขรณ์ ใน พ.ศ. 2295 ในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศและโปรดให้ทำบานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถเพิ่มขึ้น (บานมุกนี้ ในปัจจุบันอยู่ที่หอพระมณเทียรธรรม ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามคู่หนึ่ง ที่วัดเบญจมบพิตรคู่หนึ่ง และอีกคู่หนึ่งมีผู้นำไปตัดทำตู้หนังสือ ตู้ใบนี้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงได้มาและประทานแก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ18 และ

หลังจากนั้นไม่ปรากฎการบูรณะอีกเลย จนสิ้นยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในสมัยพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งถ้าวัดนี้มีความสำคัญ เป็นวัดประจำราชวงศ์บ้านพลูหลวงจริง ก็น่าจะมีการบูรณะซ่อมแซมอยู่เสมอในทุกรัชกาลลงมา ด้วยเหตุนี้วัดบรมพุทธารามจึงน่าจะเป็นเพียงวัดประจำรัชกาลของสมเด็จพระเพทราชาเท่านั้น

รูปแบบศิลปกรรมของพระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม
พระอุโบสถ
เป็นพระอุโบสถขนาดกลาง หันหน้าไปทางทิศเหนือ กว้าง 12.00 เมตร ยาว 24.20 เมตร ก่ออิฐถือปูน ที่ผนังหุ้มกลองด้านหน้าทำประตูทางเข้า 3 ประตู ประตูกลางหรือประตูประธานกว้าง 1.65 เมตร สูง 3.70 เมตร ทำซุ้มทรงยอดปราสาท ประตูรองทั้ง 2 ข้าง กว้าง 1.12 เมตร สูง 2.90 เมตร ทำซุ้มทรงปันแถลง รายละเอียดของพระอุโบสถอาจแยกได้เป็น 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนผนัง และส่วนหลังคา โดยจะกล่าวถึงส่วนที่มีความสำคัญก่อนคือส่วนผนัง
ส่วนผนัง ประกอบด้วย ประตูและหน้าต่าง
ประตู ประกอบด้วยประตูประธานและประตูรอง
ประตูประธาน
ช่วงปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอุโบสถมีความสำคัญมากขึ้น หลักฐานทางลวดลายประดับจึงมักพบที่พระอุโบสถ19 ดันนั้นประตูประธาน จึงจัดเป็นประตูที่สำคัญประตูหนึ่ง ของพระอุโบสถ โดยเฉพาะประตูประธานที่ผนังสกัดหน้า ประกอบด้วยเสากรอบประตูเรียงเหลื่อมซ้อนกัน 3 ชั้น มีลักษณะคล้ายกับเสาย่อมุ่มที่ยื่นออกมาจากผนัง รองรับประตูซุ้มทรงยอดปราสาท (ภาพที่ 5) สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายขนาดของเสาแบบบางมากขึ้น20สำหรับลวดลายประดับตกแต่งมี 4

19สันติ เล็กสุขุม. ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2172 – 2310).กรุงเทพฯ: มูลนิธิเจมส์ ทอมสัน , 2532. หน้า 55.
20ณ ปากน้ำ.ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา (พิมพ์ครั้งที่ 2).กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์เมืองโบราณ, . 2529. หน้า 92.
ตำแหน่ง คือ ส่วนล่าง ส่วนกลางเสา ส่วนหัวเสา และส่วนที่เป็นซุ้ม
ส่วนล่าง : ชุดลวดบัวล่าง
ประกอบด้วย ล่างสุดคือฐานสิงห์รองรับชั้นเชิงบาตร บัวคว่ำ ลูกแก้วอกไก่ บัวปากปลิง เหนือขึ้นไปประดับกาบล่างซึ่งหลุดร่วงไปแล้ว (ภาพที่ 6) และ (ภาพลายเส้นที่ 1) อาจนับได้ว่าในสมัยของสมเด็จพระเพทราชามีการสร้างชั้นเชิงบาตร เป็น 2 แบบ คือ แบบที่มีชั้นเชิงบาตรชั้นเดียว ของวัดบรมพุทธาราม (ภาพลายเส้นที่ 2) กับแบบที่มีชั้นเชิงบาตรสองชั้น (ภาพลายเส้นที่ 3) และต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ รูปแบบของชั้นเชิงบาตรได้เปลี่ยนไปและเพิ่มขึ้นเป็น 3 ชั้น ชั้นบัวคว่ำก็ได้หายไป เช่นที่พระอุโบสถวัดกุฎีดาว (ภาพลายเส้นที่ 4) เป็นที่สังเกตุได้ว่ายิ่งสมัยหลังลงมาส่วนล่างหรือชุดลวดบัวล่างจะสูงขึ้น
สันติ เล็กสุขุม ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสุดบัวล่างของพระอุโบสถวัดกุฎีดาว ไว้ว่าเหนือชั้นเชิงบาตรชั้นบนสุด คาดเส้นลูกแก้วอกไก่ จำนวนสามเส้น โดยคาดในแนวเฉียง แม้ที่เสากรอบประตู พระวิหารหลวงของวัดพระราม บูรณะครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกศเส้นลูกแก้วใต้กาบล่างยังประดับตามแนวนอน แสดงให้ทราบถึงการประดับที่เป็นไปในช่วงเวลานั้น ถึงสองแบบ21
แต่อย่างไรก็ตาม การคาดเส้นลูกแก้วอกไก่ในแนวคาดเฉียงนี้ คงเป็นรูปแบบใหม่ที่อาจเริ่มเกิดขึ้นในสมัยของพระเจ้าท้ายสระและคลี่คลายมาประดับในสมัยรัตนโกสินทร์
ส่วนกลางเสา : ประจำยามอก
มีการประดับลายปูนปั้นประจำยามอกที่ส่วนกลางเสา ตรงมุมนอกของเสากรอบประตู เป็นที่สังเกตได้ว่าถ้ามีการประดับกาบบน กาบล่าง จะมีการประดับประจำยามอก แต่ถ้าเสามีการประดับด้วยเฟื่องอุบะและกรวยเชิง จะไม่มีประจำยามอก
ส่วนบน : ชุดลวดบัวบน
ชุดลวดบัวบนประกอบด้วยชั้นหน้ากระดาน บัวหงาย ท้องไม้ ลูกแก้วอกไก่ ท้องไม้ บัวปากปลิง แต่ละชั้นมีเส้นลวดคั่น ใต้บัวปากปลิงคงจะประดับด้วยกาบบน 22






21สันติ เล็กสุขุม. ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ2172 -2310) หน้า 60.
22สันติ เล็กสุขุม. ลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2172 – 2310) หน้า 59
การประดับกาบบนมีปรากฎมาแล้วในสมัยพระนารายณ์ ที่น่าจะเกี่ยวไปทางการประดับในศิลปะล้านนา หาใช่อิทธิพลขอมที่มีกลิ่นอายอยู่มากในสมัยพระเจ้าปราสาททอง
อย่างไรก็ตามชุดลวดบัวบนก็ไม่ได้แสดงความคลี่คลายออกมาแต่ประการใด ที่จะให้อิทธิพลแก่ศิลปะในยุคต่อมา

ซุ้มทรงยอดปราสาท
คือซุ้มที่แสดงลักษณะของเรือนยอด ที่มีส่วนซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ จากใหญ่ไปหาเล็กจำนวน 7 ชั้น มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมทรงสูง
ส่วนยอดคงจะทำเป็นยอดปรางค์ตามแบบพระเมรุทิศวัดชัยวัฒนาราม23 ซุ้มมีการทำเลียนแบบโครงสร้างเสาและคาน มีการประดับบันแถลงตามชั้น และส่วนปลีกย่อยอื่นๆ ที่ชำรุดหลุดร่วงเสียหมด
สันติ เล็กสุขุม ได้ให้รายละเอียดว่า ซุ้มทรงปราสาทนี้ อาจจัดได้ว่าเป็นซุ้มที่มีความสำคัญเนื่องจากทำที่ประตูประธาน และอาจเพิ่มความสำคัญขึ้นเมื่อมีการทำประตูซุ้มทรงยอดปราสาททั้งพระอุโบสถ ที่วัดพระยาแมน แต่ต่อมาอาจเนื่องจากความเหมาะสม ในรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ พระอุโบสถวัดกุฎีดาว พบการทำซุ้มทรงยอดปราสาทเฉพาะที่ประตูประธาน (ลายเส้นที่ 4) เช่นเดียวกับที่วัดบรมพุทธาราม และรูปแบบประตูซุ้มทรงยอดปราสาทนี้ก็ได้คลี่คลายรูปแบบ ต่อมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ประตูรอง
ประกอบด้วยเสากรอบประตู เรียงเหลื่อมซ้อนกันข้างละสองเสา การประดับมีลักษณะเช่นเดียวกับประตูประธาน ที่แตกต่างกัน คือ ส่วนลวดบัวล่างของประตูรอง ไม่มีชั้นเชิงบาตร และทำซุ้มประตูทรงบันแถลง (ภาพลายเส้นที่ 5 ) เสากรอบประตูมีร่องรอยการประดับลายปูนปั้นที่เท้าสิงห์ กาบล่าง ประจำยามอกและกาบบน ซึ่งหลุดร่วงไปหมด
ซุ้มทรงบันแถลง
หรือซุ้มทรงหน้าจั่ว 24 เป็นซุ้มประตูรองที่ผนังสกัดหน้า และผนังสกัดหลังของพระอุโบสถ ซุ้มทรงบันแถลงประกอบด้วยเครื่องลำยอง คือมีตัวลำยอง ใบระกา ช่อฟ้า และหางหงส์25 ใบระกา


23 วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. สามร้อยเจ็ดปีบรมพุทธาราม. หน้า 22
24สันติ เล็กสุขุม. ลวดลายปูนปั้นแบบอย.ตอนปลาย (พ.ศ. 2172 – 2310. หน้า 56
25สาสน์สมเด็จเล่มที่ 21. องค์การค้าของคุรุสภา : กรุงเทพฯ , 2515

ทำเป็นเส้นซ้อนกัน หรือซุ้มลด26 ไม่ประดับลวดลายหรืออาจหลุดร่วงหมดแล้ว ส่วนช่อฟ้าและหาง
หงส์ ชำรุดหักพังจนหมด ตัวลำยองเน้นความโค้งเว้าอย่างเด่นชัด ดังที่ สันติ เล็กสุขุม ได้กล่าวถึงลักษณะพิเศษของซุ้มทรงบันแถลงที่วัดนี้ว่าส่วนล่างของกรอบซุ้มเน้นความโค้งเว้า จังหวะของความโค้งรับกันอย่างเหมาะสมคงมีผลให้ขนาดของใบระกามีขนาดเล็กกว่าปรกติ 27 มุมแหลมของยอดซุ้มปิดประดับด้วยทรงปีกผีเสื้อ ภายในอาจเคยมีลายประดับแต่หลุดร่วงลงหมด ที่หน้าบันของซุ้มบันแถลง ยังปรากฎลวดลายปูนปั้นอยู่บางส่วน ดังจะกล่าวถึงต่อไป
สำหรับซุ้มทรงบันแถลงของประตู พบปรากฎอีกครั้งที่ประตูของผนังสกัดหลังของอุโบสถวัดมเหยงค์ ลักษณะที่เหลืออยู่แสดงรูปแบบที่สืบทอดมาจากซุ้มทรงบันแถลงของวัดบรมพุทธาราม เป็นที่น่าแปลกว่าได้รับความนิยมน้อยกว่าซุ้มทรงยอดปราสาท ทั้งที่หน้าบันของพระอุโบสถขนาดใหญ่จะมีการประดับด้วยเครื่องลำยองคือมีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ อันมีความสำคัญ แต่เมื่อมาอยู่ในซุ้มทรงบันแถลง กลับไม่ค่อยมีความสำคัญและไม่ปรากฎเป็นที่นิยม
ลวดลายประดับภายในซุ้มทรงบันแถลง
หน้าบันของซุ้มทรงบันแถลงทางขวาของประตูประธาน ยังปรากฎลวดลายปูนปั้นอยู่บ้าง (ภาพลายเส้นที่6) มีลักษณะทำเป็นลายก้านขด มีก้านแยกม้วนออกเป็นวง มีใบไม้ซีกและลายกระหนกซ้อนหุ้มก้าน ปลายก้าน น่าจะออกช่อคล้ายหางโตประกอบอยู่ด้วย ถึงแม้จะไม่ปรากฎเพราะของเดิมได้หลุดร่วงลงหมดแล้ว (ภาพลายเส้นที่7) อาจสังเกตได้จากหน้าบันวัดชัยวัฒนาราม (ภาพที่8) ที่บางส่วนน่าจะให้อิทธิพลกับวัดบรมพุทธาราม และลวดลายประดับหน้าบันของวัดชัยวัฒนาราม เป็นลายก้านขด มีใบไม้ซีก ซ้อมหุ้มก้าน ปลายก้านออกช่อคล้ายหางโต กับหน้าบันมนระยะหลังจากวัดบรมพุทธาราม มาคือหน้าบันศาลาการเปรียญด้านทิศตะวันตก (ภาพที่9) มีลักษณะแม้จะเป็นลายประดิษฐ์ในลักษณะลายก้านขด ปลายก้านก็ออกหางโต อันเป็นช่วงปลายของสมัยอยุธยาตอนปลายแล้ว หน้าบันผนังหน้าสกัดหน้าด้านตะวันออกของพระอุโบสถวัดเขาบันไดอิฐ (ภาพที่10) ก็มีลักษณะปลายก้านเป็นลายช่อหางโต
อย่างไรก็ยังมีข้อที่ชวนให้สงสัยเกี่ยวกับสมัยสมเด็จพระเพทราชา การสร้างอาคารในลักษณะที่มีอิทธิพลของตะวันตกและลวดลายปูนปั้นก็เป็นลายไทยที่มีอิทธิพลของยุโรปอยู่มากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ดังเช่น อาคารอุโบสถหรือวิหารวัดตะเว็ด (รูปที่10) หรือีกนัยหนึ่งจะกล่าวว่าลวดลายปูนปั้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา ออกไปแนวคนละรูปแบบกับปูนปั้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่เป็นความแตกต่างไปตามสายตระกูลช่าง และความนิยมของพระมหากษัตริย์ในสมัยนั้นๆ แต่ลายใบไม้ซีก-ซ้อน

26วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. สามร้อยเจ็ดปีบรมพุทธาราม. หน้า 22 - 23
27วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. สามร้อยเจ็ดปีบรมพุทธาราม. หน้า 22 - 23
แบบวัดบรมพุทธารามมีปรากฎอยู่ในช่วงระยะเวลาอันสั้นและจางหายไปสำหรับลายประดับภายในหน้าบันซุ้ม ของวัดบรมพุทธาราม ประกอบไปด้วยลายก้านขด และลายคล้ายช่อหางโต

ลายก้านขด
ก้านขด คือ ก้านม้วนขดเป็นรูปก้นหอย28 ก้านขดมีใบไม้ซีก ซ่อนหุ้มอยู่ตามจังหวะ ก้านขดค่อนข้างอวบ แต่ลักษณะการออกลายก้านขดของที่วัดบรมพุทธรามนี้ชวนให้นึกถึงหน้าบันปูนปั้นมณฑป บนยอดของพระฉาย สระบุรี สร้างในสมัยปลายของอยุธยาตอนกลาง ลักษณะลายเส้นก้านลายใหญ่มาก ตัวลายมีกนกสามตัวซึ่งแบ่งลายละเอียดแล้ว (ภาพที่11)
มีข้อสังเกตว่าปลายก้านขุดสมัยอยุธยาตอนปลาย จะเป็นรูปช่อกนกหรือหางลายโต29 และที่วัดบรมพุทธารามได้ให้ความสำคัญแก่รูปใบไม้ซีกซ้อนแทนกระหนก30 อันเป็นลักษณะที่รับมาจากลวดลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่ปรับเปลี่ยนให้เป็นลักษณะลายไทย อันเป็นลักษณะที่รับมาจากลวดลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์แต่ปรับเปลี่ยบให้เป็นลักษณะลายไทย อันเป็นลักษณะเด่นของลวดลายในสมัยสมเด็จพระเพทราชา และหลังจากนั้น กลับนิยมกระหนกอย่างมากมาย ดังที่วัดใหญ่สุวรรณาราม

ลายคล้ายช่อหางโต
ลักษณะที่คล้ายช่อหางโต มีปรากฎมาก่อนแล้วที่วัดชัยวัฒนารามอันมีวิวัฒนาการมาก่อนโดยมีต้นเค้ามาจากรูปดอกไม้31 ในศิลปะจีน ช่อคล้ายหางโตน่าจะเกี่ยวข้องกับลายรูปดอกไม้ด้วย อันได้แก่ ดอกโบตั๋น ที่ปรากฏบนภาพลายเส้นบนแผ่นหินชนวน ในมณฑปวัดศรีชุม32 ซึ่งรายละเอียดของดอกไม้ทำให้ พอจะทราบแนวทางของการคลี่คลายที่แตกต่างกัน
สำหรับลายคล้ายช่อหางโตของที่วัดพุทธาราม เป็นช่อทรงพุ่ม (ลายเส้นที่8) กลางพุ่มมีรูปกระจังอย่างเด่นชัด และสมัยหลังจากนั้นลงมา ลายคล้ายช่อหางโต ที่จำหลักไม้ของศาลาการเปรียญวัดใหญ่สุวรรณาราม ลายคล้ายช่อหางโตของกลีบที่หุ้มซ้อนกัน (ภาพลายเส้นที่9-10) แต่ลายที่ปั้นด้วยปูนของหน้าบันพระอุโบสถด้านทิศตะวันออก มีลายที่ละเอียดยิบยับมากกว่า (ภาพลายเส้นที่11) อันเป็นเหตุผลที่เกิดจากวัสดุที่ใช้

28สันติ เล็กสุขุม. ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย ตอนปลาย (พ.ศ. 2172 – 2310) .หน้า 58
29สันติ เล็กสุขุม. ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ. 2172 – 2310) .หน้า 58


รูปแบบของหน้าต่างและการประดับ
หน้าต่าง
ทำลักษณะเดียวกับประตูรอง คือ กรอบประตูเรียงซ้อนกันสองชั้น ทำซุ้มบันแถลงลดชั้น ตัวลำยองไม่ทำหลายโค้งแบบประตูรอง อาจเป็นระเบียบหรือความนิยมอย่างหนึ่งสำหรับกรอบซุ้มของหน้าต่าง33
การประดับทรงปีกผีเสื้อ แม้ที่ตึกพระเจ้าเหานารายณ์ราชนิเวศน์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ไม่พบว่ามีการทำรายละเอียดไว้ใน (ภาพที่13) ในสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ ที่วัดกุฏีดาวก็ไม่พบการทำรายละเอียดไว้เช่นกัน ดังนั้นเป็นได้ว่าที่ปีกผีเสื้อขอที่วัดบรมพุทธารามอาจจะไม่มีการทำรายละเอียดไว้ภายใน และการประดับลวดลายไว้ภายในปีกผีเสื้ออาจสิ้นสุดในสมัยพระเจ้าปราสาททอง ที่วัดชัยวัฒนารามก็ได้ เป็นที่น่าสัเกตุว่าลายในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองนั่นเริ่มเป็นกนกแล้วโดยสมบูรณ์ 34
ที่ซุ้มหน้าต่างด้านทิศตะวันออกอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ปรากฏการประดับกระจังเจิมเหนือหน้ากระดานบนกรอบหน้าต่าง (ภาพลายเส้นที่12) สำหรับการประดับกระจังเจิมคงเริ่มมีหรือนิยมกันมากในสมัยสมเด็จพระนารายณ์และพบเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 35 พื้นหน้าบันไม่มีลายปูนปั้นแต่มีร่องรอยของการทาสีแดง
ที่เสากรอบหน้าต่างมีการประดับแบบเดียวกับเสากรอบประตู คือ ชุดลวดบัวบน ประจำยามอก และชุดลวดบัวล่าง
ชุดลวดบัวบน ของหน้าต่างประกอบจากชั้นต่างๆ เช่นเดียวกับชุดลวดบัวบนของประตู
ชุดลวดบัวล่าง ทำเช่นเดียวกับชุดลวดบัวบน แต่กลับบนลงล่าง
ประจำยามอก หน้าต่างบางช่องยังปรากฎการประดับลายประจำยามที่กลางเสา มีกาบบน และกาบล่าง การประดับลายกาบกระจงคู่ (ภาพที่ 14) กาบใหญ่ประกบที่สันนอกของเสา ต่อเนื่องกับกาบเล็กที่สันในของเสากาบกระจังคู่ที่วัดบรมพุทธาราม มีลักษณะแตกต่างกับกาบไผ่ในสมัยสมเด็จ



30สันติ เล็กสุขุม, ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2172-2310) หน้า 61.
31น.ณ ปากน้ำ. หน้าบันเอกลักษณ์ศิลปะสถาปัตยกรรมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ. 2544. หน้า 18
32สันติ เล็กสุขุม. ลวดลายปูนปั้นแบบอยุธยาตอนปลาย (พ.ศ.2172 - 2310) .หน้า 73
34วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. สามร้อยเจ็ดปีบรมพุทธาราม. หน้า 19-20.
35ประชุมพงศาวดารภาคที่ 63 . เรื่องกรุงเก่า. พระนครฯ : คุรุสภา, 2512. หน้า 63.
พระนารายณ์ (ภาพลายเส้นที่ 11 - 13) เพราะที่วัดบรมพุทธารามมีเนื้อที่มากกว่าจึงทำกาบทำกาบกระจังคู่ 36 สันติ เล็กสุขุม ยังได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าการแบ่งลายภายในอาจเป็นงานของช่างฝึกหัดหรืองานซ่อมในสมัยหลัง ส่วนประจำยามอกแบ่งออกเป็นสี่กลีบมีการแบ่งรายละเอียดเล็กน้อย (ภาพลายเส้นที่ 14) ที่มีการพัฒนา ขึ้นมาบ้างจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ที่ประจำยามอกไม่มีรายละเอียดคงเป็นเพียงการแบ่งสีกลีบธรรมดา (ภาพที่ 15)

หลังจากงานประดับกาบกระจังคู่ที่วัดบรมพุทธารามแล้วปรากฎว่ากาบไผ่กลับมีความนิยมมากกว่าอาจเนื่องจากยิ่งระยะหลังลงมาเสามีความแบบบางมากขึ้น การประดับกาบไผ่ดูจะเหมาะสมกว่า และปรากฏรูปทรงของกาบไผ่ยืดสูงขึ้น ทำให้กาบไผ่มีความสำคัญมากขึ้น หรือเนื่องจากเพื่อความเหมาะสมกับเสาที่แบบบางมากขึ้น ดังเช่นงานปฏิสังขรณ์ ที่พระวิหารหลวงของวัดพระราม และน่าจะเป็นเค้าให้กับกาบพรหมศรที่ได้รับความนิยมอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ (ภาพลายเส้นที่ 15)

ฐานสิงห์รองรับเสากรอบหน้าต่าง
ฐานสิงห์
เป็นฐานสิงห์แบบสองตอน ทรงของขาสิงห์มีรูปร่างที่ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมของหน้าต่าง หลังสิงห์ ของฐานชุกชีในเมรุวัดชัยวัฒนารามกลายเป็นบัวหลังสิงห์ ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ จนถึงวัดบรมพุทธารามและจะสืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ในสมัยพระนารายณ์ การประดับลวดลายที่ขาสิงห์ มีปรากฎเฉพาะงานจำหลักไม้ประดับธรรมมาสบุษบก ที่ล้วนมีลักษณะของวงโค้งประกอบอยู่ด้วย
ที่วัดบรมพุทธาราม มีการประดับลายกระจังที่กาบเท้าสิงห์ ลายสันนาคที่ครีบท้องและครีบน่องสิงห์ นมสิงห์ทำเป็นลายกระจัง (ภาพที่ 16) แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันของรายละเอียด เช่น ตัวกระจังที่วางอยู่เหนือหน้ากระดานบนของซุ้มชั้นแถลงเรียกกระจังเจิม (ภาพลายเส้นที่ 16) เมื่อมาอยู่ที่กาบเท้าสิงห์ เรียกกาบเท้าสิงห์ นมสิงห์ก็เรียก แต่ทั้งหมดนี้แม้จะอยู่ในกรอบสามเหลี่ยม แต่ก็มีลักษณะแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของพื้นที่ และอาจเป็นเงื่อนไขต่อการคลี่คลายของลักษณะลวดลายได้เช่นกัน



36 วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา. สามร้อยเจ็ดปีบรมพุทธาราม. หน้า 20-21.

ส่วนฐาน
ตัวพระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานปัทม์ลูกแก้วอกไก่ มีมุขโถงยื่นออกไปทั้งด้านและด้านหลัง มุขโถงตั้งอยู่บนฐานเชิงบาตรรองรับด้วยฐานสิงห์ รูปทรงของฐานพระอุโบสถโดยรวม มีลักษณะอ่อนโค้งแบบท้องสำเภา ที่นิยมกัยอย่างแพร่หลายในสมัยอยุธยาตอนปลาย 37 เช่นพระอุโบสถวัดกุฎีดาว 38 (ภาพที่ 17) และพระอุโบสถวัดสุวรรณดาราราม (ภาพที่

ส่วนฐานสิงห์มีการประดับลายปูนปั้น ฐานสิงห์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน (ภาพที่ 19) คือ
ส่วนบน เริ่มที่หน้ากระดานบน ถัดลงมาเป็นเส้นลวดและบัวหงาย จากนั้นเป็นเส้นลวดและท้องไม้ตามลำดับ
ส่วนล่าง ทำต่อเนื่องลงมาจากท้องไม้ ทำเป็นเส้นลวด ถัดจากเส้นลวดเป็นส่วนหลังสิงห์ ทำแนวโค้งไปยังเท้าสิงห์ ด้านหน้าของเท้าสิงห์เรียกว่าแข้งสิงห์ด้านหลังคือน่องสิงห์ ส่วนใต้หลังสิงห์เรียกท้องสิงห์ และสามเหลี่ยมระหว่างกลางคือนมสิงห์ 39
ฐานสิงห์ส่วนฐานของพระอุโบสถด้านหน้าและด้านหลัง ทำเป็นฐานสิงห์ 3 ตอน ด้านข้างทำเป็นฐานสิงห์ 2 ตอน (ภาพที่ 20) บัวหลังสิงห์ทำลาดลงคล้ายกลีบบัวคว่ำ เท้าสิงห์ประดับด้วยกาบเท้าสิงห์ ทำเป็นลายกระจัง ท้องสิงห์และน่องสิงห์ทำครีบท้องและครีบน่องด้วยลายสันนาค หลังครีบท้องสิงห์ทำเป็นคิ้วสองเส้น เป็นแนวไปยังน่องสิงห์ และทำกนกที่ปลายคิ้วน่องสิงห์ ที่นมสิงห์ทำลายกนกและกระจัง ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกัน

ส่วนหลังคา
ได้ชำรุดหักพังหมดแล้ว แต่หลักฐานที่เหลืออยู่บางส่วนทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า หลังคาพระอุโบสถนั้น มีหลังคาปีกนกยื่นออกไปทางด้านหน้าพระอุโบส
ดังได้พบเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมของมุขโถงที่ยังเหลืออยู่ด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 1 ต้น ได้มีผู้สันนิษฐานถึงเสานี้ไว้ว่า เชื่อว่าเสาที่พบนี้ มีที่สอดเต้ารุมรับเชิงกลอนที่ขอบชายคาปีกนก และมีรอยของการประดับคานทวย 3 อัน ทั้งด้านหน้า ด้านข้าง และมุมกลาง 40
ส่วนหลังคาตัวพระอุโบสถน่าจะเป็นหลังคา ซ้อนกันสองชิ้น เนื่องจากฝากผนัง ด้านข้างพระอุโบสถมีร่องรอยการประดับคานทวยต่างระดับกัน (ภาพที่ 21) ดังนั้นหลังคาของพระอุโบสถจึงเป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชิ้น (ภาพลายเส้นที่ 17) คล้ายกับหลังคาพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ (ภาพที่ 22) และที่วัดเกาแก้วสุทธาราม


ภาพจิตรกรรมภายในพระอุโบสถ
จากหลักฐานที่หลงเหลืออยู่พอจะสันนิษฐานได้ว่าในอดีตที่ฝาผนังพระอุโบสถคงจะมีภาพจิตรกรรมหรือลายเขียนสีเพราะปรากฎร่องรอยของลายเขียนสีที่ผนังข้างกรอบ หน้าต่างเกือบทุกช่องลบเลือนมากแล้ว แต่ยังพอจะจับเค้าได้ว่า เขียนเป็นลายโคมทรงข้าวบิณฑ์ก้านแย่ง 41 (ภาพลายเส้นที่ 18)

ลายโคมจะมีความสำคัญอยู่ที่ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แล้วจึหาเส้นช่องไฟเป็นโคมก้านแย่งให้ขนานกับทรงรูปเพื่อแบ่งจังหวะลาย
ลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ก้านแย่งนี้จะเขียนอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมลายของกรอบเป็นลาย
หน้ากระดาน ประกอบด้วยลายประจำยามก้ามปูสลับลายดอกกลมแปดเหลี่ยม ลายลักษณะนี้ มีปรากฎในจิตกรรมฝาผนังของพระอุโบสถ วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี ระบุศักราช พ.ศ.2277
ดังนั้น ภาพเขียนจิตรกรรมนี้ อาจเขียนขึ้นในคราวสมเด็จพระเจ้าบรมโกศได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ ซึ่งในครั้งนั้นโปรดให้ซ่อมวัดนี้ และทำให้บานประตูประดับมุกติดประตูพระอุโบสถเพิ่มขึ้น 42
นอกจากนั้นยังปรากฏลายเขียนสีที่ผนังกรอบประตูด้านหลังพระอุโบสถ แถลงเลือนมากเห็นเพียงสีแดง สีเขียว และสีดำ











41วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา สามร้อยเจ็ดปีบรมพุทธาราม หน้า 24
42เทวาภินิมมิต, พระ. สมุดตำราลายไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์นครเษมบุ๊คสโตร์. 2517 หน้า 65
สรุป
วัดบรมพุทธารามเป็นวัดที่มีความสำคัญ สร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา ลักษณะสถาปัตยกรรมใช้ระบบ ผนังรับน้ำหนักเครื่องบนหลังคา
พระอุโบสถวัดบรมพุทธาราม และวัดกุฎีดาวเป็นตัวอย่างของสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่ได้รับการปฏิรูป โดยรับอิทธิพลจากยุโรป
ลวดลายประดับก็เป็นแบบที่รับรูปแบบลายใบไม้ซีก-ซ้อน ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ อนึ่งว่าลายประดับในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มีความเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของศิลปะภายนอกมากแต่ที่วัดบรมพุทธารามลายประดับยังคงสืบทอดลักษณะลายมาจากศิลปะอยุธยาตอนกลาง และรับรูปแบบจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นำมาปรับให้เป็นรูปแบบของศิลปะไทยในที่สุด ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็นับได้ว่าป็นปัจจัยในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของงานศิลปะ ความนิยนชมชอบในศิลปะของประเทศต่าง ๆของพระมหากษัตริย์ก็มีผลกับงานศิลปะเช่นกัน สำหรับลายประดับในสมัยสมเด็จพระเพทราชาจากการตรวจสอบแล้วสามารถที่จะสรุปได้ว่าลวดลายและสถาปัตยกรรมบางส่วนรับรูปแบบสืบทอดมาแต่ก็มีการปรับปรุงจนเป็นแบบของตัวเอง นับได้ว่ารูปแบบศิลปกรรมบางส่วนน่าจะเป็นต้นเค้าให้กับศิลปะในสมัยหลังจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2550 17:01:52 น.
Counter : 1456 Pageviews.  

วัดมหาธาตุวรวิหาร : โบราณสถานระดับชาติ





พระปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี

วัดมหาธาตุวรวิหาร : โบราณสถานระดับชาติ
โดย อ.กานต์ทิตา

วัดมหาธาตุวรวิหารราชบุรี ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดสำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัด เป็นวัดสร้างมาแต่ครั้งโบราณ ที่ยังพบร่องรอยหลักฐานทางด้านศิลปกรรมอันสะท้อนถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมสำคัญแต่ครั้งอดีตอยู่มาก กรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนศาสนสถานแห่งนี้ให้เป็นโบราณสถานระดับชาติ

การขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 74 วันที่ 8 มีนาคม 2478 (ศิลปากร,กรม:2519) โดยมีศิลปะโบราณวัตถุสถานจำนวน 7 รายการดังนี้ 1. พระปรางค์ 2. ระเบียงคต 3. พระวิหารนอกพระระเบียงคต 4. กำแพงแก้ว 5. พระมณฑป 6. เจดีย์รายหน้าพระมณฑป 7. พระอุโบสถ
พระปรางค์ องค์พระปรางค์ก่อด้วยอิฐฐานก่อด้วยศิลาแดง สูงประมาณ 30 ม. วัดเส้นผ่าศูนย์กลางกว้างประมาณ 15.00 ม. ตั้งอยู่บนฐานก่อด้วยแลงรูปสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 33.00 ม. ที่ฐานนี้มีปรางค์ทิศอยู่ทางด้านเหนือ ด้านใต้และด้านตะวันตก ส่วนด้านตะวันออกเป็นบันไดขึ้นไปสู่ช่องคูหาที่เข้าไปภายในองค์ปรางค์ และมีมุมด้านเหนือและใต้ของบันไดในอดีตมีเจดีย์อยู่มุมละข้าง ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่า (ภาพที่) ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน รอบฐานพระปรางค์เป็นลานกว้างประมาณ 6 ม. ต่อจากลานเป็นระเบียงหรือวิหารคดล้อมรอบพระปรางค์ มีพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่โดยรอบ ที่วิหารคดด้านตะวันออกมีประตู 2 ประตู เป็นทางออกไปสู่บริเวณภายนอก ตัวองค์พระปรางค์ประธานนั้น แม้สิ่งประดับประดา เช่น รูปปั้น และกลีบขนุนสมัยลพบุรีทางโบราณคดีกำหนดอายุ ว่าเป็นแบบที่เริ่มสร้างแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 15-16 (ศิลปากร,กรม:2519:13) เป็นต้นมา
ปรางค์ที่สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมเขมร นิยมทำด้วยศิลาแลง ส่วนปรางค์วัดมหาธาตุราชบุรี โดยเฉพาะองค์พระปรางค์ก่อด้วยอิฐ ฐานก่อด้วยศิลาแลง จึงเป็นไปได้ว่ามีการก่อทับของเดิมที่อาจหักพังลงในสมัยต่อมา และอาจสร้างขึ้นในช่วงสมัยเดียวกับภาพเขียนจิตรกรรมภายในคูหา ก็เป็นได้
จิตรกรรมภายในคูหา จัดเป็นของสำคัญอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าทั้งด้านศิลปะ ด้านโบราณคดี และด้านศาสนา เป็นภาพจิตรกรรมที่นักวิชาการระบุว่าเป็นจิตรกรรมสมัยอยุธยา (ศิลปากร,กรม:2519:14) ปัจจุบันลบเลือนไปมากแล้ว
ระเบียงคต เป็นระเบียงล้อมรอบพระปรางค์ มีพระพุทธรูปสมัยต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่โดยรอบ ส่วนมากทำด้วยหินทรายสีชมพู ระเบียงด้านทิศตะวันออกมีประตู 2 ประตู เป็นทางออกไปสู่บริเวณลานภายนอก เพื่อไปพระวิหารหลวง
พระวิหารนอกพระระเบียงคต หรือพระวิหารหลวง อยู่ด้านนอกพระระเบียงคตด้านตะวันออก เป็นพระวิหารหลวง มีมาแต่สมัยทวารวดี เรียก วิหารเก้าห้อง มีมุขเด็จ ซึ่งน่าจะใช้เป็นที่ออกนั่งของเจ้าเมืองผู้เป็นประธานในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แท่นถือน้ำพิพัฒน์สัตยา มีมาแต่สมัยอยุธยา ตั้งอยู่หน้าพระวิหารหลวง ปัจจุบันได้รับการบูรณะไปมากจนไม่ทราบว่าเป็นลักษณะเดิมหรือไม่
พระวิหารหลวงของเดิมเหลือแต่พื้นส่วนฐาน ยาว 35.00 ม. กว้าง 12.00 ม. ภายในพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยา 2 องค์ ตั้งหันพระปฤษฏางค์เข้าหากัน เรียกว่า พระมงคลบุรี พระศรีนัคร์ หันหน้าสู่ทิศตะวันออก อีกองค์หนึ่งหันหน้าสู่ทิศตะวันตก การหันหลังให้กัน ความหมายคือ อาราธนาให้ช่วยระวังภัยพิบัติหน้าหลัง เรียกพระรักษาเมือง ตามความเชื่อของคนสมัยอยุธยา
ส่วนทางด้านเหนือและใต้ของวิหารหลวง มีวิหารน้อยขนาดยาง 17.00 ม. กว้าง 11.00 ม. อีกด้านละหลัง หลังทางด้านเหนือ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอยุธยา 2 องค์ ตั้งหันพระปฤษฏางค์เข้าหากันเช่นอย่างในวิหารหลวง แต่หลังทางด้านใต้มีเพียงองค์เดียว
ในรายงานการสำรวจของกรมศิลปากรได้สันนิษฐานไว้ว่า วิหารหลวงกับวิหารน้อยทั้ง 3 นี้ หลังหนึ่งหลังใดอาจเป็นพระอุโบสถก็ได้ แต่ยากที่จะชี้ได้แน่นอน เนื่องจากไม่เคยตรวจค้นพบพัทธสีมาหรือลูกนิมิต
ห่างจากวิหารทั้ง 3 หลังนี้ออกไปใกล้มุมกำแพงแก้วด้านตะวันออก มีวิหารน้อยสร้างขวางสกัดอยู่มุมละหลัง เหลือแต่พื้นฐาน และมีพระพุทธรูปหินทรายสีแดงสมัยอยุธยาขนาดใหญ่ ประดิษฐานอยู่หลังละ 3-4 องค์ ปัจจุบันวิหารน้อยทั้ง 2 หลัง ได้สร้างขึ้นใหม่ในตำแหน่งเดิม






กำแพงแก้ว

กำแพงแก้ว ล้อมรอบบริเวณพระปรางค์ ด้านเหนือและด้านใต้ยาวด้านละ 158.00 ม. ด้านตะวันออกและตะวันตกด้านละ 86.50 ม. ตรงครึ่งหน้าก่อด้วยศิลาแลง มีทับหลังเป็นรูปใบเสมาสร้างด้วยหินทราบสีชมพู เชื่อว่าสร้างมาแต่เนื่องในวัฒนธรรมเขมร ครึ่งหลังก่อด้วยอิฐเป็นศิลปะอยุธยา แรกทีเดียวคงก่อด้วยศิลาแลงโดยรอบ ภายหลังอาจถูกรื้อขนออกไปเสีย มิใช่เป็นการพังทลาย ซึ่งหากเป็นเพราะพังลงท่อนแลงเหล่านั้นก็คงจะมีทับถมเป็นแนวอยู่ตลอดบริเวณกำแพง เมื่อกำแพงเดิมถูกรื้อขนออกไปแล้ว ภายหลังจึงซ่อมเสริมได้ด้วยอิฐ ส่วนที่ก่อศิลาแลงนี้สูง 2.50 ม. หนา 1.0 ม. ทับหลังกำแพงทำด้วยหินทายสีชมพู จำหลักเป็นรูปใบเสมา ท่อน ๆ หนึ่งทำเป็นใบเสมาติดกันมากบ้างน้อยบ้าง แต่ละใบเสมาจำหลักเป็นพระพุทธรูปปางสมาธินั่งในซุ้มกระจังเรือนแก้ว ลักษณะที่พบมี 2 แบบ แบบที่หนึ่งทำเป็นรูปซุ้มกระจังเรือนแก้ว อีกแบบหนึ่งทำเป็นรูปซุ้มกระจังเรือนแก้วมียอดบัวตูมแบบหลังนี้พบเพียง 2 อันเท่านั้น

พระมณฑป ตั้งอยู่ด้านหน้าเยื้องมาทางใต้ของพระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีโครงสร้างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานชั้นล่างเป็นฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสก่อด้วยศิลาแลงทั้งหมด สภาพของฐานชั้นล่างชำรุด ปูนปั้นฉาบผิวนอกชำรุด ต่อจากฐานเหลี่ยมชั้นล่างขึ้นไปเป็นฐานบัวหงาย ก่อด้วยอิฐฉาบปูน ฐานชั้นนี้ย่อมุมไม้ยี่สิบ ฐานบัวหงายรองรับชั้นฐานสิงห์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำและลูกแก้วอกไก่ ขึ้นไปเป็นชั้นบัวหงายและชั้นหน้ากระดานทั้งหมดย่อมุมไม้ยี่สอง หน้าฐานด้านทิศตะวันออกมีบันไดทางขึ้น 2 ทาง ส่วนผนังมณฑปด้านนอกก่ออิฐถือปูนย่อมุมไม้ยี่สิบ บัวเชิงของผนังย่อมุมประดับลวดลายปูนปั้น ส่วนย่อมุมมีกาบพรหมศร บัวรัดเกล้าประดับลายปูนปั้นลายใบไม้และกระจังเปลว เครื่องบนหลังคาชำรุดพังหมดแล้ว








พระมณฑป

ด้านทิศเหนือ ใต้ และตะวันตก เจาะช่องหน้าต่างตรงกลางด้านละ 1 บาน ซุ้มประตูหน้าต่าง ด้านนอกเป็นซุ้มมงกุฎประดับลายปูนปั้นลายตาข่าย กรอบประตูหน้าต่างเป็นกรอบไม้แต่พังชำรุดอีกเช่นกัน
ภายในมณฑป ผนังด้านในย่อมุมไม้สิบสอง ผนังอาคารรองรับเครื่องบนหลังคาก่ออิฐสอบเข้าหากัน แต่พังชำรุดเป็นโพรง ฝาผนังทั้ง 4 ด้านมีจิตรกรรมตกแต่งฝาผนัง ซึ่งได้ลบเลือนเกือบหมดแล้ว และการพังทลายของเครื่องบนหลังคา ก็เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ภาพเขียนเสียหายเป็นอย่างมาก ผนังด้านทิศตะวันออก เหนือกรอบประตูมีรอยร้าวตลอดผนัง นอกจากจิตรกรรมแล้วภายในยังพบรอยพระพุทธบาททำด้วยหินทรายสีชมพู วางอยู่ตรงกลางอันเป็นโบราณวัตถุที่อำนวยประโยชน์แก่การศึกษาประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี 1 ชิ้น
จากสถาปัตยกรรมภายนอกที่พบรวมทั้งลวดลายปูนปั้นประดับที่มีเค้าลักษณะออกไปทางรัตนโกสินทร์แล้ว ทำให้มีผู้สันนิษฐานกันว่าพระมณฑปนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อคราวที่ย้ายเมืองราชบุรีมาอยู่ฝั่งตะวันตกอีกครั้ง
เจดีย์รายหน้าพระมณฑป เป็นเจดีย์ 5 องค์ ตั้งบนฐานไพทีเดียวกันเหนือ-ใต้ เจดีย์องค์ที่ 1, 3, 4, 5 เป็นเจดีย์ทรงกลมก่อนอิฐถือปูน ฐานบัวลูกแก้ว 3 ชั้น องค์ระฆังทรงกลม บัลลังค์ทรงสี่เหลี่ยม และปล้องไฉน ปลียอดอยู่ในสภาพชำรุด
ส่วนเจดีย์องค์ที่ 2 มีลักษณะที่แตกต่างจากเจดีย์ทั้งหมด คือ มีการก่อฐานใหม่สูงกว่าฐานไพทีเดิม ก่อพนักเป็นที่ประทักษิณ ฐานสูงย่อมุมไม้สิบสองถึงองค์ระฆัง เป็นฐานสิงห์สลับกับฐานบัวหงาย 3 ชั้น แข้งสิงห์เป็นปูนอั้นหน้าคนและหน้าสัตว์ ถัดไปเป็นบัวกลุ่มและองค์ระฆัง บัลลังค์ทรงสี่เหลี่ยมแข้งสิงห์ บัวเถาและปลียอด
เจดีย์ราย หน้าพระมณฑปนี้ มีผู้สันนิษฐานไว้ว่าเป็นที่บรรจุอัฐิของบุคคลสำคัญมาแต่โบราณ 15 ปัจจุบันอาจถูกรื้อถอนไปบ้าง
พระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระประธานสมัยอยุธยา ฝาผนังตกแต่งด้วยภาพภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นใหม่ ตัวพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน ขนาดยาว 6 ห้อง กว้าง 3 ห้อง มีมุขต่อออกทางด้านหน้า ฐานอาคารสูงและตกท้องช้างเป็นชั้นฐานสิงห์ ผนังด้านข้างไม่มีเสาอิง มีซุ้มหน้าต่าง 6 ซุ้ม เป็นซุ้มเรือนแก้วประดับลายปูนปั้นเรียบ ๆ ที่ฐานหน้าต่างไม่มีการตกแต่งด้วยลายปูนปั้นแข้งสิงห์ การไม่ปรากฏของแข้งสิงห์ที่ฐานหน้าต่างเช่นนี้พบได้น้อยมาก และเป็นแบบที่นับว่าพิเศษ
ใบเสมา รอบพระอุโบสถประดิษฐานในซุ้มมงกุฎ ฐานสิงห์ ซึ่งก็น่าจะเป็นใบเสมาเมื่อคราวบูรณะครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน ด้านนอกระเบียงแก้วด้านหน้าทางด้านทิศเหนือ มีซุ้มใบเสมาหินทรายสีชมพูประดับอยู่
รอบพระอุโบสถก่อกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนไม่สูงมาก ย่อมุม 8 ตั้งเสาหัวเม็ด ซุ้มประตูด้านหน้าทรงจัตุรมุขยอดปรางค์ ประตูด้านทิศเหนือและใต้ก่อรูปสามเหลี่ยมแบบตะวันตก กำแพงแก้วด้านหลังไม่มีประตู
สกัดด้านหน้า ฐานก่อตรง เจาะประตูทางเข้า 2 ช่อง ซ้าย - ขวา ซุ้มประตูประดับลายปูนปั้นแบบเดียวกับซุ้มหน้าต่าง บานประตูเขียนลายรดน้ำ ด้านหน้ามีพระพุทธรูปสำริดปางลีลานูนสูงปิดทอง
สกัดด้านหลัง ฐานก่อตรงไม่ตกท้องช้าง เจาะประตูตรงกลาง 1 ช่อง ซุ้มประตูประดับลายแบบเดียวกับหน้าต่าง มีบันไดทางขึ้นด้านนี้ 2 ทาง
หลังคา ทรงจั่วลด 2 ชั้น ผืนหลังคา 3 ตับ มุงด้วยกระเบื้องหางมนสีแดง เหลืองและเขียว หน้าบันปูนปั้นลายดอกไม้ สำหรับลวดลายภายในหน้าบัน มีลักษณะของปูนปั้นเป็นลวดลายในแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้น สำหรับส่วนฐานของพระอุโบสถ และจำนวนหน้าต่างรวมถึงระบบต่าง ๆ ยังเป็นไปในแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ซึ่งลักษณะนี้แสดงให้เห็นได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้เดิมน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่สำหรับช่วงบนของพระอุโบสถที่มีลักษณะแบบรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น น่าจะเกิดจากการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทำให้รูปแบบของพระอุโบสถหลังนี้เป็นไปในลักษณะผสมผสานของศิลปะถึง 2 แบบ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ซุ้มประตูของกำแพงแก้ว มีลักษณะคล้ายกับซุ้มประตูที่อยู่ภายในภาพเขียนจิตรกรรมบนผ้า ที่ประดับอยู่ภายในหอฉันของวัด ซึ่งภาพเขียนเหล่านี้มีการใช้สีและลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบเดียวกับภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดคงคาราม ทำให้ยิ่งเสริมได้ว่าซุ้มประตูกำแพงแก้วนี้น่าจะสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และครึ่งบนของพระอุโบสถนี้ก็น่าจะเป็นงานคราวบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ด้วยเช่นกัน











เจดีย์รายหน้าพระมณฑป พระอุโบสถ

การอนุรักษ์โบราณสถาน
วัดมหาธาตุวรวิหารแห่งนี้มีความสำคัญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยตั้งแต่ครั้งอดีต ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวไทยทุกคน ต้องช่วยกันบำรุงรักษาอย่าได้ทำลาย และเมื่อไปเที่ยวชมโบราณสถาน ไม่ควรที่จะทิ้งขยะและสิ่งต่างๆ ที่จะเป็นการทำลายโบราณสถานได้ ไม่เพียงแต่โบราณสถานแห่งนี้เท่านั้น โบราณสถานทุกแห่งเป็นสถานที่คนไทยทุกคนควรให้ความเคารพรักษาอย่าทำลาย.




 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2550 16:48:24 น.
Counter : 696 Pageviews.  

วัดมหาธาตุวรวิหารราชบุรี : โบราณสถานสำคัญของจังหวัด ก่อสร้างขึ้นในสมัยใด ?

( ภาพที่1: พระปรางค์วัดมหาธาตุวรวิหาร )



วัดมหาธาตุวรวิหารราชบุรี : โบราณสถานสำคัญของจังหวัด ก่อสร้างขึ้นในสมัยใด ?



ราชบุรี คือชื่อของจังหวัดที่อยู่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นแหล่งที่พบโบราณสถาน และโบราณวัตถุเนื่องในวัฒนธรรมครั้งอดีตอยู่เป็นจำนวนมาก วัดมหาธาตุ ก็เป็นวัดสำคัญอันดับหนึ่งของจังหวัด ที่มีโบราณสถานขนาดใหญ่และพบโบราณวัตถุมากมาย เป็นวัดสร้างมาแต่โบราณกาลคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดราชบุรี ไม่ปรากฏบันทึกประวัติเป็นหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด พบเพียงร่องรอยหลักฐานทางด้านศิลปกรรมที่องค์พระปรางค์ประธานของวัด อันสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมสำคัญ ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียน ศาสนสถานแห่งนี้ให้เป็นโบราณสถานระดับชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 74 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2478 ชื่อทางราชการของวัด คือ วัดมหาธาตุวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เมื่อ พ.ศ. 2500 ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองราชบุรี ทางด้านทิศเหนือของศาลากลางจังหวัดราชบุรี ห่างจากตัวศาลากลางจังหวัดประมาณ 1 ก.ม. ห่างจากลำน้ำแม่กลอง 200 เมตร ตั้งอยู่เลขที่ 7 ถนนเขางู ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี มีเนื้อที่ทั้งหมด 161 ไร่

อาณาเขต ทิศเหนือ อยู่ระหว่างวัดท่าโขลง ทิศใต้ แนวกำแพงอยู่ริมคลองโรงช้างด้านวัดเขาเหลือ ทิศตะวันออก ติดแม่น้ำแม่กลอง ทิศตะวันตก ติดถนนสายเขางูบางส่วน

ศิลปะโบราณวัตถุสถาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน จำนวน 7 รายการดังนี้ 1. พระปรางค์ 2. ระเบียงคต 3. พระวิหารนอกระเบียงคต 4. กำแพงแก้ว 5. พระมณฑป 6. เจดีย์รายหน้าพระมณฑป 7. พระอุโบสถ

อายุสมัยและความสำคัญทางประวัติศาสตร์

ไม่มีบันทึกประวัติเป็นหลักฐานว่าวัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใด แม้จะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดก็ตาม แต่จากร่องรอยหลักฐานที่องค์พระปรางค์ประธานของวัด น่าจะสร้างสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ 15 – 16 ต่อมาเมื่อวัฒนธรรมเขมรเจริญขึ้น จึงได้มีการสร้างศาสนสถานที่เรียกว่าปราสาทในศิลปะเขมรซ้อนทับ จนกระทั่งราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ปราสาทที่สร้างคงหักพังลง จึงมีการสร้างปรางค์ใหม่ขึ้นซ้อนทับในช่วงต้นสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 และการสร้างครั้งนี้ก็น่าจะมีการเขียนภาพจิตรกรรมขึ้นภายในคูหาของปรางค์ประธานดังรูปแบบจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมที่ปรากฏปัจจุบัน(ภาพที่1) ซึ่งก็ได้มีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นไว้ว่าพระปรางค์ที่ปรากฏในปัจจุบันนั้น น่าจะเป็นการก่อสร้างทับอาคารเดิมของปราสาทแบบเขมร เนื่องจากทรวดทรงของพระปรางค์ ที่ปรากฏอยู่ขณะนี้มีลักษณะเพรียวกว่าปราสาทแบบเขมร อีกทั้งมีการย่อมุมและตกแต่งลวดลายปูนปั้นที่องค์เรือนธาตุและยอด ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของปรางค์ประธานมีบันไดและมุขยื่นออกมาด้านหน้าในลักษณะเดียวกับแผนผังขององค์พระปรางค์วัดพุทไธสวรรค์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแบบอยุธยาตอนต้น แต่สำหรับลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์ส่วนใหญ่ก็ได้ถูกซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนกลางมาแล้ว










( ภาพที่ 2 : ใบเสมาทับหลังกำแพง )



นอกจากนี้ยังพบหลักฐานทางศิลปกรรมอีกหลายอย่างอันสะท้อนให้เห็นอิทธิพลของวัฒนธรรมเขมรที่สำคัญ เช่น ใบเสมาทับหลังกำแพง(ภาพที่ 2) หรือในปัจจุบันนิยมเรียกว่าทับหลังกำแพงแก้ว สลักจากหินทรายสีชมพูเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิประทับนั่งอยู่ในซุ้มเรือนแก้วใบระกา วางเรียงต่อเนื่องกันไปตลอดแนวความยาวของกำแพงก่อด้วยก้อนศิลาแลงรอบองค์พระปรางค์ทั้งสี่ด้าน เป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันในศิลปะเขมรแบบบายน ซึ่งลักษณะแบบนี้นอกจากจะพบที่วัดมหาธาตุแล้ว ยังพบที่ปราสาทบันทายกเด็ย สร้างสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในประเทศกัมพูชา และพบในประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งคือที่เนินโคกพระอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา หรือแม้กระทั่งรูปครุฑยุดนาคสลักจากหินทรายสีแดงวางประดับราวบันไดทางเข้าระเบียงคตด้านทิศตะวันออก ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับรูปครุฑยุดนาคในศิลปะเขมรแบบบายนของกัมพูชา ส่วนโบราณวัตถุที่พบภายในบริเวณวัดและบริเวณใกล้เคียง ส่วนมากได้แก่พระพุทธรูปสมัยทวารวดี ทำด้วยหินแกรไนต์สลักอักษรเขียนว่า “เยธมฺมาฯ.” และพระพุทธรูปสมัยลพบุรี อู่ทอง อยุธยา ก็ได้นำมารวมเก็บไว้บริเวณระเบียงคตรอบพระปรางค์วัดมหาธาตุ ซึ่งการค้นพบโบราณวัตถุเหล่านี้ แสดงให้ทราบถึงอดีตของเมืองราชบุรีที่มีความเจริญมาตั้งแต่สมัยทวาราวดี และนอกจากนี้ ในรายงานการสำรวจของกรมศิลปากร เรื่องจิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดราชบุรี ชุดที่ 1 ก็ได้กล่าวอ้างบทความของเขียน ยิ้มศิริ ที่แปลจากบทความของศิลป์ พีระศรี ถึงพระปรางค์วัดมหาธาตุ จังหวัดราชบุรี ว่าเป็นโบราณสถาน ที่สร้างขึ้นตามรูปแบบของเขมร ราว พ.ศ. 1850 หรือ ค.ศ. 1300 หรือตามที่ปรากฏในศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ รัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา

ดังนั้นการก่อสร้างทับอาคารเดิมของพระปรางค์วัดมหาธาตุองค์ปัจจุบัน เมื่อสังเกตจากรูปแบบและลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบัน ก็น่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น โดยสังเกตได้จากที่ส่วนฐานขององค์พระปรางค์ทำจากศิลาแลงอันเป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้างปรางค์เนื่องในวัฒนธรรมเขมร แต่สำหรับส่วนบนมีการใช้อิฐในการก่อปรางค์ ซึ่งอิฐเป็นเทคนิคที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว อนึ่งในวัฒนธรรมเขมรแบบบายนนั้นไม่นิยมใช้อิฐในการก่อสร้างคงนิยมแต่ศิลาแลง



สรุป

พระปรางค์ที่วัดมหาธาตุวรวิหารนี้ เป็นโบราณสถาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากรให้เป็น ศาสนสถานระดับชาติ ที่มีหลักฐานทางด้านศิลปกรรมยืนยันถึงความเป็นเมืองอันรุ่งโรจน์เมื่อครั้งอดีต ตั้งแต่ทวารดี ลพบุรี จนถึงอยุธยาตอนต้น และพระปรางค์องค์นี้คงได้รับการซ่อมแซมด้านลวดลายปูนปั้นประดับรอบองค์อีกครั้งในสมัยอยุธยาตอนกลาง ซึ่งจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้นั้น ก็ยังต้องมีประเด็นอื่น ที่ต้องนำมาเสริม เพื่อสนับสนุนอีกมากก็จะนำมากล่าวเสริมในโอกาสต่อไป





อ้างอิง



ศิลปากร,กรม. “รายงานการสำรวจจิตรกรรมฝาผนัง จังหวัดราชบุรี ชุดที่ 1” งานอนุรักษ์จิตรกรรม

ฝาผนัง.กองโบราณคดี,2519

สุภัทรดิศ ดิศกุล,มจ. ศิลปะขอม เล่ม 2. กรุงเทพฯ,2514.




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2550 17:07:13 น.
Counter : 1114 Pageviews.  

 
 

aesthetic_kan
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




*อาจารย์กานต์*



[Add aesthetic_kan's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com