“การสังเกตพฤติกรรม” จัดเป็นหนึ่งในวิธีของการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่มีความสำคัญมาก ๆ เพราะเป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการแสดงออกหรือการกระทำของเด็กปฐมวัย และเป็นวิธีการที่คุณครูปฐมวัยจะต้องจับตาดูพฤติกรรมของเหล่าเด็กอนุบาลอย่างใกล้ชิด ต้องสังเกตเด็กตลอดเวลาอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องเฝ้ามองจากสถานการณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริง ๆ จากนั้นจึงค่อยบันทึกพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนไว้ตามที่เห็นและได้ยิน โดยห้ามใส่ความคิดเห็นส่วนตัวลงไปอย่างเด็ดขาด โดยจะต้องสังเกตให้ครอบคลุมทั้งพฤติกรรมทางร่างกาย อารมณ์จิตใจ สังคม และสติปัญญา เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพัฒนาและปรับปรุงพัฒนาการของเด็กปฐมวัย การสังเกตพฤติกรรมมีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 3 ส่วน คือ 1.สิ่งที่สังเกต 2.ตัวผู้สังเกต 3.การบันทึกการสังเกต การสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยนั้น คุณครูปฐมวัยจำเป็นต้องคำนึงถึงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1.ต้องจำกัดการสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยเป็นเรื่อง ๆ ไป 2.ต้องสังเกตแล้วแปลความหมายของพฤติกรรมนั้น ๆ ที่เด็กปฐมวัยแสดงออกมาให้ได้ 3.ต้องสังเกตให้ได้รายละเอียดอย่างครบถ้วนที่สุดเท่าที่จะทำได้ 4.ต้องมีการจดบันทึกข้อมูลอย่างถูกต้องแม่นยำ การสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ 1.การสังเกตแบบเป็นทางการ 2.การสังเกตแบบไม่เป็นทางการ การสังเกตแบบเป็นทางการ คือ การสังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอนตามแผนที่วางไว้ ข้อมูลการสังเกตที่คุณครูบันทึกลงในแบบบันทึกพฤติกรรมนี้จะช่วยให้คุณครูเข้าใจพฤติกรรมเด็กได้ดีขึ้น รู้ว่าเด็กแต่ละคนมีจุดเด่นตรงไหน หรือต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด การสังเกตแบบไม่เป็นทางการ คือ การสังเกตในขณะที่เด็กทำกิจกรรมประจำวันหรือเกิดพฤติกรรมที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้น การสังเกตแบบนี้จะช่วยให้คุณครูได้เห็นความสามารถเฉพาะอย่างของเด็ก จะช่วยให้คุณครูผู้สอนได้พิจารณาปัญหาของเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อลดปัญหาหรือส่งเสริมพัฒนาการของเด็กได้อย่างถูกต้อง และเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหรือพัฒนาการจัดกิจกรรมและประสบการณ์ของครูให้ดียิ่งขึ้น เคล็ดลับสำหรับการสังเกตพฤติกรรมของเด็กปฐมวัยเพื่อการประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัย ขั้นแรก : การเตรียมตัวก่อนสังเกต ในกรณีที่คุณครูยังไม่คุ้นเคยกับเด็ก ต้องเริ่มจากการพยายามเข้าหาเด็กและทำตัวให้คุ้นเคยกับเด็กก่อน อันจะเป็นผลดีเมื่อถึงเวลาทำการสังเกต ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่แท้จริงของตัวเด็กออกมาได้ อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม คือสมุดจดสำหรับการจดพฤติกรรมสำคัญที่จำเป็นต้องบันทึกในขณะที่ทำการสังเกต และอาจจะเตรียมเครื่องมืออื่น ๆ ที่ช่วยในการสังเกตให้พร้อม เช่น แบบสำรวจ แบบสังเกตพฤติกรรม แบบทดสอบ กล้องถ่ายรูป เป็นต้น ขั้นที่สอง : ลงมือสังเกต สังเกตตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ หรือสังเกตดูพฤติกรรมของเด็กไปเรื่อย ๆ ในขณะที่เด็กทำกิจกรรมประจำวันอย่างครอบคลุมให้ครบทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคม และด้านสติปัญญา เมื่อพบพฤติกรรมที่น่าสนใจก็บันทึกผลลงไป โดยขณะที่สังเกตจะต้องอยู่ใกล้ ๆ กับเด็ก เพื่อจะได้ยิน ได้เห็นพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออกมาอย่างชัดเจน และจะต้องสังเกตติดต่อกันระยะหนึ่ง และเว้นช่วงการสังเกตให้เท่ากันหรือใกล้เคียงกัน ขั้นที่สาม : จดบันทึกผลพฤติกรรมและตีความข้อมูลที่ได้มา จะต้องจดบันทึกผลทันทีที่สังเกตพฤติกรรมของเด็กแต่ละคนเสร็จ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ตรงกับพฤติกรรมจริงที่สุด หลังจากนั้นจะต้องมีการจัดระบบข้อมูลที่ได้จากการสังเกต และตีความข้อมูลก่อนจะนำผลการสังเกตไปใช้ อย่างไรก็ตามแต่พฤติกรรมของเด็กปฐมวัยเป็นการกระทำที่แสดงออกทั้งทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์จิตใจ และสังคมของเด็กปฐมวัย เพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมในสถานการณ์ต่าง ๆ มีทั้งพฤติกรรมภายนอกที่สามารถสังเกตเห็นได้ และพฤติกรรมภายในซึ่งไม่สามารถสังเกตได้ คุณครูปฐมวัยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องนำวิธีการและเครื่องมืออื่น ๆ มาประเมินพฤติกรรมของเด็กปฐมวัย เช่น การทำแบบทดสอบ การสัมภาษณ์ เป็นต้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ออกมา ไปบันทึกลงในแบบประเมินพัฒนาการเด็กปฐมวัยอันจะทำให้เกิดผลดีกับการส่งเสริมพัฒนาการให้กับเด็กปฐมวัยแต่ละคนให้ได้มากที่สุด
Create Date : 04 มกราคม 2564 |
Last Update : 4 มกราคม 2564 14:37:31 น. |
|
0 comments
|
Counter : 15243 Pageviews. |
|
|