หากจะพูดถึงการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในโรงเรียนอนุบาล แน่นอนว่าก็จะต้องนึกถึง “ การเล่น ” ขึ้นมาเป็นอันดับแรก พูดได้เลยว่า…การจัดกิจกรรมการเล่นสำหรับเด็กปฐมวัย นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการจัดกิจกรรมการเล่น จะเป็นการเสริมประสบการณ์ และ กระตุ้นพัฒนาการเด็กให้เด็กมี ความพร้อม ทั้ง ทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา เพื่อการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นต่อไป เด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ผ่านการเล่น “ เล่นคือเรียน ” “ เรียนคือเล่น ” โดยสามารถเล่นเพื่อการเรียนรู้ ผ่านกิจกรรมทั้งหมด 6 กิจกรรม ดังนี้ 1. กิจกรรมการเคลื่อนไหว และจังหวะ เป็นกิจกรรมที่จัดให้เหล่าเด็ก ๆ ปฐมวัยได้เคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างอิสระตามจังหวะ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เด็กได้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ รู้จังหวะและความคุมการเคลื่อนไหวของตนเองได้อีกด้วย 2. กิจกรรมการเสริมประสบการณ์ (กิจกรรมวงกลม) เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กปฐมวัยได้ฟัง พูด สังเกต คิด และปฏิบัติการทดลอง โดยจะมุ่งเน้นให้เด็กปฐมวัยได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ฝึกการทำงานและอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มทั้งกลุ่มย่อยและกลุ่มใหญ่ 3. กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยได้ปลดปล่อยจินตนาการผ่านการสร้างงานศิลปะต่าง ๆ เช่น การวาดภาพระบายสี การปั้น การพิมพ์ภาพ การพับ ตัด ฉีก ปะ และ ประดิษฐ์เศษวัสดุ อันจะช่วยส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และจินตนาการ เกิดความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อมือ และพัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตาให้กับเด็กปฐมวัยได้อีกด้วย 4. กิจกรรมเล่นตามมุม เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เล่นกับสื่อการเรียนการสอนและเครื่องเล่นได้อย่างอิสระ เช่น มุมบล็อก มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมธรรมชาติ มุมเครื่องเล่นสัมผัส เป็นต้น ซึ่งจะสนองตอบความต้องการตามธรรมชาติของเด็ก โดยเด็กอาจจะเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อยก็ได้ 5. กิจกรรมเล่มกลางแจ้ง เป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้ออกนอกห้องเรียนไปสู่บริเวณกลางแจ้ง เพื่อออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกาย และแสดงออกอย่างอิสระ โดยยึดเอาความสนใจ และความสามารถของเด็กแต่ละคนเป็นหลัก 6. กิจกรรมเกมการศึกษา เป็นกิจกรรมที่มีเกมเป็นสื่อการเรียนการสอน โดยเกมที่นำมาเล่นนั้นจะช่วยพัฒนาสติปัญญา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน ไม่ว่าเด็ก ๆ ปฐมวัยจะเรียนรู้ผ่านการเล่นจากกิจกรรมใดก็ตามทั้ง 6 กิจกรรมนี้ ก็จำเป็นที่ต้องมีสื่อการเรียนการสอนมาเป็นตัวกลางเพื่อช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัย ไม่ว่าจะเป็น หนังสือนิทาน เครื่องเสียง ภาพถ่าย ภาพยนตร์ ชอล์ก กระดานดำ การสาธิต การทดลอง เกม กิจกรรมต่าง ๆ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนถือว่าเป็นสื่อการเรียนการสอนทั้งสิ้น ซึ่งเราสามารถแบ่งสื่อการเรียนการสอนที่ใช้ในการพัฒนาเด็ก ได้เป็น สื่อที่ใช้ประกอบการจัดกิจกรรม ประสบการณ์, สื่อในมุมประสบการณ์ หรือศูนย์การเรียนรู้ และสื่อที่เป็นของเล่นที่เชื่อมโยงไปสู่ สะเต็มศึกษา (วิทยาศาสตร์/เทคโนโลยี/วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ประโยชน์ของสื่อการเรียนการสอน มีดังต่อไปนี้ - สื่อการเรียนการสอน ช่วยสร้างรากฐานที่เป็นรูปธรรมขึ้น ในความคิดของผู้เรียนได้
ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจในเนื้อหาบทเรียนได้ง่ายขึ้น เปลี่ยนสิ่งที่ซับซ้อนให้กลายเป็นเรื่องง่าย ช่วยให้เกิดความคิดรวบยอดในบทเรียนได้อย่างรวดเร็ว - สื่อการเรียนการสอนช่วยเร้าความสนใจของผู้เรียน
ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจเนื้อหาของบทเรียนที่ถูกนำเสนอผ่านทางสื่อการสอนได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดความสนุกสนานและไม่รู้สึกว่าการมาโรงเรียนเป็นเรื่องน่าเบื่อ ก่อให้เกิดทัศนคติที่ดีในการเรียน - สื่อการเรียนการสอนเป็นรากฐานในการพัฒนา การเรียนรู้ และช่วยความทรงจำ
เพราะผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่เป็นจริง จึงทำให้ผู้เรียนมีความทรงจำต่อสิ่งที่เรียนได้นาน และนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า - สื่อการเรียนการสอนช่วยให้ผู้เรียนมีพัฒนาการด้านความคิด
ทำให้สามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนทำการเรียนรู้ด้วยความกระตือรือร้นได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนจะเกิดปฏิสัมพันธ์ด้านการใช้ความคิดหรือกิจกรรมทางสมองอยู่ตลอดเวลา - สื่อการเรียนการสอนช่วยเพิ่มทักษะในการอ่าน และเสริมสร้างความเข้าใจในความหมายของคำใหม่ ๆ
เพราะผู้เรียนสามารถได้ยินเสียงและได้เห็นภาพควบคู่กันในกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้สามารถอ่านหนังสือได้เร็วขึ้น และเกิดการพัฒนาทักษะทางภาษาได้เป็นอย่างดี “สื่อการเรียนการสอน” จึงถือว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในระบบการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กปฐมวัยเกิดการเรียนรู้ที่ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริง
Create Date : 08 เมษายน 2564 |
Last Update : 8 เมษายน 2564 10:56:05 น. |
|
0 comments
|
Counter : 15416 Pageviews. |
|
|