Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
28 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
สามก๊กฉบับคนกันเอง ภาคหนึ่ง : ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด

[หนังสือเล่มอื่น]




สหายเคยอ่านสามก๊กกันบ้างไหม.. ถ้าเคย... อ่านกันกี่รอบแล้วล่ะ ?

พวกเรามักจะเคยได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ใครก็ตามที่อ่านสามก๊กจบครบสามรอบแล้วล่ะก็ จะกลายเป็นคนที่ไม่น่าคบหาไปเสีย ทั้งนี้ก็เพราะในสามก๊กนั้น จะเต็มไปด้วยตัวอย่างการใช้กลอุบายต่าง ๆ นานา มากมาย

สามก๊กฉบับมาตรฐานที่นิยมอ่านกัน ก็จะมีฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน), สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของวรรณ พัธโนทัย, สามก๊กฉบับสมบูรณ์.. หรือบางคนก็อ่านหนังสือแนววิเคราะห์ ที่รู้จักกันดีก็เช่น สามก๊กฉบับวณิพก ของยาขอบ สามก๊กฉบับนายทุน ของท่านคึกฤทธิ์ แล้วก็อีกหลายฉบับที่ข้าพเจ้าไม่ได้เอ่ยถึง ก็เพราะว่าไม่ได้สันทัดกรณี

ฉบับที่ข้าพเจ้าอ่านจบจริง ๆ ก็คือ สามก๊กฉบับคนขายชาติ ของ เรือง วิทยาคม (สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์) โดยอ่านได้ฟรีทาง internet ที่ website ของ Manager Online

แต่ข้าพเจ้าเพิ่งอ่านจบไปเพียงหนึ่งรอบเท่านั้นนะ ดังนั้นก็ยังพอจะคบหา (พาไปร่ำสุรา) กันได้อยู่ (ฮา...)



สำหรับ "สามก๊กฉบับคนกันเอง ภาคหนึ่ง : ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด" ที่จะมาแนะนำกันวันนี้นั้น ไม่ได้เป็นสามก๊กฉบับแบบที่เริ่มเล่าตั้งแต่เหตุการณ์กลียุค ขันทีกินเมือง ในรัชกาลของพระเจ้าเลนเต้ จนเกิดกรณีโจรโพกผ้าเหลืองขึ้น ไม่ได้เน้นในรายละเอียดของเหตุการณ์ในสามก๊กมาตีแผ่ยุทธวิธี ไม่ได้นำเสนอกลอุบายมาเปรียบเทียบวิเคราะห์ว่า ได้มีตัวอย่างการประยุกต์ใช้ในสมัยหลังอย่างไร

และ เป็นสามก๊กฉบับที่.. ไม่ได้อ่านยากเลยสักนิด (กลับรู้สึกอบอุ่นเป็นที่สุด)

เป็นหนังสือที่อ่านแล้วไม่ได้ต้องมาคิด อ้าง หา เหตุผลอะไรให้มันปวดหัว หากแต่ผู้อ่านจำต้องใช้ "ใจ" เข้าไป "รู้สึก" ตามที่คุณเอื้อ อัญชลี (ผู้เขียน) พยายามนำเสนอ

คุณเอื้อ อัญชลี เขียนวิเคราะห์บุคลิกตัวละครในสามก๊ก โดยเทียบกับเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของคุณเอื้อ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในครอบครัว เพื่อน ตัวละครอื่น ๆ ในหนังสือเล่มอื่นที่อ่าน หนังละครที่ดู

ยกตัวอย่างเช่น คุณเอื้อ อัญชลี เอา "ลิโป้" ไปเปรียบเทียบบุคลิกกับพระเอกการ์ตูนเรื่อง มาร์ส : หนุ่มนักบิด สาวนักโบก เปรียบเทียบ "ม้าเซ็กเทาว์" ของลิโป้ กับ มอร์เตอร์ไซค์ของหนุ่มนักบิดไปเสียได้ !!!

แต่ว่าก็ด้วยลีลาการเขียนในแบบนี้เอง ข้าพเจ้าจึงพอจะได้เห็นด้านดีของ "ลิโป้" ขึ้นมาบ้าง

แต่ก็แน่ละ ทุกคนมีด้านดีและด้านไม่ดีด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่เราจะใส่ใจด้านไหนของเขามากกว่ากัน ดังนั้น ด้วยสามก๊กฉบับคนกันเองนี้ เราจึงได้เห็นตัวอย่างที่ "น่ารัก ๆ" ของ "เตียวหุย" (ยาขอบยังบอกเลยว่า เตียวหุยคือคนชั่วช้าที่น่ารัก) โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้เขียนจะเสแสร้งแกล้งชม เพราะคุณเอื้อ เปรียบเทียบเตียวหุยกับ "คุณพ่อ" ของเธอเอง (ในแง่ความใจร้อนของท่าน) !!!



สามก๊กฉบับคนกันเองนี้ ที่จริงแล้วเป็นคอลัมน์ในมติชนสุดสัปดาห์ โดยเริ่มตีพิมพ์ตอนแรกในฉบับที่ 1250 ประจำวันที่ 30 กรกฎาคม - 5 สิงหาคม 2547 ซึ่งทุกวันนี้คุณเอื้อ ก็ยังเล่าสามก๊กในแบบฉบับ "คนกันเอง" มาให้แฟน ๆ ได้อ่านกันอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับ สามก๊กฉบับคนกันเอง เล่มที่แนะนำกันนี้ เป็นการรวบรวมบทความตั้งแต่ตอนที่ 1 จนถึงตอนที่ 46 มาเป็น ภาคหนึ่ง : ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด ซึ่งเป็นชื่อตอนของตอนที่ 3 ในบทนั้น คุณเอื้อได้เขียนไว้ว่า

...สำนวนที่ว่า "ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด" บอกถึงบางสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปง่าย ๆ แม้วันเวลาจะผ่านพ้น ส่วนใหญ่ในนิยายกำลังภายในจะใช้ในความหมายแทนความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันเลือนหาย...



ในชีวิตของเราที่ดำเนินไปอยู่ทุกวันนั้น เราได้พบปะรู้จักกับผู้คนมากมายหลากหลาย จะมีคนอยู่จำนวนหนึ่งที่เราค่อย ๆ ทำความรู้จัก สนทนาแลกเปลี่ยนเรื่องราวในประเด็นต่าง ๆ นานวันเข้าก็คุ้นเคยกัน รู้ตัวอีกทีก็คบเป็นสหายกันเสียแล้ว

จากคนไม่รู้จัก กลับกลายเป็น "คนกันเอง" ก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ดี น่าประทับใจขึ้นระหว่างกัน

สามก๊กฉบับคนกันเอง นี้ คุณเอื้อ อัญชลี ได้แรงบันดาลใจมาในการเขียนแต่ละตอนมาจาก "คนกันเอง" ในชีวิตประจำวันของเธอ แล้วนำมาเล่า (สู่กันอ่าน) ด้วยสำนวนที่เป็นกันเอง สนุก ชวนให้ติดตาม

ข้าพเจ้าชื่นชอบลักษณะการนำเสนอที่เป็นกันเองของคุณเอื้อ จึงได้ติดตามอ่าน "สามก๊กฉบับคนกันเอง" ในมติชนสุดสัปดาห์มาตลอด จนมาถึงฉบับพิมพ์รวมเล่มนี้ ก็ด้วยว่า ข้าพเจ้านับคุณเอื้อ อัญชลี (ผ่านการติดตามสามก๊กฉบับคนกันเอง) เป็นเสมือน "คนกันเอง" ในฐานะนักอ่านที่ประทับใจผลงานของผู้เขียน

ความรู้สึกคุ้นเคยกัน จากการอ่านงานเขียนแบบนี้นี่เอง ที่ทำให้ "นักอ่าน" ติดตามวรรณกรรมจาก "นักเขียน" ที่ตนชื่นชอบเรื่อยมา

หนังสือน่ารัก ๆ เล่มนี้ อ่านแล้วรู้สึกอบอุ่น มีชีวิตชีวา เป็นกันเองกับผู้อ่าน และที่สำคัญคือ อ่านได้มากกว่าสามครั้งก็ยังสามารถคบหาเป็นสหายกันได้อยู่





สามก๊กฉบับคนกันเอง
ภาคหนึ่ง : ขุนเขาไม่เปลี่ยน สายน้ำไม่ขาด

เอื้อ อัญชลี : เขียน
สำนักพิมพ์มติชน
พิมพ์รวมเล่มครั้งแรก : มีนาคม 2549
พิมพ์ครั้งที่สอง : เมษายน 2549
303 หน้า
ISBN 974-323-659-7







[หนังสือเล่มอื่น]


Create Date : 28 เมษายน 2550
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2551 18:41:09 น. 4 comments
Counter : 2643 Pageviews.

 
ชอบตั้งแต่เป็นคอลัมน์เลยค่ะ อ่านแล้วรู้สึกว่า อืม กันเองจริงๆ


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 28 เมษายน 2550 เวลา:20:05:23 น.  

 
ตามอ่านอยู่เป็นประจำในมติชนรายสัปดาห์ครับ


โดย: poser (poser ) วันที่: 29 เมษายน 2550 เวลา:23:52:20 น.  

 
พึ่งซื้อเล่มสองมา แต่หาซื้อเล่มหนึ่งไม่ได้แล้วฮับ

ต้องละเลียดอ่านทีละหน้ากลัวจะจบไว

คงต้องพลิกแผ่นดินหาเล่มแรกซะแล้ว


โดย: มึนดี IP: 58.147.36.33 วันที่: 5 ตุลาคม 2550 เวลา:13:20:57 น.  

 

ผมอ่านวรรณกรรม ตัว ORiGinal
ขอโทษที่ต้องเรียนตามตรง

ผมไม่ชอบฉบับ เอื้อ อัญชลี

ไม่ชอบฉบับคนขายชาติ ที่ เสียของ

อ่านแล้วเหมือนไม่ได้อ่าน 3 กก


โดย: กวนอู IP: 113.53.20.11 วันที่: 18 กันยายน 2553 เวลา:18:19:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









Instagram






บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


e-mail : rethinker@hotmail.com


Friends' blogs
[Add Plin, :-p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.