Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
27 กรกฏาคม 2549
 
All Blogs
 
โลกในมือนักอ่าน (A History of Reading)

[หนังสือเล่มอื่น]




A History of Reading ของ Alberto Manguel หรือ ในชื่อภาษาไทยคือ "โลกในมือนักอ่าน" แปลโดย กษมา สัตยาหุรักษ์

เมื่อเห็นชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้แล้ว อาจชวนให้คุณ ๆ ท่าน ๆ คิดไปว่า นี่คือ ตำราประวัติศาสตร์ (อีกเล่มหนึ่ง) หรือเปล่า และยังชวนให้พวกเราสงสัยอีกด้วยว่า การอ่านนี้ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน จนกระทั่งสามารถแต่งเป็นตำราได้เลยหรือ

ทว่า หนังสือเล่มนี้..ไม่ใช่ตำรา แม้จะเต็มไปด้วยข้อมูล และก็ไม่ได้เป็นหนังสือแนวประวัติศาสตร์เสียทีเดียวนัก แม้จะเต็มไปด้วยการอ้างเอาเหตุการณ์สำคัญ ๆ หลายเหตุการณ์ในอดีต รวมถึงมีการยกเอายุคสมัย ช่วงเวลา และ การอ้างอิงจุดเวลา แต่หนังสือเล่มนี้ ก็ไม่เหมือนหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วไป

จะว่าไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ เป็นเหมือนอนุทิน ที่บันทึกเรื่องราว และความคิดเห็น ของตัวผู้แต่งเองเสียมากกว่า แม้ว่าจะมีข้อมูลประกอบอยู่ด้วยค่อนข้างมากก็ตาม

ด้วยความที่เขาเป็นนักอ่านตัวยง ผู้แต่งก็ได้ซึมซับเรื่องราวมากมาย ที่ได้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ จากข้อความที่ถูกบันทึกเอาไว้ในหนังสือเล่มต่าง ๆที่เขาอ่านนั้นเอง

จนเขาได้ข้อสรุปที่เป็นทฤษฎีส่วนตัวว่า "ผมค้นพบว่าการอ่านนั้นเกิดขึ้นก่อนการเขียน" !!!

แน่นอนว่า สหายความคิดหลายท่าน คงจะแปลกใจ ด้วยว่าถ้าคิดตามสามัญสำนึกแล้ว การเขียนก็น่าจะเกิดขึ้นก่อนการอ่าน ผมลองถามเพื่อน ๆ ผมหลายคน ก็ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่ตอบผมว่า การอ่านนั้นเกิดขึ้นก่อนการเขียน

เอ หรือว่ามี สหายความคิด บางท่าน คิดตั้งแต่แรกแล้วว่า การอ่านนั้นเกิดก่อน


เรามาอ่านข้อความตอนหนึ่งในส่วนคำนำของหนังสือกันสักเล็กน้อยนะครับ (แปลโดย คุณกษมา สัตยาหุรักษ์)

"...ผมคาดว่าตัวเองสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการเขียน แต่ไม่คิดว่าผมจะอยู่ได้โดยปราศจากการอ่าน ผมค้นพบว่าการอ่านเกิดก่อนการเขียน สังคมหนึ่งสามารถดำรงอยู่หลายสังคมด้วยซ้ำที่ดำรงอยู่ได้โดยไม่มีการเขียน แต่ไม่มีสังคมใดเลยที่อยู่ได้โดยปราศจาการอ่าน ตามความเห็นของนักชาติพันธุ์วิทยา ฟิลลิป เดสโกลา สังคมที่ไม่มีการเขียนจะมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องเวลาว่าเป็นเส้นตรง ส่วนสังคมที่มีทั้งการอ่านและการเขียน ความรู้สึกเรื่องเวลาจะทวีคูณขึ้น โดยทั้งสองสังคมนี้ จะเคลื่อนไหวแตกต่างกัน แต่จะมีความซับซ้อนเรื่องเวลาเท่าเทียมกัน โดยการอ่านสัญญะหลากหลายที่โลกเสนอให้ แม้กระทั่งในสังคมที่มีระบบการบันทึกถึงอดีตที่ผ่านมา การอ่านก็ยังเกิดล่วงหน้าการเขียน นักอยากเขียนทั้งหลายต้องสามารถจดจำและถอดรหัสระบบสัญญะของสังคมก่อนที่จะจัดระบบเหล่านั้นลงบนแผ่นกระดาษ ..."

นั่นก็เป็นเหตุผลและวิธีคิดของคุณ Alberto Manguel เขานะครับ เชื่อว่าหลายท่านคงไม่เห็นด้วย เพราะถ้าลองคิดเอาง่าย ๆ ตามสามัญสำนึก ถ้าหากไม่มีข้อความให้อ่าน จะอ่านได้อย่างไร และในเมื่อข้อความนั้น ก็ต้องถูกเขียนก่อน (จึงจะมีให้อ่าน) แม้ในประวัติศาสตร์ของคนถ้ำ ก็ยังมีการวาดภาพเป็นสัญลักษณ์ การวาดก็น่าจะนับเป็นการเขียนได้เช่นกัน ซึ่งก็น่าจะเกิดก่อนการอ่าน

ทว่า โดยปกติ ผมมักจะพยายามถอดรหัส และมองลึกลงไปให้ได้ว่า ที่แท้แล้วคนที่เขียนบทความ หรือ หนังสือนั้น เขามีเหตุผลแบบใดกันแน่ ซึ่งถ้าพิจารณาเหตุผลของคุณผู้แต่งอีกทีแล้ว บางทีคุณ Alberto Manuel อาจจะคิดแบบนี้ก็ได้....

ลองจินตนาการถึงสถานการณ์ที่ไม่มีทั้งการอ่าน และ ภาษาเขียน ดูนะครับ... เด็กคนหนึ่ง ถือกำเนิดขึ้นมา เวลาที่เขาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกนั้น สิ่งที่เขาเห็นก็คือภาพต่าง ๆ แต่ไม่รู้ความหมาย ไม่รู้จะเรียกยังไง แม้เห็นคนยิ้มให้ก็อาจไม่รู้ด้วยว่านั่นคือการยิ้ม

ดังนั้นเด็กคนนั้น ต้องพยายามจดจำภาพต่าง ๆ จดจำการแสดงความรักของพ่อแม่ จดจำสีหน้า จดจำภาพต่าง ๆ ไว้ และนั่นก็อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการ "อ่าน" เมื่อได้จดจำสัญลักษณ์ทางสีหน้าได้บ้างแล้ว เป็นการอ่านสีหน้าและอารมณ์

เมื่อโตขึ้น เห็นวัว เห็น ควายที่แม่เลี้ยง (สถานการณ์แบบยุคหินหน่อยนะครับ) ก็ต้องจดจำ ในที่สุดก็รู้ว่าเรียกว่าอะไร โดยที่การจะนึกให้ออกนั้น ก็ต้องจำส่วนโค้งเว้าที่เป็นเอกลักษณ์ ดังนั้นการวาดจิตรกรรมฝาผนังในยุคแรกของโลกนั้น ก็น่าจะเกิดจากการอ่าน ภาพจากวัตถุจริง (วัว ควาย) ให้เห็นถึง ส่วนโค้งเว้าอันเป็นเอกลักษณ์ อ่านจนจดจำได้ จึงเขียนภาพออกมา เป็นอักษรภาพยุคแรก

อืม ผมเชื่อเหลือเกินว่า ผู้แต่งหนังสือ ต้องใช้เหตุผลแบบนี้ในการตอบคำถามที่อาจจะถามเข้ามาว่า... การเขียนน่าจะนับได้ ตั้งแต่มีการวาดภาพ ก่อนจะมีตัวอักขระเสียอีกมิใช่หรือ ดังนั้นการวาดหรือเขียน น่าจะมีมาก่อนหรือเปล่า

นั่นก็คือ เป็นการให้ความหมายของการอ่านที่กว้างมากเหลือเกิน แต่ก็เป็นความจริงว่า การกระทำต่าง ๆ นั้น โดยในภาษาของเราแล้ว เราใช้คำว่าอ่านทั้งสิ้น เช่นว่า การอ่านสีหน้า อ่านท่าทาง อ่านลายมือ อ่านความคิด เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้ มีการยกข้อความสั้นบ้างยาวบ้าง จากบทประพันธ์ในอดีต ตั้งแต่ที่มีอายุไม่กี่สิบปี ไปจนถึงเล่มที่เขียนในสมัยยุคก่อนคริสตกาลเลยทีเดียว

ผมเห็นใจคุณผู้แปลอย่างมากครับ เพราะอ่านดูแล้ว เห็นได้ว่าหนังสือเล่มนี้แปลได้ยากเหลือเกิน นอกจากจะต้องแปลหนังสือที่ผู้เขียน เขียนไว้เป็นพรรณาโวหารทั้งเล่มแล้ว ยังจะต้องแปลบทกวี ข้อความต่าง ๆ ที่ถูกหยิบยกมา ให้ได้อรรถรสอีกด้วย

ดังนั้น โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า หนังสือเล่มนี้อ่านค่อนข้างยากพอสมควร ควรอ่านในที่ ๆ สงบ มีสมาธิ และค่อย ๆย่อยทุกข้อความที่อ่าน ถ้าหากไม่มีจินตนาการมากพอ หรือไม่คุ้นเคยกับภาษาที่เป็นวรรณศิลป์แล้ว อาจคิดตามไม่ทันเลยทีเดียว

หนังสือเล่มนี้จะพาท่านท่องไปยังโลกของนักอ่าน ให้ท่านเห็นพลังอำนาจแห่งการอ่าน รูปแบบของการอ่านที่สามารถจะหาร่องรอยได้จากการเขียนบันทึกในประวัติศาสตร์ และยังมีเกร็ดย่อย ๆ และข้อความต่าง ๆ ซึ่งได้ถูกหยิบยกมาประกอบบทความ จากหนังสือหายากเป็นร้อย ๆ เล่ม

ก่อนจะจบการแนะนำหนังสือเล่มนี้ ผมขอยกข้อความอีกสักตอนหนึ่ง เป็นข้อความหลังจากที่ Alberto Manguel ได้ยกภาพเขียนหลายภาพ ซึ่งเป็นรูปบุคคลต่าง ๆ กำลังอ่านหนังสือด้วยอิริยาบถที่ต่าง ๆ กัน

"...คนเหล่านี้คือนักอ่านด้วยท่าทาง ด้วยความชำนาญ ด้วยความเพลิดเพลิน ด้วยอำนาจและความรับผิดชอบที่สืบเนื่องจากการอ่านเช่นเดียวกับที่ผมได้รับ

ผมจึงไม่ได้อยู่ตามลำพัง..."



[หนังสือเล่มอื่น]


Create Date : 27 กรกฎาคม 2549
Last Update : 1 กรกฎาคม 2550 21:11:50 น. 7 comments
Counter : 2034 Pageviews.

 
โอ้โห คุณคะอ่านได้ยังไงเนี่ย ไม่เบื่อเหรอคะ ให้ตายเหอะ ช่างต่างจากดิฉันราวฟ้ากะเหวก็ไม่ปาน สมแล้วที่เป็นแฟนคลับพันธุ์ทิพย์ ส่วนมากคนในบล็อคแกงค์อัพมีสาระดีนะึคะ ไม่เหมือน diaryis ส่วนมากมีแต่เรื่องความรัก น่าเบื่อ
ดิฉันนะคะ อย่าว่าแต่หนังสือโลกในมือนักอ่านเลย หนังสือเีีรียนยังไม่คิดจะจับอ่านเล้ย หนังสือพิมพ์ยิ่งแล้วใหญ่ ขนาดอ่านได้ฟรีๆมีอยู่ตรงหน้าทุกวันทุกวัน ยังอ่านไม่เคยถึงครึ่งเล่มเลย เลยติดโง่ ดักดานมาจนถึงทุกวันนี้เนี่ยค่ะ


โดย: jaokha_thai IP: 81.170.137.25 วันที่: 28 กรกฎาคม 2549 เวลา:0:38:45 น.  

 
" What does she know,She doesn't know"


โดย: เกด IP: 202.44.135.35 วันที่: 28 กรกฎาคม 2549 เวลา:13:06:43 น.  

 
หนังสือหนาจนกลัวจะทับตายก่อนอ่านจบ

แต่ อ่านบล็อกนี้แล้วเปลี่ยนความคิดเลยอ่ะ


โดย: สายลมอิสระ (สายลมอิสระ ) วันที่: 28 กรกฎาคม 2549 เวลา:23:16:14 น.  

 
อืม เล่มนี้ก็ประมาณ 500 หน้าน่ะครับ
ผมอ่านประมาณ 1 สัปดาห์ครับ

คิดว่า ถ้าจะอ่านเล่านี้จริง ๆ ต้องมีสมาธิพอสมควรเลยครับ


โดย: Plin, :-p วันที่: 29 กรกฎาคม 2549 เวลา:0:08:46 น.  

 
คิดเหมือนจขบ. ค่ะว่าต้องอ่านตอนมีสมาธิ
เราเลยไม่ได้อ่านเสียที จนหนังสือโดนวางลืมไปแล้ว

ดูจากข้อความที่ยกมา ยิ่งมั่นใจว่า "อ่านยาก" นะ


โดย: ยาคูลท์ วันที่: 29 กรกฎาคม 2549 เวลา:0:34:42 น.  

 
ข้อความในหนังสือ ค่อนข้างซับซ้อน ใช้ภาษาที่อ่านยากนะ ต้องใช้สมาธิในการอ่านมากๆนะเนี่ย แต่เราก็คิดนะค่ะว่า ก่อนที่เราจะเขียนได้ เราก็ต้องอ่านก่อน อ่านเป็นถึงจะเขียนได้ แต่อ่านในที่นี้ ไม่เห็นจำเป็นว่าต้องเป็นหนังสือนี่ค่ะ อ่านจากสัญลักษณ์ ท่าทาง หรือโอ้ว....เดี๋ยวเพื่อนๆจะงงกันไม๊ค่ะ แค่นี้ดีกว่าค่ะ

นับถือคุณมากๆ อ่านหนังสือแบบเครียดๆ ใน1อาทิตย์


โดย: _ae_ IP: 202.57.183.173 วันที่: 29 กรกฎาคม 2549 เวลา:13:27:17 น.  

 
ครั้งแรกที่อ่านรู้สึกว่ากว่าจะผ่านบทหนึ่งมันกินเวลานาน
คงเพราะอ่านแล้วต้องทำความเข้าใจไปด้วย





โดย: keyzer วันที่: 27 พฤศจิกายน 2549 เวลา:22:37:12 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Plin, :-p
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]









Instagram






บันทึก ท่องเที่ยว เวียดนาม


e-mail : rethinker@hotmail.com


Friends' blogs
[Add Plin, :-p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.