เดินตามรอยพระบาทสู่ความเป็นอริยะ


วันนี้วันดีเป็นวันเพ็ญแห่งอาสาฬหมาส วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ เพื่อเป็นการรำลึกถึงวันอาสาฬหบูชา วันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นวันที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งเป็นปฐมเทศนา โปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระสงฆ์องค์แรกที่เกิดขึ้น คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ

พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปฐมเทศนา พระธรรมที่ทรงแสดงในวันนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า "ปุพฺเพ อนนุสฺสุเตสุ ธมฺเมสุ" แปลว่า "ธรรมที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้นั้น เป็นธรรมที่พระพุทธองค์ไม่เคยทรงได้ยินได้ฟังจากที่ใดมาก่อน"

เมื่อนึกถึงหรือกล่าวถึงการปฏิบัติธรรม ก็มักมีความเชื่อความศรัทธาแตกต่างกันไป ตามจริตนิสัยของตนเป็นพื้นฐาน บ้างเอาความง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นเข้าว่า อาศัยปัญญาที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด บ้างเอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง มาบดบังเอาความจริงไว้ บ้างรู้ยิ่งเห็นจริงด้วยการอ่านตำรา จนความคิดที่ได้ตกผลึก จึงลักจำเอามาพูด ฯลฯ และต่างยืนกรานในสิ่งที่รู้มาว่าถูกต้อง โดยขาดการตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียง และพิสูจน์สิ่งที่รู้มานั้นด้วยการปฏิบัติบูชาตามเสด็จพระพุทธองค์

ทั้งที่ตามจริงแล้ว ในปฐมเทศนา(ธรรมจักร) ที่ทำให้เกิดอริยบุคคลขึ้นครั้งแรก และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์สาม พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้อย่างชัดเจน ว่าด้วยการปฏิบัติธรรม "ที่สุดโต่งสองฝั่งที่ไม่ควรเสพ" และทรงวางหลัก "ทางสายกลาง" ขึ้นมา โดยเน้นว่า เป็นข้อปฏิบัติธรรมที่ไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้น ด้วยปัญญาอันยิ่ง

"เอเต เต ภิกขะเว อุโภ อันเต อะนะปะคัมมะ มัชฌิมา ปะฏิปะทา ตะถาคะเตนะ อะภิสัมพุทธา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตได้รู้ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง โดยไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ๒ อย่างนั้นแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่ง" (จากพระสูตร)

การไม่เข้าไปใกล้ส่วนที่สุด ไม่ได้หมายความว่าเฉียดไปมาไม่ได้ เช่น การอดนอน ผ่อนอาหาร นั่งสมาธิกรรมฐานภาวนาตลอดรุ่ง เดินจงกรมจนเท้าแตก ด้วยเพียรพยายามอันยิ่ง เพื่อลด ละ เลิก ทิฐิสันดานที่ไม่ดีทั้งหลายอันเคยปรากฏอยู่ ให้เบาบางลงไป กลับกลายเป็นว่า "ความเพียรพยายาม" ดังกล่าวนั้น มีครูบาอาจารย์บางคนอบรมสั่งสอนว่าเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" อันไม่ควรเสพ

พระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา เป็นการลำดับวิธีการปฏิบัติธรรมไว้ตามขั้นตอนที่สมควรปฏิบัติตาม พระองค์ทรงห้ามส่วนที่สุด ๒ อย่าง เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น มีการปฏิบัติธรรมทั้งสองอย่างกันมาก รูปฌาน และอรูปฌานที่เรียกว่า "ฌานสมาบัติ" ที่ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะได้ฝึกฝนจนชำนาญ ก็จัดว่าเข้าใกล้ "กามสุขัลลิกานุโยค" คือการติดสุขในอารมณ์ฌานอันละเอียดประณีตนั่นเอง

ลำดับนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรม อันตรัสรู้เองโดยชอบ ไม่ได้นำเอาสิ่งที่เรียนรู้ปฏิบัติธรรมตามคำสอนของใครมาต่อยอดเลย จึงได้อาจหาญประกาศตนว่า "รู้เองเห็นเองโดยชอบ" ในธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้น

อันมี "อริยมรรคมีองค์ ๘" หรือมัชฌิมาปฏิปทา การปฏิบัติทางสายกลางไม่เข้าใกล้ที่สุดสองฝั่งนั้น โดยพระพุทธองค์ได้ทรงชี้ทางเดินให้ท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะได้รู้เห็นตามความเป็นจริงถึงองค์ประกอบย่อย และองค์ประกอบโดยรวมของ "สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ"

องค์ประกอบย่อยใน "หมวดสมาธิ" ประกอบด้วย "สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ" ทำให้จิตรวมลงเป็นสมาธิสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ต่ออารมณ์ที่เข้ามากระทบ


เดิมนั้นท่านพระอาจารย์โกณฑัญญะ ยังติดสุขอยู่ในอารมณ์ฌานสมาบัติที่เคยปฏิบัติมาจนชำนาญ อันมีรูปฌาน และอรูปฌาน เป็นอารมณ์ภายนอกกาย นำเอามาเป็นอารมณ์ในองค์ภาวนา จิตเป็นสุขอันละเอียดก็จริง แต่ยังมีอาการหวั่นไหว เกรงไปว่า "อารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้" ทำให้ต้องยึดถือเอาอารมณ์นั้นไว้เป็นของๆตน

เมื่อพระพุทธองค์ทรงเทศนาถึง "สัมมาสติ" ซึ่งเป็นการหยิบยกเอา กาย เวทนา จิต ธรรม ขึ้นมาพิจารณา เพื่อสร้างสติปัฏฐาน (ฐานที่ตั้งสติอย่างต่อเนื่อง) ล้วนเป็นธรรมอันเป็นภายในกาย ทำให้ "จิตของตน"เกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ปล่อยวางและหลุดพ้นจากอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่จิตของตนเคยยึดมั่นถือมั่นเอาไว้ได้

ส่วนองค์รวมแห่ง "สัมมาสมาธิของพระอริยเจ้า" มีตรัสไว้ในมหาจัตตารีสกสูตร ดังนี้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น "สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน"
ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ
ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ"



เมื่อพิจารณาและนำมาประพฤติปฏิบัติบูชาตาม จะเห็นได้ว่า การที่พระพุทธองค์ได้ทรงกำหนดให้มีการเข้าพรรษา เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ ได้มีเวลาเพียรเพ่งภาวนา อย่าได้เกียจคร้านอย่างจริงจังตลอดพรรษาคือ ๓ เดือน ที่ได้ทรงกำหนดให้เป็นเวลาแห่งการเข้าพรรษา


ในปัจจุบันมีคนสอนว่า การทำสมถะ เช่น การนั่งสมาธิกรรมฐานภาวนา การเดินจงกรมนั้น เป็นการกระทำที่เข้าข่าย "อัตตกิลมถานุโยค" เป็นเพียงแค่สมถะ แข็งๆ ทื่อๆ ไม่ก่อให้เกิดปัญญาวิปัสสนา ขอกล่าวว่าการสอนดังกล่าวนั้นเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์กิเลสอ้าง เพราะในปฐมเทศนาไม่มีการกล่าวถึงสัมมาวิปัสสนาเลย เป็นการปล่อยให้ตัวบุคคลที่ตนเชื่อและศรัทธา มาบดบังความจริง ๔ ประการ คือ อริยสัจธรรม ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

และคนสอนมักอ้าง "วิปัสสนา" โดยสอนให้เดินวิปัสสนาไปเลยเพื่อให้เกิดปัญญามีสติอัตโนมัติ เป็นการปฏิบัติธรรมที่ง่ายๆ สบายๆ และลัดสั้น ส่วนสมถะกรรมฐานที่เป็น สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์แปด ไม่ต้องทำหรือกระทำเล็กๆน้อยๆ เพียงเป็นพิธีก็พอแล้ว เป็นการกล่าวตู่ เป็นการกล่าวขัดแย้งกับพระพุทธพจน์อย่างไม่สมควรปล่อยให้เกิดขึ้นเลย


สุดท้ายนี้ ขอฝากนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อความหน่าย คลาย ละ จงเดินตามพระธรรมคำสั่งสอนที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์การปฏิบัติธรรมไว้อย่างชัดเจน คือ

"ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย"

ทางที่จะทำให้บุคคลบริสุทธิ์หมดจดได้ ทางนั้นคือ การภาวนามยปัญญา ให้มีสติรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าออก เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมยังให้สติปัฏฐาน ๔ นี้บริบูรณ์ แสดงว่าไม่มีวิธีอื่นที่จะยังให้สติปัฏฐาน ๔ นี้บริบรูณ์

จงอย่างหลงไหลไปกับความสบายๆ ง่ายๆ ลัดสั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์จึงทรงวางหลักเกณฑ์เรื่อง "การเข้าพรรษา" เพื่อภิกษุพุทธสาวกได้มีเวลาเพียรเพ่งภาวนา อย่าได้เกียจคร้าน เป็นอนุสาสนีย์ที่พระพุทธองค์ทรงมีแก่ภิกษุสาวกทั้งหลาย ในห้วงเวลา ๓ เดือนที่ได้ทรงกำหนดไว้ให้นี้



เจริญในธรรมที่สมควรแก่ธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต








Create Date : 11 กรกฎาคม 2557
Last Update : 19 มกราคม 2558 20:20:52 น.
Counter : 1593 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์