ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก A giver is always be loved.
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2563
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
10 ธันวาคม 2563
 
All Blogs
 
พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี

“พระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุสุพรรณบุรี”  ปรางค์ไทยงาเนียม ในยุคพระบรมไตรโลกนาถ
ข้อความใน จารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ พบจากบริเวณช่องเขาพังเหย ในตำบลห้วยบง อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ระบุปีจารึกว่าอยู่ “...ในปีกุนนักษัตร 11 ค่ำ เดือนสิบสอง” ได้กล่าวถึงพระนาม  “สมเด็จพระอินทรามหาบรมจักรพรรดิธรรมิกราช” ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุนศรีไชยราชมงคลเทพเป็นแม่ทัพใหญ่ นำกองทัพไปตีเมืองพิมาย พนมรุ้งและเมืองในกัมพูชา  
ภาษาและเนื้อความของจารึก สอดรับเวลากับพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การตีเมืองพระนครศรียโสธระปุระในปี พ.ศ. 1974  ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 1986 อยุทธยายังได้ส่งกองทัพใหญ่เข้าไปปราบกบฏเจ้าพระยาญาติ (เจ้ายาด–เจ้าพญาคามยาต) ที่ เมืองจัตุมุขอีกครั้ง ซึ่งในการพระราชสงครามกับฝ่ายกัมพูชาธิบดีในช่วงรัชสมัยของเจ้าสามพระยานี้ อาณาจักรอยุทธยาได้กวาดต้อนเชลยศึกกลับมาเป็นจำนวนนับแสนคน ทั้งพระญาติพระวงศ์ ชนชั้นผู้ปกครอง ไพร่ทาส สมณะ พราหมณ์ ซึ่งก็รวมถึงช่างฝีมือในงานศิลปะแขนงต่าง ๆ กลับมายังอาณาจักรเป็นจำนวนมาก
พระนาม “สมเด็จพระอินทรามหาบรมจักรพรรดิธรรมิกราช” ในจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ  จึงควรเป็นพระนามหนึ่งของ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพญา-สามพระยา) ในเหตุการณ์ยกกองทัพไปตีเมืองพระนครหลวงในช่วงปี พ.ศ. 1974 และ พ.ศ. 1986 
ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 20 ราชสำนักอยุทธยา หันมานิยมงานสถาปัตยกรรมการก่อสร้างเจดีย์ทรงปราสาทเขมร หรือ “พระปรางค์” ตามรูปแบบปรางค์เขมร-ละโว้ จากอิทธิพลของช่างฝีมือ ช่างงานศิลปะและช่างก่อสร้างจากละโว้และเชลยเขมรเมืองพระนคร เกิดการสร้างพระปรางค์ประธานของวัดราชบูรณะที่กรุงศรีอยุธยาและปรางค์วัดจุฬารมณี ที่เมืองสองแคว ด้วยหินศิลาแลง-มีตรีมุข ตามแบบสถาปัตยกรรมของปรางค์ประธานวัดมหาธาตุลพบุรี  แต่งานก่อสร้างทั้งที่วัดราชบูรณะและวัดจุฬามณีก็ไม่แล้วเสร็จ คงหยุดการก่อศิลาแลงและงานปูนปั้นประดับไว้แต่ส่วนเรือนธาตุ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถผู้เป็นพระราชโอรส จึงโปรดฯ ให้ต่อส่วนยอดของพระปรางค์ด้วยโครงสร้างก่ออิฐ เปลี่ยนยอดปรางค์มาเป็นทรง “งาเนียม” ที่เรียวสูงขึ้น มีการปรับจำนวนชั้นและการจัดเรียงบัวกาบขนุน (กลีบขนุน) ให้กระชับเข้ามาชิดกันตามจำนวนมุมที่เพิ่มขึ้น  แทนการสร้างเป็นรูปทรงศิขระซ้อนชั้นวิมานจำลองตามแบบปรางค์เขมร-ละโว้เดิม
“ปรางค์-ไทย ทรงงาเนียม” จึงเป็นความนิยมของราชสำนักสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แสดงอำนาจ-จักพรรดิราชของพระองค์ ภายหลังที่สามารถผนวกรัฐสุโขทัย (ที่ต้องทำสงครามกับพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนายาวนานกว่า 10 ปี) รวมกับรัฐละโว้และสุพรรณภูมิของพระราชบิดา มาเป็น “อาณาจักรกรุงศรีอยุธยา”  ที่มีการจัดระเบียบการปกครองส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นแบบแผนเดียวกัน  ขึ้นตรงต่อราชสำนักเดียวที่กรุงศรีอยุธยาอย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรก มีการสร้างพระปรางค์ทรงงาเนียม ชุดฐานชะลูดสูงไม่มีตรีมุข ขึ้นในหลายหัวเมืองสำคัญ ทั้งเมืองเชลียง เมืองพิษณุโลก เมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี (?)
เป็นครั้งแรก รวมทั้งที่เมืองสุพรรณบุรี-นครอินทร์ ศูนย์กลางรัฐสุพรรณภูมิเดิมที่พระราชบิดา (เจ้าสามพระยา)  เคยปกครองอยู่ก่อนขึ้นครองราชย์ที่อยุทธยา
-----------------------------------------------
*** เจดีย์ประธานองค์เดิมของวัดมหาธาตุสุพรรณบุรีนั้นอาจเคยมีรูปทรงชะลูดสูงใหญ่ ฐานเรือนสี่เหลี่ยมแบบปราสาท ซ้อนชั้นด้วย เรือน 8 เหลี่ยม  แบบเดียวกับเจดีย์วัดพระแก้วเมืองสรรค์บุรี (มหาธาตุสรรค์บุรี เจดีย์วัดพระรูป) เรียงสับหว่าง 3 องค์ ตามสถาปัตยกรรมนิยมของฝ่ายรัฐสุพรรณภูมิ มีเจดีย์ฐาน-เรือน 8 เหลี่ยมซ้อนชั้นยอดระฆังจำนวนมากล้อมอยู่โดยรอบ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถอาจได้โปรดฯ ให้รื้อกลุ่มเจดีย์ประธานเดิมที่อาจชำรุดทรุดโทรมจนถึงขั้นพังทลายลงมาขึ้นใหม่ รวมทั้งรื้อเจดีย์บริวาร 8 เหลี่ยมจนเหลือแต่เพียงฐานรากจำนวนมาก แล้วโปรดฯ ให้สร้างพระปรางค์ใหญ่ขึ้นเป็นประธานแทนที่ รวมทั้งการสร้างวิหารท้ายจระนำยาวเข้ามาซ้อนระเบียงคดกับการก่ออาคารระเบียงคดล้อมรอบ
ฐานล่างของปรางค์เป็นฐานเขียงสูง ซ้อนด้วยฐานปัทม์คาดบัวลูกฟักเหลี่ยมที่ท้องไม้ขึ้นไป 4 ชั้น ลาดบัวคว่ำมีขนาดใหญ่กว่าลาดบัวหงายคล้ายพานปากแคบ ทำให้การยกชั้นซ้อนเกิดเป็นฐานต่อเนื่องชะลูดสูง ไม่มีที่ว่างระหว่างชั้น แตกต่างไปจากฐานของปราสาทเขมร – ละโว้ (เช่นที่ ปรางค์วัดราชบูรณะ) ที่จะลาดบัวและหน้ากระดานเท่ากัน ยกขึ้นไปที่ละชั้นเกิดพื้นที่ว่างระหว่างชั้นอย่างชัดเจน  
ฐานเชิงเรือนธาตุเป็นฐานปัทม์ไม่มีคาดลวดลูกฟัก เรือนทรงปราสาทสี่เหลี่ยม ยกเก็จประธาน 1 กระเปาะ แล้วยกซุ้มประตูซ้อน 2 ชั้น แทรกมุมเล็ก ๆ ระหว่างกลางมุมหลักมีขนาดใหญ่ เหนือบัวรัดเกล้าเป็นชั้นอัสดงผนังโค้ง ประดับรูปยักษ์ทวารบาลปูนปั้น สวมเทริดมีหูข้าง คาดเชือกไขว้ถือกระบอง ยกชั้นวิมาน (รัดประคด-เชิงบาตร) ขึ้นไป 7 ชั้น  เพิ่ม (ยก) มุมที่ชั้นอัสดงตรงมุมหลักทั้ง 4 ด้าน ทำให้กลีบขนุน (บัวกาบขนุน) ประดับมุมของแต่ละชั้นวิมานเรียงตัวแน่น เหลือช่องว่างระหว่างกันเพียงเล็กน้อย กลีบขนุนของมุมหลักในแต่ละชั้นยังมีขนาดใหญ่กว่ามุมย่อย ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของพระปรางค์ไทย ที่หลุดออกจากงานสถาปัตยกรรมเขมร-ละโว้แล้ว
ตรงกลางเรือนธาตุเก็จประธานแต่ละด้านทำเป็นซุ้มบัญชร ที่เลื่อนลงมาในระนาบเดียวกับระดับกลีบขนุน ซุ้มหน้าต่างหลอกลดลงกลายมาเป็นผนังฐานในระดับเดียวกับลวดฐานเชิงบาตร จึงไม่ต้องวางบันแถลงไว้ตรงหน้าซุ้มบัญชรแบบปราสาทเขมร-ละโว้เดิม    
ชั้นหลังคาวิมานลดหลั่นขนาดของเครื่องปักกลีบขนุนลงจนถึงชั้นที่ 7 รวมทั้งลดขนาดของชั้นวิมานให้เตี้ยลง  รวบกลีบขนุนโค้งสอบเข้าจนจบที่ลาดหลังคา (บัวกลุ่ม) เหนือสุดวางหม้อน้ำอมลกะ (Āmālaka) ด้านบนปักด้วยเสาโลหะนภศูล (Naba shula) 
ปูนปั้นประดับที่เหลืออยู่ทั้งที่หน้าบัน บัวรัดเกล้าและเฟื่องอุบะของปรางค์วัดมหาธาตุเมืองสุพรรณบุรี ได้แสดงลวดลายตามแบบขนบละโว้-อยุทธยา ผสมผสานกับลวดลายในงานศิลปะแบบล้านนา–จีน  คล้องจองกับการประดับลวดลายของปรางค์วัดจุฬามณีและผนังวิหารวัดนางพญา (ศรีสัชนาลัย) ที่เป็นงานศิลปะนิยมในช่วงสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา
ปูนปั้นประดับของหน้าบันที่เหลืออยู่ เป็นกรอบลำยองโค้งตัวรวยนาคเลื้อยเป็นขยัก ไม่มีแง่งแหลมแบบหน้าบันเขมร มีกลีบบัวรวนวางห่างเป็นระยะทั้งด้านบนและล่างของรวยนาค ปลายรวยเป็นรูปตัวมกรคายนาค 5 เศียร แทรกรูปเทพพนมในช่องว่างที่หัวตัวมกร คล้ายคลึงกับงานประดับปูนปั้นปรางค์วัดจุฬามณี  ภายในกรอบใบระกาเหนือรวยนาค แทรกรูปเทพพนมผุดจากดอกไม้ กลางหน้าบันคงเหลือรูปเทพยดานั่งแสดงวันทาอัญชลี ปูนปั้นที่หายไปจึงอาจเป็นรูปพระพุทธเจ้าแสดงเทศนาธรรม (ด้านล่างคั่นด้วยกรอบขื่อปลอม ผนังส่วนล่างพังทลายลงไปนานแล้วที่เห็นอยู่คือการซ่อมขึ้นใหม่) ครับ 
ลายปูนปั้นประดับเฟื่องอุบะผนังเรือนธาตุ ลวดบนทำเป็นพู่รูปพุ่มใบไม้จีนทิ้งห่างเป็นระยะ เกิดเป็นช่องโค้งตวัดหยักแหลมที่ตรงกลาง คั่นชั้นด้วยเส้นลวดประดับดอกไม้กลีบ เว้นว่างเป็นระยะ กรอบล่างมีเส้นลวดกระจังหัวคว่ำ หยักโค้ง-ปลายม้วนเข้าด้านในขนาดใหญ่ ภายในกรอบมีดอกไม้มีกลีบเป็นประธานแตกใบพุ่ม แทงพุ่มยอดแหลมตรงลงมาด้านล่าง  สับหว่าง (ซ้อน)กับ เส้นลวดสามเหลี่ยมคว่ำ มีดอกไม้กลมมีกลีบและใบไม้แหลมใบเดียวแทงลงมาด้านล่าง
ชุดลวดบัวรัดเกล้า เริ่มจากลวดคู่ชุดใหญ่ที่มีรูปดอกไม้กลม เกสรแหลมตรงกลางวางเรียงดอกเว้นระยะห่าง ขึ้นไปเป็นเส้นลวดคู่มีดอกไม้แบบเดียวกันแต่เล็กกว่า สลับกับลายกับบัวหงายเว้นระยะไม่มีใบซ้อน ชั้นลวดบัวหงายมีขนาดใหญ่ไม่มีใบซ้อนหรือสับหว่าง แต่แทรกลายดอกไม้ตั้งก้านตรงไปเป็นพุ่มใบอ่อนแตกเป็นแฉกที่ด้านบน ถัดขึ้นไปเป็นหน้ากระดาน วางลายเส้นลวดกรอบข้าวหลามตัดในกรอบของลายเมฆ (กรอบกระจกจีน) มีดอกไม้กลีบเป็นประธาน ภายในกรอบลวดแตกใบอ่อนเป็นลายใบ-ก้านขด ลายกระหนกใบไม้ มีลายดอกไม้ ลายก้านขดโค้งคั่นระหว่างกลางกรอบเส้นลวด ลวดชั้นบนยังคงเป็นเส้นกลีบบัวหงาย คั่นด้วยท้องไม้ขึ้นไปจนถึงยอดครับ
ปูนปั้นชุดฐานของรัดประคด-เชิงบาตรรองรับบัวกาบขนุนชั้นแรกที่เหลืออยู่แตกต่างไปจากชั้นรัดเกล้า โดยที่หน้ากระดานปั้นเป็นลายเถาไม้เลื้อยแบบจีนออกมาจากดอกไม้ต่อเนื่องกันไปตามแนวราบ ตรงมุมหักเข้าทำเป็นรูปดอกไม้จีนในกรอบลวดหยักมนด้านข้าง (ช่องกระจกจีน) บางส่วนคั่นด้วยกรอบสี่เหลี่ยม ภายในปั้นเป็นรูปลายหงส์คาบสร้อยอุบะพวงมาลัย หงส์และสิงห์บนกระหนกตัวเหงาโค้ง หงส์และสิงห์บนโค้งก้านเถา รูปดอกบัวหรือดอกโบตั๋นบานแบบจีน รูปสิงห์ รูปสิงห์ยกขา จัดวางลวดลายไม่เป็นแบบแผนเดียวกันในแต่ละด้าน
ลวดลายปูนปั้นประดับเครื่องปักที่เหลืออยู่ทำเป็นเครื่องลำยองชะลูดสูงตามทรงกลีบขนุน ปลายกรอบแตกต่างกันไม่เป็นแบบแผน มีทั้งรูปหงส์ (มีปีก) รูปกระหนกตัวเหงาปลายพวยแหลม รูปตัวเหรา (มีขา) ใบระกาก็ทำเป็นกระหนกและใบไม้แบบต่าง ๆ ไม่เหมือนกันทุกกลีบ ส่วนปูนปั้นประดับซุ้มบัญชร ทำเป็นโค้งหน้านางแบบลังกา ปลายตวัดเป็นกระหนกขดตัวเหงาปลายพวยแหลม ภายในซุ้มโค้งอาจเคยประดิษฐานรูปพระพุทธรูปปูนปั้นครับ 
--------------------------------------------------
***  ภายหลังการสถาปนาพระปรางค์มหาธาตุไปแล้ว จึงได้มีการต่อเติมขยายส่วนฐานด้านข้าง เพื่อทำเป็น 
“ปรางค์สามยอด – ปราสาทสามหลัง” โดยส่วนฐานใหม่ยังคงทำชุดลวดบัวฐานตามแบบฐานปรางค์ใหญ่เดิมแต่ย่อขนาดลงไม่รับกับฐานเดิม ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากพระราชนิยม ตามชื่อพระนาม “บรมไตรโลกนาถ” ที่หมายถึงผู้ปกครองสามโลก เช่นเดียวกับพระนามแห่งพระอิศวร ผู้เป็นใหญ่เหนือตรีมูรติ ตามแบบคติฮินดูจากพราหมณ์ฝ่ายเขมร ที่กำลังมีอิทธิพลอย่างมากในราชสำนักช่วงเวลานั้น หรืออาจเกิดขึ้นจากคติพระพุทธเจ้าสามพระองค์ของฝ่ายพุทธศาสนา (อดีตพระพุทธเจ้า พระสมณโคตมพุทธเจ้า และพระศรีอริยเมตไตรยอนาคตพุทธเจ้า) จึงได้เกิดการต่อเติมพระปรางค์มหาธาตุเดิม ทั้งในอยุทธยาที่ปรางค์วัดพระราม หัวเมืองชั้นในของอาณาจักรที่ปรางค์วัดมหาธาตุลพบุรีและปรางค์ประธานวัดมหาธาตุราชบุรี (ต่อเพิ่มด้านหลังอีก 1 องค์)      
การสร้างพระปรางค์มหาธาตุเมืองสุพรรณบุรีขึ้นใหม่โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ สอดรับกับหลักฐานจารึกลานทอง พระพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราช มีข้อความว่า “...ศุภมัสดุในมหาศักราช 1369 ( พ.ศ. 1990) ปีเถาะ ขึ้น 3 คํ่า เดือน 6 วันจันทร์ มีพระบัณทูลพระราชโองการแห่งสมเด็จพระบรมราชาธิบดีศรีมหาจักรพรรดิราช (เจ้าสามพระยา) และพระราเมศวรราช (สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ทรงอนุโมทนาด้วยสุจริตศรัทธา ด้วยพุทธฎีกาสมเด็จพระคุรุจุฬามุณีศรีสังฆราชสังฆปรินายกดิลกรัตนมหาสวามี บรมราชาจารึกพระสุพรรณบัฏแด่พระมหาเถรนามว่าปริยทัศศีศรีสารีบุตรนามว่ามหาเถรสารีบุตร...”
จากรึกลานทองที่พบภายในกรุของพระปรางค์แผ่นนี้ ระบุเหตุการณ์ในช่วงปลายสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) และปรากฏพระนามของพระบรมไตรโลกนาถเมื่อยังดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชา พระปรางค์มหาธาตุสุพรรณบุรี จึงสร้างควรถูกสร้างขึ้นในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 1990 ไปแล้ว สอดรับกับการสร้างปรางค์ทรงงาเนียม ฐานสูงไม่มีตรีมุข ขนาดใหญ่น้อย ตามเมืองสำคัญของอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาหลายแห่ง
*** พระปรางค์วัดมหาธาตุสุพรรณบุรี จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นการพุทธบูชาถวายเป็นพระราชกุศลแก่พระราชบิดา ผู้เคยเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นสุพรรณภูมินี้ เช่นเดียวการสร้างปรางค์ประธานวัดราชบูรณะที่กรุงศรีอยุธยาครับ
เครดิต ; FB
วรณัย  พงศาชลากร
EJeab  Academy
เพราะทุกที่มีเรื่องราวและเรื่องเล่า


Create Date : 10 ธันวาคม 2563
Last Update : 10 ธันวาคม 2563 15:49:13 น. 2 comments
Counter : 476 Pageviews.

 

ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love.


โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 10 ธันวาคม 2563 เวลา:16:50:18 น.  

 
ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always be love. _/|\_



โดย: ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก วันที่: 15 ธันวาคม 2563 เวลา:9:00:35 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ททมาโน ปิโยโหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก
A giver is always beloved.
New Comments
Friends' blogs
[Add ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.