bloggang.com mainmenu search
การตัดสินใจเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่สองของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ตอนที่ 2

โดย พันเอก ศนิโรจน์ ธรรมยศ


ลงพิมพ์ในนิตยสาร Military ฉบับที่ 22


อย่างไรก็ตาม ในกลางปี 1940 ฮิตเลอร์ก็สามารถครอบครองยุโรปได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนอรเวย์ เดนมาร์ก ฮอลแลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบอร์ก และฝรั่งเศส อีกทั้งยังสามารถขับไล่อังกฤษไปจนแทบจะตกทะเล นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สงครามของโลกเลยทีเดียว เป็นการอาศัยความอ่อนแอของฝ่ายตรงข้าม มาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง และทางการทหาร อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ ในการวางแผนยุทธศาสตร์ของฮิตเลอร์ที่ไม่มีใครสามารถจะปฎิเสธได้




แต่คำกล่าวที่ว่า "การได้มาซึ่งชัยชนะนั้นยิ่งใหญ่ก็จริง แต่การรักษาชัยชนะนั้นไว้ได้ นับว่ายิ่งใหญ่กว่า" ยังเป็นความจริงที่รอการพิสูจน์จากเขา

เมื่อครอบครองยุโรปไว้ได้แล้ว เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ฮิตเลอร์คาดหวังว่า อังกฤษคงจะยอมเจรจายุติสงครามกับเยอรมัน เพื่อนำมาซึ่งสันติภาพ และเป็นอีกครั้งที่เขาต้องผิดหวัง เพราะตลอดช่วงฤดูร้อนของปี 1940 สงครามเหนือเกาะอังกฤษดำเนินไปอย่างรุนแรง ฮิตเลอร์วางแผนที่จะเปิดยุทธการ Sealion ซึ่งเป็นการบุกเข้าสู่อังกฤษ

แต่ยุทธการ Sealion เยอรมันจำเป็นต้องครองความเป็นเจ้าอากาศเหนือน่านฟ้าช่องแคบอังกฤษเสียก่อน เพื่อขจัดภัยคุกคามต่อเรือลำเลียงพลของเยอรมันที่ข้ามช่องแคบไปสู่เกาะอังกฤษ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพอากาศเยอรมันหรือลุฟวาฟ (Luftwaffe) ในการกวาดล้างฝูงบินอังกฤษออกไปจากน่านฟ้า แต่จอมพลแฮร์มาน เกอริง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศเยอรมันก็ไม่สามารถทำได้

ในวันที่ 10 กรกฎาคม 1940 กองทัพอากาศเยอรมันเปิดฉากโจมตีอังกฤษอย่างรุนแรง นักบินของกองทัพอากาศเยอรมัน และกองทัพอากาศอังกฤษนำเครื่องบินเข้าต่อสู้กันอย่างดุเดือด ฝ่ายหนึ่งเพื่อทำลายและหาทางครอบครองดินแดนข้าศึก อีกฝ่ายหนึ่งต่อสู้เพื่อปกป้องมาตุภูมิของตน เป็นการต่อสู้แบบหลังชนฝา ในเวลานั้นโลกต่างจับตามองอังกฤษว่า จะหลีกหนีจุดจบของตนได้อย่างไร

จอมพลเกอริงในฐานะผู้บัญชาการทหารอากาศเยอรมันสั่งการให้โจมตีอังกฤษอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะฮิตเลอร์ต้องการเปิดยุทธการ Sealion เพื่อรุกเข้าสู่เกาะอังกฤษ แต่ในขณะเดียวกันฮิตเลอร์ก็คาดหวังว่าการโจมตีอย่างรุนแรงนี้ จะทำให้อังกฤษยอมจำนน หรืออย่างน้อยก็หาหนทางเจรจาสันติภาพกับเยอรมัน

เกาะอังกฤษถูกฝูงบินของลุฟวาฟ หรือกองทัพอากาศเยอรมันโจมตีรุนแรงที่สุดในห้วงเดือนสิงหาคม โดยเฉพาะในวันที่ 15 สิงหาคม กองทัพอากาศเยอรมัน หรือลุฟวาฟ เข้าโจมตีครั้งสำคัญ ภายใต้รหัส "แอดเลอร์" (Adler = Eagle) หรือ นกอินทรี เพื่อกวาดล้างกองทัพอากาศอังกฤษให้หมดสิ้นไปจากท้องฟ้า แต่ผลกลับออกมาในทางตรงกันข้าม ฝ่ายเยอรมันต้องสูญเสียเครื่องบินไปถึง 72 เครื่องในการรบเพียงวันเดียว จนมีการขนานนามวันนี้ว่า "วันพฤหัสทมิฬ" หรือ the black thursday

การโจมตีของกองทัพอากาศเยอรมัน ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ฝูงบินทิ้งระเบิดเครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมัน แบบ ไฮน์เกล 111 (Heinkel He III) ซึ่งเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดหลักที่เข้าโจมตีเกาะอังกฤษ บินต่อกันเป็นทางยาวเข้าสู่กรุงลอนดอนและเมืองใหญ่ๆ ของอังกฤษ

แม้ว่าเครื่องบินทิ้งระเบิดแบบ ไฮน์เกล 111 จะประสบความสำเร็จอย่างมากในการรบที่สเปน และโปแลนด์ในช่วงแรกของสงครามโลกครั้งที่สอง แต่เมื่อต้องมาพบกับเครื่องบิน สปิตไฟร์ และ เฮอร์ริเคนของอังกฤษ ไฮน์เกล 111 ก็พบว่า ตัวมันมีอาวุธน้อยเกินไป ที่จะต่อต้านเครื่องบินขับไล่ของอังกฤษ เครื่องบินรุ่นนี้ติดตั้งปืนกลขนาด 7.92 มม. จำนวน สามกระบอก บรรทุกระเบิดได้ 1,800 กก. มีความเร็ว 398 กม. ต่อ ชม. เครื่องยนต์สองเครื่องยนต์ของไฮน์เกล 111 เป็นเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ไว้ใจได้

อย่างไรก็ตาม นักบินอังกฤษได้ค้นพบยุทธวิธีในการทำลายเครื่องบินทิ้งระเบิดชนิดนี้ โดยพบว่า บริเวณส่วนหัวของเครื่องบิน เป็นกระจก และไม่มีเกราะป้องกันใดๆให้กับนักบิน ทั้งนี้เพราะการออบแบบมีจุดมุ่งหมายเพื่อทัศนวิศัยที่ดีของนักบิน ดังนั้นเมื่อนักบินมองเห็นจุดอ่อนดังกล่าว พวกเขาจะบินพุ่งสวนเข้าหาแล้วยิงเข้าใส่ไฮน์เกล 111 จากด้านหน้า ก่อนที่บินฉีกออกไปด้านข้าง ซึ่งยุทธวิธีนี้ได้สร้างความเสียหายให้กับฝูงบิน และนักบินของไฮน์เกล 111 เป็นอย่างมาก

ในขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ได้ทำการบันทึกถึงความทรหดอดทนของนักบินอังกฤษไว้เป็นอย่างมาก พวกเขาต่อสู้อย่างทรหด แม้จะอิดโรยอย่างมากจากการโจมตีของเยอรมันระลอกแล้ว ระลอกเล่า ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งนี้เพื่อรักษาแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของตน ในขณะที่นักบินเยอรมัน ก็สู้อย่างสมศักดิ์ศรี ด้วยความมีประสบการณ์ จากสมรภูมิสงครามกลางเมืองในสเปน มาจนถึงสมรภูมิในยุโรป ทำให้นักบินเยอรมัน เป็นนักบินที่น่ากลัวที่สุดในโลกประเทศหนึ่งในขณะนั้น

นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในการพลิกโฉมหน้าของสงครามเหนือเกาะอังกฤษก็คือ ระบบเรดาห์เตือนภัย ที่อังกฤษนำมาใช้ในการแจ้งเตือน ถึงการมาถึงของฝูงบินเยอรมัน การเตือนภัยดังกล่าวทำให้อังกฤษมีเวลาเตรียมตัวรับมือการโจมตีของเยอรมัน ในขณะที่การต่อสู้บนแผ่นดินอังกฤษ ทำให้เครื่องบินของเยอรมันต้องพบกับขีดจำกัดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิงของเครื่องบิน เช่น เครื่องบินแมสเซอร์สมิท Bf 109 ของเยอรมันสามารถบินอยู่เหนืออังกฤษได้เพียง 30 นาที เพราะไม่เช่นนั้น จะไม่มีน้ำมันเพียงพอบินกลับฐานในประเทศฝรั่งเศส ทั้งที่สมรรถนะของเครื่องบินชนิดนี้ ไม่ได้ด้อยไปกว่าเครื่องบินสปิตไฟร์ และเฮอร์ริเคนของอังกฤษเลย นักบินเยอรมันถึงกับบอกว่า เยอรมันเหมือนสุนัขที่ถูกล่ามโซ่ มันต้องการโจมตีข้าศึก แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะสายโซ่ที่มีอยู่รั้งคอมันเอาไว้

นอกจากนี้ตลอดเวลาที่เยอรมันโจมตีเกาะอังกฤษ เยอรมันไม่มีเป้าหมายที่แน่นอน เกอริงจะเปลี่ยนเป้าหมายสลับไป สลับมา จากเป้าหมายทางทหาร มาเป็นเป้าทางพลเรือน สถานีเรดาห์ชายฝั่ง สนามบิน ตลอดจนโรงงานผลิตเครื่องบิน แต่ก็ไม่สามารถทำลายเป้าหมายใด เป้าหมายหนึ่งลงได้อย่างสิ้นซาก

ในวันที่ 7 กันยายน 1940 ฝูงบินเยอรมันโจมตีกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก ลุฟวาฟเชื่อว่า มีเครื่องบินอังกฤษเหลือปกป้องนครลอนดอนเพียง 100 เครื่องเท่านั้น แต่แท้ที่จริง ปรากฏว่า เยอรมันต้องพบกับเครื่องบินอังกฤษเหนือน่านฟ้านครลอนดอนถึงกว่า 300 เครื่อง เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันกว่า 300 ลำ ทิ้งระเบิดกว่า 300 ตันลงสู่นครหลวงของอังกฤษ ตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป เพลิงลุกไหม้ลอนดอนสว่างไสวราวกับกลางวัน และเพลิงยังทำหน้าที่เสมือนคบเพลิง บอกทิศทางให้เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันอีกกว่า 250 ลำที่บินเลาะแสงสีเงินของลำน้ำเทมส์ เข้าโจมตีลอนดอนเป็นระลอกต่อมา ชาวอังกฤษที่เห็นเหตุการณ์ถึงกับกล่าวว่า โลกทั้งโลกกำลังลุกเป็นไฟ (the whole bloody world is on fire)

นับจากวันนั้นมาอีก 56 คืน ลอนดอนก็ถูกโจมตีตั้งแต่ตะวันตกดินจนถึงรุ่งอรุณ (from dusk to dawn) การโจมตีอันยาวนานนี้ ส่งผลให้ชาวลอนดอนเสียชีวิตกว่า 13,600 คน บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก อีกกว่า 250,00 คนไร้ที่อยู่อาศัย ในขณะที่ฝ่ายเยอรมันสูญเสียไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ปืนต่อสู้อากาศยานของอังกฤษสามารถยิงเครื่องบินเยอรมันตกได้น้อยมาก ในอัตราส่วน ยิงตกเพียง 1 ลำจากทุกๆ 300 ลำที่บินเข้ามาโจมตีลอนดอน

การโจมตีที่หนักที่สุดมีขึ้นในวันที่ 16 เมษายน 1941 จนเกิดคำศัพท์ใหม่ในพจนานุกรมว่า Blitz ซึ่งการโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้ถนนหนึ่งในสามของลอนดอนถูกทำลาย ครอบครัว 160,000 ครอบครัวไม่มีน้ำปะปา ไฟฟ้า และแก๊สใช้

ปลายเดือนมิถุนายน ภายหลังจากสูญเสียครื่องบินไปเป็นจำนวนมาก เยอรมันก็เริ่มอ่อนล้า ประกอบกับฮิตเลอร์เริ่มมองไปที่แนวรบด้านตะวันออก พร้อมทั้งเตรียมการบุกรัสเซีย เครื่องบินสองในสามถูกย้ายไปเพื่อเตรียมการใน ยุทธการบาร์บารอสซ่า

12 ตุลาคม 1941 ฮิตเลอร์ก็เลื่อนยุทธการสิงโดทะเลออกไปอย่างไม่มีกำหนด และหันไปเปิด แนวรบด้านตะวันออก กับรัสเซียแทน ปล่อยให้อังกฤษมีเวลาฟื้นตัว และกลายเป็นฐานทัพของฝ่ายพันธมิตรในการส่งกองทัพอากาศเข้าโจมตีเยอรมัน และเป็นฐานในการยกพลขึ้นบกครั้งสำคัญใน วัน ดี เดย์ ซึ่งส่งผลให้เยอรมันตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด

นักประวัติศาสตร์ได้วิเคราะห์ว่า การที่ฮิตเลอร์หันไปเปิดแนวรบทางด้านรัสเซียขึ้นนั้น มีสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการคือ

ประการแรก ฮิตเลอร์ต้องการลบล้างความล้มเหลวของตนในการทำลายอังกฤษ หรืออย่างน้อยก็นำมาอังกฤษมาสยบแทบเท้าของเขา

ประการที่สอง ฮิตเลอร์ประมาทศัตรูของเขาทั้งอังกฤษและรัสเซียเป็นอย่างมาก ในช่วงนี้เขาอยู่ในภาวะมั่นใจจนเกินไป อันเป็นผลมาจากความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมานั่นเอง

ในช่วงต้นปี 1942 ฮิตเลอร์อยู่ในภาวะอึดอัดใจเป็นอย่างมาก แผนการที่ยิ่งใหญ่ของเขาในการครอบครองยุโรปตะวันตก เป็นไปอย่างยอดเยี่ยม แต่ก็ต้องมาสะดุดลงเพียงเพราะกองทัพอากาศเยอรมันไม่สามารถพิชิตฝูงบินอังกฤษลงได้ ทำให้ความคิดในการยึดครองอังกฤษต้องกลายเป็นเพียงความฝัน

อย่างไรก็ตาม หากมองย้อนไปถึงความล้มเหลวในสงครามเหนือเกาะอังกฤษของกองทัพอากาศเยอรมัน กลับพบว่า ความล้มเหลวดังกล่าว เป็นความล้มเหลวจากการวางแผนของฝ่ายเสนาธิการ มากกว่าที่จะเป็นความล้มเหลวของเหล่านักบินลุฟวาฟ กองทัพอากาศเยอรมันขาดการวางยุทธศาสตร์ในการครองอากาศระยะยาว ขาดการพัฒนาเครื่องบินทิ้งระเบิดวิสัยไกล ฝูงบินต่างๆ ถูกเน้นในภารกิจ "รุก" มากกว่า "รับ" แม้จะมีการปรับยุทธศาสตร์ในภายหลัง ก็เป็นการปรับที่ล่าช้าเกินไปเสียแล้ว

ในขณะที่นักบินของกองทัพอากาศเยอรมัน ไม่ได้ล้มเหลวไปตามตัวกองทัพอากาศ เสืออากาศของเยอรมันผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดในฤดูฝน แต่ละคนทำแต้มได้สูงเหนือกว่านักบินฝ่ายสัมพันธมิตรมาก มีนักบินเยอรมันถึง 8 คนที่มีคะแนนในการทำลายเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรเกินกว่า 100 ลำตลอดสงครามโลกครั้งที่สอง

ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ Hans Joachim Marseille ซึ่งเป็นเสืออากาศของเยอรมัน ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากเหตุเครื่องยนต์ขัดข้องในเดือนกันยายน 1942 เขาสามารถยิงเครื่องบินข้าศึกตกถึง 158 ลำ โดยเคยทำสถิติทำลายเครื่องบินข้าศึกได้ในวันเดียวเป็นจำนวนถึง 17 ลำ หรือแม้กระทั่งเสืออากาศอย่าง Erich Hartmann ก็มีสถิติในการยิงเครื่องบินข้าศึกตกสูงถึง 352 ลำ ทั้งๆ ที่เขาเริ่มบินสู่สมรภูมิครั้งแรกในปี 1942 หลังสงครามเปิดฉากมาแล้วเกือบสามปี

จึงอาจกล่าวได้ว่า ความพ่ายแพ้เหนือเกาะอังกฤษของเยอรมัน เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการวางแผน หาใช่เป็นความพ่ายแพ้ของเหล่านักบินแห่งกองทัพอากาศเยอรมันแต่อย่างใด และผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้นี้ ก็คงหนีไม่พ้น จอมพลแฮร์มาน เกอริง ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อฮิตเลอร์หันไปมองดูด้านตะวันออกของเยอรมัน ดินแดน "รัสเซีย" อันกว้างใหญ่ไพศาลและอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ที่สามารถหล่อเลี้ยงอาณาจักรไรซ์ที่สามของเขาได้นานนับร้อยๆ ปี ยังคงรอคอยการครอบครอง และเหล่าพลพรรคบอลเชวิค ศัตรูหมายเลขหนึ่งของลัทธินาซีที่มีความจำเป็นต้องกำจัดให้สูญสิ้นไปเฉกเช่นเดียวกับพวกยิว รอการทำลายล้างจากนักรบอารยันของเขาอยู่







Create Date :02 มิถุนายน 2552 Last Update :22 กรกฎาคม 2553 18:17:39 น. Counter : Pageviews. Comments :5