bloggang.com mainmenu search

คอลัมน์ สยามประเทศไทย
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
มติชน 29 มิถุนายน 2555





เมืองเพชร มาจากไหน?




จ. เพชรบุรี ไม่มีมิวเซียมอธิบายว่าเมืองเพชรมาจากไหน?

ทั้งๆ เคยเป็นรัฐเอกราชในอดีตที่เต็มไปด้วยศิลปวิทยาการ แล้วปัจจุบันเป็นศูนย์รวมเส้นทางคมนาคม ลงคาบสมุทรภาคใต้ที่มีคนเดินทางผ่านไปมาปีละหลายล้านคน

"ของดีมีอยู่" แต่ไม่มีคนรู้จักยกย่องเชิดชูใช้งานแบ่งปันความรู้เรื่องเมืองเพชร อนิจจา น่าเสียดาย

คุณทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ นักข่าวและนักค้นคว้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองเพชร ชวนผมไปเล่าเรื่องสุนทรภู่ ให้ครูและนักเรียนฟัง ที่ห้องประชุมวัดมหาธาตุ เพชรบุรี เมื่อวันจันทร์ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา

ผมเล่าเรื่องสุนทรภู่ "มหากวีกระฎุมพีอาเซียน" รู้เท่าทันโลก ต่อต้านตะวันตกล่าเมืองขึ้น แถมด้วยเพชรบุรี มาจากไหน? (มีต้นฉบับอยู่ในเว็บไซต์ //www.sujitwongthes.com)

สุนทรภู่เกิดในวังหลัง เป็นผู้ดีเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) แต่มีบรรพชนทั้งสายแม่และสายพ่อเป็นเชื้อสายพราหมณ์เมืองเพชรบุรี ซึ่งสุนทรภู่เขียนบอกไว้เองในนิราศเมืองเพชร ฉบับตัวเขียนมีในหอสมุดแห่งชาติ แล้ว อ.ล้อม เพ็งแก้ว อ่านและอธิบายไว้นานหลายปีมาแล้ว

พราหมณ์เมืองเพชรบุรี ยังมีสืบตระกูลอยู่ทางบ้านสมอพรือ (สมอปรือ?) ริมแม่น้ำเพชร มีในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา หญิงบ้านนี้ไปมีลูกสาว 2 คน เป็นเจ้าจอมในสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ องค์หนึ่งมีโอรสเป็นเจ้าฟ้ากุ้ง ส่วนอีกองค์หนึ่งมีโอรสเป็นเจ้าฟ้าเอกทัศกับเจ้าฟ้าอุทุมพร

จริงอย่างนี้หรือไม่? ผมไม่มีปัญญาตรวจสอบหลักฐาน จึงได้แต่เก็บความที่ได้ยินคำบอกเล่ามาเขียนเล่าสู่กันอ่านเท่านั้น

คนพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ของเมืองเพชร ราว 3,000 ปีมาแล้ว น่าจะเป็นกลุ่มพูดมอญ-เขมร กับชวา-มลายู ส่วนพวกพูดไทย-ลาวเคลื่อนย้ายเข้ามาทีหลัง

ตระกูลลาว น่าจะเข้ามาถึงดินแดนเพชรบุรีราวหลัง พ.ศ.1600 ด้วยเหตุผลทางการค้ากับจีน และการค้าโลกยุคนั้น ส่งผลให้เมืองเพชรเป็นรัฐเอกราชในสังกัดสยาม แล้วพูดสำเนียง "เหน่อ" คล้ายสำเนียงลาวหลวงพระบางทางสองฝั่งโขง ซึ่งเป็นสำเนียงราชสำนักอยุธยา

ดังมีพยานอยู่ในคำเจรจาโขนที่ต้อง "เหน่อ" เพราะเป็นงานของราชสำนัก

พระราชาเมืองเพชรบุรีส่งไพร่พลคนเมืองเพชร ลงไปฟื้นฟูเมืองนครศรีธรรมราช ราวหลัง พ.ศ.1800 คนเมืองเพชรยุคนั้นก็เอาละครแก้บนกับหนังตะลุงและงานช่างอย่างอื่นๆ ลงไปด้วย เลยมีโนรากับหนังตะลุงแพร่หลายสืบมา แล้วเหลือซากพระพุทธรูปหินทรายอยู่ทางใต้ด้วย

ผมออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่หกโมงเช้า วันจันทร์ 25 มิ.ย. ไปถึงเมืองเพชร ราวแปดโมงเช้า เลยทอดน่องท่องเที่ยวคนเดียวเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า

เดินขึ้นสะพานหน้าวัดมหาธาตุ ข้ามแม่น้ำเพชรไปฝั่งตลาดที่ทอดยาวริมแม่น้ำเพชร (เห็นน้ำในแม่น้ำเป็นสีดำเหมือนโอยัวะ-โอเลี้ยง หรือโค้ก-เป๊ปซี่ ทำไมปล่อยกันอย่างนี้ ไม่เข้าใจ)

จนถึงสะพานอีกด้านหนึ่ง ก็เดินข้ามกลับไปฝั่งวัดพลับพลาชัย เดินเลียบแม่น้ำเพชร ย้อนกลับไปที่เดิมทางวัดมหาธาตุ ก็พอดีได้เวลา

เมื่อเข้าไปบริเวณลานวัดมหาธาตุ เห็นนางรำละครแก้บนกำลังแต่งตัว แล้วมีครูบาอาจารย์กลุ่มหนึ่งมาเล่าว่าอาคารหลังใหญ่หน้าวัดกำลังจัดทำเป็น "พิพิธภัณฑ์"

ผมถามว่าพิพิธภัณฑ์ที่ทางวัดจะทำน่ะเป็นยังไง?

พวกเขาตอบพร้อมกันอย่างภาคภูมิว่า พิพิธภัณฑ์เก็บของเก่าๆ ที่มีคนเอามาถวายวัด

นี่คือทัศนะของคนทั่วไปในไทย ที่รู้จักและเข้าใจจากทางการไทยว่ากิจการพิพิธภัณฑ์ คือที่เก็บของเก่าๆ เท่านั้น ไม่เป็นอย่างอื่น พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศจึงมีแต่ของเก่าๆ ไม่มีอย่างอื่น

ด้วยเหตุนี้ ผมถึงใช้คำว่า "มิวเซียม" ในความหมายกว้าง ว่าเป็นแหล่งเรียนรู้ ขอให้พวกพิพิธภัณฑ์ทางการ เข้าใจตรงกันตามนี้ด้วย

แล้วขอให้รัฐบาล จะโดย รมต. หรือปลัดกระทรวง ก็ตามที ให้รู้ว่าในโลกนี้ เขามีมิวเซียมเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อรู้เขา รู้เรา รู้โลก แต่ในเมืองไทย ลงทุนทำพิพิธภัณฑ์เพื่อเก็บของเก่าๆ เท่านั้น ไม่แบ่งปันเป็นแหล่งเรียนรู้เหมือนสากลโลก

รัฐบาล, รมต., ปลัดกระทรวง เลือกเองว่าต้องการแบบไหน?

แต่จะเลือกแบบไหน ก็ต้องไม่ให้เป็นแบบที่ทำลายโบราณสถานเหมือนกรณีโบสถ์พระแก้ว วังหน้า


ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คอลัมน์ สยามประเทศไทย
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ

อาทิตยวารสิริสวัสดิ์ค่ะ
Create Date :01 กรกฎาคม 2555 Last Update :1 กรกฎาคม 2555 12:05:45 น. Counter : 3780 Pageviews. Comments :0