bloggang.com mainmenu search

 

คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม 

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ


กรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยเป็นท้องทะเลอ่าวไทยเมื่อ 12,000 ปีมาแล้ว

ครั้นต่อมาด้วยปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้พัดพาเอาตะกอนหรือโคลนตมมาทับถม จนกลายเป็นผืนแผ่นดินที่มีความสมบูรณ์ ทำให้มีผู้คนหลายเผ่าพันธุ์เข้ามาตั้งหลักแหล่ง

จนถึงยุคเริ่มแรกของกรุงเทพฯ เมื่อไม่น้อยกว่า 500 ปีมาแล้วเป็นเพียงชุมชนชาวสวนขนาดเล็ก ค่อยๆขยายกว้างออกไปสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา แล้วเติบโตขึ้นเป็นเมืองบางกอก

จนพระเจ้าตากมาสถาปนากรุงธนบุรี ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและรัชกาลที่ 1 ย้ายเมืองมาฝั่งตะวันออกจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

กรุงเทพฯ อยู่ใต้ทะเลอ่าวไทย

บริเวณกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปัจจุบันตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บนพื้นที่ราบลุ่มตอนปลายของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือตอนปลายของดินดอนสามเหลี่ยมแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya delta) เท่ากับอยู่ทางเหนือของอ่าวไทย

แต่ในยุคดึกดำบรรพ์ ราว 12,000 ปีมาแล้ว พื้นที่ของกรุงเทพฯ ทั้งหมดจมอยู่ใต้ท้องทะเลอ่าวไทย น้ำทะเลอ่าวไทยท่วมท้นล้นบริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งหมด

กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่าอ่าวไทยในอดีตมีขอบเขตลึกเข้าไปในแผ่นดินที่ราบลุ่มน้ำ เจ้าพระยา สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยมีลายพระหัตถ์เล่าว่า

ขุดได้ซากปลาวาฬที่บางเขน ไม่ห่างสะพานพระราม 6 เท่าใดนักŽ

เหตุที่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นทะเล นักโบราณคดีและนักธรณีวิทยาอธิบายว่าเมื่อประมาณ 12,000 ปีมาแล้ว (เรียกกันว่าสมัยไพลสโตซีนสิ้นสุดลง) น้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นมากเพราะน้ำแข็งละลายทำให้ท้องทะเลแถบอ่าวไทยมีขอบเขตกว้างขวางสูงขึ้นไปถึงลพบุรีหรือเหนือขึ้นไปอีก

ยุคดึกดำบรรพ์ที่บริเวณกรุงเทพฯ ยังจมเป็นพื้นท้องทะเลอ่าวไทย เขตป่าเขาลำเนาไพร โดยรอบอ่าวไทยมี มนุษย์อุษาคเนย์Ž ร่อนเร่เป็นกลุ่มเล็กๆกระจัดกระจายแสวงหาอาหารตามธรรมชาติด้วยเครื่องมือทำด้วยหิน เช่น ที่แม่ฮ่องสอน ที่อ่าวพังงาทางกระบี่ รวมทั้งบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขง

แผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ยังมีสภาพเป็น ทะเลโคลนŽกว้างขวางสูงขึ้นไปมากกว่าปัจจุบัน การตั้งหลักแหล่งชุมชนและบ้านเมืองยุคแรกๆ จึงอยู่ตามที่ดอนหรือขอบอ่าวบริเวณพื้นที่ใกล้ชิดหรือติดกับ ทะเลโคลนŽ



ทะเลโคลนŽ ก่อนมีกรุงเทพฯ

ทะเลอ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์ราว 12,000 ปีมาแล้ว มีขอบเขตกว้างขวางกว่าปัจจุบัน ดังนี้

ทิศเหนือ ทะเลสูงขึ้นไปถึงบริเวณ จ. ลพบุรี หรือเหนือขึ้นไปอีก

ทิศตะวันตก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ อ. เมือง และ อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ต่ำลงมาที่ อ. นครชัยศรี จ. นครปฐม ต่ำลงมาที่ อ. เมือง จ. ราชบุรี และต่ำลงมาที่ อ. เมือง จ. เพชรบุรี

ทิศตะวันออก ทะเลเว้าเข้าไปถึงบริเวณ จ. สระบุรี จ. นครนายก จ. ปราจีนบุรี และเว้าไปถึง อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี

เมื่อขอบเขตอ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์ล้ำเข้าไปมากกว่าปัจจุบัน แม่น้ำสายสำคัญๆที่ไหลลงทะเลจึงสั้นกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ คือปากน้ำเจ้าพระยาจะอยู่บริเวณ จ. นครสวรรค์-ชัยนาท ปากน้ำแม่กลองอยู่ทาง จ. นครปฐม(แม่น้ำท่าจีนยังไม่มี) ปากน้ำบางปะกงอยู่ทาง จ. นครนายก-ปราจีนบุรี ปากน้ำป่าสักอยู่ทาง จ. ลพบุรี เป็นต้น

(บน) กระดูกหัวปลาวาฬที่ศาลศีรษะ ปลาวาฬในบริเวณพระราชวังเดิม กองทัพเรือ เป็นกระดูกที่พบอยู่ใต้ถุนศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ล่าง) ขวานหินและเศษภาชนะยุคก่อนประวัติศาสตร์ งมได้จากแม่น้ำน้อย อ. เสนา จ. พระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์หอโสภณศิลป์ วัดเชิงท่า เมืองลพบุรี) แสดงว่าตลอดลำน้ำเก่าก่อนมีแม่น้ำเจ้าพระยาเคยเป็นแหล่งอยู่อาศัยชั่วคราวหรือแสวงหาอาหารผ่านไปมาของคนยุคนั้น



ทะเลอ่าวไทยยุคดึกดำบรรพ์ที่กว้างขวางดังกล่าวมิได้อยูคงที่ เพราะแผ่นดินโดยรอบงอกออกไปเรื่อยๆตามปรากฏการณ์ธรรมชาติอันเป็นผลจากการทับถมของตะกอนหรือโคลนตมที่ล้นทะลักไหลมากับน้ำในแม่น้ำสายต่างๆที่มีอยูรอบอ่าวไทยยุคโน้น

ครั้นนานเข้าก็กลายเป็นทะเลโคลนตมขยายพื้นที่กว้างออกไปเรื่อยๆ ช้าๆ ตามธรรมชาติ ในที่สุดโคลนตมที่ถมทับกลับกลายเป็นดินดอนแผ่กว้างเป็นแผ่นดินบกสืบเนื่องจนปัจจุบัน

นอกจากจะถมทะเลให้เป็นแผ่นดินบกแล้ว โคลนตมจำนวนมหาศาลยังเป็นปุ๋ยธรรมชาติดีที่สุดที่ทำให้พื้นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวในสมัยหลังๆ

เมื่อตะกอนจากแม่น้ำทะลักออกมาทับถมนานนับพันปี ในที่สุดอ่าวไทยก็ค่อยๆหดลง บริเวณที่โคลนตมตกตะกอนก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินใหญ่

คนดึกดำบรรพ์ร่อนเร่ ทะเลโคลนŽ

ราว 5,000 ปีมาแล้ว พื้นที่กรุงเทพฯ ยังอยู่ใต้ทะเลโคลน แต่มนุษย์อุษาคเนย์เริ่มตั้งหลักแหล่งถาวรเป็นชุมชนหมู่บ้าน ทำการกสิกรรม เช่น ปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ อยู่บริเวณภาคเหนือ เช่น แม่ฮ่องสอน ฯลฯ และอีสาน เช่น บ้านเชียง ฯลฯ หลังจากนั้นก็กระจัดกระจายกว้างออกไปที่อื่นๆ

ราว 4,000 ปีมาแล้ว ก็เกิด โลหปฏิวัติŽ เมื่อมนุษย์มีความก้าวหน้าถลุงโลหะทำเครื่องมือเครื่องใช้แทนเครื่องมือหิน

ต่อมาเมื่อ 3,000 ปีมาแล้ว ก็รู้จักถลุงเหล็กทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ มีชุมชน บ้านเมืองขนาดเล็กๆเกิดขึ้นทั่วไป ชาวชมพูทวีป (อินเดีย) และฮั่น (จีน) เดินทางเข้ามาแลกเปลี่ยนค้าขาย มีคนจากที่ต่างๆ เคลื่อนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

แต่บริเวณกรุงเทพฯ ยังเป็นทะเลโคลนตม จึงไม่มีคนตั้งหลักแหล่งถาวรได้ จะมีก็เพียงคนบางกลุ่มเคลื่อนไหวแสวงหาอาหารผ่านไปมา

ต้องรอเวลาอีกพันๆปี เมื่อโคลนตมถมทับเป็นดินดอนแข็งแรง ถึงจะมีคนเคลื่อนย้ายมาตั้งหลักแหล่ง แล้วเติบโตเป็นกรุงเทพฯ ทุกวันนี้

แต่ไม่มีใครรู้ว่าน้ำทะเลจะสูงขึ้นจนทำให้กรุงเทพฯ จมทะเลโคลนตมเมื่อไร?

ขอบคุณ
มติชนออนไลน์
คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม 
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ
สวัสดิ์สิริชีววารค่ะ

Create Date :19 เมษายน 2555 Last Update :19 เมษายน 2555 13:13:53 น. Counter : Pageviews. Comments :0