bloggang.com mainmenu search


Movie: Oba: The Last Samurai
Director: Hideyuki Hirayama
Writer: Don Jones, Takuya Nishioka, Gregory Marquette, Cellin Gluck
Cinematographer: Kozo Shibasaki, Garry Waller
Release Date: February 11, 2011
Runtime: 128 min.



太平洋の奇跡-フォックスと呼ばれた男-
Taiheiyo no kiseki - Fox to yobareta otoko
ปาฏิหาริย์แห่งแปซิฟิก ชายผู้ถูกเรียกว่าสุนัขจิ้งจอก

เห็นโปสเตอร์ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก
แค่เป็น ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ เท่านั้นก็เพียงพอ

กับบทบาทนายทหาร "ร้อยเอกซามูไร" ผู้ได้รับการถูกเรียกขาน

"สุนัขจิ้งจอกแห่งกองทัพญี่ปุ่น"

เจอคำเท่ๆ อย่างนี้เข้าไป เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพลาด

เรื่องย่อจากปก DVD

ร้อยเอกโอบะ ซากาเอะ หัวหน้าหน่วยทหารเดินเท้า ได้รวบรวมทหารที่รอดชีวิตจากการต่อสู้กับอเมริกา หลบหนีขึ้นไปบนภูเขาทะโพเจา และได้บัญชาการรบบนภูเขาลูกนี้ นอกเหนือจากทหารแล้ว ยังมีชาวบ้านร่วมสองร้อยคนอาศัยอยู่ด้วย ร้อยเอกโอบะได้ใช้ความฉลาดแหลมคม หลอกให้ทหารอเมริกาติดกับ จนต้องแตกพ่ายไปหลายครั้ง ร้อยเอกหลุยซ์ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการกับทหารญี่ปุ่นที่อยู่บนภูเขาทะโพเจา ยอมรับในความสามารถของร้อยเอกโอบะ จึงให้สมญานามว่าฟอกซ์ (หมาจิ้งจอก) ร้อยเอกโอบะ จะนำพาชาวบ้านและทหารที่รอดชีวิตพ้นจากทหารอเมริกาได้อย่างไร



ก่อนอื่นขอเอ่ยถึงปก DVD สักหน่อย ก็ไม่ได้จะว่าอะไรหรอกนะคะ แต่พอเห็นแล้วมันสะดุดตาทันใดเพราะภาพของโปสเตอร์หนังต้นฉบับมันเข้ากันกับเนื้อหาดราม่าสงครามของหนังอยู่แล้ว แต่ถ้าดูจากปก DVD มันจะเป็นคนละอารมณ์กัน จึงอยากจะเตือนไว้ก่อนถ้าใครจะซื้อหรือจะเช่าหนังมาดูโดยคาดหวังภาพสงครามการรบระห่ำ เพราะมันไม่ใช่ ถึงจะมีฉากรบกัน มันก็ยังไม่ถึงขั้นจะเรียกว่าได้ว่าเป็นแอคชั่นสงคราม



หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือ Oba , the last samurai : Saipan 1944-1945 เขียนโดย ดอน โจนส์ ครูสอนภูมิศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกาที่ถูกเรียกตัวไปเป็นทหารรับใช้ชาติในสงครามครั้งนั้น (บางข้อมูลระบุว่าเป็นทหารของกองทัพเรือ) ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เกาะไซปันในช่วงเวลาดังกล่าว และหน่วยทหารของเขาก็ถูกกองทหารของร้อยเอกโอบะ โจมตีอยู่หลายครั้ง

หนังให้เครดิตเอาไว้ว่า Base on a true story ดังนั้น ถ้าอ้างอิงตามหนัง กองกำลังทหารของร้อยเอกโอบะ ได้ยืนหยัดอยู่ในสมรภูมิป่าทึบที่เกาะไซปันในมหาสมุทรแปซิฟิก กินเวลาถึง 512 วัน (ปีครึ่ง) แม้วันที่ 14 สิงหาคม 1945 รัฐบาลญี่ปุ่นโดยจักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้ประกาศกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่สงครามบนเกาะไซปันยังคงยืดเยื้อต่อมาอีก 3 เดือน ก่อนจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 1 ธันวาคม 1945 ว่ากันว่านี่เป็นจุดสิ้นสุดของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง





เซอิจิ โอคุดะ ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้บอกว่าเขาได้อ่านหนังสือ Oba, the last samurai เมื่อ 30 ปีก่อน และมีความตั้งใจจะนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนต์อยู่นานแล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมาหนังสือขาดตลาดและไม่มีการตีพิมพ์มานาน จึงติดปัญหาการตามหาผู้ถือลิขสิทธิ์ที่แท้จริง

ในที่สุด ความตั้งใจก็กลายเป็นจริง หนังถูกสร้างขึ้นมาได้สำเร็จ ประหนึ่งชีวิตสู้เพื่อฝันในละครญี่ปุ่นเลยนะเนี่ย



เนื้อหาก็เป็นไปตามคาด หนังได้สื่อถึงความรักเกียรติศักดิ์ศรี ความศรัทธาในวิถีบูชิโด ผ่านตัวละครชาวบ้านไปจนถึงนายทหารชาติซามูไร แม้จะพยายามลดทอนการชื่นชม "ความเป็นคนญี่ปุ่น" โดยทำให้ดูเหมือนเป็นการบอกเล่าผ่านสายตาอเมริกัน แต่มันก็ยังคงเป็นหนังที่ยกย่องวิถีแห่งตน(คนญี่ปุ่น)อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ว่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา ดูอย่างอเมริกาก็เป็นชาติพระเอก 99 % ในหนังสงครามฮอลลีวู้ดทั้งหมด อเมริกาคือพระเอกขี่ม้าขาว ปรามปรามประเทศฝ่ายอธรรมและเป็นผู้นำของโลกใบนี้



เหลียวมาดูหนังละครที่มีสงครามย้อนยุคของบ้านเรา พม่าก็จะตกอยู่ในฐานะศัตรูผู้รุกรานตลอดกาล ซึ่งความจริงมันก็ก่อความรู้สึกนึกคิด (พ่วงจินตนาการส่วนตนอีกต่างหาก) ฝังหัวมานานตั้งแต่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์แล้วล่ะ ยิ่งถ้าเป็นยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเจ้าตากสิน ยิ่งรู้สึกเกลียดพม่าเป็นพิเศษ เจอละครเรื่อง 'สายโลหิต' พม่ามันเผาเอาพระพุทธรูป ลอกทองคำของเราไป... ยิ่งสุดแค้น อยากจะร้องตะโกนบอกฟ้าข้ามชายแดนพม่าไป (ตอนไปซึ้อของปลอดภาษีที่แม่สอดและแม่สาย)

ชเวดากอง...เอาทองของประเทศฉันคืนมา



หนังสือถูกเขียนโดยทหารอเมริกัน หนังก็ใช้เสียงบรรยายเหตุการณ์เป็นภาษาอังกฤษ เข้าใจว่าคงอยากจะให้สอดคล้องกันและทำให้ดูเหมือนว่า นี่เป็นการเล่าจากมุมมองของอเมริกันจริงๆ นะ (แต่ฉันไม่เชื่อหรอก)

ต่อไปนี้มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วน
ถ้ายังไม่ดู.. ก็ข้ามไปเลยนะคะ

ชอบหนังเรื่องนี้ตรงไหน ?

* ไม่ป้ายสีอเมริกา
ความโกรธแค้นของผู้คนต่อการสูญเสียนั้นมีแน่ มุมมองว่าอเมริกาเป็นชาติศัตรูที่ต้องต่อสู้และเอาชนะเป็นของธรรมดาย่อมต้องมีให้เห็นในฐานะคู่สงคราม แต่หนังไม่ได้ไปแตะประเด็นสาเหตุ หรือวิจารณ์การใช้ระเบิดปรมานูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ไม่ได้สร้างภาพทหารฆ่าข่มขืนประเภทนั้นให้เห็น เพราะก็คงไม่มีช่องจะไปว่าใครได้ ไม่ว่าจะในแง่สงครามที่ญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศก้าวร้าวตัวดี และในแง่พฤติกรรมทหารก็เป็นอย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาเกลียดกัน อย่างที่มีข่าวประธานาธิบดีเกาหลีใต้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นแสดงความรับผิดชอบต่อกรณี "ทาสกามารมณ์" ในช่วงสงคราม เมื่องานวันฉลองอิสรภาพของเกาหลี 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นก็จัดงานเหมือนกัน งานรำลึกครอบรอบ 67 ปี การประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2



* เหมือนดูหนังฮอลลีวู้ด
เพราะมีฝรั่งแสดงเป็นทหารอเมริกันอยู่ครึ่งหนึ่ง มันรู้สึกจับต้องได้ในความเป็นทหารญี่ปุ่น VS ทหารอเมริกา เพราะหนังแนวดราม่าสงครามบางเรื่องนั้น มันเหมือนมีทหารอเมริกาอยู่ฝ่ายเดียว ยิงๆ วิ่งๆ เดินๆ หลบพุ่งไปมาอยู่ในป่า แต่ว่าศัตรูนั้นอยู่ไหนกันบ้างไม่ค่อยได้เห็น มีแต่ลูกปืนและลูกระเบิดที่สวนสู้มาให้พระเอกได้แสดงความเป็นฮีโร่

ภาพฉากฐานทัพอเมริกา ค่ายเชลย ฉากแอคชั่นสู้รบที่พอมีหอมปากหอมคอ ตลอดจนซากสงครามบิ๊วอารมณ์ก็ทำได้ดี ซึ่งถ้าทำกิ๊กก๊อกในส่วนนี้ มันก็จะไม่ช่วยเอื้ออารมณ์ให้แก่หนังได้ดีพอ



* การแบ่งปันบทบาท
หนังไม่ได้ยัดเยียดความเป็นพระเอกฮีโร่ให้กับร้อยเอกโอบะอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็น ไม่แสดงฉากท่านผู้กองแสดงความปราดเปรื่องนั่งคิดกลยุทธ์วางกับดักศัตรู ไม่แสดงความเก่งกาจการสู้รบด้วยแอคชั่นเท่ๆ เพียงแต่แสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากยุทธวิธีอันสื่อไปถึงความเป็นผู้นำนักรบที่มีไหวพริบสติปัญญา ทหารอเมริกาโดนเข้าหลายครั้งก็ชักเสียขวัญและพากันเรียกเขาว่าฟอกซ์ (Fox เปรียบเป็นหมาป่าเจ้าเล่ห์) พากันร่ำลือกระทั่งว่าผู้นำทหารญี่ปุ่นคนนั้นเจ๋งถึงขั้นรู้เวลาของม่านหมอกในภูเขา



ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของร้อยเอกโอบะ แต่น้ำหนักของเรื่องก็ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายทหารญี่ปุ่นด้านเดียว มันถ่ายเทมาที่ฝ่ายทหารอเมริกาค่อนข้างมากจนเกือบจะครึ่งต่อครึ่งก็ว่าได้ บทบาทของผู้นำทหารทั้งสองฝ่ายต่างก็ก็โดดเด่น บรรยากาศมันเคร่งเครียดทางฝ่ายทหารญี่ปุ่น แต่มันจะผ่อนคลายเมื่อเปลี่ยนบรรยากาศมาที่ฝ่ายทหารอเมริกา บางจังหวะมันก็มีขำเล็กๆ ด้วย (ถ้าเส้นตื้น)




ฝ่ายทหารญี่ปุ่นมี ร้อยเอกโอบะ ซากาเอะ (ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ)
ฝ่ายทหารอเมริกา ก็มีร้อยเอกเฮอร์แมน หลุยซ์ (Sean McGowan)

ถ้าเข้าใจไม่ผิด เสียงบรรยายเล่าเรื่องเป็นเสียงของ McGowan ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงร้อยเอกโอบะผ่านการรับรู้เรื่องราวของร้อยเอกเฮอร์แมนผู้รู้สึกยอมรับนับถือในตัวผู้นำทหารฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ยังไม่รู้ชื่อและไม่เคยได้เห็นตัว



* ภาพลักษณ์นายทหาร
ชอบลักษณะของ "ผู้กองโอบะ" และ "ผู้กองหลุยซ์" ทั้งสองคนเปรียบเสมือนตัวแทนของกองทัพที่ต่างทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน ทหารที่ไม่ใช่ฮีโร่แข็งแกร่ง แต่เป็นทหารเข้มแข็งและเป็นสุภาพบุรุษผู้อ่อนน้อม

ฉากการพบกันครั้งแรกของผู้กองโอบะ และผู้กองหลุยซ์
ถือเป็นฉากสำคัญฉากหนึ่งของเรื่อง

และชอบผู้กองโอบะ ณ จุดนี้มาก

ภาพที่เขาเดินออกมาจากป่าตามลำพัง ในสภาพดำมอมแมมผอมโกร่ง
ยืนนิ่งอยู่ที่ชายป่าตรงนั้น กับสายลมโชยพัดชายหมวกปลิวเบาๆ
ดูสารรูปแล้วน่าสงสาร แต่ท่าทีสงบเงียบนั้นดูมีออร่าความน่านับถือ

ภาพผู้กองหลุยซ์ก้มหัวคำนับในระดับให้เกียรติพองาม
ภาพที่ผู้กองโอบะคำนับตอบในระดับเดียวกัน

ไม่รู้เป็นไรกับฉากนั้นนักนะ มันได้ใจแต่บรรยายไม่ถูก



* การนำเสนอ "ความเป็นคนญี่ปุ่น"

มันช่างเป็นดูเป็นความจงใจชวนให้สงสัยเหลือเกินว่าเนื้อหาในหนังสือของดอน โจนส์ เป็นอย่างไร ผู้กองหลุยซ์มีตัวตนและเคยได้เคยศึกษาอยู่ในประเทศญีปุ่น 2 ปี ก่อนเกิดสงครามด้วยไหม ? เขาจึงรู้ภาษาและเข้าใจในวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และแง่มุมของ "ความเป็นคนญี่ปุ่น" ก็ถูกถ่ายทอดจากความเข้าใจของผู้กองหลุยซ์คนนี้นี่เอง



แต่ความจงใจนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้อารมณ์ของหนังเบาลง เพราะผู้กองหลุยซ์จะมีท่านผู้บัญชาการที่อารมณ์ไม่ค่อยจะดี ไม่ว่าจะพูดกันกี่ที ท่านผบ.ก็ยังเป็นคนประเภทที่ ..ตูไม่เข้าใจพวกไอ้ยุ่นมันเลย ลูกน้องผู้กองหลุยซ์ก็น่ารัก-กวนใช้ได้ (หล่อด้วย) มีทั้งเงี่ยหูฟังด้วยความสนใจ และมีที่หน้าเบ้เมื่อได้ฟังคารมผู้กองหลุยซ์พูดถึงคนญี่ปุ่นด้วยน้ำเสียงแฝงความนิยม



"ฉันต้องการความช่วยเหลือจากนาย หลุยซ์ ฉันไม่เข้าใจคนญี่ปุ่นจริงๆ
ทั้งเรื่องแนวคิดบูชิโดด้วย คนญี่ปุ่นมีแนวคิดที่ประหลาด"

"ปัญหาเรื่องของเกียรติยศน่ะครับ เป็นแนวคิดที่ปลูกฝังกันมานาน"

"ทั้งเรื่องฆ่าตัวตายด้วยเรอะ?"

คำ 'ฆ่าตัวตาย' ทำให้ผู้กองหลุยซ์หยิบหมากรุกญี่ปุ่นออกมาเพื่ออธิบายคำตอบ (ชอบฉากนี้)



* เนื้อเรื่อง .. ความดื้อด้านของทหารญี่ปุ่น และความยากลำบากของทหารอเมริกา
เมื่อปัญหาการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นบนเกาะไซปันยังคงเรื้อรัง ผู้บัญชาการฐานทัพของอเมริกาย่อมอารมณ์เสียเพราะโดนกดดันจากเบื้องสูง แม้จะมีทหารเพียงแค่หยิบมือแต่ bullshit ไอ้ฟอกซ์นั่น (ผู้กองโอบะ) ก็ใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรทำให้ทหารอเมริกาต้องเสียกำลังพลไปไม่น้อย เอาชนะไม่ได้ทั้งที่พวกทหารญี่ปุ่นมีชาวบ้านกว่าสองร้อยชีวิตเป็นตัวถ่วงอยู่ภายใต้การคุ้มครอง แค่จะกวาดต้อนชาวบ้านมายังค่ายเชลยยังทำไม่ได้ นับประสาอะไรกับการทำให้พวกทหารยอมแพ้ หายหัวกันไปหมดทั้งทหารและชาวบ้าน ด้วยภูมิประเทศเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยหุบเขาที่ไม่อาจจะมองเห็นได้จากเครื่องบินลาดตระเวน ฝ่ายอเมริกาต้องใช้ความพยายามกระทั่งสั่งกำลังพลจำนวนมากเดินเท้าเรียงหน้ากระดานควานหาไปทั่วพื้นที่ป่า



บรรดาผู้นำเหล่าทหารของกองทัพญี่ปุ่นที่ถูกจับตัวได้ แทนที่จะทำตัวมีประโยชน์บ้างในฐานะเชลย ก็พากันฆ่าตัวตายไปซะหมด เล่ากันว่าที่หน้าผาแห่งหนึ่งบนเกาะไซปัน ชาวบ้านต่างพากันไปโดดหน้าผาตายเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ผู้บัญชาการไม่อาจเข้าใจ ทำไมกระทั่งผู้หญิงและเด็กก็พากันฆ่าตัวตาย ซึ่งเรื่องนี้ผู้กองหลุยส์เขามีคำตอบ



รถทหารบรรทุกเครื่องขยายเสียงของทหารอเมริกา เป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ ถึงกับหัวเราะเลย เมื่อเห็นมันโผล่ออกมาพร้อมกับเสียงเพลงและคำป่าวประกาศ

"ทหารญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นทุกคน ที่หลบซ่อนในภูเขาทะโพเจา
ได้ยินเพลงที่เปิดนี้แล้ว คงจะคิดถึงบ้านเกิดสินะ
ทหารอเมริกันไม่ฆ่าทุกคนหรอกครับ รีบๆ ยอมแพ้จะดีกว่า"

แต่มันก็ไม่ได้ผล ความยืดเยื้อของสงครามบนเกาะไซปันยังคงคาราคาซังต่อไป



* คำสนทนาโดน ๆ
ถ้าจะเข้าใจวิถีวัฒนธรรมของคนชาติอื่นมันต้องมีการเปิดใจ แต่ผู้บัญชาการทหารอเมริกาไม่อยากจะสนวัฒนธรรมห่-าเห-วอะไรนั่น เพราะสุดท้าย ..

"ฉันก็ยังไม่เข้าใจพวกไอ้ยุ่นอยู่ดี"

ถ้าอยากตายกันนักก็จัดไป ทำอย่างไรก็ได้ให้ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้ลงมาจากภูเขา ให้สงครามจบสิ้นให้เร็วที่สุดแล้วพวกเราพากันกลับบ้าน จึงมีบทสนทนาหลายๆ สิ่ง ที่สื่อประเด็นของหนังได้ดี อย่างเช่นว่า ...

"ก่อนอื่นคำว่า 'ยอมแพ้' ก็ไม่ควรใช้ครับ
คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ภูมิใจในชาติตัวเองสูง
พวกเขาจะไม่มีวันยอมแพ้ง่ายๆ "

"ห้ามทำลายเกียรติยศของคนญี่ปุ่น
ไม่ควรประกาศว่าให้ยอมแพ้
แต่ควรใช้คำว่า 'เลิกต่อต้าน' จะดีกว่าครับ"

ชอบหน้าตาของคนฟัง ที่มีอาการเหมือนว่า ตูงง ...นั่นมันต่างกันตรงไหน ?

ญี่ปุ่นไม่มีทางจะชนะสงครามได้ ประเทศก็ถูกถล่มทำลายย่อยยับ แล้วพวกทหารจะยังดันทุรังกันไปถึงเมื่อไหร่ คำถามคือ

"บอกหน่อยสิ ทำไมคนญี่ปุ่นถึงปฏิเสธที่จะยอมแพ้"

และก็เป็นอีกครั้งที่ผู้กองหลุยซ์ หยิบตัวหมากรุกญี่ปุ่นออกมา ....






* ป๋ายูของเราเขาแก่แล้ว
มันคือสัจธรรม สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเมื่อได้เห็น ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ ในหนังเรื่องนี้ (ตัวจริงอายุ 40 ปี) เขามีอายุการทำงานในวงการแสดงมาแล้ว 17 ปี แต่เพิ่งเคยแสดงหนังแค่ 3 เรื่องเท่านั้น แม้สายงานหลักจะไม่อยู่บนจอเงิน แต่ก็เข้าตาแคสติ้งให้มารับบทสำคัญนี้ ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมทั้งวัย ทั้งประสบการณ์คร่ำหวอด เพราะการจะถ่ายทอดเกร็ดชีวิตของบุคคลสำคัญในยุคสงครามที่มีเกียรติประวัตินายทหารส่วนตนอันส่งผลไปถึงเกียรติภูมิของชาติด้วยนั้น มันเป็นอะไรที่ต้องพึ่งระดับเก๋า-มากฝีมือ



หนังเรื่องนี้ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งต่อยูทากะ ความที่เขาดูแก่มากในบทบาทนี้ มันเกิดความรู้สึกยอมรับขึ้นมาได้ว่า ยูทากะจะไม่ใช่นักแสดงหนุ่มหล่อที่อยู่ในบทบาทพระเอกหนุ่มหล่อมาดเท่อีกต่อไป

อธิบายความเวิ่นเว้อส่วนตน - บทนี้มันเหมือนกับว่าเขาได้ก้าวข้ามเส้นขีดคั่นระหว่างการเป็นพระเอกหนุ่มไปสู่การเป็นนักแสดงอีกกลุ่มที่เรามักเรียกว่า "นักแสดงอาวุโส" เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนที่ส่งยูทากะไปยังฝั่งสูงวัยอย่างเต็มตัว และด้วยบทที่ดีอย่างนี้ คำว่าขาลงจากเหตุจากสังขารโรยจะฟังเป็นคำหยาบคายไปเลย เพราะถึงบทจะแก่ แต่ก็แก่อย่างน่าภาคภูมินะขอบอก



อยากติอะไรในหนังเรื่องนี้บัาง?

* บทของอิโนอุเอะ มาโอะ และ ยามาดะ ทากายูกิ
สาวชาวบ้านกับหน้าที่พยาบาลจำเป็น มาโอะเป็นตัวแทนของคนญี่ปุ่นผู้สูญเสียและโกรธแค้น ด้วยเหตุนี้เธอจึงฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ ซึ่ง..เยอะไป น่ารำคาญ โชคดีที่คู่เขม่นของเธอไม่ใช่นายทหารชั้นผู้นำอย่างยูทากะ เพราะนั่นอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของร้อยเอกโอบะเสื่อมความขลัง ดังนั้น..ผู้รับบทเขม่นตอบสาวมาโอะ ย่อมต้องเป็นนายทหารหนุ่มคนสำคัญคือยามาดะ ทากายูกิ ส่วนตัวเสียดายตรงนี้ เพราะอยากให้เป็นนักแสดงอื่นที่ชอบมากกว่า แต่ยามาดะก็เล่นได้เคร่งเครียดดี เพราะเขาเป็นตัวแทนของทหารรักชาติประเภท "สุดโต่ง"



* ทหารอเมริกันพุงพุ้ย
ไม่รู้ไปขุดเอาฝรั่งแก่ๆ ที่ไหนกันมา แก่ไม่ว่า ทหารมันก็ต้องมีแก่กันบ้างล่ะ แต่การที่มีทหารหลายๆ คนพากันยื่นพุงล้นหลามออกมามันก็ดูตลกไปหน่อย โดยเฉพาะตัวท่าน ผบ.ที่พุงใหญ่กว่าใครเขา ถ้าถ่ายแต่หน้าก็โอเคแต่ถ้าเห็นตัวมันดูไม่ดีเลย เหมือนเป็นตาแก่ขี้บ่นมากกว่าจะเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา



* ค่ายเชลย-ลักลอบเข้าออกง่ายไปหน่อยมั้ย
ลวดหนามก็ปลดง๊ายง่าย ทหารก็ไม่รู้จักมีลาดตระเวน แต่ชอบฉากที่พระเอกล้มกลิ้งออกมาตรงรั้วลวดหนาม แล้วฝูงเครื่องบินบินผ่านเหนือหัว มุมภาพสวยมากได้อารมณ์ตอกย้ำถึงแสนยานุภาพของกองทัพอเมริกาใส่หัวพระเอกพอดีเลย



* ความเป็นปถุชนคนธรรมดา
หนังมุ่งไปในเรื่องทหารผู้พร้อมยอมพลีเพื่อชาติอย่างไม่ยอมแพ้ ดั่งคำผู้กองโอบะ "แม้จะเหลือแค่คนเดียวก็ต้องปกป้องคนหมู่มากเอาไว้ให้ได้" จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอารมณ์ส่วนตัวของทหารในแง่ครอบครัว คนที่รักและรออยู่ข้างหลัง ความโกรธแค้นและเจ็บปวดต่อสงครามก็เลยไม่พีคสักเท่าไร แม้แต่ตัวสำคัญอย่างยามาดะก็ไม่มีพื้นเพอะไรเพิ่มเติมนอกจากเขาเป็นนายทหารชื่อคิตานิ หรือแม้แต่ผู้กองโอบะเองก็รู้แค่ว่าเขามีลูกสอง



* ความมอมแมม
นี่ไม่ใช่ข้อติหรอกนะคะ แค่เป็นข้อขัดใจทำให้จำนักแสดงไม่ได้ ยิ่งฉากรบไม่รู้ใครเป็นใคร ผู้กองโอบะของชั้นอยู่ไหน ตรงไหน คนไหนล่ะ นายทหารหน้าเคร่งคิตานะก็ผ่านไปตั้งครึ่งเรื่องกว่าจะรู้ว่าเป็นยามาดะ เอโมโตะ โทคิโอะ นายทหารสติเฟื่อนหน้าตาเป็นเอกลักษณ์หาใครเหมือนได้ยากยังต้องใช้เวลาอึดใจถึงนึกออก นายทหารอาวุโสคนหนึ่งผ่านไปค่อนเรื่องถึงรู้ว่าเป็น มิตสุอิชิ เคน จะมีก็แต่ โอคาดะ โยชิโนริ ที่บทเด่นพอกันกับยามาดะแต่จำเขาได้ทันทีเพราะมีความคุ้นเคยกับผลงานในคาแร็คเตอร์ที่ชวนจำมากกว่า



โดยรวมแล้วชอบหนังเรื่องนี้ มีหลายฉากหลายตอนที่ส่งความหมายได้ถึงความรู้สึก อย่างตอนผู้กองโทบะ แกล้งตายในสนามรบ ถูกทหารปลายแถวเย้ยหยันว่ากลัวตาย แต่มันเป็นจุดที่หนังได้บอกว่า เขาไม่ใช่ฮีโร่ และไม่ใช่รักตัวกลัวตาย ถึงมันจะดูน่าอับอาย แต่การรักษาชีวิตรอดมันมีค่ากว่าความกล้าหาญโง่ๆ แน่นอน



เด็กทารกคนเดียว สื่อความหมายหลายอย่าง เด็กผู้บริสุทธิ์ และเป็นประกายแห่งความหวังให้คนรู้สึกมีพลัง แต่มีความคาใจอย่างหนึ่งคือ เพื่อเด็กคนนี้ ผู้กองโอบะได้ตัดสินใจผูกผ้าแดงเอาไว้ที่หน้าบ้าน ทหารอื่นไม่ชอบใจ บอกว่าอย่าทำตัวเป็นพ่อพระ อย่าผูกผ้าผืนนั้น เพราะทหารอเมริกันจะรู้ว่าพวกเราอยู่แถวนี้ แต่พอได้ฟัง ผู้กองโอบะกลับขยับปมผ้าให้แน่นยิ่งกว่าเดิม เมื่อทหารอเมริกันผ่านมาเห็นผ้าแดง ใครคนหนึ่งพูดว่า มันอาจเป็นกลลวง

การผูกผ้าแดงหมายถึงอะไร ? หรือมันจะหมายถึง "สันติ" ?
ถ้าใครดูฉากนี้แล้วเข้าใจช่วยบอกที



การตัดสินใจของผู้กองโอบะในเรื่องนี้ เป็นที่ยอมรับในทุกกรณี บางอย่างมันอาจไม่เท่ แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นต้องกระทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ใช่ผู้นำที่ดีน่ะสิ




อีกฉากหนึ่งที่ชอบคือตอนผู้กองหลุยซ์บอกให้ผู้กองโอบะได้รู้ เหล่าทหารอเมริกันเรียกเขาว่า "ฟอกซ์" ชอบใบหน้าของผู้กองโอบะตอนที่ปฏิเสธอย่างซื่อตรง

"ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมแค่อยากจะสู้อย่างทุ่มเท"

(คิดว่าเป็นฉากเท่ที่สุดของผู้กองโอบะในเรื่องนี้)

ชอบตอนจบมาก

แม้ความรู้สึกดีต่อหนังอาจยังไม่สุดถึงขั้นจะเรียกว่าประทับใจ
แต่หนังก็คงบรรลุวัตถุประสงค์ที่ทำให้รู้สึกได้ว่า
นี่สินะ คือสิ่งที่หนังอยากจะแสดงออกมาให้เห็น

.. ความสง่างามของผู้แพ้...









ขอบคุณ Asian Wiki
Create Date :21 สิงหาคม 2555 Last Update :22 สิงหาคม 2555 23:50:49 น. Counter : 11289 Pageviews. Comments :4