bloggang.com mainmenu search


เมื่อวานนั่งดูหนังเรื่อง The shack เป็นหนังคริสเตียนสไตล์ครอบครัว อบอุ่นหัวใจ จริง ๆ ประเด็นมันมีมากมาย และในต่างประเทศก็มีคนโจมตีพอสมควร โดยเฉพาะพวกคริสเตียนหัวเก่า เกี่ยวกับการหมิ่นเหม่ความเชื่อบางประการในศาสนา แต่ในที่นี้ ขอพูดถึงประเด็นเดียวที่อาจจะน่าสนใจ เป็นปัญหาโลกแตกที่มีมาแต่ดึกดำบรรพ์พันปีนั่นก็คือ

.
“ถ้าพระเจ้ามีจริง หรือรักมนุษย์จริง ทำไมถึงปล่อยให้มีความชั่วและความทุกข์โศกเศร้าเกิดขึ้นในโลก”
.
“ทำไมคนที่ศรัทธาพระเจ้าถึงเกิดเรื่องหายนะในครอบครัวได้ขนาดนี้”
.
ถ้าคนที่ไม่ใช่ชาวคริสต์ มาเห็นคำถามแบบนี้ก็คงตอบง่าย ๆ กำปั้นทุบดินว่า
.
“ก็มันไม่มีพระเจ้าแต่ต้นอยู่แล้วไง หรือถ้าพระเจ้าทรงทำได้ทุกอย่าง ทำไมไม่ห้ามความชั่วล่ะ”
.
อย่างไรก็ตาม ทุกคนมีปัญหาทั้งนั้น ปัญหาและความทุกข์ยากนั้นคู่กับมนุษย์มาตลอด เวลาเกิดความรู้สึกอยุติธรรมที่หาคำตอบไม่ได้ หรือความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับตัว ถ้าไม่ใช่ศาสนิกชนในเทวนิยม เราก็มักจะตั้งคำถามกับตัวเองหรือใครสักคนว่า
.
“ฉันทำดีมาตลอดชีวิต ทำไมลูกฉันถึงถูกฆ่า ทำไมความดีไม่ตอบแทนฉันเลย”
.
“ถ้าชาติที่แล้วฉันฆ่าลูกเขา แล้วชาตินี้เขากลับมาฆ่าฉัน ฉันควรจะรู้ แต่นี่ฉันไม่รู้อะไรเลย มันไม่ยุติธรรม”
.
บางทีโลกก็เหมือนมีเหตุผล บางทีโลกก็เหมือนไม่มีเหตุผล จริง ๆ แล้วมันมีเหตุผลในแบบของมัน เพียงแต่เราไม่เข้าใจ เพราะเราเอาเหตุผลของเราไป “ตัดสิน” เช่น การที่แพนด้าโดนเสือฆ่าเป็นความน่าสงสาร แต่เราไม่สงสารเสือที่ไม่มีอาหารกิน หรือนกกระเรียนบางตัวหายากมาก อุตส่าห์เพาะพันธุ์มานานด้วยความยากลำบาก แต่เมื่อปล่อยสู่ธรรมชาติกลับโดนหมาไนที่มีดาดดื่นจับกินซะนี่ กฎธรรมชาติมักขัดแย้งกับความรู้สึกของเราที่ใช้ตัดสินเสมอ ศาสนาพุทธจึงสอนให้พยายามเข้าใจกฎของธรรมชาติ ขณะที่ศาสนาคริสต์สอนให้แสวงหาน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า ที่มันช่างขัดแย้งกับความรู้สึกแบบมนุษย์ ๆ อย่างเราเสียเหลือเกิน และบางทีก็เข้าใจได้ยากยิ่ง หรือปุถุชนธรรมดาเข้าใจไม่ได้เลยด้วย ตัวอย่างเช่นความยุติธรรมอันเป็นอจินไตย
.
.
การควานหาความยุติธรรมข้ามภพข้ามชาติ รวมทั้งการทำงานของกรรม ที่เรียกว่า (กรรมวิสัย) นั้น เป็นหนึ่งในอจินไตย 4 ประการ หรือสิ่งที่ปุถุชนไม่ควรคิด ในพุทธศาสนาเหมือนกัน ถ้าเรายังไม่ได้เป็นอริยบุคคล หรือได้รับการเปิดเผยจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไม่มีสิทธิ์ล่วงรู้ได้เลยว่าเราทำกรรมอะไรมา เราถึงรับกรรมในชาตินี้ ยิ่งคิดยิ่งวน ยิ่งเครียดและยิ่งทุกข์ เหมือนเล่นงูกินหางที่เราไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นทั้งหัวและหางของงู เรามนุษย์เป็นเหมือนเด็กไร้เดียงสาที่ถูกโยนลงมาในโลก โดยไม่รู้ว่ามาจากไหน และไม่รู้ว่าจะไปไหน การใช้ชีวิตจึงต้องการไลฟ์โค้ช (หรอ?)
.
หนังเสนอปัญหาโลกแตก 1 ข้อ คือสมมติว่า คุณเคร่งศาสนาทำดี แต่ลูกสาวตัวน้อยถูกฆาตกรรม คุณจะโทษใคร
.
1. โทษกรรม (แต่ฉันเป็นคนดีนะ ไม่เคยฆ่าใคร คงเป็นกรรมจากชาติก่อน แต่มันช่างไม่แฟร์เลย ก็ฉันไม่รู้จักกรรมนั้นสักนิด เหมือนนิทานหมาป่ากะลูกแกะ แกไม่ทำให้น้ำขุ่น แต่พ่อแกทำ ดังนั้นแกต้องโดนกิน)
.
2. โทษพระเจ้า ถ้าพระองค์เป็นความดีสูงสุด ทำไมไม่ห้ามฆาตกรล่ะ
.
เราหาคำตอบของสาเหตุเหล่านี้ไม่ได้เหมือนเต่าตาบอด กรรมแบบพุทธก็เช่นกัน ถ้ามันเป็นวงจรแล้ว ฆาตกรรมครั้งแรกมาจากไหน ทำไมคนแรก คนนั้นถึงถูกฆาตกรรม โทษพระเจ้าแล้วได้อะไรขึ้นมา โทษกรรมแล้วได้อะไรขึ้นมา โทษฆาตกรแล้วก็จบลงด้วยการแก้แค้น วนเวียนไม่รู้จักจบสิ้น
.
ความคิดวน ๆ เหล่านี้จึงเป็นอจินไตย ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไม่ให้คิด คิดแล้วมีส่วนแห่งความเป็นบ้า (จริงๆนะ)
แล้วจะทำยังไงล่ะ ? น่าแปลกว่าศาสนาทั้งสอง ต่างสอนกว้าง ๆ คล้าย ๆ กันคือ “การปล่อยวาง”
.
1. ปล่อยวางการโทษตัวเอง เลิกคิดว่า ถ้าฉันดูแลลูกดี ลูกคงไม่ตาย โทษคนรอบข้างเป็นการเปิดแผลเก่าไม่รู้จักจบ
.
2. ปล่อยวางความแค้น นี่คือสิ่งที่ยากที่สุดที่ทำให้เราแปลกใจว่า ทำไมต้องสอนสิ่งที่ต่างกับวิสัยโลกขนาดนี้ ลูกทั้งคนตายไป จะให้เลิกแค้นได้หรือ จะให้เลิกเศร้าใจได้หรือ จะให้อภัยได้หรือ เรื่องนี้เราเข้าใจเองไม่ได้ นอกจากจะอยู่ในสถานการณ์แบบนั้น
.
3. เดินหน้าต่อไป โดยเชื่อมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง (ในศาสนาคริสต์คือพระเจ้าหรือในศาสนาพุทธคือธรรม) การจมอยู่กับอดีต ไม่ช่วยให้ใครฟื้นขึ้นมา ซ้ำยังกัดกร่อนพลังชีวิตของเราต่อไปจนตาย

.
หลาย ๆ คนอาจจะไม่เข้าใจศาสนาคริสต์ คิดว่านับถือพระเจ้าไม่โงหัว อยากได้อะไรก็ขอ อยากได้อะไรก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดไปอย่างแรง และเป็นผลผลิตซ้ำ ๆ ของสังคมที่ไม่ค่อยสนใจความแตกต่างแต่ชอบตัดสินและคิดไปเอง เพราะศาสนาเกิดมาเพื่อจัดการกับความไม่พอใจไม่สบายใจทั้งหลายทั้งปวง ความทุกข์ ความโศกเศร้า ความผิดหวัง พูดง่าย ๆ ไม่ว่าพุทธหรือคริสต์ สิ่งที่จะต้องจัดการกับตัวเองก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือ “ทำใจ ยอมรับ และให้อภัย” ไม่ใช่วอนขอให้พระเจ้าแก้ปัญหาให้ นั่นไม่ทำให้วิญญาณของเราพัฒนา เป็นเด็กหัดเดินอยู่ร่ำไป
.
.
ความสูญเสียทำให้ชีวิตมีคุณค่าเสมอ ถ้าถูกฆ่าแล้วเสกให้ฟื้นได้ เหมือนมีใบชุบในเกม ชีวิตคนคงไม่ต่างกับผักปลา เราคงไม่รู้จักความรักในระดับอุกฤษฏ์ คงเป็นรักเหมือนในเกมที่เรารักตัวละครของเรา จะตายจะฟื้นกี่รอบก็ไม่แคร์

ดังนั้น ความรักจะไม่มีเลยเมื่อไม่มีการสูญเสีย ความตายทำให้เรารู้จักคุณค่าของชีวิตและสิ่งที่เรารักมากยิ่งขึ้น


(ที่มาของภาพ : https://i.ytimg.com/vi/VZwpQ3CZ7Ck/movieposter.jpg)

Create Date :24 กรกฎาคม 2560 Last Update :24 กรกฎาคม 2560 11:44:28 น. Counter : 1362 Pageviews. Comments :0