bloggang.com mainmenu search
จากหนังสือ "ประเพณีเนื่องในการปลูกเรือน" ของเจ้าคุณอนุมานราชธนครับ

คราวนี้จะพูดถึงไม้รอด รอด คือไม้ที่สอดเข้าไปในรูเสา ซึ่งเจาะไว้จากเสาต้นหนึ่งไปยังเสาอีกต้นหนึ่งทางด้านสกัด สำหรับยึดเสาตอนที่จะวางพื้นเป็นคู่ๆกันไป สอดรอดและเอาเครื่องบนขึ้นคุมกันเสร็จแล้วจึงจะวางตงตามแบนบนหลังรอด (ปูตั้งไม่ได้ เพราะไม่มีตะปูตรึง) แล่นไปตามยาวของห้องและวางพื้นตามขวาง ทับตงได้ต่อไป เสร็จวางพื้นจึงจะเข้าไม้พรึง วางเหนือไม้รอด


พรึง เป็นไม้กระดานวางตั้งปิดหัวตงด้านสกัด และปิดหัวกระดานพื้นด้านข้าง ไม้พรึงจึงเป็นดังกรอบล่างของเรือน และเป็นเครื่องบังคับขนาดของเรือนไปในตัว บางทาบบนอกเสาทุกต้น เพราะฉะนั้นก่อนขุดหลุมจึงวางพรึงตอกหลักหมายหลุมแบ่งห้อง และทั้งบังคับให้ทรงเรือนสอบบน ไม้รอดนั้นจะมีขนาดหนาอยู่ในราว ¼ ของด้านยาวของรูที่เจาะ








เรือนสมัยใหม่มีตะปูใช้แล้ว จึงใช้แผ่นไม้หนาตีตะปูตรึงกับเสายึดกันไว้ ไม่ต้องใช้รอด ไม้ยึดเสาอย่างนี้เรียกว่า อะเส จะแปลว่าอะไร และจะเป็นคำมาจากภาษาใดไม่ทราบ เคยแปลกันอย่างลากเข้าความวว่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า อัดเซ คืออัดไว้ให้แน่นเพื่อกันเซ อะเส นั้นเดี๋ยวนี้เรียกกันว่าคาน นี่ก็ใช้แทนรอดนั่นเอง แต่หากวางทอดไปตามยาวของตัวเรือน ลางแห่งก็ใช้คู่ เจาะรูรอดแล้วจึงเจาะรูเต้าและควั่นหัวเทียนปลายเสา


เต้า คือไม้ที่ยื่นออกจากเสาทางด้านข้างของเรือน ใต้ขื่อลงมาราวศอกหนึ่ง เป็นเครื่องรับเชิงกลอนชายคา เต้าชนิดนี้เรียกว่า เต้าราย เพราะรายไปทุกเสาตลอดจนเสาดั้ง คู่กับ เต้ารุม ซึ่งเป็นคู่เต้าอยู่เฉพาะแต่ที่เสามมุมมารับเชิงกลอนด้านสกัดตัวหนึ่ง กับด้านข้างอีกตัวหนึ่ง เพราะฉะนั้นเสามุมต้นหนึ่งๆ จึงมีเต้าสองตัวทแยงกันคนละด้าน ถ้าที่ตรงนี้มีเสารายรับเต้า ก็ไม่เรียกว่า เต้ารุม แต่เรียกว่า ขื่อรุม ที่ปลายเต้าไม้ติดเชิงกลอนรอบทั้งสี่ด้าน เพราะฉะนั้นที่ปลายเต้าทุกตัวจึงหลั่นเป็นเดือยไว้รับรูไม้เชิงกลอน






หัวเทียน เป็นเดือยหัวเสาสำหรับสวมรูขื่อ ใช้ควั่นหรือหั่นหัวเสาให้รอบแล้วบากข้างทิ้งเสีย ให้เหลือแต่แกนในกลมยาวอย่างมากไม่เกิน 4 นิ้ว ควั่นหรือหั่นหัวเทียนอย่างนี้ ในภาษาช่างเรียกว่า หลั่นหัวเทียน ระยะตั้งแต่หัวเทียนลงมาถึงหลังเต้าเรียกว่า คอสอง



การเจาะสลักรอด จะให้สูงจากพื้นดินเพียงใด ก็แล้วแต่ส่วนสูงของเรือน ตัวเรือนนั้นแบ่งความสูงออกเป็นสองส่วน ส่วนจากหลังรอดขึ้นไปจนถึงหัวเทียน เรียกว่า เดี่ยวบน อีกส่วนหนึ่ง ตั้งแต่หลังรอดไปจนถึงพื้นดิน เรียกว่า เดี่ยวล่าง หรือ เดี่ยวล่องถุน ในตำรากล่าวว่า ถ้าปลูกเรือนวัดแต่ดินขึ้นไปถึงรอดเท่าเดี่ยว ดีนัก






นี่หมายความว่า เรือนมีเดี่ยวบนกับเดี่ยวล่างเท่ากันเป็นดี แต่ช่างเขาว่ารูปทรงเรือนจะไม่งาม เพราะไขราและปีกนก กินเดี่ยวบนหายไปส่วนหนึ่ง ทำให้รูปทรงตัวเรือนดูเตี้ยไป เพราะเหตุนี้ ช่างจึงมักไขเดี่ยวบนให้สูงกว่าเดี่ยวล่างเสียส่วนหนึ่ง คือถ้าเดี่ยวล่างสูง 4 ศอก ดังนี้เป็นต้น รูปทรงเรือนจะดูงาม


ถ้าต้องการพื้นเรือนต่ำ ก็ต้องลดเดี่ยวลงมาตามส่วนให้เข้ากัน มิฉะนั้นเดี่ยวบนสูง เดี่ยวล่างสั้น จะดูรูปเรือนตอนบนสูงตะเหลนเป๋น แต่ล่องถุนเตี้ย เป็นอย่างคนสูงแต่ช่วงขาสั้น ไม่บอกก็รู้ได้ว่าไม่งาม ในตำรากล่าวว่า ถ้าเดี่ยวสูงกว่าพื้นมักแพ้เจ้าเรือน ถ้าเดี่ยวบนสั้น เดี่ยวล่างสูง ก็เป็นอย่างคนช่วงตัวสั้นแต่ขายาว เป็นเรื่องไม่งาม ตรงนี้ในตำรากล่าวไว้ว่า ถ้าพื้นสูงกว่าเดี่ยวจะไร้ทรัพย์


เรือนที่ลดส่วนเดี่ยวบนและเดี่ยวล่างให้ต่ำกว่ากำหนดมี่กล่าวมาขั้นต้น มักเป็นเรือนที่ปลูกในที่โล่ง เช่น กลางทุ่ง กลางนา ถ้าพายุพัดแรงเต็มหน้าไม่มีอะไรบัง จึงต้องปลูกให้เป็นเรือนต่ำกว่าปกติไว้เป็นดี อย่างนี้ช่างปลูกเรือนคงถือเอาตามพื้นดิน และดินฟ้าอากาศเป็นหลัก มากกว่าจะถือตรงตามตำรา
Create Date :03 พฤษภาคม 2554 Last Update :3 พฤษภาคม 2554 19:54:37 น. Counter : Pageviews. Comments :1