bloggang.com mainmenu search

ช่วงนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน เชื่อว่าทุกคนได้สัมผัสอากาศร้อนระอุกันถ้วนหน้า ซึ่งในปีนี้ 2558 นี้ คาดว่าในปลายเดือนเมษายนนี้อุณหภูมิในบ้านเราอาจจะพุ่งสูงถึง 44 องศาเซสเซียลซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 55 ปีที่ผ่านมา หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าระดับของอุณหภูมิที่สูงขึ้น หรืออากาศที่ร้อนอบอ้าวนั้นส่งผลให้เกิดอันตรายกับมนุษย์ได้ทั้งเรื่องอาหารการกิน และโรคภัยที่พร้อมจะโจมตีร่างกายมนุษย์ทุกเมื่อ อาจร้ายแรงถึงขั้นคร่าชีวิตได้เลยทีเดียว และวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับเพชรฆาตตัวร้ายในหน้าร้อนที่ทุกคนควรระวัง นั่นก็คือ 'โรคลมแดด' หรือ 'ฮีทสโตรก' (Heat Stroke) พร้อมเรียนรู้วิธีการป้องกันเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของตนเอง และคนใกล้ชิด   

ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด หน้าร้อนนี้ควรระวัง! 

ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด หน้าร้อนนี้ควรระวัง!

ภาพประกอบ:www.scoutingmagazine.org/2015/04/how-to-survive-heat-exhaustion/

เนื่องจากตอนนี้ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน จึงส่งผลให้อุณหภูมิสูง อากาศอบอ้าว วามกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมไทยตอนบน ประกอบกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเอลนีโญ ที่จะทำให้เกิดฝนลดลง ทำให้แล้ง และร้อนกว่าปกติ หลายๆ คนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งจริงๆ แล้วควรตระหนัก และไม่ควรมองข้ามเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะอากาศร้อนจัดมีโอกาสเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคลมแดดหรือ ฮีทสโตรกได้ และอาจส่งผลทำให้เสียชีวิตได้เลย ซึ่งในตอนนี้เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้เกิดขึ้นแล้วด้วย หลายคนอาจจะได้เห็นข่าวบ้างแล้ว แต่เราจะยกตัวอย่างกันอีกครั้งแล้วกันค่ะเผื่อใครยังไม่ทราบเรื่องนี้ อาทิเช่น *ที่จังหวัดตาก มีผู้เสียชีวิตถึง 3  ราย เพราะอากาศร้อนอุณหภูมิทะลุถึง 41 องศา ดยรายแรกเป็นผู้หญิง เสียชีวิตขณะปั่นจักรยานออกกำลังกายช่วงกลางวัน ส่วนรายที่ 2 เป็นอาจารย์พละของโรงเรียนมัธยมในตัวเมืองตากเสียชีวิตขณะวิ่งออกกำลังกายในช่วงเย็น รายที่ 3 เป็นผู้สูงวัยอายุ 67 ปี ได้ได้ออกเดินหาของป่าตามปกติ แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนมาก จึงอาจส่งผลให้มีอาการหน้ามืดเป็นลม และเกิดอาการชักเกร็งจนเสียชีวิต ซึ่งทั้ง 3 ราย เสียชีวิตในช่วงวันที่มีสภาพอากาศร้อนจัดอาจทำให้เกิดโรคลมแดดนั่นเอง (*อ้างอิงจากwww.news.mthai.com)

รู้จัก! 'ฮีทสโตรก หรือ โรคลมแดด' 

ฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เกิดจากร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป ส่งผลทำให้ความร้อนในร่างกาย (core temperature) สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ระบบภายในร่างกายเกิดวิกฤติไม่สามารถควบคุมความร้อนได้ เกิดความผิดปกติซึ่งรุนแรงที่สุดก็คือ สมองควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ภายในร่างกายไม่ได้ อาการเบื้องต้นที่อาจพบ ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศรีษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย นอกจากนี้ยังอาจมีผลกระทบต่อระบบไหลเวียน ทำให้มีอาการอื่นๆ อาทิเช่น ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค และเกิดการสะสมของ fibrin จนไปอุดตันหลอดเลือดขนาดเล็กทำให้อวัยวะต่างๆ ล้มเหลว ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้

โรคลมแดด

ภาพประกอบ: Pinterest

สาเหตุที่ทำให้เกิด 'โรคลมแดด' มีอยู่ 2 ประการ คือ

1.Classical Heat Stroke เกิดจากความร้อนในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ มีมากเกินไป ส่วนใหญ่เกิดในช่วงที่มีอากาศร้อน พบบ่อยในผู้สูงอายุ และมีโรคเรื้อรัง มักเกี่ยวกับความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่สำคัญ คือ อุณหภุมิร่างกายสูง ไม่มีเหงื่อออก 

2.Exertional Heat Stroke เกิดจากการออกกำลังที่หักโหมเกินไป  ซึ่งแน่นอนว่าส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และนักกรีฑา อาการคล้ายกับ Classical แต่ต่างตรงที่กลุ่มผู้ป่วยประเภทนี้จะมีเหงื่อออก นอกจากนี้ยังพบการเกิดการสลายเซลล์กล้ามเนื้อลาย โดยจะมีอาการแทรกซ้อน ได้แก่ ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และพบไมโอโกลบินในปัสสาวะด้วย 

ใครเสี่ยง? เกิด 'โรคลมแดด'

- ผู้ที่ทำงาน หรือต้องทำกิจกรรมกลางแดด อาทิเช่น กลุ่มผู้ใช้แรงงาน,ทหารที่เข้ารับการฝึกโดยปราศจากการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม, บรรดานักกีฬาโดยเฉพาะนักกรีฑา 

-ผู้สูงอายุ และเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ คนกลุ่มนี้ร่างกายจะไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว 

-คนอดนอน แน่นอนว่าระบบร่างกายไม่สมดุล ตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ จึงมีภาวะเสี่ยงที่จะทำให้การระบายความร้อนของร่างกายทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

-คนอ้วน ไขมันที่สะสมใต้ผิวหนังนี่แหละที่เป็นฉนวนกันความร้อนให้ระบายออกจากร่างกายได้ช้า หรือน้อยกว่าคนที่ปกติ ส่งผลให้ร่างกายสะสมความร้อนได้ดี 

-ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จัด การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ส่งผลให้ร่างกายสูญเสีบน้ำ และเกลือแร่มากกว่าคนปกติ ยิ่งไปกว่านั้นยังออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจทำให้เลือดสูบฉีดเร็ว ส่งผลให้มีความดันโลหิตสูง หัวใจต้องทำงานหนักเพื่อสูบฮีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อก และเสียชีวิตในที่สุด 

-ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคนี้ มีปัญหาที่หัวใจ และหลอดเลือดอยู่แล้ เมื่อเจออากาศร้อนๆ เข้าไปอีก หัวใจอาจจะส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่ทัน ทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน 

สัญญานเตือนการเป็น 'โรคลมแดด'

ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัดขึ้นเรื่อยๆ รู้สึกกระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน ซึ่งต่างจากการเพลียจากแดดทั่วๆ ไป ที่จะพบว่ามีเหงื่อออกด้วย หากเกิดอาการดังกล่าวจะต้องหยุดพักทันที!! 

โรคลมแดด

ภาพประกอบ:www.spo.go.th

วิธีการป้องกัน 'โรคลมแดด' 

'พญ.อุษณา ลุวีระ' อายุรแพทย์ จาก โรงพยาบาลวิภาวดีได้ให้คำแนะนำไว้ ดังต่อไปนี้

-หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน 

-ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว 

-สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี 

-ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ 15 ขึ้นไป 

-หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด 

-หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน 

-หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพย์ติดทุกชนิด 

-ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง

การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นสำหรับผู้เป็น "โรคลมแดด"

-นำผู้มีอาการเข้าร่ม นอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง ถอดเสื้อผ้าออก 

-ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกตัว คอ รักแร้ เชิงกราน ศรีษะ ร่วมกับการใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน 

-เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลงโดยเร็วที่สุด แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล 

เรียบเรียงโดย Yenta4.com

ขอบคุณข้อมูลจาก: www.vibhavadi.com/health_detail.php?id=373,

หนังสือพิมพ์นิวร้อยแปด ฉ.วันที่ 16 เมษายน 2558 

Create Date :18 เมษายน 2558 Last Update :18 เมษายน 2558 12:38:53 น. Counter : 880 Pageviews. Comments :0