bloggang.com mainmenu search
*** Inglourious Basterds ***






Inglourious Basterds คือ หนังเรื่องล่าสุดของ Quentin Tarantino ที่เล่าเรื่องราวของ “สงครามโลกครั้งที่ 2” โดยที่ตัวหนังแทบจะไม่คำนึงถึงความจริงทางประวัติศาสตร์เลย แม้ว่าตัวหนังจะพูดถึงเรื่องสงครามโดยตรงก็ตาม


หนังเพียงแค่อาศัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นพื้นหลังเท่านั้น ซึ่งเป็นไปในลักษณะคล้ายๆกับ Watchmen



เนื่องจาก Inglourious Basterds แบ่งเรื่องราวในหนังเป็น 5 บท (Chapters) บทความนี้ก็เลยขอแบ่งสัดส่วนเป็น 5 บทเช่นกัน






บทที่ 1: “5 ใน 3”



แม้ว่าชื่อของหนังจะมาจากชื่อของหน่วยพิเศษที่ชื่อว่า “The Basterds” ซึ่งมีหน้าที่ “ตามล่าและถลกหนังหัวพวกนาซี”

แต่เรื่องราวจริงๆแล้วกลับเป็นการเล่าเรื่องราวของ 2 กลุ่มตัวละครหลักที่มีเป้าหมายเดียวกัน และมีเหตุการณ์ร่วมกันในตอนสุดท้ายของหนัง



สำหรับ เรื่องราว 2 เรื่องที่ว่าก็คือ


1. การลอบสังหารผู้นำนาซีของแก๊ง The Basterds ภายใต้การนำของ ร้อยโท Aldo Raine (Brad Pitt)

2. การแก้แค้นของ Shosanna Dreyfus (Melanie Laurent) สาวชาวยิวที่ถูกพวกนาซีฆ่าล้างครอบครัว




โดยเรื่องราวทั้งสองเรื่องจะมาบรรจบกันที่ตอนสุดท้ายในงานฉายรอบปฐมทัศน์ของหนังเยอรมันเรื่องหนึ่งที่โรงหนังใน ปารีส ซึ่ง Shosanna เป็นเจ้าของอยู่



ซึ่งโครงสร้างของ Inglourious Basterds ก็ไม่ได้สลับซับซ้อนแต่อย่างใด ถ้าจะแยกองค์ประกอบคร่าวๆก็จะแยกได้เป็น 3 ส่วน แม้ตัวหนังจะแบ่งออกเป็น 5 chapters แต่ก็ยังอยู่ในองค์ประกอบทั้ง 3 นั่นเอง


ทีนี้มาดูรายละเอียดของส่วนประกอบทั้ง 3 ส่วนของตัวหนังกันเลย






ส่วนแรก คือ “การแนะนำตัวละคร”


ในส่วนนี้เรื่องราวในหนังจะยังไม่เดินหน้ามากนัก เป็นเพียงการปูพื้นถึงตัวละครสำคัญๆ ทั้งในแง่ของที่มาที่ไป และนิสัยใจคอ

ซึ่งหนังแบ่งออกเป็น 2 Chapters คือ



Chapter 1: ONCE UPON A TIME IN... NAZI OCCUPIED FRANCE

ใน Chapter นี้ หนังแนะนำตัวละครหลักของเรื่อง 2 คน นั่นคือ พันเอก Hans Landa (Christoph Waltz) ทหารนาซีผู้มีหน้าที่ตามล่าชาวยิวในฝรั่งเศส และ Shosanna หญิงสาวชาวยิว ที่ครอบครัวของเธอถูกสังหารโดยทหารนาซี



Chapter 2: INGLORIOUS BASTERDS

Chapter นี้ เป็นการแนะนำแก๊ง The Basterds ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และมีภารกิจอะไร






ส่วนที่สอง คือ “การดำเนินเรื่อง”


หลังจากแนะนำตัวละครหลักของเรื่องแล้ว ก็ถึงช่วงของการเดินเรื่องราว และสร้างเงื่อนไขให้กับหนัง ซึ่งในส่วนนี้จะมีเนื้อเรื่องมากขึ้น และเป็นการสร้างปมไปสู่บทสรุปในตอนสุดท้ายของเรื่อง

ในส่วนนี้หนังแบ่งออกเป็น 2 Chapters เช่นกัน นั่นคือ



Chapter 3: GERMAN NIGHT IN PARIS

ใน Chapter นี้ หนังเล่าถึงหนทางสู่การแก้แค้นของ Shosanna หลังจากวีรบุรุษสงครามที่กลายมาเป็นดาราหนังของนาซี Fredrick Zoller (Daniel Bruhl) มาตามตื๊อจีบเธอ และอยากจะเอาใจเธอ ด้วยการใช้โรงหนังของเธอ เปิดฉายรอบปฐมทัศน์หนังเรื่องใหม่ของนาซีที่สร้างมาจากเรื่องจริงของเขาในสงคราม

นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของโอกาสสำคัญที่เธอจะได้แก้แค้นพวกนาซี



Chapter 4: OPERATION KINO

ใน Chapter นี้ เล่าถึงการเตรียมปฏิบัติการณ์ในการลอบสังหารเหล่าผู้นำนาซีที่จะมารวมตัวกันในงานฉายหนังรอบปฐมทัศน์ที่โรงหนังของ Shosanna ของแก๊ง The Basterds






สำหรับส่วนสุดท้าย คือ "การสรุปเรื่องราวทั้งหมด"


โดยคราวนี้หนังมี Chapter เดียว เนื่องจากเหตุการณ์ของทั้งสองกลุ่มตัวละครเกิดขึ้นในสถานที่เดียวกัน โดยหนังใช้ชื่อว่า




Chapter 5: REVENGE OF THE GIANT FACE





จากการแจกแจงข้างบน จะเห็นว่า การแบ่ง Chapter ของหนังไม่ได้เป็นแค่การสร้างความเก๋ไก๋ให้กับเรื่องราวเท่านั้น แต่มันเป็นวิธีในการเล่าเรื่องราวที่คู่ขนานกันไประหว่างเรื่องของ Shosanna และ แก๊ง The Basterds เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ให้อารมณ์เหมือนการอ่านหนังสือ และเป็นการเล่าเรื่องที่เรียงลำดับเวลา


ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการพื้นฐานในการเล่าเรื่องราวทั่วๆไป ที่สำคัญ การให้เวลาในการเล่าเรื่องของตัวละครแบบ “ของใครของมัน” แบบนี้ จะทำให้ผู้ชมได้ซึมซับกับตัวละคร และมีอารมณ์ร่วมกับตัวละครทั้งหลายของหนังได้ดีกว่าการเล่าเรื่องราวแบบผสมผสานและตัดสลับเรื่องราวไปมา


และเนื่องจากตัวละครสำคัญในหนังมีมากกว่า 10 คน ซึ่งถือว่าเยอะมาก การเล่าเรื่องแบบนี้น่าจะเหมาะสมที่สุด



จากผลลัพธ์ที่ได้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นตัวละครในฝ่ายไหน ต่างก็เป็นที่รักของผู้ชมได้เท่าๆกันทุกคน ซึ่งเป็นการสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมได้อย่างดีทีเดียว


จะว่าไปแล้ววิธีนี้ ถือว่าเป็นงานถนัดของ Tarantino ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนใน Pulp Fiction (เรื่องราวของหลายๆตัวละครที่แต่ละตัวก็มีตอนเด่นของตัวเอง) และ Kill Bill Vol. 1 (การปูพื้นที่มาที่ไปของตัวละคร The Bride และ O-Ren Ishii ที่ให้ความสำคัญพอๆกัน ก่อนมาถึงฉากการเผชิญหน้ากันในตอนท้ายเรื่อง)






บทที่ 2: “ความลึกซึ้งและบทสนทนาอันคมคาย”



ความสามารถอันโดดเด่นของ Tarantino คือการเขียนบทสนทนาที่คมคายและลึกซึ้ง ที่สำคัญระหว่างที่ผู้ชมกำลังนั่งฟังการสนทนาอยู่นั้น ประเด็นอันน่าทึ่งมักจะถูกปล่อยออกมาโดยที่คาดไม่ถึง

แม้ในบางครั้งหากให้ตัวละครพูดประเด็นเหล่านั้นออกมาตรงๆ คงไม่ชวนทึ่งเท่าไหร่นัก แต่การที่มันค่อยๆเผยประเด็นออกมา โดยมีการปูพื้นที่ดี และถูกจังหวะจะโคน มันก็ทำให้เรายอมรับและอึ้งไปกับประเด็นเหล่านั้นได้ง่ายๆ



ใน Inglourious Basterds มีบทสนทนาที่ชวนทึ่งเหล่านี้เยอะพอสมควร เราจะมาจับประเด็นกัน (เอาเฉพาะที่ผมจำได้ก่อนแล้วกันนะ )






1. ยิว – นาซี สลับขั้วปฏิบัติ


เราจะเห็นว่าแก๊ง The Basterds ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ (หรือทั้งหมด? อันนี้ยังไม่ชัวร์) มีสายเลือดยิว (แต่ที่ชัวร์ก็คือทั้งหมดเกลียดพวกนาซีเข้าไส้) กลับมีแนวความคิดและวิธีปฏิบัติเหมือนกับพวกนาซี


นั่นคือ The Basterds ฆ่านาซีทุกคนที่เจอ โดยไม่ปราณีปราศรัย อย่างที่ ร้อยโท Raine บอกกับสมาชิก The Basterds ว่า


“มันไม่ใช่เรื่องของเราที่จะต้องไปสั่งสอนศีลธรรมแก่พวกนาซี”



ฆ่ามันทิ้งเลยดีกว่า



ซึ่งจะว่าไปนี่มันคือลักษณะเดียวกับที่ พวกนาซีกระทำต่อชาวยิว นั่นคือ การพยายามกวาดล้างเผ่าพันธุ์ยิวให้หมดไป โดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น


ขณะที่ แนวคิดและการกระทำของ พันเอก Landa นั้นกลับเหมือนกับชาวยิว ดังที่เจ้าตัวบอกเอาไว้เองใน Chapter 1 และการกระทำของเขาใน Chapter สุดท้ายก็บ่งบอกวิธีการคิดแบบชาวยิวในแบบของเขาได้อย่างดี



สรุปแล้วก็คือใน Inglourious Basterds


ตัวละครหลักฝ่ายยิวอย่าง แก๊ง The Basterds “คิดและทำ” แบบ นาซี

ขณะที่ตัวละครหลักฝ่ายนาซีอย่าง พันเอก Landa “คิดและทำ” แบบ ยิว






2. “อคติ” คือ เรื่องธรรมชาติของมนุษย์


ประเด็นนี้ถูกนำเสนออย่างคาดไม่ถึง และคมคายมาก ใน Chapter 1 ผ่านบทสนทนาระหว่าง พันเอก Landa กับ ชาวไร่ฝรั่งเศส เรื่องความแตกต่างระหว่าง "กระรอก" และ "หนู"


สิ่งที่พันเอก Landa พูดให้ชาวไร่ฟังมีใจความดังนี้



ถ้ามีหนูเข้าบ้านคุณ คุณจะรีบไล่มันออกไป หรือไม่ก็ฆ่าให้ตายใช่ไหม

แล้วทำไมคุณถึงต้องไล่มันออกไป

เพราะมันเป็นพาหะนำโรคร้าย อย่างนั้นหรือ?



แล้วถ้ามีกระรอกเข้าบ้านคุณหล่ะ

คุณจะทำอย่างเดียวกับที่ทำกับหนูหรือไม่?



ทั้งๆที่มันก็เป็นสัตว์ในตระกูลเดียวกับหนู

และอาจเป็นพาหะนำโรคได้เหมือนกับหนู

แต่คุณกลับไม่ได้เกลียดมันเหมือนกับที่เกลียดหนู

เพราะอะไรเหรอ?



แท้จริงแล้วคุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพราะอะไรคุณถึงเกลียดหนู แต่เท่าที่คุณรู้ก็คือ คุณเกลียดมันไปแล้ว

อาจเพราะความเชื่อแต่เดิมว่าหนูเป็นพาหะนำโรค (ทั้งๆที่กระรอกก็นำเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน) หรือ สังคมส่วนใหญ่ (ที่มีอิทธิพลต่อคุณ) เกลียดหนูคุณจึงเกลียดด้วย


คุณไม่ได้เกลียดหนูเพราะมันทำอะไรให้คุณโดยตรง คุณเกลียดมันก็เพราะ “อคติ”


(ประโยคในหนังอาจไม่ได้เป็นเช่นนี้ แต่คิดว่ามีประเด็นใกล้เคียงกับในหนังครับ)






จากบทสนทนาของทั้งคู่ เผยให้เห็น “อคติ” ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เช่นเดียวกันกับกรณีของพวกนาซีกับชาวยิว แต่เริ่มเดิมทีพวกนาซีอาจไม่ได้เกลียดยิว แต่เมื่อ Hitler เกลียด และทำการโฆษณาชวนเชื่อ ก็ทำให้เกิดความเกลียดตามมา


อย่างไรก็ตามหนังก็บอกว่า อย่าว่าแต่พวกนาซีเลย “อคติ” แบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ และมีอยู่ในตัวของทุกๆคน



แต่ในกรณีของพันเอก Landa “อคติ” เรื่อง ความเกลียดยิวของเขา อาจเป็นข้อยกเว้น เพราะเขาไม่คิดเหมือนนาซี เขาเพียงแค่ทำงานรับใช้พวกนาซีเท่านั้น จากประโยคที่เขาพูดเองประมาณว่า สิ่งที่เขาทำก็เพราะเป็นงานของเขา เมื่อนาซีต้องการกำจัดยิว และเขาถูกเรียกตัวมาฝรั่งเศสเพื่อตามล่าชาวยิว เขาก็ต้องทำ ก็อย่างที่บอกเขาไม่ได้คิดแบบนาซี






3. King Kong และ คนผิวดำ


ประเด็นนี้ถูกพูดถึงเล็กน้อย ใน Chapter 3 เหมือนเป็นการเรียกน้ำย่อย ก่อนที่จะใส่กันเต็มที่ใน Chapter 4 เรามาพิจารณากันดีกว่า


ใน Chapter 3 Joseph Goebbels (Sylvester Groth) รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาของนาซี ได้กล่าวถึงพวกคนผิวดำว่า


“เหรียญทอง Olympic ที่อเมริกาได้มานั้น มาจากฝีมือของคนผิวดำทั้งนั้น”



Chapter นี้ ทำให้เราได้รู้ว่า Goebbels เกลียดการใช้พวกคนผิวดำมาทำงานให้ และเขาก็ดูถูกอเมริกาว่า ที่ประสบความสำเร็จได้เป็นเพราะอาศัยฝีมือของคนผิวดำ และคนอย่างเขาจะไม่อาศัยแรงงานของชนชาติอื่น






ใน Chapter 4 มีการเปรียบเทียบ "คนผิวดำ" กับ "King Kong" ได้อย่างคมคายผ่านการเล่น “เกมทายชื่อ”


ซึ่งมีกติกาคร่าวๆดังนี้


ให้ผู้เล่น A เขียนชื่อบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลจริง อาจเป็นตำนาน หรือมาจากหนังก็ได้ โดยเขียนชื่อนี้ลงบนไพ่

จากนั้นส่งไพ่ให้ผู้เล่น B เอาไปแปะไว้บนหน้าผาก โดยที่ผู้เล่น B จะต้องไม่รู้ว่าผู้เล่น A เขียนชื่อใครลงไปบนไพ่ จากนั้นผู้เล่น B จะถามคำถามที่ผู้เล่นอื่นตอบได้แค่ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่”

แล้วผู้เล่น B จะต้องทายชื่อที่เขียนอยู่บนไพ่ให้ถูกต้อง







ในเรื่อง จ่า Hugo Stiglitz (Til Schweiger) หนึ่งในสมาชิกแก๊ง The Basterds เขียนชื่อ "King Kong" ลงบนไพ่ แล้วส่งให้ พันตรี Dieter Hellstrom (August Diehl) นายทหารนาซี จากนั้นคำถามใช่หรือไม่ก็ถูกถามขึ้นมา


ก่อนที่จะถึงคำถามสุดท้าย พันตรี Hellstrom ได้ข้อสรุปจากการถาม-ตอบว่า ชื่อของบุคคลบนไพ่ที่อยู่บนหน้าผากเขา จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้



- เขามาจากป่า

- เขาเดินทางมาอเมริกา

- เขามาทางเรือ

- เป็นการมาที่เขาไม่ต้องการ

- เขาถูกล่ามโซ่

- เขาถูกนำมาแสดงโดยที่ถูกล่ามโซ่




และคำถามสุดท้ายที่ทำให้ พันตรี Hellstrom ทายถูกก็คือ


“เขาเป็นคนผิวดำใช่ไหม?”



ก่อนที่ทั้งโต๊ะจะตอบว่า “ไม่ใช่”



พันตรี Hellstrom จึงให้คำตอบว่า


“ถ้างั้น ผมคงเป็น King Kong”






คำถามสุดท้ายอันคมคายในฉากนี้ บอกกับเราว่า คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ “เหมือนกัน” และพบได้เฉพาะใน “คนผิวดำ” และ “King Kong” เท่านั้น


นั่นคือ ถูกจับตัวมาจากที่อื่น โดยที่เจ้าตัวไม่ต้องการ เพียงเพื่อให้คนอเมริกาหาทางใช้ประโยชน์จากพวกเขาให้มากที่สุด


King Kong ถูกนำมาเปิดแสดงโชว์ เพื่อหาเงิน

ซึ่งก็ไม่ต่างจากการที่คนอเมริกานำพวกคนผิวดำมาใช้งานเป็นทาส หรือหาประโยชน์แก่พรรคพวกของตนเอง โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ยินยอม และไม่ได้ค่าตอบแทน






นี่คงเป็นมุมมองของ Tarantino ที่มีต่อหนังเรื่อง King Kong ก็เป็นได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ Tarantino ก็เคยใช้การเปรียบเทียบลักษณะนี้ คือ "ใช้ตัวละครในหนังเพื่อเป็นเครื่องมือ" มาแล้วใน Kill Bill Vol. 2 โดยเปรียบ The Bride กับ Super Man



แถมประเด็นนี้ได้เพิ่มความน่าคิดในระหว่างดูว่า แท้จริงแล้วอเมริกา ก็กดขี่เผ่าพันธุ์อื่นเพื่อหาประโยชน์แก่ตัวเองเช่นกัน


นี่อาจเป็นความเลวร้ายพอๆกัน กับการที่พวกนาซีพยายามล้างเผ่าพันธุ์ยิว






บทสนทนาลักษณะนี้เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของ Tarantino และฉากแบบนี้ให้อารมณ์ไม่ต่างจากการนั่งชมละครเวทีเลย ถือว่าเป็นการโชว์ทักษะในการกำกับนักแสดงของ Tarantino ได้ดีทีเดียว


โดยเฉพาะใน Chapter 1 และ Chapter 4 ที่เวลากว่าครึ่งเป็นฉากสนทนา ในสถานที่เดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนฉาก แต่ก็ยังทำได้น่าติดตาม คิดว่านี่คือจุดแข็งอีกอย่างและเป็นงานที่ถนัดที่สุดของ Tarantino ในฐานะผู้กำกับ



หลังจากที่เคยพยายามขยายขอบเขตด้วยการสร้างงานในส่วนของ Action ที่เดินเรื่องด้วยภาพและการตัดต่อ มากกว่าการสนทนาของตัวละคร ทั้งใน Kill Bill Vol. 1 และตอนสุดท้ายของ Death Proof ซึ่งก็ถือว่าให้ผลลัพธ์ที่เข้าขั้นดีเลยทีเดียว



แต่สิ่งที่ผมคิดว่าเด็ดที่สุดของ Tarantino ก็ยังคงเป็น “การดำเนินเรื่องด้วยบทสนทนาโดยไม่เปลี่ยนฉาก” นี่แหล่ะ






ก่อนจบบทนี้ คงสังเกตว่า การอ่านประเด็นของหนังจากการเขียนของผม คงไม่รู้สึกตื่นเต้นหรือสนุกเท่ากับการดูในหนัง

ซึ่งนี่เป็นข้อยืนยันว่า แค่มีประเด็นที่ดีอย่างเดียว ก็ใช่ว่าจะสร้างความน่าสนใจได้



ลูกเล่นในการนำเสนอ และ จังหวะที่เหมาะสม คือสิ่งที่จะทำให้ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจมากขึ้น และนี่คือสิ่งที่แสดงถึงความสามารถของ Tarantino ได้อย่างดี





ปล.


1. จากในหนัง ถ้านาซีเปรียบยิวเป็นหนู แล้วจะเปรียบคนผิวดำเป็นสัตว์อะไรหล่ะ
ภาพสุดท้ายนี้อยู่ในตอนที่ Goebbels พูดถึงคนผิวดำพอดี น่าคิดจริงๆ


2. ติดตามอ่าน อีก 3 บท ได้ใน *** Inglourious Basterds *** Glorious Tarantino Vol. 2 ได้เร็วๆนี้
Create Date :28 สิงหาคม 2552 Last Update :28 สิงหาคม 2552 14:08:44 น. Counter : Pageviews. Comments :18