bloggang.com mainmenu search
*** Kingdom ***






Season 1 - 2



Series ยอดนิยมของ Netflix จากเกาหลีใต้เรื่องนี้ ถือว่าสนุกและน่าติดตาม แม้บางช่วงตอนอาจรวบรัดและคลี่คลายปัญหาให้ตัวละครง่ายดายเกินไป (คล้ายกับถึงเวลาต้องจบเรื่องตามกำหนดเวลาที่วางไว้)

แต่ที่น่าสนุกไม่แพ้กันคือประเด็นที่ชวนให้ตีความของเนื้อเรื่อง



หากจะพิจารณาถึงประเด็นและวิพากษ์วิจารณ์ Kingdom ให้ครบถ้วนนั้น เราไม่สามารถแยกทั้ง 2 seasons ออกจากกันได้ นั่นก็เพราะเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันและความสมบูรณ์ของมัน ต้องพิจารณารวมไปพร้อมกัน



(จากนี้ไปเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ)



หนังเล่าเรื่องราวการระบาดของโรคติดต่อในยุคราชวงศ์โชซ็อนของเกาหลี ซึ่งโรคติดต่อที่ว่านี้ทำให้ผู้ติดเชื้อฟื้นจากความตายหันมาไล่กัดมนุษย์ด้วยกันก่อนผู้ที่จะถูกกัดจะกลายเป็นผู้ติดเชื้อแล้วแพร่เชื้อต่อไป

ซึ่งลักษณะแบบนี้ก็คือสิ่งที่ผู้ชมคุ้นเคยกันดีในชื่อของ “ซอมบี” นั่นเอง



“ซอมบี” ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง ซึ่งบ่อยครั้งเราจะเห็นซอมบีถูกใช้วิพากษ์วิจารณ์โลกทุนนิยม

แต่ใน Kingdom ซอมบีถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการวิพากษ์วิจารณ์ “การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ได้อย่างน่าสนใจ






ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียก่อน นั่นก็คือผู้ที่จะเป็นกษัตริย์หรือประมุขของประเทศได้นั้น จะต้องสืบทอดสายเลือดจากกษัตริย์องค์ก่อนหน้า

แล้วถ้าคนนอกจะเข้ามามีส่วนร่วมกับระบอบนี้ก็มีเพียงวิธีเดียวนั่นก็คือ แต่งงานกับกษัตริย์แล้วให้กำเนิดรัชทายาท (ลูกชายเท่านั้น) ซึ่งในบรรดาลูกชายก็จะมีศักดิ์ต่างกันขึ้นอยู่กับลำดับขั้นเช่น ลูกคนโตมีสิทธิ์มากกว่าลูกคนเล็ก, ลูกจากพระมเหสี มีสิทธิ์มากกว่าลูกจากนางสนม และมีสิทธิ์มากกว่าลูกจากภรรยานอกสมรส



เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นจากความพยายามเข้าสู่อำนาจสูงสุดของคนนอกอย่าง โช ฮักจู (Ryu Seung-ryong) ขุนนางชั้นสูงผู้มีอิทธิพลในโชซ็อน ที่ต้องการรวบอำนาจสูงสุดโดยการส่งลูกสาวของตัวเอง (Kim Hye-jun) เข้าไปเป็นพระมเหสี

แต่ยังไม่ทันที่พระมเหสีจะให้กำเนิดลูกชาย กษัตริย์กลับเสียชีวิตไปเสียก่อน ซึ่งตามลำดับขั้นแล้ว ตำแหน่งประมุขจะตกเป็นของ องค์ชาย ลี ชาง (Ju Ji-hoon) ลูกนอกสมรสของกษัตริย์



โช ฮักจู จึงฟื้นคืนชีพกษัตริย์ด้วยพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ทำให้คนกลายเป็นซอมบี เพื่อรอให้ลูกสาวที่เป็นพระมเหสีให้กำเนิดลูกชายก่อนกษัตริย์จะตาย เพื่อลำดับขั้นที่เหนือกว่าองค์ชาย​ ลี​ ชาง






กลับมาดูที่ธรรมชาติของซอมบีกันบ้าง เราจะพบว่าหากเทียบกับระบอบกษัตริย์ที่จำกัดสิทธิเฉพาะสายเลือดแล้ว ซอมบีคือขั้วตรงข้าม เพราะซอมบีกัดแล้วแพร่เชื้อโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ ไม่ว่าขุนนางหรือชาวบ้านก็มีสิทธิ์ได้รับการสืบทอดไม่ต่างกัน



ดังนั้นพฤติกรรมของซอมบีคือสัญลักษณ์แห่ง “ความเท่าเทียม”



เราจึงเปรียบเทียบเชิงอุปมาอุปไมยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ว่า



หากจะเอาชนะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อันไม่เท่าเทียม

ก็ต้องใช้ระบอบที่เท่าเทียมอย่างระบอบซอมบี





น่าสนใจว่าหนังเฉลยให้เห็นว่าที่มาที่ไปของซอมบีมาจากปรสิตที่ไข่ไว้ใต้ต้นสมุนไพร ซึ่งปรสิตนี้จะเข้าไปควบคุมสมองเพื่อบังคับร่างกาย ซึ่งเราสามารถอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบได้ว่า



โช ฮักจู (ปรสิต) แทรกแซงเข้าไปควบคุมและหาประโยชน์จากชนชั้นปกครอง (สมอง) เพื่อขยายอำนาจของตัวเอง (การขยายจำนวนของปรสิต)






แม้​ Series จะเลือกให้ฝ่ายตัวเอกอย่าง องค์ชาย ลี ชาง อยู่ข้างระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยการให้ตัวละครตัวนี้อ้างสิทธิในฐานะรัชทายาทอยู่บ่อยครั้ง

แต่สุดท้ายในตอนจบองค์ชาย ลี ชาง ก็ได้เรียนรู้หัวใจของการปกครองโดยมองข้ามผ่านระบอบการปกครอง และบอกกับผู้ชมว่า สาเหตุที่พระมเหสีต้องลงจากตำแหน่งไม่ใช่เพราะการก้าวเข้าสู่อำนาจที่ไม่ถูกต้อง



หากแต่เป็นเพราะพระมเหสีขาดซึ่ง​"คุณสมบัติในการเป็นผู้นำที่ดี" ต่างหาก





ดังนั้น Kingdom จึงไม่ใช่ Series ที่ยกย่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เป็นการแสดงให้เห็นว่า "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" นี่เอง​ ที่เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างซอมบีที่บ่อนทำลายความมั่นคงของสังคม





แต่สุดท้าย​ ไม่ว่าจะเป็นระบอบการปกครองแบบใด​ก็ตาม​ สิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมสงบสุขได้อยู่ที่​



"คุณสมบัติในการเป็นผู้นำ​/ผู้ปกครองที่ดี"






8 / 10



Create Date :31 มีนาคม 2563 Last Update :1 เมษายน 2563 22:05:41 น. Counter : 1853 Pageviews. Comments :1