bloggang.com mainmenu search


ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิจารณาคำร้อง คดีเยาวชนหญิงขับรถซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้บนทางด่วนดอนเมืองโทลเวย์ ปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิต 9 ราย พบการบริการสังคมที่รพ.พระมงกุฎ ถือว่า ยังไม่ได้ทำกิจกรรมสังคมภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม

 

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559  ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดไต่สวนคำร้องที่พนักงานคุมประพฤติพนักงานอัยการ โจทก์ร่วมที่ 12 และทนายความโจทก์ร่วมที่ 1 – 9 จำเลย ผู้ปกครองจำเลย และที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ในคดีที่เยาวชนหญิงขับรถซีวิคเฉี่ยวชนรถตู้บนทางยกระดับดอนเมืองโทลเวย์เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2553 จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต รวมทั้งสิ้น 9 ราย

โดยคำร้องระบุว่า จำเลยผิดเงื่อนไขการคุมประพฤติในการบำเพ็ญประโยชน์ หลังจำเลยได้ทำงานบริการสังคมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎที่มีหัวหน้าหอผู้ป่วยและผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงลายมือชื่อรับรอง ซึ่งในวันนี้ จำเลยและที่ปรึกษากฎหมายจำเลยแถลงว่า จากการที่ได้รับฟังคำเบิกความของพนักงานคุมประพฤติเกี่ยวกับกฎ ระเบียบเกี่ยวกับการคุมประพฤติ จึงเข้าใจว่า ที่ผ่านมาจำเลยกระทำการมิได้เป็นไปตามกฎระเบียบการคุมประพฤติของทางราชการ ขอโอกาสศาลเพื่อทำกิจกรรมบริการสังคมใหม่และรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติให้ครบถ้วน ทำให้เจ้าพนักงานคุมประพฤติ โจทก์ที่ 7 โจทก์ร่วมที่ 12  ทนายโจทก์ร่วมที่ 1 ถึง 9 ไม่ติดใจนำพยานอื่นเข้าไต่สวน ขณะที่จำเลยและที่ปรึกษากฎหมายจำเลย ก็ไม่ติดใจนำพยานเข้าไต่สวนเช่นกัน

เมื่อศาลพิจารณาคำร้อง พร้อมเอกสารแนบท้ายคำร้องแล้ว พบว่า การบริการสังคมที่โรงพยาบาลพระมงกุฎของจำเลยที่มีหัวหน้าหอผู้ป่วยและผู้อำนวยการโรงพยาบาลลงลายมือชื่อ เป็นการทำกิจกรรมบริการสังคมซึ่งไม่ใช่พนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ที่กำหนดไว้ ทำให้จำเลยยังไม่ได้ทำกิจกรรมสังคมภายใต้การกำกับดูแลของพนักงานคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม จึงอนุญาตให้จำเลยไปทำกิจกรรมบริการสังคมใหม่ให้ครบถ้วนเวลา 138 ชั่วโมง โดยให้จำเลยไปติดต่อเจ้าพนักงานคุมประพฤติ ตั้งแต่วันนี้ และนัดพร้อมเพื่อฟังผลการทำกิจกรรมบริการสังคมของจำเลย โดยให้พนักงานคุมประพฤติ รายงานผลให้ศาลทราบก่อนอย่างช้าในวันนัดในวันที่ 23 สิงหาคม 2559 เวลา 09.00 นาฬิกา

สำหรับคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2555 ว่า จำเลยมีความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และทำให้ทรัพย์สินเสียหาย คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี โดยคุมประพฤติจำเลย 3 ปี และให้รายงานตัวทุกๆ 3 เดือน พร้อมให้ทำงานบริการสังคมโดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง รวมทั้งห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่

ขณะที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 แก้เป็น จากที่รอลงอาญา 3 ปี ให้ระยะเวลารอลงอาญาเป็น 4 ปี และให้บำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมงต่อปี เป็นเวลารวม 4 ปี ส่วนโทษอื่นให้คงตามศาลชั้นต้น ทั้งนี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ถือเป็นที่สุด เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งปี 2558 ไม่รับฎีกาของจำเลย เนื่องจากไม่มีสาระสำคัญจะเปลี่ยนแปลง คำพิพากษาเดิม

ด้านคดีแพ่งที่ครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวยื่นฟ้องบิดามารดาของเยาวชน และตัวเยาวชนต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 113 ล้านบาทเศษ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนั้น ศาลแพ่งมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 26พฤศจิกายน 2558 ให้จำเลยทั้งสามชดใช้เงินกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นเงินรวม 26,881,925 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2553 เป็นวันที่เกิดเหตุรถพลิกคว่ำ

ที่มา thaitribune

Create Date :22 มิถุนายน 2559 Last Update :22 มิถุนายน 2559 16:43:36 น. Counter : 325 Pageviews. Comments :0