bloggang.com mainmenu search



19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 นายพล ออง ซาน (Aung San) วีระบุรุษนักปฏิวัติและผู้นำในการเรียกร้องเอกราชของเมียนมาร์ (Myanmar)บิดาของ อองซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ถูกสังหารพร้อมกับรัฐมนตรีอีก 6 คน ขณะกำลังร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐบาลชั่วคราว โดยฝีมือของ อู ซอ (U Saw) นักการเมืองคู่แข่ง ออง ซานเกิดในครอบครัวชาตินิยมที่ต่อต้านอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2458 ที่กรุงย่างกุ้ง (Rangkoon) ประเทศเมียนมาร์ ซึ่งถูกอังกฤษเข้ายึดครองเป็นอาณานิคมตั้งแต่ปี 2428 ออง ซานเข้าเรียนวิชาวรรณคดีอังกฤษ ประวัติศาสตร์ และการเมืองจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ระหว่างที่เรียนอยู่นั้นได้รับเลือกให้เป็นผู้นำขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษา และเป็นบรรณาธิการหนังสือ Owei (Pea*****’s Call) เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมือง จนในที่สุดก็ถูกไล่ออกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2479 หลังจากนั้นเขาก็เข้าร่วมกับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองระดับชาติ ขับไล่จักรวรรดินิยมอังกฤษ และเรียกร้องเอกราชให้เมียนมาร์ โดยร่วมก่อตั้ง "พรรคคอมมิวนิสต์พม่า” (Communist Party of Burma : CPB) ในเดือนสิงหาคม 2482 พอเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นก็ได้ให้การสนับสนุนทั้งการเงินและอาวุธในการก่อตั้ง "กองกำลังปลดปล่อยพม่า” (Burmese Independence Army : BIA) ในปี 2484 เมื่อญี่ปุ่นสามารถยึดพม่าได้จากอังกฤษในวันที่ 1 สิงหาคม 2486 ก็ได้ประกาศให้พม่าเป็นเอกราช และแต่งตั้งนายพลออง ซานให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อพบว่าเอกราชที่ญี่ปุ่นสัญญาไว้ไม่เป็นความจริง ในช่วงปลายสงครามโลก จึงได้กลับไปเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากพม่าได้สำเร็จ ในวันที่ 27 มกราคม 2490 อองซานได้เซ็นต์สัญญากับ คลีเมนต์ แอตท์ลี (Clement Attlee) นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ โดยอังกฤษยินยอมจะมอบเอกราชให้พม่าภายใน 1 ปี จากนั้นวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2490 ออง ซานก็ลงนามใน "สนธิสัญญาปางโหลง” (Panglong Conference) กับหัวหน้าชนกลุ่มชาติต่าง ๆ ในลุ่มน้ำอิระวดี ในสนธิสัญญาระบุว่า เมื่อพม่าได้รับเอกราชครบ 10 ปี แต่ละชนชาติได้แก่ กะเหรี่ยง คะเรนณี มอญ ไทยใหญ่ และคะฉิ่น จะสถาปนาเอกราชของตนเอง สนธิสัญญาฉบับนี้ ทำให้นักการเมืองและทหารบางกลุ่มไม่พอใจ เนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมากอยู่ในดินแดนของชนชาติอื่น ดังนั้นหากมีการแยกตัวเป็นอิสระแล้วพม่าจะมีปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในที่สุดกองกำลังลึกลับจึงบุกเข้าสังหารนายพลออง ซาน เสียชีวิตในวัยเพียง 32 ปี โดยที่ยังไม่ทันได้เห็นเอกราชของพม่า ซึ่งได้รับในวันที่ 4 มกราคม 2491 หลังจากนั้น อู นุ (U Nu) ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และอ้างว่าสัญญาปางโหลงเป็นเพียงการทำสัญญาระห่วางชนกลุ่มน้อยกับนายอองซานเท่านั้น จึงฉีกสนธิสัญญาทิ้ง ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวของกองกำลังของชนชาติอิสระต่าง ๆ กลายเป็นสงครามกลางเมืองที่ยังคงร้อนระอุมาจนทุกวันนี้ ภายหลังจากออง ซานเสียชีวิต ลูกสาวคือ ออง ซาน ซูจี ก็ได้เดินตามรอยเท้าพ่อ ออกมาตั้ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy : NLD) และเป็นผู้นำการเรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี แต่ก็ถูกรัฐบาลเผด็จการทหารกักตัวไว้ตั้งแต่ปี 2532 จนถึงทุกวันนี้ โดยไม่สนใจเสียงเรียกร้องของนานาชาติให้คืนอิสรภาพแก่ออง ซาน ซู จี
Create Date :19 กรกฎาคม 2556 Last Update :19 กรกฎาคม 2556 21:38:30 น. Counter : 681 Pageviews. Comments :0