bloggang.com mainmenu search


 คงเป็นทราบกันดีอยู่แล้ว "เหล้า" เป็นมหันตภัยร้ายที่สร้างความสูญเสียอย่างรุนแรงที่ส่งผลต่อครอบครัว สุขภาพอุบัติเหตุ เศรษฐกิจ รวมทั้งเป็นเหตุให้เกิดปัญหานานาประการกับเยาวชนไทย ทั้งสมองเสื่อม ท้อง แท้ง ติดเอดส์ ติดคุก

            หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ประกาศให้ "วันเข้าพรรษา" เป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" โดยเริ่มต้นจากปีนี้เป็นต้นไป ถือเป็นเรื่องน่ายินดีในความสำเร็จไม่เฉพาะเพียงองค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ทั้ง 264 องค์กรที่พยายามผลักดันมาโดยตลอดเท่านั้น แต่ถือเป็นความสำเร็จของเยาวชนและสังคมไทยด้วย

"วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" จึงถือเป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์และเป็นการส่งสัญญาณที่ดีงามเพื่อสนับสนุนให้ภาคประชาชนและหน่วยงานราชการของรัฐร่วมมือกันทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากน้ำเมาร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้ลูกหลานที่จะเติบโตขึ้นมาด้วย สติปัญญา

            นอกจากนี้ จากการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ปี 2549 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 88.6 เห็นด้วยกับการกำหนดให้มี "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" 1 วันต่อปี และเห็นว่า "วันเข้าพรรษา" ควรเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ร้อยละ 61.6 ดังนั้นการประกาศวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ให้เป็นนโยบาย แน่นอนว่าเกิดการร่วมมือกันในการรณรงค์และมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ

            ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคี ได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 โดยเมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษา ตลอด 3 เดือน จะตั้งสัจจะอธิษฐาน ลด ละ เลิกเหล้า เป็นการรักษาศีลข้อ 5 ซึ่งเป็นที่รับรู้กันทั่วไป และมีการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

            สังคมไทยมีศาสนาเป็นหลักยึด ประเพณีดั้งเดิมของการงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา จึงถือเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ ดังนั้น ผลของการรณรงค์และร่วมแรงร่วมใจจากทุกๆ ฝ่ายจึงมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นจากปกติ จากที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษา ร้อยละ 25 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 40-50 โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ไม่เพียงเท่านั้นในช่วงเข้าพรรษาหลายๆ คนที่ดื่มหนักก็หยุดดื่มไปเลย ดังนั้น การกำหนดให้มี "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" จะยิ่งเป็นการกระตุ้นและปลุกกระแสสังคมให้หันมาตระหนักถึงคุณค่าในการที่จะเลิกเหล้าได้

            โดยในปีนี้ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าได้จัดกิจกรรม "ปฏิญาณตนคนบวชใจ งดเหล้าเข้าพรรษา ทำความดีถวายในหลวง" โดยมีผู้บวชใจจากชุมชนในกทม. จำนวน 500 คนและจะมีคนต้นแบบเข้าร่วมปฏิญาณตนบวชในทั่วประเทศ 10,000 คน รวมถึงการจัดทำ "สมุดบัญชีเงินออมจากเหล้า" ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้วใน 120 หมู่บ้าน นำมาขยายผลให้กับผู้ที่สนใจทั่วประเทศ นอกจากนี้จะมีการจัดตั้งชมรมคนบวชใจงดเหล้าเข้าพรรษา โดยตั้งเป้าหมายจังหวัดละไม่น้อยกว่า 100 คน เพื่อเป็นกลุ่มที่ให้กำลังใจกันและกันในระหว่างเข้าพรรษาและจะเป็นการจัดเวทีเปิดใจคนงดเหล้าร่วมกับคนในครอบครัว เพื่อจูงใจให้คนหันมางดเหล้าในช่วงเข้าพรรษาอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือน โดยทั้งนี้จะประสานร่วมมือกับคณะกรรมการการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ละจังหวัดที่เพิ่งตั้งขึ้นตาม พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานด้วย

            นอกจากความสำเร็จในการรณรงค์แล้ว การได้มาซึ่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยภาคประชาชนก็มีส่วนสำคัญ ทำให้การแก้ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปรเทศไทยเป็นความก้าวหน้าในลำดับสากลและกำลังเป็นที่จับตามองขององค์การอนามัยโลก

            อย่างไรก็ตาม แม้การผลักดันให้มีวันงดดื่มสุราแห่งชาติจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ความคาดหวังว่าต่อจากนี้ของบรรดาองค์กรภาคีเครือข่ายทุกคน คงไม่พ้นอยากให้คนไทย ลด ละ เลิก สุราเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่ประกาศวันงดดื่มสุราแล้วจะงดเหล้าเพียงวันเดียว แต่จะช่วยสร้างกระแสส่งเสริมการรณรงค์ในการชักจูงผู้คนในสังคมให้เลิกเหล้าได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือให้ใช้วันเข้าพรรษาเป็นวันแรกที่หยุดเหล้า


ที่มา thaihealth.or.th




วันงดดื่มสุราแห่งชาติ
[ดูภาพทั้งหมด]


Create Date :18 กรกฎาคม 2556 Last Update :18 กรกฎาคม 2556 7:55:24 น. Counter : 708 Pageviews. Comments :0