bloggang.com mainmenu search



ในปัจจุบันนี้ภาวะแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทวีความรุ่นแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ทุกองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างตื่นตัวปรับรูปแบบการบริหารองค์กรของตนจากการบริหารสมัยเก่าเข้าสู่การบริหารสมัยใหม่และเน้นการบริหารคุณภาพ เพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่ง ปณท ก็ได้นำกระบวนการบริหารต่าง ๆ เข้ามาปรับใช้และได้มีการนำการบริหารจัดการความรู้มาใช้ด้วย โดยจะทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ มาช่วยในการบริหารจัดการองค์กร และควบคุมขั้นตอนทำงานให้ดียิ่งขึ้น โดยใช้เวลาในการทำงานลดลง การนำ Mind Map มาใช้ในการบริหารจัดการความรู้จะทำให้รูปแบบการจดบันทึกแบบเก่าเปลี่ยนแปลงไปแต่จะได้สาระสำคัญมากยิ่งขึ้น
Mind mapping คือ เทคนิคการจดบันทึกที่พัฒนาขึ้นจากความรู้เรื่องสมองและความทรงจำของมนุษย์ ซึ่งมีหลักสำคัญอยู่ที่การใช้ภาพ สี เส้นร่วมกันในการจดบันทึก โดยเริ่มจากตรงกึ่งกลางหน้ากระดาษ ที่ไม่มีเส้นความคิดต่าง ๆ อาจจะแทรกด้วยคำสำคัญ (Keyword) ที่เป็นศูนย์กลางของแผนที่ความคิด และคำสำคัญนั้นจะเป็นหัวเรื่องหรือแกนของเรื่องที่จะเป็นจุดศูนย์กลางความคิดทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง โดยมีเส้นโยงเชื่อมต่อกันแบบเดียวกับที่สมองทำงาน
หลักการสร้าง Mind Mapping จะเริ่มต้นจากการเขียนหัวเรื่องหรือแกนของเรื่องที่จะเป็นจุดศูนย์กลางความคิดทุกอย่างที่เกี่ยวข้อง โดยมีเส้นเชื่อมโยงความคิดรองและแตกกิ่งก้านออกไปจากศูนย์กลาง คล้ายกับที่สมองทำงาน ซึ่งมีขั้นตอนการทำ ดังนี้
1. เตรียมกระดาษเปล่าที่ไม่มีเส้นบรรทัดและวางกระดาษภาพแนวนอน
2. วาดภาพสีหรือเขียนคำหรือข้อความที่สื่อหรือแสดงถึงเรื่องจะทำ Mind Mapกลางหน้ากระดาษ โดยใช้สีอย่างน้อย 3 สี และต้องไม่ตีกรอบด้วยรูปทรงเรขาคณิต
3. คิดถึงหัวเรื่องสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของเรื่องที่ทำ Mind Map โดยให้เขียนเป็นคำที่มีลักษณะเป็นคำสำคัญ (Keyword) สั้น ๆ ที่มีความหมาย บนเส้น ซึ่งเส้นแต่ละเส้นจะต้องแตกออกมาจากศูนย์กลางไม่ควรเกิน 8 กิ่ง
4. แตกความคิดของหัวเรื่องสำคัญแต่ละเรื่องในข้อ 3 ออกเป็นกิ่ง ๆ หลายกิ่ง โดยเขียนคำหรือวลีบนเส้นที่แตกออกไป
5. แตกความคิดรองลงไปที่เป็นส่วนประกอบของแต่ละกิ่ง ในข้อ 4 โดยเขียนคำหรือวลีเส้นที่แตกออกไป ซึ่งสามารถแตกความคิดออกไปเรื่อย
6. การเขียนคำ ควรเขียนด้วยคำที่เป็นคำสำคัญ (Keyword) หรือคำหลัก หรือเป็นวลีที่มีความหมายชัดเจน
7. คำ วลี สัญลักษณ์หรือรูปภาพใดที่ต้องการเน้น อาจใช้วิธีการทำให้เด่น เช่น การล้อมกรอบ หรือใส่กล่อง เป็นต้น
8. ตกแต่ง Mind Map ที่เขียนด้วยความสนุกสนานทั้งภาพและแนวคิดที่เชื่อมโยงต่อกัน
ข้อดีของการทำแผนที่ทางความคิด
1. ทำให้เห็นภาพรวมกว้าง ๆ ของหัวข้อใหญ่ หรือขอบเขตของเรื่อง
2. ทำให้สามารถวางแผนความคิดหรือการตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง เพราะรู้ที่มาที่ไปของแต่ละความรู้ หรือแต่ละประเด็นต่าง ๆ
3. สามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนมากลงไว้ในกระดาษแผ่นเดียวกัน
4. กระตุ้นให้คิดแก้ไขปัญหา โดยเปิดโอกาสให้มองเห็นวิธีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์
5. สร้างความเพลิดเพลินในการอ่านและง่ายต่อการจดจำ

ติดตามเรื่องราวดีๆและเครื่องเขียนน่ารักๆได้ที่ https://bunbouguhouse.wixsite.com/home
Create Date :26 เมษายน 2561 Last Update :26 เมษายน 2561 13:28:55 น. Counter : 3792 Pageviews. Comments :0