bloggang.com mainmenu search









“ต้นเหตุของความชั่ว”

เราไม่ต้องไปมองผู้อื่นหรอก

 ขอให้มองตัวเราเองก็พอ

อย่างในขณะนี้เรานั่งอยู่ที่นี่ใจเรามีความสงบ

 เรามีความสบาย เราก็สามารถนั่งอยู่ได้

 เพราะอะไร เพราะว่าตอนนี้กิเลสตัณหาไม่ทำงาน

 ความโลภไม่เกิดขึ้น ความโกรธไม่เกิดขึ้น

 ความหลงไม่ปรากฏ ความอยากต่างๆ ไม่มี

 ก็เลยทำให้เรานั่งอยู่สบายๆ เฉยๆ ได้

แต่ถ้าเกิดใครมาพูดอะไร หรือมาทำอะไร

ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมา

 ความโกรธก็จะเกิดขึ้นมา

 และถ้าเกิดความโกรธมากๆ

 ก็ไม่สามารถที่จะห้ามใจไม่ให้ไปพูด

 หรือไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ เมื่อได้ลุแก่โทสะ

 ลุแก่โลภะ ลุแก่โมหะแล้ว ใจจะทนนิ่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้

 จะต้องออกไปทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อระบายความโลภ

 ความโกรธ ความหลงให้หมดไป

 แต่เมื่อทำไปแล้วผลเสียมักจะตามมา

 เพราะเมื่อเกิดความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากแล้ว

จะนำไปสู่การกระทำที่ผิดศีลผิดธรรม

 เป็นการเสื่อมเสีย ถ้าต้องการอะไรมากๆ

 แล้วหามาด้วยความสุจริตไม่ได้

ก็ต้องไปลัก ไปขโมย ไปโกหกหลอกลวงผู้อื่น

 เมื่อกระทำไปแล้วเกิดการขัดขืน

ก็ต้องมีการต่อสู้กัน ฆ่ากันขึ้นมา

โดยเกิดจากความโลภ

ความโกรธ ความหลง เป็นต้นเหตุ

แต่ถ้าเราเข้าหาธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ซึ่งสอนให้เราหมั่นสร้างความดี

 ให้ทำความเข้าใจว่า

ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 เป็นมูลเหตุของความชั่ว ตัณหาความอยากต่างๆ

 เป็นมูลเหตุของความเลวร้าย

 ถ้ามีแล้วจะฉุดกระชากลากพาเรา

ไปสู่การกระทำความชั่วทั้งหลาย

 เราจึงควรทวนกระแสความโลภ ของความโกรธ

 ความหลง ตัณหาความอยากทั้งหลาย

 ด้วยการกระทำในสิ่งที่ดี ทำบุญ ทำทาน

 รักษาศีล ภาวนา ทำจิตใจให้สงบ

แล้วก็เจริญวิปัสสนา ศึกษาดูสภาพความเป็นจริง

ของสภาวธรรมทั้งปวงว่าเป็น ไตรลักษณ์

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การกระทำเหล่านี้

จะเป็นเครื่องชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากให้หมดไปจากใจของเรา

ถ้าไม่มีการกระทำเหล่านี้แล้ว

ความโลภ ความโกรธ ความหลง

 ความอยากทั้งหลายก็จะไม่หมดไปจากจิตจากใจ

จะอยู่ในใจของเรา คอยเป็นผู้นำ

เป็นผู้สั่งการให้เราไปกระทำ

ในสิ่งที่ไม่ดีไม่งามทั้งหลาย

 สร้างความทุกข์ให้กับเราไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น ถ้าเราต้องการความเจริญที่แท้จริง

 เราต้องดูใจเป็นหลัก เราต้องสอนใจเรา

 พัฒนาใจเรา แก้ไขปัญหาที่ใจของเรา

 คือพยายามทำลายต้นเหตุ

ของความชั่วร้ายทั้งหลาย

 คือกิเลสตัณหาทั้งหลายที่มีอยู่ในใจของเรา

 ด้วยการมีสติ ถ้าเรามีสติ

แล้วเราจะคอยดูใจของเราอยู่เสมอว่า

 ใจของเราขณะนี้กำลังอยู่ที่ไหน กำลังคิดอะไรอยู่

 ถ้าเราไม่มีสติแล้วเราจะไม่รู้ว่าใจเรากำลังคิดอะไรอยู่

อยู่ที่ไหน บางทีตัวเรานั่งอยู่ที่ตรงนี้

 กำลังฟังเทศน์ฟังธรรมอยู่ แต่อยู่แต่กาย

ใจนี่ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ลอยไป

 คิดไปถึงเรื่องในอดีตบ้าง ถึงเรื่องในอนาคตบ้าง

 โดยที่ไม่รู้สึกตัว เพราะว่าเราไม่มีสติการระลึกรู้

คอยเฝ้าดูใจเรานั่นเอง

สตินี้ถ้าเปรียบเทียบก็เปรียบเหมือนกับยาม

 ส่วนกิเลสตัณหาก็เปรียบเหมือนขโมย

ถ้าเรามียามคอยเฝ้าบ้าน

ขโมยก็จะไม่สามารถเข้ามาขโมยของในบ้านได้

 แต่ถ้ายามเผลอยามหลับไป

 เดี๋ยวขโมยก็ขึ้นบ้านได้ อย่างนี้เป็นต้น

 จิตของเราก็เช่นกัน

ถ้าเราไม่มีสติคอยเฝ้าดูใจของเรา

 ดูจิตของเราแล้ว พอเผลอปั๊บเดียว

ความโลภก็ออกมาแล้ว

เดี๋ยวความโกรธก็ออกมาแล้ว

เดี๋ยวความหลงก็ออกมาแล้ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลงนี่

มันออกมาแบบที่เราไม่รู้ตัว

 เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิดนั่นเอง

ความหลงนี้เราจะแก้ได้ก็ต่อเมื่อ

เราเข้าศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า

 ให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดี อะไรคือสิ่งที่ไม่ดี

ถ้าไม่ได้ศึกษาแล้วเราจะหลง

เราจะเห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

 จะเห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นสิ่งที่เที่ยง

 เห็นสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข

เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน

จะเห็นตรงกันข้ามกับความจริง

เราจึงมีแต่ความทุกข์.

พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต

..........................................

กำลังใจ ๕ “กัณฑ์ที่ ๙๑”

วันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๔





ขอบคุณที่มา fb. พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
ขอบคุณเจ้าของภาพค่ะ

Create Date :25 กันยายน 2561 Last Update :25 กันยายน 2561 5:54:29 น. Counter : 1231 Pageviews. Comments :0