Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
23 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 

โจโฉแตกทัพเรือ : โมริพ่ายยุทธนาวี



โจโฉแตกทัพเรือ : โมริพ่ายยุทธนาวี





หนึ่งในตำนานสงครามอันลือลั่นของสามก๊ก คงไม่มีใครลืมเลือนเรื่องราวของ “ศึกเซ็กเพ็ก” หรืออีกนามหนึ่งอย่างแปลไทยๆ ว่า “ศึกผาแดง” และต่อมาชื่อตอนของฉบับนิยายที่ว่า “โจโฉแตกทัพเรือ” ก็คงคุ้นหูมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้มีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ไปเมื่อเร็วๆ นี้ กำกับการแสดงโดยท่านจอห์น วู ( เป็นอะไรกับซุน“วู”รึเปล่านี่? )

หนึ่งในผู้มีบทเอกอันสำคัญนอกเหนือจากจิวยี่,ขงเบ้ง , ซุนกวน,โลซก ฯลฯ แล้ว นามสะท้านแผ่นดินว่า “โจโฉ” คงไม่มีใครที่จะลืมเขาไปเสียได้ในศึกนี้ และหากขาดเขาไป ศึกนี้คงไม่เกิดขึ้นอย่างอลังการแน่นอน

ในการตีความอีกแง่มุมหนึ่งของ “โจโฉ” นั้น มีใครพอทราบบ้างเอ่ย? ว่าตัวเขาเองในยุคปัจจุบันก็เหมือนจะได้รับเกียรติอย่างสูง ให้มาเทียบเคียงบทบาทกับบุคคลสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นอีกท่านหนึ่ง ซึ่งก็เป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า “โอดะ โนบุนางะ” ฉายา “จอมมารฟ้าแห่งโอวาริ” ผู้สร้างชื่อลือสะท้านทั่วทั้งแผ่นดินอาทิตย์อุทัยในยุค “เซ็นโกกุ” ( Sengoku Jidai ) หรือแปลไทยๆ ว่า “ยุคสงครามกลางเมือง” ซึ่งเป็นช่วงสมัยแห่งการแย่งชิงอำนาจในหมู่ไดเมียว ผู้ปกครองแคว้นต่างๆ ของญี่ปุ่น ในราวปี ค.ศ. 1477 - 1615

วิกฤติแห่งยุคเซ็นโกกุ คือ อำนาจการปกครองในส่วนศูนย์กลางถูกริดรอนกระจายไปยังผู้นำส่วนภูมิภาคต่างๆ อย่างแพร่หลายไร้ระเบียบไปเสียหมด ใครก็ตามที่มีความทะยานอยากและกล้าพอที่จะตั้งตนเป็นใหญ่ ได้ทำสงครามกลืนดินแดนแคว้นต่างๆ บ้างก็เป็นข้าเก่าที่ล้มเจ้านายผู้นำตระกูลใหญ่ แล้วก่อตั้งตระกูลของตนเป็นผู้เรืองอำนาจแห่งแคว้นนั้นๆ แทน โดยที่อำนาจส่วนกลางไม่อาจปฏิเสธการดำรงอยู่อย่างอหังการของเหล่าชนชั้นผู้ปกครองแคว้นที่เรียกขานกันว่า “ไดเมียว”เหล่านี้ได้ ทำให้องค์จักรพรรดิ์และโชกุนในยุคนั้น ไม่ต่างจากตุ๊กตาจัดตั้งมาดูเล่นๆ ในสายตาของบรรดาไดเมียวเรืองอำนาจทั้งหลาย ซึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ ก็ไม่ต่างจากภาพแห่งคานอำนาจในแผ่นดินสามก๊กสักเท่าใดนัก



“การเมือง” คือวิทยายุทธ์ของการต่อสู้แบบรวมหมู่...หลักการต่อสู้ที่รบชนะปัจเจกได้ ย่อมสามารถประยุกต์ใช้กับการต่อสู้เพื่อเอาชนะคนหมู่มากได้”

“คัมภีร์ห้าห่วง” โดย “มิยาโมโตะ มุซาชิ”



เท้าความไปพอสมควร ย้อนมาจะกล่าวบทไปถึงเรื่องการยุทธนาวีในสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ เมื่อเปรียบท่านโจโฉเป็นดั่งโอดะ โนบุนางะแล้ว ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องเป็นซุนกวน เจ้าสำนักแคว้นง่อก๊ก ผู้ตั้งมั่นฐานอำนาจแห่งกังตั๋ง ซึ่งในลักษณ์นี้ นับได้ว่าชะตากรรมของซุนกวนตกฟากเดียวกันกับ “โมริ เทรุโมโตะ” เจ้าแห่งสิบจังหวัด ผู้กำฐานที่มั่นในเขตฮอนชูทางตะวันออกของญี่ปุ่น เหตุนี้ทั้งซุนกวนและโมริ เทรุโมโตะ จึงต้องแบกรับบทบาทเดียวกันในการเป็นเจ้าถิ่น ที่รอต้อนรับศัตรูจากแดนไกลให้อุ่นหนาฝา“คลั่ง”อย่างที่สุด

กล่าวเช่นนี้แล้ว จะให้เห็นภาพที่เหมือนกับความในสามก๊กว่า “แพ้แค่วันนี้ รอวันได้ชำระ” และสืบเนื่องมาในศึกกองทัพเรือแห่งคิกุคาวากุชิ ก็กลายเป็นดั่งสะท้อนความในใจว่า “แก้แค้นพันปีก็ยังไม่สาย” เราลองมาดูกันว่าสองปริศนานี้ หมายความว่าอย่างไรแน่?

เมื่อโจโฉปราบลิโป้และอ้วนเสี้ยวลงได้ ศักดาพลานุภาพของเขาก็เกรียงไกรจนดูเหมือนไร้ผู้เทียมทานในแผ่นดินแล้ว เพราะสองศึกนี้เขาสามารถสยบเทพนักรบและผู้นำกองพลอันมหาศาลลงได้อย่างสวยงาม เป็นการสะสมบุคลากรและกองทัพให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

อำนาจล้นฟ้ามาอยู่ในมือ โจโฉมองไปรอบด้าน พลันห่วงคิดถึงหอกข้างแคร่ที่ละเลยไปเสียนาน ได้ยินความมาว่าหอกเล่มนี้ลอยไปพึ่งบุญเล่าเปียวอยู่ที่เกงจิ๋ว แม้ปกครองแดนเล็กๆ อย่างเมืองซินเอี๋ย,อ้วนเซีย แต่เสี้ยนก็คือหนามที่แทงเจ็บจี๊ดในใจ จนต้องพิชิตมันออกไปให้ได้เพื่อคลายกังวล โจโฉจึงร่ำร้องกวักมือเรียกหาเล่าปี่เข้าสมรภูมิรบด้วยกันให้ห่างหายความคิดถึง แต่กลับถูกมังกรนิทราขงเบ้งซ้อนกลจนแตกพ่ายกลับมา



“การใช้กำลังหาญหักเพียงอย่างเดียว จะนำไปสู่ความสูญเสีย ซึ่งไม่อาจยืนยันได้ว่าจะพบกับชัยชนะเสมอไป”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “ลม”



เมื่อลองเชิงครั้งแรก โจโฉตระหนักรู้ว่าไม่ใช่หอกทื่อๆ เสี้ยนเล็กๆ เสียแล้ว จึงจัดมหรสพกองทัพใหญ่ไปกำนัลแด่ท่านเล่าปี่อย่างสมน้ำสมเนื้อ แต่เล่าปี่เกรงใจไม่ยอมตอบรับไมตรี หนีไปกังแฮขออยู่อย่างสันโดษ(ชั่วคราว)กับเล่ากี๋บุตรคนโตของเล่าเปียว ซึ่งในขณะนั้นเล่าเปียวสิ้นแล้ว อำนาจจึงตกลงแก่ “ชัวมอ” ที่ยกหุ่นเชิดเด็กน้อยเล่าจ๋องขึ้นแท่นผู้นำ ครั้นโจโฉยกทัพแวะมาเยี่ยมเยือน ไฉนเลยเด็กและผู้ใหญ่จะเล่นขายของด้วยกันได้ เกงจิ๋วจึงตกเป็นของโจโฉไปโดยปริยาย และกลายเป็นฐานที่มั่น เพื่อขยายผลการรบไปยังแผ่นดินปลายน่านน้ำฝั่งตรงข้าม ซึ่งก็คือ “กังตั๋ง”หรือง่อก๊กของท่านซุนกวนนั่นเอง

ฉายภาพกลับมาในมิติของโอดะ โนบุนางะ (โจโฉ No.2) ซึ่งกำลังจะปะทะกับโมริ เทรุโมโตะ ( ภาพจำลองของท่านซุนกวน ) ผลพลอยได้ของโจโฉในสามก๊กอย่างการเก็บตกแคว้นเกงจิ๋วของเล่าเปียว และไล่ต้อนหอกข้างแคร่อย่างเล่าปี่ไปติดมุมอยู่กับเล่ากี๋ ได้สอดคล้องกับภาพของทัพโอดะที่ระหว่างทำศึกกับโมริ ก็เปิดฉากบู๊กับการปิดล้อมกลุ่มต่อต้านโอดะ คือพวกอิกโกะ-อิกกิที่วัดฮอนโนจิอีกทางหนึ่งด้วย และต่อมาก็สามารถบีบให้พวกนี้ยอมจำนนในปี ค.ศ. 1580 จนท้ายที่สุด พลังของพวกพระนักรบคลั่งศาสนากลุ่มนี้ก็ถูกทำลายลง ในขณะเดียวกันกับที่โอดะ โนบุนางะได้สร้างปราสาทอาซูจิหลังมหึมา ที่ทะเลสาบบิวะ ใกล้เกียวโต เป็นสัญลักษณ์แสดงว่าอำนาจที่แท้จริงของญี่ปุ่นอยู่ที่ใด และยังเป็นการปฏิวัติแนวทางการสร้างปราสาทโดยคำนึงถึงเรื่องการใช้อาวุธปืนด้วย ( เอกลักษณ์ของทัพโอดะคือพลปืนคาบศิลา ซึ่งเป็นอาวุธสมัยใหม่ในยุคนั้น ) โดยมีการสร้างรั้วหินหนาหนัก ที่มีช่องสำหรับพลปืน ( ลองใครเข้ามาใกล้สิ พ่อโอดะจะส่องให้กระจุยเลย ! )

ย้อนมาต่อกันอีกช่วงหนึ่ง อันว่าโจโฉจะโจมตีกังตั๋งยากนักฉันใด โอดะจะล้มโมริก็ยากนักไม่ต่างกัน “ง่อก๊ก” นั้นมีชัยภูมิที่มีแม่น้ำกว้างใหญ่ขว้างกั้น กองทัพเรือของกังตั๋งนั้นก็ชำนาญยุทธนาวี โดยเฉพาะมีจิวยี่เป็นแม่ทัพที่มีความสามารถโดดเด่นรักชาติยิ่งชีพด้วยแล้ว ประเด็นเหล่านี้ทำให้ความฝันของโจโฉไม่ใช่หมูหวานเท่าใดนัก



“จะต้องมีการตรวจสอบแก่นแท้ของสภาพแวดล้อมที่มีอยู่จริงอย่างลึกซึ้ง และ เข้าใจถึงปรากฏการณ์เปลือกนอก ที่ฝ่ายตรงข้ามจงใจเปิดเผยให้เห็น เล็งเห็นถึงสภาพของระยะไกล และสามารถฉกฉวยความมีเปรียบจากระยะใกล้”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “น้ำ”



ส่วนทางโอดะ ที่ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นโจโฉย้อนชาติมาเกิดใหม่นั้น การรบกับโมริก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะไหนจะต้องขอใบเบิกทาง โดยการต่อกรกับกลุ่มพระกบฏอิกโกะ-อิกกิที่มุ่งต่อต้านโอดะอย่างรุนแรง (ไม่แรงได้ไง ก็เฮียเล่นมาตรการล้างบางพระพุทธศาสนาเลยนิ จุดนี้ก็คล้ายกับที่โจโฉประหารขงหยง ทายาทตระกูลขงจื้อ เจ้าของลัทธิปรัชญาอันโด่งดัง ) และทางโมริเองก็จ้องจะเสียบเล่นงานซ้อนแผนอยู่รอนๆ อีกทั้งทะเลสีครามที่สำหรับโอดะแล้วมันไม่งาม เพราะนั่นเป็น “ปราการธรรมชาติ”ในการทำศึกกับพวกโมริ



“หากไม่สามารถรู้ถึงขีดความสามารถของคู่ต่อสู้
ก็เป็นการยากที่จะรู้จักตนเอง”
มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “ลม”



จุดนี้ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นถึงผลดีทั้งต่อซุนกวนและโมริ ให้ต่างมีจุดขายที่แสนแพงเหมือนกัน นั่นก็คือ “กองทัพเรือ” ที่เข้มแข็งอันแสนน่าภูมิใจ เป็นปัจจัยร่วมกันประการหนึ่งที่ทำให้ปราสาทของพวกโมริและแคว้นง่อก๊กของท่านซุนกวนนั้นเหนียวแสนจะเหนียวจนขึ้นชื่อลือชาไปทั่วทั้งแผ่นดินเลยทีเดียว ( เหนียวอย่างนี้ อย่าหวังจะเคี้ยวได้ง่ายๆ นะจ้ะ! )

และแล้ว...ศึกตัดสินระหว่างโจโฉและซุนกวนก็เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของทางท่านซุนกวนและจิวยี่ ซึ่งก็เป็นไปตามการโน้มน้าวทางการทูตของขงเบ้งด้วย แต่ภาษิตว่า “น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ” ทำให้ปะทะโดยตรงกับโจโฉซะทีเดียวเลยไม่ได้ ทั้งที่โจโฉเองก็ฮึดสู้เต็มกำลังอย่างไม่สะทกสะท้าน ( แน่ล่ะสิ ก็ป๋าเล่นยกมาเกือบล้านเลย คนฝั่งเขามีแค่ไม่กี่หมื่นเอง ผู้ใหญ่รังแกเด็กนะนี่! )



“การต่อสู้กับพวกมากกว่า จะต้องสังเกตทุกความเคลื่อนไหวของศัตรู...พึงกวาดต้อนให้ศัตรูที่รายล้อมอยู่รอบด้าน ให้รวมตัวกันอยู่ในด้านเดียว จะได้พ้นจากสภาวะที่ต้องรับมือจากการจู่โจมรอบด้าน จะต้องวางแผนการรับมืออย่างเป็นขั้นตอน โดยการลำดับก่อนหลังในการเข้าถึงของคู่ต่อสู้..”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “น้ำ”



การดำเนินศึกยุทธนาวีนี้ หงส์ฯขอย่นย่อเรื่องราวไว้ เพราะมีทั้งแง่ที่อาจจะเป็นไปได้ในด้านประวัติศาสตร์ที่แท้จริงแล้วไม่มีการรบพุ่งใดใดเกิดขึ้นจริง รวมทั้งในแง่ของวรรณกรรมที่ก็สะท้อนให้เห็นทั้งในฉบับสามก๊กทีวีซีรี่ย์และฉบับภาพยนตร์ล่าสุดของจอห์น วู ที่นำเสนอจุดเด่นในเรื่องกลยุทธ์ลวงยืมเกาทัณฑ์ของขงเบ้ง , อุบายห่วงโซ่ของบังทอง และเล่ห์อุยกายเจ็บตัวเพื่อการลวงล่อ เป็นกระแสสีสันของวรรณกรรมนิยายที่เลื่องลือ จนเลื่อนยศขึ้นเป็นพิชัยยุทธ์อันเยี่ยมยอดอีกวิถีหนึ่งเลยก็ว่าได้



“จะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการแทรกซึมเข้าไปยังฝ่ายตรงข้าม ในกรณีที่ไม่อาจคาดการณ์ถึงแผนการ หรือจิตเจตนาที่แท้จริงของฝ่ายตรงข้ามได้ กลยุทธ์ที่ควรจะใช้ออกเรียกว่า “การเคลื่อนเงา” อันเป็นรูปแบบการแสร้งโจมตี แบบดุเดือด , รุนแรง เพื่อบีบบังคับให้ฝ่ายตรงข้ามเผยแผนการที่แท้จริงออกมา เมื่อสามารถล่วงรู้แผนการของฝ่ายตรงข้ามได้ หากฝ่ายตรงข้ามเริ่มดำเนินกลยุทธ์ เราก็จะต้องชักจูงเปลี่ยนแปลงทิศทางของฝ่ายตรงข้าม ให้อยู่ในทิศทางและแง่มุมที่เราสามารถควบคุมไว้ได้โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นรูปแบบที่เรียกว่ากลยุทธ์ “การพรางเงา”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “ไฟ”



แต่...ไม่ว่าจะดำเนินเรื่องราวของศึกเซ็กเพ็กด้วยแง่วรรณกรรมหรือความเป็นประวัติศาสตร์ก็ตาม ผลการศึกนี้ในสามก๊กก็ไม่ได้แตกต่างกันเท่าใดนัก ท้ายที่สุด โจโฉก็ต้องถอยทัพออกห่างจากลำน้ำแห่งกังตั๋งไป นี่คือความหมายที่สื่อถึงความที่ว่า โจโฉขอฝากหนี้เอาไว้ก่อน “แพ้วันนี้ แต่รอโอกาสชำระในวันหน้า”



“หากเราต้องตกอยู่ในจุดอับ ที่สภาพเป็นเบี้ยล่าง จนไม่อาจแก้ไขสถานการณ์ได้ ควรที่จะเลิกล้มแผนที่ได้ วางไว้ทั้งหมดทิ้งไปเสีย และเข้าสู่ภาวะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เพราะการแก้ไขปัญหานั้น ในบางสถานการณ์ยังยากยิ่งกว่าการเริ่มสร้างใหม่เสียอีก”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “ไฟ”



โจโฉย้อนมารำลึกความหลังเหล่านี้อีกครั้ง ในศึกยุทธการหับป๋า ที่เกือบจะได้ไล่บี้ซุนกวนเป็นผลสำเร็จ แต่ก็น่าเสียดายที่สุดท้าย ผลการศึกไม่ต่างจากเป็นการเดินเล่นเฉียดง่อก๊กไปอีกครา จนในชั่วชีวิตนี้ โจโฉไม่อาจมีลมหายใจกลับไปชำระหนี้กับซุนกวนด้วยตนเองได้อีกเลย และนอกจากนี้ก็ยังเป็นที่มาของคำรำพันสะท้อนความในใจของโจโฉที่เด่นดังว่า “มีบุตร ต้องให้ได้อย่างซุนกวน”

จบรำลึกความในสามก๊กตอนโจโฉแตกทัพเรือไปแล้ว(อย่างย่อๆ ) แต่ศึกที่โจโฉ( No.2)ชนะทัพเรือยังไม่จบ ย้อนความถึงโอดะ โนบุนางะได้ย้อนทวนกลับมาทบต้นและดอกที่ “ศึกคิสุกาวากุชิ” (木津川口の戦い Kizugawaguchi no Takanai ) แห่งยุคเซ็นโกกุ แต่การทำศึกกับตะกูลไดเมียวอย่าง “โมริ” ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโมรินั้นได้ชื่อว่าเป็นตระกูลที่มีกองทัพเรืออันแข็งแกร่งที่สุดในญี่ปุ่น ณ เวลานั้น



“รับรู้ถึงสภาวะและแนวทางความคิดของฝ่ายตรงข้าม สามารถประเมินรูปแบบของคู่ต่อสู้ได้อย่างถูกต้อง การจะบรรลุถึงเส้นทางดังกล่าวจะต้องมีจิตใจที่แจ่มในการเปิดกว้าง พิจารณาถึงสภาพแวดล้อมรอบด้านอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สำคัญจะต้องมีการปรับปรุงความรู้ใหม่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อขยายจิตใจออกไปอย่างไม่จำกัด”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “น้ำ”



“โมริ” เป็นกลุ่มตระกูลที่โนบุนางะเองก็ไม่ค่อยอยากจะเข้าไปยุ่งด้วยเท่าใดนัก เพราะปราสาทของพวกโมรินั้นทั้งแข็งและเหนียวมาก ( ทำให้พอสรุปได้ว่า การทำศึกที่ได้ชัยชนะเด็ดขาดของญี่ปุ่นในยุคนั้น ก็คือ ต้องปิดล้อมปราสาทของผู้นำแคว้นและทำการบุกทะลวงเข้าไปให้ได้ เหตุนี้เองเจ้าของจึงต้องระดมกลยุทธ์ในการจัดสร้างปราสาทที่ไม่เอื้อให้ใครบุกเข้ามาโจมตีเอาได้ง่ายๆ ) ทำให้พวกโมริสามารถคุมแคว้นทางใต้ของฮอนชูได้นานจนถึงสงครามเซกิงาฮาร่า แต่สถานการณ์ที่มีพวกกบฏอิกโกะ-อิกกิ รวมทั้งการที่โมริ เทรุโมโตะหาเรื่องใส่ตัว โดยฝ่าวงล้อมทางน้ำของโนบุนางะที่ปิดล้อมพวกอิกโกะ-อิกกิไว้ที่วัดอิชิยาม่าฮอนกันจิ การยื่นมือเข้ามาแทรกกลางของโมริ เทรุโมโตะครั้งนี้ ส่งผลให้โนบุนางะตอบโต้โดยการส่งกองทัพที่มี “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” ( นายทัพอดีตอะชิการุ ) พร้อมด้วย “อาเคจิ มิตสึฮิเดะ” (ซามูไรระดับนายทัพอีกคน) คุมไปจัดการ

โนบุนางะใช้เวลาถึงสามปีในการทดสอบศักยภาพเรือรบที่แข็งแกร่งของโมริ และในที่สุดขุนพล (หรือนายช่างวิศวกรรมโยธา?) นาม “คุคิ โยชิทากะ” แม่ทัพเรือคนสำคัญของตระกูลโอดะ ก็ได้สร้างเรือรบขนาดใหญ่พิเศษหุ้มเกราะทั้งหมด 6 ลำขึ้นมา เพื่อใช้ปราบศึกนี้โดยเฉพาะ ( ลองคิดดูว่าอีก 300 ปีให้หลัง จึงจะมีการสร้างเรือรบเหล็กขึ้นใช้ในตะวันตก )

ยุทโธปกรณ์เรือรบหุ้มเกราะเหล็กที่มีพลปืนและพลธนูประจำอยู่ทั้งหกลำนี้ ได้ใช้เป็นแกนหลักในการพิชิตกองทัพเรือขนาดมหึมาของโมริลงในศึกคิสุกาวากุชิ (木津川口の戦い Kizugawaguchi no Takanai )โดยทัพเรือจำนวนมากของโมริได้ถูกเผาทำลายลงแทบทั้งหมด ทำให้โมริเสียกำลังไปมาก และไม่สามารถที่จะผนึกกองทัพเพื่อยกพลข้ามฝั่งทะเลเข้ามายังเขตแดนของโอดะได้อีกเลย หลังจากนั้นอีกไม่กี่ปี โอดะ โนบุนางะก็ได้วางตัวให้ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” เป็นผู้ประจำการชายฝั่งตะวันตกเพื่อคอยรับศึกกับทางโมริต่อไป



“การจะให้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายแพ้นั้น ไม่ใช่เป็นเพียงความพ่ายแพ้ภายนอก หากแต่จะต้องเป็นการยอมรับทั้งกายและใจ เพราะจิตใจที่ไม่พ่ายแพ้ ย่อมสามารถรวบรวมกำลังขึ้นต่อสู้ใหม่อยู่เสมอ”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “ไฟ”



นี่ก็เป็นอันว่า “แก้แค้นพันปีก็ยังไม่สาย” เพราะการณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ให้บรรยากาศที่สื่อถึงการกลับมามาดใหม่ของโจโฉในคราบของโอดะ โนบุนางะ ที่สามารถกำราบทัพเรือโมริให้เข็ดขามไปได้หลายปี เหมือนเป็นอีกหน้าหนึ่งของโจโฉที่แวบมาบอกว่า “ข้ามาแก้แค้นเจ้าจิวยี่ , ซุนกวน , อุยกาย , โลซกและขงเบ้งได้สำเร็จแล้ว ตอนนั้นพวกเจ้าคิดจะลวงเผาข้า คราวนี้ข้าจึงย่างสดพวกเจ้าบ้าง ยุคนี้ไม่ต้องใช้กลซับซ้อนนัก เอาซึ่งๆ หน้าซะด้วยเรือยักษ์หุ้มเกราะเหล็กบวกลูกปืนรวมเกาทัณฑ์นี่ล่ะ คราวก่อนที่เซ็กเพ็กอยากได้นักหนา คราวนี้ที่ฮอนชู ท่านโอดะเลยจัดให้หลายห่าฝนเลย...เอ้า! รักหรอกจึงอยากบอกว่าให้เกาทัณฑ์แสนดอกอย่างเดียวไม่พอ ขอแถมลูกปืนเอาไปกินอร่อยๆ ด้วย” ( กงกรรมกงเกวียนรึเปล่านี่!)



“จิตวิญญาณที่เปรียบได้ดั่ง “น้ำ” อันสามารถแปรเปลี่ยนรูปร่างได้ตลอดเวลา บางครั้งเล็กน้อย เพียงหยดเดียว บางครายิ่งใหญ่ดั่งห้วงมหรรณพ”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “น้ำ”



“โจโฉแตกทัพเรือ” ในสามก๊ก ด้วยฐานะที่ยกพลไปโจมตีศัตรูที่แข็งแกร่งทางน้ำ นับเป็นการยุทธ์ที่สื่อแสดงให้เห็นว่าแม้มีแสนยานุภาพมากมายเพียงใด แต่ย่อมยากจะเอาชนะภัยจากธรรมชาติได้ ( ทางประวัติศาสตร์ ภัยธรรมชาติ อาจเป็นโรค , ส่วนทางวรรณกรรม คือ ปัจจัยแวดล้อมที่เกื้อหนุนส่งผลต่อการทำศึก คือ วิถีแห่งน้ำ [ลำน้ำลวงนุ่มนวล] , กลแห่งไฟ [ห้วงไฟจู่โจม] และทิศทางสายลม [สายลมแปรผัน] นั่นเอง )

ส่วนบันทึกเรื่องราว “โมริพ่ายยุทธนาวี” ในศึกคิสุกาวากุชิ แห่งยุคเซ็นโกกุนั้น ว่าด้วยฐานะผู้ตั้งรับที่ต้องปราชัยต่อผู้บุกโจมตี นับเป็นวิถีการศึกที่แปรผันพลิกกลับกันกับเหตุการณ์ “โจโฉแตกทัพเรือ” โดยเป็นข้อแย้งว่ามิใช่ว่าชัยภูมิที่งดงามของเจ้าถิ่นจะสยบศัตรูผู้รุกรานได้ทุกกรณี ด้วยแม้ภูมิภาคจะดีเลิศแก่การป้องกันและมีกำลังพลชำนาญพื้นที่สักเพียงใด หากแต่กลยุทธและกระบวนการรบไม่เหมาะสม ความได้เปรียบย่อมพลิกผันสะท้อนกลับไปสู่อุ้งมือผู้บุกรุกได้



“จิตวิญญาณของวิถีแห่งกลยุทธ์ที่แท้จริงคือการเอาชัย ดังนั้นถ้าผู้ฝึกฝนสามารถเรียนรู้วิถีแห่งศาสตร์อื่น และแผ้วทางจนได้รับชัยชนะ ก็กล่าวได้ว่า ค้นพบวิถีแห่งกลยุทธ์ของตนเอง”

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า, บทแห่ง “ดิน”



เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ความอดทนของนักสู้ เพื่อรอคอยวันแห่งการกดดันศัตรูจนถึงที่สุด จะเห็นได้ว่าทัพโอดะลองเชิงสมรภูมิกับโมริมากกว่าหนึ่งครั้ง ( และแทบทุกครั้งก่อนหน้านี้ ผลไม่สู้ดีนัก ) และใช้เวลาถึง 3 ปี เพื่อคิดค้นยุทธวิธี การทุ่มทุน ทุ่มแรงกาย , แรงใจ , แรงสติปัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งเครื่องมือคลี่คลายสถานการณ์ นั่นคือ “เรือรบหุ้มเกราะเหล็กบรรทุกพลธนูและพลปืนทั้งหกลำ” ซึ่งนับเป็นสิ่งยืนยันว่า “โอดะ โนบุนางะ” นั้นเป็นไดเมียวที่ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์กว้างไกลในการศึกอย่างยิ่ง

แม้จะมีการระบุถึงช่องโหว่ของเรือรบนี้ว่า เมื่อทหารฝ่ายโมริกรูกันเข้ามาโจมตีทางกาบเรือ พลปืนและพลธนูของโอดะได้ปีนขึ้นไปตั้งหลักยิงอยู่บนดาดฟ้าเรือ จนทำให้เรือลำนั้นคว่ำ เนื่องด้วยศูนย์กลางแรงถ่วงมีการเคลื่อนที่ไปอย่างเสียสมดุล อันเป็นข้อด้อยอยู่บ้าง แต่นั่นก็แค่รายละเอียดปลีกย่อยที่ตัดแย้งกับภาพโดยรวมของผลการศึกในครั้งนี้ ซึ่งทำให้พวกโมริอ่อนแอลง จึงถือได้ว่ามีชัยไปกว่าครึ่งและเกินคุ้มแล้ว

ในลักษณ์นั้นที่ช่างว่าน่าพลิกผันอย่างตรงกันข้าม จนอยากนำศึกสองสถานนี้มาเทียบเคียงกัน ก็คือเหตุที่ว่า โจโฉบุกมาด้วยพลเป็นจำนวนมากกว่าฝ่ายตั้งรับ แต่ต้องกลับบ้านไปมือเปล่าด้วยปัจจัยหลากหลายในกลศึกและสภาพแห่งธรรมชาติที่เขาคาดไม่ถึง และไม่ทันระแวงระวังจนต้องถอยออกไปอย่างน่าเสียดาย ในขณะที่โอดะได้กุมโอกาสรุกคืบ และสามารถทำลายศัตรูจนอ่อนกำลังลง ด้วยสิ่งที่เรียกว่า “นวัตกรรมสงครามเรือหุ้มเกราะ” ส่วนฝ่ายตั้งรับที่ขึ้นชื่อด้านกองทัพเรือนั้น ทางซุนกวนแม้ต้องผวากับจำนวนพลมหึมาของโจโฉ แต่ท้ายที่สุด เขากลับได้ยืดเวลาสบายใจยิ่งขึ้น ด้วยโชคและชัยที่เอื้อให้ฝ่ายกังตั๋ง ในขณะที่ฝ่ายตั้งรับอย่างทัพเรือโมริ กลับต้องเสียหน้าในศึกคิสุกาวากุชิอย่างแรง ด้วยพลานุภาพของเรือรบที่ต้านกันไม่ได้ และพลรบที่ถือดาบกับพลรบที่ถือปืนและธนู ถึงจะเป็นซามูไรกล้าบ้าบิ่นเพียงใด แต่หากบุกทะลวงฟันเข้าไป ก็เป็นการเสี่ยงและยากลำบากยิ่งเช่นกัน ผลสรุป จึงต้องนำทัพกลับมาหยอดน้ำข้าวต้มในปราสาทอีกหลายปี โดยไม่ได้ออกไปสัมผัสสงครามภายนอกได้อย่างที่เคยภูมิใจ ดังนั้น เหตุที่ว่าโอดะ โนบุนางะ คือโจโฉกลับชาติมาเกิด จึงทำให้สื่อถึงการแก้แค้นกองทัพเรืออยู่กลายๆ หากแต่นั่นก็คงจะพูดในเชิงเปรียบได้ว่า


“ การตั้งรับเพื่อรับมืออย่างเดียว ไม่เอื้อสร้างความได้เปรียบ , การรุกเพื่อบุกอย่างเดียว ก็ไม่สู้จะปลอดภัยนัก การพิชิตชัยที่ดี ฝ่ายตั้งรับต้องมองโอกาสและวิธีที่จะรุกโต้กลับได้ ส่วนฝ่ายทำการรุกฆาต นอกจากต้องแน่วแน่แม่นยำในการพิฆาตแล้ว ยังควรเผื่อยุทธการตั้งรับไว้อย่างเหมาะสม และเป็นการตั้งรับที่สามารถสะท้อนการรุกไล่เพื่อเอาชัยได้อีกด้วย จึงจะดีเยี่ยม”


บรรณานุกรม

คุณ “วัชระ ( EE. Jump )” , ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ,
//www..se-ed.net/pcgamezip/japan.htm

คุณ “Eagle” , ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ยุคเซ็นโกกุ ,
เว็บเด็กดีดอทคอม.

WikiPedia : Battles of Kizugawaguchi , 2551.

คุณ “เทพอหังกาฬ” , ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ,
เว็บบอร์ด MuSiam Online , 2551.

มิยาโมโต้ มุซาชิ , คัมภีร์แห่งห่วงทั้งห้า ( โกะรินโนะโชว )






 

Create Date : 23 สิงหาคม 2551
2 comments
Last Update : 23 สิงหาคม 2551 17:38:25 น.
Counter : 1026 Pageviews.

 

มาเยี่ยมแม่นางหงส์จ๊ะ

 

โดย: มาเพราะรัก 25 สิงหาคม 2551 22:17:05 น.  

 

ชอบที่แม่นางเอาบทในคัมภีร์ของมุซาชิมาแทรก แทรกได้ตรงจังหวะมาก
...แก้แค้นพันปี ไม่สายเลยจริงๆ

เหมือนว่าลักษณะคนที่จะเป็นใหญ่ต้องคล้ายอย่างสองคนนี้แหละ
บวกมีลูกน้องดีเข้าไป ก็ไร้เทียมทาน555 (ถ้าไม่โดนทรยศ)

 

โดย: เสี้ยวจันทร์ IP: 124.157.164.139 29 สิงหาคม 2551 9:02:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


หงส์อรุณ
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หงส์อรุณ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.