Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
ลำนำความคิดเรื่อง “คู่แฝดแห่งสามก๊ก-เซ็นโกกุ”



ลำนำความคิดเรื่อง “คู่แฝดแห่งสามก๊ก-เซ็นโกกุ”



แน่นอนว่าที่ขึ้นต้นชื่อเรื่องไว้เช่นนี้ คงไม่มีความหมายอื่นใด นอกจากว่า บทความต่อๆไปนับจากนี้จะเป็นการกล่าววิพากษ์เทียบตัวละครแห่งสามก๊กของจีน โยงเข้าถึงบุคคลสำคัญทางประวัติศาตร์แห่งเซ็นโกกุของญี่ปุ่น ภายในบล็อก “ห้องลับขงเบ้งน้อย” แห่งนี้ ก็จะบังเกิดบทความในลักษณะนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่งเลยทีเดียว ซึ่งก็จะมีดารารับเชิญทั้งจากทางฟากฟ้าสามก๊กแห่งแผ่นดินจีน และจากผืนดินถิ่นอาทิตย์อุทัยในยุคเซ็นโกกุ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป (หรือน่าสนใจสำหรับหงส์ฯเอง)

อันที่จริงแล้ว จุดนี้เป็นแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นมาอย่างกระทันหัน และอยู่นอกแผนโครงการงานเขียนบล็อกของหงส์อรุณอย่างมาก แต่สืบเนื่องด้วยระยะนี้ หงส์อรุณต้องท่องเที่ยวไปหลากหลายสถานที่ภายในโลกไซเบอร์เน็ต เพื่อเก็บข้อมูลในการแต่งเรื่องแต่งของหงส์ฯเอง การได้อ่านมาก ทำให้ได้มุมมองที่สะดุดใจระหว่างเรื่องของสามก๊กและเซ็นโกกุ ที่หงส์อรุณขอกล่าวจากความรู้สึกที่ได้ศึกษามาในระดับหนึ่งว่า ทั้งสองหน้าประวัติศาสตร์แห่งสองชาติและสองสมัยนี้ ช่างมีส่วนที่เหมือนและสัมพันธ์กัน อันสามารถคิดวิเคราะห์วิพากษ์ได้ในมุมมองที่น่าสนใจ รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันในหลายประเด็นนั้นก็ทำให้หงส์ฯเองอดคิดไม่ได้ว่า คล้ายกับเป็นบุคคลในยุคสามก๊กกลับชาติมาเกิดเพื่อสงครามเซ็นโกกุยังไงยังงั้นเลยทีเดียว ต่างคนก็ต่างว่าย้อนเวลามาทำศึกแก้ตัวในหนทางสานฝันอันยาวนานห่างไกล ที่บางคนมิอาจได้สมดังใจในสามก๊กให้หวนคืนมาปรับปรุงตัวเองอีกครั้งในชาติภพของศึกเซ็นโกกุที่ดุเดือดเลือดนองแผ่นดิน จนกลายเป็นที่มาของบทกวีที่กล่าวไว้ถึงความโหดร้ายของสงครามครั้งนั้นมีใจความว่า แม้แม่น้ำกลางสมรภูมิอันใสสะอาด ก็ยังเปลี่ยนเป็นสีเลือดแดงฉานไปทั้งสายอย่างน่าสะพรึงกลัว

แต่...นั่นก็เป็นเพียงแนวคิดในแง่ความเชื่อเรื่องชาติภพ ซึ่งเป็นความเชื่อที่เลื่อนลอยพอสมควร ( เพราะหงส์ฯเองก็เป็นคนหนึ่งที่เชื่อในหนึ่งภพหนึ่งชาติเท่านั้น คือ ไม่มีชาติก่อนและไม่มีชาติหน้าสำหรับหงส์ฯ อ้าว! แล้วนี่เราจะโยงชาติภพทำไมล่ะนี่?...บรรยากาศพาไปแท้ๆ เลยเชียว ) หากว่ากันตามระยะเวลาทางประวัติศาสตร์แล้ว สามก๊กอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 184-280 ส่วนประวัติศาตร์เซ็นโกกุนั้นเป็นช่วงเวลา ค.ศ. 1477 – 1615 ซึ่งนับว่ากินระยะเวลาห่างกันนานถึงหนึ่งพันสองร้อยปี แต่ด้วยบางสิ่งที่มีความเหมือนพ้องต้องกันและเกี่ยวโยงสัมพันธ์ราวกับว่า “โลกนี้ไม่มีความบังเอิญ จะมีก็แต่พรหมลิขิตเท่านั้น” ทำให้เราเองก็อยากจะลองจับประเด็นมาพูดคุยเชิงแสดงความคิดวิเคราะห์ดูบ้าง

การเริ่มเรื่องเช่นนี้ หงส์ฯเองคิดอยู่หลายตลบถึงความเป็นไปได้และเหตุผล ที่บางครั้งก็อาจจะกลายเป็นกระแสที่ว่าต่างยุค , ต่างเรื่องราว , ต่างแผ่นดิน ยากจะเทียบเคียงกัน จุดนี้เองหงส์ฯก็เข้าใจดี ยุคสมัยแปรผัน ความเป็นไปของยุคสงครามที่ต่างชาติ ต่างผืนดิน,น่านน้ำและแผ่นฟ้า ย่อมไม่อาจจะเปรียบกันได้ว่าเป็น “คู่แฝด” ทางประวัติศาสตร์อย่างแท้จริง แต่...เพราะนึกถึงคำกล่าวที่ชวนให้มีแรงบันดาลใจในบทความนี้ว่า

“เพราะรู้ถึงประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาด ผู้คนจึงเฝ้าภาวนา หากแม้เวลาย้อนกลับมาได้ จะไม่ทำสิ่งนั้นอีกเป็นครั้งที่สอง คำพูดว่า ‘ต่อไปต้องไม่ผิดพลาด’ นั้น จะรับประกันคำพูดนี้ได้จริงหรือ? ใครเป็นผู้ตัดสินกันล่ะว่าจะไม่เกิดความผิดพลาดซ้ำรอยเดิมขึ้นมาอีก!?...”

หากเป็นเช่นนั้นจริง การเกิดเหตุประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิมที่เทียบเคียงกันได้ในหลายยุคหลายสมัยหลายประเทศนั้น ย่อมบ่งบอกได้ว่า แม้จะภาวนาให้เวลาย้อนกลับมาสักกี่ครั้ง แต่ธรรมชาติของคนเรามักจะเหมือนเดิม คือ ไม่อาจหลีกเลี่ยงวัฏจักรที่ซ้ำซ้อนนั้นได้ เพราะเวลาไม่ได้ช่วยอะไรในท่ามกลางความปรารถนาอันร้อนแรงของมนุษย์ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน สงครามเพื่อการแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่จารึกอยู่ในความทรงจำของคนทุกชนชาติ ตราบจนถึงปัจจุบันก็ยังปรากฏภาวการณ์เช่นนั้นไม่ขาดสาย ความจริงเหล่านี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปเช่นเดิมไม่เสื่อมคลาย เพราะอย่างนั้น คำภาวนาให้ย้อนเวลากลับมาแก้ตัวใหม่เพื่อสันติภาพ จึงใช้ไม่ได้ผลกับคนผู้ต้องการความเป็นหนึ่งในแผ่นดินนั่นเอง

สามก๊กเป็นเรื่องราวที่เลื่องลือนาม พิชัยยุทธซุนจื่อยังโด่งดังไปถึงฟากฟ้าอาทิตย์อุทัยได้ฉันใด ตำนานแห่งสามก๊กก็เป็นเรื่องราวซึ่งผู้คนที่นั่น อาจได้รับรู้มาบ้างไม่มากก็น้อยฉันนั้น น่าแปลก!...เมื่อผู้คนรับรู้ว่ายุคสมัยที่ผ่านล่วงมานั้นแสนโหดร้ายเพียงใด แต่ทั้งๆ ที่รู้ ก็ยังสร้างประวัติศาสตร์ที่โหดร้ายเช่นนั้นขึ้นมาในดินแดนนั้นอีก นั่นจึงกลายเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเดิม” และทำให้หงส์อรุณคิดลิขิตคำศัพท์เพื่อบทความนี้ว่า “ สามก๊ก - เซ็นโกกุ : คู่แฝดแห่งประวัติศาสตร์ ” ขึ้นมา ด้วยบุคคลในสามก๊กบางท่าน ผู้คนกล่าวขนานนามได้เต็มคำว่า “กลับชาติมาเกิดใหม่ในเซ็นโกกุ” หรือบุคคลในเซ็นโกกุบางท่านก็ล่ำลือได้ว่า “ เป็น...(ชื่อในสามก๊ก) หมายเลขสอง” อันว่าด้วยเรื่องนี้แล้ว หากจับตรงจุด ถูกประเด็น พ้องความหมายแห่งวิถีชีวิตของพวกเขาที่อยู่ต่างยุค ต่างฟากฟ้า ต่างแผ่นดิน และต่างโลก ( ก็คนในสามก๊ก เมื่อถึงยุคเซ็นโกกุนี่เท่ากับเป็นกลุ่มที่ลงสู่ปรภพไปทั้งหมดแล้วนี่นะ ) ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายความคิดของหงส์อรุณอยู่มาก แม้จะเป็นโครงการใหม่เอี่ยมอ่อง และออกจะกระทันหันเร่งด่วนไปหน่อย แต่ก็อยากลองคิดจุดนี้อยู่เช่นกัน อยากเริ่มงานนี้ไว้ก่อนจะกลายเป็นแนวคิดที่นึกออกแล้วลืมไปจนน่าเสียดาย

ที่กำหนดแผนการในลายลักษณ์นี้ไว้ มีอยู่มาก ลำดับแรกจะเป็นใครและใคร? ก็คงต้องบอกว่า “โปรดติดตามตอนต่อไป ” แล้วกันนะจ้ะ








Create Date : 18 สิงหาคม 2551
Last Update : 18 สิงหาคม 2551 0:54:36 น. 2 comments
Counter : 560 Pageviews.

 
หรือใครอยากจะโหวตให้เขียนถึงบุคคลไหนก่อนบ้างก็ได้นะ ถ้ามีการโหวตอย่างคับคั่ง อาจพิจารณาให้เป็นคู่ปฐมฤกษ์เบิกชัยก่อนเลยก็เป็นได้ ...

(อ้อ! ถึงจะมีคำว่า “คู่” แต่ไม่ใช่คู่ Y นะ อย่าคิดไปไกล เพราะหงส์ฯต้องเขียนจริงๆจังๆ งานนี้จึงไม่มี Y หรอกนะจ้ะ)


โดย: หงส์อรุณ วันที่: 18 สิงหาคม 2551 เวลา:0:53:16 น.  

 
จับประเด็นน่าสนใจค่ะ จะติดตามไปเรื่อยๆนะคะ
(ขออภัยที่เขียนสั้นๆ พูดไม่เก่งค่ะ)(^w^')


โดย: เสี้ยวจันทร์ IP: 125.25.181.21 วันที่: 19 สิงหาคม 2551 เวลา:8:26:11 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หงส์อรุณ
Location :
ราชบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add หงส์อรุณ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.