GEN Y


ทำไมคนเจนวายถึงไม่มีความสุข?

นั่งอ่านบทความระหว่างอู้งาน/เข้าส้วมไปเรื่อย ๆ จนไปเจอกับ Why Generation Y Yuppies Are Unhappy จากเว็บไซต์ Wait But Why อ่านดูแล้วก็รู้สึกว่า เออ… จริงด้วย!

ก่อนจะไล่ลงไปอ่านมาทำความรู้จักกับคนแต่ละเจเนอเรชั่นกันก่อน (ข้อมูลจากกระปุกดอทคอม) ในบทความนี้จะมีตัวละครจากสามรุ่น นั่นคือ

- Greatest Generation คนยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2444-2467)
- Baby Boomer คนรุ่นหลังสองครามโลกเพิ่งจบ (พ.ศ. 2489-2507)
- Generation Y พวกเรา ๆ ท่าน ๆ ที่เกิดช่วง พ.ศ. 2523-2540 นี่แหละครับ

ต้นฉบับภาษาอังกฤษใช้การเล่าเรื่องนี้ผ่านตัวละครสมมติชื่อว่าลูซี่ ลูซี่คือตัวภาพวาดขี้ก้างด้านล่างตัวนี้ เป็นมนุษย์โลกที่เกิดในช่วงปลายยุค 70s-กลางยุค 90s ตัวแทนของเด็กยุคเจเนอเรชั่น วาย (ขอเรียกสั้น ๆ ว่า เจนวาย)

* ในบทความต้นฉบับเรียกลูซี่ว่า Gen Y Protagonists & Special Yuppies โดยใช้ตัวย่อว่า GYPSYs แต่ผมขอเรียกว่าเจนวายนี่แหละ เข้าใจง่ายดี
** เป็นการอ่าน > แปล > สรุปแบบคร่าว ๆ อาจไม่ได้เก็บรายละเอียดของบทความนี้ครบทั้งหมด ถ้าใครจะเอาไปใช้งานจริงจังอ้างอิงจากต้นฉบับแล้วกันครับ อันนี้เขียนไม่ค่อยสมบูรณ์เท่าไหร่ตามความสามารถที่มี :/

Lucy

แล้วทำไมลูซี่ถึงไม่มีความสุข? คนเขียนก็เลยอธิบายสมการความสุขของชีวิตแบบง่าย ๆ เอาไว้ว่า ความสุข = ความจริง – ความคาดหวัง นั่นก็คือ อะไรที่มันดีกว่าที่หวังไว้ นั่นคือความสุข

H=R-E

แล้วทำไมลูซี่ถึงไม่มีความสุข ก็ต้องย้อนไปดูกันถึงโคตรเหง้าของลูซี่กันเลยทีเดียว ก็จะมีตัวละครเพิ่มขึ้นมาอีกสองตัวคือพ่อแม่ของลูซี่ เป็นมนุษย์โลกตัวแทนของคนยุคเบบี้บูมเมอร์จากยุค 50s

Lucy's Parents

พ่อแม่ของลูซี่ถูกเลี้ยงดูจากคนรุ่นที่เพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่สองและได้เห็นความโหดร้ายของสงครามมา

Lucy's Grandparents

คนกลุ่มนี้จะหมกหมุ่นอยู่กับเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ก็เลยสอนลูกหลานรุ่นเบบี้บูมเมอร์ให้ก่อร่างสร้างตัวและมีงานที่มั่นคงกว่าตัวเองเพื่อความสบายในอนาคต โดยเปรียบเทียบเป็นการปลูกหญ้า คนรุ่นทวดต้องการให้ลูกหลานปลูกหญ้าให้เขียวกว่าที่ตัวเองเคยมีนั่นเอง

green grass

คนยุคเบบี้บูมเมอร์อย่างพ่อแม่ของลูซี่ถูกสอนว่าไม่มีสิ่งใดจะมาขัดขวางการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้นได้ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักในช่วงแรกเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายของชีวิตที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงทางการเงิน ถ้าเปรียบเทียบออกมาเป็นกราฟระดับความคาดหวังในความสำเร็จของคนยุคเบบี้บูมเมอร์ก็จะออกมาภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้ว่าพวกเขาใช้เวลาของการเริ่มต้นชีวิตหมดไปกับการทำงานหนัก ก่อนจะได้มาซึ่งสนามหญ้าสีเขียวขจีแบบที่พวกเขาต้องการ/ถูกสอนมา

parent expectation

ทีนี้พอเข้าสู่ช่วงที่คนยุคเบบี้บูมเมอร์ต้องทำงานหนัก ช่วงยุค 70s, 80s, 90s เศรษฐกิจมันก็ดันดีวันดีคืนแบบเป็นประวัติการณ์ ก็เลยกลายเป็นว่าคนยุคเบบี้บูมเมอร์ส่วนใหญ่ประสบผลสำเร็จมากเกินกว่าที่ได้คาดหวังไว้ กลับไปที่สมการเมื่อตอนต้นบทความว่า ความสุข = ความจริง – ความคาดหวัง เมื่อได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก นั่นก็หมายความว่าคนยุคเบบี้บูมเมอร์เป็นคนที่มีความสุขซะเป็นส่วนใหญ่

parent reality

หลังจากที่คนยุคเบบี้บูมเมอร์อย่างพ่อแม่ของลูซี่ประสบความสำเร็จได้มากกว่าคนยุค Greatest Generation แล้ว พวกเขาก็เลยสอนคนเจนวายต่อไปจากประสบการณ์ความสำเร็จของตัวเองว่า อยากเป็นอะไรก็ย่อมเป็นได้ ดูพ่อแม่สิลูก ปลูกฝังความฝันให้คนเจนวายมากขึ้นไปอีก จากแค่สนามหญ้า กลายเป็นว่าคนเจนวายคิดไปถึงการปลูกดอกไม้กันแล้ว

flowers

และจุดนี้นำพาเราไปพบกับความจริงที่ว่า คนเจนวายเป็นพวกที่มีความทะเยอทะยานสูงมาก

President

คนเจนวายมีความต้องการที่มากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ทั้งด้านความสำเร็จและความมั่นคง คนเจนวายมีเป้าหมายของตัวเองอย่างชัดเจนว่าต้องการ ‘เป็นอะไร’ ความคาดหวังในแบบของพ่อแม่พวกเขาเหล่านั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนเจนวายเพราะมันดูไม่ค่อยจะ unique เท่าไหร่ ยกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า คนยุคเบบี้บูมเมอร์ต้องการจะมีแบบที่คนอเมริกันอยากจะมีกันทั่วไป (The American Dream) แต่คนเจนวายกลับต้องการไปให้ถึงความฝันของตัวเอง (Their Own Personal Dream) กันแบบสุดโต่ง

คาล นิวพอร์ตจากเว็บไซต์ฮาร์เวิร์ด บิสซีเนส รีวิว เขียนเอาไว้ว่าวลีอย่าง “follow your passion” กลายเป็นวลียอดฮิตที่ถูกตีพิมพ์ในหนังสือตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา (จากการค้นหาด้วย Google Book Ngram Viewer) และคำอย่าง “a fulfilling career” ก็ก้าวขึ้นมาเป็นคำยอดนิยมในหนังสือแทนที่คำว่า “a secure career” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงเวลาที่คนเจนวายเติบโตกันมา

a secure career

a fulfilling career

แต่อย่าเพิ่งเข้าใจกันไปว่าคนเจนวายจะล่าท้าฝันกันจนไม่ต้องการหน้าที่การงานที่มั่นคงเหมือนคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ต้องการกัน พวกเขายังคงต้องการความมั่นคงอยู่ เพียงแต่ว่าพวกเขาต้องการงานที่จะมา ‘เติมเต็ม’ ให้ชีวิตด้วย ในแบบที่ผู้ปกครองซึ่งเป็นคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ไม่ได้คิดกัน คิดแค่ความมั่นคงจากการทำงานหนักอย่างเดียว

นอกจากการปลูกฝังที่คนเจนวายได้รับมาจนก่อให้เกิดเป็นความทะเยอทะยานแล้ว ยังมีอีกคำหนึ่งที่ลูซี่และคนเจนวายมากมายได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย นั่นคือ:

you're special

พอได้รับการอบรมสั่งสอน เลี้ยงดู ปลูกฝังว่าตัวเองเป็นคนพิเศษกัน ก็เลยกลาเป็น fact ขึ้นมาอีกข้อว่า คนเจนวายเป็นพวกหลงผิด (Delusional) เข้าใจไปเองว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าคนอื่น ยกตัวอย่างเช่นกราฟของลูซี่ตัวละครสมมติของเราที่ด้านล่างที่คนเขียนยกตัวอย่างให้เห็นว่าในหัวของคนเจนวาย 1 คน วางตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเองไว้ในระดับไหน และมองคนอื่นอยู่ในระดับไหน

unicorn-1

แล้วทำไมถึงบอกว่าคนเจนวายเป็นพวกหลงผิด นั่นก็เพราะว่า ในตัวคนเจนวาย (แทบ) ทุกคนคิดแบบนี้ เนื่องจากถูกฝังหัวมาอัดแน่นมาด้วยคำว่า “special” ซึ่งตามนิยามของมันแล้ว ความพิเศษตัวนี้ก็คือ

better, greater, or otherwise different from what is usual.

จากความหมายของคำว่า special ด้านบน แนวคิดของคนเจนวายมักจะคิดเพียงแค่ว่า คนส่วนมากไม่ได้มีความพิเศษอะไรในตัว ความพิเศษของคนอื่นไม่ได้มีความหมายอะไรหรอก

แม้แต่จนถึงตอนนี้บรรดาเจนวายที่กำลังอ่านอยู่ก็คงคิดว่า “เป็นประเด็นที่น่าสนใจ แต่ฉันก็ยังเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีความพิเศษกว่าคนอื่นอยู่ดีนั่นแหละ”

ความหลงผิดลำดับถัดมาของบรรดาเจนวายจะเปิดขึ้นเมื่อพวกเขาเข้าสู่โลกของการทำงาน ในขณะที่พ่อแม่ของลูซี่คาดหวังเพียงแค่การทำงานหนักในช่วงต้นเพื่อให้ได้พบกับอาชีพที่มั่นคงในอนาคต ลูซี่ก็คิดไปถึงอาชีพที่มั่นคงที่เหมาะสมกับคนยอดเยี่ยมอย่างเธอแค่เพียงคนเดียวเท่านั้น และในมโนภาพกราฟความคาดหวังในชีวิตการทำงานของลูซี่ก็จะออกมาหน้าตาประมาณภาพด้านล่างนี้

GYPSY expectation

ถ้าย้อนกลับไปดูกราฟของพ่อแม่ลูซี่ที่ช่วงต้นบนความ จะเห็นได้ว่าความชันในตอนเริ่มต้นของการทำงานมันไม่ได้ชันแบบก้าวกระโดดขนาดนี้ และก็ไม่ได้มีดอกไม้หรือยูนิคอร์นอะไรมาตกแต่งให้เวอร์แบบนี้ มีเพียงแค่หญ้า (ที่คนเขียนบทความนี้เลือกมาใช้แทนความมั่นคง) อย่างเดียว คนเจนวายมักจะลืมคิดไปว่าโลกมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แม้แต่การจะใช้ชีวิตเพื่อให้ได้มาซึ่งกราฟชีวิตที่มั่นคงอย่างเดียวยังไม่ใช่เรื่องง่าย นี่เล่นไปหวังถึงสำเร็จแบบ ‘ไกลตัว’ เกินไปจนลืมนึกไปว่าแม้แต่คนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกนี้หลาย ๆ คน ก็แทบจะไม่มีผลงานอะไรเจ๋ง ๆ ออกมาเลยในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ

จากงานวิจัยของพอล ฮาร์วีย์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเจนวายจากมหาวิทยาลัยนิวแฮมเชียร์ เขาได้บอกเอาไว้ว่าคนเจนวายเป็นพวกที่คาดหวังอะไรเกินจริง รับไมไ่ด้กับคอมเมนต์ถึงตัวเองในแง่ลบ มองตัวเองในมุมมองที่สูง และยังบอกอีกว่าคนพวกนี้มักจะไม่พอใจที่ไม่ได้รับความเคารพและผลตอบแทนตามที่ตัวเองคาดหวังทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาไม่มีความสามารถและความพยายามมากพอที่จะไปให้ถึงระดับที่หวังไว้

สำหรับคนที่กำลังจะจ้างงานบรรดามนุษย์เจนวาย ฮาร์วีย์ได้แนะนำคำถามสำหรับถามคนเหล่านี้ไว้หนึ่งข้อใหญ่ แบ่งเป็นสองข้อย่อย นั่นคือ “คุณคิดว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าเพื่อนร่วมงาน/เพื่อนร่วมชั้นเรียน ฯลฯ หรือเปล่า? ถ้าใช่ ทำไมถึงคิดแบบนั้น?” ถ้าคำตอบที่ได้รับในพาร์ทแรกคือ ‘ใช่’ แต่ติดขัดตอนที่ถูกถามพ่อว่าเพราะอะไร แสดงว่าเริ่มไม่เข้าท่าแล้ว

และหลังจากที่ลูซี่กระโดดเข้ามาสู่โลกของการทำงานได้ซักพัก กราฟของเธอก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แล้วเธอก็พบว่าตัวเธอเองอยู่ห่างไกลจากความคาดหวังที่เคยตั้งเป้าเอาไว้แบบ ‘ห่างไกลเหลือเกิน’

looking up

จากสมการความสุขอันเดิมที่เขียนไว้ตอนต้น ความสุข = ความจริง – ความคาดหวัง คนเจนวายส่วนใหญ่กำลังอยู่ในจุดเดียวกับลูซี่ตอนนี้นั่นคือ คาดหวังสูง (เกินความสามารถของตัวเอง) ไป ผลก็เลยออกมาเป็น ไม่มีความสุข นั่นเอง

และสิ่งที่ทำให้ลูซี่และคนเจนวายอีกมากมาย ‘unhappy’ มากขึ้นไปอีกนั่นก็คือโลกของโซเชียลมีเดีย โลกที่ผู้คนพากันเล่าถึงความสำเร็จของตัวเอง หรือบางทีนำเสนอออกมาให้ดูดีกว่าความเป็นจริง และมักจะมีแค่ผู้คนที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือความสัมพันธ์กำลังไปได้สวยซะเป็นส่วนใหญ่ที่จะโอ้อวดชีวิตตัวเองลงบนเฟซบุ๊ก ในขณะที่คนที่ชีวิตกำลังแย่มักจะไม่ค่อยโพสต์อะไรเกี่ยวกับชีวิตตัวเองให้ใครรับรู้ นั่นยิ่งทำให้ลูซี่รู้สึกไม่มีความสุขเข้าไปอีกเนื่องจากเธอมองเห็นแต่ความสำเร็จของคนอื่น ทุก ๆ คนกำลังไปได้สวยกันหมดเลย ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพชัด ๆ ก็คงจะต้องให้ภาพกราฟด้านล่างพูดแทน

taunted

ความคาดหวังที่ ‘สูงเกินไป’ ของบรรดา ‘ลูซี่’ หรือคนเจนวายในปัจจุบันนี่แหละครับ ที่ทำให้คนรุ่นเราในทุกวันนี้ไม่มีความสุข ผมไม่ได้จะบอกว่าการตั้งเป้าหมายให้สูงไว้มันไม่ดี เพียงแต่ว่า ถ้าตั้งเป้าโดยไม่ได้ประเมินความสามารถของตัวเอง หรือคอยแต่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น มันก็จะไม่มีความสุขแบบที่คุณ, คุณ, คุณ แล้วก็คุณ แล้วก็ผมกำลังเป็นกันอยู่นี่แหละครับ

เจ้าของบทความเขียนคำแนะนำไว้ให้ลูซี่ด้วยสามข้อ แน่นอนว่า ลูซี่ที่เขาหมายถึงก็คือพวกเราเจนวายนี่แหละครับ

1. ทะเยอทะยานให้มากเข้าไว้เหมือนเดิม โลกนี้ยังมีหนทางไปสู่ความสำเร็จให้กับคนที่มีความทะเยอะทะยานสูงอยู่ ถึงหนทางอาจจะยังไม่แน่ชัด แต่ก็คุ้มที่จะสู้
2. เลิกคิดว่าตัวเองพิเศษ ความเป็นจริงก็คือคุณแม่งไม่ได้พิเศษอะไรเลย คุณคือไอ้เด็กที่ไหนก็ไม่รู้ที่ไม่มีประสบการณ์มากพอ คุณจะเป็นคนพิเศษได้ก็ต่อเมื่อทำงานหนักมาเป็นเวลานาน
3. เลิกสนใจคนอื่น หญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าบ้านตัวเองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทุกวันนี้โลกมันสร้างภาพกันง่ายกว่าเดิม บางทีหญ้าบ้านคนอื่นอาจจะดูเหมือนทุ่งเลยก็ได้จากมุมมองของเรา ความจริงก็คือทุก ๆ คนเป็นเพียงพวกที่ยังลังเล, สงสัยในตัวเองและมีความผิดหวังเหมือนที่คุณเป็นนั่นแหละ เพียงแค่คุณทำหน้าที่ของคุณไปให้ดี ๆ คุณก็ไม่จำเป็นต้องอิจฉาคนอื่นอีกเลย

ที่มา – Wait But Why, ภาพประกอบ – HLN

//fjsk.in.th/2014/03/why-generation-y-yuppies-are-unhappy/






Create Date : 25 มิถุนายน 2557
Last Update : 25 มิถุนายน 2557 23:08:35 น.
Counter : 578 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Sound MD
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]



ว่ายน้ำเป็น ค่อยๆ ว่ายๆ มันก็ไปไกล
[status single]
[สูงสุดสู่สามัญ@ Japan]
มิถุนายน 2557

1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30