ไวรัสตับอักเสบ
--------------------------------------------------------------------------------

ไวรัสตับอักเสบบี
ตับอักเสบจากไวรัส หมายถึง โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรงที่ตับ โดยที่เซลล์ตับจะอักเสบกระจายไปทั่วทั้งตับ โดยมีอาการไข้หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปัสสาวะเหลือง

ตับอักเสบจากไวรัสจะมีหลายชนิด ได้แก่ A, B, C, D และ E ซึ่งแต่ละชนิดจะมีอาการคล้ายคลึงกัน แต่ชนิด B จะรุนแรงกว่าชนิดอื่น

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งซึ่งเป็นถิ่นที่ไวรัสตับอักเสบบีระบาดมาก ประชากรไม่น้อยกว่า 3 ล้านคนเป็นพาหะของโรคนี้ ไวรัสตับอักเสบบีนี้เป็นสาเหตุสำคัญของโรคตับอักเสบเฉียบพลัน, ตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง และมะเร็งตับ

จากสถิติพบว่า มีการเสียชีวิตด้วยโรคตับอักเสบ 188 ราย (0.3 คนต่อประชากร 100,000 คน) และมีมะเร็งตับ 5,782 ราย (9.6 ต่อประชากร 100,000 คน) เนื่องจากมีผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสนี้เป็นจำนวนมาก พบว่า 15-25% ของผู้ป่วย ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคตับแข็ง หรือมะเร็งตับ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปกติถึง 223 - 250 เท่า และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี จะเสียชีวิตเนื่องจากโรคตับอักเสบเรื้อรัง, ตับแข็ง และมะเร็งตับในที่สุด

จากหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่า การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดในการเกิดโรคมะเร็งเซลล์ตับ ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย

อาการ
ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีส่วนใหญ่มักไม่มีอาการป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ปวดข้อ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจพบผื่นขึ้นตามตัวหรือมีท้องเสีย ปวดมวนในท้อง น้ำหนักตัวลดลง อาจมีไข้ต่ำๆ ในวันแรกๆ จุกแน่นท้อง ปวดท้อง ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้ม (หรือเรียกว่าอาการดีซ่าน) ซึ่งอาการที่กล่าวมาจะคล้ายอาการของไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยบางรายไม่พบอาการดีซ่านเลยก็ได้ ซึ่งอาการตัวเหลืองตาเหลืองจะหายไปใน 1-4 สัปดาห์ แต่ในบางรายอาจนาน 2-3 เดือน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายเป็นปกติ

ผู้ที่ติดเชื้อแล้วไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ ส่วนใหญ่จะกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้ และมีภูมิต้านทานโรคตลอดชีวิต ส่วนน้อยจะยังคงมีเชื้ออยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลายาว เรียกว่าเป็นพาหะ ผู้ที่เป็นพาหะอาจมีโอกาสเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง โรคตับแข็งหรือมะเร็งตับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากติดเชื้อเมื่อแรกเกิดหรือในวัยเด็ก

การติดต่อ
เชื้อไวรัสตับอักเสบบีมีอยู่ในเลือดหรือส่วนที่เป็นน้ำของร่างกายของผู้ป่วยหรือผู้ที่เป็นพาหะ จึงติดต่อผ่านเลือด เพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมร่วมกัน หรือการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างบุคคล เด็กแรกเกิดสามารถติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะในขณะคลอดหรือในระยะหลังคลอด

จากการศึกษาพบว่าบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้แก่

1. บุคคลที่เกิดในถิ่นระบาดสูง
2. บุคคลที่ใกล้ชิดสัมพันธ์กับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
3. ผู้ที่ใช้ยาเสพย์ติดฉีดเข้าหลอดเลือด
4. ชายรักร่วมเพศ (Homosexual Men)
5. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับคนจำนวนมาก
6. ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
7. ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยไตเทียม
8. ผู้อยู่ในสถานสงเคราะห์ผู้ทุพพลภาพหรือเด็กปัญญาอ่อน
9. เจ้าหน้าที่ทางห้องปฏิบัติการ

วิธีป้องกันโรคตับอักเสบบีและโรคแทรกซ้อนต่างๆ อันเป็นผลติดตามจากการติดเชื้อโรคตับอักเสบบีที่ได้ผลดี คือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

การตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน
เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่ระบาดมากในประเทศไทย มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติหรือเป็นพาหะ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีน ประกอบกับราคาของวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีค่อนข้างสูง ก่อนจะฉีดวัคซีนจึงแนะนำให้ตรวจเลือดก่อน
การตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเพื่อการฉีดวัคซีนนั้นจะตรวจกันอยู่ 3 อย่างคือ

1. การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (บางทีก็เรียกว่า การเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบี) ได้แก่การตรวจ HBs Ag
2. ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี ได้แก่ HBs Ab หรือ anti HBs
3. ภูมิคุ้นเคยต่อไวรัสตับอักเสบบี หรือเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมาก่อน ได้แก่ HBc Ab หรือ anti HBc
ซึ่งถ้าพบตัวใดตัวหนึ่ง (Positive) ก็ไม่ต้องฉีดวัคซีน

วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ (Hepatitis B Vaccine)
ชนิดของวัคซีน
วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี เป็นวัคซีนชนิดน้ำ เตรียมจากโปรตีนผิวนอกของเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBsAg) วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีที่ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยในปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชนิดที่ผลิตจากพลาสมา (plasma-derived vaccine) โดยแยกเอา HBsAg ออกมาจากพลาสมา (ส่วนที่เป็นน้ำของเลือด) ของผู้ที่เป็นพาหะแล้วนำไปทำให้บริสุทธิ์ และชนิดที่ผลิดด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม (recombinant vaccine) โดยสอดสารพันธุกรรมที่กำหนดการสร้าง HBsAg เข้าในเซลล์บางชนิด เช่น เซลล์ยีสต์ หรือเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม แล้วทำให้เซลล์เหล่านี้สร้าง HBsAg ออกมา แล้วจึงแยกเอา HbsAg ทำให้บริสุทธิ์แล้วนำมาเป็นตัววัคซีน

อายุที่ควรฉีด
ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีนนี้มากที่สุด คือเด็กแรกเกิด เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด สำหรับเด็กแรกเกิด ควรฉีดครั้งแรกโดยเร็วที่สุดหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด ครั้งที่สองอายุ 1 - 2 เดือน (หากฉีดเร็วจะได้ผลดีขึ้น) และครั้งที่สามอายุ 6 - 7 เดือน สำหรับในกลุ่มอายุอื่น ฉีด 3 ครั้งเช่นกัน โดยฉีดครั้งที่สองห่างจากครั้งแรก 1 - 2 เดือน และครั้งที่สามห่างจากครั้งที่สอง 5 - 6 เดือน

ปฏิกิริยาจากการฉีดวัคซีน
เด็กที่ได้รับวัคซีนบางรายบริเวณที่ฉีดอาจมีอาการปวด บวม หรือมีไข้ต่ำๆ อาการมักเริ่มราว 3 - 4 ชั่วโมงหลังฉีดและเป็นอยู่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ควรให้ยาลดไข้แก่เด็กที่มีไข้หรือร้องกวน

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น
ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นถึงระดับที่ป้องกันโรคได้ หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง วัคซีนเข็มที่สามถือเป็นการกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันโรคสูงขึ้นและอยู่ได้นานหลายปี โดยทั่วไปที่ได้รับวัคซีนครบสามครั้งแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นอีก และปัจจุบันนี้วัคซีนมีคุณภาพสูง เมื่อฉีดแล้วก่อให้เกิดภูมิเกือบ 100% ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องตรวจดูว่ามีภูมิคุ้มกันเกิดขึ้นหรือไม่ภายหลังการฉีดวัคซีน เว้นไว้ในกรณีที่อยู่ในกลุ่มที่มีบุคคลใกล้ชิด หรือสามี-ภรรยาเป็นพาหะ อาจตรวจดูภูมิคุ้มกันว่าพบ (อยู่ในระดับที่สูงพอต่อการป้องกันโรค)หรือไม่ โดยอาจตรวจทุกๆ 5 ปี ถ้าภูมิต่ำก็พิจารณาฉีดกระตุ้น 1 เข็ม นอกจากนี้การฉีดกระตุ้นอาจจะพิจารณาให้สำหรับผู้ที่มีสภาพภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยไตพิการที่ต้องล้างไต (hemodialysis) เป็นประจำ

เนื่องจากเด็กแรกเกิดสามารถติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะได้ง่าย จึงควรให้วัคซีนครั้งแรกแก่เด็กแรกเกิดทุกคนภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด หากให้วัคซีนเข็มแรกช้า จะป้องกันการติดเชื้อจากแม่ที่เป็นพาหะได้น้อยลง การให้วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีพร้อมวัคซีนชนิดอื่น จะไม่มีผลเสียต่อการสร้างภูมิคุ้มกันโรคของวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีหรือวัคซีนชนิดอื่นที่ให้พร้อมกัน วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีทั้งชนิดที่ผลิตจากพลาสมาหรือผลิตด้วยวิธีการทางพันธุวิศวกรรม ถ้าชนิดใดชนิดหนึ่งขาดไปสามารถใช้แทนกันได้ ดังนั้น เด็กที่ได้รับวัคซีนครั้งก่อนเป็นวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีชนิดหนึ่ง ในครั้งต่อไปอาจรับวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบีที่ผลิตโดยกรรมวิธีต่างกันได้ โดยไม่มีผลเสียแต่ประการใด

การตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน

1. เด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 10 ปี) ไม่จำเป็นต้องตรวจเลือดก่อนฉีดวัคซีน
2. เด็กโต (อายุ 10 ปีขึ้นไป) และผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเคยติดเชื้อมาแล้ว ซึ่งอาจมีภูมิคุ้มกัน โรคแล้วตามธรรมชาติ หรือเป็นพาหะ ซึ่งจะไม่ได้รับประโยชน์จากการฉีดวัคซีน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโดยไม่จำเป็น หากสนใจจะรับวัคซีน จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน แพทย์อาจจะให้ตรวจเลือดประกอบกับการพิจารณาว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่

การปฏิบัติตัวของคนไข้

1. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหักโหมในช่วงที่กำลังมีตับอักเสบ แต่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอได้ในตับอักเสบเรื้อรัง
2. งดการดื่มอักอฮอร์ เพราะจะทำให้ตับเสื่อมเร็วขึ้น
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนพอเพียง
4. ทำใจให้สบาย ลดความเครียดหรือความวิตกกังวลลง


แต่คนที่เป็นพาหะ หรือคนที่มีเชื้อไวรัสบีอยู่ในตัว ที่ต้องคอยระวังตัวเองไม่ให้ภูมิต้านทานของตัวเองตกต่ำ เพราะถ้าเราเผลอเมื่อใด ไวรัสบีที่คอยจ้องอยู่จะทำให้ตับเกิดอาการอักเสบขึ้นมาทันที กลายเป็นโรคเรื้อรัง

การที่ตับอักเสบบ่อยๆ ตับจะเกิดอาการระคายเคืองเป็นระยะ แล้วตับมันก็พยายามซ่อมตัวของมันเอง ทำให้บางครั้งเกิดเนื้อเยื่อที่ไม่เหมือนกับเนื้อตับเดิม กลายเป็นเนื้อร้าย หรือเป็นมะเร็งตับขึ้นมา จากสถิติแล้ว หากมีไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในร่างกายนานประมาณ 40-50 ปี คนคนนั้นจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับสูงมาก

ใครก็ตามที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอยู่ในตัวไม่ว่าจะเป็นเพียงพาหะก็ตาม ควรจะต้องรู้ตัวว่า อาจจะเป็นมะเร็งตับได้ และต้องดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้ภูมิต้านทานของตัวเองเพลี่ยงพล้ำต่อเชื้อไวรัสได้ จึงจะลดอัตราเสี่ยงนี้ลงได้

วิธีดูแลผู้ป่วยไวรัสบี ที่จากเดิมเป็นพาหะ และกลายเป็นไวรัสตับอักเสบกำเริบเป็นพักๆ ดูแลกันด้วยวิธีธรรมชาติจนกระทั่งอาการสงบลง เดี๋ยวนี้ผู้ป่วยรายนี้อายุ 82 ปีแล้ว ยังไม่เป็นมะเร็งตับเลย โดยอาศัยวิธีการดังต่อไปนี้

1.งดเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ย่างเด็ดขาด
2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลต่อตับ เช่น พาราเซตามอล เตตราไซคลิน อีริโทรมัยซิน ไอเอนเอช และยาคุมกำเนิดเป็นต้น
3. ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยๆ ควรนอนให้ได้วันละ 6-8 ชั่วโมง
4. ห้ามไม่ให้เครียด ไม่ควรทำงานหามรุ่งหามค่ำ ต้องหาวิธีคลายเครียดทุกวัน เช่นทำงานอดิเรกหรือออกกำลังกาย เพราะความเครียดจัดทำให้ภูมิคุ้มกันตกได้
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่นเดินเร็ว หรือวิ่งเหยาะๆ 5-7 ครั้งต่อสัปดาห์ นานครั้งละครึ่งชั่วโมง การออกกำลังกายขนาดนี้จะช่วยรักษาระดับภูมิต้านทานให้สูงอยู่เสมอ
6. อาหาร เป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องกินข้าวกล้องเป็นประจำ กินผักสดผลไม้สด กินน้ำคั้นจากผักและผลไม้สด อย่างน้อยวันละ 3-4 แก้ว (200ซีซี) เพราะน้ำตาลจำเป็นต่อการทำงานของตับ แต่ไม่ควรกินน้ำหวานใส่สี เพราะมีประโยชน์ไม่เท่ากับน้ำผักและผลไม้สดๆ

งดน้ำมัน ดังนั้นอาหารประเภททอด ผัด กะทิ นม เนย ต้องด เพื่อที่ตับจะได้ทำงานย่อยอาหารประเภทน้ำมันน้อยลง ตับของเราไม่สบายก็ควรปล่อยให้มันได้พักบ้าง ไม่ใช่ใช้งานหนักโดยให้ย่อยอาหารมันๆ อย่างข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ อย่างนี้ไม่ควร

งดเนื้อสัตว์ รวมทั้งเนื้อปลา กินแต่มังสวิรัติ จนกระทั่งตับหายอักเสบ เอนไซม์ตับลดลงเป็นปกติ จึงกินปลาหรือสัตว์น้ำบ้านนิดๆหน่อยๆ แบบคนไทย เช่นกุ้งใส่แกงเลียง ปลาใส่แกงส้ม แต่น้ำมันยังคงต้องควบคุมกันต่อไป

สำหรับผู้ที่เป็นตับอักเสบแล้วและต้องควบคุมอาหาร เสนอว่าให้ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็น3 ระยะดังต่อไปนี้

ระยะที่หนึ่งสองสัปดาห์แรก

1.กินข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ไม่ได้ขัดขาวทุกมื้อ
2. กินผักสด หรือผลไม้สดทุกมื้อ เช่น มื้อเช้ากินผลไม้สด มื้อเที่ยงกินส้มตำ มื้อเย็นกินสลัดผัก กินน้ำคั้นจากผักและผลไม้สด วันละ 2 แก้ว (200ซีซี)
3.เนื้อสัตว์ให้กินปลา อาหารทะเล และไข่ ถ้าอยากกินไก่ ให้กินไก่พื้นบ้าน และลอกหนังออก
4.น้ำมันพืชใช้เพียงเล็กน้อย พอให้ของที่จะผัดไม่ติดกะทะ

ระยะที่สอง 4 สัปดาห์ถัดไป หรือจนกระทั่งตับหายอักเสบ

1.กินข้างกล้อง ขนมปังโฮลวีทเช่นเดิม
2.กินผักสด ผลไม่สดทุกมื้อ กินน้ำคั้นจากผักสด และผลไม้สดวันละ 2 แก้ว (200 ซีซี)
3.งดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ งดปลา กินมังสวิรัติ เช่น เต้าหู้ เห็ด วุ้นเส้น แทน
4.งดน้ำมันทุกประเภท และกะทิ ให้กินแกงส้ม ต้มยำ ยำ ลาบ น้ำพริกแทน

ระยะที่สาม ตลอดไป

1. กินข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีทเช่นเดิม
2. กินผักสด ผลไม้สดทุกมื้อ กินน้ำคั้นจากผักสด และผลไม้สดวันละ 2 แก้ว (200 ซีซี)
3. กินปลา และสัตว์น้ำได้ งดไก่และไข่
4. งดน้ำมันทุกประเภท และกะทิ

ที่มา: นิตยสารขวัญเรือน พญ.ลลิตา ธีระสิริ , //www.i-medipro.com



Create Date : 25 ธันวาคม 2549
Last Update : 25 ธันวาคม 2549 14:54:05 น.
Counter : 935 Pageviews.

4 comments
  
ได้ความรู้มาก ๆ เลยค่ะ
มีเพื่อนเป็นพาหะอยู่ด้วย
เดี๋ยวเอาไปให้เขาอ่านค่ะ



ขอให้มีความสุขมาก ๆ
สมปรารถนาในทุกสิ่งนะคะ

MeRrY cHrIsTmAs
and HaPpY nEw YeAr ค่ะ


โดย: โสดในซอย วันที่: 25 ธันวาคม 2549 เวลา:15:19:53 น.
  
MeRrY cHrIsTmAs

ขอบคุณที่หาอะไรดีๆๆมาให้อ่านจ๊ะ
โดย: บ้านโคกโจด (my_oom ) วันที่: 25 ธันวาคม 2549 เวลา:15:34:07 น.
  







MeRrY ChRiStMaS
มีความสุขมาก ๆน่ะค่ะ


โดย: icebridy วันที่: 25 ธันวาคม 2549 เวลา:20:53:12 น.
  
มีรุ่นพี่เค้าเคยเป็นด้วยค่ะ
โดย: Toon16 วันที่: 2 มกราคม 2550 เวลา:12:15:31 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sopheamai
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ธันวาคม 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
26
27
28
29
30
31