สารณียธรรม 6 (ธรรมที่ก่อให้เกิดความสามัคคี)
๒. สาราณิยสูตรที่ ๒

[๒๘๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้ เป็นที่ตั้งแห่งการ
ให้ระลึกถึง กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ธรรม ๖
ประการเป็นไฉน คือ

(๑) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าไปตั้งกายกรรมประกอบด้วยเมตตา
ในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่ง
การระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์
กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

(๒) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ในเพื่อน
พรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่ง
การระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์
กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

(๓) อีกประการหนึ่ง ภิกษุเข้าไปตั้งมโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตาในเพื่อน
พรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่ง
การระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์
กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

(๔) อีกประการหนึ่ง ภิกษุแบ่งปันลาภทั้งหลายที่ประกอบด้วยธรรมได้มาโดย
ธรรม แม้โดยที่สุดบิณฑบาต ย่อมบริโภคร่วมกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ผู้มีศีลทั้งหลาย
แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ
ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียง
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

(๕) อีกประการหนึ่ง ภิกษุผู้มีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็น
ไทย อันวิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาทิฐิไม่ยึดถือ เป็นไปเพื่อสมาธิ เสมอกัน
กับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่ง
การระลึกถึงกัน กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์
กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

(๖) อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีทิฐิอันเป็นอริยะ เป็นเครื่องนำออก นำออกไป
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่ผู้กระทำตาม เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แม้ธรรมข้อนี้ก็เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน กระทำให้เป็น
ที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน เพื่อความไม่วิวาทกัน
เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๖ ประการนี้แล เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึงกัน
กระทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความสงเคราะห์กัน
เพื่อความไม่วิวาทกัน เพื่อความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฯ

จบสูตรที่ ๒

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ บรรทัดที่ ๖๘๓๘ - ๖๘๘๕. หน้าที่ ๓๐๑ - ๓๐๓.
//84000.org/tipitaka/read/v.php?B=22&A=6838&Z=6885&pagebreak=0


คำอธิบายเพิ่มเติมจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม

[273] สารณียธรรม 6 (ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความให้ระลึกถึง, ธรรมเป็นเหตุที่ระลึกถึงกัน,
หลักการอยู่ร่วมกัน — states of conciliation; virtues for fraternal living) สาราณียธรรม ก็ใช้

1. เมตตากายกรรม (ตั้งเมตตากายกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ
ช่วยเหลือกิจธุระของผู้ร่วมคณะด้วยความเต็มใจ แสดงกิริยาอาการสุภาพ เคารพนับถือกัน
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in deed, openly and in private)

2. เมตตาวจีกรรม (ตั้งเมตตาวจีกรรมในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ
ช่วยบอกแจ้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ สั่งสอน แนะนำตักเตือนด้วยความหวังดี กล่าววาจาสุภาพ
แสดงความเคารพนับถือกัน ทั้งต่อหน้าและลับหลัง — to be amiable in word, openly and in private)

3. เมตตามโนกรรม (ตั้งเมตตามโนกรรม ในเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ
ตั้งจิตปรารถนาดี คิดทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่กัน มองกันในแง่ดี มีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
— to be amiable in thought, openly and in private)

4. สาธารณโภคี (ได้ของสิ่งใดมาก็แบ่งปันกัน คือ เมื่อได้สิ่งใดมาโดยชอบธรรม แม้เป็นของเล็กน้อย
ก็ไม่หวงไว้ผู้เดียว นำมาแบ่งปันเฉลี่ยเจือจาน ให้ได้มีส่วนร่วมใช้สอยบริโภคทั่วกัน
— to share any lawful gains with virtuous fellows) ข้อนี้ ใช้ อัปปฏิวิภัตตโภคี ก็ได้

5. สีลสามัญญตา (มีศีลบริสุทธิ์เสมอกันกับเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ
มีความประพฤติสุจริตดีงาม ถูกต้องตามระเบียบวินัย ไม่ทำตนให้เป็นที่น่ารังเกียจของหมู่คณะ
— to keep without blemish the rules of conduct along with one’s fellows, openly and in private)

6. ทิฏฐิสามัญญตา (มีทิฏฐิดีงามเสมอกันเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง คือ
มีความเห็นชอบร่วมกัน ในข้อที่เป็นหลักการสำคัญที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้น สิ้นทุกข์ หรือขจัดปัญหา
— to be endowed with right views along with one’s fellows, openly and in private)

ธรรม 6 ประการนี้ มีคุณคือ เป็น สารณียะ (ทำให้เป็นที่ระลึกถึง — making others to keep one in mind)
เป็น ปิยกรณ์ (ทำให้เป็นที่รัก — endearing)
เป็น ครุกรณ์ (ทำให้เป็นที่เคารพ — bringing respect)
เป็นไปเพื่อ ความสงเคราะห์ (ความกลมกลืนเข้าหากัน — conducing to sympathy or solidarity)
เพื่อ ความไม่วิวาท (to non—quarrel)
เพื่อ ความสามัคคี (to concord; harmony) และ
เอกีภาพ (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน — to unity)


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ พ.ศ. ๒๕๔๖
//84000.org/tipitaka/dic/d_item.php?i=273


การประยุกต์ในองค์กร ความสามัคคีในองค์กรย่อมเกิดขึ้นได้เมื่อ
๑) ไม่คิดประทุษร้ายกันและกันด้วยกาย
๒) ไม่คิดประทุษร้ายกันและกันด้วยวาจา
๓) ไม่คิดประทุษร้ายกันและกันด้วยใจ
๔) ไม่เห็นแก่ตัว คิดแต่จะให้
๕) ปฏิบัติตามกฏระเบียบ เคารพกฏระเบียบขององค์กร
๖) มีอุดมการณ์ร่วมกัน มีเป้าหมายร่วมกัน



Create Date : 17 กันยายน 2554
Last Update : 17 กันยายน 2554 20:05:02 น.
Counter : 754 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sky-hook-damper
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



กันยายน 2554

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30