(พกชาดก) ว่าด้วย ผู้ฉลาดแกมโกง
บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์
เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้
เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอ ฉะนั้น.

========================================
========================================

พกชาดก ว่าด้วยผู้ฉลาดแกมโกง

ในอดีตกาล พระโพธิสัตว์บังเกิดเป็นรุกขเทวดา อยู่ที่ต้นไม้ ซึ่งตั้งอาศัยสระปทุมแห่งหนึ่ง
อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง. ในกาลนั้น คราวฤดูร้อน นํ้าในสระแห่งหนึ่งซึ่งไม่ใหญ่นัก ได้น้อยลง
แต่ในสระนั้นมีปลาเป็นอันมาก. ครั้งนั้น นกยางตัวหนึ่งเห็นปลาทั้งหลาย แล้วคิดว่า
เราจักลวงกินปลาเหล่านี้ ด้วยอุบายสักอย่าง จึงไปนั่งคิดอยู่ที่ชายนํ้า.
ลำดับนั้น ปลาทั้งหลายเห็นนกยางนั้น จึงถามว่า เจ้านาย ท่านนั่งคิดถึงอะไรอยู่หรือ?
นกยางกล่าวว่า เรานั่งคิดถึงพวกท่าน.
ปลาทั้งหลายถามว่า เจ้านาย ท่านคิดถึงเราอย่างไร.
นกยางกล่าวว่า เรานั่งคิดถึงพวกท่านว่า นํ้าในสระนี้น้อย
ที่เที่ยวก็น้อย และความร้อนมีมาก บัดนี้ ปลาเหล่านี้จักกระทำอย่างไร.
ลำดับนั้น พวกปลาจึงกล่าวว่า เจ้านาย พวกเราจะกระทำอย่างไร.
นกยางกล่าวว่า ถ้าท่านทั้งหลายจะกระทำตามคำของเรา
เราจะเอาจะงอยปาก คาบบรรดาพวกท่านคราวละตัว
นำไปปล่อยยังสระใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งดารดาษด้วยปทุม ๕ สี.
ปลาทั้งหลายกล่าวว่า เจ้านาย ตั้งแต่ปฐมกัปมา
ชื่อว่า นกยางผู้คิดดีต่อพวกปลา ย่อมไม่มี.
ท่านประสงค์จะกินบรรดาพวกเราทีละตัว พวกเราไม่เชื่อท่าน.
นกยางกล่าวว่า เราจักไม่กิน ก็ถ้าพวกท่านไม่เชื่อเราว่า สระนํ้ามี
พวกท่านจงส่งปลาตัวหนึ่ง ไปดูสระนํ้าพร้อมกับเรา.
ปลาทั้งหลายเชื่อนกยางนั้น คิดว่า ปลาตัวนี้สามารถทั้งทางนํ้าและทางบก
จึงได้ให้ปลาทั้งใหญ่ทั้งดำตัวหนึ่งไป ด้วยคำว่า ท่านจงเอาปลาตัวนี้ไป.
นกยางนั้นคาบปลาตัวนั้น นำไปปล่อยในสระ แสดงสระทั้งหมดแล้ว
นำกลับมาปล่อยในสำนักของปลาเหล่านั้น.
ปลานั้นจึงพรรณนาสมบัติของสระแก่ปลาเหล่านั้น.
ปลาเหล่านั้นได้ฟังถ้อยคำของปลาตัวนั้น เป็นผู้อยากจะไป
จึงพากันกล่าวว่า ดีละ เจ้านาย ท่านจงคาบพวกเราไป.
นกยางคาบปลาตัวทั้งดำทั้งใหญ่ตัวแรกนั้นนั่นแหละ
แล้วนำไปยังฝั่งของสระนํ้า แสดงสระนํ้าให้เห็น
แล้วซ่อนที่ต้นกุ่มซึ่งเกิดอยู่ริมสระนํ้า แล้วสอดปลานั้นเข้าในระหว่างค่าคบ
จิกด้วยจะงอยปากให้ตายแล้วกินเนื้อ ทิ้งก้างให้ตกลงที่โคนต้นไม้ แล้วกลับไป
พูดว่า ปลาตัวนั้นเราปล่อยไปแล้ว ปลาตัวอื่นจงมา
แล้วคาบเอาทีละตัวโดยอุบายนั้น กินปลาหมด กลับมาอีก
แม้ปลาตัวหนึ่ง ก็ไม่เห็น. ก็ในสระนี้ มีปูเหลืออยู่ตัวหนึ่ง
นกยางเป็นผู้อยากจะกินปูแม้ตัวนั้น จึงกล่าวว่า
ปูผู้เจริญ เรานำปลาทั้งหมดนั้นไปปล่อยในสระใหญ่
อันดารดาษด้วยปทุม มาเถิดท่าน แม้ท่านเราก็จักนำไป.
ปูถามว่า ท่าน เมื่อจะพาเราไป จักพาไปอย่างไร?
นกยางกล่าวว่า เราจักคาบพาเอาไป.
ปูกล่าวว่า ท่านเมื่อพาไปอย่างนี้ จักทำเราให้ตกลงมา เราจักไม่ไปกับท่าน.
นกยางกล่าวว่า อย่ากลัวเลย เราจักคาบท่านให้ดี แล้วจึงไป.
ปูคิดว่า ชื่อว่า การคาบเอาปลาไปปล่อยในสระ ย่อมไม่มีแก่นกยางนี้
ก็ถ้านกยางจักปล่อยเราลงในสระ ข้อนี้เป็นการดี
หากจักไม่ปล่อย เราจักตัดคอมันเอาชีวิตเสีย.

ลำดับนั้น ปูจึงกล่าวกะนกยางนั้น อย่างนี้ว่า
ดูก่อนนกยางผู้สหาย ท่านจักไม่อาจคาบเอาเราไปให้ดีได้
ก็เราคาบด้วย จึงจะเป็นการคาบที่ดี
ถ้าเราจักได้เอาก้ามคาบคอท่านไซร้
เราจักกระทำคอของท่านให้เป็นของอันเราคาบดีแล้ว
จึงจักไปกับท่าน.

นกยางนั้นคิดแต่จะลวงปูนั้น หารู้ไม่ว่า ปูนี้ลวงเรา จึงรับคำว่า ตกลง.
ปูจึงเอาก้ามทั้งสองของมันคาบคอนกยางนั้นไว้แน่น
ประหนึ่งคีบด้วยคีมของช่างทอง แล้วกล่าวว่า ท่านจงไปเดี๋ยวนี้.
นกยางนั้นนำปูนั้นไปให้เห็นสระแล้ว บ่ายหน้าไปทางต้นกุ่ม.
ปูกล่าวว่า ลุง สระนี้อยู่ข้างโน้น แต่ท่านจะนำไปข้างนี้.
นกยางกล่าวว่า เราเป็นลุงที่น่ารัก แต่เจ้าไม่ได้เป็นหลานเราเลยหนอ
แล้วกล่าวว่า เจ้าเห็นจะทำความสำคัญว่า นกยางนี้เป็นทาสของเรา
พาเราเที่ยวไปอยู่ เจ้าจงดูก้างปลาที่โคนต้นกุ่มนั่น แม้เจ้า เราก็จักกินเสีย
เหมือนกินปลาทั้งหมดนั้น.
ปูกล่าวว่า ปลาเหล่านั้น ท่านกินได้ เพราะความที่ตนเป็นปลาโง่
แต่เราจักไม่ให้ท่านกินเรา แต่ท่านนั่นแหละจักถึงความพินาศ
ด้วยว่า ท่านไม่รู้ว่า ถูกเราลวง เพราะความเป็นคนโง่
เราแม้ทั้งสอง เมื่อจะตายก็จักตายด้วยกัน
เรานั่นจักตัดศีรษะของท่านให้กระเด็นลงบนภาคพื้น.
กล่าวแล้ว จึงเอาก้าม ปานประหนึ่งคีม หนีบคอนกยางนั้น.
นกยางนั้นอ้าปาก นํ้าตาไหลออกจากนัยน์ตาทั้งสองข้าง
ถูกมรณภัยคุกคาม จึงกล่าวว่า ข้าแต่นาย เราจักไม่กินท่าน
ท่านจงให้ชีวิตเราเถิด.
ปูกล่าวว่า ถ้าเมื่อเป็นอย่างนั้น ท่านร่อนลงแล้วปล่อยเราลงในสระ.
นกยางนั้นหวนกลับมาร่อนลงยังสระนั่นแหละ
แล้ววางปูไว้บนหลังเปือกตม ณ ที่ริมสระ.
ปูตัดคอนกยางนั้นขาดจมลงไปในนํ้า
เหมือนตัดก้านโกมุทด้วยกรรไกร ฉะนั้น.
เทวดาผู้สิงอยู่ที่ต้นกุ่ม เห็นความอัศจรรย์นั้น
เมื่อจะให้สาธุการทำป่าให้บันลือลั่น จึงกล่าวคาถานี้ด้วยเสียงอันไพเราะว่า

บุคคลผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงผู้อื่น ย่อมไม่ได้ความสุขเป็นนิตย์
เพราะผู้ใช้ปัญญาหลอกลวงคนอื่น ย่อมประสบผลแห่งบาปกรรมที่ตนทำไว้
เหมือนนกยางถูกปูหนีบคอ ฉะนั้น.



อ้างอิง
//84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=38



Create Date : 07 พฤษภาคม 2554
Last Update : 7 พฤษภาคม 2554 21:25:00 น.
Counter : 618 Pageviews.

1 comments
  
สาธุนะจ่ะ
โดย: ตะวันเจ้าเอย วันที่: 7 พฤษภาคม 2554 เวลา:22:04:41 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

sky-hook-damper
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



พฤษภาคม 2554

1
2
4
6
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31