ผมทำมันขึ้นมาเพื่อหวังว่า เมื่อคุณอ่าน blog ของผมแล้ว อาจมีเงินเพิ่มขึ้น หรือสามารถรักษาเงินไว้ ไม่สลายหายไปแบบ ถูกกฎหมาย
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2550
 
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
25 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)

ก่อตั้ง
----------------------------



ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2538










นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2538
"พี. เค. พอล กับอนาคตที่ขึ้นอยู่กับโกลเบ็กซ์"






search resources

ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์, บมจ.
พี.เค.พอล
Pulp and Paper




สถานการณ์ในปัจจุบันในเชิงธุรกิจของบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ดูจะสดใสอย่างมากในระยะนี้เหตุหลักน่าจะมาจากภาวะราคาของกระดาษและเยื่อกระดาษโลกที่เข้าสู่รอบราคาขาขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เนื่องเพราะการสอดประสานที่ลงตัวของงานบริหารที่นำโดย พี. เค. พอล กรรมการผู้จัดการ

ผลประกอบการล่าสุดของบริษัท จากการแถลงข่าวของทีมผู้บริหาร ทำให้ทราบว่า 9 เดือนแรกของปีนี้ (2538) บริษัทมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,012.28 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นกำไรที่มากเป็นประวัติการณ์ สำหรับบริษัท และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 56.5%

"การที่บริษัทมีผลการดำเนินงานที่สูงมากใน 9 เดือนแรกปีนี้ เป็นเพราะฝ่ายบริหารมีการตัดสินใจลงทุนที่ตรงกับแนวโน้มตลาด" พี. เค. พอล กล่าว

มองถึงอนาคต จากการเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษรายใหญ่ของไทย ที่มีลูกค้าทั้งในประเทศและทั่วโลก ในอัตราส่งออกเยื่อกระดาษปีละราว 100,000 ตัน และแหล่งผลิตเยื่อกระดาษทั่วโลกที่ใช้วัตถุดิบจากป่าดงดิบหรือป่าธรรมชาติ กำลังจะพับฐานไป ทั้งจากกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือป่าธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบถูกทำลายจนหมด

แผนงานบริหารในเรื่องของการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลงลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคาเยื่อกระดาษที่ตรึงอยู่ในระดับสูง หรือถึงคราวราคาเยื่อกระดาษอยู่ในขาลง ก็คงส่งผลไม่มากนัก

ฐานะการเงินที่อยู่ในขั้นดี แหล่งเงินทุนที่ใช้ในการขยายกิจการเป็นเงินกู้ระยะยาว และได้ชำระหนี้สินในส่วนของโรงงานฟินิคซ 1 ได้ครบถ้วนแล้ว

และแม้ว่าบริษัทผลิตกระดาษและเยื่อกระดาษรายใหญ่อย่าง "แอ๊ดวานซ์ อะโกร" ของกิตติ ดำเนินชาญวริชย์ จะใกล้เปิดดำเนินการ แต่ยักษ์ใหญ่รายนี้ก็จะกลายสภาพเป็นลูกค้ารายหนึ่งของ ฟินิคซ พัลพฯ ไม่ใช่คู่แข่งทางธุรกิจ ทั้งนี้ตามคำยืนยันของ พี. เค. พอล

จากสิ่งที่ได้รับรู้ น่าจะสรุปได้ว่า บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ เป็นองค์กรที่เลิศหรูไม่น้อย

แต่อาจกล่าวได้ว่า ยิ่งองค์กรแห่งนี้มีผลงานที่โดดเด่นและผลกำไรมหาศาล ยิ่งกลับเผชิญมรสุมจากความไม่ลงรอยระหว่างผู้ถือหุ้น ที่มีปัญหามานานปี

ทุกวันนี้กลุ่มนันทาภิวัฒน์ กับกลุ่มโกลเบ็กซ์ คือ กลุ่มหลักของสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งยึดกลุ่มอำนาจบริหารไว้ได้ แต่เมื่อ สมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญและรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของฟินิคซฯ ได้เสียชีวิตลง จึงทำให้กระแสการก้าวเข้ายึดกุมอำนาจของโกลเบ็กซ์ ร้อนแรงขึ้น

และครั้งนี้ ดูเหมือนว่ากลุ่มโกลเบ็กซ์ ใกล้บรรลุจุดประสงค์มากที่สุด มากกว่าหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา

จอร์จ เดวิดสัน รองประธานกรรมการบริหาร รักษาการประธาน ได้กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นว่า

"ได้ร่วมกับคุณสมบูรณ์ เมื่อ 20 ปี ที่แล้วเพื่อสร้างโรงงานฟินิคซ 1 และก็แนบแน่นกันมาตลอด ถ้าตระกูลนันทาภิวัฒน์จะเปลี่ยนแปลงอะไร คงต้องปรึกษาผมก่อนแน่นอน"

ส่วน พี. เค. พอล ได้ตอกย้ำอีกว่า "กับน้องชายคุณสมบูรณ์ คุยกันแล้ว ก็บอกว่าไม่มีความคิดที่ขายหุ้นเพราะธุรกิจยังดีอยู่ ในอนาคตอันใกล้ไม่มีการขายแน่นอน"

16 ธันวาคม 2538 เป็นวันที่หมู่ญาติกำหนดไว้ว่าจะเป็นวันปลงศพ ของสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ และหลังจากนั้นจึงจะเลือกประธานกรรมการบริหารคนใหม่

ที่สำคัญกว่านั้น หลังทุกอย่างเสร็จสิ้น ให้จับตาดูว่า การเทกโอเวอร์ ฟินิคซ พัลพฯ โดยโกลเบ็กซ์ ด้วยเงินราว 9,000 ล้านบาท จะมีขึ้นจริงหรือไม่

และคำพูดของ "เถาวัลย์ นันทาภิวัฒน์" ในตอนนั้น จะมีน้ำหนักไม่น้อย

ถึงวันนั้น ทีมบริหารที่ช่ำชองโดยมี พี. เค. พอล นำทีมอาจไม่ปรากฏชื่อในฟินิคซ พัลพฯ อีกต่อไป


Create Date : 25 ตุลาคม 2550
Last Update : 25 ตุลาคม 2550 21:28:21 น. 3 comments
Counter : 8802 Pageviews.

 
เครื่อซิเมนต์ไทย takeover
--------------------------------
ใช่ว่าชื่อ “เครือซิเมนต์ไทย” ทำอะไรก็ง่ายไปทั้งหมด
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์





related stories

อะไรที่นำกลับมาใช้ได้อีกต้องเอากลับมาให้หมด


www resources

โฮมเพจ ปูนซิเมนต์ไทย
โฮมเพจ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)


search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์, บมจ.
Pulp and Paper
ธีระศักดิ์ จามิกรณ์






แม้ชื่อเครือซิเมนต์ไทยจะได้รับการยอมรับในวงกว้างเรื่องการค้า ธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าชื่อนี้จะขลัง จนทุกกิจกรรมที่ทำทุกคนต้องเชื่อมั่นทันทีที่เห็นชื่อ การเข้าไปซื้อกิจการฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดี ที่เครือปูนใหญ่ต้องใช้เวลานับปี กว่าคนรอบข้างจะมั่นใจได้ว่า โรงงานที่ซื้อมานี้ปลอดภัยแล้ว

"วันนี้ได้กี่ตัวแล้วล่ะ" ธีระศักดิ์ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ถามหนุ่มวัยรุ่นผู้หนึ่งที่กำลังยืนรอทอดแหจับปลาบริเวณข้างถนนริมบึงโจด ช่วงสายวันหนึ่งของกลางเดือนตุลาคม 2549

หนุ่มดังกล่าวไม่ตอบ เขาเพียงฉีกยิ้ม และยกถังพลาสติกสำหรับใส่ปลาที่จับได้ในวันนั้นให้ธีระศักดิ์ดู

ในถังพลาสติกใบเขื่อง มีปลาตัวเล็กตัวน้อยนอนดิ้นอยู่กว่าค่อนถัง

"โอ้" ธีระศักดิ์อุทาน "ได้มาไม่เบาเลยนี่"

ภาพกลุ่มชาวบ้านยืนทอดแหริมบึงโจด กับชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง พายเรือตกปลาในบึงโจด เป็นภาพใหม่ที่เพิ่งปรากฏให้เห็นในช่วงเพียงปีเศษๆ มานี้

บึงโจดเป็นบึงน้ำสาธารณะ ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของ โรงงานผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาวของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์

บึงแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่ รองรับน้ำที่ไหลมาจากห้วยโจด ก่อนที่จะไหลลงสู่ลำน้ำพองช่วงต่อจากเขื่อน อุบลรัตน์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น

ก่อนหน้านี้ ภาพชาวบ้านหาปลาในบึงโจด แทบไม่มีใครเชื่อว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้น เนื่องเพราะสภาพบึงโจดในขณะนั้น เต็มไปด้วยผักตบชวาที่ลอยเบียดเสียด บดบังผิวน้ำ อย่างมิดชิด แสงแดดไม่สามารถส่องลงไปในน้ำ ทำให้น้ำขาดออกซิเจน จนสัตว์น้ำแทบไม่มีชีวิตหลงเหลืออยู่ได้

สภาพภูมิประเทศรอบๆ บึงช่วงนั้น เต็มไปด้วยป่ารกชัฏ ทางเข้าเป็นเพียงถนนลูกรัง ที่ชาวบ้านใช้ได้เพียงแค่สัญจรไป-มาเท่านั้น

ยิ่งช่วงก่อนหน้าปี 2537 บึงโจดยังถูกใช้เป็นแหล่งระบายน้ำทิ้งที่มาจากโรงงานของฟินิคซฯ

เมื่อน้ำที่ขาดออกซิเจนอยู่แล้วในบึงโจด ผสมกับน้ำทิ้ง จากโรงงาน ไหลลงสู่ลำน้ำพอง จึงสร้างความเดือดร้อนให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังที่มีเป็นจำนวนมาก ตั้งกระชังเลี้ยงปลาตลอดแนวลำน้ำพอง เพราะปลาที่เลี้ยงไว้เกิดตายชนิดยกกระชัง

กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา ซึ่งก็คือชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณริมลำน้ำพองกับโรงงาน

ความขัดแย้งรุนแรงจนหน่วยงานภาครัฐ ต้องเข้ามาดูแล และมีคดีฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลหลายคดี ผลของคดีส่วน ใหญ่ ฝ่ายโรงงานเป็นผู้แพ้

กรณีการเน่าเสียของน้ำพอง จนทำให้ปลา ในกระชังตาย ได้ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือ พิมพ์ทั้งท้องถิ่นและส่วน กลางต่อเนื่องเป็นเวลานาน นับปี ระหว่างปี 2533-2536 ส่งผลให้ภาพลักษณ์ ของฟินิคซฯ สูญเสียไปไม่ใช่น้อย ทั้งในสายตาชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกระดับ ตลอดจนผู้คนที่ติดตามข่าวความ ขัดแย้งนี้มาต่อเนื่อง

แต่ว่าก่อนที่จะมีปัญหากับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังในช่วงนั้น ภาพพจน์ของฟินิคซฯ ก็ไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ทั้งในสายตาของหน่วยงานรัฐ และชุมชนรอบข้าง

บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ตั้งขึ้นในปี 2518 เพื่อทำธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว สำหรับใช้ทำกระดาษ พิมพ์เขียน โดยเข้ามาก่อสร้างโรงงานในพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ของนิคมพัฒนาตนเอง เขื่อนอุบลรัตน์ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น และเริ่มเดินเครื่องผลิตในปี 2525

ในช่วงเริ่มต้นโครงการ โรงงานแห่งนี้ได้ประกาศตัวว่าเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากปอแก้วแห่งแรกของโลก ถือเป็นโครงการระดับชาติที่มีภาครัฐเข้ามาสนับสนุน และร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย

แต่นับจากเปิดเดินเครื่องในวันแรก โรงงานก็ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องอยู่หลายปี เพราะคาดการณ์ราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกผิดพลาด ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจในประเทศตกต่ำ ที่สำคัญคือมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากต่างชาตินำสินค้าเข้ามาทุ่มขายในประเทศไทยในราคาต่ำ

ฐานะทางการเงินที่ง่อนแง่นตั้งแต่เปิดโรงงาน ส่งผลถึงการจ่ายเงินเพื่อรับซื้อผลผลิตปอ ที่ได้ไปตกลงไว้กับชาวบ้านล่าช้า ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่มีสัญญาไว้กับโรงงานไม่พอใจ เลิกปลูก ปอ หันไปปลูกอ้อยป้อนเข้าโรงงานน้ำตาลแทน

จากโรงงานที่เคยประกาศตัวไว้ว่าจะผลิตเยื่อกระดาษ จากปอเป็นแห่งแรกของโลก ต้องเปลี่ยนเป็นโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากไม้ไผ่แทน

แต่การเปลี่ยนวัตถุดิบกลับยิ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ ของฟินิคซฯ เพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อการรับซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้านเป็นแบบไม่เป็นระบบ ไม่ได้เป็นลักษณะสนับสนุนให้มีการปลูกไผ่เพื่อขาย จึงมีการเข้าไปตัดไผ่จากป่ามาส่งโรงงาน จนทำให้เกิดความวิตกกังวลตามมาว่าถ้าเป็นลักษณะนี้แล้ว วันหนึ่งไผ่จะต้องหมดไปจากป่าในภาคอีสาน ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชาวบ้าน ที่จำเป็นต้องใช้ไผ่มาบริโภค และทำเป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อฐานะทางการเงินของบริษัทเริ่มดีขึ้น จากราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกกระเตื้องขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจ ประเทศไทยเริ่มกลับมาเป็นขาขึ้นในทศวรรษ 2530 ฟินิคซฯ พยายามปรับภาพลักษณ์ของบริษัทใหม่ โดยการเข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

แต่กลับต้องตกเป็นจำเลยต่อสังคมอีกครั้ง เมื่อน้ำใน ลำน้ำพองเน่า จนทำให้ปลาที่เลี้ยงไว้ในกระชังของเกษตรกร ตายลอยเป็นแพ

ปี 2535 ฟินิคซฯ ได้ขยายกำลังการผลิต โดยสร้างสายการผลิตที่ 2 เพื่อผลิตเยื่อกระดาษ จากต้นยูคาลิปตัส และมีการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นยูคาลิปตัส เพื่อส่งเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอย่างเป็นระบบ

เมื่อสายการผลิตที่ 2 เริ่มเดินเครื่องในปี 2537 ทั้งปัญหาเรื่องวัตถุดิบ และน้ำทิ้งจึงหมดไป เพราะในสายการผลิตใหม่ไม่ได้มีการทิ้งน้ำลงบึงโจดโดยตรงเหมือนสายการผลิตแรก

แต่ภาพลักษณ์ของบริษัทที่เสียไปแล้ว กลับกู้คืนมาไม่ได้ ไม่เหมือนกับปัญหาทั้งหลายที่ได้รับการแก้ไขจนแทบลุล่วงไปหมดแล้ว

(รายละเอียดปมปัญหา ตลอดจนความเป็นมาของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ สามารถอ่านได้จากนิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนพฤษภาคม 2529 และฉบับเดือนพฤศจิกายน 2531 และใน //www.gotomanager.com)

กลางปี 2544 เครือซิเมนต์ไทยได้เข้าไปซื้อหุ้นฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ต่อจาก Ballapur Group ผู้ถือหุ้นใหญ่ สัญชาติอินเดีย ที่เปลี่ยนนโยบายลงทุนในประเทศไทย และได้ประกาศขายหุ้นออกมา

จากนั้นเครือซิเมนต์ไทยได้ซื้อหุ้นที่เหลือจากผู้ถือหุ้นรายอื่น จนได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปลายปีเดียวกัน และ ได้นำฟินิคซฯ ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีถัดมา

ก่อนหน้าการซื้อหุ้นครั้งนี้ประมาณปี 2528 ปูนซิเมนต์ ไทยเคยได้รับการชักชวนอย่างไม่เป็นทางการ ให้เข้าไปซื้อกิจการของฟินิคซฯ มาแล้วครั้งหนึ่ง ช่วงที่บริษัทเปิดดำเนินการได้ใหม่ๆ และกำลังมีปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง จนเจ้าหนี้เริ่มกังวลว่าโรงงานแห่งนี้จะกลายเป็นหนี้สูญ

แต่ครั้งนั้นปูนซิเมนต์ไทยปฏิเสธ

การกลับมาซื้อกิจการฟินิคซฯ ครั้งใหม่ เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเครือซิเมนต์ไทย ที่เกิดขึ้นจากการปรับโครง สร้างธุรกิจครั้งใหญ่ หลังผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540

โดยยุทธศาสตร์นี้กำหนดให้เครือซิเมนต์ไทยต้องเป็น ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในธุรกิจที่ถูกจัดให้เป็นธุรกิจหลัก

ธุรกิจกระดาษและบรรจุภัณฑ์ ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจหลัก ของเครือซิเมนต์ไทย

(อ่านเรื่อง "เยื่อกระดาษสยาม เรายังใหญ่ไม่พอ" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมิถุนายน 2545 และใน //www.gotomanager.com ประกอบ)

แต่กว่าจะตัดสินใจว่าจะซื้อกิจการฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ได้ ก็เป็นเรื่องที่ทั้งฝ่ายจัดการ และคณะกรรมการเครือซิเมนต์ไทยต้องใช้เวลาคิดหนักอยู่เช่นกัน

"ในตัวธุรกิจถือว่าไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่คณะกรรมการ กังวลที่สุดในการซื้อกิจการนี้ คือเรื่องของภาพลักษณ์ และเรื่องสิ่งแวดล้อม" กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย บอกกับ "ผู้จัดการ"

"จากข่าวสมัยก่อนก็ค่อนข้างชัดเจน เพราะตอนนั้นน้ำพองก็มีโรงงานฟินิคซฯ แห่งเดียว เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหาอะไร ก็เป็นไปได้สูงที่จะเกิดจากโรงงานนี้ จริงๆ ปัญหาที่เรารับทราบจากข่าว ก็อาจจะเป็นเครื่องจักรมีปัญหา หรือไม่ได้เดิน หรืออะไรก็แล้วแต่" เชาวลิต เอกบุตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเยื่อกระดาษสยาม บริษัทหลักของกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย เสริม

"ตอนที่เสนอซื้อกิจการนี้ก็มีกรรมการหลายท่านซักถามมากว่า ที่นี่เคยมีปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปแล้วจะเสียชื่อเรา หรือเปล่า ไปแล้วจะทำให้คนคิดว่าเครือซิเมนต์ไทยไม่รับผิดชอบหรือเปล่า"

ดังนั้นการที่เครือซิเมนต์ไทย กล้าตัดสินใจเข้าซื้อกิจการของฟินิคซฯ จึงต้องมั่นใจแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมของ โรงงานนี้ อยู่ในวิสัยที่เครือซิเมนต์ไทยรับมือได้

"ฟินิคซฯ กับเราคุยกันมาเป็น 10 ปี ในเรื่องของธุรกิจ เราก็ซื้อเยื่อจากเขาอยู่แล้ว และบางครั้งก็มีการคุยกันถึงขั้นที่ว่าจะมีการขายหุ้นให้กับเราเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นเราก็รู้จักกับทางฟินิคซฯ พอสมควร ในรอบสุดท้ายนี้เราก็ส่งทีมเข้าไปดูสภาพของเครื่องจักร โรงงานต่างๆ ก็เห็นว่าที่จริงตัวโรงงานได้มีการปรับปรุงมาพอสมควร และเขาได้ลงทุนในระบบบำบัดน้ำเสียระดับใหญ่มาก ฟินิคซฯ มีโปรดักชั่นไลน์อยู่ 2 ไลน์ มีบำบัดน้ำเสียอันเก่าอันหนึ่ง ในการสร้างไลน์ใหม่เขาลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียอันใหม่ที่ขนาดใหญ่เหลือเฟือที่จะสามารถ รับทั้ง 2 ไลน์ได้หมด หยุดอันเก่าไปเลย ไปใช้อันใหม่อันเดียว ก็เหลืออยู่แล้ว เราดูก็เห็นว่ามีการปรับปรุงมาระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นในแง่พื้นฐานก็สามารถที่จะปรับปรุงได้และอยู่ในวิสัยที่เราจะเข้าไปทำได้ดี อันนั้นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่เราเข้าไป" เชาวลิตให้ข้อสรุป

เครือซิเมนต์ไทย เริ่มส่งคนเข้าไปในฟินิคซฯ อย่างเป็นทางการ ในเดือนมีนาคม 2545 เพื่อดูเรื่องการปรับปรุงเครื่องจักร และกระบวนการผลิต แต่ก็ยังไม่ได้ทำอะไรกับโรงงานนี้มากนัก เพราะอำนาจการบริหารส่วนใหญ่ยังอยู่ในมือของผู้บริหารชุดเดิมที่เป็นชาวอินเดีย

จนปลายปี 2547 เครือซิเมนต์ไทยสามารถซื้อหุ้นทั้งหมดมาไว้ในมือได้แล้ว ต้นปี 2548 ผู้บริหารเดิมจึงถอนตัวไป เครือซิเมนต์ไทยจึงส่งสมชาติ บารมีชัย เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการเป็นคนแรก

สิ่งที่ได้พบจากการได้เข้าควบคุมโรงงานอย่างเบ็ดเสร็จแล้วก็คือ การแก้ปัญหาของฟินิคซฯ ที่ผ่านมา เป็น การแก้กันภายใน แต่ไม่เคยสื่อ ผลการแก้ปัญหาเหล่านั้นออกไปสู่สังคมภายนอก จึงทำให้ชุมชนรอบข้าง ชาวบ้าน รวมทั้งหน่วยงานราชการแทบทุกแห่ง ยังไม่มีความเชื่อถือในกระบวนการผลิตของโรงงาน

ตรงกันข้าม ทุกคนยังมีความหวาดระแวง ทุกครั้งที่มีปลาในลำน้ำพองตาย โรงงานฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จะต้องถูกมองให้เป็นจำเลยก่อนอันดับแรก ทั้งๆ ที่การที่ปลาตายนั้น มาได้จากหลายสาเหตุ (อ่านล้อมกรอบ "หลากสาเหตุที่ปลาในกระชังตาย" ประกอบ)

การที่สังคมยังคงมองฟินิคซฯ เช่นนี้ เป็นได้จากหลายกรณี

กรณีแรก เป็นเพราะภาพลักษณ์ของโรงงานนี้ เสียหายไปแล้วอย่างรุนแรง จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับแต่เปิดโรงงาน อีกกรณีหนึ่ง เป็นเพราะผู้บริหารชุดเดิมเป็น ชาวต่างชาติ ซึ่งโดยพื้นฐานก็มีปัญหาเรื่องภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่ 3 เป็นเพราะโรงงานไม่พยายามสื่อความออกไปเท่าที่ควร จนทำให้สังคมรอบด้านมองว่าเป็นโรงงานที่ปิดตัวเองต่อภายนอก

ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่เมื่อถูกมองว่าปิด ย่อมต้องถูกสงสัย และระแวงเอาไว้ก่อน

การที่ฟินิคซฯ ได้เข้ามาอยู่ในเครือซิเมนต์ไทย อาจมีส่วนช่วยลดความหวาดระแวงดังกล่าวลงไปได้บ้าง แต่ก็ไม่ ทั้งหมด

"เราเข้าไปใหม่ๆ เราก็ไปหาข้อมูลว่าชุมชนเขามองเราอย่างไร ชุมชนไม่ใช่เฉพาะชาวบ้านที่อยู่รอบๆ แต่รวมถึง หน่วยราชการต่างๆ เราเข้าไปอธิบายว่าตอนนี้เราเข้ามาบริหารแล้วนะ จะพยายามทำการปรับปรุงต่างๆ ทางหน่วยราชการต้องการให้เราทำอะไรบ้าง ผมจำได้ว่าคุณสมชาติมาเล่าให้ฟังว่าไปพบครั้งแรกก็โดนเป็นชุด เพราะเขาบอกว่า ฟินิคซฯ มาพูดหลายทีแล้ว ไม่เชื่อหรอก พูดว่าจะทำแล้วก็ไม่ทำทั้งราชการ ทั้งชาวบ้านเขาพูดอย่างนี้ เราก็อธิบายว่า เรามารับทราบว่ามีประเด็นอะไรบ้างที่ราชการมองอยู่" เชาวลิตเล่าต่อ

ธีระศักดิ์ จามิกรณ์ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ฟินิคซฯ ต่อจากสมชาติ โดยเริ่มงานอย่างเป็นทาง การ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548

ธีระศักดิ์เชื่อว่า การลดความหวาดระแวงของชุมชนที่มีต่อโรงงาน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือการเปิดเผยข้อมูลทุกอย่าง โดยให้ทุกๆ ฝ่าย ทั้งที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้องได้มีโอกาส เข้ามารับรู้ข้อเท็จจริงถึงภายในโรงงาน

"คนคิดว่า ฟินิคซฯ ปิด คนข้างนอกเข้าไม่ได้ เราก็มาคิดว่าเมื่อเราทำดีแล้ว หลังๆ เราก็เปิดมากขึ้น เราก็เชิญพวกกระชังปลาให้มาชมโรงงาน พวกข้าราชการทั้งระดับสูง ประชาชนทั่วไป ใครที่สนใจ ส.ส.ก็ยังเคยมาถามผมเลยว่า ขอเข้าไปดูหน่อยได้ไหม เพราะว่าฟินิคซฯ ปิดจัง ผมบอกว่า ไม่ปิด เราเชื่อว่าเราบริหารงานแบบโปร่งใส เราเอาหลักการของเครือเข้าไป ความรับผิดชอบในสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ เราก็เชิญเขาเข้าไป อธิบายและเอาเขาไปดูในจุดต่างๆ ให้เห็นว่ากระบวนการเราเป็นอย่างไร ระบบทรีตเมนต์ของเราเป็นอย่างไร พาไปดูระบบบำบัดน้ำเสียก่อนที่น้ำจะลงไปแหล่งน้ำ พาไปดูปลาที่เราเลี้ยงไว้ในน้ำที่เราทรีตแล้ว ปลามันก็อยู่ได้ ชาวบ้านก็เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น มีบางคนเข้ามาถึงก็ด่าก่อนเลย ผมต้องบอกว่า อย่าเพิ่งด่า ดูก่อน แล้วค่อยด่า คือภาพหรือความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น" ธีระศักดิ์ บรรยาย

นอกจากการเปิดโรงงานให้สาธารณชนสามารถเข้าเยี่ยมชมได้อย่างหมดเปลือกแล้ว จุดที่ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ด้านสิ่งแวดล้อมของโรงงานฟินิคซฯ คือบึงโจด ได้ถูกหยิบ ยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการบูรณะปรับปรุงขนานใหญ่

บึงโจด ถูกตั้งชื่อตามชื่อต้นโจด ซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นตระกูลกก ที่มีขึ้นอยู่มากในบริเวณนี้ในสมัยก่อน

แต่ในช่วงที่โรงงานฟินิคซฯ มีปัญหา ชื่อบึงโจดถูกบางคนเรียกให้เพี้ยนไปเป็นบึงโจทย์ โดยมีโรงงานฟินิคซฯ เป็นจำเลย

การบูรณะบึงโจด ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ง่าย ไม่ซับซ้อน แต่กลับกินความหมายที่ลึกซึ้ง

เหตุเพราะบึงโจดเป็นหนองน้ำสาธารณะแห่งเดียวที่อยู่คั่นระหว่างโรงงานกับลำน้ำพอง ดังนั้นถ้าหนองน้ำสาธารณะแห่งนี้กลายเป็นบึงสวย น้ำใส สิ่งมีชีวิตทุกชนิดสามารถอาศัยอยู่ได้แล้ว ก็จะเป็นข้อพิสูจน์อย่างเป็นทางการ ได้ว่า การที่น้ำในลำน้ำพองมีปัญหา หรือเกิดมีปลาตายขึ้นมาในภายหลัง มิได้มีสาเหตุมาจากโรงงานของฟินิคซฯ

โครงการรักษ์บึงโจดจึงเริ่มต้นขึ้นหลังเครือซิเมนต์ไทยเข้ามาบริหารฟินิคซฯ อย่างเต็มตัวในปี 2548 โดยการลอกผักตบชวาที่ลอยอยู่เต็มบึงโจดขึ้นมาเกือบหมด เหลือไว้เพียงบางส่วนที่ควบคุมได้ เพื่อให้ผักตบได้เป็นตัวปรับสมดุลทางธรรมชาติของน้ำในบึง

ทัศนียภาพรอบบึงถูกปรับปรุงใหม่ มีการจัดสวนอย่างสวยงาม ถนนทางเข้าถูกลาดยาง โดยมีการสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อใช้เป็นทางสัญจรข้ามห้วยโจดขึ้นมาใหม่

มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงน้ำ และฟินิคซฯ ยังทำกระชัง ทดลอง เพื่อเลี้ยงปลาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อสาธิตให้ชาวบ้านได้เห็นว่า บึงโจดได้กลายเป็นบึงสะอาดที่สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ได้ แม้แต่ปลาในกระชัง

จากบึงโจดที่เคยมีสภาพเป็นป่ารกชัฏ มีแต่ผักตบชวา ขึ้นเต็มแน่นหนองน้ำ กลายเป็นบึงสวย น้ำใส เป็นสวนสาธารณะแห่งใหม่ที่คนในชุมชนรอบข้างสามารถมาเที่ยวชม พักผ่อนหย่อนใจ และได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่

งบประมาณในโครงการรักษ์บึงโจดมูลค่าหลายล้านบาท ฟินิคซฯ โดยเครือซิเมนต์ไทย เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

นอกจากนี้ฟินิคซฯ ยังได้ทำบันทึกความตกลง 3 ฝ่าย กับกรมธนารักษ์ในฐานะเจ้าของพื้นที่กับกรมชลประทาน ผู้ดูแลแหล่งน้ำว่า ฟินิคซฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแล ปรับปรุง และพัฒนาพื้นที่บึงโจดอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันขึ้นมาระหว่างฟินิคซฯ และผู้นำชุมชนรอบข้าง เพื่อวางแผนพัฒนา และหา ประโยชน์จากบึงโจด

วันที่ 2 ธันวาคม 2548 เครือซิเมนต์ไทย ได้มีพิธีเปิด โครงการรักษ์บึงโจดอย่างเป็นทางการ โดยการส่งมอบสวนสาธารณะบึงโจด ที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เรียบร้อยแล้วให้กับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้รับมอบ

นอกจากนี้เครือซิเมนต์ไทยยังได้ลงทุนต่อเรือขึ้นมาอีก 1 ลำ ตั้งชื่อว่าเรือ "รักษ์น้ำพอง" เพื่อทำหน้าที่กำจัดผักตบชวา และวัชพืชน้ำที่เจริญเติบโตขึ้นมาภายหลังจากที่ น้ำในบึงเริ่มสะอาดขึ้นมาแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้พืชน้ำเหล่านี้ กลับมาสร้างปัญหาให้กับบึงโจดอีกครั้ง

พิธีมอบเรือรักษ์น้ำพองให้กับจังหวัด ได้ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 โดยฟินิคซฯ รับเป็นผู้ดูแลและบำรุงรักษาเรือดังกล่าวตลอดอายุการใช้งานอีกเช่นกัน (อ่านล้อมกรอบ "ที่มาของเรือรักษ์น้ำพอง" ประกอบ)

ทุกวันนี้ ชาวบ้านใน 11 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่รายรอบโรงงาน ฟินิคซฯ เริ่มมีความรู้สึกที่ดีขึ้นเมื่อพูดถึงโรงงานฟินิคซฯ

"ผมว่าคนจะเริ่มเชื่อเราจริงๆ ก็ตอนที่เห็นบึงโจดนี่แหละ พอเห็นเราทำจริงและเปิดตัวพาเขาเข้ามาชม มันเป็นกิจกรรมต่อเนื่องมาจากบึงโจด พอเราเปิดตรงนั้นแล้ว เราก็เปิดตัวเองมากขึ้น เชิญใครมาหรือใครติดต่อมาเราก็รับ ทำให้คนเห็นจริงๆ ว่า เราทำอะไรไปบ้าง" เชาวลิตบอกถึงความเชื่อมั่น

เพราะนอกจากชาวบ้านจะได้บึงน้ำเป็นแหล่งทำมาหากินแหล่งใหม่ มีสวนสาธารณะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่แล้ว ผักตบส่วนหนึ่งที่ลอกขึ้นมาได้ ยังนำไปเป็น วัตถุดิบในการทำเครื่องจักสาน ซึ่งเป็นอาชีพใหม่ของแม่บ้าน ในชุมชนเหล่านี้ที่ฟินิคซฯ เป็นผู้สนับสนุนให้มีขึ้น โดยการพากลุ่มแม่บ้านไปดูงานการทำเครื่องจักสานจากผักตบชวาในจังหวัดอยุธยา อ่างทอง และชัยนาท รวมถึงจัดวิทยากรมาอบรม สอนวิธีการทำ ที่สำคัญยังช่วยหาตลาดให้กับสินค้า จักสานเหล่านี้

ส่วนผักตบชวาที่เหลือจะนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ยอินทรีย์ ที่คณะกรรมการบึงโจดได้ตั้งโรงงานเล็กๆ ขึ้นมาผลิตเพื่อจำหน่ายหารายได้เป็นทุนให้กับชุมชนอีกส่วนหนึ่ง

ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นมาได้ มีผู้ซื้อรายใหญ่รออยู่แล้ว คือฟินิคซฯ ที่จะมอบให้กับเกษตรกรผู้ปลูกต้นยูคาลิปตัสส่งเป็นวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานอีกต่อหนึ่ง

แต่ความเชื่อมั่นของชาวบ้านและหน่วยราชการที่เริ่ม เพิ่มขึ้น ก็ยังไม่ใช่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าภาพพจน์ของฟินิคซฯ นั้นดีขึ้นแล้ว โดยเฉพาะจากสายตาของผู้ที่ติดตามกรณีของฟินิคซฯ มาอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่ได้อยู่ในพื้นที่

ช่วงเริ่มต้นโครงการรักษ์บึงโจดในปี 2548 นอกจากการขุดลอกผักตบชวา และปรับปรุงทัศนียภาพรอบบึงแล้ว ฟินิคซฯ ยังได้ทำหนังสือผ่านทางสภาหอการค้าไทยถึงมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อขอสนับสนุนกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งไว้ในบึงโจดประมาณ 5 เครื่อง

มูลนิธิชัยพัฒนาแทงหนังสือมาถึงคณบดี คณะวิทยา ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้มาดูว่าปัญหาภาพลักษณ์ และการดูแลสิ่งแวดล้อมของฟินิคซฯ ขณะนั้นเป็นเช่นไร ก่อนทำความเห็นเสนอกลับไปยังมูลนิธิฯ เพื่อประกอบการพิจารณาว่า จะให้การสนับสนุนหรือไม่อีกครั้ง

"มูลนิธิฯ เขาแทงหนังสือมาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเลย บอกว่าให้ช่วยไปดูว่าฟินิคซฯ ตอนนี้ภาพลักษณ์ อะไรต่างๆ แล้วน้ำนั้นดีแล้วหรือไม่ ถึงจะให้กังหัน" ธีระศักดิ์บอก

ในพิธีเปิดโครงการรักษ์บึงโจด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2548 คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แจ้ง กับธีระศักดิ์อย่างไม่เป็นทางการว่าให้รออีกประมาณ 2 ปีให้ภาพพจน์ของโรงงานดีขึ้นอีกหน่อย ค่อยได้รับกังหัน

แต่จากกิจกรรมที่ฟินิคซฯ พยายามทำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนต่อเรือรักษ์น้ำพอง ทำให้ล่าสุด ในกลางปี 2549 มูลนิธิชัยพัฒนาได้ตอบรับกลับมาอย่างเป็นทางการ แล้วว่าจะสนับสนุนโดยการมอบกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งไว้ในบึงโจด โดยคาดว่าจะสามารถติดตั้งได้แล้วเสร็จประมาณ เดือนมกราคม 2550

หากนับจากจุดเริ่มต้นในปลายปี 2544 ที่เครือซิเมนต์ ไทยได้เข้าไปซื้อกิจการของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ และเริ่มส่งคนเข้าไปในเดือนมีนาคม 2545 และเข้าไปรับช่วงการ บริหารงานอย่างเต็มตัวตั้งแต่ปี 2548

การได้รับกังหันชัยพัฒนามาติดตั้งไว้ในบึงโจด ถือเป็น บทพิสูจน์ที่แน่ชัดข้อหนึ่งแล้วว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับความเชื่อถือขึ้นมาแล้ว

ซึ่งจะมีผลต่อเนื่องถึงการยอมรับในวงกว้าง จากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และเอกชน ในอนาคต

กรณีของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ นั้นถือเป็นกรณี ที่เครือซิเมนต์ไทยต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเต็ม ทำกิจกรรมหลาย อย่าง ที่ไม่ใช่งานด้านวิศวกรรมที่เครือฯ ถนัดโดยตรง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากสังคม ลดความระแวงสงสัยของชุมชน ที่มีต่อกิจการหนึ่งที่เครือฯ เพิ่งไปซื้อเข้ามา

สะท้อนข้อเท็จจริงที่ว่า แม้จะได้ชื่อว่าเข้ามาอยู่ในเครือ ซิเมนต์ไทย แต่ก็ใช่ว่าจะทำอะไรสำเร็จโดยง่ายไปเสียทั้งหมด

กรณีของฟินิคซ พัลพฯ กับเครือซิเมนต์ไทย จึงเป็นกรณีที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง


โดย: Pu121 วันที่: 25 ตุลาคม 2550 เวลา:21:29:18 น.  

 
อะไรที่นำกลับมาใช้ได้อีกต้องเอากลับมาให้หมด
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์





related stories

ใช่ว่าชื่อ “เครือซิเมนต์ไทย” ทำอะไรก็ง่ายไปทั้งหมด


www resources

โฮมเพจ บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)


search resources

ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์, บมจ.
Pulp and Paper






อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษโดยทั่วไป มักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่สำหรับที่ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ นอกจากไม่ยอมปล่อยให้มีอะไรหลุดออกไปสร้างปัญหานอกโรงงานแล้ว ยังพยายามเอาของเสียทุกชนิดที่ได้จากทุกกระบวนการผลิต กลับมาใช้ใหม่ให้หมด

โรงงานของฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ เป็นโรงงาน ผลิตเยื่อกระดาษฟอกขาว เพื่อนำไปใช้ทำกระดาษพิมพ์เขียน โดยใช้วัตถุดิบคือ ปอแก้ว ไม้ไผ่ กระถินเทพา และยูคาลิปตัส โดยปัจจุบันยูคาลิปตัส ถือเป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนเยื่อกระดาษ จากไม้ประเภทอื่นมีการผลิตบ้าง ตามแต่ลูกค้าจะกำหนด

เมื่อมีไม้เป็นวัตถุดิบหลัก ดังนั้น นอกจากพื้นที่ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งโรงงานประมาณ 1,000 ไร่แล้ว พื้นที่รอบๆ โรงงานอีก 4,123 ไร่ ก็ถูกใช้เป็นพื้นที่ปลูกป่ายูคาลิปตัส ภายใต้การดูแลของโรงงานเอง โดยใช้ชื่อโครงการว่า "โปรเจค กรีน" เพื่อให้มีวัตถุดิบป้อนเข้าโรงงานอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากไม้ยูคาลิปตัสที่ได้ไปให้การส่งเสริมชาวบ้านปลูกไว้ทั่วภาคอีสาน เพื่อนำมาขายต่อให้กับโรงงานเป็นวัตถุดิบ

เยื่อกระดาษ คือส่วนที่เป็นเส้นใยที่อยู่ในเนื้อไม้ ดังนั้น กระบวนการผลิตจึงต้องนำไม้เข้าไปในเครื่องจักร เพื่อต้มให้เนื้อไม้สลายเหลือแต่ใย และนำใยดังกล่าวไปล้าง ก่อนที่จะนำมาฟอกขาว และอัดให้เป็นแผ่น ส่งขายให้กับโรงงานผลิตกระดาษ

นอกจากไม้แล้ว น้ำจึงเป็นวัตถุดิบสำคัญอีกตัวหนึ่ง เพราะต้องถูกนำมาใช้ในขั้นตอนการต้มเยื่อ ล้างเยื่อ และฟอกเยื่อ

แหล่งน้ำที่นำมาใช้ในกระบวนการเหล่านี้คือ น้ำจาก ลำน้ำพอง

ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนจบสายการผลิตในโรงงานฟินิคซฯ ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดของเสียขึ้น ซึ่งระบบกำจัดของเสียเหล่านี้ ในปัจจุบันได้ถูกออกแบบมาให้รัดกุม โดยพยายามนำของเสียเหล่านั้นกลับเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตใหม่ให้มากที่สุด เหลือปล่อยออกสู่ภายนอก ให้น้อยที่สุด

กระบวนการเหล่านี้เริ่มตั้งแต่...

เมื่อเกษตรกรนำไม้มาส่งให้โรงงาน ไม้เหล่านี้จะถูกตากให้แห้ง ก่อนนำเข้าสู่เครื่องปอกเปลือกไม้ และสับไม้เป็น ชิ้นเล็กๆ เพื่อสะดวกต่อการต้ม

ในกระบวนการปอกเปลือกและสับ จะมีฝุ่นละอองเกิดขึ้น โรงงานจะมีเครื่องดักฝุ่นเหล่านี้ไว้ไม่ให้ลอยออกไปสู่บรรยากาศ

เปลือกไม้ที่ถูกปอกออกมา รวมกับฝุ่นที่ถูกดักเก็บไว้ในเครื่องดักฝุ่น จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาในหม้อต้มไอน้ำ

หลังจากไม้ถูกสับเป็นชิ้นเล็กๆ จะถูกนำส่งไปตามสายพานเพื่อเข้าสู่กระบวนการต้มเยื่อ และล้างเยื่อ เสร็จแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการแยกส่วนที่เป็นเยื่อออกจากน้ำยาล้างเยื่อ

องค์ประกอบของน้ำยาล้างเยื่อ ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ หลังจากที่ผ่านกระบวนการแยกส่วนที่เป็นเยื่อออกไปแล้ว น้ำยาล้างเยื่อที่ผ่านการใช้งานแล้ว จะถูกนำไประเหย ให้เหลือแต่กาก และกากของน้ำยาล้างเยื่อนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อต้มไอน้ำด้วยเช่นกัน

หม้อต้มไอน้ำที่ว่า จะมีบทบาทสำหรับการต้มไอน้ำเพื่อนำไปใช้ปั่นเป็นไฟฟ้า สำหรับใช้ภายในโรงงาน

ที่สำคัญ ส่วนที่เหลือของกากน้ำยาล้างเยื่อที่ผ่านการ เผา จะถูกนำไปทำปฏิกิริยากับปูนขาว แล้วสามารถนำกลับ มาใช้เป็นน้ำยาล้างเยื่อได้อีกครั้งหนึ่ง

ขณะที่กากปูนขาว หลังจากทำปฏิกิริยากับของกากน้ำยาล้างเยื่อแล้ว หากเป็นกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตที่ 2 ซึ่งใช้ไม้ยูคาลิปตัสเป็นวัตถุดิบ สามารถนำเข้าไปสู่หม้อ เผาปูน เพื่อเผากลับมาเป็นปูนขาวกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้ง 100%

แต่หากเป็นปูนขาวที่เกิดจากสายการผลิตแรก ซึ่งใช้ไม้ไผ่เป็นวัตถุดิบ ไม่สามารถนำไปเผากลับมาใช้ใหม่ได้ เพราะกากปูนส่วนนี้จะมีสารซิลิกา ซึ่งผสมอยู่ในเนื้อไม้ไผ่ปนเปื้อนออกมา หากนำกลับไปเผา อาจสร้างความเสียหาย ให้ผนังอิฐภายในหม้อเผาปูน จึงต้องนำไปทิ้งด้วยวิธีการฝังกลบตามหลักวิชาการ

โดยแต่ละปี ฟินิคซฯ ต้องฝังกลบกากปูนขาวส่วนนี้ ประมาณปีละ 7 หมื่นตัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันฟินิคซฯ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาวิธีการแยกสารซิลิกาออกจากกากปูนขาว เพื่อจะนำกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตแรกกลับมาเผาใช้ใหม่ ไม่ต้องนำไปทิ้งเหมือนที่เคยทำอยู่

ทุกวันนี้ หม้อต้มไอน้ำเพื่อใช้ปั่นไฟฟ้าของฟินิคซฯ ใช้กากของน้ำยาล้างเยื่อเป็นเชื้อเพลิงถึง 75% ส่วนเชื้อเพลิง ที่เหลือจะใช้เปลือกไม้ 10% และฝุ่นที่ดักได้อีก 5% โดยเหลือ เป็นน้ำมันเตาที่ต้องซื้อจากภายนอกเพียงแค่ 10%

ส่วนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงาน ได้จากหม้อต้มไอน้ำ ที่ปั่นไฟมาใช้เองถึง 85% ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เหลืออีก 15% ค่อยซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

หลังผ่านกระบวนการแยกเยื่อออกจากน้ำยาล้างเยื่อ แล้ว เยื่อที่ถูกแยกออกมาก็จะถูกส่งเข้าสู่กระบวนการฟอกเยื่อ ให้เป็นสีขาว หลังจากนั้นจึงนำมาอัดเป็นแผ่น พร้อมส่งให้กับ โรงงานผลิตกระดาษ

ในกระบวนการฟอกเยื่อ จะมีน้ำเสียออกมา คือน้ำที่ผ่านกระบวนการฟอกเยื่อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งองค์ประกอบของ น้ำเสียเหล่านี้ เป็นน้ำที่มีส่วนผสมของสารอินทรีย์ จึงจำเป็น ต้องนำน้ำเสียส่วนนี้ส่งต่อไปยังบ่อบำบัด

วิธีการบำบัดน้ำเสีย ใช้วิธีการนำจุลินทรีย์เข้าไปกินสารอินทรีย์ที่อยู่ในน้ำ แล้วปล่อยให้จุลินทรีย์เหล่านั้นตกตะกอน น้ำส่วนบนที่ผ่านการบำบัดแล้ว จะค่อยๆ ล้นออกมาจากบ่อบำบัดน้ำเสีย และถูกส่งลงไปยังบ่อพัก

ซึ่งบ่อพักนี้มีการปล่อยปลาลงไปเลี้ยงเอาไว้ เพื่อพิสูจน์ ให้คนที่เข้ามาชมกระบวนการผลิตเห็นว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดมาแล้ว ปลาสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้

ฟินิคซฯ เริ่มปล่อยปลาลงไปเลี้ยงในบ่อพักน้ำเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว มีปลาทับทิม ปลาไนทอง และปลานิล จากช่วงเริ่มต้นที่ปล่อยปลาลงไป 80 ตัว แต่ปัจจุบันจากการ ประมาณการคร่าวๆ ด้วยสายตา จำนวนปลาที่ใช้ชีวิตอยู่ในบ่อพักน้ำมีเพิ่มขึ้นมาจากเมื่อ 4 ปีก่อนหลายเท่าตัว

ทุกวันนี้ น้ำเสียที่ออกมาจากกระบวนการฟอกเยื่อ มีปริมาณวันละ 2.1 หมื่นลูกบาศก์เมตร ขณะที่ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานสามารถรองรับน้ำเสียได้ถึงวันละ 6 หมื่น ลูกบาศก์เมตร ส่วนบ่อพักน้ำเสียมีจำนวนถึง 5 บ่อ สามารถ รองรับน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วได้ถึง 1.23 ล้านลูกบาศก์เมตร ในช่วงเวลา 60 วัน

ส่วนน้ำจากบ่อพักน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วทั้ง 100% จะไม่มีการปล่อยออกไปสู่แหล่งน้ำภายนอก แต่จะถูกสูบออก ไปใช้เลี้ยงต้นยูคาลิปตัส ที่ถูกปลูกไว้ในพื้นที่กว่า 4 พันไร่ ในโปรเจคกรีน

ต้นยูคาลิปตัสเหล่านี้ได้รับการบำรุงด้วยปุ๋ยหมักที่ทำ มาจากตะกอนของจุลินทรีย์ ที่ได้มาจากบ่อบำบัดน้ำเสีย

หากประมาณการจากกระบวนการผลิตทั้งหมด โรงงานฟินิคซฯ จะมีขยะอุตสาหกรรมปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 3 แสนตัน แต่ทุกวันนี้ฟินิคซฯ ทิ้งขยะเหล่านี้ออกไปเพียงปีละ 7 หมื่นตัน ก็คือกากปูนขาวที่ได้จากสายการผลิตแรก

ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2 แสนตัน ฟินิคซฯ ได้นำกลับเข้ามาใช้ซ้ำอีกครั้งในกระบวนการผลิตทั้งหมด

ถือเป็นโรงงานที่มองเห็นคุณค่าของขยะอย่างแท้จริงเลยทีเดียว
-----------------------------------------
ข้อมูลด้านบนทั้งหมด(ดูดี) มาจาก //www.gotomanager.com


โดย: Pu121 วันที่: 25 ตุลาคม 2550 เวลา:21:30:27 น.  

 
ข้อมูลสุดท้ายจาก //www.thaingo.org/story3/samnao_050646.htm
------------------------------------------------
ความตายของสายน้ำ……สำเนา ศรีสงคราม

ท่ามกลางกระแสการปราบผู้มีอิทธิพล สำเนา ศรีสงคราม ..เป็นอีกคนหนึ่งดีที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับกลุ่มทุน และอิทธิพลมืด

หลายปีมาแล้วที่ชาวบ้านใน อ.น้ำพอง รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้โรงงานฟินิกซ์ พัลพ์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด หยุดปล่อยน้ำเสียลงสู่บึงโจดและแม่น้ำพอง ผลกระทบจากปัญหานี้เรื้อรังมายาวนานนับตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคได้ ปลาตายมหาศาล และปลาบางชนิดถึงกับสูญพันธุ์ ในส่วนของชาวบ้านได้มีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น ขึ้น เพื่อเฝ้าระวังติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำพองเน่าเสีย และส่งเสริมเรื่องอาชีพทดแทน เนื่องจากน้ำเน่าเสียไม่สามารถทำนา จับปลาได้ดั้งเดิม

สำเนา ศรีสงคราม เป็นประธานชมรมอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น คนปัจจุบัน ที่มีบทบาทร่วมกับชาวบ้านที่ผลักดันเรื่อง ผลกระทบจากลำน้ำพองเน่าเสียจากโรงงานฟินิกซ์ พัลพ์แอนด์ เปเปอร์ จำกัด มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 พี่สำเนาเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับกลุ่มทุน และอิทธิพลมืด เมื่อมีคนร้ายทำทีเข้ามาสอบถามพูดคุยและอ้างตัวว่าสนใจงานพัฒนาเหมือนกัน พี่สำเนาถูกยิงด้วยปืนเข้าที่บริเวณท้ายทอย 1 นัด โดยมิทันได้โอบกอดสั่งลาลูกน้อยที่หันไปมองในชั่วขณะ กระสุนปืนคร่าชีวิตพี่สำเนาทันที เหตุเกิดบริเวณกระท่อมกลางนา ข้างบ้านพัก หมู่ 8 ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เวลาประมาณ 16.00 น.วันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา ผู้นำคนแล้วคนเล่าที่ต้องจบชีวิตลงเพียงเพราะ ..ต้องการเรียกร้องสิทธิของชุมชน ปกป้องทรัพยากรท้องถิ่น..

ขอให้พี่สำเนาเป็นคนสุดท้าย เราเชื่อว่าความตายไม่ใช่ทางออกของการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน …การแก้ปัญหาที่ใช้กระบวนการมีส่วนร่วม โปร่งใสต่างหากที่จะเป็นคำตอบ แม้น้ำพองจะเน่าแต่เราเชื่อว่าวิญญานแห่งสายน้ำนี้ไม่มีวันตาย จะต้องมีคนสืบทอดเจตนาบริสุทธิ์ในการฟื้นฟูลำน้ำพองนี้ต่อไป ในฐานะที่เคยรู้จักและร่วมงานกับพี่สำเนา ขอถือโอกาสนี้ร่วมไว้อาลัยต่อการจากไปและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของพี่สำเนามา ณ ที่นี้

"น้ำพองที่รินไหล …ขอไว้อาลัยให้คนกล้าแห่งสายน้ำ จงนำพาความยุติธรรมสถิตย์ชั่วนิรันดร์"

Project Green


ผลกระทบต่อนาข้าว


ท่อส่งน้ำเสีย

น้ำเสียในลำห้วย
น้ำเสีย


สถานการณ์ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จากกรณีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษ ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน)

ความเป็นมา

จากกรณีที่ทางบริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดโรงงานผลิตเยื่อกระดาษในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ขึ้นตั้งแต่ปี 2524 เป็นต้นมา ซึ่งในขบวนการผลิตเยื่อกระดาษของโรงงานฟินิคซ ฯ จะมีปริมาณน้ำทิ้งในแต่ละวันจำนวนมาก แล้วจะมีการระบายน้ำทิ้งจากขบวนการผลิตดังกล่าวลงพื้นที่ห้วยโจด จนก่อให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในลำห้วยโจดและในลำน้ำพอง ทำให้ลำน้ำพองเน่าเสีย ต่อมาปี 2536 โรงงานฟินิคซฯ ได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นโรงงานที่ 2 เพิ่ม และได้ทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งหนึ่งในเงื่อนไขได้กำหนดให้ทางโรงงานฯจัดหาพื้นที่ทำโครงการ '' โปรเจคกรีน '' เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำทิ้งของโรงงานฯ โดยไม่ให้มีการระบายน้ำลงพื้นที่ลำห้วยโจดอีกต่อไป และไม่ให้มีการไหลซึม ลงสู่พื้นที่อื่นๆนอกจากพื้นที่โครงการโปรเจคกรีน แต่ปัญหาเรื่องน้ำทิ้งไหลลงห้วยโจด และพื้นที่รอบๆบริเวณโครงการโปรเจคกรีนก็จะมีเป็นประจำ ส่งผลให้เกิดปัญหาผลกระทบต่อลำห้วยโจดจนไม่สามารถใช้เป็นที่ทำมาหากินได้อีกและประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงได้รับความเดือดร้อน คือน้ำทิ้งจากโครงการโปรเจคกรีนมีการไหลลงพื้นที่ไร่นาของเกษตรกร ส่งผลให้ ข้าว อ้อย และพืชผลทางเกษตรเสียหาย จึงเกิดการเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรผู้หายขึ้น นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา และเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างเกษตรกรกับทางโรงงานฯ ทุกปี แนวทางของหน่วยงานรัฐในการแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้ทวีความรุนแรงต่างๆให้เกิดขึ้นทั้งในเรื่องผลกระทบต่อประชาชนและ ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมในลำห้วยโจดตลอดทั้งลำน้ำพอง

สถานการณ์ปัญหาปัจจุบัน

1. ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่มีพื้นที่อยู่ใกล้พื้นที่โครงการโปรเจคกรีน เพราะมีน้ำจากโครงการโปรเจคกรีนไหลซึม ลงสู่พื้นที่ไร่นาทุกวัน ทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายปริมาณผลผลิตตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด ดินเสื่อมคุณภาพ จึงมีการเรียกร้องค่าชดเชยจากทางโรงงานฯขึ้น โดยในครั้งนี้มีการเรียกร้องตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน แต่ทางโรงงานฟินิคซ ฯ ยังไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด โดยล่าสุดทางกลุ่มผู้เดือดร้อนได้เสอนแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการเรียกรัองค่าชดเชยระหว่างกลุ่มผู้เดือดร้อนกับทางโรงงานฟีนิคซ ฯ โดยให้ทางโรงงานส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณสำหรับกลุ่มชาวบ้านผู้เดือดร้อน ในการดำเนินโครงการส่งเสริมการเลี้ยงกระบือเพื่อฟื้นฟูดิน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทที่เกิดขึ้น แต่ทางโรงงานฟินิคซฯ ยังไม่ยินยอม ล่าสุดได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง พืชผลการเกษตรได้รับความเสียหายจากโครงการโปรเจคกรีน

2. ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการที่มีการระบายน้ำทิ้งลงสู่ลำห้วยโจดโดยตรงในช่วงของการผลิตปีแรกๆ และในปัจจุบันน้ำจากโปรเจคกรีนมีการไหลซึมลงลำห้วยโจดทุกวันส่งผล ให้ระบบนิเวศน์ของลำห้วยโจดเปลี่ยนแปลงไป ปลาในลำห้วยไม่มี และน้ำในลำห้วยโจดไม่สามารถนำมาใช้ได้ และส่งผลกระทบต่อน้ำพองเน่าเสียไปด้วย ในเดือนมีนาคม 2544 ทางจังหวัดขอนแก่นจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีขึ้นเพื่อกำกับดูแลแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโรงงานฟินิคซฯ โดยได้มีการประชุมไปแล้วหลายครั้ง แต่ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรงงานฟินิคซฯได้ ทั้งที่คณะกรรมการได้รับทราบทั่วกันว่าโรงงานฟินิคซฯได้ทำให้เกิดปัญหาผลกระทบขึ้นจริง มีน้ำจากโปรเจคกรีนไหลลงพื้นที่ห้วยโจดจนทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ลำห้วยและลำน้ำพอง แต่ยังปล่อยให้โรงงานเปิดดำเนินการอยู่ต่อไป

3. ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของโรงงานฟีนิคซฯ จากกระบวนการผลิตของโรงงานฟินิคซฯ ได้มีกลิ่นเหม็นสร้างความรบกวนให้กับชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นทางโรงงาน ได้อ้างว่าไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพแต่ความจริงเป็นกลิ่นเหม็นที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงและสร้างความรำคาญมาตลอด และสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นกลิ่นที่มาจากโรงงานฟินิคซฯ ทุกวันตลอดเวลา

ข้อสังเกตเพื่อร่วมกันพิจารณาในการแก้ปัญหา

1. พิจารณาตามเงื่อนไข อีไอเอที่ทางโรงงานได้ทำไว้จะเห็นว่า ทางโรงงานฟินิคซฯ ผิดเงื่อนไขที่ห้ามมิให้มีการไหลซึม ของน้ำโปรเจคกรีนลงสู่ห้วยโจดและบริเวณพื้นที่รอบๆของเกษตรกรฉะนั้นโรงงานฟินิคซฯ ตัองหยุดการประกอบการตามเงื่อนไขใช่หรือไม่

2. พิจารณาในเรื่องสิทธิของประชาชน ถือว่าทางโรงงานฟินิคซฯ ได้ละเมิดสิทธิของประชาชนที่อยู่รอบๆโรงงานตามรัฐธรรมนูญ คือ เกษตรกรไม่ต้องการให้น้ำทิ้งของโรงงานไหลซึมลงพื้นที่ไร่นา และไม่ต้องการให้มีกลิ่นเหม็นสร้างความรำคาญโดยต้องการอากาศที่บริสุทธิ์แต่ทางโรงงานฟินิคซฯ ปล่อยให้มีน้ำไหลซึมลงสู่ที่เกษตรกรและลำห้วย ตลอดทั้งสร้างกลิ่นเหม็นทุกวัน

3. พิจารณาในเรื่องความเสียหายจากพืชผลทางการเกษตรที่จะเกิดจะเห็นว่า พืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรได้รับความเสียหายจริง จากประสบการณ์ทำการเกษตรมาหลายชั่ว

อายุคนเห็นว่าปรากฎการณ์เช่นนิ้เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงที่มีการก่อตั้งโรงงานฟินิคซฯ นี้ขึ้นมาเท่านั้น

4. การพิจารณาพิสูจน์หลักฐานเรื่องการไหลซึมของน้ำโปรเจคกรีน ลงสู่ลำห้วยโจด และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านนั้น หน่วยงานรัฐได้เห็นและพิสูจน์แล้วว่ามีน้ำไหลซึมลงลำห้วยและที่นาจริง แต่ทางหน่วยงานของรัฐก็ไม่ได้พิจารณาให้ทางโรงงานมารับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเลยแล้วจะให้เกษตรกรผู้เสียหายไปพึ่งใคร
ลำดับสถานการณ์การต่อสู้ขององค์กรชาวบ้านน้ำพอง

1. การก่อเกิดขององค์กรชาวบ้าน
จากเหตุการณ์น้ำพองเน่าเสียที่เกิดขึ้นในปี2535 ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำ ชาวบ้านจึงได้ร่วมตัวกันออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาแก้ปัญหาในตอนนั้น ในขณะเดียวกันผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีต่อสิ่งแวดล้อมลำน้ำพองและคนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงมีอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือนร้อน เช่น พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ผลผลิตทางการเกษตรลดน้อยลง ความอุดมสมบูรณ์ กุ้งหอยปูปลาน้อยลง ระบบนิเวศน์โดยร่วมเปลี่ยนแปลงไป ปี 2536 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเรื่องดังกล่าวจึงได้ร่วมตัวกันขึ้น เพื่อเรียกร้องสิทธิในการอนุรักษ์ พิทักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง ร่วมทั้งเรียกร้องค่าชดเชยความเสียหายที่ผู้ก่อมลพิษได้ก่อความเสียหายต่อการเกษตร สุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยเรียกชื่อกลุ่มว่า คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อพิทักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง ต่อมาจึงตั้งเป็น "ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง" ในปี 2538 ถึงปัจจุบัน โดยในครั้งแรกมีนายบัวผัน ชาบัวน้อย เป็นประธาน และต่อมาปี 2544 - 2546 นายสำเนา ศรีสงคราม เป็นประธานฯ โดยมีสำนักอยู่ที่ บ้านเลขที่ 12 ม.8 ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น

2. กิจกรรมและการดำเนินงานของชมรมฯ
- จัดประชุมสมาชิกและกรรมการเพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ปัญหาที่เกิดในชุมชนและวางแผนการทำงานร่วมกัน
- จัดศึกษา ดูงาน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มองค์กรชาวบ้านอื่นๆ
- เป็นแหล่งต้อนรับศึกษาดูงานเรียนรู้จากที่อื่น ทั้งนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มองค์กรที่สนใจ
- จัดรณรงค์ เผยแพร่ปัญหา สร้างจิตสำนึกกับคนในชุมชน โรงเรียนในพื้นที่ เช่น จัดบายศรี สู่ขัวญลำน้ำพอง ประกวดกิจกรรมวาดภาพเด็กนักเรียน
- จัดตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังลำน้ำพอง โดยมีผู้นำ ,เยาวชน ออกตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ เฝ้าสังเกตุการปล่อยน้ำเสียของโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆและรายงานต่อหน่วยงานรัฐและผู้เกี่ยวข้องประจำทุกเดือน
- ส่งเสริมอาชีพกับสมาชิก เช่นการเย็บผ้า การลี้ยงวัว - ควาย
- ต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเป็นธรรม และค่าชดเชยจากโรงงานอุตสหกรรมที่ปล่อยมลพิษลงสู่พื้นที่การเกษตรของสมาชิกได้รับความเสียหาย

3. เหตุการณ์และสถานการณ์การต่อสู้ของชมรมฯ
- เม.ย.36 ชาวบ้านในเขตลำน้ำพองและองค์กรพันธมิตร ในเรื่องน้ำพองเน่าเสียโดยเรียกร้องให้จังหวัดขอนแก่นเข้ามากำกับดูแลปัญหาเรื่องน้ำพอง ทำให้รัฐเพิ่มมาตรการให้ทางโรงงานฟินิคฯทำโครงการโปรเจคกรีน โดยกำหนดให้ทางบริษัทฟินิคซฯหาพื้นที่ 4000 ไร่ (ภายในปี 46) เพื่อใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำทิ้งจากการผลิต โดยไม่ให้มีการไหลซึ่มออกนอกพื้นที่โปรเจคกรีน และทางโรงงานฯก็เริ่มหากว้านซื้อที่ดินในเขตตำบลกุดน้ำใสและให้ชาวบ้านที่สนใจสมัครเข้าเป็นสมาชิก
- พ.ค.36 ชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเรื่องน้ำพองเน่าเสียเข้าเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐ เรื่องโรงงานอุตสหกรรมปล่อยน้ำเสียลงลำน้ำพอง ส่งผลให้กรมโรงงานสั่งปิดโรงงานฟินิคซฯชั่วคราว
- 28 มิ.ย. 38 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานฟินิคซฯ ในนามชมรมชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูลำน้ำพอง เข้าร้องต่อผู้จัดการฟินิคซฯว่ามีน้ำจากโครงการโปรเจคกรีนไหลงลงพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านทำให้ กล้า ข้าวตาย ต้นไม้ธรรมชาติตาย น้ำอุปโภคบริโภคใช้ไม่ได้ และมีกลิ่นเหม็นควันพิษ
- 5 ก.ค. 38 มีเวทีเจรจาเรื่องความเสียหายที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโรงงานฟินิคซฯขึ้นที่วัดบ้านหนองบัวน้อย ผลการเจรจาทางฟินิคซฯยอมชดเชยค่าเสียที่เกิดขึ้น โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายลงตรวจดูพื้นที่จริง
- 31 ก.ค.38 บริษัทจ่ายเงินให้ชาวบ้านรวมทั้ง 2,188,314 บาท
- ก.ย. 39 ชาวบ้านในนามชมรมชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพอง เข้าร้องเรียนต่อสิ่งแวดล้อมภาค 6 และหน่วยงานรัฐในจังหวัดว่ามีน้ำเสียจากบริษัทฟินิคซฯไหลลงสู่พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านและลงสู่ห้วยโจด หน่วยงานรัฐแจ้งให้ทางบริษัทฯปรับปรุงและจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
- 39 ฟินิคซฯ เปลี่ยนพื้นที่การทำโครงการโปรเจคกรีนจากโซนตำบลกุดน้ำใส มาเป็นโซนตำบลโคกสูงมากขึ้นเพราะรัฐและนักวิชาการเห็นว่าดินในเขตพื้นที่กุดน้ำใสไม่มีความเหมาะสม สำหรับโครงการโปรเจคกรีนและได้สร้างผลกระทบต่อการเกษตรของชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกไม่ขอเข้าร่วมโครงการต่อไป ฟินิคซฯจำเป็นต้องหาซื้อพื้นที่เป็น ของตนเองเพิ่มขึ้น
- มิ.ย.40 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้แต่งตั้งคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนเพื่อการฟื้นฟูลำน้ำพอง โดยชมรมชาวบ้านฯเข้าเป็นกรรมการร่วมด้วย
- ส.ค.40 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้มีการแต่งตั่งคณะทำงานป้องกันและแก้ปัญหามลพิษในลุ่มน้ำพอง ซึ่งมีชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพองเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยทำหน้าที่กำกับดูแล ตรวจสอบแก้ไขปัญหามลพิษในลำน้ำพอง
- ธ.ค.40 ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลำน้ำพองเข้าแจ้งต่อทางจังหวัดขอนแแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าเกิดเหตุการณ์น้ำพองเน่าเสีย มีปลาธรรมชาติและปลาในกระชังตาย จังหวัดแต่งตั่งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่อมมาฟินิคซฯ ยอมจ่ายค่าเงินให้ทางเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง
- ก.ค.41 ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้าร้องเรียนต่อทางจังหวัดว่าบริษัทฟินิคซฯปล่อยน้ำทิ้งลงสู่ห้วยโจด และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน ทำให้กรมโรงงานสั่งปิดโรงงานฟินิคซฯ 180 วัน
- ก.พ.44 ชมรมชาวบ้านฯนำโดยนายสำเนา ศรีสงคราม ประธาน เข้าร้องเรียนต่อทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 6 เรื่องโรงงานฟินิคซฯ ปล่อยน้ำเสียลงสู่ห้วยโจด โดยมีหลักฐานภาพวิดีโอประกอบด้วย หน่วยงานรัฐในระดับจังหวัดลงตรวจสอบพื้นที่ และต่อมาทางอุตสาหกรรมจังหวัดคำสั่งให้ทางโรงงานฯปรับปรุงแก้ไข
- มี.ค. 44 จังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาโรงงานฟินิคซฯ โดยมีนายสำเนา ศรีสงคราม เป็นคณะกรรมการชุดนี้ด้วย
- พ.ค.44 สมาชิกชมรมฯ กว่า 150 คนเดินทางเข้าร้องเรียนต่อกรมโรงงาน กระทรวงอุตสหกรรม เพื่อให้ทางโรงงานฟินิคซฯยกเลิกโครงการโปรเจคกรีนเนื่องจากจากได้ทำลายพืชผลทางการเกษตรและมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ห้วยโจด ทำลายสิ่งแวดล้อม ต่อมากรมโรงงานประสานให้ทางกรรมการไตรภาคีจังหวัดขอนแก่นประชุมพิจารณาเรื่องการชดเชยหลายครั้งแต่ไม่เป็นผล
- ส.ค.44 สมาชิกชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ฯ 100 คนและชาวบ้านฟื้นฟูฯ 400 คน เดินทางเข้ากรุงเทพฯเพื่อร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้โรงงานฟินิคซฯหยุดโครงการโปรเจคกรีนและชดเชยค่าเสียหายที่ชาวบ้านได้รับ เนื่องมีน้ำจากโครงการไหลลงพื้นที่การเกษตรและห้วยโจด และมีกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านแล้วได้มีการตกลงร่วมในการแต่งตั้งกรรมการลงแก้ปัญหาขึ้นมีตัวแทนชาวบ้านและรัฐบาล
- ก.ย.44 รัฐบาลโดยรองนายกรัฐมนตรี นายปองพล อดิเรกสาร ได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานฟินิคซฯ และได้มีการประชุมอนุกรรมการฯ และมีมติมอบหมายให้ทางจังหวัดขอนแก่นเป็นผู้ดำเนินการแก้ปัญหาต่อไป
- ต.ค.44 จังหวัดขอนแก่นแต่งตั้งคณะทำงาน ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีโรงงานฟินิคซฯ และทาางชาวบ้านได้มีการร่วมประชุมลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหาแต่ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ ในการแก้ปัญหา
- พ.ค. 45 ชาวบ้านชมรมฯเข้าร้องเรียนทางจังหวัดให้เรียกประชุมอนุกรรมการฯ เพื่อให้มีการพิจารณาแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ
- ก.ค. 45 มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากรณีราษฎรได้รับความเดือนร้อนจากโรงงานฟินิคซฯ ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงดูข้อมูลอีกครั้งทำให้ไม่มีข้อสรุปในการแก้ปัญหาแต่อย่างได
- พ.ย. 45 จังหวัดขอนแก่นมีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย จากโครงการโปรเจคกรีน ของบริษัทฟินิคซ ฯ พร้อมทั้งได้ลงตรวจสอบดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ของชาวบ้าน 103 ราย
- ม.ค. 46 ชาวบ้านจากชมรมฯที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องพืชผลทางการเกษตรได้รับ ความเสียหาย เพื่อกำหนดแนวทางในการตรวจสอบต่อไป
- ก.พ. 46 คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากโครงการโปรเจคกรีน ได้สรุปผลการตรวจสอบพบว่าเกษตรกรที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากโปรเจคกรีนมี 17 ราย และอีกที่เหลือยังไม่ชัดเจน พร้อมเสนอให้ทางฟินิคซ ช่วยเหลือกับเกษตรกรกลุ่มนี้
- ม.ย. 46 จังหวัดขอนแก่นแต่งตั้งคณะทำงานเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ประเมินผลกระทบจากโครงการโปรเจคกรีน
- พ.ค. 46 กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ 17 รายเข้าพบทางจังหวัดเพื่อขอคำตอบเรื่องการชดเชยผลกระทบจากฟินิคซฯ และทางจังหวัดประสานให้ทางผู้บริหารฟินิคซฯ ได้ให้คำตอบกับชาวบ้านจะชดเชยหรือไม่อย่างไรในวันที่ 27 พ.ค.46
- 25 พ.ค. 46 นายสำเนา ศรีสงคราม ประธานชมรมชาวบ้านฟื้นฟูอนุรักษ์ลำน้ำพองถูกยิงเสียชีวิต ก่อนหน้านี้สองสามวันคนร้ายได้เข้ามาพูดคุยที่บ้านนายสำเนา ศรีสงคราม ข้อมูลสุดท้ายจาก //www.thaingo.org/story3/samnao_050646.htm


โดย: Pu121 วันที่: 25 ตุลาคม 2550 เวลา:21:31:38 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Pu121
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Friends' blogs
[Add Pu121's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.