การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบัานปากมูน เพื่อเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง : การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูล เพื่อ เปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
โดย : พนา ใจตรง
ชื่อปริญญา : ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต
สาขาวิชา : สังคมศาสตร์และการพัฒนา
ประธานกรรมการที่ปรึกษา : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์

ศัพท์สำคัญ : การต่อรอง การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การปรับตัว

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของสภาพปัญหาและการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลและเพื่อศึกษากลยุทธ์ ในการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และทำความเข้าใจถึงกลไก ในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และเก็บข้อมูลภาคสนาม การสนทนากลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งข้อมูลประสบการณ์จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโอกาสต่าง ๆ
ผลการศึกษาพบว่า หลังจากการสร้างเขื่อนปากมูล ระบบนิเวศแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชน เนื่องด้วย ระบบนิเวศแม่น้ำมูล มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านปากมูลเป็นอย่างมาก ปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูล คือ แหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำมูล เป็นชุมชนคนหาปลามาแต่ดั้งเดิม เมื่อมีการสร้างเขื่อนปากมูลขวางกั้นเส้นทางการอพยพของปลา จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ในทุก ๆ ด้าน เช่น รายได้ลดลง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเองและระหว่างชาวบ้าน กับรัฐ และ การปรับตัวของชาวบ้านเพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุขนั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งจากเงื่อนไขวัฒนธรรมภายในที่ชาวบ้านมีต้นทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติที่ผูกพันกับวิถีการดำรงชีพแบบเดิม และปัจจัยภายนอกเช่นโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นทักษะในการประกอบอาชีพใหม่ ปัจจัยการผลิตและ อื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิต
ดังนั้นเป้าหมายในการเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูล คือการเปิดประตูระบายเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ซึ่งชาวบ้านปากมูลได้ใช้กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบทั้งภาคปฏิบัติการ เช่นการเดินขบวนร้องทุกข์ การชุมนุมยืดเยื้อไม่ย่นย่อ ทั้งในระดับพื้นที่และที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการติดตามการแก้ปัญหาแบบเกาะติดสถานการณ์ตลอดเวลา และ การยกระดับการเคลื่อนไหวต่อรอง โดยใช้วาทกรรมช่วงชิงพื้นที่ทางสังคม การเมืองในหลายโอกาส เช่น การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกประเทศ การผลิตความรู้ผ่านงานวิจัยไทบ้าน และนักวิชาการ แต่ยังไม่สามารถต่อรองให้มีการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวรได้ ทั้งนี้ เป็นเพราะรัฐมองปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลว่าเป็นการเมืองเรื่องของการต่อรอง การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูลเพื่อเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลนั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ ทางสังคมที่ซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลต่อการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่มีความสำคัญ กับมนุษย์


ABSTRACT

TITLE : NEGOTIATING MOVMENT OF PAK MUN VILLAGERS FOR THE OPENING AND CLOSING OF THE PAK MUL DAM’S GATES
BY : PANA JAITRONG
DEGREE : MASTER OF ARTS
MAJOR : SOCIAL SCIENCES AND DEVELOPMENT
CHAIR : ASST.PROF.KANOKWAN MANOROM, Ph.D.

KEYWORDS : NEGOTIATION / MOVEMENT / OPENING AND CLOSING OF THE PAK MUL DAM’S GATES / POWER RELATIONS / ADJUSTMENT

This thesis has three objectives including 1) to study the background of the problems and adjustments of the Pak Mun Villagers under the Changing of Mun River’s Ecosystems, which is an important condition to apply pressure for movement negotiation in opening-closing the Pak Mun Dam’s Gates; 2) to study the strategies of movement negotiation for opening-closing the Pak Mun Dam’s Gate; and 3) to understand the mechanisms on power relationship arrangement for reflection and negotiation between numerous power groups given the conflicts of interest for natural resources. The methodologies to collect data were qualitative techniques using Focus Group Discussions, in-depth interviews with key informants and participation observations in many related events.
The research findings reveal that after the Pak Mun Dam was built, there were many critical impacts on Mun River’s Ecosystems. The Mun River’s Ecosystems was definitely related to the Pak Mun Riparian Communities and Villagers’ Livelihoods largely. The migrant fishes from the Mekong Mainstream River to Mun River are the important sources of abundant food for Mun River Communities on both sides of the river creating fishery as an occupation which has supported the communities for many years. So, when the Pak Mun Dam was built, it blocks the way of fish migration, which causes the impacts to the community’s livelihood in many ways including: the decrease in income, conflicts between the villagers and conflict between the villagers and state. Adjustments to survive have many limitations both from the condition of social capital and natural resource capital, which related to their old ways of life and the external conditions such as the opportunity to adjust to new occupations, which need the high level of investment consisting of: a skill for a new occupation, materials and etc. All of these conditions are a limitation of livelihood’s adjustment.
So, the aim of negotiating movement of Pak Mun Villagers is to ask for an opening of Pak Mun Dam’s Gates permanently. Pak Mun Villagers use many critical strategies to negotiate with government including making rally to submit many petitions to both local and central government, protesting at the local area and in front of the Government House to monitor the government’s solution, and raising up the negotiating power by spreading the discourse to scramble social and political spaces such as networking, cooperating in and outside of Thailand, producing Thai Baan Research (The Villager’s Research) and allying with academics. However, even villagers have done so many tactics to negotiate with government, these strategies have not magnified enough pressure to open the Pak Mun Dam’s Gates permanently as the State’s perspective of the Pak Mun Dam Problems labels this as “Politics of Negotiation”. Negotiating movement of Pak Mun Villagers for Opening-Closing the Pak Mun Dam’s Gates permanently is a complex social phenomenon, especially given the issues of livelihood and the impacts of Pak Mun Dam Building on the folk fishery or the changing of ecosystems, all of which are important for humans.



Create Date : 19 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 19 กุมภาพันธ์ 2554 14:23:58 น.
Counter : 4888 Pageviews.

41 comments
  
บทที่ 1
บทนำ

1.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

การพัฒนาประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นมีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและการเมือง โดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ เช่นการสร้างเขื่อนด้วยพลังน้ำ และการลงทุนภาคอุตสาหกรรมนั้นได้ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตของชุมชนอย่างรุนแรงโดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่นอีสานที่คนชนบทส่วนใหญ่อาศัยทรัพยากรเพื่อการดำรงชีพ ซึ่งอานันท์ กาญจนพันธุ์ (2528 : 22-32) ชี้ให้เห็นว่า เมื่อพูดถึง การพัฒนา มักจะมีข้อถกเถียง ในสองแนวทางที่ตรงกันข้าม แนวหนึ่งคือ การพัฒนากระแสหลัก ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการเป็นสากลไร้พรมแดน ปัจเจกชนนิยม เสรีนิยมและบริโภคนิยม การพัฒนากระแสหลักไม่ได้คำนึงถึงมิติทางวัฒนธรรม เนื่องจากให้ความสำคัญกับสังคมภายนอก โดยละเลยภูมิปัญญา ศักยภาพและความหลากหลายของท้องถิ่น อีกแนวทางหนึ่งเป็นการพัฒนาที่อยู่บนพื้นฐานของ “วัฒนธรรมท้องถิ่น” เน้นการพึ่งตนเอง การเกื้อกูลระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และความกลมเกลียวในชุมชน ในสังคมไทย แนวการพัฒนาทั้งสองกระแสอยู่ในสถานการณ์ที่เผชิญหน้ากันตลอดมา
สำหรับกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล ในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนกั้นปากแม่น้ำบริเวณตอนปลายของแม่น้ำมูล ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาทรัพยากรปลาจากแม่น้ำมูล เป็นหลัก ภายหลัง การสร้างเขื่อนปากมูล ระบบนิเวศแม่น้ำมูลถูกทำลาย เช่น เกาะ แก่งหินที่เป็นที่อยู่อาศัยหากินและวางไข่ของปลา ถูกระเบิดเป็นร่องน้ำ และจมอยู่ใต้น้ำลึก จากงานวิจัยไทบ้าน : แม่มูน การกลับมาของคนหาปลา : บทสรุปและความรู้เรื่องปลา ระบุว่า ระบบนิเวศแม่น้ำมูลบริเวณปากมูล เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแบบแก่งหินขนาดใหญ่ที่มีความสลับซับซ้อนและมีความหลากหลายทางชีวภาพ และการปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทำให้เกิดสภาพน้ำนองเอ่อนิ่ง ทำให้น้ำเน่าเสีย และแก่งหินกว่า 50 แห่ง จมอยู่ใต้น้ำและมีตะกอนดินทับถม ไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิตของปลา อีกทั้งยังทำให้เกิดการระบาดของเห็บปลาซึ่งเป็นศัตรูของปลา ผักตบชวาและไมยราบยักษ์ที่เป็นพืชต่างถิ่นก็สร้างปัญหายุ่งยากต่อการหาอยู่หากินของชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ผลการศึกษาของงานวิจัยไทบ้าน ยังค้นพบว่า ด้านระบบนิเวศ ปลาและพรรณพืชก่อนสร้างเขื่อนปากมูล มีพันธุ์ปลามากถึง 260 ชนิด แต่ภายหลังการสร้างเขื่อนเหลือปลาพบพันธุ์ปลา 43 ชนิด ซึ่งมีสาเหตุมาจากปลาไม่สามารถอพยพผ่านเขื่อนปากมูลหรือผ่านบันไดปลาโจนได้ (คณะนักวิจัยไทบ้าน สมัชชาคนจน และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศไทย, 2545)
โครงการเขื่อนปากมูลได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนในทุก ๆ ด้าน เดชรัตน์ สุขกำเนิด (2542) ได้แก่ ระบบนิเวศแม่น้ำมูลและแหล่งอาศัยของปลาถูกทำลายลง ทำให้ชาวบ้านหาปลาได้ลดลง ส่งผลให้รายได้ลดลงด้วย แม้ว่าภายหลังที่มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ทรัพยากรจะเริ่มฟื้นคืนมา แต่เนื่องจากศักยภาพที่มีอยู่เดิมถูกทำลายไปในระหว่างที่เขื่อนเก็บกักน้ำ ชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ดังเดิม (นฤมล ทับจุมพล, 2544)
การเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูลได้ปรากฏตัวต่อสังคมในฐานะชุมชนที่พยายามต่อสู้ต่อรองกับนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อแสวงหาทางเลือกในการปรับตัวและความอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่น การฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรปลาในแม่น้ำมูล รวมทั้งการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิต จนถึงขั้นเกิดการปะทะขัดแย้งกับแนวนโยบายการพัฒนาของรัฐ บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงเพื่อการดำรงอยู่ของอำนาจรัฐและฐานทรัพยากรอาหารในวิถีการดำรงชีพของชาวบ้านอย่างเข้มข้น
การเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านปากมูล ถือเป็นการเคลื่อนไหวของขบวนการภาค ประชาชน ประภาส ปิ่นตบแต่ (2541)ในการพิทักษ์สิทธิการดำรงชีวิตและการปกป้องแม่น้ำมูล ในฐานะทรัพย์สินสาธารณะที่ชุมชนท้องถิ่นใช้ประโยชน์ร่วมกัน ได้ก่อตัวขึ้นและดำเนินการเคลื่อนไหวต่อเนื่องมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน นับตั้งแต่รัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ได้มีมติอนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนปากมูล ในปี พ.ศ.2533 จนกระทั่งมีการสร้างเขื่อนปากมูลเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.2537 ภายหลังการสร้างเขื่อน ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นยังมีการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปี 2545 รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ยอมให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ตลอดปี เพื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และความรุนแรงของปัญหาผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวประมงที่หาปลาในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล
นักวิชาการโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำการวิจัยศึกษาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล เพื่อหาแนวทางจัดการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลที่เหมาะสม ซึ่งไดรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาจากรัฐบาล ผลการศึกษาพบว่า การเปิดประตูเขื่อนไม่ส่งผลกับเสถียรภาพ ของระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้าโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง แม้จะมีหรือไม่มีเขื่อนปากมูลระบบก็ยังคงอยู่ได้ และไม่ส่งผลกระทบด้านการชลประทานเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตรนอกฤดูฝน อีกทั้งมีการพบพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นถึง 184 ชนิด ตลอดทั้งปีการศึกษาวิจัยครั้งนี้ยังระบุว่า การเปิดประตูน้ำบางช่วงเวลา และปิดบางช่วงเวลา จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจของชุมชน มีเพียงการเปิดประตูระบายน้ำตลอดปีเท่านั้นที่จะทำให้ฟื้นสภาพนิเวศ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชนขึ้นมาได้ (คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2545)
ผลการศึกษาวิจัยของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีข้อสรุป 4 ทางเลือก ในการกำหนดช่วงเวลา เปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล แต่ทางเลือกหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้เสนอเป็นแนวทางที่ดีทีสุดในการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชน คือ การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานตลอดปี โดยทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 5 ปี เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและสังคมโดยพิจารณาประเด็นทางระบบนิเวศประมงเป็นหลักควบคู่กับประเด็น ด้านพลังงานและประเด็นทางสังคม
วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน) เสนอไว้ใน บทความชื่อ “หนึ่งประเทศสองวิถี” ตอนหนึ่งว่า “การเปิดประตูน้ำทั้ง 8 บานตลอดทั้งปีเป็นการถาวร เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศของแม่น้ำมูล เปรียบเสมือนเป็นการลงทุน เพื่อการฟื้นฟูชีวิตและชุมชนขึ้นมาด้วย เพราะวิถีชีวิตของชาวลุ่มน้ำมูนก็คือการฝากชีวิตไว้กับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง เป็นเหมือนธนาคารที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจของชุมชน เป็นแหล่งสร้างงานให้กับคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า เป็นสถานที่ให้การศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพที่สุจริต เรียบง่าย เป็นแหล่งประกอบพิธีกรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้อ่อนโยน ยึดมั่นในกฎของธรรมชาติ เป็นกฎเกณฑ์ในการดำรงชีวิต” (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์, 2547)
อย่างไรตามการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลทางวิชาการดังกล่าวมาพิจารณาสำหรับการตัดสินใจบริหารจัดการเขื่อนปากมูล โดยรัฐบาลอ้างว่า ผลการวิจัยจากมหาวิทยาลัย อุบลราชธานี ที่ระบุไว้ว่าให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตลอดปีเป็นระยะเวลา 5 ปี เพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและวิถีการดำรงชีพของประชาชนนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการศึกษาเท่านั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าทุกผลการวิจัยจะถูกต้องเสมอไป แต่รัฐบาลกลับเลือกใช้ข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็น(Poll) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2545) ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีเขื่อนปากมูลในพื้นที่อำเภอโขงเจียมอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และสมชาย วงศ์เกษม และคณะ (2546) จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ที่ทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำมูลเกี่ยวกับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ผลการสำรวจความคิดเห็นทั้งสองโครงการสรุปคล้ายกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน คือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ของทุกปี
ซึ่งแตกต่างจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและงานวิจัยไทบ้านปากมูลที่สรุปไว้ชัดเจนว่า การฟื้นตัวของระบบนิเวศ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชน ต้องเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ตลอดปี ชาวบ้านใช้ภาษาอย่างเป็นทางการว่า “เปิดเขื่อนถาวร” ซึ่งมีนัยว่า คืนอิสรภาพให้แม่น้ำมูล คืนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แล้ววิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นปากมูลจะฟื้นตัวกลับมาปรกติสุขเหมือนเดิม (แถลงการณ์สมัชชาคนจน.เปิดเขื่อนปากมูลถาวร)
ต่อมารัฐบาลได้นำข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นทั้งสองโครงการนี้มาตัดสินใจในการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเขื่อนปากมูล โดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2546 ให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน ใน 1 ปี (เปิด 4 เดือน-ปิด 8 เดือน) คือเปิดประตูน้ำตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึงวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 8 มิถุนายน 2547 ให้เลื่อนเวลาเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลมาเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม ของทุกปี เพื่อให้สอดคล้องกับระบบนิเวศประมงและให้ปลาได้อพยพขึ้นมาวางไข่ ตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน
ต่อมารัฐบาลได้มีการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 เรื่อง การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ตามที่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน/ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาชนบทตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เสนอและคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 มิถุนายน 2550 มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยดำเนินการรักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูลไว้ที่ประมาณ +106-108 เมตร/ระดับทะเลปานกลาง (ม.รทก.) โดยไม่กำหนดว่าจะต้องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเมื่อใด และการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำให้เป็นไปตามธรรมชาติและสภาพความเป็นจริงของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ทั้งนี้ ให้กระทรวงมหาดไทยประสานและเร่งรัดการจัดตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อดำเนินการกำกับรักษาระดับน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ให้อยู่ในระดับ +106-108 เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) ตลอดจนพิจารณาดำเนินการและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นประธาน และมีอำนาจตัดสินใจในการเปิดหรือปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาของกระทรวงมหาดไทย และในการเปิดหรือปิดประตูเขื่อนให้คำนึงถึงสภาพตามธรรมชาติและความเป็นจริง ในพื้นที่ ทั้งนี้ มอบอำนาจให้คณะกรรมการชุดนี้ดำเนินการโดยไม่จำเป็นต้องนำเรื่องมาเสนอคณะรัฐมนตรี
ต่อมาคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดประชุมครั้งที่ 3/2551 วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม 2551 โดยมีนายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในประชุมเพื่อพิจารณากำหนดเกณฑ์ในการเปิด-ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล ดังนี้
(1) ให้เริ่มเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทันทีที่อัตราการไหลของน้ำในแม่น้ำมูลที่สะพานเสรีประชาธิปไตย (M 7) สูงถึง 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และให้สามารถเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลสุดบานทั้ง 8 บานได้ภายใน 10 วัน นับจากวันที่เริ่มระบายน้ำ
(2) ในกรณีที่อัตราการไหลของน้ำตาม (1) ยังสูงไม่ถึง 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ในวันที่ 5 มิถุนายน) ให้เริ่มดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน ภายในวันที่ 15 มิถุนายน ทั้งนี้ การเตรียมงานเพื่อลดระดับน้ำ และการแจ้งเตือนราษฎรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานระบบงานของ กฟผ. ที่เคยปฏิบัติ
(3) ให้เปิดประตูระบายนำเขื่อนปากมูลต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 4 เดือน หากมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ควรเปิดประตู “มากหรือน้อยกว่า 4 เดือน” ให้คณะทำงานเสนอคณะกรรมการ เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นการด่วน (รายงานการประชุม คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ครั้งที่ 3/2551วันที่ 12 พฤษภาคม 2551)
ด้วยปัญหาเรื่องระยะเวลาในการเปิด –ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างชาวบ้านกับรัฐและช่วงเวลาเปิด-ปิดประตูระบายน้ำที่ไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศของแม่น้ำมูลผู้วิจัยจึงให้ความสนใจในประเด็นการต่อสู้-ต่อรอง เรื่องการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลว่า ชาวบ้านใช้กลยุทธ์และวิธีการเคลื่อนไหวตอบโต้-ต่อรองอย่างไร ในสภาพที่ความขัดแย้งดำรงอยู่ ชาวบ้านมีวิธีการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับรัฐและกลุ่มชาวบ้านอื่น ๆ อย่างไร ในท่ามกลางกระแสวาทกรรมการพัฒนาที่ต่างฝ่ายต่างหยิบยืมมาใช้สนับสนุนการเคลื่อนไหว ตอบโต้ต่อรองซึ่งกันและกัน
ดังที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนั้นงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยจึงมีโจทย์คำถามว่า จากนโยบายการบริหารจัดการน้ำแบบ(เปิด 4-ปิด 8) ชาวบ้านมีข้อจำกัดในการปรับตัวในการดำรงชีวิตอย่างไรชาวบ้านปากมูลใช้กลไกอะไรในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งและมีกลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ต่อรอง เรื่องการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างไร
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:29:14 น.
  
บทที่ 2
แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เนื้อหาบทนี้มี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกอธิยายถึงแนวคิดที่ใช้ในการศึกษา ซึ่งประกอบด้วยแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม แนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองและการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ และแนวคิดวาทกรรมการพัฒนา ส่วนที่สองเป็นการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้

2.1 แนวคิดที่ใช้ในการศึกษา

เนื่องจากการวิเคราะห์การต่อรองเรื่องการเปิด-ปิดประตูเขื่อนปากมูลนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุผลว่าอะไร คือมูลเหตุให้มีการเปิดประตูซึ่งมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับทรัพยากรรวมทั้งกระบวนการต่อรองให้มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลต้องมีการช่วงชิงทางวาทกรรมภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจต่าง ๆ ตลอดจนการต่อรองทางการเมือง ดังนั้น แนวคิดที่เหมาะสมในการ
ช่วยทำให้การวิเคราะห์ประเด็นดังกล่าวมีความชัดเจนขึ้นจึงประกอบด้วย
2.1.1 แนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม
2.1.2 แนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง และการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่
2.1.3 แนวคิดวาทกรรมการพัฒนา
2.1.4 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

2.1.1 แนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม (Cultural ecology)
นิเวศวิทยาวัฒนธรรม (Cultural ecology) เป็นแนวคิดทางมานุษยวิทยาแนวหนึ่งที่
สนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมโดยเน้นถึงอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมว่าเป็นตัวกำหนดกระบวนการวิวัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรม จูเลียน สจ๊วด (Julian Steward) นักมานุษยวิทยาอเมริกัน ได้อธิบายแนวความคิดแบบนิเวศวิทยาวัฒนธรรมว่า เป็นการศึกษากระบวนการปรับตัวของสังคมภายใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการศึกษาวิวัฒนาการหรือการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากการปรับตัว (adaptation) ของสังคม แนวความคิดนี้มองสังคมในลักษณะเป็นพลวัตหรือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม โดยมีพื้นฐานสำคัญคือ เทคโนโลยีการผลิตโครงสร้างสังคม และลักษณะของสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เป็นเงื่อนไขหลักกำหนดกระบวนการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของสังคมวัฒนธรรม (นิยมพรรณ วรรณศิริ, 2540 )
งามพิศ สัตย์สงวน (2543) ชี้ว่าแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมพัฒนามาจากแนวคิดของมานุษยวิทยาอเมริกันคือ จูเลียน สจ๊วด (Julian Steward) และเลสลี ไวท์ (Leslie White) ซึ่งต่างมองวัฒนธรรมว่าเป็นการปรับตัวต่อปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับการดิ้นรนเพื่อมีชีวิตอยู่และการผลิต แม้ว่านักคิดทั้งสองมีกรอบความสนใจเหมือนกัน แต่ประเด็นความสนใจเฉพาะที่นักคิดทั้งสองท่านให้ความสนใจมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ ในขณะที่ไวท์สนใจวิวัฒนาการทั่วไปของวัฒนธรรม ทำให้เขาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับพัฒนาการของวัฒนธรรมกับการเปลี่ยนแปลงประสิทธิภาพของการใช้พลังงาน สจ๊วดกลับมองวัฒนธรรมเป็นระบบพื้นฐานที่ตอบสนองการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่เฉพาะสังคมการอธิบายขั้นตอนการพัฒนาการทางวัฒนธรรมจึงพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติระดับของเทคโนโลยี และแบบแผนการทำงานในสังคมนั้น ๆ (งามพิศ สัตย์สงวน, 2543 : 66)
ยศ สันตสมบัติ (2537) เสนอว่า แนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม มองสังคมในลักษณะเป็นพลวัตรหรือเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาการเปลี่ยนแปลงเป็นผลมาจากการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมโดยมีพื้นฐานสำคัญซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักกำหนดกระบวนการการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของสังคมวัฒนธรรม คือ เทคโนโลยีการผลิต โครงสร้างสังคม และลักษณะของสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมจึงให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งเป็นตัวกำหนดสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีกับพฤติกรรม ของมนุษย์ ตลอดจนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่อวัฒนธรรม
(ยศ สันตสมบัติ, 2537 : 34-35)
ชนัญ วงษ์วิภาค (2532) สรุปความหมายของ นิเวศวิทยาวัฒนธรรมว่านิเวศวิทยานั้นเน้นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตพืชและสัตว์กับสภาพแวดล้อม ส่วนทางด้านมานุษยวิทยาจะมุ่งเน้นความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก โดยพยายามค้นคว้าและทำความเข้าใจ ในพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร พฤติกรรมของมนุษย์ส่วนใหญ่เกิดจากการเรียนรู้คือพฤติกรรมทางวัฒนธรรมและปรากฏการณ์ทางสภาพแวดล้อม มนุษย์อยู่รอดในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้เพราะอาศัยวัฒนธรรมเป็นเสมือนอุปกรณ์ในการปรับตัว โดยอาศัยสื่อกลางต่าง ๆ คือ เทคโนโลยี ภาษา รูปแบบการจัดระเบียบกลุ่มและอุดมการณ์ เรียนรู้สะสมอบรมบ่มนิสัยหรือสืบทอดกันมา จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลาน โดยใช้วัฒนธรรมดัดแปลงสภาพแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตน (ชนัญ วงษ์วิภาค, 2532 : 10)
ยศ สันตสมบัติ (2540) สรุปความหมายของวัฒนธรรมว่าวัฒนธรรมมีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญ 6 ประการด้วยกัน คือ ประการแรก วัฒนธรรมเป็นระบบความคิดและค่านิยม ที่สมาชิกมีร่วมกัน ประการที่สอง วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์เรียนรู้ ประการที่สาม วัฒนธรรมมีพื้นฐานมาจากการใช้สัญลักษณ์ ประการที่สี่ วัฒนธรรมเป็นองค์รวมของความรู้และภูมิปัญญา ประการที่ห้า วัฒนธรรมคือกระบวนการในการกำหนดนิยามความหมายของชีวิตและสิ่งที่อยู่ร่วมตัวมนุษย์ และประการที่หก วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง แต่เปลี่ยนแปลงปรับตัวอยู่ตลอดเวลา (ยศ สันตสมบัติ, 2540: 17)
มนัส สุวรรณ (2532) กล่าวถึงนิเวศวิทยากับการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ว่า แนวความคิดเชิงนิเวศวิทยาโดยพื้นฐานทั่ว ๆ ไป สามารถนำไปประยุกต์ได้ในทุกสถานการณ์ซึ่งคาดว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะมีขึ้น ก่อนที่จะมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การและเทคโนโลยี มนุษย์สมัยก่อนมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมในลักษณะของการปรับเปลี่ยนด้วยวิธีการง่าย ๆ จากพฤติกรรมที่ถูกควบคุมโดยธรรมชาติได้พัฒนามาเป็นการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เมื่อวิทยาการและเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าไปพร้อมกับจำนวนของประชากรที่เพิ่มขึ้น ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้พัฒนาไปเป็นลักษณะของพฤติกรรมที่พยายามเอาชนะธรรมชาติ มนุษย์ในปัจจุบันกำลังอาศัยประโยชน์ของความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการพัฒนาเศรษฐกิจพยายามกอบโกยทุกสิ่งทุกอย่างจากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผลของการเพิ่มของประชากรอย่างรวดเร็ว ความพยามยามที่จะเอาชนะธรรมชาติดังกล่าวสามารถกระทำได้ในขอบเขตจำกัด ทั้งนี้เพราะธรรมชาติมีขีดจำกัดความสามารถ อยู่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพื่อให้การพัฒนายังคงมีประสิทธิภาพในเชิงการผลิต และธรรมชาติยังคงสภาพที่มั่นคง ความเข้าใจในหลักเชิงนิเวศวิทยาจึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจ (มนัส สุวรรณ, 2532 : 19)
ในงานศึกษาทางมานุษยวิทยาของยศ สันตสมบัติ (2548) ได้ขยายภาพประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ว่าการเก็บหาอาหารเป็นกิจกรรมที่สำคัญอันดับแรก และเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นระบบเกษตรในรูปแบบต่าง ๆ และการเลี้ยงสัตว์ สังคมเก็บของป่าและล่าสัตว์ เป็นสังคมที่มีขนาดเล็กที่ปรับตัวเข้ากับสภาพธรรมชาติ ผู้คนจะอยู่เป็นกลุ่มและกระจาย กันออกหาอาหาร ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่มีการผลิต ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม อาศัยเรื่องเพศเป็นเกณฑ์แบ่งงานกันทำ สังคมแบบนี้หากมองจากภายนอก จะขัดแย้งกับกรอบคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความยากจน เพราะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ เทคโนโลยีอยู่ในขั้นต่ำ ไม่มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสั่งสมมูลค่าส่วนเกินได้ แต่งานศึกษาทางมานุษยวิทยากลับพบว่า ด้วยวัฒนธรรมการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทีดี หลายสังคมสามารถทำมาหากินอย่างง่ายดาย และเพียงพอต่อความต้องการ
ขณะที่สังคมกสิกรรมแบบไร่หมุนเวียน อันเป็นระบบการผลิตในพื้นที่สูงของชนพื้นเมืองทั่วโลก วิถีการผลิตดังกล่าวสัมพันธ์กับระบบนิเวศ อาจด้วยการเพิ่มขึ้นของประชากร ทำให้เกิดการเปลี่ยนจากเก็บหาของป่ามาทำเกษตรไร่หมุนเวียน ซึ่งสามารถควบคุมปริมาณอาหารที่มั่นคงและแน่นอน เกิดผลผลิตส่วนเกิน ในทางสังคมกลุ่มเครือญาติเป็นฐานการจัดตั้งองค์กรทางสังคม ซึ่งมีการแบ่งงานกันหลากหลายสำหรับสังคมกสิกรรมแบบเข้มข้น เช่น การทำนา ทำสวน ทำไร่ ความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้นได้ด้วยการอาศัยเทคโนโลยี แรงงานการผลิต และการบริหารองค์กรที่มีประสิทธิภาพ เช่น การควบคุมน้ำ การจัดการที่ดิน การจัดการแรงงาน เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่ม สามารถสะสมผลผลิตส่วนเกิน ในอีกด้านหนึ่งก็เกิดความแตกต่างในการถือครองที่ดินที่อาจกลายเป็นความแตกต่างทางชนชั้น ส่วนสังคมเลี้ยงสัตว์ มักเป็นชุมชนเร่ร่อน ขนาดเล็ก กระจัดกระจาย เลี้ยงสัตว์และทำการค้ากับกลุ่มอื่น เกิดพ่อค้า ผู้เชี่ยวชาญ ช่างฝีมือ มีการสะสมทรัพย์และความแตกต่างทางเศรษฐกิจ (ยศ สันตสมบัติ, 2548 : 50-67)
จากการทบทวนแนวคิดเกี่ยวกับนิเวศวิทยาวัฒนธรรมที่กล่าวมานั้น สามารถสรุปได้ว่า โดยหลักการพื้นฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมคือ การวิเคราะห์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อม และวิธีการดำ เนินชีวิตของมนุษย์ ซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยาไม่เพียงแต่จะมีความสำคัญต่อมนุษย์ในอดีตและปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงความสำคัญต่อมนุษยชาติในอนาคตอีกด้วย ดังนั้นในการทำความเข้าใจถึงรูปแบบในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านปากมูล ผู้วิจัยจึงยกเอาแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม มาช่วยอธิบายให้เข้าใจถึงลักษณะการทำมาหากินและการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนค่านิยมและรูปแบบทางวัฒนธรรมของชุมชนเพื่อทำความเข้าใจเงื่อนไขในการดำรงชีวิตของชาวบ้านปากมูลให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ และระบบสังคมวัฒนธรรม แต่อย่างไรก็ตามงานศึกษา ในแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรม กลับถูกโต้แย้งและวิพากษ์ ว่าละเลยมิติที่สัมพันธ์กับเศรษฐกิจการเมืองระดับกว้างและซับซ้อนกว่าระดับชุมชน และละเลยมิติความขัดแย้งทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชนกับรัฐ จึงต้องใช้แนวคิดอื่น ๆ ควบคู่กันไปในงานศึกษาครั้งนี้ด้วย
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:30:40 น.
  
2.1.2 แนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง
2.1.2.1 แนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง (Political ecology approach)
กรอบแนวคิดของนิเวศวิทยาการเมือง มีรากฐานอยู่บนโลกทัศน์องค์รวมซึ่งเห็นว่าสรรพสิ่งในระบบนิเวศต่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ความเสียหายแม้เพียงส่วนน้อยของระบบย่อมส่งผลถึงระบบโดยรวมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง แนวคิดดังกล่าวเห็นว่าการเติบโตของระบบอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดเป็นต้นเหตุของการทำลายล้างสังคมและระบบนิเวศ ทั่วโลก จึงจำเป็นต้องอาศัยปฏิบัติการทางการเมืองเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคม ไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
ชูศักดิ์ วิทยาภัค บอกว่าแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองเป็นแนวคิดเชิงวิพากษ์ (critical approach) ในการศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 มีจุดเริ่มต้นมาจากความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศโลกที่สาม ที่มีการถกเถียงกันถึงสาเหตุของความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม และ นักสังคมศาสตร์ได้เริ่มตระหนักมากขึ้นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมและความสำคัญทางการเมือง นิเวศวิทยาการเมืองจึงเกิดขึ้นในฐานะที่เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ ในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาสิ่งแวดล้อมกับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการเมือง
(ชูศักดิ์ วิทยาภัค, 2539)
Blaikie and Brookfield (1987 อ้างในไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ.2543) อธิบายว่ารากฐานของกรอบแนวความคิดนิเวศวิทยาการเมืองก็คือ การผนวกเอาข้อพิจารณาทางด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง (Political economy) ซึ่งเป็นแนววิเคราะห์เชิงวิพากษ์และชนชั้น รวมเข้ากับหลักการทางนิเวศวิทยา (ecology) ที่ยึดหลักระบบนิเวศหรือชีวาลัย (biosphere) อาจกล่าวได้ว่านิเวศวิทยาการเมืองเป็นวิภาษวิธี (dialectic) ที่ปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างสังคมมนุษย์กับธรรมชาติ และรวมถึงภายในชนชั้นและกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม โดยนัยของแนวการวิเคราะห์เชิงนิเวศวิทยาการเมืองนั้นก็เพื่อที่จะบอกว่าแนวการอธิบายปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมแบบเดิมที่อธิบายว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ความไร้เหตุผล เชิงเศรษฐกิจ การขาดแคลนเทคโนโลยีและการหวังผลทางเศรษฐกิจระยะสั้นนั้นไม่เพียงพอ แต่ต้องให้ความสำคัญต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างพลังของสังคมและการเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการแสวงหาสาเหตุทางสังคมในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมขึ้น (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2543)
ดังนั้น การนำเสนอกรอบแนวความคิดนิเวศวิทยาการเมืองขึ้นมาในวงวิชาการ จึงเป็นการเปลี่ยนแนวการวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ๆ ไปสู่แนวการวิเคราะห์เชิงปฏิสัมพันธ์ (interactive approach) โดยแง่มุมของแนวการวิเคราะห์เชิงปฏิสัมพันธ์นั้น ไม่ได้มองไปที่ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติหรือการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเท่านั้น แต่ได้เน้นไปที่เรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างกับตัวบุคคล และกระบวนการเกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม ที่หมายถึงวิถีทางการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมได้ถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความหมายหรือให้ความสำคัญ กรอบแนวความคิดนิเวศวิทยาการเมืองจึงต้องรวมเอาตัวแสดงสำคัญ (actors) หรือกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) เข้าไปวิเคราะห์ด้วย (Blaikie, 199; อ้างอิงจาก ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2543)

โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:32:47 น.
  
2.1.2.2 องค์ประกอบของกรอบแนวการวิเคราะห์เชิงนิเวศวิทยาการเมือง
Bryant ได้สำรวจองค์ความรู้นิเวศวิทยาการเมืองในโลกที่สาม โดยแบ่งองค์ประกอบหรือประเด็นการวิจัยตามกรอบแนวการวิเคราะห์เชิงนิเวศวิทยาการเมืองออกเป็น 3 องค์ประกอบหลักที่เชื่อมโยงกัน คือ ประการแรก แหล่งที่มาเชิงบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง ความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร และประการที่สาม ผลสะท้อนทางการเมืองที่ตามมาจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม มีเนื้อหาดังนี้ (Bryant, 1992; อ้างอิงจาก ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2543)
1) แหล่งที่มาเชิงบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อม (Contextual sources of environmental change) องค์ประกอบในส่วนนี้ประกอบด้วย ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายของรัฐ (state policy) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ (interstate relation) และทุนนิยมโลก (global capitalism) การศึกษาในส่วนนี้ก็เพื่อสะท้อนถึงผลกระทบที่ปรากฏมากขึ้นของพลังผลักดันจากรัฐและนานาชาติ ในด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่ระบบเศรษฐกิจและการเมืองต้องพึ่งพาอาศัยกันนโยบายรัฐนับว่ามีบทบาทหลักในปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมที่นอกจากกำหนดความสำคัญก่อนหลังและการปฏิบัติของรัฐบาลแล้ว ยังมีส่วนสำคัญในการกำหนดวาทกรรมทางสังคมเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีส่วนสำคัญต่อความเข้าใจต่อปัญหาการเมืองของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ที่มา เนื้อหา การปฏิบัติ และผลกระทบของนโยบายดังกล่าวจึงต้องนำเข้ามาวิเคราะห์อย่างละเอียด เนื่องจากนโยบายรัฐไม่ได้เกิดขึ้นมาจากสุญญากาศทางเศรษฐกิจและการเมือง แต่เป็นผลมาจากการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ที่ต้องการกำหนดนโยบายของรัฐ ได้แก่ บริษัทเอกชน องค์กรเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ และรัฐบาลต่างชาติ สิ่งที่น่าจะนำมาวิเคราะห์ก็คือ แรงกดดันที่มีต่อผู้กำหนดนโยบาย (policy makers) เพื่อทำความเข้าใจถึงผลที่ออกมาจากนโยบาย หรือพิจารณาว่านโยบายก่อนหน้านี้มีผล ต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมอย่างไร และการเปลี่ยน แปลงดังกล่าวส่งผลสะท้อนกลับไปยังกระบวนการตัดสินใจอย่างไรในการพิจารณานโยบายของรัฐนั้น
2) ความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากร (Conflict over access) ในส่วนนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิการเข้าถึงทรัพยากร (Access rights) การต่อสู้ในท้องถิ่น (local struggles) และการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ (ecological transformation) ซึ่งจะให้ความสำคัญกับข้อจำกัดและโอกาสที่ชาวนาและประชาชนผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ ในสังคมที่ต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมที่วิถีชีวิตของพวกเขาจะต้องพึ่งพิง ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจความขัดแย้งในการเข้าถึงหรือสิทธิ ทั้งในแง่พัฒนาการทางประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน ความขัดแย้งระหว่างชาวนากับรัฐและชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของที่ดินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการต่อสู้กันเพื่อมีอำนาจครอบครองทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย เช่น สัตว์ป่า พรรณพืช สภาพของดิน และแหล่งน้ำ ส่วนหนึ่งของความสลับซับซ้อนของความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรก็เนื่องมาจากระบบกรรมสิทธิ์ (Tenurial system) และสถาบันที่ควบคุมการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากร (institutions to regulating access, control and use of environmental resources) ที่มีสิทธิที่หลากหลายซ้อนทับกัน ประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้เกิดโครงข่าย (web) ที่แยกกันไม่ออก
ดังนั้น แนวความคิดที่สำคัญของนิเวศวิทยาการเมืองอีกประการก็คือ แนวคิดเกี่ยวกับระบบ กรรมสิทธิ์ (Property right regimes) เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นความขัดแย้งในการอ้างสิทธิเพื่อประโยชน์ของแต่ละฝ่าย การทำความเข้าใจในเรื่องของระบบกรรมสิทธิ์ที่หลากหลายซับซ้อนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนิเวศวิทยาการเมืองระบบกรรมสิทธิ์ตามแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองนั้นหมายถึงโครงสร้างของสิทธิและหน้าที่ ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับผู้อื่นในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพยากร ซึ่งนำไปสู่การคิดว่าทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นกรรมสิทธิ์แบบส่วนรวม (The commons) และจะต้องตกอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2543)
สำหรับความขัดแย้งเรื่องการสร้างเขื่อน ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ บอกว่า มีรากฐานมาจากความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรซึ่งมีระบบกรรมสิทธิ์ซ้อนทับกันอยู่เช่นกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินแหล่งน้ำ พรรณพืช พันธุ์สัตว์น้ำ พันธุ์สัตว์ป่า และระบบนิเวศเอง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีรูปแบบการจัดการภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน แต่การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ของรัฐได้มีการแย่งสิทธิจากชาวบ้านไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น การแย่งสิทธิการใช้แม่น้ำจาก ที่ชาวบ้านใช้เพื่อการจับปลา เปลี่ยนเป็นการใช้แม่น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าราคาถูกป้อนธุรกิจอุตสาหกรรมแทน ทำให้เกิดการต่อต้านการสร้างเขื่อนของชาวบ้านขึ้น ดังนั้น ความขัดแย้งในการสร้างเขื่อน จึงเป็นปัญหาในเรื่องสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรระหว่างชาวบ้านกับรัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั่นเอง ความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรนับว่าเป็นพลังสำคัญที่มักก่อให้เกิดความแตกแยก ในสังคม โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างชาวนากับชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันความขัดแย้งก็นำไปสู่การพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นยุทธวิธีที่สำคัญของประชาชน คนชายขอบ และผู้ไร้อำนาจ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานของวิถีชีวิตของพวกเขา ดังกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนของชาวนา และชาวประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแนวทางการเมืองนิเวศดังกล่าวได้จุดประกายให้นักวิชาการจำนวนหลายคนได้ให้ความสนใจที่จะวิจัยและวิเคราะห์ให้เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวนา ในการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่า ท้องทะเล และอื่น ๆ ในทศวรรษของ 2540 แต่อาจจะผสมผสานกับแนวคิดหลังสมัยใหม่ด้วย ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ (2543) มองว่าปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขื่อนมีความสลับซับซ้อนและเป็นพลวัตของอำนาจ ในการช่วงชิงผลประโยชน์และการสร้างความชอบธรรม ของกลุ่มต่าง ๆ ดังนั้นจึงมี ความจำเป็นที่จะต้องใช้แนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองมาช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในเรื่องของนโยบายการสร้างเขื่อนของรัฐ ความสัมพันธ์ เชิงอำนาจ และกลยุทธ์การเคลื่อนไหวต่อสู้ ต่อรอง ของกลุ่มต่าง ๆ ในการสนับสนุนและค้านเขื่อนแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองยังสามารถอธิบายปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรที่ต่อสู้กันทั้งในส่วนที่เป็นความคิดและปฏิบัติระหว่างการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์อยู่ที่รัฐกับการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน และอธิบายเชื่อมโยงกันระหว่างระบบเศรษฐกิจ และการเมืองกับการจัดการทรัพยากรให้ความสำคัญกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ด้อยโอกาสและไร้อำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง และยังจะทำให้เข้าใจถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (power relations) ของตัวแสดงสำคัญที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับพื้นที่ไปจนถึงระดับของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและระบบโลก แนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองให้ความสำคัญกับแนวคิดเกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิ์ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมีรากฐานมาจากความขัดแย้งในเรื่องของสิทธิในการเข้าทรัพยากรถึงนั่นเอง การนำเอากรอบแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองเข้าศึกษาความขัดแย้งเรื่องเขื่อนในสังคมไทยจึงจะทำให้เกิดความเข้าใจถึงสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขื่อนที่สลับซับซ้อนได้ (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2543)
การศึกษานิเวศวิทยาการเมืองในปัจจุบัน จึงเป็นการศึกษาที่เน้นการหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากร เป็นต้นว่า การศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมือง ในการสร้างและนิยามความหมาย ตลอดจนการต่อรอง ในด้านความชอบธรรมของอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากร โดยเน้นการศึกษาถึงพลวัตและมุมมองของชุมชนท้องถิ่น ผ่านปฏิบัติการและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อเปิดเวทีในการแสดงความมีตัวตน และการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร
ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย นับตั้งแต่องค์กรรัฐใช้อำนาจและกลไกอำนาจผ่านกฎหมายเข้าครอบครองและควบคุมทรัพยากรธรรมชาติหลายประเภททั้งทรัพยากรดิน น้ำ และป่า ประเด็นความขัดแย้งจึงกลายเป็นปัญหาระดับชาติและมีแนวโน้มว่าไม่อาจยุติได้โดยง่าย ดังที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2543) แสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้สรุปได้ว่า ตราบใดที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจในสังคมไทยโดยรวมยังขาดความเป็นธรรมอีกทั้งยังเต็มไปด้วยความรุนแรงโดยเฉพาะความพยายามกีดกันชาวบ้านออกไปจากการควบคุมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านหรือชุมชนเคยใช้มาแต่ดั้งเดิม ชุมชนก็จะก่อตัวขึ้นมาบนพื้นฐานของความขัดแย้งใหม่ ๆ ในสังคม และพยายามที่จะแสวงหากฎเกณฑ์ในการจัดการกับความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งนั้น ความขัดแย้งและการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติจึงเป็นโจทย์ปัญหาสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 21 ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จึงเน้นเรื่องความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นเป็นหลัก
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:34:56 น.
  
2.1.2.3 การเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ (New social movement)
ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา มีขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในประเทศที่ซีกโลกตะวันตก ซึ่งเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า และประเทศในซีกโลกตะวันออก เช่น ขบวนการเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขบวนการเพื่อสิทธิสตรี ขบวนการต่อต้านการสะสมอาวุธสงคราม และขบวนการสันติภาพ เป็นต้น มีการตั้งข้อสังเกตจากนักวิชาการว่า ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้มีความแตกต่างไปจากขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม และการเมืองในอดีตที่ผ่านมาหลายประการดังที่ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2542 : 64) วิเคราะห์ความแตกต่างไว้ดังนี้
1) ขบวนการเคลื่อนไหวเหล่านี้ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของชนชั้นเพียงอย่างเดียว
2) ประเด็นการเรียกร้องไม่ใช่เรื่องเดิม ๆ ที่เป็นผลประโยชน์เฉพาะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนจำนวนมากจากหลายกลุ่มหลายชนชั้น
3) ผู้เรียกร้องมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวด้วยตนเอง ไม่ใช่การเรียกร้องผ่านกลไกของรัฐหรือกลไกทางการเมือง และความจริงใจของรัฐ
4) เป้าหมายของการเรียกร้องต้องการสร้าง “กติกาหรือกฎเกณฑ์ชุดใหม่ในการดำรงชีวิต” ไม่ใช่การช่วงชิงอำนาจจากรัฐ ดังเช่น ขบวนการเคลื่อนไหวที่เป็นมาในอดีต การปรากฏตัวขึ้นของขบวนการเหล่านั้น ทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับแนวคิดที่ใช้เป็นกรอบในการทำความเข้าใจปรากฏที่เกิดขึ้น แนวคิดขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม รูปแบบใหม่ (New social Movement) เป็นคำอธิบายชุดหนึ่ง ซึ่งมีการกล่าวถึงกันมาในแวดวงวิชาการในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา
ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นเรื่องของการรวมกลุ่มเพื่อกระทำการรวมหมู่ (Collective action) ถึงกระนั้นนักวิชาการบางคนเสนอว่า collective action อาจมีหลายประเภท เช่น ทูเรน (Touraine) เสนอว่า collective action แบ่งได้เป็นสามประเภทคือ ประเภทแรก เป็นเพียงพฤติกรรมการตั้งรับ (defensive action) เมื่อถูกโจมตี ประเภทที่สอง เป็นการรวมกลุ่มเพื่อกระทำการรวมหมู่เพื่อปรับเปลี่ยนนโยบายหรือกระบวนการกำหนดนโยบายของรัฐ ประเภทที่สาม คือ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม หมายถึงการรวมกลุ่มเพื่อกระทำการรวมหมู่ที่จงใจเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจหลัก ๆ ของสังคม (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2543 : 54)
หลังจากนั้นก็มีผู้เสนอทฤษฎีใหม่ รู้จักกันในนาม ทฤษฎีการระดมทรัพยากร ทฤษฎีนี้มุ่งความสนใจไปที่การทำความเข้าใจกับวิธีการ และยุทธศาสตร์ของขบวนการเคลื่อนไหว ต้องการอธิบายว่า เหตุใดบางขบวนการจึงประสบความสำเร็จมากกว่าบางขบวนการ ความสำเร็จนี้ดูจากความสัมฤทธิผลในการเปลี่ยนนโยบายรัฐ หรือในการให้รัฐออกกฎหมายใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนจุดมุ่งหมายของข้อเรียกร้อง ทฤษฎีนี้ไม่สนใจเลยว่าเหตุใดขบวนการจึงเกิด โดยถือว่าเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ๆ คำเรียกขานของทฤษฎีว่า ทฤษฎีการระดมทรัพยากร ก็เนื่องเพราะทฤษฎีพยายามแสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของขบวนการเรียกร้องขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ และทรัพยากร ต่าง ๆ ที่ขบวนการจะมีและนำมาใช้ได้ ทรัพยากรอาจได้จากการจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมขบวนการได้มาก ๆ และช่วยกันอุดหนุนด้านค่าใช้จ่าย ปัจเจกบุคคลเข้าร่วมขบวนการก็เพราะไตร่ตรองแล้วเห็นว่า จะได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมจึงร่วม และผลประโยชน์นี้ จูงใจให้ร่วมลงทุนด้าน ต้นทุนต่าง ๆ นอกจากนี้ความสำเร็จยังขึ้นอยู่กับว่าขบวนการดังกล่าวสามารถสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับขบวนการหรือกลุ่มอื่น ๆ ให้ช่วยการรณรงค์ได้ดีเพียงไรด้วย (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2543 : 57)
ดังนั้น ทฤษฎีการระดมทรัพยากร จึงมีจุดเน้นอยู่ที่ “ยุทธศาสตร์ของขบวนการ” เพื่อความสำเร็จในรูปของการเรียกร้องให้เปลี่ยนนโยบายรัฐ หรือให้ออกกฎหมายใหม่ หรือปรับกฎหมายเก่า ดังนั้น จึงมีนักวิเคราะห์จัดทฤษฎีนี้ว่า มุ่งไปที่การเปลี่ยนการเมือง (political action) มากกว่าจะเป็นการมุ่งไปที่การเปลี่ยนหรือสร้างสังคมประชา (civil society) นอกจากนี้ทฤษฎีการระดมทรัพยากร แตกแนวออกมาเป็นอีกสำนักหนึ่งเรียกว่า political process approach สำนักนี้ มองว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การเมืองมวลชน” (mass politics) กล่าวคือเน้นวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างขบวนการทางสังคมกับรัฐ ทฤษฎีนี้มีสมมติฐานว่าโอกาสที่ขบวนการฯ จะประสบความสำเร็จนั้นถูกกำหนดโดย “โอกาสทางการเมือง” ที่จะเอื้ออำนวย หรือในทางกลับกันภาวะที่สภาพการเมืองไม่เปิดโอกาสหรือไม่เอื้ออำนวย ถ้าหากรัฐบาลในขณะนั้นแข็งและจงใจจะกดขี่ควบคุมขบวนการทางสังคมต่าง ๆ โอกาสที่ขบวนการฯ จะประสบความสำเร็จก็เป็นไปได้ยาก แต่ถ้ารัฐบาลในขณะนั้นอ่อน อาจจะเกิด “โอกาสทางการเมือง” เอื้ออำนวยให้ขบวนการเห็นช่องทางเรียกร้องได้สำเร็จ นักวิชาการในสำนักทฤษฎีนี้ มิใคร่สนใจประเด็นเรื่องการระดมทรัพยากร พวกเขาเน้นไปที่ปฎิสัมพันธ์ระหว่างขบวนการฯ กับรัฐ และวิถีทางที่ระบบการเมืองต่าง ๆ จะส่งผลต่อความสำเร็จ หรือความล้มเหลวของ “ขบวนการ” มากกว่า (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2543 : 58)
ผาสุก พงษ์ไพจิตร มองว่านักทฤษฎีกลุ่มมาร์กซิส หรือผู้ที่นิยมแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองนั้นจะเน้นที่ความสำคัญของจิตสำนึกอุดมการณ์การต่อสู้ทางชนชั้นและการผนึกกำลังของชนชั้นดูเหมือนว่าจะขาดพลังหรือไม่เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ขบวนการทางสังคมที่เกิดตั้งแต่ราว ๆ ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา พวกเขาเริ่มตั้งประเด็นว่าทฤษฎีซึ่งเน้นความขัดแย้งด้านโครงสร้างชนชั้นทางเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ว่าเป็นปัจจัยกำหนดขบวนการรวมกลุ่มทางสังคมไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้อธิบายขบวนการทางสังคมซึ่งดูเหมือนว่ามิได้มาจากชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น และขบวนการทางสังคมดังกล่าวยังมิได้โยงใยกับวิกฤตการณ์หรือความไม่ลงรอยกันด้านโครงสร้างแต่อย่างใด แต่พวกเขาก็มิได้ประทับใจกับนักทฤษฎีการระดมทรัพยากร และวิธีการกระบวนการทางการเมือง นักทฤษฎีรุ่นแรกที่ยุโรปตะวันตกเสนอว่า การรวมกลุ่มเพื่อการประท้วงหรือการเรียกร้องยุคใหม่มิได้จำกัดตัวเองอยู่ที่ขบวนการเจรจาต่อรอง หรือการวางยุทธศาสตร์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง หรือ “ความสำเร็จ” พวกเขาเสนอว่า เนื้อหาความสำคัญของขบวนการฯ อยู่ที่การตั้งประเด็นขัดแย้งกับแบบแผนของสังคมที่เคยถือปฏิบัติกันมา และการชูประเด็นเรื่องเอกลักษณ์ (identity) ของปัจเจกบุคคล ดังนั้น “การต่อสู้” ที่เกิดขึ้นจึงเป็นการต่อสู้ในอาณาบริเวณของ “สังคมประชา” มากกว่าเป็นการต่อสู้ในอาณาบริเวณของ “การเมือง” (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2543 : 60)
ดังนั้น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจึงเป็นขบวนการปลุกให้มีความตื่นตัว เพื่อสร้างเอกลักษณ์ความเป็นมนุษย์และสังคม ซึ่งปลอดจากการครอบครองของรัฐที่ปกครองโดยเทคโนแครตและครอบงำโดยระบบตลาด การสร้างเอกลักษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการทางสังคม มิใช่จุดมุ่งหมายท้ายสุด ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเป็นการรวมกลุ่มรูปแบบหนึ่งเพื่อท้าทายการใช้อำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบผิด ๆ และเพื่อเปลี่ยนสถาบันทางการเมืองและสถาบันเศรษฐกิจ ด้วยจุดประสงค์ของการสร้างสังคมใหม่ที่ดีกว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมนี้จะขัดแย้งกับกรอบธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติกันอยู่เดิม ๆ และขัดแย้งกับระบบคุณค่าเดิมด้วย มันจึงเป็นการต่อสู้เพื่อความเป็นไทของบุคคลภายในสังคมประชา ซึ่งถูกครอบครองและครอบงำโดยรัฐและตลาดนั้นเอง (ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 2543 : 62)
ซึ่งสอดคล้องกับไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2542 ) เสนอว่า ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ หรือการเมืองแบบใหม่ ไม่สนใจทั้งรัฐประชาชาติและพรรคการเมือง แต่พยายามสร้าง “อำนาจแบบใหม่” ที่มิได้ผูกขาดหรือกระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง (เช่น รัฐและพรรคการเมือง) แต่เป็นอำนาจที่กระจายอยู่ทั่วไปในสังคม นอกจากนี้การเมืองแบบใหม่มิได้ให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของชาติ แต่ให้ความสำคัญในประเด็นที่มีความหลากหลาย เช่น เรื่องเสรีภาพเรื่องคุณภาพชีวิต ภายใต้บริบทที่กว้างไกลกว่ารัฐประชาชาติ ดังนั้น การเมืองแบบใหม่ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ จึงมีโลกทัศน์ในระดับโลก (the global perspective) แต่เคลื่อนไหวในระดับท้องถิ่นหรือระดับย่อย (local/micro spaces) เป้าหมายของขบวนการมิใช่เพียงแต่การประท้วงหรือต่อต้านเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐเท่านั้น แต่เป็นการช่วงชิงการนำในการให้ความหมายชุดใหม่กับสิ่งที่เรียกร้องหรือต่อสู้เคลื่อนไหว โดยให้ความสำคัญกับความแตกต่างและหลากหลายของเอกลักษณ์ต่างๆ เช่น เชื้อชาติ (race) ชาติพันธุ์ (ethnicity) เพศ (gender) และศาสนา เป็นต้น (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2542 : 117-123)
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร สรุปลักษณะสำคัญของขบวนการทางสังคมแบบใหม่ได้ 3 ประการคือ ประการแรก ขบวนการเหล่านี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของชนชั้นเดียวดังเช่นขบวนการทางสังคมในอดีตที่ทฤษฎีมาร์กซิสได้อธิบายไว้ แต่เป็นการตอบโต้กับปัญหาและความขัดแย้งใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมซึ่งวางอยู่บนฐานหลากชนชั้น ประการที่สอง ในขณะที่กรอบทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผลักดัน การกระทำการรวมหมู่อยู่ภายในระบบการเมือง แต่การปรากฏตัวของขบวนการทางสังคมแบบใหม่ในสังคมหลังอุตสาหกรรมมีลักษณะเป็นการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ที่ไม่ผ่านกลไกทางการเมืองที่ดำรงอยู่ เช่น พรรคการเมือง นักการเมือง หรือหวังพึ่งกลไกรัฐ เพราะความขัดแย้งใหม่ ๆ เหล่านี้สลับซับซ้อนเกินกว่าที่สถาบันทางการเมืองในระบบการเมืองปกติจะจัดการได้ ขบวนการเหล่านี้จึงได้แสวงหากลไกที่จะเปิดช่องทางทางการเมืองแบบใหม่ ที่มากไปกว่าสถาบันและกลไกการเมืองปกติในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน และประการที่สาม ขบวนการเหล่านี้มิได้เรียกร้องเกี่ยวกับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มดังเช่นในกรอบของทฤษฎีกลุ่มผลประโยชน์ อีกทั้งจุดหมายของขบวนการเหล่านี้ก็มิได้ต้องการช่วงชิงอำนาจรัฐดังเช่นขบวนการชนชั้นที่มุ่งสู่การปฏิวัติ แต่ขบวนการทางสังคมแบบใหม่นี้ต้องการสร้าง “กติกาหรือกฎเกณฑ์ชุดใหม่ในการดำรงชีวิต” อันเป็นการช่วงชิงการนำในการสร้างคำนิยาม หรือความหมายชุดใหม่ให้กับสิ่งที่ต่อสู้ หรือเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างวาทกรรมชุดใหม่ในเรื่องนั้น ๆ (ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, 2540)
การวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ในประเทศ “โลกที่สาม” รวมทั้งประเทศไทย โดยใช้กรอบแนวคิดและทฤษฎี ขบวนการทางสังคมที่กล่าวมาแล้ว ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2543); ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2542) เสนอว่าควรคำนึงถึงความแตกต่างทางบริบททางสังคมและเศรษฐกิจ กล่าวคือ ทฤษฎีตะวันตก พัฒนามาจากสังคมอุตสาหกรรมก้าวหน้า ซึ่งขบวนการทางสังคมเกิดจากความไม่พอใจต่อคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำ ดังนั้นจุดเน้นจึงอยู่ที่คุณภาพชีวิตมากกว่าเรื่องการทำมาหากินของคนระดับล่าง ซึ่งเกี่ยวกับความอยู่รอดหรือความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่น เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การสร้างเขื่อน สิทธิเรื่องการทำมาหากิน เป็นต้น ในประเทศ “โลกที่สาม” ผู้เข้าร่วมขบวนการคือประชาชนระดับล่าง เช่น คนยากจน ชาวนาชาวไร่ กลุ่มชายขอบ และผู้ด้อยโอกาส ไม่ใช่คนชั้นกลางเช่นในสังคมตะวันตก ผาสุก พงษ์ไพจิตร ตั้งข้อสังเกตว่าชนชั้นกลางของไทย ยังมีความหวังว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย จะนำสังคมไปสู่ความเสมอภาค มีความยุติธรรม และลดทอนอำนาจรัฐลงได้
ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์ (2541) ระบุว่าในช่วง 25 ปีกว่าที่ผ่านมา วิกฤติการณ์ทางสิ่งแวดล้อมและการตื่นตัวของสาธารณชนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ เกิดการเคลื่อนไหวในวงกว้างที่เราเรียกกันว่า "การเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม" (environmental movement) พร้อม ๆ กับการปรากฏของสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ "ความคิดสิ่งแวดล้อมนิยม"(environmentalism) ในโลกตะวันตก การเคลื่อนไหวสีเขียว (green movement) ได้กลายเป็นพลังการเมืองที่สำคัญไปแล้ว ดังเช่นในเยอรมนี กลุ่มสีเขียวสามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองได้โดยใช้เวลาไม่นานนัก และได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างมาก จนกลายเป็นพรรคการเมืองที่ใหญ่อันดับสาม ซึ่งได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ในฝรั่งเศส พรรคการเมืองสีเขียวก็ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชนไม่น้อยทีเดียว ในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2540 (ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, 2541)
ในสังคมไทย ตัวอย่างการเคลื่อนไหวร่วมสมัยล่าสุดที่สอดคล้องกับแนวคิด "นิเวศวิทยาจากพื้นบ้าน" คือ "สมัชชาคนจน" ซึ่งมีประชาชนชาวบ้านจากท้องถิ่นอีสานจำนวนหมื่นเดินทางเข้ามาสำแดงพลังมวลชนใน กทม.เมื่อเดือนมีนาคม – เมษายน 2539 ประชาชนซึ่งรวมตัวกันเป็นสมัชชาคนจน เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอันเกิดจากโครงการพัฒนาของรัฐในท้องถิ่นต่าง ๆ รวมไปถึงปัญหาที่เกี่ยวโยงไปถึงเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม หลังจากการประท้วงแบบสันติวิธีอย่างยาวนานแรมเดือนที่หน้าทำเนียบรัฐบาล สมัชชาคนจนก็สามารถบรรลุชัยชนะได้ในระดับหนึ่ง โดยรัฐบาลให้สัญญาว่าจะ ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ (ปรีชา เปี่ยมพงศ์สานต์, 2541)
พฤทธิสาณ ชุมพล (2546) ได้สรุปให้เห็นลักษณะสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ไว้ 3 ประการคือ
(1) ขบวนการทางสังคมแบบใหม่มีความเป็นขบวนการทางสังคมมากกว่าที่จะเป็นขบวนการทางการเมือง เพราะให้ความสนใจในเรื่องค่านิยมและวิถีชีวิต ซึ่งก็คือ “เรื่องเชิงวัฒนธรรม” ดังนั้น จึงมีลักษณะทางสังคมมากกว่าทางการเมืองโดยตรง จุดมุ่งหมายของขบวนการเหล่านี้อยู่ที่การระดมเข้าร่วมในสังคมประชาซึ่งมีส่วนสำคัญสำหรับการทำกิจกรรมในอาณาบริเวณสาธารณะ (public sphere) เพื่อสังคมโดยรวม และไม่ได้มุ่งที่จะเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐหรือครองอำนาจรัฐ
(2) ขบวนการทางสังคมแบบใหม่มีฐานที่มั่นอยู่ใน “สังคมประชา” กล่าวคือ เน้นกระทำการอ้อมรัฐ (bypass the state) ไม่สนใจที่จะติดต่อกับหรือท้าทายอำนาจรัฐโดยตรง หากแต่ต้องการที่จะปกป้องสังคมประชาจากการก้าวก่ายโดยรัฐเทคโนแครต ขบวนการ ทางสังคมแบบใหม่จึงมีลักษณะการทำกิจกรรมและลักษณะอุดมการณ์เชิงสัญลักษณ์ (symbolic) เป็นหลัก
(3) ขบวนการทางสังคมแบบใหม่ พยายามที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงสังคม ทั้งโดยการเปลี่ยนแปลงค่านิยม และโดยการพัฒนาวิถีชีวิตใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นทางเลือก (alternative life-styles) กล่าวคือ แทนที่จะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงโดยผ่านระบบการเมืองหรือโดยการกระทำทางการเมือง ขบวนการใหม่ ๆ มุ่งความสนใจไปที่นวัตกรรมเชิงวัฒนธรรม (cultural innovation) ซึ่งสร้างสรรค์วิถีชีวิตใหม่ โดยการท้าทายค่านิยมเดิม ๆ การเน้นสัญลักษณ์ และความมีตัวตน (พฤทธิสาณ ชุมพล, 2546 : 339-341)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:35:33 น.
  
2.1.3 แนวคิดวาทกรรมการพัฒนา
2.1.3.1 แนวคิดวาทกรรมการพัฒนา
สำหรับแนวคิดวาทกรรมการพัฒนา ผู้วิจัยได้สรุปเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์ เรื่องวาทกรรมการพัฒนาของรัฐไทย : พ.ศ. 2504-2539 ของชาตรี เพ็ญศรี (2543) จากทัศนะของวิทยานิพนธ์ฉบับนี้สรุปได้ว่า “การพัฒนา” ตามแนวความคิดของรัฐไทยเป็นเพียงวาทกรรม ชุดหนึ่ง ที่ในตัวของมันเองเป็นเรื่องของอำนาจและการต่อสู้ทางการเมืองอันสลับซับซ้อน เพื่อผูกขาดอำนาจในการกำหนดหรือสร้างความหมายให้กับคำว่า “การพัฒนา” และเพื่อยืนยันทัศนะของฟูโกต์ที่มองว่า วาทกรรม อำนาจ และความรู้เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด รวมทั้งต้องการชี้ให้เห็นว่าวาทกรรมชุดหนึ่ง ๆ ที่ดำเนินการต่าง ๆ นั้น ล้วนแล้วแต่มีต้นกำเนิดและเบื้องหลังที่เกี่ยวพันกับอำนาจและการบังคับควบคุมทั้งสิ้น ในวาทกรรมการพัฒนาของรัฐไทย คำว่า “พัฒนา” ถูกสร้าง/กำหนดความหมายโดยรัฐเพื่อมุ่งครอบงำ ปิดกั้น หรือกดความรู้ที่ว่าด้วยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้นเอาไว้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการสั่งสมโดยประสบการณ์ของชาวบ้านในพื้นถิ่น ซึ่งมีรากฐานอยู่บนความเชื่อวิถีชีวิตโลกทัศน์และภูมิปัญญาตามจารีตหรือขนบ (tradition) ของชมชนท้องถิ่นต่าง ๆ
วาทกรรมการพัฒนาของรัฐไทยที่ผลิต/สร้างออกมานับตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับแรกจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นการบังคับให้คนเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมมาเป็นแบบตลาดและเปลี่ยนความสัมพันธ์กับธรรมชาติมาเป็นแบบเทคโนโลยีชี้นำ เพื่อมุ่งสู่การผลิตเพื่อขาย ทั้งเกษตรกรรมและการอุตสาหกรรมที่กำลังพยายามส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศ กระบวนการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรทุกอย่างเพื่อมุ่งไปสู่การผลิตเพื่อขาย และอุตสาหกรรมเมื่อประกอบเข้ากับชุดความคิดที่แบ่งพื้นที่ทั้งหมดเหลือเพียงแค่พื้นที่สาธารณะที่รัฐเป็นเจ้าของกับพื้นที่ที่ปัจเจกชนเป็นเจ้าของแสดงออกในกฎหมายที่ขยายอำนาจรัฐลงไปควบคุมพื้นที่ที่ชาวบ้าน เคยครอบครองและจัดการตามประเพณี โดยรัฐไม่ยอมรับรู้ระบบกรรมสิทธิ์ตามประเพณี ของชาวบ้าน ดังเราจะเห็นชัดเจนในกรณีป่าไม้ รัฐได้นิยามป่าขึ้นใหม่ว่า ป่า หมายถึง ที่ดินที่ยังไม่มีผู้ใดได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน และรัฐได้กฎหมายกำหนดพื้นที่ป่าคุ้มครองและป่าสงวน ซึ่งเป็นการขยายอำนาจรัฐออกไปครอบครองพื้นที่ป่าทั้งหมดรวมทั้งป่าที่ชาวบ้านเคยใช้สอย (ชาตรี เพ็ญศรี, 2543)
นอกจากนี้ชาตรี เพ็ญศรี ยังได้นำเสนอมุมมองในการต่อสู้กันในเรื่องเขื่อนมาแสดงให้เห็นการต่อสู้กันในเชิงวาทกรรมระหว่างวาทกรรมของรัฐไทยกับวาทกรรมทวนกระแสรัฐไทยเพื่อแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้กันทางความคิดว่าด้วย “การพัฒนา” ในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งกันในระดับรากฐานทางปรัชญาความคิดหรือกระบวนทัศน์ ซึ่งมีความแตกต่างกันในวาทกรรมการพัฒนาของทั้งสองฝ่ายที่ว่าด้วยเรื่องเขื่อนนั้น ในตัวของมันเองก็เป็นเรื่องของอำนาจและการต่อสู้ทางการเมืองที่สลับซับซ้อน กล่าวคือเมื่อเราต้องชั่งน้ำหนักระหว่าง “เหตุผล” ของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ เพื่อดูว่าผลอันไหนคุ้มกว่ากัน นั่นคือ เรากำลังเข้าสู่แวดวงของการต่อสู้ทางการเมืองของเหตุผล ที่แนวคิด สมมติฐาน คุณค่า ความเชื่อ ฯลฯ จะเข้ามามีบทบาทอย่างเข้มข้นชนิดที่เราอาจจะไม่รู้ตัวก็ได้
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:36:01 น.
  
2.1.3.2 การตอบโต้ด้วยวาทกรรมทวนกระแสการพัฒนาของรัฐไทย
หลังจากที่คำว่า “การพัฒนา” โลดเล่นในสังคมไทยเพียงไม่นาน ภาพของ “การพัฒนา” ที่วาทกรรมฝ่ายรัฐวาดขึ้น โดยเฉพาะภาพของการก้าวไปสู่สังคมที่ดีกว่า เจริญกว่าหรือทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบายกว่าเดิม ก็ถูกท้าทายจากวาทกรรมย่อยต่าง ๆ ที่ออกมาทวนกระแสภาพการพัฒนาของรัฐไทย ซึ่งเริ่มเห็นเด่นชัดนับแต่กลางทศวรรษ 2510 เป็นต้น มาวาทกรรมย่อยที่ออกมาทวนกระแสการพัฒนาของรัฐในช่วงแรก ส่วนมากเป็นวาทกรรมที่ผลิตจากบรรดานักศึกษา ปัญญาชน ดังจะเห็นได้จากการสะท้อนผ่านบทความหลายบทความ ที่ออกมาทางวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ วารสารสะท้อนความคิดของนักศึกษาปัญญาชน ในขณะนั้น เนื้อหาของบทความเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินงานของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาต่าง ๆ ของรัฐที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำของภาคเมืองและชนบท
ภาพความแตกต่างระหว่างเมืองและชนบท ได้รับการวาดขึ้นครั้งแล้ว ครั้งเล่า ผ่านวาทกรรมจำนวนมาก นับแต่กลางทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา วาทกรรมทวนกระแสการพัฒนาของรัฐดังกล่าวนี้ ได้รับการสานต่อและขยายออกจนกลายเป็นกระแสของวัฒนธรรมชุมชน หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ในช่วงสิบกว่าปีหลังมานี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวาทกรรมที่ได้รับการผลิตออกมาจากนักพัฒนาองค์กรเอกชน วาทกรรมในกระแสของวัฒนธรรมชุมชนเหล่านี้ จึงเป็นวาทกรรมที่ตั้งคำถามต่อ หรือพยายามจะล้มล้างภาพความจริงที่วาทกรรมการพัฒนาของรัฐสร้างไว้ ด้วยการนำเสนอภาพความล้มเหลวของโครงการพัฒนาของรัฐต่าง ๆ ที่นำไปสู่การล่มสลายของชุมชนอันก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย พร้อมกันนั้นก็พยายามสร้างภาพ “การพัฒนา” ขึ้นมาใหม่อีกชุดหนึ่ง และสถาปนาความหมายใหม่ (ชาตรี เพ็ญศรี, 2543 : 95)
การพัฒนากระแสหลักดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาในสังคมไทย อย่างน้อย 3 ลักษณะ คือ 1) การพัฒนาที่ไม่สมดุล สร้างความเหลื่อมล้ำ การเอารัดเอาเปรียบและการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างส่วนต่างๆ หรือกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม เช่น เขตเมืองกับชนบท ภาคอุตสาหกรรมกับเกษตรกรรม ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาแก่ชุมชนท้องถิ่น เช่น การสูญเสียที่ดินทำกิน หนี้สินและความยากจน การอพยพแรงงาน เป็นต้น 2) สภาวะไร้อำนาจตัดสินใจของชุมชน ชุมชนขาดอำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นในด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา การปกครอง การพัฒนา เป็นกระบวนการที่รัฐแทรกแซงและดึงอำนาจการตัดสินใจไปจากชุมชน ชุมชนไม่สนใจเข้าร่วมในการพัฒนาของรัฐ และในที่สุดชุมชนและชาวบ้านกลายเป็นกลุ่มชายขอบของการพัฒนา (Marginalization) 3) สภาวะวิกฤตทางวัฒนธรรม คือ การมีวิธีคิดที่ตั้งบนผลประโยชน์ของตนเอง โดยขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวม อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2528 : 22-32)
ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับการดำรงชีวิตของมนุษย์นับวันมี
ความสำคัญและปรากฏเด่นชัดขึ้นในทุกขณะ ประเทศไทยของเราก็รับเอาเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าร่วมดำเนินการด้วยโดยเฉพาะแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545-2549) นอกจากจะมุ่งเน้น "คน" เป็นศูนย์กลางการพัฒนา เน้นเศรษฐกิจพอเพียง เน้นชุมชนเข้มแข็ง และ อื่น ๆ แล้ว ที่สำคัญต้องเน้นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย (พระธรรมปิฏก ป.อปยุตโต, 2539)
จากการทบทวนแนวคิดเรื่องวาทกรรมการพัฒนาผู้วิจัยมีความเห็นว่า เขื่อนปากมูลได้ถูกผลักดันให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนาในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น โดยฝ่ายรัฐใช้มุมมองเรื่องต้นทุนทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติให้มากที่สุด เพื่อสนับสนุนกิจกรรมภาคธุรกิจอุตสาหกรรม มุ่งเน้นที่การเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ในขณะที่ชาวบ้านให้ความสำคัญต่อทรัพยากรธรรมชาติและความสมดุลของระบบนิเวศ และมุ่งเน้นที่การฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นจากจุดยืนที่สวนทางกันระหว่างชาวบ้านกับรัฐนี้ทำให้การยิบยืมช่วงชิงวาทกรรมการพัฒนามาใช้ตอบโต้ซึ่งกันและกัน ดังนั้น การวิเคราะห์เชื่อมโยงจากฐานแนวความคิดนี้จะช่วยให้สามารถอธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ของทั้งสองฝ่ายและกลุ่มอำนาจอื่น ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:36:21 น.
  
2.2 งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เนื่องจากมีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกรณีเขื่อนปากมูลมีมากมาย ผู้วิจังจึงเลือกงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหัวข้อวิจัยมากที่สุดตั้งแต่ช่วงการก่อสร้างเขื่อนและหลังสร้างเขื่อนปากมูลโดยแยกแยะเป็นกลุ่มเพื่อให้ง่ายแก่การทำความเข้าใจได้ดังนี้
2.2.1 กลุ่มว่าด้วยวิถีชีวิตและการพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำมูลของชาวบ้าน
งานวิจัยกลุ่มนี้ มีหลายชิ้นเช่นงานวิจัยของ ธีรพัฒน์ ทองคำและคณะ (2534) ได้ทำการศึกษาสภาวะทรัพยากรประมงและเศรษฐกิจสังคมในแม่น้ำมูลตอนล่าง จังหวัดอุบลราชธานี งานวิจัยของ ประกิจ ย่าพรหม (2536) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นทางเศรษฐกิจ สังคมของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนปากมูล และงานวิจัยของ สามารถ ภู่ไพบูลย์ (2538) ศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลระยะหลังจากงานก่อสร้างแล้ว
งานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นนี้ได้ค้นพบที่ไปในทำนองเดียวกันคือ จากการศึกษาพบว่าแม่น้ำมูลมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำกว่าแหล่งน้ำแห่งอื่นที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง คือ มีค่าประชากรปลาเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่แหล่งน้ำอื่นมีค่าอยู่ระหว่าง 19-22 กิโลกรัมต่อไร่ ชนิดและความชุกชุมของสัตว์น้ำในแม่น้ำมูลได้ลดลงอยู่แล้ว ถึงแม้ว่ายังไม่มีการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและทำไร่เป็นอาชีพหลัก และมีอาชีพประมงเป็นอาชีพรอง การครอบครองทรัพย์สินหลังการก่อสร้างเขื่อนมีเพิ่มมากขึ้น รายได้หลังการสร้างเขื่อนจะมากกว่ารายจ่าย นอกจากจะได้รับค่าทดแทนแล้วยังนำเงินไปก่อให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น ครัวเรือนมีรายได้และประกอบอาชีพใหม่เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง มีทรัพย์สินถือครองมากขึ้น มีการออมเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมแล้วราษฎรจะมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีเงินออมและทรัพย์สินในครัวเรือนมากขึ้น มีบ้านพักอาศัยที่มั่นคงกว่าเดิม และรวมทั้งการมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ดังนั้นจากการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าราษฎรที่อพยพครอบครัวมาอยู่ในชุมชนแห่งใหม่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีขึ้น ประชาชนต้องการให้รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำเอาพันธุ์ปลามาปล่อยลงสูแม่น้ำแห่งนี้พร้อมกับส่งเสริมความรู้ทางด้านประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
งานวิจัยทั้ง 3 ชิ้นที่กล่าวมาข้างต้น ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามโดยสุ่มตัวอย่างประชากรแบบเฉพาะเจาะจงและได้ผลการวิจัยที่คล้ายกันคือชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและมีความพึงพอใจต่อการแก้ปัญหาของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือผู้วิจัยทั้ง 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่และพนักงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งถือว่าเป็นคนใน (กฟผ.)
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย TDRI (2000) ทำการวิจัยเรื่องอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลและ งานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดย ศุภชัย ซื่อตรง และคณะ (2543) ทำการศึกษา “เรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล” ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม โดยติดตามความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องด้านเศรษฐกิจและสังคมจากประชากรกลุ่มเดียวกันใน (ปี พ.ศ. 2537) และ (ปี พ.ศ. 2539 - 2540) และ (ปี พ.ศ. 2541) และ (ปี พ.ศ. 2542) ในพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 11 หมู่บ้าน เพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านเศรษฐกิจ และสังคม ของประชากรที่ได้รับผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยเนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล
งานศึกษาทั้งสองชิ้นนี้นำเสนอสอดคลองกันว่าหลังสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากตัวบ่งชี้ผลด้านบวกต่อวิถีการดำเนินชีวิต เช่น ครัวเรือนที่มีน้ำดื่มที่สะอาด มีบ้านเรือนที่ใช้ สังกะสีมุงหลังคาแทนใบจากเพิ่มขึ้น แต่การศึกษานี้ถูกตั้งข้อสังเกตในเชิงความน่าเชื่อถือของข้อมูล กชช. 2ค ระหว่างปี 2535-2539 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 11 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล สอดคล้องกับงาน งานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดย ศุภชัย ซื่อตรง และคณะ ที่สรุปว่า การประมงไม่ใช่แหล่งรายได้หลักของครัวเรือนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล รายได้ส่วนใหญ่ ของครัวเรือนมาจากนอกภาคเกษตร ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เช่น ระบบ สาธารณูประโภค ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา การคมนาคม มีสภาพดีกว่าก่อนการสร้างเขื่อน และสภาพบ้านเรือนมีความมั่นคงถาวร และมีความทันสมัยขึ้น กล่าวคือ ก่อนการสร้างเขื่อนบ้าน ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวใต้ถุนสูง พื้นดิน หลังสร้างเขื่อน ส่วนใหญ่เป็นบ้านตึกหรือ ไม้สองชั้น พื้นซีเมนต์ใช้กระเบื้องทำหลังคา การใช้สังกะสีหรือหญ้าแฝกไม่มีเลย
ข้อสังเกตสำหรับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยศุภชัย ซื่อตรงและคณะ นี้ถูกใช้เป็น 1 ใน 4 เล่ม ที่รัฐบาลใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการตัดสินใจปิด-เปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิต(กฟผ.)เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดในโครงการวิจัยชุดนี้
บูชิตา สังข์แก้ว (2540) กล่าวว่าในการตั้งถิ่นฐาน ความเป็นอยู่ของคนสมัยก่อนมักตั้งถิ่นฐานตามแหล่งน้ำหรือแม่น้ำเพราะต้องพึ่งพาอาศัยน้ำทำการเกษตร การประมง รวมทั้งด้านการคมนาคม ซึ่งแสดงให้เห็นความผูกพันระหว่างชุมชนกับทรัพยากร วิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำ มักมีความผูกพันกับแม่น้ำมานานหลายร้อยปี เห็นได้จากรอยประวัติศาสตร์ทางสังคมและอารยะธรรมต่างๆ ตั้งแต่ก่อนยุคประวัติศาสตร์ที่เหลืออยู่ เป็นภาพเขียนที่ผาแต้มที่มีภาพเขียนกว่า 300 ภาพ อายุประมาณกว่า 4,000 ปี ภาพดังกล่าวได้บอกเรื่องราวของคนสมัยนั้นเช่น ภาพมือ ภาพปลา ภาพสัตว์ เครื่องมือหาปลา การทำการเกษตร พิธีกรรม ภาพดังกล่าวบ่งบอกถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธ์ธัญญาหาร และวิถีชีวิตที่สัมพันธ์และพึ่งพาธรรมชาติ วิถีชีวิตของประชาชนตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูล จากบริเวณปากแม่น้ำมูลขึ้นไปจนถึง อำเภอพิบูลมังสารหารมีความผูกพันกับการจับปลาในแม่น้ำมูลเป็นอาหาร การก่อตั้งชุมชนและหมู่บ้านต่าง ๆ (น้อยที่สุด 40 หมู่บ้าน มีครอบครัว 3,000 ครอบครัวขึ้นไป) จะอาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูล หรือริมน้ำสาขาของแม่น้ำมูลเนื่องจากอาชีพหลักของราษฎรจำเป็นต้องอาศัย ได้แก่ อาชีพ เกษตรกรรมและประมง (ทั้งบริโภคและขาย การอพยพโยกย้ายมาอยู่ใกล้แม่น้ำมูลของหมู่บ้านต่าง ๆ มีอายุยาวนานเกิน 100 ปีขึ้นไป เช่น บ้านสุวรรณวารี (ปัจจุบันอยู่อำเภอสิรินธร) บ้านตุงลุง (ปัจจุบันอยู่อำเภอโขงเจียม) ล้วนได้รับคำบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า ผู้มาก่อตั้งหมู่บ้านทั้งสองแห่งอพยพมาเพื่อหาปลา และในช่วงแรกของการมาตั้งหมู่บ้านสามารถหาปลาได้มากจนไม่ต้องทำนาเพียงเอาปลาไปแลกข้าวจากหมู่บ้านอื่นซึ่งอยู่ไกลจนเกิดคำพูดที่ว่า “ไปหาปลามาหาบข้าว”
งานศึกษาของโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (2536, 2537) ศึกษาเรื่อง ปลา ป่าไม้ และอาหาร : วิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้านริมลำน้ำมูน ได้เสนอว่า ผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านและทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ลุ่มน้ำมูน อันเนื่องมาจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูลนั้น ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
ด้านเศรษฐกิจ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพประมง หลังการสร้างเขื่อนชาวบ้านจับปลาได้น้อยลง รายได้ลดลง พืชผักหากินได้ยากขึ้น การหาเลี้ยงชีพที่เคยพอเพียงกลับต้องซื้อหาจากภายนอก ด้านสังคม พบว่าเมื่อหาปลาได้น้อยลงทำให้รายได้ลดลงทรัพยากรไม่พอเลี้ยงชีพ ทำให้คนส่วนหนึ่งต้องไปหารับจ้างขายแรงงานภายนอก มีการอพยพแรงงาน พ่อแม่ ลูกแยกจากกันยาวชนขาดความอบอุ่น คนแก่ถูกทอดทิ้ง ด้านวัฒนธรรม พบว่าเมื่อมีการสร้างเขื่อนทำให้น้ำท่วม ประชาชนต้องโยกย้ายออกจากที่อยู่เดิม มีผลทำให้ญาติพี่น้องต้องแยกจากกัน ความเป็นชุมชนต้องโยกย้ายออกจากที่อยู่เดิม มีผลทำให้ญาติพี่น้องต้องแยกจากกัน ความเป็นชุมชนก็ ล่มสลายเพราะต่างคนต่างอยู่ ต่างก็ดิ้นรนหาเลี้ยงชีพไม่มีเวลาที่จะมาสร้างสรรค์หรือพัฒนาชุมชนเหมือนก่อนมีโครงการสร้างเขื่อนปากมูล และปัญหาที่ชาวบ้านต้องประสบคือ การปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ เทคนิควิธีการต่าง ๆ เพิ่มเติมและบางรายไม่มีที่ดินทำการเกษตร และเงินทุน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุน
สดใส สร่างโศรก (2541) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชุมชนภายหลังจากมีโครงการ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล : ศึกษาเฉพาะกรณีชุมชนริมแม่น้ำมูล อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดยสรุปภาพรวมพบว่า การทำประมงสามารถหาอาหารเพื่อยังชีพหรือ มีรายได้ให้กับครอบครัวถึงร้อยละ 100 ซึ่งช่วงฤดูกาลหาปลาในแต่ละปีจะมี 3 ช่วงคือ 1) เดือนมกราคม–เมษายน 2) ปลายเดือนพฤษภาคม – กันยายน 3) สิงหาคม–ธันวาคม ช่วงฤดูกาลที่หาปลาได้มากที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่น้ำจากแม่น้ำโขงไหลหลากมาในลำน้ำมูล และขึ้นอยู่กับระดับน้ำในลำน้ำมูน ซึ่งจะดูได้จากระดับน้ำขึ้นลงบริเวณพื้นที่ป่าไม้ตามริมฝั่งแม่น้ำ และการศึกษาพบว่า ป่าไม้ในพื้นที่ริมแม่น้ำมูล แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ 1) ป่าบริเวณที่ลุ่มต่ำ ซึ่งจะมีน้ำท่วมขังบางฤดูกาลและส่วนใหญ่จะอยู่ตามลำห้วย หรือธารน้ำขนาดเล็กที่ไหลลงสู่ที่ลำน้ำมูลเป็นป่าที่ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ส่วนป่าที่สองตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งในชุมชนหรือเรียกว่าป่าสาธารณะ ซึ่งป่าทั้งสองเป็นแหล่งที่ชุมชนเข้าไปหาปัจจัยสี่ เช่น เห็ด หน่อไม้ ไม้ไผ่ ไม้ฟืน ไม้สร้างบ้าน แหล่งเลี้ยงโค–กระบือ หลังจากการสร้างเขื่อนป่าบริเวณที่ลุ่มต่ำจะถูกน้ำท่วมเป็นส่วนมาก ประกอบกับอาชีพประมง ไม่สามารถหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนได้เหมือนก่อนและพื้นที่การเพาะปลูกลดลงทำให้การหาของป่ามีการแข่งขันกันมากขึ้น แต่ทรัพยากรมีน้อยลงจึงไม่สามารถสนองความต้องการของคนในชุมชนได้
ภายหลังจากการสร้างเขื่อนแล้วพบว่า ปลาที่เคยชุกชุมไม่สามารถเดินทางข้ามสันเขื่อนขึ้นมาได้ ดังนั้นปริมาณปลาก็มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ จนมีผู้เลิกหาปลาร้อยละ43.0 รายได้จากการประมงลดลงเหลือร้อยละ 19.0 ด้านการลงทุนจะมีสูงและปริมาณเครื่องมือที่ใช้เพิ่มขึ้น รายจ่ายก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย หนี้สินก็เพิ่มขึ้น การออมลดลง ผลกระทบที่เกิดต่อทรัพยากรประมงนี้ส่งผลให้การประกอบอาชีพประมงลดลงด้วย การว่างงานจึงเกิดขึ้นในชุมชน ดังนั้นชุมชนต้องดิ้นรนโดยการหาอาชีพเสริมทดแทนเพื่อเพิ่มรายได้แก่ครอบครัว
ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทรัพยากรน้ำจากการมีโครงการนั้นเนื่องจากการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเอาไว้ใช้ตลอดปี ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการไหลของน้ำ ก่อให้เกิดปัญหา น้ำนิ่ง ปริมาณออกซิเจนลดลงเนื่องจากการตกตะกอนและการทับถมกันของซากพืช ซากสัตว์ ส่งผลให้คุณภาพน้ำแย่ลง จึงเหมาะแก่การขยายพันธุ์ของปรสิตต่าง ๆ ไม่เหมะกับการเป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำ และน้ำไม่เหมาะในการใช้อุปโภคบริโภค ซึ่งน้ำใช้แล้วมีอาการผดผื่นคัน ชุมชนจึงต้องหาแหล่งน้ำใช้แห่งใหม่แทน จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รายได้ลดลง การออมลดลง
ผลการศึกษาของ สดใส สร่างโศรก แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจและสังคมระหว่างก่อนสร้างเขื่อนและหลังสร้างเขื่อนมีความแตกต่างกันมาก ซึ่งชุมชนจากที่เคยอาศัยทรัพยากร ในท้องถิ่นเป็นหลักในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิตประจำวัน แต่หลังสร้างเขื่อนชุมชนต้องอาศัยวัตถุดิบที่มาจากภายนอกชุมชน และสาเหตุหลักที่วิถีชีวิตของชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ต้องสูญสลายไป เช่น ที่ดินทำกินถูกน้ำท่วม ป่าซึ่งเป็นแหล่งอาหารและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์มีปริมาณลดลง ปลาที่เคยชุกชุมไม่สามารถเดินทางข้ามสันเขื่อนมาได้
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:36:48 น.
  
.2.2 กลุ่มว่าด้วยวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ
งานวิจัยของ พัชรินทร์ ลาภานันท์ และคณะ (2544) เรื่องการปรับตัวทางวัฒนธรรมของชาวชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐกรณีศึกษาเขื่อนปากมูลผล การศึกษาพบว่า การสร้างเขื่อนปากมูลส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของลุ่มน้ำซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้ชุมชนต้องปรับตัวในหลายด้าน คือ การโยกย้ายชุมชนและบ้านเรือน การผลิตของครัวเรือนทั้งเพื่อบริโภคและเพื่อสร้างรายได้ ความสัมพันธ์ทางสังคมรวมทั้งการเคลื่อนไหวทางสังคมอันเป็นปฏิกิริยาโต้กับต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นการปรับตัวของครัวเรือนเกิดขึ้นภายใต้บริบทของชุมชนและเงื่อนไขหลายประการ กล่าวคือ 1) ทรัพยากรชุมชนซึ่งมีความเชื่อมโยงกับระดับผลกระทบ นั่นคือชุมชนที่ได้รับผลกระทบน้อยและมีทรัพยากรที่ชาวบ้านสามารถพึ่งพิงได้มีจำนวนครัวเรือนที่ปรับตัวสู่อาชีพรับจ้างแรงงานต่ำกว่าชุมชนที่ทรัพยากรได้รับผลกระทบมาก 2) ทรัพยากรของครัวเรือนทั้งจำนวนสมาชิก จำนวนแรงงานทุนและทักษะการความชำนาญ 3) ความสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างครัวเรือน โดยเฉพาะครัวเรือนที่เป็นเครือญาติกันและมีส่วนร่วมในขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม 4) กระบวนการทำงานของรัฐที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่เน้นความเจริญภาพรวมโดยละเลยผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น การมีส่วนร่วมและการให้ข้อมูลแก่ชุมชน
บทเรียนจากการวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพทางกายภาพส่งผลต่อระบบนิเวศวิถีการดำเนินชีวิตและการปรับวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่น ดังนั้นการศึกษาผลกระทบก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องดังกล่าว การแก้ปัญหาผลกระทบโดยให้ความสำคัญกับการจ่ายค่าชดเชยเพียงเท่านั้นไม่ได้เป็นเงื่อนไขที่เพียงพอในการสร้างความมั่นคงในชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่าความต่อเนื่องและยืดเยื้อของการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูล ก่อให้เกิดการแยกขั้วของคนในชุมชน พร้อมๆกับการพัฒนาความไม่เข้าใจ ไม่เชื่อถือ ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ ซึ่งทัศนคติและสถานการณ์ความแตกแยกในชุมชนนับวันจะฝังรากลึกตราบเท่าที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข
การศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก (2543) ระบุดังนี้ จากการคาดการณ์ของผลประโยชน์ด้านการประมงเขื่อนปากมูล ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก การศึกษานี้พบว่าผลกระทบของเขื่องปากมูลต่อพันธุ์ปลาที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้คือความอุดมสมบูรณ์ของปลา และผลผลิตปลาลดลงอย่างน่าตกใจ รายได้ในครอบครัวชาวประมงลดลง และการที่ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพ รูปแบบการประมงที่เปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามมา เขื่อนปากมูลได้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำและสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของประชากรปลาทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูลได้ท่วมและทำลายแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลา ได้แก่ แก่งต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าบันไดปลาโจนไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพตามฤดูกาลจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำชี/มูลได้ (คณะกรรมการเขื่อนโลก, 2543)
กนกวรรณ พันธ์เกษม (2543) ศึกษาเรื่อง “ความสัมพันธ์ระหว่างการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและระบบสังคมและวัฒนธรรม” ในรายงานการวิจัยเรื่องความหลากหลายทางนิเวศวิทยาและระบบการเกษตรบริเวณเขื่อนปากมูล พบว่า การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศอันเกิดจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชน อาทิเช่น หลังการสร้างเขื่อนคนหนุ่มสาวอพยพออกไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น เนื่องจากขาดรายได้จากการหาปลา และในอดีตผู้หญิงมีบทบาททางเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกันในการหาปลา หลังมีเขื่อนพบว่า บทบาทผู้หญิงในการหาปลาแทบไม่มีเลย นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศยังส่งผลให้ระบบความรู้พื้นบ้านด้านการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการประมงพื้นบ้าน ซึ่งรวมทั้งความรู้เกี่ยวกับพันธุ์ปลา เครื่องมือหาปลาและวิธีการจับปลา ไม่ได้ถูกถ่ายทอดไปสู่คน รุ่นหลัง เนื่องจากไม่สามารถหาปลาได้เช่นในอดีต
ส่วนกิจกรรมทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การทำบุญประเพณีต่าง ๆ ยังคงทำร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวชุมชนลุ่มน้ำมูลและระหว่างชาวชุมชนกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมของชาวปากมูล มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับระบบนิเวศในแม่น้ำมูล การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อน ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอาชีพการหาปลาที่ค่อย ๆ สูญหายไป (กนกวรรณ พันธ์เกษม, 2543)
2.2.3 กลุ่มว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทรัพยากรและพลังงาน
งานวิจัยกลุ่มนี้มุ่งหาคำตอบแลประเมินมูลค่าความเสียหายหรือผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตอาชีพประมงเพื่อประกอบการตัดสินใจในการจ่ายค่าชดเชยและทางเลือกในการจัดการทรัพยากรน้ำเขื่อนปากมูลหรือพลังงาน มีดังนี้
งานวิจัยของนุชรี มงคลเจริญมิตร (2543) ศึกษาเรื่อง ผลกระทบของโครงการเขื่อนปากมูลต่อ ทรัพยากรธรรมชาติและสภาพเศรษฐกิจ สังคมในจังหวัดอุบลราชธานี โดยการวิจัยนี้เก็บข้อมูลจาก 4 หมู่บ้านกรณีศึกษา คือ บ้านสะพือใต้ บ้านวังสะแบงเหนือ บ้านหัวเห่ว บ้านท่าแพ ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำมูล จำนวน 206 ครัวเรือน โดยศึกษาเปรียบเทียบแบบก่อนมีโครงการกับหลังมีโครงการ ใช้ข้อมูลปี 2533 กับปี 2541 และทำการเปรียบเทียบแบบมีและไม่มีโครงการโดยศึกษาเปรียบเทียบหมู่บ้านทั้ง 4 ที่ มีโครงการพัฒนาในท้องถิ่น กับหมู่บ้านปากยาม จำนวน 45 ครัวเรือน ซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ริมแม่น้ำสงครามที่มีระบบนิเวศและสภาพเศรษฐกิจสังคมคล้ายคลึงกับหมู่บ้านในริมแม่น้ำมูลและเป็นหมู่บ้านที่ยังไม่มีโครงการพัฒนาในท้องถิ่น ผลการศึกษาพบว่า การดำเนินโครงการเขื่อนปากมูลก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ ประมง ที่ดิน และน้ำจริงซึ่งหมู่บ้านกรณีตัวอย่างทั้ง 4 ได้รับผลกระทบมากน้อยตามสภาพพื้นที่อยู่อาศัยและการใช้ทรัพยากร จากการลดลงของปริมาณปลาในแม่น้ำมูลส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพและรายได้หลักของชาวบ้าน คือ คิดโดยเฉลี่ยทั้ง 4 หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนที่เคยมีรายได้หลังจากการประมงได้ลดลงจากร้อยละ 88.3ในปี 2533 เหลือเพียงร้อยละ 28.3 ในปี 2541 ทำให้เกิดการว่างงาน โดยเฉพาะผู้ที่มีทางเลือกสำหรับอาชีพนอกภาคการเกษตรจำกัด ส่งผลให้รายได้ลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น การออมลดลง เกิดหนี้สินตามมา วิถีชีวิตจากที่พึ่งแหล่งอาหารจากธรรมชาติเปลี่ยนมาเป็นพึ่งการตลาดแทน มีการอพยพมากขึ้นเพื่อหางานนอกภาคการเกษตรเช่น รับจ้างทั่วไป หัตถกรรม ฯลฯ นำรายได้มาจุนเจือครอบครัวจากรายได้ที่หายไปแต่รายได้ก็ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ส่วนสภาพสังคมแย่ลงเนื่องจากทุกคนในครัวเรือนและชุมชนต่างแยกย้ายกันไปเพื่อหารายได้ ไม่มีความสัมพันธ์สามัคคีเหมือนก่อน และไม่มีกิจกรรมร่วมกันเหมือนในอดีตที่ผ่านมา การแก้ไขของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด และมิได้คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดผลกระทบดังกล่าวขึ้น
ในงานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการศึกษาเปรียบเทียบหมู่บ้านที่ปากมูลและปากยามนั้นพบว่า ในอดีตชาวบ้านมีรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพประมงเช่นเดียวกัน โดยรายได้จากอาชีพประมงที่บ้านปากยามโดยเฉลี่ยจะสูงกว่ารายได้ประมงของหมู่บ้านที่ปากมูลเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากมีการลงทุนในการใช้แรงงานในครัวเรือนที่เข้มข้นกว่า อีกทั้งยังใช้เครื่องมือทางประมงขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพในการจับมากกว่า สำหรับโครงสร้างรายได้นั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน กล่าวคือมีรายได้หลักมาจากการทำประมง และมีรายได้รองมาจากการเกษตรในฟาร์มและอาชีพอื่นนอกฟาร์มสำหรับรายได้จากนอกฟาร์มของบ้านปากยามที่สูงกว่าหมู่บ้านที่ปากมูลนั้น เนื่องจากทรัพยากรประมงยังอยู่ในสภาพที่อุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรน้ำที่ไม่เน่าเสีย ดังนั้นจึงส่งผลให้รายได้รวมของหมู่บ้านปากยามสูงกว่ารายได้รวมของหมู่บ้านที่ปากมูล และภายหลังจากการ สร้างเขื่อนปากมูลพบว่า รายได้ประมงซึ่งเคยเป็นแหล่งรายได้หลักของชาวบ้านที่ปากมูลได้ลดลงอย่างมาก หลายๆ ครัวเรือนจึงลดกำลังแรงงานในอาชีพประมงและหันไปพึ่งพิงอาชีพนอกฟาร์ม และนอกภาคการเกษตรมากขึ้น และเร่งการอพยพแรงงานออกนอกชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี คงยังไม่สามารถสรุปได้ทั้งหมดว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเป็นผลมาจากการสร้างเขื่อนปากมูล ทั้งนี้เนื่องจากในลุ่มน้ำสงครามที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนเลย ก็ยังมีปริมาณของปลา และรายได้ลดลงเช่นกัน รวมถึงมีการพึ่งพิงงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นและมีการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ด้วยอย่างไรก็ดีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำมูลเป็นอย่างมาก อันส่งผลกระทบที่มีต่อวิถีชีวิตของคนใน 2 ลุ่มน้ำนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
นุชรี ยังได้ข้อสรุปทิ้งท้ายไว้ว่า วิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนลุ่มน้ำจะมีความผูกพันกับแม่น้ำ โดยเฉพาะการทำมาหากินก็อาศัยแม่น้ำเป็นหลักโดยเฉพาะคนลุ่มน้ำมูนมีอาชีพจับปลาหรือทำการประมงเป็นส่วนใหญ่จะทำการเกษตรบ้างก็เป็นส่วนน้อย เพราะสภาพดินไม่เหมาะสม คนส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งนับว่าต่ำมากทำให้ไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่น ๆ มากนัก คนลุ่มน้ำมูลจึงต้องทำมาหากินโดยอาศัยแม่น้ำมูลเป็นหลัก ฉะนั้นโครงการสร้างเขื่อนปากมูลกั้นลำน้ำมูล จึงมีผละกระทบต่อคนลุ่มน้ำมูลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการสร้างเขื่อนปากมูลจะทำให้การทำการประมงของชาวบ้านมีการเปลี่ยนแปลงและมีผลกระทบไปถึงชีวิตทางสังคมด้วย
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของขวัญใจ อรุณสมิทธิ์ (2538) เรื่องการคำนวณหาขอบเขตของค่าชดเชยในกรณีของเขื่อนปากมูล ได้ทำการคำนวณหาขอบเขตของค่าชดเชยประมงจากการสร้างเขื่อนปากมูลโดยการสังเคราะห์ตัวเลขสถิติที่มีอยู่แล้วนำมาวิเคราะห์ในบริบทวิชาเศรษฐศาสตร์ในระยะสั้น ๆ ซึ่งเป็นการใช้ทฤษฎีการสูญเสียโอกาสทางด้านเศรษฐกิจ (Opportunity Cost) เป็นหลักในการคำนวณและแบ่งการสูญเสียออกเป็นการสูญเสียรายได้จากการประมง เชิงพาณิชย์ (Commercial Transaction) และการสูญเสียการบริโภคปลาในครอบครัวพบว่าค่าชดเชยที่เป็นธรรมไม่ควรต่ำกว่า 29,000 บาท/ปี/ครัวเรือน ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยจากการประมาณ 2 วิธี คือ การประมาณสมการโดยใช้ข้อมูลระดับครอบครัวและตัวเลขที่คำนวณได้นี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าปริมาณปลาในแม่น้ำมูลลดลง 80% ในช่วง 3 ปี และเพียง 30% ของการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการประมงของชาวบ้านเป็นผลโดยตรงเนื่องมาจากการสร้างเขื่อน (ตัวเลขนี้มาจากการวิเคราะห์ปัจจัย 22 ชนิดที่ผู้เชี่ยวชาญของกรมประมงเสนอร่วมกัน) ซึ่งขวัญใจ อรุณสมิทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ในความเป็นจริงไม่มีใครพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวปากมูลควรอยู่ในอัตราเท่าใดเพราะแต่ละศาสตร์มีวิธีคิดและมุมมองที่ต่างกัน
งานวิจัยของ เดชรัต สุขกำเนิด และคณะ (2542) ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงภาวะทางเศรษฐกิจและสังคมหลังการสร้างเขื่อนปากมูล โดยเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างปี 2533 ซึ่งเป็นปีเริ่มก่อสร้างเขื่อน และปี 2541 การศึกษาใช้วิธีการสำรวจ (survey) โดยเก็บข้อมูลในหมู่บ้าน 4 แห่ง ในเขตลุ่มน้ำมูลที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และหมู่บ้านที่เป็นตัวแทนของชุมชนลุ่มน้ำสงคราม ซึ่งมีวิถีชีวิตพึ่งพิงอาชีพประมงในเชิงพาณิชย์เช่นเดียวกับชุมชนปากมูล ผลการศึกษาพบว่า เขื่อนปากมูลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของลุ่มน้ำ ซึ่งส่งผลให้ทรัพยากรประมงลดลงอย่างมากทำให้รายได้ครัวเรือนจากากรประมงลดลงด้วย นอกจากผลกระทบต่อรายได้ งานศึกษาของเดชรัตและคณะ ยังชี้ให้เห็นว่าการจับปลาได้น้อยลงส่งผลต่อความมั่นคงของครัวเรือน ชาวบ้านต้องหันไปพึ่งพิงอาหารจากตลาดมากขึ้น ทำให้ต้องการใช้เงินสดในการดำรงชีพมากขึ้น ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่มากพอที่จะชดเชยการสูญเสียรายได้จากการประมง
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:37:28 น.
  
2.2.4 กลุ่มว่าด้วยเรื่องวาทกรรม
กนกวรรณ มะโนรมย์ (2546) ในบทความเรื่อง “การเมืองเรื่องของอำนาจ และความรู้ : กรณีการตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน (กรกฎาคม-ตุลาคม ของปี)”สรุปว่า กรณีเขื่อนปากมูล ข้อมูล ความรู้ และความจริงที่ใช้ในการตัดสินใจก่อสร้างถูกกำกับและสร้างขึ้นโดยรัฐ ผ่านการศึกษาของสถาบันผู้เชี่ยวชาญ โดยมีวาทกรรมเรื่อง “การพัฒนาเพื่อความ ทันสมัย” อำนาจการตัดสินใจให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือนต่อปี อาศัยกระบวนการสร้างขึ้นมาของความจริง ความรู้ในการจัดการปัญหาเขื่อนปากมูลมิใช่อาศัยตัวความรู้และความจริงทางวิชาการมาพิจารณาตัดสินใจในการแก้ปัญหา แต่ได้นำภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรมเรื่องเขื่อนปากมูล ได้แก่ ทัศนคติของสังคมต่อเขื่อนปากมูล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างกลไกต่าง ๆขึ้นมาเพื่อทำให้การสำรวจ (poll) ของรัฐกลายเป็นความรู้ชุดใหม่ ดังนั้น ทั้งภาคปฏิบัติการจริงของเขื่อนปากมูล และ อำนาจในรูปของความรู้จึงกลายเป็นกลไกสำคัญที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของรัฐเรื่อง เปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2546)
บทความทางวิชาการ เรื่อง “อัตลักษณ์ทางสังคมชาวประมงแม่น้ำมูลตอนล่าง : มุมพิจารณาจากระบบนิเวศ “ลวงปลา” และบริบทแวดล้อมของ กนกวรรณ มะโนรมย์ (2546) นำเสนอว่า “ลวงปลา” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญสำหรับการสร้าง ”วัฒนธรรมปลา” ร่วมกันของชาวบ้านและ “ลวงปลา”มีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับเครื่องมือการจับปลาตามสภาพของแม่น้ำมูลที่แปรผันไปตามฤดูกาล ชาวบ้านจากที่ต่าง ๆ อพยพมาตั้งหมู่บ้านริมแม่น้ำมูลเพื่อจับปลา ดังนั้นลวงปลาจึงเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดอัตลักษณ์ทางสังคมของชาวบ้านปากมูลตอนล่าง ให้มีความเป็น “ชาวประมง” มากกว่าการเป็น “ชาวนา” เพราะ ทรัพยากรลวงปลาคือฐานทรัพยากร ในท้องถิ่นที่สำคัญในกำหนดอาชีพและวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกัน เช่น วัฒนธรรมการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย การร่วมแรงร่วมใจ การเคารพกรรมสิทธิ์ในการเข้าถึงลวงปลา (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2546)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:37:49 น.
  
2.2.5 กลุ่มว่าด้วยการต่อรองเรื่องการเปิดเขื่อนปากมูล
งานวิจัยในกลุ่มว่าด้วยการต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลได้แก่ งานการศึกษาของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (2543) ทำการศึกษา เรื่อง “การติดตามสภาพเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับราษฎรและชุมชนในเขตลุ่มน้ำมูลตอนล่าง” ศึกษาระหว่างการทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ผลการศึกษาซึ่งพบว่ารายได้จากการทำประมงเพิ่มขึ้นหลังเปิดประตูระบายน้ำ นอกจากนี้พบว่า ชาวบ้านส่วนมากมีความพอใจและมีทัศคติที่ดีต่อเขื่อนปากมูล
สำนักงานสถิติแห่งชาติ (2545) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนกรณีเขื่อนปากมูลในพื้นที่อำเภอโขงเจียมอำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และสมชาย วงศ์เกษม และคณะ (2546) จากสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี ที่ทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนสองฝั่งแม่น้ำมูลเกี่ยวกับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อประกอบการตัดสินใจเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ผลการสำรวจความคิดเห็นทั้งสองโครงการสรุปคล้ายกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน คือระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ของทุกปี
การศึกษาของคณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนกรณีปากมูลและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย (2545) เรื่อง “แม่มูน การกลับมาของคนหาปลา” ข้อค้นพบที่ได้จากการศึกษาคือ การเปิดประตูเขื่อนปากมูลทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงได้อพยพขึ้นมาอาศัย หากิน และวางไข่บริเวณปากมูลและทางตอนบนรวมทั้งแม่น้ำสาขาอีกครั้ง ขณะที่ปลาที่อพยพสั้น ๆ ได้อพยพกลับมายังแม่น้ำมูลบริเวณปากมูลด้วย พันธุ์ปลาที่พบในแม่น้ำมูลมีมากถึง 156 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นปลาธรรมชาติ 148 ชนิด ส่วนอีก 8 ชนิดเป็นปลาต่างถิ่น และจากการศึกษายังพบว่าระบบนิเวศในลำน้ำมูลเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการสร้างชุมชน การสร้างเขื่อนปากมูลได้ทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำมูลและทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการทำมาหากิน ปัญหาสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับทรัพยากรปลา แก่งหิน และพืชพรรณริมแม่น้ำมูล นำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองอันยาวนาน การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สัมพันธ์กับการคืนกลับมาของปลาจากแม่น้ำโขงยังแม่น้ำมูลและไม่ว่าจะพิจารณาผลจากการเปิดประตูเขื่อนปากมูลในประเด็นนิเวศวิทยา สังคม วัฒนธรรม หรือประเด็นความขัดแย้ง งานวิจัยไทบ้านพบว่า การเปิดประตูเขื่อนปากมูลมีผลดีมากกว่าผลเสียในทุกด้าน และผลดีนี้เกิดขึ้นกว้างขวางทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและสังคมโดยรวม
คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (2545) ได้ทำการวิจัยศึกษาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล เพื่อหาแนวทางจัดการบริหารจัดการเขื่อนปากมูลที่เหมาะสม ซึ่งไดรับการสนับสนุนงบประมาณในการศึกษาจากรัฐบาล ผลการศึกษาพบว่า การเปิดประตูเขื่อนไม่ส่งผลกับเสถียรภาพ ของระบบการจ่ายกำลังไฟฟ้าโดยเฉพาะในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง แม้จะมีหรือไม่มีเขื่อนปากมูล ระบบไฟฟ้าก็ยังคงพออยู่ได้ และไม่ส่งผลกระทบด้านการชลประทานเนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เอื้อต่อการทำการเกษตรนอกฤดูฝน อีกทั้งมีการพบพันธุ์ปลาเพิ่มขึ้นถึง 184 ชนิด ตลอดทั้งปีการศึกษาวิจัยครั้งนี้ยังระบุว่า การเปิดประตูน้ำบางช่วงเวลา และปิดบางช่วงเวลา จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เศรษฐกิจของชุมชน มีเพียงการเปิดประตูระบายน้ำตลอดปีเท่านั้นที่จะทำให้ฟื้นสภาพนิเวศ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตชุมชนขึ้นมาได้
ผลการศึกษาวิจัยของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีข้อสรุป 4 ทางเลือกในการกำหนดช่วงเวลา เปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล แต่ทางเลือกหนึ่งของงานวิจัยชิ้นนี้เสนอเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชน คือ การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานตลอดปี โดยทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 5 ปี เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน (คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2545)
จากการทบทวนเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ สามารถสรุปได้ว่า กลุ่มงานศึกษาที่ว่าด้วยวิถีชีวิตและการพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำมูลของชาวบ้านและกลุ่มงานศึกษาที่ว่าด้วยวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ ส่วนใหญ่จะทำการศึกษาหลังจากเขื่อนสร้างเสร็จแล้วเช่น สาเหตุความเป็นมาของปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในด้านสังคม วัฒนธรรมและคุณภาพชีวิต และมุ่งค้นหาคำตอบเพื่อนำมาใช้ตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนั้นทำให้ไม่ได้ข้อสรุปที่ลุ่มลึกพอและไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าที่ควรเนื่องจากผู้ที่ทำการศึกษาเป็นคนในของฝ่ายใดฝายหนึ่ง ส่วนกลุ่มงานศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทรัพยากรและพลังงานนั้น ศึกษาได้อย่างละเอียดและได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อถกเถียงในระดับการเจรจาต่อรองระหว่างชาวบ้านกับรัฐ กลุ่มว่าด้วยเรื่องวาทกรรมและการต่อรองเรื่องการเปิดเขื่อนปากมูล ทำให้เห็นการแบ่งขั้วทางวิชาการมากขึ้นกล่าวคือ รัฐบาลได้ใช้กลไกอำนาจในการผลิตชุดความรู้ โดยอาศัยนักวิชาการที่รัฐสั่งการได้ขึ้นมาพร้อมกับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อใช้ ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:38:16 น.
  
1.2 วัตถุประสงค์ในการวิจัย

1.2.1 เพื่อศึกษาความเป็นมาของสภาพปัญหา และการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
1.2.2 เพื่อศึกษากลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อน
ปากมูล และทำความเข้าใจถึงกลไกในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับ
กลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร



1.3 ขอบเขตในการวิจัย

1.3.1 ขอบเขตพื้นที่ในการศึกษา
พื้นที่ในการวิจัยนี้จะครอบคลุมพื้นที่ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปามูลโดยแบ่งออกเป็น 6 ส่วนคือ
1.3.1.1 พื้นที่หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล ซึ่งมีสมาชิกในชุมชนเข้าร่วมหรือเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเรียกร้องกับกลุ่มชาวบ้านปากมูลหรือกลุ่มสมัชชาคนจนและกลุ่มอื่นๆ
1.3.1.2 กลุ่มชาวบ้านเครือข่ายสมัชชาคนจน (แกนนำ) และคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน (ชชช.)
1.3.1.3 กลุ่มชาวบ้านอื่น ๆ ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบที่ปัจจุบันไม่ได้มีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหวเรียกร้องกับสมัชชาคนจนและกลุ่มที่ต่อต้านสมัชชาคนจนไม่ให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล
1.3.1.4 นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล
1.3.1.5 บุคคลและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น เจ้าหน้าที่ กฟผ. ประมง ชลประทาน เป็นต้น
1.3.1.6 องค์การบริหารส่วนตำบลในเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล
1.3.2 ขอบเขตของเนื้อหาในการศึกษา
เนื้อหาในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยจะได้ศึกษาในเนื้อให้ครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้
1.3.2.1 บริบทความเป็นมาของสภาพปัญหาและการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอันเนื่องมาจากการสร้างเขื่อนปากมูล
1.3.2.2 ศึกษาบริบททางสังคมและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ถึงเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันชาวบ้านเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
1.3.2.3 ศึกษากลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูลในการต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และปฏิบัติการตอบโต้ ต่อรองระหว่างชาวบ้านกับรัฐและกลุ่มอำนาจอื่น ๆ
1.3.2.4 ศึกษาทำความเข้าใจถึงกลไกในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
1.3.3 ขอบเขตเวลา
งานวิจัยนี้จะทำการศึกษาตั้งแต่เขื่อนปากมูลเริ่มปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลและกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2537 และช่วงที่รัฐบาลใช้นโยบายการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลแบบ เปิด 4 เดือน –ปิด 8 เดือน (ปี2545-จนถึงปัจจุบัน)

1.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.4.1 เข้าใจบริบทความเป็นมาของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศอันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้ชาวบ้านปากมูลเข้าสู่กระบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และโอกาสหรือปัจจัยที่เอื้อในการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลในสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศแม่น้ำมูลที่เปลี่ยนแปลง
1.4.2 ได้รู้ว่าวิธีการในการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเป็นอย่างไร และสามารถอธิบายทำความเข้าใจถึงกลไกในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรบนพื้นฐานแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมและนิเวศวิทยาการเมือง
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:39:18 น.
  
1.5 นิยามศัพท์

การเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล (Openness and Closeness of the Pak Mun Dam’s Gates) หมายถึง การกำหนดช่วงเวลาในการเปิดและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลในรอบหนึ่งปี โดยการยกบานประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน ขึ้นสูงสุดให้แม่น้ำมูลไหลผ่านในระดับน้ำปรกติตามสภาพธรรมชาติ
การต่อรอง (Negotiation) หมายถึง การต่อรองบนพื้นฐานของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ไร้อำนาจกับผู้ที่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร เพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาแบบ มีส่วนร่วมและเท่าเทียม โดยแสดงออกในรูปของการให้คุณค่ากับความหมายทาง วัฒนธรรม จารีตประเพณี วิถีชุมชน ความรู้ภูมิปัญญา อันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน
ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ (Power relations) หมายถึง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมในการเข้าถึงทรัพยากรโดยไม่เท่าเทียมกัน เกิดความเหลื่อมล้ำและขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร และ การต่อต้านนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ
วิถีการดำรงชีพ (Livelihoods trajectory) หมายถึง การทำมาหากินของชาวบ้านที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในภาวะที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ต่อรอง กับปัญหาอุปสรรคภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
การปรับตัว (Adjustment) หมายถึง การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้ชีวิตสามารถดำรงอยู่และดำเนินต่อไปได้อย่างมีความสุข

1.6 กรอบความคิดในการวิจัย (Conceptual Framework)

ในการวิจัยเรื่อง การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูลเพื่อ เปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ผู้วิจัยใช้แนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมมาช่วยในการวิเคราะห์บริบทความเป็นมาของสภาพปัญหาที่เป็นเงื่อนไขต่างๆ ที่ส่งผลต่อการปรับตัวของชาวบ้านในการดำเนินชีวิตของชาวบ้านปากมูลที่สัมพันธ์ต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เพราะว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาวิถีชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และถือว่า “คน” เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ซึ่งภายในระบบนิเวศประกอบด้วยทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลผลิตของมนุษย์
แต่เนื่องจากกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลมีความซับซ้อนทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ผู้เขียนจึงพยายามใช้กรอบแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง มาช่วยอธิบายวิธีการในการเคลื่อนไหว ตอบโต้ ต่อรอง ระหว่างชาวบ้านด้วยกันและกระบวนการทำงานของรัฐ ที่ยังคงสภาพความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับแนวคิดวาทกรรมการพัฒนาที่ให้กรอบแนวทางในการอธิบายความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนกับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมระดับกว้าง เช่น ผลพวงของนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐที่ให้ความสำคัญกับความทันสมัย ความเป็นสากล โดยละเลยวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น ทั้งการแย่งชิงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบในสังคม และสภาวะที่ชุมชนไร้อำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตน ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดการปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ซึ่งแนวคิดการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ จะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น ว่ามีวิธีการเคลื่อนไหวตอบโต้ ต่อรองกับปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นให้สังคมได้เข้าใจยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้วิจัยก็ไม่ละเลยแนวคิดการจัดการทรัพยากรเชิงความสัมพันธ์ทางอำนาจซึ่ง อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2543) อธิบายว่า แนวคิดนี้มาจากการผสมผสานแนวทางการจัดการทรัพยากรร่วมกัน กับ แนวทางการจัดการทรัพยากรเชิงนิเวศวัฒนธรรม พร้อมกับการตั้งประเด็นว่า สาเหตุของการเข้าถึงทรัพยากรโดยไม่เท่าเทียมกัน เกิดความเหลื่อมล้ำและขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรว่า มาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจของกลุ่มต่าง ๆโดยที่บรรยากาศทางการเมืองและเศรษฐกิจได้เปิดโอกาสให้บางกลุ่มมีอำนาจเข้าถึง ควบคุมและแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรเหนือกว่ากลุ่มอื่น ๆ จนนำมาสู่การแย่งชิงการใช้ทรัพยากร โดยใช้แผนภูมิ แสดงกรอบแนวคิด ในการวิจัยดังนี้
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:39:43 น.
  
บทที่ 3
ระเบียบวิธีวิจัย

งานวิจัยนี้ มุ่งที่จะอธิบายความเป็นมาของสภาพปัญหาและการปรับตัวของชาวบ้าน ปากมูล ภาย ใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และกลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ดังนั้นงานวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยมีขั้นตอนในการศึกษาดังนี้

3.1 ขั้นตอนในการศึกษาและการเก็บรวบรวมข้อมูล

3.1.1 การสำรวจข้อมูลเบื้องต้น
ผู้วิจัยได้รวบรวมรายงานการศึกษาวิจัย เอกสารและรายงาน ข้อเขียน บทความ บทสัมภาษณ์ บันทึกการประชุม จากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการต่างๆ ที่รัฐตั้งขึ้น รวมถึงรายงานข่าวของสื่อมวลชน สมุดบันทึก ภาพถ่าย ภาพเคลื่อนไหว จดหมาย แถลงการณ์ เป็นต้น โดยได้ทำการรวมรวมและแบ่งกลุ่มหัวข้องานศึกษาวิจัยต่าง ๆ ดังนี้
(1) กลุ่มว่าด้วยวิถีชีวิตและการพึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำมูลของชาวบ้าน
(2) กลุ่มว่าด้วยวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ
(3) กลุ่มว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ทรัพยากรและพลังงาน
(4) กลุ่มว่าด้วยเรื่องวาทกรรม
(5) กลุ่มว่าด้วยการต่อรองเรื่องการเปิดเขื่อนปากมูล
3.1.2 การสนทนากลุ่มย่อย (Focus group discussion)
ผู้วิจัยได้จัดให้มีการสนทนากลุ่มย่อย 2 ครั้ง เพื่อทำความเข้าใจถึงความเป็นมาของสภาพปัญหาการเคลื่อนไหวต่อรองและการปรับตัวของชาวบ้านในรูปแบบต่าง ๆ กับชาวบ้านที่เป็นแกนนำในฝ่ายสมัชชาคนจนและชาวบ้านที่เข้าร่วมเรียกร้องให้มีการเปิดประตูระบายน้ำ โดยทั้ง 2 ครั้งใช้ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน เป็นสถานที่ประชุมกลุ่มย่อยโดยคัดเลือกชาวบ้านแบบเจาะจงกระจายให้ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ในระดับแกนนำที่มาร่วมประชุมประจำเดือนจำนวน 10 คน และชาวบ้านที่ไม่ใช่แกนนำจำนวน 7 คน ผู้วิจัยใช้ลักษณะการตั้งคำถามแบบปลายเปิด และค่อยซักถามเพิ่มเติมในเรื่องที่สนใจที่จะเป็นประโยชน์แก่งานวิจัย ในการเก็บข้อมูลผู้วิจัยใช้การบันทึกเทปและจดบันทึกย่อเอาไว้
3.1.2.1 สนทนากลุ่มย่อยครั้งที่ 1
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูล ประเด็นหัวข้อสนทนาคือ สถานการณ์การเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องปิด-เปิดประตูระบายน้ำตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบัน มีแกนนำชาวบ้านเข้าร่วมจำนวน 10 คน
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:42:19 น.
  
3.1.2.2 สนทนากลุ่มย่อยครั้งที่ 2
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูล ประเด็นหัวข้อสนทนาคือ วิถีการดำรงชีวิต สภาพปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ตั้งแต่ช่วงก่อน
สร้างเขื่อนปากมูลหลังสร้างเขื่อนปากมูลและช่วงที่มีนโยบายเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
3.1.3 การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก (In-depth interview) และการสนทนาอย่างไม่เป็น
ทางการ
ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์และพูดคุยทำความเข้าใจถึงความคิดหรือเหตุผลของชาวบ้านและพี่เลี้ยงที่ปรึกษาตลอดจนบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อทำความเข้าใจในบทบาทของกลุ่มคนต่างๆ โดยใช้วิธคัดเลือกผู้ให้ข้อมูลหลักจำแนกตามกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 1) ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน 9 คน 2) ชาวบ้านฝ่ายต่อต้านกลุ่มสมัชชาคนจน 5 คน 3) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลในระดับตัวแทนชาวบ้าน 8 คน 4) NGOs ที่เป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา 6 คน 5) ข้าราชการท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล 3 คน 6) ชาวบ้านกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานเพื่อการเกษตร 2 คน 7) ชาวบ้านกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชา คนจน 3 คน
ขั้นตอนนี้ผู้วิจัยใช้วิธีสัมภาษณ์ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (key Informant) โดยการคัดเลือกจากสถานะและบทบาทต่อกรณีการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล กระจายออกเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง
3.1.4 การสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม
ผู้วิจัยได้ใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูลจากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ เช่นการเข้าร่วมประชุมกับผู้นำชาวบ้าน การประชุมระหว่างชาวบ้านกับหน่วยงานราชการ การประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล การเจรจาต่อรองกับรัฐ ตลอดจนกิจกรรมเคลื่อนไหวของชาวบ้านปากมูลและสมัชชาคนจน ได้แก่
3.1.4.1 เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชน (ชชช.)
3.1.4.2 เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือกับทีมที่ปรึกษาเรื่องสถานการณ์ปัญหาทั้งภายนอกและภายใน
3.1.4.3 เข้าร่วมเวทีเสวนา 20 ปี เขื่อนปากมูลที่คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
3.1.4.4 เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อน ปากมูล
3.1.4.5 ร่วมสังเกตการณ์ในเวทีชุมนุมทั้งในพื้นที่ และหน้าทำเนียบรัฐบาล
3.1.4.6 ร่วมประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553
3.1.4.7 ร่วมคณะสำรวจลงพื้นที่สอบถามปัญหากลุ่มผู้ใช้น้ำ
3.1.4.8 ร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีเขื่อนปากมูลที่มหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2553 และ
3.1.4.9 การสังเกตการณ์จากการดำรงชีวิตประจำวันของชาวบ้านในการหาปลา
3.1.5 จัดการประชุม เพื่อรายงานความก้าวหน้า
ผู้วิจัยได้การหนุนช่วยทางวิชาการจากอาจารย์ที่ปรึกษา และนักวิชาการหรือนักพัฒนาที่เกี่ยวข้อง โดยจัดให้มีการประชุม 2 ครั้งๆ แรกจัดเมื่อปลายเดือน ธันวาคม 2552 ได้ความกรุณาจากอาจารย์สุริยา สมุทรคุปต์ มาช่วยเพิ่มเติมเต็มเรื่องระเบียบวิธีวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณนาและถ่ายทอดประสบการณ์ภาคสนาม ครั้งที่สองจัดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553ได้รับความกรุณาจากอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล มาช่วยให้มุมมองเชิงทฤษฎีและการวิเคราะห์สังเคราะห์ข้อมูล ซึ่งผู้วิจัยได้รับประโยชน์อย่างมาก
3.1.6 วิเคราะห์และเรียบเรียงรายงานการศึกษา เพื่อเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษา
3.1.7 เก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม และเขียนรายงานผลการศึกษา ฉบับสมบูรณ์
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:43:34 น.
  
3.2 การวิเคราะห์ข้อมูล

ในการวิจัยเรื่อง การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูล เพื่อเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล เมื่อผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งจากการสำรวจเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและจากการเก็บข้อมูลภาคสนามจากการประชุมกลุ่มย่อยและการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการรวมทั้งข้อมูลประสบการณ์จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโอกาสต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าว มาแล้วนั้น เบื้องต้นผู้วิจัย ได้พยายามใช้แนวคิดทฤษฏีนิเวศวิทยาวัฒนธรรมมาการวิเคราะห์ข้อมูลบริบทความเป็นมาของสภาพปัญหา ปัจจัยและเป็นเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของชาวบ้านปากมูลที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เพราะผู้วิจัยเชื่อว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศจะเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาวิถีชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม และถือว่า “คน” เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ซึ่งภายในระบบนิเวศประกอบด้วย ทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลผลิตของมนุษย์ แต่เนื่องจากกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลมีความซับซ้อนทั้งมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ผู้วิจัยได้นำแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง มาช่วยอธิบายกลยุทธ์ในการเคลื่อนไหว ตอบโต้ ต่อรอง ระหว่างชาวบ้านด้วยกันและกระบวนการทำงานของรัฐ ที่ยังคงสภาพความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับแนวคิดวาทกรรมการพัฒนาที่ให้กรอบแนวทางในการอธิบายความสัมพันธ์ของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนกับบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมระดับกว้าง เช่น ผลพวงของนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐที่ให้ความสำคัญกับความทันสมัย ความเป็นสากล โดยละเลยวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น ทั้งการแย่งชิงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบในสังคม และสภาวะ ที่ชุมชนไร้อำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตน ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เกิดการปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ซึ่งแนวคิดทฤษฎีการเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่ จะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ของ ขบวนการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นว่ามีกลยุทธ์การเคลื่อนไหวตอบโต้ ต่อรองกับปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมได้เข้าใจยิ่งขึ้น
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:43:59 น.
  
บทที่ 4
บริบทการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล

ในบทนี้ผู้วิจัยได้อธิบายถึงสภาพความเป็นมาของปัญหาและผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศและการเคลื่อนไหวต่อรองตอบโต้ของชาวบ้านรวมทั้งการปรับตัวของชาวบ้านโดยแบ่งหัวข้อออกเป็นช่วง ๆ เริ่มตั้งแต่ การสร้างเขื่อนปากมูลจนถึงปัจจุบัน ดังนี้

4.1 ความเป็นมาของการสร้างเขื่อนปากมูล
โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล ได้รับการอนุมัติในปี พ.ศ. 2533 ในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 2537โดยได้รับการสนับสนุนการศึกษาจากรัฐบาลฝรั่งเศส และเงินกู้ยืมจำนวน 23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากธนาคารโลก และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2534 และ อาศัยช่วงคณะปฏิวัติ (รสช.)ยึดอำนาจ เร่งดำเนินการก่อสร้างและทำการระเบิดแก่งหินกลางแม่น้ำมูล ตรงบริเวณที่หัวงานก่อสร้างจนถึงเขตอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
เขื่อนปากมูลตั้งอยู่ที่บ้านหัวเห่ว ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากปากแม่น้ำมูล 5 กิโลเมตร ลักษณะเขื่อนเป็นคอนกรีตขวางกั้นแม่น้ำมูล เพื่อผลิตไฟฟ้าโดยใช้ เทคโนโลยีแบบน้ำไหลผ่าน (run of river) มีบานประตูระบายน้ำ 8 บาน แต่ ละบานกว้าง 22.5 เมตร ยาว 14.75 เมตร ระดับสันของบานประตูมีความสูงอยู่ที่ระดับ 108.75 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก. หรือสูง 14.75 ม.จากฐานบานประตู)มีความสามารถในการระบายน้ำรวม 18,500 ลูกบาศก์ เมตรต่อวินาที หรือสามารถระบายน้ำได้บานละ 2312.5 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถ้าปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน จะกักเก็บน้ำได้ที่ระดับ 108 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง(ม.รทก.) เพื่อให้น้ำไหลผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าใต้น้ำที่ติดตั้งไว้ 4 ตัว มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ตัวละ 40 เมกกะวัตต์ รวมกำลังผลิตสูงสุดได้ 160 เมกกะวัตต์ (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2550)
เขื่อนปากมูลมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกโครงการเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และการชลประทานเป็นหลักต่อมาพบว่าต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนปากมูล เพิ่มขึ้นจากที่อนุมัติครั้งแรก 3,800 ล้านบาท เป็น 6,600 ล้านบาท จากงานวิจัยหลายชิ้นได้ข้อสรุปว่าเขื่อนปากมูลผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้คือจากที่คาดการณ์ไว้ว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 160 เมกกะวัตต์เหลือเพียง 40 เมกกะวัตต์ เท่านั้น ส่วนพื้นที่ชลประทานที่คาดการณ์ไว้ว่าจะได้ประโยชน์ถึง 160,000 ไร่ ปัจจุบันยังไม่มีชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ทางชลประทาน มีเพียงโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาดเล็กเท่านั้นซึ่งมีอยู่ก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล

4.2 ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและการปรับตัวของชาวบ้าน

4.2.1 สภาพปัญหาช่วงก่อนสร้างเขื่อนปากมูล
4.2.1.1 ชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน
ช่วงก่อนที่จะมีการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำมูลตอนใต้บริเวณปากมูล เป็นลักษณะของชุมชนชาวประมงพื้นบ้านที่มีการก่อรูปทางสังคมวัฒนธรรมและความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และได้มีกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน เกี่ยวข้องกับเงื่อนไข ปัจจัยที่ซับซ้อน นับตั้งแต่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และระบบนิเวศในการตั้งถิ่นฐาน การสะสมความรู้และภูมิปัญญาในการปรับตัวในการดำรงวิถีชีวิต ประเพณีความเชื่อ ระบบคุณค่าและความสัมพันธ์ทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ โดยแต่ละชุมชนต่างมีประวัติศาสตร์ความเป็นมา และเงื่อนไขในการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมภายนอก อันก่อให้เกิดการปะทะ-ประสาน และนำไปสู่ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรมจากในชุมชนเองอย่างต่อเนื่อง
นับแต่อดีตมาชุมชนชาวประมงพื้นบ้านปากมูลดำรงชีวิตโดยอาศัยทรัพยากรธรรมชาติและปลาในแม่น้ำมูลเป็นหลักจนกระทั่งสามารถสร้างหลักประกันในชีวิตที่มีแต่ความสงบสุขร่มเย็นก่อเกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจและร่ำรวยไปด้วยวัฒนธรรมหลากหลายและเป็นวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและงดงาม ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คือหลักศิลาจารึกของเจ้าชายจิตเสน บริเวณปากแม่น้ำโดมน้อย ภาพเขียนรูปปลา คน และเครื่องมือหาปลาที่ผาแต้ม ตลอดจนการตั้งบ้านเรือนตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูลแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับแม่น้ำมูล ที่เปรียบเสมือนสายใยห่วงโซ่สัมพันธ์ไม่สามารถแยกจากกันได้
“แม่คำผุย เสนาะวาที พูดถึงอดีตที่พ่อแม่พามาปักหลักหาปลาอยู่ริมฝั่งมูลว่าสมัยก่อนอยู่ในวัยสนุกสนานตามประสาเด็ก เห็นพ่อแม่หาปลาได้มากเป็นเรื่องปกติจนชินตา แต่พอโตขึ้นจึงรู้ว่าการหาปลาเป็นอาชีพหลักที่สำคัญสำหรับครอบครัว เพราะได้เงินไปโรงเรียน และพ่อแม่สามารถสร้างบ้านได้หลังใหญ่ จากเดิมที่เป็นแค่เพิงพักอยู่ริมน้ำ และชาวบ้านคนอื่น ๆที่มาหาปลาด้วยกันก็สร้างบ้านขยายออกไปเรื่อยๆจนกลายเป็นหมู่บ้านคันลึมในปัจจุบันและยังมีหมู่บ้านตรงข้ามคนละฝั่งแม่น้ำมูลก็เป็นชุมชนหาปลาเหมือนกัน แม่คำผุย แต่งงานตอนวัยสาวกับหนุ่มบ้านใกล้กันที่หาปลาเก่งไม่แพ้คนอื่น” (นางคำผุย เสนาะวาที, สัมภาษณ์วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 25 53)
คนแต่ละกลุ่มแต่ละชุมชมต่างก็มีวิถีชีวิตที่จะต้องอยู่รอดร่วมกัน และวิถีชีวิตของแต่ละกลุ่มนั้นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในการปรับตัวเองเข้ากับสภาพแวดล้อมของถิ่นฐานที่มนุษย์ตั้งหลักแหล่งที่อยู่อาศัยและทำมาหากิน เพื่อกาดำรงชีวิตอยู่รอดร่วมกัน (ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม, 2544 : 73) แสดงให้เห็นว่าในอดีตแม่น้ำมูลมีความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านต่างถิ่นอพยพมาปลูกเพิงพักอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพื่อหาปลา และจำนวนคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนย้ายถิ่นฐานมาสร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นใหม่ ในฐานะชุมชนชาวประมงพื้นบ้าน ที่พึ่งพิงอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนกว่า 65 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่สองฝั่งน้ำมูล มีอาชีพการทำประมง เนื่องจากระบบนิเวศเอื้อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของพันธุ์ปลาจากแม่น้ำโขงประกอบกับพื้นดินบริเวณเหนือตลิ่งไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม อาชีพประมงจึงเป็นอาชีพหลักที่หล่อเลี้ยงชีวิต ของชุมชนริม 2 ฝั่งแม่น้ำมูลมาเนิ่นนาน
4.2.1.2 การปรับตัวตามระบบนิเวศ
ชุมชนชาวประมงพื้นบ้านปากมูลได้มีการเรียนรู้ หล่อหลอม ปรับตัว เพื่อการดำรงอยู่ของชีวิตให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมบนฐานทรัพยากรธรรมชาติ ในระบบนิเวศบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนปลาย ซึ่งมีแม่น้ำมูลเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิต ด้วยลักษณะเฉพาะทางระบบนิเวศที่หลากหลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ของพันธุ์ปลา และพืชพรรณอันหลากหลายตลอดสองฝั่งแม่น้ำมูล เป็นดัชนีชี้วัดถึงความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งฐานทรัพยากรอาหารนี้เองคือปัจจัยสำคัญสูงสุดของการดำรงชีวิต
วิถีการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านปากมูลเกิดจากกระบวนการเรียนรู้และปรับตัวทางวัฒนธรรมผ่านกาลเวลานับร้อยนับพันปี สั่งสมเป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมตกทอดสืบต่อจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า ถือเป็นวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย พอเพียง เกื้อหนุนและพึ่งพาอยู่กับธรรมชาติ มายาวนาน (จากการสนทนากลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:44:57 น.
  
4.3 สภาพปัญหาช่วงกำลังก่อสร้างเขื่อนปากมูล

4.3.1 ผลกระทบจากการระเบิดแก่ง
ขณะทำการก่อสร้างเขื่อนปากมูล (ปี 2534-2537) ได้มีการระเบิดแก่งที่อยู่ ใต้เขื่อนเพื่อขุดเป็นร่องน้ำลึกถึง 40 เมตร เพื่อระบายน้ำออกจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดชั้นหินใต้แก่งแผ่กว้างไปตามลำน้ำเกือบ 10 กิโลเมตร และก่อนการระเบิดต้องถมคันดินกันน้ำให้เปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีสารเคมีจากดินระเบิดไหลปน ไปตามน้ำ ทำให้ปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้
“แม่นั่งอยู่ใต้ถุนบ้านได้ยินเสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหวจนก้นสะเทือน มองไปเห็นกลุ่มควันลอยอยู่ไกล ๆนี่ขนาดคนนั่งอยู่บนพื้นนะ ถ้าเป็นปลาอยู่ในน้ำคงตกใจเหมือนกัน น่าจะถึงแม่น้ำโขงนั่นแหละ” (แม่ใหญ่ หนูจันทร์ ลิวงษ์, สัมภาษณ์วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553)
การระเบิดแก่งหินกลางแม่น้ำมูล ได้ทำลายระบบนิเวศที่สำคัญของแม่น้ำมูลทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของปลาและผลผลิตปลาลดลงอย่างรวดเร็ว ชาวประมงกว่า 7,000 ครอบครัวสูญเสียอาชีพ ทำให้รายได้ลดลง จากการศึกษาของ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ พบว่า แม่น้ำมูลก่อน การสร้างเขื่อนมีพันธุ์ปลาประมาณ 240 ชนิด คณะกรรมการเขื่อนโลกศึกษา พบว่า เป็นปลาอพยพ 77 ชนิด และปลาชนิดที่อาศัยอยู่ตามแก่ง 35 ชนิด และปัจจุบันแก่งเหล่านี้ 50 กว่าแก่งได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ การสร้างเขื่อนทำให้พันธุ์ปลา 169 ชนิดได้รับผลกระทบ และมีปลาถึง 56 ชนิดที่ปรากฏว่าไม่สามารถจับได้อีกเลยภายหลังการสร้างเขื่อน ขณะที่บันไดปลาโจนที่สร้างขึ้นมาไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพตามฤดูกาลจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำชีและมูลได้ เขื่อนปากมูลจึงปิดตายระบบลุ่มน้ำชี/มูลที่มีพื้นที่ถึง 117,000 ตารางกิโลเมตรทั้งระบบ (คณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจนกรณีปากมูน และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, 2545)
4.3.2 ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน
โครงการเขื่อนปากมูลได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทุก ๆ ด้าน เมื่อระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาศัยของปลาถูกทำลาย เช่น เกาะแก่ง และป่าบุ่งป่าทาม ซึ่งมีพืชพรรณหลากชนิดมาอาศัยพุ่มไม้และรากไม้เพื่อปลามาหลบซ่อน และวางไข่ทำให้อาชีพประมงของชาวบ้านลดลง เดชรัตน์ สุขกำเนิด (2542: 93-114)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:45:36 น.
  
เมื่อปริมาณปลาลดลง ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นคงด้านอาหาร ชาวบ้านต้องพึ่งพาอาหารจากตลาดมากขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนด้านสังคม วัฒนธรรม เพราะชาวบ้าน ที่ขาดรายได้และสูญเสียอาชีพประมง จะหาทางออกโดยการอพยพย้ายถิ่นไปทำงานต่างจังหวัด ทั้งชั่วคราวและถาวร ทำให้คนในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันและการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านก็ลดหายไปด้วย
4.3.3 การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
ช่วงที่กำลังก่อสร้างเขื่อนปากมูล (ปี2534-2537) ที่เริ่มจากการถมคันดินกั้นแม่น้ำมูลน้ำ ทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศทางการไหลของน้ำ และการระเบิดแก่งหินกลางลำน้ำนั้น ส่งผลกระทบรุนแรงที่สุดเนื่องจากปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเข้ามาในแม่น้ำมูลได้เลย ชาวบ้านจึงได้พยายามเคลื่อนไหวต่อรองให้รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสจากการประกอบอาชีพประมงในช่วงที่ดาเนินการก่อสร้างเขื่อนเป็นเวลา 3 ปี
“พ่อใหญ่คง มหาชัย บอกว่า น้ำมูลเป็นสีแดงมีแต่คราบน้ำมันปลาที่ไหนจะเข้ามาได้ ช่วงนั้น (ช่วงก่อสร้าง) เขาเอาเครื่องจักรขนาดใหญ่มาลงและขนเหล็กและอุปกรณ์ก่อสร้างมากมายมากองไว้สูงเป็นภูเขา พอตอนระเบิดแก่งน้ำมูลก็เหม็นฉิวปลาก็ตาย ตอนนั้นไม่ได้ลงหาปลาเลย อาศัยไปหาเก็บยาสมุนไพรในป่า เอามาเป็นยารากไม้รับรักษาโรคต่าง ๆ ให้ชาวบ้าน พอมีรายได้ แต่ช่วงที่มีการชุมนุม พ่อก็เป็นหมอนวดพื้นบ้านแผนโบราณ มีรายได้ดี ก็พออยู่ได้” (พ่อใหญ่คง มหาชัย, สัมภาษณ์วันที่ 5 ตุลาคม 2552)
ชาวบ้านใช้เวลาในการเคลื่อนไหวต่อรอง ชุมนุมเรียกร้องกดดันทั้งในระดับพื้นที่และในกรุงเทพฯนานเกือบ 4 ปี ชาวบ้านบางส่วนต้องไปรับจ้างทำงานต่างจังหวัด เช่นไปรับจ้างตัดอ้อยที่จังหวัดเพชรบุรี สุพรรณบุรี บางครอบครัวย้ายไปหาปลาที่เขื่อนเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี บ้างก็ไปเป็นกรรมกรแบกหาม และยามในกรุงเทพ คนหนุ่มสาวก็เข้าไปเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม และอื่น ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว (จากการสนทนากลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:46:05 น.
  
4.4 สภาพปัญหาช่วงสร้างเขื่อนเสร็จและปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล

4.4.1 ผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนและการแก้ปัญหา
วิถีการดำรงชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนไปภายหลังการก่อสร้างเขื่อนปากมูลที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2534 และเสร็จสิ้นในปี 2537 ในระหว่างการก่อสร้าง มีการชุมนุมประท้วงจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อคัดค้านการก่อสร้าง และเรียกร้องให้หยุดการระเบิดแก่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นระบบนิเวศ ที่สำคัญของลำน้ำมูล แต่การคัดค้านของชาวบ้านก็ไม่เป็นผล และ กฟผ. ได้ตกลงจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้าน 2 กรณี คือ ค่าชดเชยการสูญเสียทรัพย์สินจากการถูกน้ำท่วมตามจริงทั้งที่ดินทำกินและบ้านเรือนที่ถูกนำท่วม อีกกรณีคือ การจ่ายค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพประมงตลอดเวลา 3 ปี ที่ทำการก่อสร้างเขื่อนปากมูลเป็นจำนวนเงินครอบครัวละ 90,000 บาท จำนวน 3,195 ครอบครัว และ กฟผ. ยังยืนยันว่าจะเร่งฟื้นฟูระบบนิเวศเพื่อให้แม่น้ำมูลกลับมามีความอุดมสมบูรณ์ โดยใช้มาตรการช่วยเหลือปลาให้อพยพขึ้นบันไดปลาโจนข้ามเขื่อนเพื่อขึ้นไปวางไข่และเร่งพัฒนาศูนย์เพาะพันธ์ประมงน้ำจืดผลิตลูกปลามาปล่อยในแม่น้ำมูล
4.4.2 มหกรรมทวงสัญญา “ไหนว่าจะมีปลาเหมือนเดิม”
ภายหลังการปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน และเขื่อนเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้า ชาวบ้านยังคงได้รับความเดือดร้อนจากการสูญเสียอาชีพประมงเนื่องจากจำนวนปลาลดลงเรื่อย ๆ บันได้ปลาโจนที่ออกแบบมาให้ปลาว่ายข้ามเขื่อนขึ้นไปวางไข่ก็ไม่ได้ผล อีกทั้งการปล่อยพันธุ์ปลาขนาดเล็ก ก็ไม่ประสพผลสำเร็จเพราะระบบน้ำธรรมชาติต่างจากบ่อดินหรือบ่อปูนที่สามารถให้อาหารแก่ลูกปลาได้ ดังนั้นชาวบ้านปากมูลจึงรวมตัวกันอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้มีการชดเชยการสูญเสียอาชีพอย่างถาวรในปี 2540 ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลในนามสมัชชาคนจนได้ปักหลังชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและได้ข้อยุติหลังจากการชุมนุมผ่านไป 99 วัน คือ รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรี ยอมรับว่า เขื่อนปากมูล ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมงบริเวณ แม่น้ำมูลตอนปลาย โดยรัฐบาลจะจัดสรรที่ดินทำกินทดแทนอาชีพเดิมให้ชาวบ้าน ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่เนื่องจากไม่สามารถหาที่ดินได้ จึงให้ราษฎรไปจัดซื้อด้วยตนเองในอัตรา ไร่ละ 35,000 บาท ในขณะที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจ่ายค่าชดเชยรัฐบาลพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออกเสียก่อน การแก้ปัญหาจึงยุติลง
4.4.3 ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนด้วยการเปิดเขื่อนถาวร
รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เข้ามาบริหารบ้านเมืองต่อและยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอกชวลิต ทำให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวต่อสู้อีกยาวนาน โดยใช้กลยุทธ์ที่หลากหลายตามแนวทางสันติวิธี เช่น การตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน การเดินเท้าทางไกล การยึดสันเขื่อน ขึ้นรถไฟฟรี จนถึงขั้นปีนทำเนียบรัฐบาล และอื่น ๆ จนถึงรัฐบาลพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร ตลอดเวลาที่ ผ่านมา ชาวบ้านได้พยายามเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาลยอมรับปัญหาที่เกิดขึ้น แล้วดำเนินการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร อันเป็นแนวทางเดียวในการฟื้นฟูชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับอย่างประจักษ์แล้ว ในช่วงการทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเมื่อปี 2544–2545 ทั้งยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งได้มีข้อชี้แนะว่า “ให้เปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บานตลอดปี เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี ให้ระบบนิเวศฟื้นตัวเพื่อฟื้นคืนวิถีชุมชน” อันจะส่งผลให้อาชีพการหาปลาซึ่งเป็นอาชีพหลัก กลับมาสร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจชุมชนให้กลับคืนมา
4.4.4 การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐ
รัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินการจัดทำคลองส่งน้ำเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพและประกอบอาชีพได้ตามความเหมาะสมแต่ในทางกลับกันชาวบ้านส่วนใหญ่มีวิถีอยู่กับแม่น้ำมูล บางรายไม่มีที่ดินทำกินเลยสักแปลงเดียว หรือในรายที่มีที่ดินก็ไม่เหมาะสำหรับการทำการเกษตรมานักเนื่องจากเป็นที่ลาดสูง เป็นลานหิน การทำคลองส่งน้ำจึงอาจได้ประโยชน์กับชาวบ้านบางกลุ่มซึ่งมีจำนวนไม่มากนักเท่านั้น การแก้ไขปัญหาในวิธีการดังกล่าวจึงไม่ได้ครอบคลุมถึงผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดและแม้ว่ากรมประมงจะเร่งรัดดำเนินการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบอาชีพประมงด้วยการผลิตและปล่อยพันธุ์ปลาลงในแม่น้ำมูลปีละประมาณ 50 ล้านตัว ด้วยงบประมาณ 14 ล้านบาท รวมทั้งการช่วยเหลือชาวประมงผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลด้วยการแจกเครื่องมือหาปลาโดยให้เลือกทางใดทางหนึ่งในวงเงินไม่เกิน 5,000บาท แต่วิธีการต่าง ๆ ดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตของคนหาปลาในแม่น้ำมูลฟื้นขึ้นแต่อย่างใดเพราะปลาที่ปล่อยลงในแม่น้ำมูลส่วนใหญ่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เมื่อปล่อยลงไปปลาส่วนใหญ่ก็จะตาย เครื่องมือหาปลาที่ได้รับแจกก็ไม่สามารถใช้กับแม่น้ำมูลได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากด้อยทั้งคุณภาพ
ในด้านการฟื้นฟูวิถีชีวิตผู้ได้รับผลกระทบ ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชุมชนลุ่มน้ำมูล ขึ้น โดยมีองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งนักวิชาการ ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และข้าราชการโดยมี ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธานคณะกรรมการ ชาวบ้านได้เสนอแนวทางการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล เพื่อให้ลุ่มน้ำมูลโดยเฉพาะในตอนล่างได้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์เป็นฐานในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูศักยภาพในการพึ่งตนเองรวมทั้งการฟื้นฟูภูมิปัญญา วัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งการดำรงวิถีชีวิต ความสัมพันธ์อันดีงามของคนลุ่มน้ำ โดยในเบื้องต้นได้เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดเงินช่วยเหลือชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบครอบครัวละ 10,000 บาทเพื่อให้ชาวบ้านได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของครอบครัวตนเอง ซึ่งเงินดังกล่าวที่เสนอมีแผนระดับครอบครัวรองรับไว้แล้ว โดยได้ลำดับปัญหาเร่งด่วนของแต่ละครอบครัวและกิจกรรมที่จะทำให้คลี่คลายปัญหาของครอบครัวได้เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเกษตร การทำประมง หัตถกรรม รวมทั้งการชำระหนี้ และลงทุนค้าขาย ซึ่งแต่ละครอบครัวที่เขียนแผนรองรับการใช้เงินได้ยึดปัญหาพื้นฐานเร่งด่วนของครอบครัวตนเองไว้แล้วซึ่งนับเป็นการชี้แจงความชัดเจนหากมีการเยียวยาด้วยวิธีการที่ชาวบ้านนำเสนอต่อคณะกรรมการ แต่ท้ายที่สุดข้อเสนอของชาวบ้านก็ไม่ได้รับการตอบรับ ปัญหาและความทุกข์ยากของชาวบ้านก็ยังคงค้างคาอยู่เรื่อยมา
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:46:35 น.
  
4.5 สภาพปัญหาความเป็นมาของการเมืองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ

4.5.1 ช่วงเวลาเปิด-ปิดเขื่อนไม่สอดคล้องกับระบบนิเวศ
หลังจากที่รัฐบาลมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 4 เดือน และให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดำเนินการศึกษาและติดตามผลกระทบจากการเปิดประตูระบายน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี ภายใต้การอำนวยการและกำกับของคณะทำงานทดลองการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาทจากสำนักนายกรัฐมนตรีและเริ่มทำการศึกษาวิจัยในเดือนมิถุนายน 2545 และขยายเวลาเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บานสุดบานออกไปให้ครบ 1 ปี เพื่อดำเนินการศึกษาให้ครบรอบวัฏจักรการเคลื่อนย้ายและขยายพันธุ์ของปลาต่าง ๆ
คณะวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้ดำเนินการศึกษาวิจัยข้อมูลต่อเนื่อง จนครบ 12 เดือน และเสนอผลการศึกษาต่อรัฐบาล(สำนักนายกรัฐมนตรี) เมื่อเดือนกันยายน 2545 แล้ว คณะรัฐมนตรีประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2545ได้มีมติเห็นชอบให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมถึงวันที่ 31 ตุลาคม ทั้งนี้ ให้กฟผ.ประสานงานกับกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่องต่อไป
ฝ่ายรัฐได้อ้างว่าการตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือนและปิด 8 เดือนในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นไปอย่างชอบธรรมแล้ว เพราะได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติแล้ว นายกรัฐมนตรี จึงนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจระดับนโยบาย แต่ชาวบ้านก็ยังยืนยันว่าช่วงเวลาเปิด-ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามมติคณะรัฐมนตรี ครั้งนี้นั้น ไม่มีประโยชน์เพราะไม่ใช่ฤดูการอพยพของปลา เนื่องจากเป็นปลายฤดู การอพยพของปลาแล้ว จึงไม่มีปลาขึ้นมาในแม่น้ำมูล
“ชาวบ้านรับไม่ได้สำหรับงานสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และไม่สมควรที่จะนำมาใช้ในการตัดสินชะตากรรมของชาวบ้าน วิถีชีวิตและชุมชนของชาวประมงพื้นบ้าน ที่สะสมความรู้ภูมิปัญญาและ วัฒนธรรมความเชื่อของชาวบ้านที่อยู่รวมกันมาเป็นเวลานาน ต้องถูกทำลายลงด้วยงานสำรวจที่ไร้มาตรฐานทางวิชาการเช่นนี้” (สมเกียรติ พ้นภัย, สัมภาษณ์วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553)
4.5.2 การเลื่อน ช่วงเวลาเปิด-ปิดเขื่อน
ในปี 2547 ชาวบ้านปากมูลได้มีการเรียกร้องให้ เลื่อนเดือนเปิด จากเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนพฤษภาคมเนื่องจากเป็นต้นฤดูกาลอพยพของปลา ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงปลาจากแม่น้ำโขงจะอพยพขึ้นลงตลอดทั้งปีก็ตาม การเรียกร้องของชาวบ้านนำไปสู่การเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 23547 จากการเปิดเดือนกรกฎาคมเป็นเดือนพฤษภาคม โดยในปี 2547 ประตูเขื่อนยกขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 แม้ว่าการเรียกร้องของชาวบ้านยืนยันว่าธรรมชาติของแม่น้ำมูลจะฟื้นคืนมาเอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในชุมชนลุ่มน้ำประตูเขื่อนจะต้องเปิดตลอดไปเท่านั้น เนื่องจากการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงมีอยู่ตลอดทั้งปี และระบบนิเวศเกาะ แก่ง เวิน ขุม วัง ลวงมอง ของลุ่มน้ำมูลโดยเฉพาะในตอนปลายของลำน้ำเป็นระบบนิเวศพิเศษ ที่เอื้อต่อการอพยพของปลาและการดำรงอยู่ของผู้คน
“การเปิดเขื่อนเพียง 4 เดือน หรือเป็นการเปิด ๆ ปิด ๆ อย่างที่ดำเนินการอยู่นั้นไม่ได้ทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำมูลฟื้นตัวขึ้นมาได้ เพราะเมื่อระบบนิเวศใกล้ฟื้นตัวประตูเขื่อนก็ปิดลงทำให้น้ำท่วมขึ้นมาอีก ในทางกลับกันจะยิ่งสร้างความเสียหายให้กับแม่น้ำ ดังที่เห็นตัวอย่างชัดเจนในคราวที่มีการปิดเขื่อนในเดือนพฤศจิกายน และเปิดในเดือนธันวาคม 2545 นั้น ตลิ่งริมมูลก็พังทลายลงทำให้พื้นที่ริมตลิ่งสูงชันมากขึ้น ต้นไม้ใหญ่ที่เคยได้ใช้ประโยชน์โค่นลงลงไปแช่อยู่กลางแม่น้ำ เป็นเหตุหนึ่งทำให้น้ำตื้นเขิน วัวควายไม่สามารถลงกินน้ำได้ บริเวณที่เคยปลูกพืชผักริมมูลก็ปลูกไม่ได้ เป็นต้น” (สนชัย คำสวัสดิ์, สัมภาษณ์วันที่ 10 พฤศจิกายน 2552)
“สุวรรณ ขลุ่ยแก้ว พรานปลาบ้านหินลาดบอกว่าช่วงเดือนกรกฎาคม หรือเดือนแปดเป็นปลายของฤดูการอพยพของปลาแล้ว พอถึงเดือนเก้าเดือนสิบปลาก็หาทางลงไปแม่น้ำโขงแล้ว ดังนั้นจึงโอกาสน้อยมากที่ปลาจะเข้ามาในแม่น้ำมูล หากปีใดน้ำน้อยก็ถือเป็นโชคร้ายของคนหาปลาเพราะปลาจะไม่เข้ามูล ทำให้ปลาในแม่น้ำมีน้อย” (สุวรรณ ขลุ่ยแก้ว, สัมภาษณ์วันที่ 2 ธันวาคม 2552)
จากการสนทนากลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ชาวบ้านบอว่า การเปิดเขื่อนปากมูลในเดือนกรกฎาคม แม้จะเป็นการเปิดในช่วงฤดูน้ำหลาก แต่ในปีที่น้ำมาช้า และไหลมาน้อยจะทำให้เห็นแก่งหินโผล่พ้นน้ำอยู่ในบางแก่ง ปกติหลังเดือนพฤษภาคมจะไม่เห็นแก่ง ช่วงเดือนกรกฎาคม เมื่อยกประตูยังสามารถเห็นแก่งหินในแม่น้ำมูลอยู่เกือบทุกแก่ง เนื่องจากขณะนั้นน้ำในแม่น้ำยังน้อยอยู่ ชาวบ้านบอกว่าปีนี้น้ำมาช้า สภาพที่เกิดขึ้นคือ แก่งทั้งหลายถูกอุดตันด้วยโคลนดินโดยเฉพาะหน้าเขื่อน หินที่โผล่มีคราบไคลลื่นอันตราย ชาวบ้านบอกว่า ที่แก่งเป็นเช่นนี้เพราะไม่ได้ถูกน้ำเซาะออก หลายเดือนที่เขื่อนปิด น้ำนิ่ง ทำให้ดินตะกอนที่พัดพามากับน้ำเข้าอุดในแก่ง กว่าที่แก่งจะกลับคืนดังเดิมที่มีรู มีโบก ต้องใช้เวลาพอสมควรในระยะเวลาเพียง 4 เดือนที่เปิดนี้คงไม่สามารถทำให้แก่งเหล่านี้กลับสู่สภาพเดิมไม่ได้ การอุดตันเหล่านี้จะส่งผลให้ปลาที่เข้ามาในช่วงเปิดเขื่อนไม่มีที่อยู่อาศัย ส่งผลต่อพฤติกรรมปลา และการหาปลาของคนหาปลาด้วยเช่นเดียวกัน นอกจากแก่งแล้ว ระบบนิเวศอื่นก็คงอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างกันเพียงแต่อยู่ใต้น้ำ เช่น ขุม วัง ต่าง ๆ ก็ตื้นเขินขึ้น
ในช่วงแรกของการเปิดเขื่อน ชาวบ้านลงหาปลาในแม่น้ำมูล น้อยกว่าทุกปี เนื่องจากสภาพปัญหาทางระบบนิเวศที่ไม่มีความแน่นอนเรื่องการเปิดปิดประตูระยาบน้ำเขื่อน ปากมูล ชาวบ้านที่หาปลาบอกว่าต้องรอฝนมาก่อนปลาจากแม่น้ำโขงจึงจะเข้ามาที่ปากมูลและอพยพมาตามลำน้ำมูลขึ้นไปทางเหนือต้นน้ำ โดยก่อนหน้านี้ฝนได้ตกลงมาอย่างหนักก่อนการเปิดเขื่อน ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเข้ามาเข้ามาในแม่น้ำมูล เนื่องจากบานประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลยังปิดอยู่ นั้นคือปลางวดแรก ซึ่งถือเป็นงวดใหญ่ที่สุดเพราะเป็นช่วงต้นของการอพยพของปลาใหญ่ แต่เดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากไม่มีฝนแล้วยังเป็นช่วงปลายของการอพยพของปลาแล้ว
ต้นเดือนสิงหาคม ฝนใหญ่เทลงมา ทำให้ชาวบ้านหาปลาได้มาก โดยเฉพาะตามลวงไหลมอง เรือเกือบร้อยลำเข้าคิวลงไหลมอง แต่ละครั้งที่ไหลมักจะมีปลาตัวใหญ่ติดมองขึ้นมาให้คนหาปลาได้มีกำลังใจหาในครั้งต่อไป รายได้ช่วงต้นสิงหาคมนั้นนับเป็นรายได้ที่ค่อนข้างดี อย่างน้อยไม่ต่ำกว่าวันละ 100-200 บาท คนขยัน หรือหาเก่งก็จะได้มาก ส่วนการหาด้วยวิธีอื่นก็สามารถทำได้ในช่วงนั้น ได้แก่ การใส่ตุ้มปลายอนของบ้านค้อใต้ อำเภอพิบูลมังสาหาร และบ้าน ท่าแพ อำเภอโขงเจียม การหาด้วยการใส่เบ็ดราว จั่น อีหลง ลอบ และอื่น ๆ ตามแต่คนหาปลาคนใดถนัดเครื่องมือชนิดใด ปลาที่มากับน้ำในต้นเดือนสิงหาคมคนหาปลาบอกว่าน่าจะเป็นปลางวดสุดท้ายของปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อเห็น “ปลาบักบาน” แล้ว ก็ยิ่งมั่นใจว่าปลาขึ้นหมดแล้ว เพราะตามภูมิปัญญาและประสบการณ์คนหาปลา ปลาบักบานจะเป็นปลาที่ขึ้นสุดท้ายของปลาชนิดอื่น ราคาปลาในช่วงเดือนสิงหาขึ้นอยู่กับปริมาณปลาที่คนหาปลาได้ในแต่ละวัน ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แน่นอน หากวันใดได้มากปลาจะราคาถูก วันใดน้อยก็จะได้ราคาเพิ่มขึ้น แม่น้ำมูลช่วงที่ผ่านมาคึกคักด้วยแม่ค้าและคนหาปลาทั่วทั้งลำน้ำ
ในปลายเดือนสิงหาคม 2547 น้ำเริ่มไหลเชี่ยว ทำให้คนหาปลาไม่สามารถลงหาปลาได้ หากเป็นก่อนการสร้างเขื่อนก็ถือเป็นช่วงพัก แต่เมื่อเปิดเขื่อนซึ่งมีเวลาเพียงสี่เดือน ชาวบ้านบอกว่าเหมือนถูกบังคับให้พัก เพราะปลาก็ไม่เข้าแล้วในเดือนสิบ และน้ำก็มากไม่สามารถลงเครื่องมือบางอย่างได้ ซึ่งในความรู้สึกของคนหาปลาเวลาสำหรับการหาปลาน้อยมาก ยังไม่อยากพักเพราะการหาปลาช่วงปลาขึ้นเป็นการหารายได้ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ก็ต้องหยุดเพราะน้ำมากและไม่มีปลาให้หา จะมีก็เครื่องมือที่ใช้ตามริมฝั่งน้ำ เช่น จั่น อีหลง ลอบ เบ็ด มองชำ เป็นต้น(สนทนากลุ่มย่อย ครั้งที่ 2 วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553)
ชาวบ้านสังเกตเห็นว่า เปิดเขื่อนครั้งนี้ การเดินทางของปลานั้นเร็วมาก โดยในช่วงแรกที่ปลาเข้ามาที่บริเวณปากมูล กว่าจะถึงวังสะแบงใต้ก็ใช้เวลาอย่างน้อย 2 วัน และจาก วังสะแบงใต้ไปถึงลวงบ้านหนองโพธิ์อย่างน้อย 3 วัน แต่ปีนี้ปลาใช้เวลาเพียงคืนเดียวก็เดินทางถึงอำเภอพิบูลมังสาหารแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะระบบนิเวศ แก่ง ขุม วัง และสภาพน้ำที่แตกต่างจากธรรมชาติก่อนการสร้างเขื่อน ต้นเดือนกันยายนชาวบ้านบอกว่าเป็นช่วงปลายปลาเริ่ม “อ่วยลงของ” คงรอแต่ปลาที่ค้างวังเท่านั้นที่จะเป็นความหวังของคนหาปลาต่อไป (นายสุขี สีรักษา, สนทนากลุ่มย่อยวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553)
ในปี 2548 เมื่อถึงกำหนดการเปิดประตูเขื่อนตามมติ ครม.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่ยอมเปิดเขื่อนในเวลาที่กำหนด อ้างว่าเนื่องจากจังหวัดอุบลราชธานีพบกับภาวะภัยแล้ง จำเป็นต้องเก็บน้ำในเขื่อนไว้เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งในความเป็นจริงในบริเวณดังกล่าวได้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนกระทั่งถึงพฤษภาคม ซึ่งในข้อเท็จจริงนี้ ก็ได้รับรองโดยหน่วยงานราชการในจังหวัดผ่านตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล แต่กระนั้นก็ตาม กฟผ.พร้อมกันนี้ชาวบ้านก็ได้เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กฟผ.ทำตามมติ ครม. จวบจนวันที่ 24 พฤษภาคม 2548 จึงเริ่มระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำ และยกประตูขึ้นทั้งหมดในวันที่ 31 พฤษภาคม ในปีนี้ประตูเขื่อนได้ปิดลงในวันที่ 30 กันยายน 2548
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:47:01 น.
  
4.5.3 สถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องการเปิด – ปิดประตูระบายน้ำ
สถานการณ์ความขัดแย้งในช่วงนี้เริมเด่นชัดขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลพยายามต่อรองให้แก้ไขปัญหาด้วยการเปิดประตูระบายน้ำอย่างถาวร ได้มีศูนย์อำนวยการปฏิบัติการเพื่อเอาชนะความยากจน (ศตจ.) นำโดย พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เข้ามาในพื้นที่ 3 อำเภอ โดยอ้างว่าจะเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินให้กับชาวบ้าน ซึ่งจะดำเนินการเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดิน การเลือกพื้นที่ 3 อำเภอเนื่องจากเป็นพื้นที่มีความขัดแย้งสูงจากกรณีการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการเข้ามาของ ศตจ. และการดำเนินการทุกอย่างในพื้นที่ใช้การร่วมมือกันระหว่าง ศตจ.และเจ้าหน้าที่ของ กฟผ. ซึ่งเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 มีการประชุมชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน 3 อำเภอ ร่วมกับ ศตจ. ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เป็นการประชุมเพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาความยากจน
กฟผ. ได้พยายามนำเสนอในที่ประชุมให้มีการปิดเขื่อนปากมูล โดยอ้างว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนได้ จากการมีน้ำทำการเกษตร ซึ่งขัดกับความเป็นจริงในพื้นที่ เนื่องจากชาวบ้านมีอาชีพหลักอยู่กับการหาปลาในแม่น้ำมูล มีการระดมความเห็นเกี่ยวกับการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และการนำเขื่อนมาใช้ให้เต็มศักยภาพ และข้อเสนอในที่ประชุมในครั้งนั้น อยู่ที่การเสนอให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่ให้เปิดประตูเขื่อน 4 เดือนและปิดอีก 8 เดือน ซึ่งประเด็นดังกล่าวไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการจัดสรรที่ดินที่เป็นบทบาทหลักของ ศตจ.พ่อสมเกียรติ พ้นภัย ตั้งข้อสังเกตว่า ศตจ. เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านให้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน มากกว่าการมาแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน (สมเกียรติ พ้นภัย, สนทนากลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 วันที่ 19 พฤศจิกายน 2552)
ต่อมาในเดือนตุลาคม 2549 ศตจ. ได้มีการระดมชาวบ้านในเขตผลกระทบจากเขื่อนปากมูล จาก 3 อำเภอ ได้แก่ โขงเจียม สิรินธร และพิบูลมังสาหาร เข้าร่วมประชุมรับฟัง การชี้แจงบทบาทการทำงานของหน่วยงาน โดยในช่วงท้ายพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ได้เน้นย้ำว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลชาวบ้าน แต่มีหน้าที่ในการจัดหาไฟฟ้าให้กับประชาชนหากเดือดร้อนหรือมีความต้องการในเรื่องใดก็ให้ไปหาหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในความเป็นจริง การแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลเป็นเรื่องในเชิงนโยบาย กระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในเรื่องที่ดินของชาวบ้าน การดำเนินการของ ศตจ.ยิ่งเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชุมชนมากขึ้น เนื่องจากกระบวนการในการดำเนินการนั้น นำไปสู่การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ซึ่งไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาความยากจน
การพยายามสร้างกลุ่มขัดแย้งขึ้นมาในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และได้มีการรวบรวมรายชื่อชาวบ้านโดยอ้างว่าเพื่อนำไปเสนอถึงรัฐบาลให้จ่ายค่าชดเชย ครอบครัวละ 5 แสนบาท และไม่ต้องไปต่อสู้ และในวันที่ 5 เมษายน 2550 ได้มีการว่าจ้างชาวบ้านคนละ 150 บาท เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ เรียกร้องให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้เปิดประตูระบายน้ำ 4 เดือน เพื่อรักษาระดับน้ำไว้เพื่อการทำเกษตร และเรียกร้องให้ กฟผ. และกรมประมงปล่อยกุ้ง ปลาลงในแม่น้ำมูลเพื่อเป็นการฟื้นฟูแม่น้ำมูล ชาวบ้านหลายคนกล่าวว่า ได้เดินทางไปด้วย แต่ไม่เคยรู้ว่ามาก่อนว่าจะไปยื่นหนังสือให้ปิดเขื่อน เพราะตนเองต้องการให้เปิดประตูระบายน้ำอย่างถาวร การไปครั้งนี้เหมือนถูกหลอกไปเป็นที่น่าสังเกตว่า กระบวนการการยื่นหนังสือในวันที่ 5 เม.ย.ดำเนินการอย่างเป็นขึ้นเป็นตอน เมื่อขบวนชาวบ้านไปถึงมีพล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง ลงมารับหนังสือจากกลุ่มชาวบ้านอย่างง่ายดายและรับปากจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่(นายคูน หวังผล, สัมภาษณ์วันที่ 5 พฤษภาคม 2550)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:47:22 น.
  
4.5.4 สถานภาพการเปิด – ปิด ประตูน้ำ ณ ปัจจุบัน
สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ได้พิจารณากำหนดการเปิด-ปิดประตูน้ำ โดยเห็นชอบให้ กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อกำหนดการเปิดปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูล ต่อมาในวันที่ 18 กรกฎาคม 2550 ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เชิญตัวแทนชาวบ้านที่เกี่ยวข้องพร้อมส่วนราชการประชุมปรึกษากันและมีมติเห็นชอบให้เริ่มพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนในวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 และเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน วันที่ 12 สิงหาคม 2550 และ ได้ปิดประตูระบายน้ำในวันที่ 5 ธันวาคม 2550
ในปี 2551 ได้มีการดำเนินการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำโดยกลไกคณะกรรมกรรจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้มีการกำหนดเกณฑ์ในการเปิดประตูน้ำใหม่ โดยพิจารณาจากปริมาณน้ำที่ไหลมาจากข้างบน ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมที่ตัวเมืองอุบลราชธานี คือ ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลจะต้องเปิดทันทีเมื่อการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานีอยู่ที่ 500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในเวลา 1 วันหรือหากไม่มีการไหลของน้ำในเกณฑ์ดังกล่าวให้ยกประตูเขื่อนภายในวันที่ 15 มิถุนายน ซึ่งเขื่อนได้เปิดขึ้นในวันที่ 9 มิถุนายน 2551
ในปี 2552 คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล ได้มีการประชุมในวันที่ และมีมติให้ใช้เกณฑ์การเปิดประตูเขื่อนตามแนวทางที่ได้กำหนดเมื่อปี 2551 แต่ขยายเวลาเมื่อการไหลของน้ำที่สะพานเสรีประชาธิปไตย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าว จะใช้เป็นสำหรับการจัดการการเปิดเขื่อนในปี 2553 ด้วย
เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 ตัวแทนสมัชชาคนจนได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทีทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีต่าง ๆ ซึ่งต่อมานายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้นายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม ซึ่งต่อมาได้กำหนดการเข้าเจรจาพูดคุยกับสมัชชาคนจน ในวันที่ 11 มิถุนายน, 24 มิถุนายน, 22 กรกฎาคม 2552 จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล โดยมีนายสาธิต วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และต่อมาในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 ได้มีการประชุมครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาลที่ ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 2 ชุดคือคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น และข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนจากการสร้างเขื่อนปากมูล และคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลงาวิจัยและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล
คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2553 และยังไม่ได้ข้อสรุปที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาเรื่องเขื่อนปากมมูล
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:47:41 น.
  

4.6 สรุป

การวิจัยในบทนี้ผู้วิจัยมุ่งอธิบาย 2 ประเด็น คือ 1) ความเป็นมาของสภาพปัญหาและการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และ 2) การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร
4.6.1 ความเป็นมาของสภาพปัญหาและการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
โดยสรุปภาพรวมทั้ง 2 ช่วง คือช่วงก่อนที่จะมีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลและช่วงที่มีนโยบายให้เปิด-ปิดประตูรายน้ำเขื่อนปากมูล ได้ข้อค้นพบที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านต้องรวมตัวกันเคลื่อนไหวต่อรองเพื่อให้มีการเปิดประตูระบายน้ำอย่างถาวร ดังนี้
4.6.1.1 หลังจากการสร้างเขื่อนปากมูล ระบบนิเวศแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชนด้วย
4.6.1.2 ระบบนิเวศแม่น้ำมูลมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านปากมูลเป็นอย่างมากเนื่องจากชาวบ้าน ต้องอาศัยแม่น้ำมูลในการดำรงชีวิต ปลานานาชนิดที่อพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูล คือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งที่มาของวัฒนธรรมปลา
4.6.1.3 ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำมูล เป็นชุมชนคนหาปลามาแต่ดั้งเดิม เมื่อมีการสร้างเขื่อนปากมูล ขวางกั้นเส้นทางการอพยพของปลาจึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในทุก ๆ ด้าน เช่น รายได้ลดลง สังคมเสื่อมถอยเพราะปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเองและระหว่างชาวบ้านกับรัฐ การอพยพแรงงาน
4.6.1.4 การปรับตัวของชาวบ้านเพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุขนั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งจากเงื่อนไขวัฒนธรรมภายในที่ชาวบ้านมีต้นทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติที่ผูกพันกับวิถีการดำรงชีพแบบเดิม และปัจจัยภายนอกเช่นโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นทักษะในการประกอบอาชีพใหม่ ปัจจัยการผลิตและ อื่น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิต
4.6.2 การจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ในที่นี้มีกลุ่มชาวบ้านที่ เคลื่อนไหวตอบโต้กันอยู่ 2 ฝ่ายคือ ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนกับกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนจากรัฐและ กฟผ.
4.6.2.1 ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล จนกระทั่งเมื่อเขื่อนปากมูล ก่อสร้างเสร็จในปี 2537 เมื่อปลาไม่สามารถอพยพมาสู่แม่น้ำมูลได้ดั่งเดิม วิถีชีวิตชาวประมงของคนลุ่มน้ำมูลจึงได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่มั่นคงทางอาหารและรายได้ทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่กลับแย่ลงเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน อย่างถาวร เพราะการเปิด ๆ ปิด ๆ (เปิด 4 ปิด 8) ไม่ได้ช่วยให้ระบบนิเวศแม่น้ำมูลฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม ดังนั้น ข้อเรียกร้องของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนในปัจจุบัน คือ
4.6.2.2 ให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถาวร หากยังไม่สามารถดำเนิน
การได้ให้รัฐจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการที่ไม่สามารถหาปลาในแม่น้ำมูนได้ให้กับชาวบ้าน
เป็นเงินครอบครัวละ 525,000 บาท หรือให้จัดหาที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่
4.6.2.3 ฟื้นฟูธรรมชาติของระบบนิเวศแม่น้ำมูน ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการสร้าง
เขื่อน อาทิ การปราบไมยราพยักษ์ในสองริมฝั่งแม่น้ำมูน การปลูกพืชทดแทนไม้ธรรมชาติที่ถูกน้ำท่วมจนเสียหาย
4.6.3 กลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนจากรัฐ และ กฟผ. จะรวมตัวกันทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน โดยอาศัยการนำจากกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีข้อเรียกร้องที่สวนทางกันกับกลุ่มสมัชชาคนจน คือ
4.6.3.1 เรียกร้องให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ไม่ให้กุ้งและปลาไหลลงแม่น้ำโขง เพื่อจะได้จับปลาได้มากขึ้น
4.6.3.2 เรียกร้องให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อรักษาระดับน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร โดยผลักดันให้รัฐบาลสร้างสถานีสูบน้ำและคลองชลประทาน
4.6.3.3 เรียกร้องให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการปล่อยพันธุ์ปลา และพันธ์กุ้งเป็นประจำทุกปี
4.6.4 ส่วนชาวบ้านในเขตตัวเมืองจังหวัดอุบล ก็มีข้อเสนอให้ กฟผ. เปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพราะเกรงว่าจะถูกน้ำท่วม หากไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล น้ำอาจท่วมหนักกว่าเดิมที่เคยท่วมก็เป็นได้
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:48:15 น.
  
บทที่ 5
กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด –ปิดประตูน้ำเขื่อนปากมมูล

ในบทนี้ผู้วิจัยจะวิเคราะห์เชื่อมโยงจากบทที่ 4 หลังจากการสร้างเขื่อนปากมูล ระบบนิเวศแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชน เนื่องด้วย ระบบนิเวศแม่น้ำมูลมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านปากมูลเป็นอย่างมาก ปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูล คือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำมูล เป็นชุมชนคนหาปลามาแต่ดั้งเดิม เมื่อมีการสร้างเขื่อนปากมูล ขวางกั้นเส้นทางการอพยพของปลา จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในทุก ๆ ด้าน เช่น รายได้ลดลง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเองและระหว่างชาวบ้านกับรัฐ
ส่วนการปรับตัวของชาวบ้านเพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุขนั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งจากเงื่อนไขวัฒนธรรมภายในที่ชาวบ้านมีต้นทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติที่ผูกพัน กับวิถีการดำรงชีพแบบเดิม และปัจจัยภายนอกเช่นโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นทักษะในการประกอบอาชีพใหม่ ปัจจัยการผลิตและ อื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิต ดังนั้นเป้าหมายในการเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูล คือการเปิดประตูระบายเขื่อนปากมูลอย่างถาวร
ในบทนี้ผู้วิจัยได้อธิบายให้เห็นถึงกลไกต่าง ๆ ที่ชาวบ้านใช้ต่อสู้ ตอบโต้ ร่อรอง เพื่อผลักดันให้มีการเปิดประตูน้ำถาวรและฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน รวมทั้งการเคลื่อนไหวตอบโต้จากรัฐและชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ โดยนำแนวคิดนิเวศวิทยาวัฒนธรรมและแนวคิดนิเวศวิทยาการเมืองมาช่วยอธิบายความขัดแย้งเรื่องเขื่อนปากมูลและข้อถกเถียงเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำที่มีความสลับซับซ้อนและเป็นพลวัตของอำนาจ ในการช่วงชิงผลประโยชน์และการสร้างความชอบธรรมของกลุ่มต่าง ๆ เพื่ออธิบายถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจ และกลยุทธ์การเคลื่อนไหวต่อสู้ ต่อรอง ของชาวบ้านปากมูล ในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงหลัก ได้แก่ ระบบนิเวศแม่น้ำมูล ปลา วิถีชีวิตชุมชน การสูญเสียอาชีพประมง เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างช่วงชิงผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูลกันดังนี้



5.1 กลยุทธ์การเคลื่อนไหวและปฏิบัติการตอบโต้ ต่อรอง

5.1.1 จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบ
ในปี พ.ศ. 2532 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ร่วมกับข้าราชการ
ในจังหวัดอุบลราชธานี ได้ประชุมชี้แจงและแจกแผ่นพับใบประชาสัมพันธ์โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและเก็บน้ำไว้ทำการเกษตรซึ่งโฆษณาแต่เรื่องดีๆไม่ได้พูดเรื่องผลกระทบแต่อย่างใด ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ดีใจเพราะเห็นว่ามีแต่ได้ประโยชน์และเพื่อการพัฒนาประเทศจะได้เจริญรุ่งเรือง
ต่อมาได้มีนักการเมืองท้องถิ่น NGO นิสิตนักศึกษา นำข้อมูลผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ระดับน้ำท่วม การอพยพโยกย้ายและการระเบิดแก่งหินมาเผยแพร่ให้ชาวบ้านได้รับรู้ ชาวบ้านจึงตื่นตัวและเริ่มตั้งคำถามถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นถ้ามีการสร้างเขื่อนปากมูล แต่ทาง กฟผ. ไม่ยอมเปิดเผยข้อเท็จจริงของโครงการฯ และพยายามบิดเบือนข้อมูลและประชาสัมพันธ์แต่ด้านดีและผลประโยชน์ของเขื่อนเท่านั้น ชาวบ้านจึงจับกลุ่มคุยกันและขยายวงกว้างขึ้นและได้รวมตัวกันชุมนุมคัดค้านครั้งแรกที่แก่งสะพือ จากนั้นมาก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล (กคข.) ขึ้นมาเพื่อทำกิจกรรมรณรงค์เผยแพร่ปัญหา ภายหลังคัดค้าน การสร้างเขื่อนไม่สำเร็จจึงได้รวมตัวกันตั้งเป็นคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล(ใช้ตัวย่อว่า ชชช.) เพื่อติดตามการแก้ปัญหาและเรียกร้องค่าชดเชยต่าง ๆ ที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบ เริ่มแรกมีตัวแทนจาก 13 หมู่บ้านและเพิ่มเป็น 53 หมู่บ้านในช่วงเรียกร้องค่าชดเชย จากการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพประมง ในปัจจุบันขยายเพิ่มเป็น 65 หมู่บ้าน
5.1.2 ปฏิบัติการตอบโต้โดยรัฐช่วงดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล
กฟผ.ได้พากำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านส่วนหนึ่งไปดูงานและโน้มน้าวให้สนับสนุนการสร้างเขื่อน จนกระทั่งชาวบ้านต้องแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายและเริ่มขัดแย้งกัน จนถึงขั้นจัดม๊อบมาไล่ตีชาวบ้านที่ชุมนุมอย่างสงบหลายครั้งหลายคราจนชุมชนอยู่ไม่เป็นสุข ญาติพี่น้องต้องทะเลาะกันเอง ยิ่งไปกว่านั้น แรกเริ่มกฟผ.ยังได้ชี้แจงข้อมูลว่าจะมีการสร้างฝายยาง ขณะที่ทำตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบให้ดูน้อยโดยระบุว่าจำนวนผู้ได้รับผลกระทบมีเพียง 241 ครอบครัวใน 11 หมู่บ้าน แต่ในความเป็นจริงมีหมู่บ้านมากกว่า 11 หมู่บ้านและมีชาวบ้านได้รับผลกระทบ มากกว่าที่ กฟผ. ชี้แจง
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:50:35 น.
  
5.2 โครงสร้างภายในระบบการบริหารจัดการองค์กรและการประสานภายนอก

5.2.1 โครงสร้างองค์กรช่วงแรกก่อนสร้างเขื่อน
ชาวบ้านมีลักษณะการรวมกลุ่มกันแบบหลวมๆ ในปี 2532 มีนักการเมืองท้องถิ่นเป็นผู้นำได้แก่ นายอิสระ สมชัย (ส.ส. สอบตกในสมัยนั้น) นายไพทูรย์ ชอบเสียง (ส.จ.อ.พิบูล มังสาหาร) และใช้วิธีประสานงาน ผ่านแกนนำชาวบ้านเพียงสองสามคนและใช้วิธีปากต่อปากบอกต่อกันไป ต่อมามีนักศึกษาและ NGO เข้ามาช่วยประสานงานจัดตั้ง จึงเกิดกลุ่มคัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลขึ้น ประกอบด้วย คณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล (กคข.) มีนายไพฑูรย์ ชอบเสียง เป็นประธาน กลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอุบลราชธานี กลุ่มพิทักษ์แก่งสะพือ กลุ่มหนุ่มสาวลำน้ำมูล กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าแก่งสะพือ ชมรมพ่อค้าแม่ค้าแก่งสะพือ ชมรมพ่อค้าชาวพิบูลมังสาหาร ชมรมนักเรียนนักศึกษาอุบลราชธานี กลุ่มพิทักษ์ความยุติธรรม เป็นต้น โดยองค์กรพัฒนาเอกชนที่บทบาทสำคัญในขณะนั้นคือ สมาคมสิทธิและเสรีภาพเพื่อประชาชน มีทนาย นิกร วีสเพ็ญ เป็นผู้ประสานงานและคอยให้คำแนะนำ อบรมความรู้ สร้างความเข้าใจให้ชาวบ้านตระหนักถึงเรื่องสิทธิของตนเองในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งประสานงานกับแนวร่วมชนชั้นกลางในเมืองและองค์กรพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในการรณรงค์คัดค้านและเผยแพร่ปัญหาที่รัฐบาลและการไฟฟ้าฯบิดเบือน ปิดบัง ข้อมูล ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล และคอยตรวจสอบความไม่โปร่งใสของโครงการฯ
5.2.2 โครงสร้างองค์กรช่วงที่กำลังก่อสร้างเขื่อน
ก่อตั้ง คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล
เมื่อการคัดค้านไม่สำเร็จ เขื่อนปากมูลถูกสร้างขึ้น ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลได้ร่วมกันก่อตั้ง “คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล” โดยมีตัวแทนชาวบ้านเริ่มแรกจำนวน 13 หมู่บ้านเป็นกรรมการบ้านละ 1 คน และ มี NGOs จาก มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เป็นที่ปรึกษา มีอาสาสมัครจากนักศึกษา เยาวชนในหมู่บ้านและชาวบ้านเป็นผู้คอยประสานงานโดยใช้การประชุมเป็นเวทีในการตัดสินใจร่วมกันในทุก ๆ เรื่องและลักษณะสำคัญของโครงสร้างการรวมกลุ่มของชาวบ้านปากมูล คือ การตัดสินในแบบมีส่วนร่วม และการจัดการแบบกระจายอำนาจ โดยมีการสร้างกลไกเพื่อให้การตัดสินใต้ภายในองค์กรเป็นไปในแนวราบ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตัดสินใจแบบรวมศูนย์ และให้สมาชิกแต่ละคนแต่ละกลุ่มมีอำนาจ ในการตัดสินใจแบบเสมอหน้าเท่าเทียมกัน (ประภาส ปิ่นตบแต่ง, 2541 : 99)โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและติดตามการแก้ปัญหาเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนอย่างยั่งยืน
ในปี 2536 ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลได้เข้าร่วมชุมนุมใหญ่กับสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ) และได้คัดเลือกตัวแทนคือ นายเคน ไชยโกฏิ์ ไปเข้าร่วมประชุมในระดับแกนนำกลุ่มปัญหาซึ่งขณะนั้นมีนายบำรุง คะโยธา เป็นเลขาธิการ สกย.อ มีกลุ่มปัญหาทั้งหมด 9 กลุ่มปัญหา เขื่อนปากมูลเป็นหนึ่งในปัญหากลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ต่อมาได้มีการเลือกกรรมการตัวแทนเขต สกย.อ และชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ได้ส่งนายทองเจริญ สีหาธรรม เป็นตัวแทนประสานงานในระดับเขตของ สกย.อ ซึ่งนายทองเจริญ สีหาธรรม จะร่วมประชุมปรึกษาหารือกับแกนนำชาวบ้านทุกครั้งทั้งก่อนไปร่วมประชุม และหลังไปประชุมแล้ว เพื่อการตัดสินใจร่วมกัน ในการกำหนดกิจกรรมในพื้นที่และการชุมนุมร่วมกับ สกย.อ โดยขณะนั้นมีโครงการอนุรักษ์ ลุ่มน้ำมูล ภายใต้มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เป็นพี่เลี้ยงและประสานงานภายนอกและ ทีมเจ้าหน้าที่สนาม อาสาสมัครชาวบ้าน นักศึกษา ลงพื้นที่ประสานงานภายใน จากเดิมมี13 หมู่บ้าน ในเขต 3 อำเภอ คือ อ.พิบูลมังสาหาร อ.สิรินธร และ อ.โขงเจียม จนชาวบ้านมีความตื่นตัวเพิ่มขึ้นเป็น 53 หมู่บ้าน
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:50:59 น.
  
5.2.3 โครงสร้างองค์กรช่วงที่เขื่อนสร้างเสร็จแล้ว
กำเนิดสมัชชาคนจน
ช่วงนี้ได้มีการก่อตั้งสมัชชาคนจนอย่างเป็นทางการโดยมีโครงสร้างองค์กรแบบสมัชชาที่ประชุมใหญ่ ไม่มีเลขาธิการ ไม่มีผู้อำนวยการ ไม่มีประธาน มีเครือข่ายกลุ่มปัญหา 7 กลุ่มรวม 121 กรณีปัญหา จาก 35 จังหวัด มีการประชุมตัวแทนปัญหาหรือที่เรียกว่าที่ประชุมพ่อครัวใหญ่ร่วมกับที่ปรึกษา พี่เลี้ยงแต่ละเครือข่ายปัญหาและกองเลขาเดือนละครั้งหรือแล้วแต่สถานการณ์ ชาวบ้านปากมูลยังใช้โครงสร้างองค์กรแบบเดิมคือ “คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูล” (ชชช.) โดยมีแกนนำชาวบ้านเพิ่มเป็น 65 หมู่บ้านเป็นที่ประชุมใหญ่ในการกำหนดแนวทาง คิดค้นกิจกรรมและตัดสินใจ ร่วมกันกับทีมที่ปรึกษา พี่เลี้ยง และคัดเลือกตัวแทน 2 คน ไปร่วมประชุมพ่อครัวใหญ่กับสมัชชาคนจน
ช่วงนี้ชาวบ้านยังได้รวมกลุ่มก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมาตามเงื่อนไขข้อตกลงของ “คณะกรรมการช่วยเหลือและพัฒนาอาชีพเกษตรกรประมงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล” โดยใช้ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรปากมูล จำกัด” และบริหารงานตามข้อบังคับของที่ประชุมใหญ่ และออกระเบียบในการบริหารสหกรณ์ ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และใช้ระบบการกริหารงานในรูปแบบของคณะกรรมการดำเนินงาน และจัดจ้างฝ่ายจัดการตามระเบียบข้อบังคับของสหกรณ์ ซึ่งระบบการทำงานได้แยกออกจากกันระหว่างองค์กรชาวบ้าน (ชชช.) สมัชชาคนจน กับสหกรณ์ฯ แต่ในส่วนของคณะกรรมการดำเนินงานและสมาชิกสหกรณ์ฯก็ยังเป็นกลุ่มองค์กรเดียวกันกับองค์กรชาวบ้าน (ชชช.) และสมัชชาคนจน รวมทั้งผู้ปฏิบัติงาน พี่เลี้ยงและที่ปรึกษาด้วย ความสัมพันธ์นี้แยกกันไม่ออก และในระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวบ้านปากมูลและสมัชชาคนจน จึงเป็นเหตุให้รัฐบาล ใช้ช่องทางกฎหมายที่มีอยู่ในมือ เข้ามาควบคุมและแทรกแซงการบริหารงานภายในของสหกรณ์ฯและพยายามทุกวิถีทางสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง แตกแยกภายในสหกรณ์ เช่นการยุยงให้ชาวบ้านถอนหุ้นออกจากสหกรณ์ฯ กล่าวกล่าวหาว่าสหกรณ์บริหารงานไม่โปร่งใส เป็นต้น
แต่ถึงอย่างไรชาวบ้านปากมูลก็ยังหนักแน่นและเชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้สรุปบทเรียนระดมสมองความรู้ภูมิปัญญาจากหลายฝ่ายและวิเคราะห์ปัญหาภายในร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาและปรับปรุงองค์กรอยู่ตลอดเวลา ซึ่งขณะนี้ได้มี “ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้าน” ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจและขับเคลื่อนพลังขององค์กรชาวบ้านปากมูลต่อไป
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:51:21 น.
  
5.3 เป้าหมาย วิธีการเคลื่อนไหวรูปแบบต่าง ๆ และการตอบโต้

5.3.1 ช่วงก่อนสร้างเขื่อน
ชาวบ้านมีเป้าหมายอย่างเดียวคือให้ทางรัฐบาลและ กฟผ. เปิดเผย ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล และข้อมูลผลกระทบทุกด้าน แต่รัฐบาลและ กฟผ. กลับใช้วิธีการโฆษณาชวนเชื่อ บิดเบือนข้อเท็จจริงและพยายามผลัก ดันโครงการฯโดยใช้นักการเมืองระดับชาติอย่าง ร.ต.อ เฉลิม อยู่บำรุง มาปราศรัยปลุกระดมให้ข้าราชการตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนปากมูลพร้อมทั้งเกณฑ์ชาวบ้านจำนวนหนึ่งเพื่อเอามาอ้างว่าเป็นคนส่วนใหญ่ที่อยากได้เขื่อน และนี่คือที่มาของ “ปฏิกิริยาคู่ขนานที่นำไป่สู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงโดย เริ่มต้นจากรัฐบาล” เรียกว่า ฝ่ายคัดค้านโครงการฯ กับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลสร้างเขื่อนปากมูล
5.3.1.1 วิธีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านฝ่ายคัดค้านเขื่อนและการตอบโต้จากรัฐ
ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์คัดค้านเขื่อนปากมูล โดยมีตัวแทนชาวบ้านหาดคูเดื่อในอำเภอเมืองอุบล อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอโขงเจียม กลุ่มนักกฎหมายจังหวัดอุบลฯ สมาคมสิทธิและเสรีภาพเพื่อประชาชน (สสส.อุบล) สมาชิกสภาเทศบาล และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าแก่งสะพือ เป็นกรรมการ มีนายไพฑูรย์ ชอบเสียง เป็นประธาน เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อน หลากหลายรูปแบบ และขณะเดียวกันก็เกิดการตอบโต้จากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:52:04 น.
  
5.3.1.2 การพัฒนาข้อเรียกร้อง และผลลัพธ์ที่ได้
ผลลัพธ์ที่ได้จากการเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อรณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนปากมูลในช่วงแรก นั้นไม่บรรลุเป้าหมาย เพราะ ฝ่ายคัดค้านโครงการฯ มีพลังค่อนข้างน้อยที่จะต่อรองกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ ในการรวมกลุ่ม การสื่อสารภายในกลุ่มมีน้อยไม่ทั่วถึง ขาดข้อมูลความรู้จริงในปัญหา ในขณะที่ฝ่ายสนับสนุนใช้พลังอำนาจทางการเมือง และใช้วิธีการตอบโต้หลายรูปแบบต่อฝ่ายคัดค้านโครงการฯอย่างรุนแรง โดยไม่สนใจที่จะประนีประนอม มีการจัดตั้งกลุ่มชาวบ้านมาเผชิญหน้ากัน และใช้มาตรการปราบปรามการชุมนุมอย่างเด็ดขาด จนเกิดการประทะกัน ชาวบ้านได้รับบาดเจ็บและเสียขวัญ จึงเกิดผลกระทบบานปลายออกไป และยืดเยื้อยาวนานถึงช่วงที่กำลังทำการก่อสร้างและหลังเขื่อนสร้างเสร็จแล้ว
5.3.2 ช่วงกำลังก่อสร้างเขื่อน
ชาวบ้านมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และสร้างหลักประกันการดำเนินชีวิตทุกด้านในช่วงนี้เป็นรอยต่อของขั้วอำนาจทางการเมืองจากการยึดอำนาจรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและอำนาจอยู่ในมือของกองทัพแบบเบ็ดเสร็จ มีการปรามปรามผู้ชุมนุมโดยทหารด้วยวิธีการรุนแรง และจับกุมชาวบ้านไม่เว้นแม้แต่พระในกรณีปัญหาโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) แต่กรณีเขื่อนปากมูลกลับมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักโดยมีกิจกรรมหลากหลายรูปแบบทั้งชาวบ้านและนักศึกษาตั้งแต่เริ่มมีโครงการฯ ปี2532 ถึง ปัจจุบัน2553 ดังนี้
5.3.2.1 ตัวแทนชาวบ้านค้านเขื่อนปากมูลยื่นหนังสือถึง นายลิวอิสที่ เพรสติน ประธานธนาคาร โลกให้พิจารณาระงับเงินกู้ ให้กฟผ. ที่หน้าทีทำการธนาคารโลก
5.3.2.2 นักศึกษาที่เข้าร่วมชุมนุม 22 คน นั่งอดข้าวประท้วงหน้าทำเนียบ
5.3.2.3 ธนาคารโลกเลื่อนการพิจารณาในการอนุมัติเงินกู้สร้างเขื่อนและตัวแทนธนาคารโลกจาก 10 ประเทศ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลและพบชาวบ้าน
5.3.2.4 ชาวบ้านจำนวน 1,000 กว่าคนมาร่วมชุมนุมกันที่บริเวณแก่งสะพือ อ.พิบูลมังสาหาร ทำพิธีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับตัวแทนจากธนาคารโลก และมอบของที่ระลึกโดยตัวแทนจากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำสัญญาว่าจะไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับโครงการเขื่อนปากมูลอย่างเด็ดขาด ผลลัพธ์ที่อกมาคือธนาคารโลกอนุมัติเงินกู้รัฐบาลไทยจำนวน 22 ล้านเหรียญหรือ 567 ล้านบาท ด้วยมติไม่เป็นเอกฉันท์ โดยมีประเทศใหญ่ ๆ คือสหรัฐอเมริกา,เยอรมันและออสเตรเลีย ออกเสียงคัดค้านไม่อนุมัติและประเทศอังกฤษงดออกเสียง
5.3.2.5 โครงการอนุรักษ์ลุ่มน้ำมูลร่วมกับNGO กลุ่มสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการจัดสัมมนาวิพากษ์เขื่อนปากมูลครั้งใหญ่โดยเชิญนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทางด้านประมงและชีววิทยา มาเปิดเผยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา
5.3.2.6 ชาวบ้านปากมูลและนักศึกษาชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาลและทำการอดข้าวประ ท้วงการระเบิดแก่งตะนะในเขตอุทยานแห่งชาติ
5.3.2.7 ชาวบ้านจำนวน 200 คน ได้เดินเท้าไปยังหัวงานสร้างเขื่อน เพื่อเรียกร้องให้ กฟผ.ยุติการระเบิดแก่งคันเห่ว ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ เพราะทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงไม่ขันมายังลำน้ำมูล จนปลาลดปริมาณลงอย่างมาก แต่ได้รับการชี้แจงจากนายประสิทธิ์ ศรีแสงเชื้อ หัวหน้าการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ชี้แจงว่าต้องระเบิดแก่งต่อไปตามนโยบายรัฐบาล หากน้ำท่วมที่ดินชาวบ้านสูงกว่า 108 เมตร กฟผ. จะจ่ายค่าชดเชยให้ หลังจากนั้นชาวบ้านได้ไปที่ สภอ.โขงเจียม เข้าแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีกับ กฟผ. ในข้อหา ลักลอบทำลายแก่งคันเห่ว ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งตะนะ
5.3.2.8 ชาวบ้านปากมูลร่วมเดินรณรงค์จากอำเภอพิบูลฯ ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ไปตามเส้นทางอำเภอโขงเจียมและเข้าไปปักหลักชุมนุมบนกลางสะพานชั่วคราวบริเวณหัวงานก่อสร้างเขื่อนปากมูล จนกระทั่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและ อปพร.ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมทำให้ได้รับบาดเจ็บหลายราย
5.3.2.9 ชาวบ้านปากมูลเดินทางเข้าไปชุมนุมในกรุงเทพฯร่วมกับนักศึกษา
อีกครั้ง โดยมีข้อเรียกร้องซึ่งต่อมาได้ทำบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญากันไว้ดังนี้
1) ให้ กฟผ. ทำแผนที่และประกาศเขตบริเวณที่นำท่วมถึง 108 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ให้แก่สาธารณะชน และ ผู้เสียหายได้รับทราบอย่างชัดเจนภายใน 30 วันนับ ตั้งแต่วันที่ได้ตกลงกัน
2) ให้ กฟผ. ชดใช้คาเสียหาย ค่าที่ดิน และค่ารื้อถอนในที่ดินที่ผู้เสียหายครอบครองและทำประโยชน์ตามความเป็นจริง รวมทั้งค่าเสียหายในสิ่งปลูกสร้าง ต้นไม้ หรือทรัพย์สินอย่างอื่นอันถูกน้ำท่วมตามประกาศในข้อ 1 ให้แก่ผู้เสียหาย โดยชดใช้ราคาตามท้องตลาดและอย่างเป็นธรรม
3) สำหรับราษฎรที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านหัวเห่วก่อนการก่อสร้าง ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูลที่ต้องการที่อยู่อาศัยใหม่ กฟผ. จะดำเนินการข้อ 2 เป็นไปตามความสมัครใจแต่ละรายกฟผ. จะต้องจัดสร้างบ้าน จัดสรรดิน ที่อยู่อาศัย และที่ทำนา หรือที่ทำกินให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบโดยที่นาหรือที่ทำกิน ต้องมีความเหมาะสม มีแหล่งน้ำสาธารณูปโภคและอยู่ใกล้เคียงกับที่อยู่อาศัยเดิม ในกรณีที กฟผ. ไม่สามารถจัดหาที่ดินให้ได้ กฟผ. ยินดีให้ผู้รับผลกระทบไปหาที่ดินที่มีสภาพใกล้เคียงกับที่เดิม ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน กฟผ.จะเป็นผู้จ่ายเงินให้ตามจำนวนเนื้อที่ดินที่ได้รับผลกระทบจริง แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ตามราคาท้องตลาดหรือราคาประเมินตามความเหมาะสม ส่วนกรณีที่ดินที่ได้รับผลกระทบไม่เต็มแปลงและที่ดินส่วนที่เหลือใช้ประโยชน์ไม่ได้ กฟผ. จะรับซื้อที่ดินดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติที่ดิน
4) จัดตั้งคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนชาวบ้าน ผู้แทนกรม
ประมงนักวิชาการที่ชาวบ้านเสนอ และตัวแทนจาก กฟผ. เพื่อศึกษาและสำรวจผลกระทบจากอาชีพประมง นักวิชาการที่ชาวบ้านเสนอ และตัวแทนจาก กฟผ. เพื่อศึกษาและสำรวจผลกระทบจากอาชีพประมง ในระหว่างการก่อสร้างในบริเวณโครงการ ( ตั้งแต่แก่งตะนะถึงแก่งสะพือ )ที่ได้รับผลประโยชน์ และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการช่วยเหลือและชดเชยใช้ผู้ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสม และให้รายงานการศึกษาผลกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
5) ถ้าปรากฏว่ามีโรคพยาธิใบไม้ในเลือดเกิดขึ้นภายหลังการสร้างเขื่อนปากมูล กฟผ. จะต้องรับผิดชอบในค่ารักษาพยาบาล ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาทางด้านสาธารณสุขให้แก่ผู้เสียหายทุกคนด้วย
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:53:29 น.
  
6) ค่าเสียหายต่าง ๆ จากข้อ 2–5 หากคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายยังไม่พอใจ
ให้คู่สัญญาฝ่ายที่เสียประโยชน์ นำเข้าสู่การพิจารณา ของอนุญาโตตุลาการ ผลการพิจาณาตัดสินของอนุญาโตตุลาการถือเป็นข้อยุติ
- ชาวบ้านใช้วิธีการไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายอำเภอเป็นรายตัวพร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่บันทึกความเดือดร้อนไว้เป็นหลักฐาน
- ชาวบ้านปากมูลร่วมชุมนุมกับสมัชชาเกษตรกรรายย่อย (สกย.อ) และร่วมเดินขบวนจากอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
- ชาวบ้านบุกเข้ายึดเครื่องเจาะระเบิดพร้อมเสี่ยงชีวิตทั้งนั่งทับหลุมที่ฝังระเบิดเอาไว้และปักหลักชุมนุมยืดเยื้อที่บริเวณร่องน้ำท้ายเขื่อนเพื่อกดดันให้รัฐบาลหยุดระเบิดก่อนเปิดการเจรจา
- ผลลัพธ์ที่ได้คือรัฐบาลมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาช่วยเหลือราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กรรมการอื่น ๆ ก็มาจากข้าราชการทั้งสิ้น หน้าที่หลักๆของคณะกรรมการคือ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือราษฎร ที่ได้รับผลกระทบ และได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล ดังนี้
(1) ค่าชดเชย ที่ดินทำกินที่ถูกน้ำท่วม ไร่ละ 35,000 บาท และจัดหาที่ดินทำกินให้อีกเท่าจำนวนที่ถูกน้ำท่วมแต่ต้องไม่เกิน 10 ไร่
(2) ค่าชดเชยบ้านเรือนที่ถูกน้ำท่วมหลังละ 135,000 บาทพร้อมค่าเรื้อถอนโดยให้ชาวบ้านไปหาที่ปลูกสร้างใหม่เอง
(3) สำหรับผู้ที่ต้องการให้ กฟผ. ปลูกสร้างบ้านให้ จะได้อยู่ในบ้านจัดสรรบนเนื้อที่ 150 ตารางวา
(4) ค่าชดเชยบ้านเรือนที่อยู่ใกล้น้ำหรือลักษณะน้ำล้อม
หลังละ 100,000 บาทพร้อมค่ารื้อถอนโดยให้ชาวบ้านไปหาที่ปลูกสร้างใหม่เอง
(5) ค่าชดเชยอื่น ๆ เช่น ต้นไม้กินผล ไม้ไผ่ ให้จ่ายตามความพอใจของชาวบ้านแล้วแต่จะตกลงกัน
(6) ค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพประมง โดยได้ทำการแบ่งโซนพื้นที่ออกเป็น 5 เขต ทำให้ชาวบ้านได้รับค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม นำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องอีกยาวนานจนในที่สุดจึงได้ข้อตกลงให้จ่ายค่าชดเชยฯครอบครัวละ 90,000 บาท โดยมีเงื่อนไขให้จ่ายเป็นเงินสด 30,000 บาท และเงินกองทุนพัฒนาอาชีพ 60,000 บาทในรูปแบบสหกรณ์การเกษตร

ผลลัพธ์ที่ได้จากปฏิบัติการเคลื่อนไหวต่อสู้
การต่อสู้ ต่อรอง ของชาวบ้านในช่วงนี้ นับว่าประสพความสำเร็จตามเป้าหมายและได้รับบทเรียนที่มีค่าหลายประการ อาทิเช่น
ประการแรก ได้เรียนรู้แนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธี ซึ่งชาวบ้านสามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาที่มีอยู่โดยธรรมชาติ มาแปรเปลี่ยนเป็นกิจกรรมที่สร้างพลังมหาศาลต่อขบวนการชาวบ้านและต่อสังคมรวมทั้งเป็นพลังกดดันรัฐบาลได้มาก นอกเหนือจากการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องการชุมนุมโดยสงบแล้ว หลักการต่อสู้แบบสันติวิธีที่ชาวปากมูลใช้คือ สู้ด้วยความจริงและทำความจริงให้ปรากฏ ด้วยความอดทน อดกลั้น เพราะชาวบ้านรู้ว่ารัฐบาลกระทำการอันเป็นเท็จ และไม่ใช่เรื่องจริง โกหก หลอกลวง ให้สังคมเชื่อในสิ่งที่ไม่จริง แต่พอความจริงปรากฏรัฐบาลก็ต้องยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะชาวบ้านพูดความจริงมาตลอด แต่รัฐไม่ฟัง
ประการที่สอง ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ปัญหากับเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรมมากมาย ได้แบ่งปันทุกข์สุข ได้เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน จนได้สร้างเครือข่ายองค์กรชาวบ้านขึ้นทั่วประเทศเพื่อติดตามปัญหาความทุกข์ยากและช่วยกันผลักดันให้ปัญหาได้รับการแก้ไข ทั้งในระดับปัญหาแต่ละพื้นที่ และในระดับนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อคนจนและสังคมโดยรวม
ประการที่สาม ได้แนวร่วมและองค์กรพันธมิตรที่เข้าใจปัญหา โดยเฉพาะแนวร่วมจากนักศึกษาเกือบทุกสถาบันทั่วประเทศ จำนวน 70 องค์กร องค์กรพัฒนาเอกชน ชมรมนักธุรกิจแห่งประเทศไทย และองค์กรการกุศลต่างประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชนทุกแขนง ทำให้ภาพการต่อสู้ของชาวปากมูลออกไปสู่สายตาของคนทั่วโลก และมีนักวิชาการ นักศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาทำการศึกษาวิจัยกรณีเขื่อนปากมูลไว้มากมาย
ประการที่สี่ ชาวบ้านปากมูลได้สร้างบรรทัดฐานให้กับสังคมไทยโดยเฉพาะการเรียกร้องค่าชดเชยการสูญเสียโอกาสในการประกอบอาชีพประมงซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่ รัฐบาลยอมจ่ายเงินชดเชยต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และเป็นบทเรียนในการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐที่จะต้องทำการศึกษาผลกระทบให้ครบทุกด้านก่อนตัดสินใจอนุมัติโครงการ โดยต้องเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบได้เข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการทุกขั้นตอน จึงจะสามารถจัดการปัญหาได้ถูกต้อง จะได้ไม่ต้องยืดเยื้อยาวนานเหมือนกรณีเขื่อนปากมูลอีก
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:53:52 น.
  
5.3.3 ช่วงสร้างเขื่อนเสร็จและปิดประตูน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า
ชาวบ้านมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนผลจากการที่รัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญาและไม่สนใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงใจและจริงจังต่อกรณีปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านปากมูลและสมัชชาคนจน เป็นผลผลักดันให้ชาวบ้านต้องชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน เพื่อผลักดันให้ กฟผ.เปิดประตูน้ำถาวร โดยใช้วิธีการตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนขึ้นที่บริเวณทางเข้าเขื่อนปากมูล และต่อมาชาวบ้านได้จัดทัพเป็นสองกลุ่มๆแรกเดินท้าวทางไกลไปตามเส้นทางในภาคอีสานเพื่อรณรงค์ปัญหาความทุกข์ยากให้ผู้คนในสังคมไทยได้เข้าใจสภาพปัญหาความเดือดร้อน ส่วนกลุ่มที่สองปฏิบัติการดื้อแพ่งโดยพากันขึ้นรถไฟแต่ไม่จ่ายค่าโดยสารเพื่อไปปักลักชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และได้ขยายหมู่บ้านเป็นแม่มูนมั่นยืน2และ3 จนกระทั่งชาวบ้านพากัน ปีนกำแพงเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล มีชาวบ้านถูกจับ 225 คน นายกรัฐมนตรี พล.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต้องลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลและพาชาวบ้านขึ้นเครื่องบิน เพื่อสำรวจพื้นที่ผลกระทบด้วย แต่ก็เป็นแค่การจัดฉากสร้างภาพทางการเมืองเท่านั้นซึ่งต่อมาครม.มีมติให้เปิดประตูน้ำเพียง 4 เดือน
5.3.3.1 ก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน
วันที่ 23 มีนาคม 2542 ชาวบ้านปากมูลและสมัชชาคนจนได้รวมกันต่อสู้อีกครั้ง โดยได้เปลี่ยนมาใช้ยุทธวิถีแบบ “ดาวกระจาย” โดยการก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนขึ้นที่บริเวณทางเข้าเขื่อนปากมูล เป็นอีกหนึ่งยุทธวิธีเชิงรุกระยะยาวของชาวบ้านปากมูลและเครือข่ายสมัชชาคนจนที่ได้วางแผนและเตรียมความพร้อมไว้ล่วงหน้า เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ ตามสัญญาประชาคมที่รัฐบาลเคยให้สัญญาไว้ และเป็นการนำเสนอวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติอย่างสอด คล้องสมดุล ที่ต้องล่มสลายจากการดำเนินโครงการพัฒนาของรัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยความเข้าใจตามแนวทางสันติวิธี
ชาวบ้านบอกว่าการตัดสินในมาตั้งชุมนุมในพื้นที่โดยการมาตั้งหมู่บ้านแม่มูนขึ้นนี้ คือการปักหลักสู้อย่างไม่มีกำหนดจนกว่าปัญหาของพวกเขาจะได้รับการแก้ไข การเคลื่อนไหวต่อสู้ในช่วงที่ชุมนุมอยู่ ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 นี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์จากการเผชิญหน้ากดดันที่หน้าทำเนียบรัฐบาลมาเป็นการต่อสู้ด้วยสันติวิธี ถึงแม้ว่าจะห่างไกลจากศูนย์รวมอำนาจก็ตาม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ยึดสันเขื่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการชุมนุมเป็นเวลานานที่ หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน และไม่ได้รับความสนใจจากรัฐ ชาวบ้านจึงต้องเคลื่อนไหวต่อรองสร้างแรงกดดันต่อรัฐ ด้วยการเข้ายึดพื้นที่บริเวณสันเขื่อนปากมูล เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเจรจาและแก้ไขตามปัญหาตามข้อเสนอของชาวบ้านคือ ให้ กฟผ.เปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน เพื่อให้ปลากจาแม่น้ำโขงมาวางไข่ในแม่น้ำมูลได้ พร้อมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชน เพื่อเป็นการชดเชยต่อการสูญเสียอาชีพประมงอย่างถาวร
ส่วนการหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 2 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นเพียงการตั้งชื่อสถานที่ชุมนุมที่มีสภาพ เป็นเพิงพักกันแดดกันฝน ไม่มีสิ่งปลูกสร้างที่มั่นคงถาวร ไม่ปิดกันเส้นทางจราจร และไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คน ที่สำคัญการชุมนุมในนามหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่การตั้งบ้านแม่มูนมั่นยืนกลับนำไปสู่ความเข้าใจผิดและเป็นที่มาของความ ขัดแย้งครั้งใหม่ เมื่อนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เข้าใจว่าชาวบ้านจะปลูกบ้านเรือนถาวรและบอกว่าจะต้องรื้อถอนออกเสีย สมัชชาคนจนจึงออกแถลงการณ์ชี้แจงและบอกกับรัฐบาลว่า การตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนเป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาที่ รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใส่ใจมากนัก แต่ที่รัฐบาลต้องพิจารณาคือ ต้นตอของปัญหาที่เกิดมาจากตลอดเวลาสองปีที่รัฐบาลเข้าบริหารประเทศ สัญญาประชาคมที่นายกรัฐมนตี ได้ประกาศไว้ไม่ได้นำไปปฏิบัติที่แย่ไปกว่านั้นหลายปัญหาถูกรัฐบาลบิดเบือน และกล่าวหาใส่ร้ายเพื่อทำลายความชอบธรรมของการเคลื่อนไหว สมัชชาคนจนจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาพิจารณาต้นตอของปัญหาที่ค้างคาอยู่ ด้วยเหตุผลตามหลักวิชาการแทนที่จะไปวิตกกังวลกับการตั้งชื่อหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน
สมัชชาคนจนจึงมีประกาศเขตปลอดความรุนแรงในพื้นที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน และมีปฏิบัติการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธีด้วยการเดินแถวเรียงหนึ่งรอบหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน เพื่อภาวนาให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติความคิดที่จะใช้ความรุนแรงและกลับมาใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาความเดือด ร้อนของชาวบ้านการตั้งหมู่บ้านคนจนเป็นหนึ่งในความพยายามของสมัชชาคนจน ที่ต้องการสร้างสันติธรรมในสังคมไทยด้วยการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ภายใต้หลักแห่งเหตุผลและองค์ความรู้ รวมทั้งยึดมั่นในแนวทางตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการรื้อทำลายหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนที่ข้างทำเนียบรัฐบาลและบุกเผาหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนที่บริเวณทางเข้าเขื่อนปากมูล
ระหว่างปี 2542 ถึง 2544 ชาวบ้านได้พยายามเดินทางไปยื่นหนังสือกับรัฐบาลที่กรุงเทพฯและจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่การชุมนุมประท้วงแบบสันติวิธีกลับไม่ได้รับความสนใจสรุปแล้วช่วงนี้ เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายชุด และในการเจรจาหลายครั้งฝ่ายรัฐมักจะอ้างว่าไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือไม่ก็บอกว่าไม่มีงบประมาณ แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด เพื่อซื้อเวลาไปเรื่อย ๆ และปล่อยให้ชาวบ้านหมดแรงกลับไปเอง แต่ชาวบ้านปากมูล ยังคงยืนหยัดต่อสู้ต่อไปจนกระทั่งฝ่ายรัฐใช้มาตรการรุนแรง ด้วยการ เผาหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 และไล่รื้อหมู่บ้านแม่มูลที่หน้าทำเนียบรัฐบาล และท้ายสุดแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล เพื่อกำหนดแนวทางและวางแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชน ทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:54:15 น.
  
5.3.3.2 การสร้างเครือข่ายเพื่อขยายแนวร่วม
การเคลื่อนไหวต่อรองที่ต้องเผชิญกับรัฐและหน่วยงานของรัฐซึ่งมีทั้งอำนาจและใช้สื่อ ในการตอบโต้และสร้างกระแสวาทกรรมในการพัฒนาว่ารัฐทำเพื่อคนส่วนใหญ่ แล้วเบียดขับชาวบ้านที่รัฐมองว่าเป็นคนส่วนน้อย ให้ไปอยู่ชายขอบของการพัฒนาโดยให้ชาวบ้านต้องเสียสละเพื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ชาวบ้านจึงต้องมีการรวมตัวกันมากขึ้นในขณะเดียวกันก็ได้พยายามประสานงานเพื่อแสวงหาแนวร่วมหรือเครือข่าย เข้ามาหนุนช่วย ได้แก่ นักพัฒนาเอกชน(NGOs) นักวิชาการ นักธุรกิจ สื่อมวลชน คนชั้นกลางในเมือง เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้สร้างเครือข่ายสมัชชาคนจนที่มีกลุ่มผู้เดือดร้อนจากโครงการพัฒนาของรัฐร่วมกันเคลื่อนไหวภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน ทำให้ได้รับความสนใจจากรัฐและสาธารณะชนมากขึ้น
นอกจากนี้ยังประสานงานและหนุนเสริมสนับสนุนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเช่น องค์กรเครือข่ายชุมชนแออัดในเมือง องค์กรนักศึกษาในสถาบันต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือในการระดมทรัพยากรและออกแถลงการณ์สนับสนุนตามช่วงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน
5.3.4 ช่วงเปิด- ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล (เปิด 4 – ปิด 8)
5.3.4.1 การเคลื่อนไหวในระดับตัวแทน
ช่วงนี้ชาวบ้านปากมูลมีการเคลื่อนไหวในระดับตัวแทนชาวบ้าน ๆ ละ 1-5 คน ไม่มีการชุมนุมใหญ่โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ กฟผ. เปิดประตูน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการเปิด –ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล กลับไปกลับมา หลายครั้ง ทำให้ชาวบ้านปากมูลต้องเฝ้าติดตามและยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีที่ตัดสินใจจากฐานการเมืองและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงภายใน การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูลจึ่งมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารต่อสาธารณะชนโดยวิธีการผลิตสื่อเช่นจุลสาร หนังสือ แผ่นผับ ใบปลิว แถลงการณ์ ยื่นหนังสือ จัดรายการวิทยุ ทำสารคดีโทรทัศน์สำหรับนักข่าวพลเมือง จัดเวทีสัมมนาวิชาการทั้งในพื้นที่ มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ตลอดจน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล การต่อรอง การเจรจากับรัฐ และอื่นๆอีก มากมายหลากหลายวิธี โดยเฉพาะการเผยแพร่ขยายผลงานวิจัยไทบ้าน ที่ชาวบ้านร่วมกันศึกษาวิจัยด้วยตนเอง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะยาวคือเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนโดยการเปิดประตูถาวร
นอกจากนี้ชาวบ้านยังใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมโดยมีการฟื้นฟูและผลิตซ้ำทางความเชื่อและพิธีกรรมบางอย่าง เช่น พิธีกรรมการสืบชะตาแม่น้ำ พิธีการเนา ตบปะทาย การทำบุญแก่ง และสืบชะตาแก่งเป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและสังคมวัฒนธรรมที่ดีงาม
ในขณะเดียวกันก็มีการตอบโต้จากรัฐและกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ กฟผ.จัดตั้งเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการยื่นหนังสือคัดค้านข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาคนจน การโต้แย้งเรื่องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรในระบบคลองชลประทานที่สร้างขึ้นมาใหม่ และข้ออ้างเรื่องการจับปลาโดยมีข้อเสนอว่าให้ปิดประตูเขื่อนเพื่อให้ชาวบ้านได้หาปลาได้มากขึ้นและให้น้ำเพื่อการเกษตรและเลี้ยงปลาในกระชัง
ปฏิบัติการตอบโต้จากกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจาก กฟผ. เป็นอย่างดีและใช้สื่อของรัฐเผยแพร่กิจกรรมการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นออกรายการวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ จัดพิธีปล่อยปลา และแถลงข่าวใหญ่โตเมื่อถึงช่วงปิดประตูระบายน้ำ โดยเลือกวันปิดประตูระบายน้ำให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม และเชิญผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีไปเป็นประธานกดปุ่มในพิธีปิดประตูระบายน้ำ
5.3.4.2 การตอบโต้ด้วยอำนาจ ความรู้ ความจริง
1) การจัดเวทีสัมมนาหรือเวทีทางวิชาการ
การจัดเวทีสัมมนาหรือเวทีทางวิชาการ เพื่อสื่อสารและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพปัญหา ผลกระทบ และความเดือนร้อนกับสาธารณชน และผู้สนใจเป็นหลัก โดยมีการจัดเวทีทั้งในระดับพื้นที่ และระดับชาติ(ส่วนกลาง)เพื่อเปิดพื้นที่ให้สื่อมวลชนนักวิชาการและผู้ที่สนใจได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชาวบ้าน หรือเพื่อร่วมกันค้นหาทางออกในการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
2) การผลิตความรู้ผ่านงานวิจัยไทบ้าน
ชาวบ้านได้ผลิตชุดความรู้และความจริงโดยทำการศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลด้วยตนเองโดยมีนักวิชาการเป็นที่ปรึกษา ชาวบ้านเห็นว่าไม่มีใครรู้ข้อมูลดีเท่าชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ จากการศึกษาพบว่า หลังการสร้างเขื่อนปากมูล ชาวปากมูลพบว่าบริเวณปากมูลมีพันธุ์ปลาธรรมชาติเหลืออยู่เพียง 43 ชนิด ในจำนวนนี้มีเพียง 4 ชนิดที่พบมากกว่าก่อนสร้างเขื่อน คือ ปลาแมว ปลาชะโด ปลากะเดิด และปลาเข็ง ส่วนปลาธรรมชาติชนิดอื่นๆ ได้ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนเหลือน้อยมาก ส่วนปลาที่หายไปส่วนมากเป็นปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงซึ่งได้หมดไปหลังจากการปิดเขื่อน 2-3 ปี เนื่องจากปลาไม่สามารถอพยพผ่านบันไดปลาโจนได้ ขณะที่แม่น้ำมูลเปลี่ยนจากน้ำไหลเป็นน้ำนิ่ง เกิดการระบาดของผักตบชวา หอยคัน น้ำเน่าเสีย และการระบาดของเห็บปลาหรือ “แม่ปลา” ที่เป็นศัตรูของปลา การสร้างเขื่อนยังได้มีการระเบิดแก่ง 5 แก่ง จาก 41 แก่ง ส่วนแก่งที่อยู่เหนือเขื่อนต้องจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ 35 แก่ง ทำให้ป่าและพืชบริเวณแก่งที่เป็นอาหาร ที่อาศัย และวางไข่ของปลาสูญหายไป ซึ่งรวมไปถึงพืชริมมูล พืชสองฝั่งลำห้วยสาขา และตลิ่งรอบดอน ขณะที่ไมยราบยักษ์ได้ระบาดสองฝั่งแม่น้ำมูลแทนพรรณพืชท้องถิ่น
ระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปนี้ยิ่งเร่งให้ปลาในแม่น้ำมูลหายไป เพราะปลาไม่สามารถอาศัย หากิน และวางไข่ได้ ขณะที่ห้วยหรือแม่น้ำสาขาของแม่น้ำมูล เช่น ห้วยตุงลุงหลังการสร้างเขื่อนมีทรายมา อุดตันทำให้ขุมและวังในห้วยตื้นเขิน การเปิดประตูเขื่อนปากมูลทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงได้อพยพขึ้นมาอาศัย หากิน และวางไข่บริเวณปากมูลและทางตอนบนรวมทั้งแม่น้ำสาขาอีกครั้ง ขณะที่ปลาที่อพยพสั้นๆ ได้อพยพกลับมายังแม่น้ำมูลบริเวณปากมูลด้วย การสำรวจพบว่ามีพันธุ์ปลากลับมาในแม่น้ำมูลถึง 156 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นปลาธรรมชาติ 148 ชนิด ส่วนอีก 8 ชนิดเป็นปลาต่างถิ่น ในจำนวนพันธุ์ปลาธรรมชาติที่กลับมานั้น เป็นปลาอพยพจากแม่น้ำโขงถึง 123 ชนิด ที่เหลือ 25 ชนิด เป็นปลาที่อพยพสั้นๆ ระหว่างแม่น้ำมูล แม่น้ำโขง และห้วยสาขา หรือที่นักวิจัยไทบ้านเรียกว่า ”ปลาอยู่มูล” ซึ่งยืนยันได้ว่าปลาแม่น้ำมูลส่วนใหญ่เป็นปลา อพยพระหว่างแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขง ปลาหลายชนิดที่พบยังเป็นปลาหายากและใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ปลาบึก ปลาตองกราย ปลาบู่หิน ปลาแข่หิน และปลาเอี่ยนหู ปลาชนิดหลังนี้ เป็นปลาที่วางไข่บริเวณทะเลจีนใต้บริเวณน้ำลึกประมาณ 1 กิโลเมตร ระหว่างเวียดนามกับฟิลิปปินส์ และเดินทางอพยพเข้ามาตามชายฝั่ง ก่อนที่จะเข้าสู่แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลเพื่อการเจริญเติบโต3 การเปิดเขื่อนปากมูลจึงทำให้ความหลากหลายของพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลกลับมาอีกครั้ง ซึ่งรวมไปถึงปลาที่หายากและใกล้จะสูญพันธุ์ด้วย
การศึกษายังพบว่า ปลาแม่น้ำโขงเริ่มอพยพขึ้นมาในแม่น้ำมูลตั้งแต่เดือน 3 (หรือประมาณ เดือนกุมภาพันธ์) ถึงเดือน 10 (เดือนกันยายน) และอพยพกลับสู่แม่น้ำโขงตั้งแต่เดือน 8 (เดือนกรกฎาคม) ถึงเดือนอ้าย (ธันวาคม) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำมูล และแม่น้ำโขงมิได้มีสี่เดือน(มิถุนายน-กันยายน) อย่างที่เข้าใจกัน แต่ปลาอพยพขึ้นลงแทบจะทั้งปี ยกเว้นเดือนยี่(เดือนมกราคม) เท่านั้น การเปิดประตูเขื่อนปากมูลยังทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำมูลที่สลับซับซ้อนได้ฟื้นสภาพที่เกือบอุดมสมบูรณ์เหมือนก่อนการสร้างเขื่อนอีกครั้ง การฟื้นของระบบนิเวศน์เริ่มจากแม่น้ำได้ไหลอีกครั้งจากแต่เดิมที่มีสภาพนิ่ง ทำให้น้ำในแม่น้ำสะอาดอย่างรวดเร็ว ผักตบชวาและหอยคันหายไปภายใน 1 เดือน หลังจากนั้นแก่งต่างๆ ในแม่น้ำมูลก็เริ่มโผล่ขึ้นมา แต่มีสภาพ “อ้น” หรืออุดตันด้วยโคลนเลนหรือตะกอนที่ทับถมช่วงปิดเขื่อน เมื่อผ่านไปประมาณ 3 เดือน สภาพการ “อ้น” ของแก่งก็เริ่มหายไป เพราะกระแสน้ำพัดพาเอาโคลนเลนหรือตะกอนออกจากแก่ง เมื่อเปิดประตูเขื่อนได้ประมาณ 5 เดือน “แม่ปลา”หรือเห็บปลาซึ่งเป็นศัตรูของปลาเริ่มลดลงและแทบจะหมดไปจากแม่น้ำ
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:54:39 น.
  
3) การยิบยืมความรู้และการตอบโต้ทางวาทกรรม
ชาวบ้านตอบโต้การสร้างนิยามความหมายของ คำว่า “มูล” เป็นคำว่า “มูน” ซึ่งต่อมา สมหมาย ชินนาคได้เขียนบทความนำเสนอในการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 2 เรื่อง “ชาติและชาติพันธุ์: วิถีชีวิตและความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในโลกปัจจุบัน” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร วันที่ 26-28 มีนาคม 2546 โดยการตีความหมายตอบโต้อำนาจผ่านการเปลี่ยนรูปและความหมายของภาษา จากคำว่า มูน ในภาษาเดิมที่แปลว่า มรดก เป็นคำว่า มูล ในภาษาของรัฐที่หมายถึงการแสดงอำนาจครอบครัวเหนือทรัพยากร เพื่อใช้ในการช่วงชิงความหมาย พื้นที่ทางสังคมและทรัพยากร โดยนำเสนอว่า ในอดีตรัฐมักจะเป็นทั้งผู้ที่มีอำนาจผูกขาดการนิยามและสร้างความหมายให้กับทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นทรัพยากรธรรมชาติจึงถูกตีค่าว่าเป็นวัตถุและเป็นของรัฐ รัฐจึงมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปจัดการหรือแทรกแซงธรรมชาติ และอาศัยกลไกรัฐเป็นเครื่องมือในการตอกย้ำความหมายเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผ่านระบบการศึกษา หรือผ่านสื่อต่างๆ
ดังนั้น การที่ชุมชนได้ให้คำนิยามและความหมายใหม่แก่แม่น้ำสายนี้จึงเป็นเสมือนการพยายามปลดแอกทรัพยากรธรรมชาติและการจัดการจากอำนาจรัฐนั่นเอง ทั้งนี้ขบวนการต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลได้ใช้รูปแบบวิธีการที่หลากหลาย และวัสดุทางวัฒนธรรม (Cultural artifacts) หลายอย่างเป็นเครื่องมือหรืออาวุธในการต่อต้านรัฐ และรูปแบบหนึ่งของกระบวนการต่อต้านรัฐ คือการสร้างวาทกรรมทางภาษา โดยการสะกดชื่อแม่น้ำซึ่งเคยถูกใช้และยอมรับในชื่อว่า “มูล” มาเป็น “มูน” แทน
ในกรณีของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลนั้น นับตั้งแต่รัฐเข้ามาควบคุมพื้นที่และอ้างสิทธิเหนือลำน้ำและพื้นที่บริเวณที่ก่อสร้างเขื่อนและใกล้เคียง พวกเขาก็ตกอยู่ในภาวะที่ถูกรัฐคุกคาม ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการตอบโต้ หรือปฏิบัติการต่อต้านเชิงพื้นที่ โดยการรวมตัวกันเป็นขบวนการทางสังคมในรูปของ “สมัชชาคนจน” และ “ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืน” เพื่อเรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของลำน้ำ แสดงให้รัฐเห็นว่าตนมีองค์ความรู้หรือความสามารถในการที่จะจัดการดูแลลำน้ำตามวิธีการของตน ท้าทายการอ้างสิทธิและความเหนือกว่าในองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำของรัฐ การทำพิธีหรือรื้อฟื้นผลิตซ้ำพิธีกรรมบางอย่างขึ้นมา เช่น พิธีสืบชะตาแม่น้ำ พิธีการเนา ฯลฯ รวมทั้งการสะกดชื่อแม่น้ำเป็น “มูล” แทน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนั่นก็คือสิ่งที่เรียกว่า “การเมืองเรื่องพื้นที่” นั่นเอง เพราะการเลือกใช้คำว่า “มูล” ของชาวบ้าน ก็คือการต่อต้านการใช้คำว่า “มูล” ที่ถูกกำหนดโดยรัฐฉะนั้น การได้ครอบครอง “มูล” ก็หมายถึงการได้สิทธิอันชอบธรรมในการครอบครองและใช้ประโยชน์จาก “มูล” ด้วยเช่นกัน อันเป็นการพยายามแย่งชิง “พื้นที่” ผ่านปฏิบัติการทางภาษา
ดังนั้น “แม่น้ำมูล” จึงถูกตีความหมายใหม่ให้กลายเป็นพื้นที่ทั้งในด้านของระบบการผลิตและระบบสัญลักษณ์ แม่น้ำมูลไม่ได้เป็นแค่เพียงลำน้ำสายหนึ่ง หากแต่เป็นบ้าน เป็นที่พักพิง เป็นพื้นที่ซึ่งชาวบ้านปากมูลพำนักอาศัย และเป็นสถานที่ต่อสู้ระหว่างชาวปากมูลกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นสัญลักษณ์ทางด้านประวัติศาสตร์ ความเป็นชุมชน ความเป็นชาติพันธุ์และความยึดมั่นผูกพันของชาวปากมูล แม่น้ำมูลคือดินแดน เขตแดน และต้นกำเนิดของขบวนการทางสังคม ลำน้ำที่ซึ่งเขตแดนแห่งความเป็นชาติพันธุ์ได้รับการรื้อถอนและปักปัน ประวัติศาสตร์ถูกตีความและผลิตใหม่ และความเป็นชาวบ้านปากมูลกับแม่น้ำมูลสนิทแนบแน่นจนไม่อาจแยกออกจากกันได้
ดังนั้นชาวบ้านจึง เลือกที่จะใช้คำว่า “มูน” ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำมูนและวิถีชีวิตชุมชน และใช้คำว่า “มูล”ในบริบทที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูลเพื่อจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการตอบโต้อำนาจรัฐด้วยวาทกรรมทางภาษา(สมหมาย ชินนาค, 2546: บทความ)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:55:04 น.
  
4) การช่วงชิงกระแสวาทกรรมการเมืองเรื่องอำนาจ ความรู้และ
ความจริง
ชาวบ้านได้หยิบยืมผลงานทางวิชาการของ กนกวรรณ มะโนรมย์(2546) ในบทความเรื่อง “การเมืองเรื่องของอำนาจ และความรู้:กรณีการตัดสินใจเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือน (กรกฎาคม-ตุลาคม ของปี) “สรุปว่า กรณีเขื่อนปากมูล ข้อมูล ความรู้ และความจริงที่ใช้ในการตัดสินใจก่อสร้างถูกกำกับและสร้างขึ้นโดยรัฐ ผ่านการศึกษาของสถาบันผู้เชี่ยวชาญ โดยมีวาทกรรมเรื่อง “การพัฒนาเพื่อความทันสมัย” อำนาจการตัดสินใจให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล 4 เดือนต่อปี อาศัยกระบวนการสร้างขึ้นมาของความจริง ความรู้ในการจัดการปัญหาเขื่อนปากมูลมิใช่อาศัยตัวความรู้และความจริงทางวิชาการมาพิจารณาตัดสินใจในการแก้ปัญหา แต่ได้นำภาคปฏิบัติการจริงของวาทกรรมเรื่องเขื่อนปากมูล ได้แก่ ทัศนคติของสังคมต่อเขื่อนปากมูล ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างกลไกต่างๆขึ้นมาเพื่อทำให้การสำรวจ (poll) ของรัฐกลายเป็นความรู้ชุดใหม่ ดังนั้น ทั้งภาคปฏิบัติการจริงของเขื่อนปากมูล และ อำนาจในรูปของความรู้จึงกลายเป็นกลไกสำคัญที่สำคัญที่สุดในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของรัฐเรื่องปิดเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2546)
ซึ่งสอดคล้องกับ สุรสม กฤณะจูฑะ ที่ได้สะท้อนภาพภาพเรื่องความจริงกรณีเขื่อนปากมูลไว้ว่าความจริงในกรณีเขื่อนปากมูลถูกสร้างขึ้นภายใต้กรอบความรู้ที่แตกต่างกัน ฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านเขื่อนปากมูลต่างพยายามสร้าง “วาทกรรม” ของตนเองขึ้นมาเพื่อปะทะแข่งขันกัน อย่างไรก็ตาม วาทกรรมของทั้งสองฝ่ายไม่ได้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด แม้ว่าจะมีการโต้แย้งกันก็ตาม แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการอ้างอิงและหยิบยืมวาทกรรมของกันและกัน ทั้งหมดนี้ทำให้ความจริงในกรณีเขื่อนปากมูลซับซ้อนและลื่นไหลยิ่ง และในบทความของสุรสม เรื่อง“สัมพันธบท” และการเข้าถึงความจริงกรณีปัญหาเขื่อนปากมูล ยังได้ชี้ให้เห็นถึงข้อโต้แย้งหลักคือ ปัญหาเขื่อนปากมูลไม่ใช่ปัญหาในระดับการจัดการทรัพยากรเท่านั้น หากเป็นปัญหาการเมืองของการผลิตสร้างและการจัดการความจริงในสังคมไทยด้วย ในที่นี้ได้ชี้ให้เห็นกลไกในการจัดการความจริงว่าสังคมไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการความจริงมากนัก กล่าวคือ แม้ในปัจจุบันก็ยังมิอาจหาข้อสรุปได้ว่าอะไรคือความจริงกรณีเขื่อนปากมูลที่กระจ่างชัด การปล่อยให้ความจริงเงียบเสียงเช่นนี้ ดูเหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมไทยในการจัดการความจริง ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในหลายๆกรณีที่เคยเกิดขึ้น ไม่ว่าความจริงกรณี 6 ตุลา 2519 ความจริงเรื่องผู้ก่อการร้าย ความจริงเรื่องการฆาตกรรมผู้นำชุมชนที่ลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจอันไม่ชอบธรรมในสังคม ฯลฯ
(สุรสม กฤษณะจูฑะ, 2549)
5) การสร้างอัตลักษณ์ชาวประมงปากมูล
การตอบโต้เพื่อเปิดพื้นที่เรื่องตัวตนคนหาปลาผ่านบทความทางวิชาการ เรื่อง “อัตลักษณ์ทางสังคมชาวประมงแม่น้ำมูลตอนล่าง: มุมพิจารณาจากระบบนิเวศ “ลวงปลา” และบริบทแวดล้อม ของ กนกวรรณ มะโนรมย์ (2546) ที่นำเสนอว่า “ลวงปลา” เป็นพื้นที่ทางสังคมที่สำคัญสำหรับการสร้าง “วัฒนธรรมปลา” ร่วมกันของชาวบ้านและ “ลวงปลา” มีความสัมพันธ์อย่างซับซ้อนกับเครื่องมือการจับปลาตามสภาพของแม่น้ำมูลที่แปรผันไปตามฤดูกาล ชาวบ้านจากที่ต่างๆอพยพมาตั้งหมู่บ้านริมแม่น้ำมูลเพื่อจับปลา ดังนั้นลวงปลาจึงเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดอัตลักษณ์ทางสังคมของชาวบ้านปากมูลตอนล่างให้มีความเป็น “ชาวประมง” มากกว่าการเป็น “ชาวนา” เพราะ ทรัพยากรลวงปลาคือฐานทรัพยากรในท้องถิ่นที่สำคัญในกำหนดอาชีพและวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกัน เช่น วัฒนธรรมการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัย การร่วมแรงร่วมใจ การเคารพกรรมสิทธิ์ในการเข้าถึงลวงปลา (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2546)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:55:42 น.
  
5.3.4.3 ประเด็นตอบโต้เรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ประเด็นเรื่องระบบนิเวศได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นต่อสู้ ทางการเมือง รูปธรรมที่เห็นได้ชัดเจนคือ การระเบิดแก่งตาดหัวภู และแก่งคันเห่ว ตรงบริเวณหัวงานเขื่อนปากมูลไปจนถึงแก่งตะนะในปี 2534-2535 ซึ่งเป็นช่วงรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช.) ชาวบ้านกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบคือบ้านหัวเห่ว แต่ประเด็นเรื่องระบบนิเวศไม่ได้ถูกนำเสนอในช่วงนั้น ชาวบ้านมุ่งประเด็นไปที่ความเสียหายและการสุ่มเสี่ยงต่อชีวิตจากแรงระเบิดและก้อนหินขนาดใหญ่ลอยมาตกใส่หลังคาบ้านมากกว่า กฟผ.จึงรีบตอบโต้ด้วยการย้ายชาวบ้านที่สุ่มเสี่ยงไปอยู่ที่อื่นชั่วคราวโดยจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้เดือนละ 5,000 บาท ส่วนชาวบ้านที่ไม่ยอมย้ายถ้าก้อนหินตกใส่หลังคาบ้าน กฟผ.ก็จะจ่ายค่าทำขวัญให้เป็นราย ๆ ไปจำนวนเงินค่าทำขวัญมากน้อยขึ้นอยู่กับอาการตกใจของชาวบ้านแต่ละคน (สัมภาษณ์นายคำแพง หวังผล ชาวบ้านหัวเห่ว, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2553)
ต่อมาประเด็นเรื่องระบบนิเวศแก่งกลางลำน้ำมูลได้ถูกทำให้เป็นประเด็นสาธารณะโดยนักวิชาการ และ NGO ที่ได้เผยแพร่ข้อมูลด้านระบบนิเวศแม่น้ำมูลและการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการทำลายทรัพยากรในเขตพื้นที่อุทยานแก่งตะนะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จนชาวบ้านใช้ปฏิบัติการเสี่ยงตายด้วยการบุกยึดเครื่องเจาะและนั่งทับหลุมระเบิดที่ กฟผ.เตรียมระเบิดแก่งบริเวนท้ายเขื่อน แต่ กฟผ ก็ตอบโต้ด้วยการเกณฑ์ชาวบ้านและหน่วยรักษาความปลอดภัยมาขับไล่จนถึงขั้นใช้อาวุธปืนยิงใส่ชาวบ้านที่นั่งทับดินระเบิดอยู่เป็นผลให้ต้องมีการเจราจาระหว่างสองฝ่าย กฟผ. ใช้วิธีคลี่คลายต่อสื่อสาธารณะและเลี่ยงข้อกฎหมายอุทยานแห่งชาติว่าเป็นการปรับปรุงภูมิทัศน์และสร้างสะพานข้ามดอนตะนะ2แห่งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยกฟผ.สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างสะพานและ กฟผ. ได้ตอบโต้ว่ามีการระเบิดแก่งหินจริง แต่เป็นเพียงแก่งหิน ใต้น้ำที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโบราณคดีและสามารถกระทำได้ เพราะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี
ประเด็นเรื่องระบบนิเวศนี้ยังไม่ได้ถูกหยิบยกมาเป็นกลยุทธ์ในการต่อสู้มากนักในช่วงแรก ๆ เพราะดูเหมือจะเป็นเรื่องที่เข้าใจยากสำหรับชาวบ้านแต่ถึงอย่างไรชาวบ้านปากมูลก็ได้อาศัยข้อมูลทางวิชาการมาช่วยอธิบายผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลระบบนิเวศ เช่นโครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (2536) ศึกษาเรื่อง ปลา ป่าไม้ และอาหาร : วิถีชีวิตของชุมชนหมู่บ้านริมลำน้ำมูล ผลการศึกษาสรุปได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาก่อนสร้างเขื่อน และระหว่างการสร้างเขื่อนในเรื่องการจับปลากระทำได้ยากขึ้น เนื่องจากต้องใช้แรงงานและเวลาในการจับปลามากกว่าเดิม ปริมาณการจับปลาเป็นอาหารลดลงถึงร้อยละ 30.0 อาหารที่ได้จากการจับปลาไม่เพียงพอในครัวเรือน รายได้จากการจับปลาลดลงร้อยละ75.0 ปริมาณการจับเพื่อจำหน่ายลดลงร้อยละ 74.0 เป็นต้น การศึกษานี้ยังพบว่า ก่อนมีโครงการในช่วงหน้าแล้งของทุกปีจะปรากฏ หน้าดินตะกอนเป็นพื้นที่กว่างตามพื้นที่ลาดชันริมตลิ่งลำน้ำมูลกับระดับน้ำต่ำสุด และจะพบเห็นได้โดยทั่วไปตลอดคุ้งน้ำที่ทอดตัวระหว่างแก่ง 14 แห่ง ในบริเวณพื้นที่เก็บ กักน้ำโครงการเขื่อนปากมูล ชั้นตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถมกันนี้มีขนาดกว้างตั้งแต่ 2-30 เมตร ซึ่งทำให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรในฤดูแล้งโดยการปลูกผักเพราะมีความพร้อมทั้งความอุดมสมบูรณ์ของดินและทั้งมีน้ำเพื่อการชลประทาน และสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำมูลที่เคยหาปลาเก็บของป่าริมน้ำมูลเลี้ยงชีพ ไม่สามารถทำได้เหมือนเช่นเคย ชาวบ้านจำต้องค้นหาทางเลือกเพื่อแก้ปัญหาความอดยากเกิดขึ้น คือ การออกรับจ้างภายนอก ที่เหลืออยู่บ้านรอให้ลูกหลานซึ่งไปขายแรงงานในเมืองส่งเงินมาซื้ออาหาร ข้าว ผัก ปลา กินแทนการเป็นชาวประมงในอดีต ทางเลือกที่ชาวบ้านต้องการ คือการทำเกษตรผสมผสานที่อยู่ในบริเวณหมู่บ้านอันเป็นถิ่นกำเนิดของตัวเอง แต่ปัญหาที่ชาวบ้านต้อประสบคือ การปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ เทคนิควิธีการต่างๆ เพิ่มเติมและบางรายไม่มีที่ดินทำการเกษตร และเงินทุน ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญของการลงทุน ซึ่งต่อมา กฟผ.ตอบโต้ว่างานศึกษาชิ้นนี้ไม่มีความเป็นกลาง เลือกเก็บข้อมูลตัวอย่างจากคนกลุ่มเดียว จึงไม่น่าเชื่อถือ
ชาวบ้านได้ทำการศึกษาโดยคณะนักวิจัยไทบ้านสมัชชาคนจน กรณีปากมูล และเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (2545) เรื่อง “แม่มูล การกลับมาของคนหาปลา” ที่นำเสนอว่าระบบนิเวศในลำน้ำมูลเป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการสร้างชุมชน การสร้างเขื่อนปากมูลได้ทำลายระบบนิเวศในแม่น้ำมูลและทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการทำมาหากิน ปัญหาสังคมวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับทรัพยากรปลา แก่งหิน และพืชพรรณริมแม่น้ำมูล นำมาซึ่งความขัดแย้งทางการเมืองอันยาวนาน การเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมที่สัมพันธ์กับการคืนกลับมาของปลาจากแม่น้ำโขงยังแม่น้ำมูล
นักวิชาการโดยคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ทำการวิจัยศึกษาแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล โดยใช้แนวความคิดในการศึกษาวิจัย ที่น่าสนใจคือแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการอธิบายและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านปากมูลกับระบบนิเวศในลุ่มน้ำมูลคือ แนวคิดกระบวนการพึ่งพาทรัพยากรลุ่มน้ำที่สำคัญเพื่อการดำรงชีพของชาวบ้าน 3 ฐานทรัพยากร คือ ทรัพยากรดิน (Land – based resources) ได้แก่ การทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์และปลูกพืช ฐานทรัพยากรน้ำ (River - based resources) ได้แก่ ทรัพยากรปลา พืชผักตามเกาะแก่ง น้ำอุปโภคบริโภค เลี้ยงสัตว์ และฐานทรัพยากรป่า (Forest - based resources) ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากป่าดอนกลางน้ำ พืชผักนี้เกิดตามแก่งหิน ป่าโคก ป่าดอนริมแม่น้ำมูล ทั้งสามฐานทรัพยากรนี้เป็นฐานทรัพยากรที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างเกื้อกูล ถ้าฐานทรัพยากรใดทรัพยากรหนึ่งเปลี่ยนแปลงย่อมกระทบต่อฐานทรัพยากรอื่นๆและกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีพของชาวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 2545)
ประเด็นระบบนิเวศกลายมาเป็นยุทศาสตร์ในการต่อสู้ของชาวบ้านอีกครั้งหลังจากที่มีการเชื่อมโยง เรื่อง “แก่ง” กับ “ปลา” เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะปลาแม่น้ำโขง เป็นวาทกรรมหลักที่ชาวบ้านปากมูลใช้ต่อสู้ ต่อรองเรื่องการเปิด – ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล โดยชาวบ้านอธิบายปัญหาผลกระทบจากการระเบิดแก่งเชื่อมโยงกับการปิดประตูน้ำ ผ่านประสบการณ์และภูมิปัญญาของชาวบ้านว่า ปลาจากแม่น้ำโขงจะเดินทางเข้ามาหากินและวางไข่ขยายพันธุ์ในแม่น้ำมูลตลอดปีโดยเฉพาะช่วงฤดูฝนและช่วงน้ำหลาก การเดินทางของปลามีทั้งขาขึ้นและขาล่อง เมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำมูลทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงไม่สามารถเข้ามาวางไข่เหนือเขื่อนได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของการสูญพันธุ์ของปลาและส่งผลต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้าน ดังนั้นการเปิดประตูน้ำถาวรจึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ปลากลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า แต่ฝ่าย กฟผ.และกลุ่มอื่นๆที่ไม่เห็นด้วยก็ออกมาตอบโต้ว่า ปลาในแม่น้ำมูลไม่ได้ขึ้นมาจากแม่น้ำโขงเพียงอย่างเดียว ปลาสามารถแพร่พันธุ์ได้ในทุกลุ่มน้ำ และสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ปลามาปล่อยเพิ่มปีละกี่ล้านตัวก็ได้ ปฏิบัติการตอบโต้ของ กฟผ. ที่เป็นรูปธรรมที่สุดในประเด็นนี้คือ การลงทุนตั้งสถานีเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา และการเชิญ นายกรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดมาเป็นประธานในพิธีปล่อยปลา แต่ที่ผิดพลาดที่สุดในประเด็นนี้คือ กฟผ.ยอมรับว่าปลาแม่น้ำโขงเข้ามาหากินและวางไข่ในแม่น้ำมูลจริง ด้วยการสร้างบันไดปลาโจนมารองรับ
วาทกรรมปลาจึงกลายเป็นประเด็นขัดแย้งมากขึ้นเมื่อมี บันไดปลาโจนผุดเข้ามา ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างใช้ข้อมูลทางวิชาการมาตอบโต้กันเช่นชาวบ้านปากมูลตอบโต้โดยใช้งานวิจัยในแนวคิดการจัดการทรัพยากรเชิงนิเวศวัฒนธรรมและความหลากหลายทางชีวภาพ เช่นงานของ(Kansuntisukmonglol C, 1994) พันธุ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขง-แม่น้ำมูล มีพฤติกรรมอพยพย้ายถิ่นที่ชัดเจน และมากเป็นพิเศษกว่าปลาเขตลุ่มน้ำอื่น ๆ การสร้างเขื่อนปากมูลเป็นการขัดขวางทางการอพยพของปลา และอาจมีผลกระทบต่อความอยู่รอดของปลารวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลาในเขตลุ่มน้ำนี้เป็นอย่างมาก
งานอีกชิ้นหนึ่งที่ชาวบ้านปากมูลใช้เป็นข้อมูลในการต่อสู้คือการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก (2543) การศึกษานี้พบว่าผลกระทบของเขื่อนปากมูลต่อพันธุ์ปลาที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้คือความอุดมสมบูรณ์ของปลา และผลผลิตปลาลดลงอย่างน่าตกใจ รายได้ในครอบครัวชาวประมงลดลง และการที่ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพ รูปแบบการประมงที่เปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของชาวบ้านที่เพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามมา เขื่อนปากมูลได้ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำและสัมพันธ์กับความอุดมสมบูรณ์ของประชากรปลาทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูลได้ท่วมและทำลายแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลา ได้แก่ แก่งต่าง ๆ ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนว่าบันไดปลาโจนไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพตามฤดูกาลจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำชี/มูลได้
การศึกษานี้ยังระบุอีกว่า จากพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลที่มีการบันทึกไว้ในปี 2537 จำนวน 265 ชนิดนั้น มีพันธุ์ปลา 77 ชนิดที่เป็นปลาอพยพ ยิ่งไปกว่านั้นพันธุ์ปลา 35 ชนิดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่ง แต่ตอนนี้แก่งต่างๆได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูล การสำรวจล่าสุดหลังการสร้างเขื่อนพบว่าเหนือเขื่อนมีปลาเพียง 96 ชนิด เป็นที่ชัดเจนว่ามีพันธุ์ปลา 169 ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และมีพันธุ์ปลาถึง 56 ชนิดที่ไม่ปรากฏว่าจับได้อีกเลยภายหลังการสร้างเขื่อน
กฟผ. ใช้ปฏิบัติการตอบโต้ด้วยการสร้างกระแสกุ้งก้ามกาม กุ้งตัวใหญ่ หรือกุ้งแม่น้ำมูล แต่งานของคณะกรรมการเขื่อนโลกก็ได้ชี้ว่า การปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งก้ามกรามของกรมประมงที่ กฟผ. หยิบมาโฆษณาโดยตลอดว่าสำเร็จนั้นแท้ที่จริงแล้วล้มเหลว โดยผลการศึกษาระบุว่า โครงการเขื่อนปากมูลได้จัดตั้งหน่วยอนุรักษ์และพัฒนาประมงได้มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงสม่ำเสมอรวมทั้งกุ้งก้ามกราม แต่กุ้งก้ามกรามวางไข่ในน้ำเค็มหลังจากนั้นก็อพยพมายังเขตน้ำจืด ดังนั้นกุ้งก้ามกรามจึงไม่สามารถขยายพันธุ์ในอ่างเก็บน้ำได้และจำเป็นที่จะต้องปล่อยกุ้งสม่ำเสมอ ผลผลิตกุ้งในแต่ละปีระหว่างปี 2538-2541 อยู่ในช่วง 6-15 ตัน แต่ผลผลิตนี้รวมถึงกุ้งอื่น ๆ ที่เติบโตตามธรรมชาติด้วย
ชาวบ้านปากมูลตอบโต้วาทกรรมปลาด้วยงานวิจัยไทบ้านที่ได้ทำการศึกษาพันธ์ปลาเปรียบเทียบช่วงก่อนมีเขื่อนกับช่วงที่มีการเปิดประตูระบายน้ำสรุปได้ว่าก่อนการสร้างเขื่อนปากมูล แม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นแม่น้ำสายหลักของภาคอีสาน เนื่องจากเป็นแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล จึงมีพันธุ์ปลามากถึง 265 ชนิด แม่น้ำมูลบริเวณปากมูลยังถือว่าเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่ สำคัญเนื่องจากมีระบบนิเวศน์ที่สลับซับซ้อนมีทั้งแก่ง ขุม วัง เวิน คัน เห่ว ดอนหรือเกาะ ป่าบุ่งป่าทาม และลำห้วยสาขา โดยมีแก่งเป็นระบบนิเวศน์หลัก ความอุดมสมบูรณ์ของปลาและระบบนิเวศน์บริเวณ ปากมูลนี้ทำให้ชาวบ้านเปรียบแก่งว่าเป็นเสมือน “เมืองของปลา”
จะเห็นได้ว่างานวิจัยไทบ้านชุดนี้ได้รับการยอมรับจากแวดวงนักวิชาการและสถาบันการศึกษาเพราะเห็นว่าข้อมูลค่อนข้างชัดเจนเพราะผู้ที่รู้ข้อมูลมากที่สุดคือชาวบ้านได้เป็นผู้ทำการศึกษาวิจัยด้วยตัวเองโดยมีนักวิชาการและNGOเป็นที่ปรึกษา
การใช้ยุทศาสตร์งานวิจัยไทบ้านตอบโต้ทำให้รายงานของ กฟผ. ถูกตั้งคำถามในภายหลัง กล่าวคือในรายงานของ กฟผ. ระบุว่า จากการศึกษานิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมทางด้านประมงของโครงการเขื่อนปากมูลพบว่า ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารสัตว์น้ำในแม่น้ำมูลตอนล่าง มีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับแม่น้ำสายอื่น สำหรับพันธุ์ปลาไม่พบพันธุ์ปลาหายาก เนื่องจากปลาในแม่น้ำมูลตามธรรมชาติเป็นปลาชนิดเดียวกับปลาในแหล่งน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั่วไป ไม่ใช่มีเฉพาะในแม่น้ำมูลหรือน้ำสาขาเท่านั้น
นอกจากนั้นยังจะก่อสร้างบันไดปลาโจนตามคำแนะนำของกรมประมงอีกด้วยแม้กระทั่งในระหว่างก่อสร้างก็ก่อสร้างทำนบกั้นน้ำเพียงครึ่งเดียวเพื่อการอพยพของปลาจะได้มีอย่างต่อเนื่องเป็นปกติ อีกทั้งพบว่า การประกอบอาชีพประมงในบริเวณนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับที่พบเป็นส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ทำการประมงเพื่อประทังชีพเท่านั้น ซึ่งนักวิชาการสาขาประมงที่ทำการศึกษาได้ประเมินว่า ในกรณีที่มีโครงการเขื่อนปากมูล ผลผลิตปลาจากลำน้ำเหนือเขื่อนในระยะยาวจะมีปีละประมาณ 16 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ถ้าหากเพิ่มการพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลาอย่างเหมาะสมร่วมไปด้วยแล้ว ภายในปีเดียวผลผลิตปลาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 35 กิโลกรัมต่อไร่
ทางฝ่ายชาวบ้านคัดค้านเขื่อนปากมูลได้วิจารณ์รายงานการศึกษาดังกล่าวของ กฟผ. ว่ามีความบกพร่องทางวิชาการในการสำรวจดังนี้ คือ การเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลา เลือกจุดเก็บเฉพาะบริเวณชายฝั่งที่มีระดับน้ำตื้นเท่านั้น จึงไม่สามารถอ้างอิงความถูกต้องทางวิชาการได้และมีระยะเวลาในการเก็บข้อมูลค่อนข้างสั้น คือ 1 ปี เท่านั้นทำให้เก็บตัวอย่างพันธุ์ปลาได้เพียง 1ฤดูกาล ซึ่งไม่เพียงพอในการสรุปผลการสำรวจทางวิชาการและการคำนวณประโยชน์ผิดพลาด เพราะใช้วิธีคำนวณทางปลากับพื้นที่โดยไม่มีการเฉลี่ยลักษณะพื้นที่แต่ละประเภทก่อนการคำนวณตลอดจนการแก้ปัญหาการลดลงของพันธุ์ปลาโดยการเพาะเลี้ยงนั้น ไม่มีความคุ้มในแง่วิชาการเพราะพันธุ์ปลาดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ใช่พันธุ์ปลาในภูมิภาคและการแก้ปัญหาวิธีนำบันไดปลาโจนมาใช้กรณีเขื่อนปากมูลนั้น ใช้ได้กับปลาแซลมอนอย่างเดียวเนื่องจากบันไดปลาแต่ละแบบก็จะใช้ได้กับปลาชนิดเดียวเท่านั้น (ที่มา: คณะกรรมการตรวจสอบติดตามและประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อม โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนปากมูล)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:56:10 น.
  
5.3.4.4 ประเด็นตอบโต้เรื่องการสูญเสียอาชีพประมงและวาทกรรมชาวประมงพื้นบ้าน
จากเรื่องของปลา กลายมาเป็นเรื่องของชาวประมง และประเด็นการสูญเสียอาชีพ ประมงในเวลาต่อมา ชาวบ้านใช้ประสบการณ์และภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตที่สัมพันธ์กับระบบนิเวศในการทำประมงมาเป็นเครื่องมือในการอธิบายที่มาของปัญหาการล่มสลายของอาชีพประมงอันเป็นที่มาของการเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวรเพื่อการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชน เพราะถ้าปิดเขื่อนหรือเปิดเพียง 4 เดือนแบบเปิด ๆ ปิด ๆ อย่างนี้ ไม่สามารถทำให้ระบบนิเวศฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์แบบเดิมได้นั่นหมายถึงการล่มสลายของอาชีพประมงพื้นบ้าน
ในขณะที่ฝ่าย กฟผ. และกลุ่มอำนาจอื่น ๆ ตอบโต้ว่าไม่มีชาวประมงที่ปากมูล มีแต่คนประกอบอาชีพทำนา การหาปลาเป็นเพียงอาชีพเสริมโดย กฟผ. อ้างว่าถ้ามีการทำประมงเชิงพาณิชย์จริงจะต้องมีท่าขึ้นปลาที่สามารถรองรับปลาได้อย่างน้อย วันละ 10 ตันแต่ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงระบบการค้านี้เลย (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, 2543: 26) สรุปว่าชาวบ้านชุนชนลุ่มน้ำมูลเป็นชาวนาไม่ใช่ชาวประมง
ชาวบ้านปากมูลจึงใช้วาทกรรมชาวประมงพื้นบ้านมาต่อสู้ต่อรองกับ กฟผ. และกลุ่มอำนาจอื่น ๆ ปฏิบัติการที่ชาวบ้านปากมูลใช้ต่อสู้โต้ตอบนอกจากจะแสดงให้เห็นตามปกติในวิถีการดำรงชีวิตประจำวันด้วยการออกหาปลา แบบ “สิบยามเช้า เก้ายามแลง”แล้ว ยังใช้ผลงานวิจัยไทบ้านที่ทำให้เห็นตัวตนของคนหาปลาในแม่น้ำมูลมาตอบโต้ ต่อรองเพื่อยืนยันสถานะตัวตนคนหาปลาลุ่มน้ำมูลว่าเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพประมงและกำลังจะสูญเสียอาชีพไปอย่างถาวรตราบใดที่ยังใช้งานเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้อยู่
นอกจากนี้แล้วยังมีงานเขียนของ กนกวรรณ มะโนรมย์ เรื่อง อัตลักษณ์ทางสังคมชาวประมงแม่น้ำมูลตอนล่าง: มุมพิจารณาจากระบบนิเวศ “ลวงปลา” และบริบทแวดล้อม ที่เสนอว่า “ลวงปลา” คือ การกำหนดกรรมสิทธิ์ในบริเวณแหล่งหาปลาของชาวบ้านในลำแม่น้ำมูลอันถือเป็นระบบการจัดการทรัพยากรที่กำหนดโดยบริบทแวดล้อมของชุมชน ลวงปลาจึงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือพื้นที่ทางสังคม ชาวบ้านที่หาปลาต้องปฏิบัติตามจารีตท้องถิ่น ยอมรับกติกา ภายใต้กฎแห่งอำนาจและศักดิ์ศรีของคนหาปลา งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายตรงที่ต้องการนิยามว่าชาวบ้านปากมูลเป็น “ชาวประมง” ไม่ใช่ “ชาวนา” อย่างที่งานวิจัยหลายชิ้นเสนอมา
อย่างไรก็ตามการจัดการทรัพยากรแบบรวมศูนย์ของรัฐกรณีการสร้างเขื่อนปากมูลทำให้ลวงปลาค่อย ๆ หายไปจากสังคมและวิถีชีวิตอันเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญและเป็นแก่นของชีวิตชาวประมง ในขณะที่ทรัพยากรที่ดินไม่สามารถสร้างให้ชาวบ้านมีความเป็นอยู่หรือคงอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้เช่นเดิม พลวัตของอัตลักษณ์จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นอัตลักษณ์ทางการเมืองในปริมณฑลสาธารณะเพื่อสร้างสิทธิในการต่อรองและพื้นที่ทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อยืนยันบอกเล่าตัวตนทางอัตลักษณ์อันแท้จริงที่อิงอยู่กับประวัติศาสตร์คุณค่า สิทธิชุมชน และความเป็นมาทางสังคมดั้งเดิมนั่นคือการเป็นสังคมประมงมิใช่สังคมแห่ง การทำนาดังที่เข้าใจโดยทั่วไป
5.3.4.5 ประเด็นตอบโต้เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน
ในระยะยาวชาวบ้านเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนโดยการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถาวร และในการฟื้นฟูในระยะสั้น รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชุมชนลุ่มน้ำมูลโดยมี ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นประธาน ซึ่งชาวบ้านได้เสนอแผนกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจระดับครอบครัวรองรับไว้แล้ว เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเกษตร การทำประมง หัตถกรรม รวมทั้งการชำระหนี้ และลงทุนค้าขาย เป็นต้น โดยในเบื้องต้นได้เสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตจัดเงินช่วยเหลือชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบครอบครัวละ 10,000 บาทเพื่อให้ชาวบ้านได้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของครอบครัวตนเอง แต่รัฐบาลเลือกใช้วิธีการแจกเงินสงเคราะห์เป็นกลุ่มโดยเน้นที่กลุ่มที่ กฟผ. อุปถัมภ์ เช่นแจกวัว ควาย เป็ด ไก่ ให้แก่กลุ่มอาชีพที่ผ่านการจัดตั้งจาก กำนันผู้ใหญ่บ้าน เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านสังคมวิทยาได้สะท้อนภาพแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของชาวบ้านปากมูลไว้อย่างน่าสนใจเช่น จากบทความเรื่อง “วัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน : กรณีศึกษาชุมชนลุ่มน้ำที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ของกนกวรรณ มะโนรมย์ (2544) ได้สะท้อนมุมมองเรื่องความขัดแย้งและการฟื้นฟูไว้ว่า วัฒนธรรมชุมชนที่สัมพันธ์กับการเข้าถึงและการใช้ทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือภูมิปัญญา สิทธิ คุณค่า และจารีตวิถีธรรมเนียมปฏิบัติในการใช้และจัดการทรัพยากรส่วนรวมที่สั่งสมมาร่วมกันของชุมชน และในทัศนะของชุมชน เขื่อนปากมูลเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ข้อจำกัดทางวัฒนธรรมของการใช้ทรัพยากรจากแม่น้ำมูล จนนำมาสู่วิวาทะและการตั้งคำถามที่สำคัญในประเด็นคุณประโยชน์ของเขื่อนปากมูลระหว่างกลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนและต่อต้านเขื่อนนี้ ในประเด็นการสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจแบบตลาดและเศรษฐกิจแบบศีลธรรม ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดความเสื่อมคลายความร่วมมือกันของชุมชนเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านทั้งสองกลุ่มได้พยายามแสวงหาวิธีการจัดการทรัพยากรเพื่อฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจชุมชน กลุ่มที่ต่อต้านเขื่อนมีกระบวนทัศน์การจัดการทรัพยากรที่มีพื้นฐานจากมุมมองแบบนิเวศวัฒนธรรมโดยต้องการให้รัฐบาลเปิดประตูเขื่อนปากมูลถาวรเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศและวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน
ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนเขื่อนมีกรอบความคิดที่อิงอยู่บนพื้นฐานของการผสมผสานระหว่างอรรถประโยชน์นิยมและการประนีประนอมที่ทุกฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ซึ่งสอดคล้องและเป็นตามของนโยบายของรัฐในการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูลในเดือนตุลาคม 2546 จะเห็นได้ว่าชาวบ้านมีทัศนะที่หลากหลายต่อประเด็นการใช้วัฒนธรรมเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรในแม่น้ำมูลในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการที่ชาวบ้านมีวิธีคิดที่แตกต่างกันในเรื่องมุมมองเกี่ยวกับมนุษย์และธรรมชาติ ความเข้าใจในบริบททางสังคมของทรัพยากรและความรู้และความเข้าใจในการจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำ นอกจากนี้วัฒนธรรมที่ใช้ในการฟื้นฟูระบบนิเวศและเศรษฐกิจชุมชนยังสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมของอำนาจที่แฝงอยู่ในรูปของความรู้ โดยที่ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับเขื่อนปากมูลที่ใช้รองรับเพื่อตัดสินใจเรื่องเขื่อนปากมูลของรัฐเต็มไปด้วยกระบวนการต่อรองและช่วงชิงของหน่วยต่างๆเพื่อให้เป็นวาทกรรมที่มีความชอบธรรมและมีอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองเหนือกว่าความรู้ชุดอื่น ๆ (กนกวรรณ มะโนรมย์, 2544)
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:56:38 น.
  
5.3.4.6 ประเด็นตอบโต้เรื่องการใช้น้ำชลประทานเพื่อการเกษตร
กลุ่มกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเรียกร้องให้ปิดเขื่อนเพื่อจะได้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร หรือเลี้ยงปลาในกระชังโดยเข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด และชุมนุมที่ท้ายเขื่อน จากการสำรวจปี 2543-44 ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พบว่า การปลูกข้าวส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ส่วนการใช้น้ำมูลจากการสูบด้วยไฟฟ้าที่มีสถานี 16 แห่ง (ม. อุบลศึกษา 9 สถานีได้แก่ สถานีบ้านทรายมูล ท่าเสียว โนนข่าหนองโพธิ์ ท่าช้าง วังแคน ดอนชี คันเปือย และสุวรรณวารี ) พบว่า ชาวบ้านขอใช้น้ำจากการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ช่วงหน้าแล้งเพื่อปลูกข้าวนาปรังไม่ค่อยนิยมในหมู่ชาวบ้าน (มีเพียง13 %) ส่วนมากขอน้ำปลูกแตงโม (61%) และปลูกพืชอื่น ๆ และ บ่อปลา ประมาณ 26 %) จำนวนพื้นที่รวมกันที่ใช้น้ำมูลที่สูบจากไฟฟ้ามีเพียง 2,426 ไร่ เท่านั้น(เพียง 10 %) หากเปรียบเทียบกับพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในเขต 9 สถานีสูบน้ำ ที่มีมากถึง 24,200 ไร่
รัฐบาลได้มอบหมายให้กรมชลประทานเข้ามาจัดการเรื่องระบบสูบน้ำ การวางท่อส่งน้ำและการสร้างคลองชลประทานเสร็จแล้วโอนงานให้องค์การบิหารส่วนตำบลเป็นผู้บริหารจัดการ ผลปรากฏว่า มีชาวบ้านมาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำไม่กี่ราย เช่น อบ.ต หนองแสงใหญ่ มีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ 8 ราย อบ.ต โขงเจียมมี 11 ราย และปัจจุบันยังไม่มีใครได้ใช้น้ำจากระบบสูบน้ำที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้เลย นายสมควร มิ่งมูล สมาชิก อบ.ต หนองแสงใหญ่ ระบุว่า
“ขณะนี้อบ.ต มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าไฟฟ้า ยังค้างจ่ายอยู่ 8 พันกว่าบาท ยังเก็บเงินค่าน้ำจากชาวบ้านไม่ได้เลย เพราะชาวบ้านบอกว่าไม่คุ้ม ถ้าจะให้ลงทุนซื้อน้ำทำนา หรือถ้าจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชอื่น ๆ ก็กลัวว่าจะขายไม่ได้หรือขายขาดทุน"
(นายสมควร มิ่งมูล. สมาชิก อบต. หนองแสงใหญ่, สัมภาษณ์วันที่ 23 กันยายน 2552)

นายประเสริฐ จำปาขาว กล่าวว่า ส่วนใหญ่แล้วชาวบ้านแถวนี้ทำนาหน้าฝน ใช้น้ำฝนตกกล้า แต่ถ้ามีน้ำมาให้ตกกล้าไว้รอฝนก็จะเป็นการดี จะได้ไม่ต้องเสี่ยงหากปีไหนฝนตกช้า แต่ถ้าปีไหนฝนมาเร็ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำจากชลประทาน เพราะต้องเสียค่าน้ำชั่วโมงละ 80 บาท (นายประเสริฐ จำปาขาว สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม, สัมภาษณ์วันที่ 23 กันยายน 2552)
ส่วนการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า การใช้น้ำสูบด้วยไฟฟ้าหน้าฝนเพื่อทำนาปีมักจะเกิดขึ้นในช่วงต้นฤดูฝนในการหว่านกล้าช่วงฝนทิ้งช่วงเหตุผลสำคัญที่ชาวบ้านไม่ใช้น้ำที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าคือ ค่าน้ำมีราคาแพง ไม่คุ้มค่า และพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก นอกจากนี้ยังพบว่าการเปิดประตูเขื่อนปากมูลไม่มีผลกระทบต่อการสูบน้ำเนื่องจากการออกแบบหัวสูบสามารถที่จะมีการปรับขึ้นลงตามระดับน้ำได้ แต่บางสถานีมีปัญญาสูบไม่ได้นั้นไม่เกี่ยวกับการเปิดประตูเขื่อนปากมูล แต่เกิดขึ้นจากการขาดการประสานกันระหว่างเขื่อนปากมูลและผู้ดูแลสถานีสูบน้ำเท่านั้น
5.3.4.7 ประเด็นตอบโต้เรื่องความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า
กฟผ.ใช้ข้ออ้างเรื่องพลังงานและความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้นจึงไม่สามารถเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนอย่างถาวรได้ แต่จากการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลก สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งประเทศไทยต่างพบว่า เขื่อนปากมูลไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามที่คาดการณ์เอาไว้คือ 136 เมกกะวัตน์ จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในปี 2544 ในช่วงที่มีการเปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้งปีนั้นพบว่า การที่เขื่อนปากมูลไม่ได้ผลิตกระแสไฟฟ้าตลอดปีไม่มีผลต่อปัญหาความมั่นคงทางพลังงานในภาคอีสานตอนล่างแต่ ประการใด ดังนั้นการเปิดประตูเขื่อนปากมูลจึงไม่มีผลต่อความไม่เพียงพอและความมั่นคงของไฟฟ้า แต่ความขัดแย้งในระดับพื้นที่ดูเหมือนจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยเมื่อชาวบ้านทั้งสองฝ่ายออกมาเผชิญหน้าและปะทะกันทางความคิด วิธีการ และการโต้ตอบ ต่อสู้ ต่อรองกันอยู่ทุกวันในชีวิตปกติซึ่งชาวบ้านสองกลุ่มที่กล่าวมานี้ส่วนใหญ่อยู่ในหมู่บ้านเดียวกันหรือในชุมชนใกล้เคียงกัน บางคนอาจจะเป็นญาติพี่น้องกันด้วยซ้ำ
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:56:57 น.
  
5.4 สรุป

5.4.1 สาแหตุที่มาของการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำ
5.4.1.1 ระบบนิเวศแม่น้ำมูลถูกทำลาย จากการสร้างเขื่อนปากมูล ซึ่งระบบนิเวศ
แม่น้ำมูลมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านปากมูลเป็นอย่างมากเนื่องจากชาวบ้าน ต้องอาศัยแม่น้ำมูลในการดำรงชีวิต
5.4.1.2 การสูญเสียอาชีพประมง ชาวบ้านปากมูล เป็นชุมชนคนหาปลามาแต่ดั้งเดิม เมื่อมีการสร้างเขื่อนปากมูล ขวางกั้นเส้นทางการอพยพของปลาจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูล จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในทุก ๆ ด้าน
5.4.1.3 รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาวบ้าน ในการแก้ปัญหาผลกระทบจากการสูญเสียอาชีพประมงถาวร กล่าวคือเมื่อเกิดผลกระทบขึ้นนั้นรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ได้ตกลงจะแก้ปัญหาโดยการจัดสรรที่ดินทำกินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ แต่รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ยกเลิกมติ ครม. วันที่ 21 เมษายน 2541 ไม่จ่ายค่าชดเชยให้กับเขื่อนที่สร้างแล้ว ทำให้ชาวบ้านทำการเรียกร้องต่อมาทุกรัฐบาล แต่ยังไม่ได้รับการตอบสนองจนกระทั่งปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่ารัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา และการเบี่ยงเบนประเด็นข้อเรียกร้องของชาวบ้านให้เป็นประเด็นทางการเมืองเรื่องของเรื่องการต่อรองเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
5.4.2 กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อรอง เรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล
5.4.2.1 ช่วงการก่อสร้างเขื่อนปากมูล ชาวบ้านใช้วิธีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำมูล เคลื่อนไหวตรวจสอบการดำเนินโครงการของรัฐ ต่อมาได้จัดตั้ง คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูลจากตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ)
5.4.2.2 ช่วงเขื่อนปากมูลสร้างเสร็จและเริ่มกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ชาวบ้านปากมูลสร้างเครือข่ายพันธมิตรและร่วมก่อตั้งสมัชชาคนจนและชุมนุมใหญ่ 99 วันที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ต่อมาใช้ยุทธศาสตร์ปักหลักชุมนุมในพื้นที่ต้นตอของปัญหา โดยการตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนที่บริเวณหัวงานทางเข้าเขื่อนปากมูลพร้อมกับเครือข่ายกลุ่มปัญหาต่าง ๆ โดยยึดหลักสันติวิธี คือ สัจจะ ตบะ และอหิงสา
5.4.2.3 ช่วงเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล ช่วงนี้ชาวบ้านปากมูลมีการเคลื่อนไหวในระดับตัวแทนชาวบ้านๆละ1-5 คน ไม่มีการชุมนุมใหญ่โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ กฟผ. เปิดประตูน้ำตามมติคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากรัฐบาลได้มีมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการ
เปิด –ปิด ประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล กลับไปกลับมา หลายครั้ง ทำให้ชาวบ้านปากมูลต้องเฝ้าติดตามและยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีที่ตัดสินใจจากฐานการเมืองและข้ออ้างเรื่องความมั่นคงภายใน การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูลจึ่งมุ่งเน้นไปที่การสื่อสารต่อสาธารณะชนโดยวิธีการผลิตสื่อเช่นจุลสาร หนังสือ แผ่นผับ ใบปลิว แถลงการณ์ ยื่นหนังสือ จัดรายการวิทยุ ทำสารคดีโทรทัศน์สำหรับนักข่าวพลเมือง จัดเวทีสัมมนาวิชาการทั้งในพื้นที่ มหาวิทยาลัยท้องถิ่น และมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ตลอดจน เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล การต่อรอง การเจรจากับรัฐ และอื่น ๆ อีก มากมายหลากหลายวิธี โดยเฉพาะการเผยแพร่ขยายผลงานวิจัยไทบ้าน ที่ชาวบ้านร่วมกันศึกษาวิจัยด้วยตนเอง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาระยะยาวคือเร่งฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนโดยการเปิดประตูถาวร
5.4.3 การพัฒนากลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อรอง
ชาวบ้านใช้วิธีการตอบโต้ด้วยอำนาจ ความรู้ ความจริง ด้วยการการผลิตความรู้ผ่านงานวิจัยไทบ้านและการยิบยืมความรู้และการตอบโต้ทางวาทกรรมการพัฒนา การสร้าง อัตลักษณ์ชาวประมงปากมูล การช่วงชิงกระแสวาทกรรมการเมืองเรื่องอำนาจ ความรู้และความจริง โดยนำเสนอผ่านภาคปฏิบัติการจริงในชีวิตประจำวันและจากการจัดเวทีสัมมนาหรือเวทีทางวิชาการทั้งในระดับพื้นที่ระระดับประเทศ โดยมุ่งเน้นตอบโต้ต่อรองในประเด็นเรื่องการสูญเสียอาชีพประมงและวาทกรรมชาวประมงพื้นบ้าน ประเด็นตอบโต้เรื่องการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน ประเด็นตอบโต้เรื่องการใช้น้ำชลประทานเพื่อการเกษตรและประเด็นตอบโต้เรื่องความมั่นคงของพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:57:18 น.
  
บทที่ 6
บทสรุปและข้อเสนอแนะ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความเป็นมาของสภาพปัญหาและการปรับตัวของชาวบ้านปากมูลภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ผลักดันให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลและเพื่อศึกษากลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวต่อรองเรื่องเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล และทำความเข้าใจถึงกลไกในการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ และเก็บข้อมูลภาคสนาม การสนทนากลุ่มย่อย การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งข้อมูลประสบการณ์จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ในโอกาสต่าง ๆ
ข้อค้นพบที่สำคัญคือ หลังจากการสร้างเขื่อนปากมูล ระบบนิเวศแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านและชุมชน เนื่องด้วย ระบบนิเวศแม่น้ำมูลมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตชุมชนของชาวบ้านปากมูลเป็นอย่างมาก ปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงเข้าสู่แม่น้ำมูล คือแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ ชุมชน 2 ฝั่งแม่น้ำมูล เป็นชุมชนคนหาปลามาแต่ดั้งเดิม เมื่อมีการสร้างเขื่อนปากมูล ขวางกั้นเส้นทางการอพยพของปลาจึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนในทุก ๆ ด้าน เช่น รายได้ลดลง ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกันเองและระหว่างชาวบ้านกับรัฐ
ส่วนการปรับตัวของชาวบ้านเพื่อการดำรงชีวิตอยู่รอดอย่างมีความสุขนั้น มีข้อจำกัดอยู่มาก ทั้งจากเงื่อนไขวัฒนธรรมภายในที่ชาวบ้านมีต้นทุนทางสังคมและทุนทางธรรมชาติที่ผูกพันกับวิถีการดำรงชีพแบบเดิม และปัจจัยภายนอกเช่นโอกาสทางเลือกในการประกอบอาชีพใหม่ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงไม่ว่าจะเป็นทักษะในการประกอบอาชีพใหม่ ปัจจัยการผลิตและ อื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นข้อจำกัดในการปรับเปลี่ยนวิถีในการดำรงชีวิต ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากมากในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำมาหากินของชาวบ้านจากที่เคยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ และต้องตกอยู่ในภาวะที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ ต่อรอง กับปัญหาอุปสรรคภายใต้การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ
ในมุมมองทางนิเวศวิทยาวัฒนธรรมพบว่า การดำเนินชีวิตของชาวบ้านปากมูลสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เพราะว่าความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแม่น้ำมูล เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาวิถีชีวิต ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และชาวบ้านปากมูล เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ซึ่งภายในระบบนิเวศประกอบด้วยทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่เป็นผลผลิตของมนุษย์ และจากผลพวงของนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐที่ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมและกับความทันสมัย ความเป็นสากล โดยละเลยวัฒนธรรมและชุมชนท้องถิ่น ทั้งการแย่งชิงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำและการเอารัดเอาเปรียบในสังคม และสภาวะที่ชุมชนไร้อำนาจในการกำหนดวิถีชีวิตของตน ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวนี้ทำให้เกิดการปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา
ผลการวิจัยครั้งนี้ทำให้ผู้วิจัยเข้าใจในบริบททางนิเวศวิทยาวัฒนธรรมของชาวประมงพื้นบ้านปากมูลที่เกี่ยวพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและเงื่อนไขของการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว ตอบโต้ ต่อรองให้ได้สิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านปากมูล ทั้งจากมิติภายในของชุมชนตลอดจนเงื่อนไขจากการติดต่อสัมพันธ์กับรัฐและสังคมภายนอก ซึ่งก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ทัศนคติ ระบบคุณค่า ตลอดจนความสัมพันธ์ทางสังคม ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จึงได้ข้อสรุปว่า ทางเลือกในการพัฒนา และการฟื้นฟูวิถีชีวิตและชุมชนคือการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีความสมบูรณ์
ยศ สันตสมบัติ (2548) ได้ขยายภาพประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ว่าการเก็บหาอาหารเป็นกิจกรรมที่สำคัญอันดับแรก และเป็นต้นกำเนิดวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นระบบเกษตรในรูปแบบต่างๆ และการเลี้ยงสัตว์ สังคมเก็บของป่าและล่าสัตว์ เป็นสังคมที่มีขนาดเล็กที่ปรับตัวเข้ากับสภาพธรรมชาติ ผู้คนจะอยู่เป็นกลุ่มและกระจาย กันออกหาอาหาร ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์ที่ดิน ไม่มีการผลิต ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นทางสังคม อาศัยเรื่องเพศเป็นเกณฑ์แบ่งงานกันทำ สังคมแบบนี้หากมองจากภายนอก จะขัดแย้งกับกรอบคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหารและความยากจน เพราะดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์ เทคโนโลยีอยู่ในขั้นต่ำ ไม่มีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถสั่งสมมูลค่าส่วนเกินได้ แต่งานศึกษาทางมานุษยวิทยากลับพบว่า ด้วยวัฒนธรรมการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทีดี หลายสังคมสามารถทำมาหากินอย่างง่ายดาย และเพียงพอต่อความต้องการ

6.1 สรุป

6.1.1 ความขัดแย้งและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากร
สำหรับความขัดแย้งเรื่องเขื่อนปากมูลและการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำนั้น มีรากฐานมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเข้าถึงทรัพยากรซึ่งมีระบบกรรมสิทธิ์ซ้อนทับกันอยู่ภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน แต่การสร้างเขื่อนปากมูลได้แย่งสิทธิจากชาวบ้านไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง เช่น การแย่งสิทธิการใช้แม่น้ำจากที่ชาวบ้านใช้เพื่อการจับปลา เปลี่ยนเป็นการใช้แม่น้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าราคาถูกป้อนธุรกิจอุตสาหกรรมแทน ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อรองตอบโต้ ดังนั้น ความขัดแย้งในการสร้างเขื่อนปากมูล จึงเป็นปัญหาในเรื่องสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรระหว่างชาวบ้านกับรัฐและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมนั่นเอง และความขัดแย้งในการเข้าถึงทรัพยากรนับว่าเป็นพลังสำคัญที่มักก่อให้เกิดความแตกแยกในสังคม โดยส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างชาวบ้านกับชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ขณะเดียวกันความขัดแย้งก็นำไปสู่การพัฒนาขบวนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นยุทธวิธีที่สำคัญของประชาชน คนชายขอบ และผู้ไร้อำนาจ เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นรากฐานของวิถีชีวิตของพวกเขา ดังกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนของชาวนา และชาวประมงพื้นบ้าน เป็นต้น (ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ, 2543)
ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขื่อนมีความสลับซับซ้อนและเป็นพลวัตของอำนาจ ในการช่วงชิงผลประโยชน์และการสร้างความชอบธรรม ของกลุ่มต่าง ๆ ความขัดแย้งในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย นับตั้งแต่องค์กรรัฐใช้อำนาจและกลไกอำนาจผ่านกฎหมายเข้าครอบครองและควบคุมทรัพยากรธรรมชาติหลายประเภททั้งทรัพยากรดิน น้ำ และป่า ประเด็นความขัดแย้งจึงกลายเป็นปัญหาระดับชาติและมีแนวโน้มว่าไม่อาจยุติได้โดยง่าย ดังที่ อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2543) สรุปไว้ว่า ตราบใดที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจในสังคมไทยโดยรวมยังขาดความเป็นธรรมอีกทั้งยังเต็มไปด้วยความรุนแรงโดยเฉพาะความพยายามกีดกันชาวบ้านออกไปจากการควบคุมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ชาวบ้านหรือชุมชนเคยใช้มาแต่ดั้งเดิม ชุมชนก็จะก่อตัวขึ้นมาบนพื้นฐานของความขัดแย้งใหม่ ๆ ในสังคม และพยายามที่จะแสวงหากฎเกณฑ์ในการจัดการกับความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งนั้น รูปแบบการปรับตัวทางการเมือง สมศรี ชัยวณิชยา (2542) โดยการเข้าร่วมชุมนุมประท้วงของชาวบ้านปากมูลดังกล่าว เป็นยุทธวิธี ทางการเมืองของกลุ่มค่อนข้างไร้อำนาจ จึงต้องอาศัยเครือข่ายจากข้างนอกเพื่อให้การประท้วงเป็นประเด็นสาธารณะที่ได้รับความชอบธรรม ซึ่งการต่อสู้ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดรูปแบบการต่อสู้ที่หลากหลายขึ้นในสังคม
ผลการวิจัยครั้งนี้ได้สะท้อนภาพการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการตอบโต้ ต่อรองกับกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากร ในที่นี้มีกลุ่มชาวบ้านที่ เคลื่อนไหวตอบโต้กันอยู่ 2 ฝ่ายคือ ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนกับกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนจากรัฐและ กฟผ.และระหว่างชาวบ้านกับรัฐ
ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนมาตั้งแต่เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนปากมูล จนกระทั่งเมื่อเขื่อนปากมูล ก่อสร้างเสร็จในปี 2537 เมื่อปลาไม่สามารถอพยพมาสู่แม่น้ำมูลได้ดั่งเดิม วิถีชีวิตชาวประมงของคนลุ่มน้ำมูลจึงได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่มั่นคงทางอาหารและรายได้ทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่กลับแย่ลงเนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรธรรมชาติ ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลทั้ง 8 บาน อย่างถาวร เพราะการเปิด ๆ ปิด ๆ (เปิด 4 ปิด8) ไม่ได้ช่วยให้ระบบนิเวศแม่น้ำมูลฟื้นตัวกลับมาอุดมสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม และเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลถาวร หากยังไม่สามารถดำเนินการได้ก็ให้รัฐจ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการที่ไม่สามารถหาปลาในแม่น้ำมูนได้ให้กับชาวบ้านเป็นเงินครอบครัวละ 525,000 บาท หรือให้จัดหาที่ดินให้ครอบครัวละ 15 ไร่ พร้อมทั้งเร่ง ฟื้นฟูธรรมชาติของระบบนิเวศแม่น้ำมูน ที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการสร้างเขื่อน อาทิ การปราบไมยราพยักษ์ในสองริมฝั่งแม่น้ำมูน การปลูกพืชทดแทนไม้ธรรมชาติที่ถูกน้ำท่วมจนเสียหาย
ส่วนกลุ่มชาวบ้านที่เคลื่อนไหวภายใต้การสนับสนุนจากรัฐ และ กฟผ. จะรวมตัวกันทุกครั้งที่มีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน โดยอาศัยการนำจากกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน โดยมีข้อเรียกร้องที่สวนทางกันกับกลุ่มสมัชชาคนจน คือ เรียกร้องให้ปิดประตูระบายน้ำเขื่อน ปากมูล ไม่ให้กุ้งและปลาไหลลงแม่น้ำโขง เพื่อจะได้จับปลาได้มากขึ้นและเพื่อรักษาระดับน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรโดยผลักดันให้รัฐบาลสร้างสถานีสูบน้ำและคลองชลประทาน พร้อมทั้งให้มีการฟื้นฟูระบบนิเวศด้วยการปล่อยพันธุ์ปลา และพันธ์กุ้งเป็นประจำทุกปี
ส่วนชาวบ้านในเขตตัวเมืองจังหวัดอุบล ก็มีข้อเสนอให้ กฟผ. เปิดประตูระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพราะเกรงว่าจะถูกน้ำท่วม หากไม่มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูล น้ำอาจท่วมหนักกว่าเดิมที่เคยท่วมก็เป็นได้
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:57:47 น.
  
6.2 พื้นที่ทางสังคมและกลไกทางการเมือง

การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูล เพื่อเปิด-ปิดประตูระบายเขื่อนปากมูล เน้น การเคลื่อนไหวกดดันเพื่อสร้างกลไกในการเจรจาต่อรองกับรัฐ เช่น การตั้งคณะกรรมการต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการทำงานในระดับนโยบาย ซึ่งหวังผลว่าจะถูกผลักเข้าสู่กลไกการตัดสินใจของรัฐบาล (คณะรัฐมนตรี) และกรรมการหรืออนุกรรมการชุดต่าง ๆ ทีจะมาช่วยประสานงานในระดับพื้นที่ โดยมีเป้หมาย เพื่อให้รัฐแก้ปัญหาเฉพาะ เช่นข้อเรียกร้องเรื่องการจ่ายค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม การฟื้นฟูอาชีพ เป็นต้น
กรณีที่รัฐที่จะยอมได้ก็คือการเรียกร้องผลประโยชน์ ที่ไม่กระทบโครงสร้างและการปรับเปลี่ยนนโยบายขนานใหญ่ที่ไปลดทอนอำนาจของรัฐและทุน ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของรัฐสะท้อนให้เห็นถึง ความพยายามที่ตั้งอยู่บนกรอบคิดที่ไม่ยอมรับความจริงเพราะกลัวว่าจะสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์ จึงเลือกวิธีการช่วยเหลือแบบการให้ความช่วยเหลือเชิงระบบอุปถัมภ์และการสงเคราะห์ ดังนั้นข้อเรียกร้องที่ให้มีการเปิดประตูระบายน้ำอย่างถาวรนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่รัฐจะทำใจยอมรับได้เพราะจะกระทบกับนโยบายเชิงโครงสร้าง เนื่องจากหากยอมให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับความผิดพลาด ล้มเหลวของโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ และแน่นอมย่อมต้องส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์มหาศาลของผู้ที่เกี่ยวของทั้งหมด
ดังนั้นในขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านปากมูล ยังดำรงวิถีชีวิตอยู่ท่ามกลาง ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกกระทำจากแรงกดดันของกระแส การพัฒนาสมัยใหม่ จึงเป็นชนวนให้เกิดปรากฏการณ์ แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติโดยใช้พื้นที่ทางสังคมและสัญลักษณ์แห่งตัวตนที่แท้จริงเป็นเวทีต่อสู้-ต่อรอง เพราะในสภาวะที่ชาวบ้านไร้ตัวตน จะไม่มีอำนาจการต่อรอง การสร้างพื้นที่ตัวตนของชาวบ้านในฐานะชาวประมงพื้นบ้านจะช่วยทำให้สังคมเข้าใจว่าชาวบ้านเป็นใครทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองมากขึ้น และยิ่งต่อรองมากขึ้น จะนำไปสู่การสถาปนาสถาบันหรือว่ากลไกใหม่ ๆ ทางสังคมขึ้นมาเพื่อดำเนินการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ได้มากขึ้น อานันท์ กาญจนพันธุ์ (2543)

6.3 สรุปส่งท้าย

เป้าหมายในการเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูล คือการเปิดประตูระบายเขื่อนปากมูลอย่างถาวร ซึ่งชาวบ้านปากมูลได้ใช้กลยุทธ์ในการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบทั้งภาคปฏิบัติการ เช่นการเดินขบวนร้องทุกข์ การชุมนุมยืดเยื้อไม่ย่นย่อ ทั้งในระดับพื้นที่และที่หน้าทำเนียบรัฐบาล รวมทั้งการติดตามการแก้ปัญหาแบบเกาะติดสถานการณ์ตลอดเวลาและการยกระดับการเคลื่อนไหวต่อรองโดยใช้วาทกรรมช่วงชิงพื้นที่ทางสังคม การเมืองในหลายโอกาส เช่นการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภายในและภายนอกประเทศ การผลิตความรู้ผ่านงานวิจัยไทบ้าน และนักวิชาการ แต่ยังไม่สามารถต่อรองให้มีการเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวรได้ ทั้งนี้เป็น เพราะรัฐมองปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลว่าเป็นการเมืองเรื่องของการต่อรอง ซึ่งการต่อรองที่อยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่ไร้อำนาจกับผู้ที่มีอำนาจในการจัดการทรัพยากร รัฐไม่เปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาแบบมีส่วนร่วมและเท่าเทียม
การเคลื่อนไหวต่อรองของชาวบ้านปากมูลเพื่อเปิด-ปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลนั้น ถือเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลต่อการดำรงชีวิตของชาวประมงพื้นบ้าน หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่มีความสำคัญกับมนุษย์ ดังนั้น การตัดสินใจแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย รัฐจะใช้วิธีการทางการเมืองเรื่องของการต่อรองอย่างเดียวคงไม่สามารถแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ต้องการให้รัฐบาลเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลอย่างถาวรได้

6.4 ข้อค้นพบเชิงทฤษฎี

จากการเคลื่อนไหวต่อสู้เรียกร้องของชาวบ้านปากมูลนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันสะท้อนให้เห็นมุมมองทางทฤษฎีนิเวศวิทยาวัฒนธรรม ว่าชาวบ้านมีอุดมการณ์ทางสิ่งแวดล้อมโดยการแสดงออกผ่านภาคปฏิบัติการทางสังคม ด้วยวิธีการที่หลากหลาย และมีใจมุ่งมั่นในการเคลื่อนไหวต่อสู้ด้วยสัจจะ ตบะ และอหิงสา มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ด้วยเหตุผลเดียวคือ การปกป้องรักษาความสมดุลทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเคลื่อนไหวต่อรองเพื่อการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายไปจากการสร้างเขื่อนปากมูล

6.5 ข้อเสนอแนะ

6.5.1 ชาวบ้านปากมูลควรใช้ความพยายามในการยกระดับการต่อสู้ทางยุทธศาสตร์พื้นฐานของขบวนการประชาชนในเชิงปริมาณไปสู่คุณภาพมากขึ้น คือ การขยายเชื่อมโยงกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางนโยบาย การต่อสู้ในพื้นที่ทางสังคมโดยโยงกับขบวนการเคลื่อนไหวในระดับโลกาภิวัตน์มากขึ้น
6.5.2 รัฐควรเลิกใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยใช้มวลชนจัดตั้ง ในพื้นที่เข้ามาปะทะกันจนก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน และใช้เหตุผล ข้อมูล สภาพปัญหาและข้อเท็จจริงมาเป็น แนวทางในการแก้ปัญหา แทน การตัดสินใจด้วยวิธีการทางการเมืองเรื่องของการต่อรอง
6.5.3 รัฐควรสร้างบรรทัดฐานในการแก้ปัญหาความขัดแย้งร่วมกันจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความปรองดองของสังคม โดยไม่ยึดติดกับข้ออ้างเรื่องระเบียบ/กฎหมาย และเปลี่ยนมุมมองในการมองปัญหาให้พ้นข้ามเรื่องการเมือง และใช้หลักการแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนไม่แยกขั้วไม่แบ่งสี
6.5.4 สำหรับผู้ที่จะทำการศึกษาวิจัยต่อไป ประเด็นที่น่าสนใจคือการศึกษาพลวัตของขบวนการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม สังคม การเมือง ในมิติทางประวัติศาสตร์สามัญชน
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:58:11 น.
  
กิตติกรรมประกาศ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. ภายใต้ชุดโครงการ “การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคมภายใต้กระแสการพัฒนาในชุมชนอีสานใต้” ซึ่งผู้วิจัยต้องขอขอบพระคุณ สกว. และทีมผู้ประสานงานด้วยความซาบซึ้ง
กราบขอบพระคุณอาจารย์ กนกวรรณ มะโนรมย์ ประธานที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ที่ช่วยให้คำแนะนำและกระตุ้นเตือนสติผู้วิจัยในระหว่างที่เดินหลงทางให้กลับเข้ามาอยู่บนเส้นทางของการทำวิจัยต่อไป ขอบพระคุณอาจารย์เหมวรรณ เหมะนัค ที่กรุณาให้ความเห็นต่อรายงานวิทยานิพนธ์ และขอบพระคุณพี่สนั่น ชูสกุล กรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ที่ได้กรุณาช่วยอ่านงานให้อย่างละเอียด ผู้วิจัยขอขอบพระคุณอาจารย์สุริยา สมุทรคุปต์ และอาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ทั้งสองท่านที่ได้ให้ความกรุณาถ่ายทอดประสบการณ์การทำวิจัย การเก็บข้อมูลภาคสนาม และ การวิเคราะห์ข้อมูล ขอบคุณอาจารย์สุรสม กฤษณะจูฑะ ที่ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการปรับปรุงแก้ไขวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ผู้วิจัยขอบพระคุณอาจารย์อินทิรา ซาฮีร์ อาจารย์ สุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์เสนาะ เจริญพร อาจารย์พฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์สมหมาย ชินนาค อาจารย์วัชรี ศรีคำ อาจารย์พลวิเชียร ภูกองไชย อาจารย์ปิ่นวดี ศรีสุพรรณ ที่ให้ความรู้ทางวิชาการแก่ผู้วิจัย ขอบคุณอาจารย์ธีระพล อันมัย (พี่ธีร์) ที่คอยถามไถ่ด้วยความห่วงใย ขอบคุณ พัต ต้น เต้ สัม สมพงษ์ เพื่อนที่อยู่ไกลและให้ความช่วยเหลือตลอดการศึกษา ขอบคุณ มหา หน่อย เว ต้อม ที่เป็นเพื่อนล้อมวงสนทนายามสมองตีบตัน ขอบคุณน้องหนึ่ง กนกวรรณ ผ่องแผ้ว ที่เป็นธุระให้ ในหลาย ๆ เรื่อง พร้อมทั้งจัดเรียงต้นฉบับให้ด้วย และขอขอบพระคุณครอบครัวบรรเรืองทองที่ให้ความรักและเมตตา ขอบพระคุณ พ่อ แม่ พี่น้อง ครอบครัวใจตรงที่ให้กำลังใจยามเหนื่อยล้า และ ที่ขาดไม่ได้ พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ และชาวบ้านปากมูน ทุกคนที่ให้โอกาสผู้วิจัยได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่า ผู้วิจัยต้องขอขอบพระคุณอย่างสูง
หากงานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีข้อผิดพลาดประการใด ผู้วิจัยขอน้อมรับคำแนะนำด้วยความยินดียิ่ง และหากงานวิจัยนี้ ยังพอมีประโยชน์อยู่บ้าง ก็ขอยกความดีนี้ให้แก่ชาวบ้านปากมูนทุกคน เพื่อให้มีแรงใจต่อสู้ต่อไป


(นายพนา ใจตรง)
ผู้วิจัย
โดย: แลงมาเถียงนา วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:14:59:51 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แลงมาเถียงนา
Location :
อุบลราชธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



ชีวิตที่เรียบง่าย งดงามครับ
PhotobucketPhotobucket
เขียนข้อความ
PhotobucketPhotobucket
กุมภาพันธ์ 2554

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
20
21
22
23
24
26
27
28